บทนำ

ปลาย พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งผ่านมา สำนักพิมพ์ River Books ออกหนังสือคู่แฝด 2 ภาษาที่มีองค์ประกอบเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว เว้นแต่เพียงภาษาที่ใช้ในเล่ม เห็นได้ชัดตั้งแต่ชื่อเรื่องบนปกที่เขียนว่า Totsakan : The Demon King and The Hermit’s Riddle กับ ทศกัณฐ์ ราชาอสูรกับปริศนาแห่งฤๅษี

มันไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์อย่างผลงานตีพิมพ์ส่วนใหญ่ของสำนักพิมพ์นี้ หากเป็นนวนิยายแฟนตาซีกึ่งไซไฟสำหรับเด็กที่ใช้ รามเกียรติ์ เป็นแรงบันดาลใจให้เค้าโครงเรื่อง โดยผู้แต่งชื่อ แทมลิน บี (Tamlin Bea) ได้สอดแทรกตัวละครเด็กชายหญิงจากมิติปัจจุบันคู่หนึ่งเข้าไปสร้างสีสันในฐานะตัวละครเอก พร้อมทั้งผูกปมให้ทั้งสองได้ช่วยกันแก้อย่างชาญฉลาด ผนวกกับการตั้งคำถามและตีความแนวใหม่ที่ยังสอดรับกับเนื้อเรื่องเดิมของวรรณคดีอย่างแยบยล

แทมลิน บี เป็นคนชาติไหน ทำไมถึงได้มีชื่อสกุลแปลกประหลาด บางคนคงกำลังตั้งคำถามนี้อยู่

ขอชี้แจงเพื่อความกระจ่างเสียแต่ตรงนี้ว่า แทมลิน บี ไม่ใช่ชื่อของนักประพันธ์คนใดคนหนึ่ง หากเป็นนามปากกาที่สามีชาวแอฟริกาใต้ แกรห์ม วัตตส์ (Graham Watts) กับภรรยาชาวไทย แหลม-วรนุช วัตตส์ ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อแต่งเรื่องนี้ โดยมีจุดหมายแรกคือการให้ลูกฝาแฝดชายหญิงของพวกเขาได้อ่าน ‘หนังสือที่ดี’ ตามนิยามความคิดของผู้เป็นพ่อและแม่

นั่นคือหนังสือที่รวบรวมค่านิยมอันดีจากความเป็นไทยและสากล เพื่อให้เยาวชนที่ได้อ่านผลงานนี้เรียนรู้ที่จะใช้ความคิดและดำรงชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว

บทที่ 1
กำเนิด แทมลิน บี

“แกรห์ม และ วรนุช วัตตส์” น้ำเสียงภรรยาดังขึ้นอย่างไม่สู้แน่ใจ เมื่อ 2 ตาอ่านมาถึงรายชื่อที่สมควรจะอยู่บนหน้าปกวรรณกรรมเยาวชน

“อ่านแล้วเหมือนเป็นชื่อศาสตราจารย์ 2 คนช่วยกันเขียนตำราวิชาการ ไม่เหมือนชื่อผู้แต่งหนังสือเด็กเลยนะ คุณว่ามั้ย” สามีรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน

“เราน่าจะตั้งนามปากกาขึ้นมาสักชื่อหนึ่งให้มันฟังดูเหมือนเด็กหน่อยนะ”

นี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในบ้านครอบครัววัตตส์เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่พวกเขาทดลองเขียนนิยายร่วมกันเป็นครั้งแรก และจากข้อสังเกตเล็ก ๆ นี้ ตัวตนของ แทมลิน บี จึงถูกสร้างขึ้น

“อยู่ ๆ เราก็ได้ชื่อนี้ขึ้นมา มันไม่ได้มีความหมายอะไรทั้งนั้น เราคิดขึ้นมาได้เมื่อนึกถึงแทรมโพลีน หรือแทมบูรีน มันเรียกง่ายดี ออกเสียงได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งยังฟังเหมือนชื่อนักเขียนเด็กคนหนึ่งด้วย” เจ้าของนามปากกาทั้ง 2 คนช่วยกันเล่าที่มาของชื่อนี้

