9 พฤศจิกายน 2018
6 K

หลังจาก The Cloud และ TCP Spirit จัดกิจกรรมพาคนเมืองออกไปเรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองกับกลุ่ม BIG Trees ที่สวนลุมพินีกันมาและเสียงตอบรับดีเกินคาด กลับมาครั้งนี้ ‘TCP Spirit ครั้งที่ 2 หมอต้นไม้ เชียงใหม่’ เราได้พาอาสาสมัครเกือบ 100 คนไปเรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้ถึงเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 – 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

เราชวนอาสาสมัครจากทั่วประเทศนั่งรถไฟไปดูแลต้นไม้ใหญ่กับ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย หมอต้นไม้เมืองเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมนั่งรถรางชมประวัติศาสตร์เมืองเก่าของเชียงใหม่ แวะเยี่ยมคุณปู่คุณย่าต้นไม้ทั้ง 5 ต้น 5 สถานที่ อายุรวมกันเกือบพันปี และร่วมกันปลูกต้นยางนาจำนวน 49 ต้น ซึ่งเป็นไม้หมายเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ และไม้หมายถิ่นของตำบลยางเนิ้งและตำบลสารภี เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ถนนสายประวัติศาสตร์

มากไปกว่านั้นอาสาสมัครยังได้เรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้กับรุกขกรจากทีมหมอต้นไม้เชียงใหม่ และยังมีนักแสดงหนุ่มหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ ซึ่งเป็น TCP Spirit Ambassador มาร่วมเรียนรู้และดูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันกับเรา

หมอต้นไม้

TCP Spirit คือโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก อาทิ กระทิงแดง (เรดบูล), เรดดี้, สปอนเซอร์, แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โดยโครงการนี้ต่อยอดมาจากจากโครงการ ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน

โดยปีนี้เป็นปีแรกที่กิจกรรมอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP จะอยู่ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ ‘TCP Spirit’ เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของทั้งองค์กรในการส่งต่อพลังให้ชุมชนและสังคม โดยชวนคนรุ่นใหม่ออกมามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคม

หมอต้นไม้

จากไม้หมายทาง สู่ไม้หมายเมือง

นั่งรถรางทำความรู้จักกับคุณปู่คุณย่าต้นไม้ใหญ่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาหลายร้อยปี

  ก่อนออกเดินทางไปชมประวัติศาสตร์สีเขียวและเยี่ยมคุณปู่คุณย่าต้นไม้ทั้งหมด 5 ต้นในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยรถรางกับกลุ่มเชียงใหม่ เขียว สวย หอม เราขอชวนไปทำความรู้จักกับคำศัพท์น่าสนใจ 3 คำ คือ ไม้หมายทาง ไม้หมายถิ่น และไม้หมายเมือง

ไม้หมายเมือง เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยพบเห็นในอดีต เป็นหมุดหมายของเมืองและบอกเล่าประวัติศาสตร์ เช่น ต้นยางนาของจังหวัดเชียงใหม่ ต้นขี้เหล็กของจังหวัดลำพูน

ไม้หมายถิ่น สถานที่ที่ตั้งชื่อตามแหล่งพันธุ์ไม้ เพื่อเอื้อต่อก่อนจดจำสถานที่นั้นๆ เช่น ตลาดต้นลำไย ตลาดต้นพยอม ฯลฯ

ไม้หมายทาง เป็นต้นไม้ใหญ่ต้นสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับสถานที่เก่าแก่

หมอต้นไม้

คุณปู่ต้นจามจุรี อายุ 150 ปี

ที่ตั้ง : สโมสรยิมคานา
349 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ซอยเชียงใหม่-ลำพูน 3 ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50000

หมอต้นไม้

ต้นจามจุรี ต้นก้ามปู หรือต้นฉำฉา ขนาด 11 คนกอดต้นนี้ตั้งอยู่ที่ที่สโมสรยิมคานา สนามกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งโดยกลุ่มข้าราชการอังกฤษที่มาทำสัมปทานป่าไม้ในเมืองไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หมอต้นไม้