ท่ามกลางคำถามมากมายที่ถาโถมเข้ามา ประเด็นหนึ่งที่นักเขียนสองสามีภรรยาต้องตอบค่อนข้างบ่อยคือวิธีการเขียนหนังสือของพวกเขา หลายคนไม่เข้าใจว่านักเขียน 2 คนจะช่วยกันเขียนนิยายเรื่องเดียวกันได้อย่างไร สามีผู้ไม่สันทัดภาษาไทยกลับมองเป็นเรื่องปกติ และยกตัวอย่างเจ้าของบทประพันธ์ดังของหนังสือบางเล่มในโลกตะวันตกที่มีผู้เขียนมากกว่า 1

“ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องประหลาดมากหรอกนะ เพราะนักเขียนนวนิยายแฟนตาซีอย่าง เดวิด เอ็ดดิงส์ ก็เคยให้ภรรยาเขามาช่วยเขียน และประสบความสำเร็จมาก ครั้งหนึ่งเคยมีหนังสือได้รับรางวัลก้อนใหญ่ในยุโรป นามปากกาของผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นเหมือนจะเป็นผู้หญิง แต่เมื่อถึงเวลารับรางวัล มีชาย 3 คนเดินขึ้นมาบนเวทีพร้อมกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการร่วมมือกันได้ครับ”

ฝ่ายชายว่า ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะเสริมเรื่องการทำงานเพิ่ม

“หนังสือเรื่องนี้มี 2 ภาษาก็จริง มันไม่ได้มาจากการแปลโดยตรง พวกเราคุยกันอยู่นานจนตกผลึกทางความคิดได้แล้ว ตกลงกันว่าแต่ละบทจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง สามีของฉันเป็นคนเขียนก่อน เพราะเขาไม่รู้ภาษาไทย แต่ฉันรู้ภาษาอังกฤษ เมื่อเขาเขียนแล้ว ฉันก็จะมาอ่านแล้วติชมว่าอะไรดีแล้ว อะไรที่ยังไม่ดี แล้วก็จะกลับไปแก้เนื้อหาใหม่ ปกติเราคุยกันเวลาจูงสุนัขไปเดินเล่น พอแลกเปลี่ยนความคิดกันแล้วก็กลับไปจดรายละเอียด แล้วค่อยเขียน ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลานานกว่า 2 ปีจึงเสร็จลุล่วง”

บทที่ 2
ภาพเขียนทะลุมิติ

เมื่อคิดได้แล้วว่าจะใช้ รามเกียรติ์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงาน พวกเขาก็คิดกันว่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวรรณคดีที่คนไทยทุกคนต้องรู้จักได้อย่างไร ทั้งคู่สร้างตัวละครเด็กชาย-หญิงขึ้นมาคู่หนึ่ง ชื่อ แคทลียา (แคท) เป็นเด็กหญิงชาวกรุงเทพฯ กับเด็กชายชาวลพบุรีชื่อ รวินทร์ และต้องการจะนำเด็กทั้งสองไปร่วมผจญภัยในโลกที่ร้อนระอุด้วยเปลวไฟแห่งสงครามระหว่างยักษ์กับวานร ด้วยแนวคิดว่า อยากให้เด็กไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่พวกเราได้เรียนมาแต่เด็ก

แต่จะพาตัวละครเอกจากโลกปัจจุบันทะลุมิติไปยังโลกของวรรณคดีเรื่องนี้ด้วยวิธีไหน ผู้แต่งทั้งสองก็คิดอยู่พักใหญ่ ถึงได้พบว่าในกรุงเทพฯ ยังมีสถานที่หนึ่งที่น่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดี

ภาพ : firstpersoncontent.com.au

“เราคิดกันว่าจะให้ตัวละครทะลุมิติเข้าไปในภาพ บางทีอาจเป็นพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีภาพเขียน แล้วเราก็นึกขึ้นได้ว่าที่วัดพระแก้วมีจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์ทั้งเรื่องอยู่ น่าจะให้ตัวเอกของเราหลุดไปในโลกใบนั้นด้วยภาพเขียนพวกนี้นะ”