ต้นจามจุรีจัดอยู่ในพืชตระกูลถั่วจึงแพร่พันธุ์ได้เร็ว ส่วนรากจะแผ่สาขาเกินพุ่ม ถูกขนานนามว่าเป็น Rain Tree หรือต้นไม้แห่งฤดูฝน เพราะเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน ออกดอกสวยเป็นสีชมพู ส่วนฝักมีรสหวาน มักเป็นอาหารของสัตว์ เช่น ลิง ที่เวลากินจะเก็บฝักไว้ในกระพุ้งแก้ม จึงกลายเป็นอีกหนึ่งชื่อเรียกต้นจามจุรีว่า Monkey Pod หากสังเกตเปลือกต้นจามจุรีมีลักษณะเป็นเกล็ด กำลังล่อนออก แสดงว่าเปลือกอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ทำให้ด้วงหนวดยาวเจาะเข้าไปทำอันตรายต่อลำต้นได้ แต่ด้วยความรักและความเอาใจใส่ของลูกหลานที่สโมสรยิมคานา ทำให้ต้นไม้ต้นนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีด้วยวิธีที่ถูกต้องจากหมอต้นไม้

คุณย่าต้นตะเคียนทอง อายุประมาณ 100 ปี

ที่ตั้ง : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่)
153 ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50100

หมอต้นไม้

ต้นตะเคียนทองต้นนี้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นต้นไม้ที่ถูกกระแสน้ำปิงพัดมาเกยฝั่งริมน้ำที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นต้นอ่อน และอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยที่อธิบดีกรมป่าไม้คนไทยคนแรก พระยาดรุพันธ์พิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง จากนั้นก็เจริญเติบโตขึ้นเป็นไม้สูงใหญ่แตกกิ่งก้านสาขาอยู่คู่กับสำนักงานตลอดมา ซึ่งปัจจุบันนี้คาดว่ามีอายุประมาณ 100 ปีแล้ว


หมอต้นไม้

หมอต้นไม้

ลักษณะลำต้นของต้นตะเคียนทองจะเปลาตรง (เปลาในภาษาต้นไม้แปลว่า ลำต้นสูงชะลูดตรงขึ้นไป หากสังเกตจะคล้ายกับลำต้นของยางนา) ขึ้นตามป่าดิบแล้ง จัดเป็นพืชวงศ์ไม้ยาง เรียกว่าเป็นไม้พี่น้องกับต้นยางนาก็ไม่ผิด คนสมัยก่อนนิยมเอาไม้ตะเคียนมาทำเรือบ้าง ทำฝาบ้านบ้าง ดังคำบอกเล่า ‘พื้นมะค่า ฝาตะเคียน’ ส่วนชันสีเหลืองจากต้นก็เอาไปทำเป็นชันยาเรือ เป็นยาไม้สำหรับทารักษาเนื้อไม้ หากสังเกต ต้นตะเคียนทองในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) บางต้นจะแยกออกเป็น 2 กิ่ง มีความสูงมากกว่า 1.30 เมตร เรียกว่า ไม้สองนาง

นอกจากนี้ ตะเคียนทองต้นนี้ยังได้สนองพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 9 ด้วยการออกลูกเป็นผลมีปีกยาวหัวเท่าเข็มหมุดคล้ายลูกยางนา แต่เล็กกว่ามาก ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เก็บไปเพาะและปลูกในพื้นที่ป่าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเฉพาะแถวอำเภอกิ่งแม่ออนและที่อื่นๆ จนสามารถขยายพันธุ์ต่อได้นับแสนต้นมาแล้ว

คุณตาต้นจามจุรี อายุมากกว่า 200 ปี

ที่ตั้ง : สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) ศูนย์เชียงใหม่
131 ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50100

หมอต้นไม้

ต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้ซ่อนตัวอยู่ในสวนริมน้ำบริเวณด้านหลังของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient-EFEO) ศูนย์เชียงใหม่ สถาบันของฝรั่งเศสที่ศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ภายในมีอาคารไม้โบราณอยู่หลายหลัง และมีต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้แอบซ่อนอยู่ที่ท้ายสวนซึ่งติดกับริมแม่น้ำปิง

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

ต้นจามจุรีอายุมากกว่า 200 ปีต้นนี้เชื่อมโยงกับระบบนิเวศและประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ของแม่น้ำปิงและเมืองเชียงใหม่ แถมลำต้นก็ใหญ่ขนาด 16 คนกอด แข็งแรงสมบูรณ์ รากจรดปลายยอดปราศจากโรคภัยมากวนใจ ส่วนความพิเศษของต้นจามจุรียักษ์สามารถมองเห็นได้จากหลายทิศทาง หากมองจากริมแม่น้ำปิงจะเห็นได้ทั้งต้น แต่ถ้ามองจากวัดชัยมงคลที่อยู่รั้วข้างกัน จะเห็นได้เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

คุณยายต้นมะขาม อายุ 200 ปี

ที่ตั้ง : โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ
50/1 ถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

หมอต้นไม้

แทมมาริน วิลเลจ เป็นโรงแรมขนาดเล็กบนพื้นที่อันสงบร่มรื่นภายในเมืองเก่าของเชียงใหม่ ถูกโอบล้อมด้วยคูเมืองและกำแพงเมืองโบราณ มีวัดเก่าแก่และถนนสายการค้าตั้งอยู่รายล้อมโรงแรม ชื่อ ‘แทมมาริน วิลเลจ’ หรือ ‘หมู่บ้านมะขาม’ เป็นชื่อที่ได้มาจากต้นมะขามยักษ์พันธ์ุพื้นเมืองที่คอยให้ร่มเงาและความสงบร่มรื่นอยู่ที่ใจกลางของหมู่บ้านมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว จนมีเพื่อนสนิทเป็นคุณลุงหูกวาง คุณป้าลำไย และคุณน้ามะเดื่อ

เมื่อมีการก่อสร้างโรงแรมขึ้นมา เจ้าของเดิมให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกันของต้นไม้ใหญ่และที่พักอาศัยจึงเก็บต้นมะขามต้นนี้ไว้ เปรียบเสมือนเป็น ‘ใจบ้าน’ หมายถึงที่สถิตของอารักษ์ที่ดูแลและปกป้องรักษาชุมชน เมือง หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตามคติความเชื่อของล้านนา และยังเป็นหัวใจของหมู่บ้านที่ชวนให้แขกที่มาเยี่ยมบ้านได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ

หมอต้นไม้

โรงแรมแทมมารินฯ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เคารพการอยู่ร่วมกับของต้นไม้ใหญ่ มีการดูแลต้นไม้เก่าแก่อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของหมอต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกพนักงานให้เป็นรุกขกรเพื่อกลับมาดูแลต้นไม้ในโรงแรม และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมรอบนอกโรงแรมอีกด้วย

คุณทวดต้นยางนา อายุ 220 ปี

ที่ตั้ง : วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวง
103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

หมอต้นไม้

ต้นยางนาถือเป็นพญาไม้แห่งเอเชีย เพราะลำต้นตรง สูงสง่า รากหยั่งลึก ไม่เพียงแต่ถูกใช้ให้เป็นไม้หมายเมือง แต่ยังเป็นไม้หมายถิ่นของตำบลยางเนิ้ง-สารภี  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกต้นยางนาสองข้างทางตลอดระยะทาง 10 กิโลเมตรตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5

ต้นยางนาต้นนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างหออินทขีลและศาลพญายักขราช (ศาลใต้) ภายในวัดเจดีย์หลวง ว่ากันว่ามีอายุประมาณ 220 ปีแล้ว

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปลูกต้นไม้ต้นนี้อยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่ปลูกในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร (พ.ศ. 2324 – 2358) สันนิษฐานว่านำกล้าพันธุ์มาจากเขมรัฐตุงคบุรี หรือเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา

สอง มีข้อสันนิษฐานว่าปลูกไว้ให้เป็น ‘ไม้หมายเมือง’ ในปีที่ย้ายจากเวียงป่าซางมาอยู่เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2339 และปลูกให้เป็น ‘ของคู่กับเสาอินทขีลตามตำนาน’ ในปีที่ย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ. 2353

นอกจากต้นยางนาต้นนี้แล้ว ภายในวัดเจดีย์หลวง ยังมีต้นยางนาอีก 3 ต้นที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน

หมอต้นไม้มือสมัครเล่น

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ชวนตรวจสุขภาพต้นยางนา ปลูกต้นใหม่ทดแทน และเติมอากาศด้วยกัน