สองสามีภรรยาเล่าด้วยท่าทางที่สนุกสนาน

“เนื้อเรื่องในนิยายของพวกเราจะมีปริศนาซ่อนอยู่เยอะ ซึ่งเราคงเล่าทั้งหมดไม่ได้ ไม่งั้นใครที่อ่านบทสัมภาษณ์ของเราก็จะรู้เรื่องหมดเลย แต่เค้าโครงเรื่องหลัก ๆ ก็จะอิงตามวรรณคดี ทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดา พระรามหาทางพาชายากลับเมือง โดยมีหนุมานมาช่วย แล้วก็เพิ่มเด็ก 2 คนนี้เข้าไปร่วมต่อสู้ด้วย เมื่อพวกเขาหลุดเข้าไปในมิติของ รามเกียรติ์ แล้ว สุครีพซึ่งเป็นน้าของหนุมานก็จะมาทำหน้าที่คอยดูแลพวกเขาเสมือนผู้ใหญ่ใจดีคนหนึ่ง และแนะนำให้เด็ก 2 คนนี้ไปหาฤๅษีซึ่งเป็นผู้บอกปริศนาในการกลับไปยังโลกที่พวกเขาจากมา

ภาพ : firstpersoncontent.com.au

“ทั้งคู่ก็เรียกร้องแต่จะกลับบ้าน แต่เมื่อได้พบฤๅษี ท่านบอกพวกเขาว่าพวกเขาจะกลับบ้านได้ แต่ต้องเอาชนะพวกยักษ์ให้ได้เสียก่อน ทั้งคู่ตอบตกลงและมีส่วนช่วยในการสู้รบ แคทได้รับดาบ ในขณะที่รวินทร์ใช้สมองของเขาอย่างชาญฉลาด หวังที่จะปราบทศกัณฐ์ได้ แต่อย่าลืมว่าทศกัณฐ์ได้ถอดหัวใจฝากไว้ นั่นก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายตามมา”

บทที่ 3
ทศกัณฐ์ที่ไม่ดำเสมอ กับหนุมานที่ไม่ขาวสนิท

“การเขียนหนังสือคือศิลปะรูปแบบหนึ่ง เหมือนศิลปะประเภทอื่น ๆ ที่สะท้อนตัวเองอยู่ในชิ้นงาน บางคนอาจมองว่า ทศกัณฐ์ ราชาอสูรกับปริศนาแห่งฤๅษี มีความเป็นฝรั่งสูง คนไทยเราอาจไม่คิดอย่างนี้ ก็อาจจะมองได้ เพราะว่าแกรห์มเป็นผู้เขียนหลัก แต่พอเราปรึกษากัน มันก็ได้ความคิดที่เป็นสากลทั้งไทยและฝรั่ง” นักเขียนฝ่ายหญิงกล่าวด้วยภาษาไทยเสียงดังฟังชัด

“โดยเฉพาะเรื่องเพศ นางสีดาในเรื่องก็ไม่ได้มีคาแรกเตอร์ที่อ่อนแออย่างเดียว เรานำเสนอในแง่ว่านางไม่ใช่แค่สาวงาม แต่เป็นสตรีที่มีหัวใจกล้าแกร่ง จุดที่สีดาเถียงกับหนุมานก็มีค่านิยมสากลแทรกอยู่เช่นกัน และอย่างพระรามนั้นก็ไม่ใช่จะมีแต่มุมที่มาดแมนเสมอไปด้วย

“หนังสือของเราจะเขียนให้ไม่มีใครถูก ผิด ดี เลว เพียงมุมเดียว มันอาจมีถูกหรือผิดจริง แต่เราไม่ได้ชี้ หลังจากอ่านไป คุณจะได้คิดด้วยตัวเองว่าอย่างนี้มันดีหรือไม่ดี ทุกคนมีทั้งขาวและดำอยู่ในตัว เช่นบางเวลาคุณอาจรู้สึกเห็นใจทศกัณฐ์ และรู้สึกเสียใจไปกับชะตากรรมของเขาบ้าง ในขณะที่หนุมานที่เราว่าเป็นฝ่ายดี แต่การที่เขาจุดไฟเผากรุงลงกาทั้งเมือง แคทกับรวินทร์ก็จะทำหน้าที่ถกเถียงกันว่าเป็นการกระทำที่ดีจริงหรือ เราไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้มีแค่ดี-เลว แต่อยากให้เป็นเรื่องที่สนุก มีความซับซ้อนด้วย และแฝงปรัชญาบางอย่างที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าใจได้”

บทที่ 4
วันวานของพ่อแม่

สองสามีภรรยา แกรห์มและแหลม ผลัดกันสาธยายเรื่องราวในหนังสือของพวกเขา จนถึงเนื้อหาในวรรณคดีต้นฉบับได้เป็นคุ้งเป็นแคว ประหนึ่งว่าทั้งคู่เป็นนักเขียนนิยายชั้นยอด ไม่ก็ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาเคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่มาจากต่างซีกโลกกัน

แกรห์มเกิดและโตที่เมืองเดอร์บัน (Durban) บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นคนวางเรียงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยุคเก่า ด้วยสายเลือดคนทำหนังสือพิมพ์ที่มีเต็มเปี่ยม เมื่อถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย เขาจึงสมัครทุนเข้าเรียนในสาขาวิชาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยโรดส์ (Rhodes University) ทำให้เขาเป็นลูกคนแรกที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยในแอฟริกาใต้ แกรห์มย้ายไปหาความรู้เพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกา คว้าปริญญาบัตรเพิ่มมาอีกใบ กลับมาทำงานกับหนังสือพิมพ์ในประเทศบ้านเกิดอีก 3 แห่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด Financial Times ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ทำงานของเขาอีก 21 ปีหลังจากนั้น

เหนือจากการทำงานในกองบรรณาธิการแล้ว แกรห์มยังได้รับมอบหมายงานฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการเขียนข่าวให้นักข่าวทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ของหนังสือพิมพ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของงานรองอย่างเทรนเนอร์อบรมวิธีการเขียนข่าวแก่บรรดานักข่าวจากหลากประเทศหลายภูมิภาค

ช่วงที่ทำงานให้ Financial Times แกรห์ม วัตตส์ แต่งงานครั้งแรก มีลูก 2 คน ทว่าชีวิตสมรสของเขาก็ไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดก็ลงเอยด้วยการหย่าร้าง

ส่วน แหลม หรือ วรนุช เกิดในครอบครัวคนจีน โดยตัวเธอเป็นลูกคนสุดท้องในกระบวนพี่น้อง 5 คน แต่ก็เป็นลูกคนแรกที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยเช่นกัน เธอเริ่มงานในสายอาชีพนักข่าวธุรกิจกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หลังจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานที่นั่น 3 ปี แล้วจึงย้ายมาทำงานสายเดิมกับหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน ช่วยให้เธอได้พบกับว่าที่สามีซึ่งได้รับเชิญมาฝึกอบรมผู้สื่อข่าวในประเทศแถบอินโดจีนเมื่อปี 2001

แกรห์มสั่งให้นักเรียนที่มาจากหลายประเทศเขียนพาดหัวข่าวภาษาอังกฤษ บางคนไม่เคยเขียนมาก่อน จึงเขียนออกมายืดยาวหลายบรรทัดซึ่งไม่ถูกหลักการ ทำให้เขาโมโห และเริ่มจะใส่อารมณ์กับลูกศิษย์ ภายใต้บรรยากาศที่กดดันนั้น แหลมเป็นคนเดียวในชั้นเรียนที่กล้าลุกขึ้นเถียงเขาเพื่อปกป้องเพื่อนนักเรียนคนอื่น สร้างความประทับใจแก่แกรห์มผู้เป็นอาจารย์มาก หลังจากที่พวกเขาเลิกราความสัมพันธ์กับคนรักเก่า ทั้งสองก็ได้กลับมาติดต่อกันอีกครั้ง ไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็นคู่รัก ชวนกันไปท่องเที่ยวสุดโรแมนติกที่ประเทศจีน ก่อนจูงมือกันเข้าสู่ประตูวิวาห์ในปี 2006 ที่กรุงเทพฯ