หลังจากเติมพลังด้วยอาหารมื้ออร่อย อาสาสมัครหัวใจสีเขียวนั่งตัวตรงตั้งใจฟังวิชาต้นยางนา 101 กับอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย เริ่มกันตั้งแต่พื้นฐานประวัติศาสตร์ต้นยางนา วิธีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ด้วยการปลูกทดแทน การเติมสารอาหารและเติมอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกไปตรวจสุขภาพต้นยางนา ปลูกต้นยางนาทดแทนจำนวน 49 ต้น และเติมสารอาหารที่จำเป็นด้วยปุ๋ยไส้เดือนสูตรพิเศษร่วมกับคุณลุงคุณป้าใจ๋ดีจากกลุ่มอาสาพิทักษ์ยางนา

ตรวจสุขภาพประจำต้น

การตรวจสุขภาพของต้นไม้ใหญ่ก็คล้ายกับการตรวจสุขภาพของคนเรา
ชื่อเล่นและชื่อพฤกษศาตร์ของต้นไม้ก็คล้ายกับชื่อ-นามสกุลของเรา ข้อมูลเหล่านี้จึงเหมือนกับข้อมูลของคนไข้ที่หมอต้นไม้อาสาจำเป็นต้องรู้ก่อนที่จะตรวจสุขภาพต้นไม้ ก่อนตรวจสุขภาพต้นไม้จะต้องวัดส่วนสูงจากโคนติดพื้นดินจนถึงเรือนยอดด้วยฮากา อัลติมิเตอร์ (Haga Altimeter) และวัดความอวบอ้วนของลำต้นด้วยสายวัดขนาดยาว

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

อาสาสมัครจะต้องรู้จักวิธีสังเกต ‘บ้าน’ ของต้นไม้หรือสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้อยู่ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร มีการรับแรงลมที่ดีหรือไม่ มีอาคารหรือเพื่อนต้นไม้ด้วยกันโอบล้อมไว้หรือเปล่า และอย่าลืมสังเกตบริเวณโคนต้นด้วยว่ามีน้ำแช่ขังหรือมีวัสดุมาปิดทับการหายใจของโคนต้นหรือไม่

จากนั้นตรวจสุขภาพกันต่ออย่างละเอียดตั้งแต่ราก ลำต้น และเรือนยอด (กิ่ง ก้าน และใบ) ต้องดูความสมดุลของเรือนยอด ความผิดปกติของสีใบและเปลือก ดูรอยแผลของต้นไม้ สังเกตลักษณะของราก รากขด รากถูกตัด หรือรากงัดลอย กิ่งแห้งและกิ่งผุ หากพบต้องแก้ไขหรือปรึกษารุกขกร เพราะถือเป็นความเสี่ยง อาจหักหรือโค่นลงมาได้ในอนาคต

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

คุณหมอต้นไม้คนเก่งประจำเมืองเชียงใหม่แนะทริกการวัดขนาดลำตัวด้วยดินสอ โดยการวัดความสูงของคนใกล้ตัวด้วยดินสอหรือปากกา สมมติอาสาสมัครสูงเท่ากับ 1 ดินสอ (สูงจริง 160 เซนติเมตร) จากนั้นนำดินสอไปวัดความสูงของต้นไม้จากระยะไกล สมมติวัดความสูงได้ 5 ดินสอ นำความสูงต้นไม้คูณกับความสูงจริงของอาสาสมัคร ก็จะได้ความสูงของต้นไม้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือวัดหรือสูตรคำนวณ

อัดลมเติมอากาศ ใส่ท่อเติมอาหาร

การอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นยางนาทำได้ 3 วิธี คือการฟื้นฟูรากด้วยการเติมอากาศ การปลูกเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ และการออกข้อบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย หมอต้นไม้เมืองเชียงใหม่ ให้ความรู้กับอาสาสมัครก่อนจะลงมือปลูกต้นยางนาจำนวน 49 ต้น ตลอดจนการเติมอาหารว่า ‘ดินเป็นมิตรกับต้นไม้’ ถ้ามีวัสดุพื้นผิวทึบปิดหน้าดินบริเวณโคนต้นจะทำให้น้ำและอากาศลงไปไม่ถึงราก จะต้องทำการทุบออกเพื่อปลูกหญ้าหรือใช้คอนกรีตพรุนแทนวัสดุเดิม ยิ่งบริเวณผิวดินมีลักษณะพรุน จะทำให้น้ำและอาหารลงไปหล่อเลี้ยงถึงโคนราก