มีเรื่องตลก ๆ ที่พวกเขายังหยอกล้อกันมาจนถึงวันนี้ คือเหตุการณ์ในพิธีแต่งงานแบบจีนที่ครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้จัด ทุกคนต้องการให้มีการวางเงินสินสอดเป็นพิธี และได้เรียกเงินจาก ‘เขยฝรั่ง’ เป็นจำนวน 444,444 บาท โดยที่แกรห์มไม่ทราบมาก่อนว่าสุดท้ายพ่อแม่เจ้าสาวจะคืนให้ เขาถึงกับต้องโอนเงินจากประเทศอังกฤษมาใช้ ด้วยความหวั่นใจว่าจะสิ้นเนื้อประดาตัว

“นั่นคือเงินทั้งหมดที่ผมมีเลย แต่มันก็คุ้มค่านะครับ เพราะทำให้ผมได้ครองคู่กับผู้หญิงคนสำคัญในชีวิต ผู้หญิงที่มีค่าเหมือนเงิน 1 ล้านดอลลาร์สำหรับผม”

ด้วยความรักความเอาใจใส่ที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน ไม่กี่ปีคล้อยหลัง ฟ้าก็ส่งลูกมาให้กับพวกเขา ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิง แต่เป็นทั้งหญิงและชายในครรภ์เดียว

บทที่ 5
มาลียา และ ลูค

หลังแต่งงาน แกรห์มกับแหลมเคยกังวลว่าพวกเขาจะต้องอยู่ไกลกัน ด้วยฝ่ายสามียังทำอาชีพเทรนเนอร์นักหนังสือพิมพ์ต่อไป ต้องเดินทางหลายประเทศ ขณะที่ฝ่ายหญิงก็ยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตามเดิม แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อลูกแฝดของพวกเขาลืมตาดูโลกในปี 2009

ทารกหญิงคลอดก่อน 1 นาที ทำให้พ่อกับแม่นับเธอเป็นแฝดพี่ และทารกเพศชายเป็นแฝดน้อง แกรห์มเป็นผู้ตั้งชื่อให้ลูกคู่นี้ว่า มาลียา กับ ลูค วัตตส์ ด้วยความตั้งใจให้ชื่อทั้งสองอ่านง่าย ออกเสียงได้ทั้งกับชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ต่างจากที่เขาตั้งให้นามปากกาตนเองในอีกหลายปีต่อมา

“ด้วยแนวคิดว่าต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น และเป็นลูกแฝด ฉันต้องตื่นตี 2 ขึ้นมาให้นมลูกทั้ง 2 เต้า เลี้ยงลูก 2 คนพร้อมกัน ทรมานจนต้องไปหาหมอ คุณหมอก็บอกว่าถ้าคุณไม่ไหวจริง ๆ ให้ลูกกินนมขวดบ้างก็ได้นะ ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนให้ลูกกินนมขวดบ้าง”

แหลมเล่าอย่างจะให้เห็นว่าเธอตั้งใจเพียงไรกับการถนอมกล่อมเกลี้ยงลูกทั้ง 2 คนนี้เมื่อแรกเกิด หากที่ทำให้เธอหนักใจกว่าคือการตัดสินใจออกจากงานเพื่อเป็นคุณแม่เต็มเวลา

“ใคร ๆ ก็รู้ว่าเลี้ยงลูกต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ แต่ลูกยังเล็ก ยังต้องการแม่ ฉันรู้สึกว่าถ้าครอบครัวไม่เกื้อหนุนให้เราทำงานมากอย่างแต่ก่อน เราก็ทำงานออกมาได้ไม่ดี แม้ว่าแกรห์มจะทำงานหลายอย่างมาก นอกจากเป็นเทรนเนอร์แล้ว เขาเคยเป็นที่ปรึกษาด้านการเขียนให้นักวิเคราะห์ที่ HSBC ด้วย แต่เขาไม่ได้ทำงานประจำ รายได้ก็ไม่มั่นคง นั่นถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตเลยที่เลือกลดรายได้ทางหนึ่ง เพื่อมาเลี้ยงลูกเต็มตัวค่ะ”