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

การพื้นฟูระบบรากของต้นยางนา เราจะเติมอากาศโดยใช้เสียมลม เป็นการอัดอากาศลงไปในดินด้วยพลังลมแรงสูง ลมจะทำให้ดินร่วนแต่รากไม่ขาด ส่วนการใส่ท่อพีวีซีเจาะรูพรุนบรรจุอาหารลงไปในดินเพื่อเติมสารอาหารที่ต้นยางนาต้องการ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างรากใหม่

หมอต้นไม้

อาหารของต้นยางนามีส่วนผสมของขุยมะพร้าว เชื้อราไตรโคเดอร์มา ปุ๋ยไส้เดือน ปุ๋ยปลา และน้ำเปล่า ส่วนผสมแต่ละชนิดให้คุณสมบัติต่างกัน อย่างขุยมะพร้าวจะเป็นตัวกลางในการกักเก็บปุ๋ย เชื้อราไตรโคเดอร์มายับยั้งการเกิดโรค สร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อโรคและแบคทีเรีย และเร่งอัตราการเจริญเติบโตของราก ส่วนปุ๋ยไส้เดือนทำให้โครงสร้างดินดีขึ้น เก็บกักความชื้นได้ดี ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ทำให้รากพืชชอนไชและแพร่กระจายได้กว้างขึ้น ดินระบายน้ำและอากาศได้ดีขึ้น ปุ๋ยปลามีธาตุอาหารสำหรับพืชครบทั้ง 16 ชนิด และน้ำเปล่าช่วยในการเจือจาง

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

แม้อากาศของเมืองเชียงใหม่จะร้อนทะลุปรอท แต่บรรยากาศกลับเย็นชุ่มฉ่ำด้วยน้ำใจของคุณน้าคุณอาจากกลุ่มอาสาพิทักษ์ยางนาและอาสาสมัครด้วยใจรักทั่วประเทศ ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันตรวจสุขภาพประจำต้นยางนา คนรุ่นใหม่สอนคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าเล่าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ ก่อนทั้งสองวัยจะพาลูกหลานลำต้นสูงลิ่วมาลงหลังปักฐานอยู่คู่กับคุณปู่คุณย่าต้นยางนาอายุหลายร้อยปี เพิ่มจำนวนสมาชิกครอบครัวของต้นยางนาบนถนนสายประวัติศาสตร์ให้อบอุ่นมากกว่าเดิม

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

เยือนห้วยโจ้

นั่งรถชมฟาร์มและฟังเรื่องราวการพัฒนาของแม่โจ้

วันนี้เราต้อนรับเช้าวันใหม่ด้วยเสียงนุ่มฟังเพลิน อาจารย์มิ่งขวัญ แดงสุวรรณ ที่นำทีมอาสาสมัครทุกคนขึ้นไปชื่นชมระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของ ‘อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้’ ปอดสีเขียวของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณชุมชนบ้านโปงด้านหลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

วิทยากรเสียงหวานเล่าว่า รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แห่งนี้ทางเฮลิคอปเตอร์ ก่อนจะทรงให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำมอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแล

จากคำกล่าว ‘ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต’ หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน เน้นการระเบิดจากภายใน ฟังเสียงและความเห็นของชาวบ้านในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ การมีส่วนร่วมของชุมชนก่อเกิดโครงการมากมาย อาทิ ฝายกั้นน้ำ ป่าเปียกกันภัย เป็นการเชื่อมโยงฝาย น้ำ และป่า เข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

หมอต้นไม้

เรียนรู้เรื่องรัก(ษ์) ฉบับหมอต้นไม้

ชวนอาสาสมัครไปสอดส่องความรัก (ษ์) ของรุกขกรกับต้นไม้ใหญ่ผ่านกิจกรรมสนุก

หลังจากลงมาจากห้วยโจ้ เรายังมีภารกิจใหญ่ให้อาสาได้เรียนรู้ต่อ ภารกิจวันนี้มีอยู่ว่า อาสาสมัครจงเปลี่ยนความรักเป็นความรักษ์ด้วยการจำลองตนเป็นรุกขกร ด้วยคอร์สระยะสั้นจากรุกขกรประจำทีมหมอต้นไม้เชียงใหม่ จากนั้นใช้ลำแข้งแข็งขันปั่นจักรยานไปตัดแต่งกิ่งแห้ง ถอนลวดและตะปูบนต้นไม้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