บทที่ 6
เมล็ดพันธุ์วรรณกรรมเด็กไทย

“พวกเราก็เหมือนพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่อยากให้ลูกอ่านหนังสือ เพราะทุกคนก็รู้ว่าหนังสือดีกับเด็ก ทีนี้เราก็อยากให้ครอบครัวเราเป็นครอบครัว 2 ภาษา 2 วัฒนธรรม จะหาหนังสือภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นปัญหา เพราะหนังสือมีเยอะแยะไปหมด แต่หนังสือไทยนั้น ถ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็ยังมีหนังสือภาพเยอะอยู่ แต่พอโตขึ้นมาในวัยที่พวกเขาต้องอ่านได้เอง เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีหนังสือที่ตรงใจเรา”

แกรห์มกับแหลมเผยความตั้งใจของพวกเขาต่อหน้าลูก ๆ วัย 14 ปีที่ขณะนี้กำลังเรียนมัธยมอยู่ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอังกฤษ ทั้งคู่เพิ่งย้ายไปเรียนที่นั่นเมื่อปีกลาย หลังจากที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลมานานหลายปีแล้วพบเจอปัญหามาก ไม่ต่างจากโรงเรียนรัฐในหลาย ๆ ประเทศ

“ครอบครัวเราค่อนข้างเสรี ขณะที่หนังสือไทยส่วนมากสอนแต่ดำ-ขาว ต้องชี้ให้เห็นว่าอะไรถูก อะไรผิด เราไม่ชอบให้เป็นแบบนั้น มันน่าจะปล่อยให้เด็ก ๆ ได้คิดเองบ้าง เพราะโลกจริง ๆ เป็นสีเทา ไม่ได้มีอะไรที่ขาวและดำไปทั้งหมดทุกเรื่อง”

แหลมซื้อหนังสือแปลไทยให้ลูกอ่าน แต่แกรห์มก็ค้านภรรยาว่าเธอน่าจะซื้อหนังสือไทย เขียนโดยคนไทยให้ลูกอ่านมากกว่า เพื่อที่ลูกจะได้ซึมซับกับความเป็นไทย ซึ่งคงไม่ได้รับจากหนังสือแปลไทย 

เมื่อสำรวจท้องตลาดจนแน่ใจแล้วว่าไม่มีหนังสืออย่างที่ต้องการ สองสามีภรรยาเลยตกลงกันที่จะเขียนหนังสือนิยายให้ลูกอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คุณและคุณนายวัตตส์คุยเรื่องนี้กันอยู่นานแรมปี จนได้ลงมือทำจริงเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้พวกเขามีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น

แรงบันดาลใจสำคัญมาจากนิยายแฟนตาซีชุด เพอร์ซีย์ แจ็กสัน ที่ลูคได้อ่าน เด็กชายชื่นชอบมันชนิดจำชื่อเทพเจ้ากรีกและสถานที่ได้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเทพเจ้ากรีกกับเด็กชายชาวอเมริกันซึ่งไม่ได้สะท้อนตัวตนชนชาติของพ่อและแม่ แหลมจึงหารือกับแกรห์มว่าน่าจะเขียนเรื่องเทพเจ้าหรือเทพปกรณัมไทยให้เด็กไทยได้อ่าน

“ที่เลือก รามเกียรติ์ มาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของวรรณคดีไทย เมื่อต้องนึกถึงสุดยอดวรรณคดีอังกฤษสักเรื่อง คุณอาจนึกถึง กษัตริย์อาร์เธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม ทำนองเดียวกัน ของไทยก็ต้องเป็นเรื่องนี้ เพราะอยู่ทุกที่รอบตัวเรา ตั้งแต่เป็นเด็ก คนไทยก็จะได้เห็นหนุมาน ทศกัณฐ์ พระลักษมณ์ พระราม เราอยากได้อะไรที่ใกล้ตัวเด็ก ๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะเด็กชอบความคุ้นเคย ชอบสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเองอยู่แล้ว เรื่องราวของพระรามก็น่าจะทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ดี

“เด็กไทยทุกคนรู้อยู่แล้วว่า รามเกียรติ์ คืออะไร เกี่ยวกับอะไร การที่มีเด็กไทยธรรมดา ๆ อย่างตัวพวกเขาเองไปผจญภัยกับเหล่าตัวละครในมหากาพย์ระดับตำนาน ไม่ใช่เทพเจ้ากรีกหรือวรรณกรรมต่างชาติ แต่เป็นเรื่องราวที่คนไทยรู้จักดี คุณค่าของงานชิ้นนี้น่าจะอยู่ที่เด็กทุกคนเข้าถึงและวิเคราะห์เรื่องราวที่พวกเขาอ่านได้”

และที่ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย นอกจากให้ลูกทั้งสองที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักอ่านรู้เรื่องแล้ว ผู้เขียนทั้งสองยังเชื่อมั่นว่าโครงเรื่องที่ได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมเด็กชิ้นนี้มีดีพอให้เด็กชาติอื่นอ่านได้เหมือนกันเด็กไทย

“ความคิดหนึ่งที่เราทั้งคู่อยากจะฝากไว้ คือการอ่านเป็นเรื่องสนุก แต่คุณจะสนุกยิ่งกว่า ถ้าเนื้อหาที่อ่านนั้นคล้ายคลึงหรือเข้าถึงตัวคุณได้ ที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทยถึงจะสนุกกับเรื่องนี้ได้ เหมือนกับที่คุณไม่ต้องเป็นชาวกรีก ก็สนุกไปกับเทพปกรณัมกรีกหรือ เพอร์ซีย์ แจ็กสัน ได้ ดังนั้นพอจะต้องเขียนหนังสือออกมาให้ลูก ๆ อ่าน เราจึงเขียนมันทั้ง 2 ภาษาที่พวกเขาได้โตมา

“พวกเราหวังว่างานเขียนเรื่องแรกภายใต้นามปากกา แทมลิน บี จะหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดนี้ให้กับนักเขียนไทยคนอื่น ๆ ให้พวกเขาได้เห็นว่าตัวเองก็แต่งวรรณกรรมเพื่อเด็กไทยได้นะ เนื่องจากเราทั้งคู่มาจากครอบครัวธรรมดาที่ไม่ได้มีหนังสืออ่านมากนักในวัยเด็ก และเป็นลูกคนแรกของครอบครัวที่ได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน เราต่างโชคดีที่ได้เรียนรู้ด้านการอ่าน และซึมซับคุณค่าความสุขที่ได้จากหนังสือ เราก็อยากจะส่งต่อความสุขนี้ให้เด็ก ๆ มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างที่นักเขียนชาวแคนาดา มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด กล่าวว่า เด็กที่รักการอ่าน จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด

บทส่งท้าย
ประตูโอกาสที่เปิดด้วยรัก

นิยายเล่มแรกของ แทมลิน บี ทั้ง 2 ภาษาถูกนำมากางอ่านอีกครั้ง โดย 2 มือของพ่อและแม่ผู้อุทิศแรงกายใจในการประพันธ์กว่า 2 ปี แลกเปลี่ยนความคิดนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเช่นนี้ เด็กลูกครึ่งหญิงชายตามกันมาอ่านผลงานของสองผู้ให้กำเนิด ลูคดูจะมีความสนใจมากกว่า ตรงข้ามกับมาลียาที่ดูไม่กระตือรือร้นมากนัก

“ความสนใจของพวกเขาต่างกันค่ะ” ผู้เป็นแม่ยิ้มบอก “หนังสือที่มาลียาอ่านมักไม่ใช่เรื่องผจญภัยหรือแฟนตาซี ในวัยนี้เธอเริ่มอ่านนิยายที่ผู้ใหญ่อ่านกันแล้ว บางทีเรื่องนี้อาจมีเนื้อหาเด็กไปสำหรับเธอ ถึงอย่างนั้นเธอก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีมากสำหรับพวกเรา ส่วนลูคชอบมาก เรื่องนี้กลายเป็นหนังสือที่เขาอ่านซ้ำรอบสอง และให้ความคิดใหม่ ๆ กับเรามากทีเดียว”

“พวกเราได้ยินเสียงพ่อกับแม่ตลอดเวลาที่อ่านเล่มนี้เลยครับ / ค่ะ” ฝาแฝดที่พูดภาษาไทยไม่แข็งตามประสาเด็กที่เติบโตในต่างประเทศเป็นหลัก เอ่ยแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน

พ่อแกรห์มได้ฟังคำตอบดังนั้น จึงเปรยแนวคิดในการเลี้ยงดูลูกของเขาออกมา

“หลาย ๆ คนจะคิดว่าลูกคือสิ่งที่ตัวคุณสร้างพวกเขาขึ้นมา แต่เราค้นพบว่าลูกก็เป็นตัวตนอย่างที่เขาเป็น เราไม่อาจปั้นแต่งพวกเขาให้เป็นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น ฝาแฝดที่อยู่ในท้องแม่เดียวกันมานานถึง 9 เดือน เติบโตมาในบ้านเดียวกัน ก็เป็นเด็กคนละคนกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าคุณจะพยายามกำหนดเส้นทางชีวิตให้พวกเขาแค่ไหน เขาก็ยังมุ่งไปในทิศทางของเขาเองอยู่ดี

“พ่อแม่หลายคู่ทำผิดมหันต์ในการคิดว่าพวกเขาทำให้ลูกเป็นอย่างที่พ่อแม่ต้องการได้ พ่อหลาย ๆ คนชอบตั้งความหวังให้ลูกชายโตขึ้นมาเป็นเหมือนตัวเอง ปรัชญาการเลี้ยงลูกของเราคือปล่อยให้ลูกได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น ให้ความรักกับเขา ช่วยเหลือเขา นั่นจะทำให้ลูกของเรามีความสุข ตรงกันข้าม ถ้าคุณพยายามที่จะบังคับลูก พวกเขาก็จะต่อต้านคุณในภายหลัง”

จบคำสามีผู้มาจากแอฟริกาใต้ ภรรยาชาวไทยก็สรุปปรัชญาการเลี้ยงลูกของเธอต่อ

“ความรักคือสิ่งสำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ในครอบครัว ทุกชีวิตต้องการความรักเป็นพื้นฐาน ถึงจะดุ จะว่าลูกในบางที แต่ถ้าเขารู้ว่าเราทำไปด้วยรัก เราก็จะไม่โกรธเคืองกันในเรื่องนี้ เราไม่ค่อยบังคับให้ลูกต้องทำนู่นทำนี่ แต่ที่สำคัญเราต้องรู้จักคิดถึงคนอื่น เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เราคิดถึงคนอื่น เราจะตัวเล็กลง เราจะอ่อนน้อมมากขึ้น และให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น”

“ส่วนเรื่องการศึกษาหรือเรื่องการเติบโต เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอะไร เมื่อก่อนเราเคยเป็นครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดา แต่ตอนนี้เรายกระดับมาเป็น Upper Middle Class เรามีเงินเก็บเพียงพอที่จะเปิดประตูให้เขาหลาย ๆ บาน พร้อมจะให้ลูกเล่นกีฬา ร้องเพลง เล่นเปียโน ฯลฯ ก็หวังว่าจะมีบานหนึ่งที่ถูกต้องสำหรับเขา และเขาก็เลือกทางเดินอันนี้”

และเป็นทั้ง 2 คนที่ช่วยกันปิดท้ายความรู้สึกต่อเด็ก ๆ ผู้เป็นทั้งแก้วตาดวงใจ และอาจเป็นคนดลใจให้พวกเขาสร้างตัวละครเอกอย่าง ‘แคท’ กับ ‘รวินทร์’ ขึ้นมา

“ลูกสาวของเราร้องเพลงเยี่ยมยอดมาก ส่วนลูกชายเราก็เต้นได้เจ๋งเป้งทีเดียว โดยที่เราไม่ได้กำหนดให้ลูก ๆ เป็นแบบนี้เลย ทักษะเหล่านี้มันมาจากตัวพวกเขาเอง เราภูมิใจทีเดียวที่ได้ชมลูกร้องเพลงและเต้นในแบบของลูก หน้าที่ของพ่อแม่อย่างเราคือเปิดประตูให้พวกเขา”

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