ใครอยากเป็นรุกขกร ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ

กิจกรรมนี้เราชวนอาสาสมัครไปจำลองตนเองเป็นรุกขกร เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนสำคัญ อย่างการผูกเงื่อน ถ้าผูกเงื่อนถูกวิธี เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะทำให้การปีนป่ายบนต้นไม้ปลอดภัยมากขึ้น โดยรุกขกรใจดีจากหมอต้นไม้เชียงใหม่ สาธิตการผูกเงื่อนสำหรับปฏิบัติการจริงทั้งหมด ได้แก่ เงื่อนโบลาย เงื่อนเลขแปด เงื่อนเลขแปด 2 ห่วง และเงื่อนห่วง

หมอต้นไม้

จากนั้นอาสาสมัครเดินขบวนเข้าฐานโยนเชือก เพราะรุกขกรจะต้องโยนเชือกนำร่องไปบนกิ่งไม้ก่อนจะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับปีนป่ายในลำดับต่อไป โดยจะมีลูกต้มบรรจุทรายขนาดพอดีมือหนัก 250 กรัม ผูกกับสายเชือก เล็งกิ่งให้แม่น แล้วโยนออกไปให้สูงพ้นกิ่ง จะโยนมือเดียวหรือโยนสองมือก็ย่อมได้  

หมอต้นไม้

หลังจากเรียนรู้ทั้งสองกระบวนการก่อนเริ่มงานของรุกขกร อาสาสมัครอดใจไม่ไหวอยากจะปีนต้นจามจุรีขนาดยักษ์ ด้วยอุปกรณ์ที่ปลอดภัยและมีการดูแลจากรุกขกรใจดีอย่างใกล้ชิด

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

ตัดกิ่งให้ขาดเลย ฉับ ฉับ ฉับ

อาสาสมัครบางกลุ่มจะต้องปั่นจักรยานคู่ใจไปตัดแต่งกิ่งอย่างถูกวิธี และถอนตะปูออกจากต้นไม้ การตัดแต่งกิ่งเป็นการรักษาสุขภาพของต้นไม้ ลดน้ำหนักของกิ่งไม่ให้หักโค่นลงมา เมื่อกิ่งไม่หนาทึบ การระบายอากาศจะดีตามมา มีแสงลอดรำไรส่องลงสู่พื้นหญ้า ทำให้หญ้าเจริญงอกงาม และถ้ามีการตัดอย่างถูกต้องจะทำให้ต้นไม้สมานแผลเร็ว สำคัญเลย ห้ามตัดแบบบั่นยอด ตัดผิด ชีวิต (ต้นไม้) เปลี่ยน!

หมอต้นไม้

อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่งประกอบด้วยเลื่อยมือ เลื่อยมือต่อด้าม และเลื่อยกระตุก ส่วนอุปกรณ์ถอนตะปูคือค้อนและกิ่งไม้ ระหว่างถอนตะปูกิ่งไม้จะกันไม่ให้ค้อนไปโดนลำต้นแล้วทำให้เกิดแผล

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

วิธีการตัดที่ถูกต้องจะเริ่มจากการตัดชิดคอกิ่ง เพราะจะทำให้แผลปิดเองตามธรรมชาติ แล้วบากด้านล่างของกริ่งเพื่อกันกิ่งฉีก จากนั้นใช้เลื่อยตัดด้านบนให้กิ่งขาดออกจากกัน และสุดท้ายตัดเก็บตอให้ชิดโคนกิ่ง 3 ขั้นตอนแสนง่าย ใครก็สามารถทำได้

หมอต้นไม้ หมอต้นไม้ หมอต้นไม้

มากไปกว่ากิจกรรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ คือการนำไปใช้จริงและการส่งต่อข้อมูลอย่างถูกต้องให้กับคนทุกกลุ่มหันกลับมาสนใจต้นไม้ สังเกตอาการป่วย ช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ให้ต้นไม้อยู่กับเรา อยู่กับเมือง เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์สีเขียวต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

หากใครพลาดกิจกรรมครั้งนี้ไม่ต้องเสียใจ เพราะกิจกรรมของ TCP Spirit ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เกาะกิ่งปีนป่ายติดตาม The Cloud และ TCP Group ไว้ให้ดี เราจะมีกิจกรรมอีกเร็วๆ นี้แน่นอน!

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย