สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟังเพลง คำแพง ของ แซ็ค ชุมแพ ผมอยากแนะนำให้ลองคลิกฟังเพลงความยาว 4.19 นาทีนี้ก่อนอ่านต่อไป
เมื่อวาน, 26 มิถุนายน 2560 เพลง คำแพง เพิ่งมียอดวิวทะลุ 300 ล้าน จากข้อมูลหลังบ้าน บอกเราว่ายอดวิวของเพลงนี้เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านวิวต่อ 1 วัน ประเมินอย่างหยาบๆ คือจะมีเพลงนี้ดังเกิน 1 ล้านครั้งในทุกวัน ยังไม่นับจำนวนครั้งที่นักร้องในโลกออนไลน์คัฟเวอร์เพลงเพลงนี้
แม้ยอดวิวจะเป็นเพียงตัวเลขแต่มันก็สะท้อนอะไรได้มากมายในยุค Big Data
นอกจาก คำแพง ก่อนหน้านี้เพลงลูกทุ่งสั่นสะเทือนโลกออนไลน์มาแล้วจากเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ของ ก้อง ห้วยไร่ ไล่เรียงมาจนกระทั่งล่าสุด ผู้สาวขาเลาะ ของ ลำไย ไหทองคำ ที่ยอดวิวก็อยู่ที่หลักร้อยล้านเช่นเดียวกัน หากสังเกตจุดร่วมของเพลงเหล่านั้นจะพบว่าแทบทั้งหมดหาได้เป็นเพลงจากค่ายเพลงใหญ่ที่มีกระบวนการโปรโมตเหนือชั้น แต่กลับเป็นเพลงจากค่ายหรือคนตัวเล็กๆ
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเพลง คำแพง นั้น ทำโดยค่ายเพลงขนาดกะทัดรัดในอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น อย่าง Tonmai Music & Studio เนื้อเพลงและทำนองแต่งโดยคนชุมแพ ร้องโดยคนชุมแพ ถ่ายมิวสิกวิดีโอโดยคนชุมแพ-ที่ชุมแพ
โลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในหลายวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการลูกทุ่ง
นึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่าเพลงจากชุมแพจะเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรในวงการเพลงยุคเก่า
ผมนัดพบชาวชุมแพ 2 ชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังเพลงเพลงนี้ในวันที่ยอดวิวกำลังจะแตะ 300 ล้านวิวในอีกไม่กี่ชั่วโมง หนึ่งคือ แซ็ค ชุมแพ นักร้องที่เคยเป็นเพียงตัวประกอบในมิวสิกวิดีโอมาก่อน อีกหนึ่งคือ เอ๊ะ-สายชล แผ่นผา โปรดิวเซอร์และผู้แต่งเพลง ซึ่งคอยเฝ้ามองปรากฏการณ์ของวงการเพลงลูกทุ่งมาตลอด
ถ้าพร้อมแล้ว ลองย้อนกลับไปฟังเรื่องราวตั้งแต่วันที่ยอดวิวยังเป็นศูนย์จากปากของเขาทั้งสอง

ทุกวันนี้แซ็คได้ลองนับไหมว่าร้องเพลง คำแพง ไปแล้วกี่รอบ
แซ็ค: นับไม่ถ้วนเลยครับ (หัวเราะ) บางงานร้องจบไปแล้วเขาก็มาขออีก
แล้วจุดเริ่มต้นของเพลงนี้เริ่มที่ไหน
เอ๊ะ: ที่ทุ่งนาเลยครับ ผมสร้างบ้านไว้ที่ทุ่งนา แล้วแซ็คก็อยู่หมู่บ้านเดียวกัน คือก่อนทำเพลงให้แซ็ค ค่ายเราทำเพลงมาแล้วเพลงนึง แซ็คก็มาแสดงเป็นตัวโจ๊กในมิวสิกวิดีโอเพลงนั้น ผมเลยรู้ว่าแซ็คเพิ่งแข่งชนะกลับมาจากรายการ กิ๊กดู๋ ผมเลยถามว่าไปแข่งชนะกลับมาแล้วไม่ทำอะไรต่อเหรอ ทำไมไม่ทำเพลงล่ะ ลองดูมั้ย เดี๋ยวพี่เขียนเพลงให้ หลังจากนั้นก็กลับมานั่งคิดว่า ตัวตนแบบเขา เสียงแบบเขา จะเขียนเพลงลักษณะยังไงดี ก็เลยนั่งเขียน แล้วเรียกเขามาฟัง กระบวนการง่ายๆ ไม่ได้มีกรอบอะไรมาก เราแค่อยากทำงาน ไม่มีกระบวนการอะไรที่ซับซ้อน

กระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ทำซาวนด์ อัดเสียง ถ่ายมิวสิกวิดีโอ ทำที่ชุมแพทั้งหมด ด้วยความที่พื้นที่ชุมแพมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือเป็นชุมชนที่มีความดั้งเดิมพอสมควร ผู้คนยังมีความผูกพันกันในพื้นที่สูง สิ่งนี้ทำให้เพลง คำแพง เกิดขึ้น เพราะเรามีทีมงานที่รู้จักกัน เราอยากได้ฝ่ายไหน หาได้ในชุมแพ ทำให้งานเพลงที่จะสร้างมันง่าย หมายความว่า เราไม่ต้องมีเงินมากเราก็สามารถสร้างงานได้ เรียกใช้กัน พี่น้องกัน
ชีวิตของแซ็คที่ชุมแพเป็นยังไงบ้างก่อนเพลง คำแพง จะเป็นที่รู้จัก
แซ็ค: ผมก็ทำงานปกติ ช่วยคุณพ่อทำเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่บ้าน
เห็นว่าตอนเด็กๆ เคยไปประกวดร้องเพลงด้วย ตอนนั้นไปประกวดทำไม หวังอะไร
แซ็ค: คุณครูบอกว่าถ้าชนะจะได้เงินรางวัล ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ผมไปทำงานต่างจังหวัด ผมอยู่กับยาย เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นลองประกวดดู เผื่อชนะ ตอนนั้นตั้งความหวังว่าถ้าได้เงินก็เอาให้เอาให้คุณยาย แต่ประกวดไปเรื่อยๆ ก็ไม่ชนะ ช่วงนั้นไปไหนเขาจำผมได้เกือบหมด แต่ไม่ได้ในฐานะแชมป์นะ ผมประกวดตั้งแต่ ป.5 – ป.6 ห้าหกปีไม่เคยได้แชมป์ ดีที่สุดคือได้ที่ 3
จากกี่คน
แซ็ค: 5 คน (หัวเราะ)
ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าการเป็นนักร้องเป็นเรื่องไกลตัวไหม
แซ็ค: ไกล ไม่คิดเลย พอประกวดแพ้ผมคิดว่าจะไม่ร้องเพลงแล้วด้วย ผมหยุดร้องไป 6 ปี ไปทำงานช่วยคุณพ่อ ไม่ได้จับไมค์เลย ฟังเพลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะกลับมาร้องเพลง ทีนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อแม่และคนรอบข้างถึงกลับมาร้อง จนกระทั่งไปประกวดรายการ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง ชนะ แล้วมาเจอพี่เอ๊ะ ได้ร้องเพลง คำแพง


ครั้งแรกที่ฟังเพลง คำแพง แซ็ครู้สึกยังไง
แซ็ค: วันแรกที่ฟังมีพี่คนหนึ่งร้องไกด์ไว้ผมยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง พี่เอ๊ะก็ถามแล้วถามอีกว่าจะร้องเพลงเพลงนี้มั้ย ชอบมั้ย ผมใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะยืนยันว่าผมจะร้องเพลงนี้ เพราะผมไม่รู้ความหมายของเนื้อเพลง มันเป็นคำอีสานที่ความหมายลึก ผมเป็นเด็กวัยรุ่นยังไม่ค่อยเข้าใจ แล้วพี่ทีมงานก็ถามว่าเชื่อใจในทีมงานมั้ย ผมก็เลยบอกว่าผมเชื่อใจ โอเค ถ้าอย่างนั้นผมทำ ทุกวันนี้ทีมงานก็ยังพูดกันอยู่เลยว่าวันนั้นผมเกือบจะไม่ร้องแล้ว
แล้วพวกคุณเคยมาวิเคราะห์ไหมว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลง คำแพง มาไกลขนาดนี้
เอ๊ะ: โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูงที่สุด ในพื้นที่การรับฟัง การดู การชม ทุกวันนี้จะมีกี่คนเข้าไปดูช่องของค่ายใหญ่ คนเขาดูยูทูบ
หมายความว่าถ้าไม่มียูทูบ เพลง คำแพง อาจจะไม่มีคนรู้จักขนาดนี้
เอ๊ะ: คงไม่มีเพลง คำแพง
ขนาดนั้นเลยหรือ
เอ๊ะ: สำหรับผมคิดอย่างนั้นนะ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้ายื่นค่ายใหญ่ก็จะไม่มีใครเอา อาจจะทำได้แค่หาวิทยุให้เขาช่วยเปิด แต่เขาก็จะไม่ค่อยอยากเปิด เพราะเปิดไปคนก็ไม่ฟัง สมัยก่อนคนฟังสื่อเขาก็มีกรอบเหมือนกัน ลูกทุ่งก็ต้องเป็นดนตรีสไตล์แกรมมี่โกลด์ อาร์สยาม คนแรกที่เปิดการฟังให้สังคม ส่วนตัวผมคิดว่าคือ ก้อง ห้วยไร่ ที่ร้องเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน
เหมือนทุกวันนี้เราสามารถทำเพลงได้โดยไม่ต้องสังกัดค่ายใหญ่แล้ว
เอ๊ะ: ใช่ นอกจากพื้นที่ในการโชว์ผลงานไม่แตกต่างกัน ต้นทุนในการสร้างงานก็ลดน้อยลง โฮมสตูดิโอที่บ้านเราก็สร้างเองได้ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ทุกคนต้องอยู่ค่ายใหญ่ นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้งานเพลงหลากหลายขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่า ณ ตอนนี้คนเริ่มอยากฟังทางเลือกใหม่ๆ ทางเลือกเก่าๆ ที่แนวการเขียนเพลงเหมือนเดิม ทำนองดนตรีเหมือนเดิม เป็นเรื่องเบื่อ
ลองดูเพลงที่ติดตลาดอยู่ตอนนี้ เป็นเพลงของศิลปินอย่าง ก้อง ห้วยไร่, ลำไย ไหทองคำ, ปู่จ๋าน ลองไมค์, แร็พอีสาน หรือแซ็ค ชุมแพ ส่วนใหญ่เป็นศิลปินจากค่ายเล็ก แต่ที่ดังขึ้นมาเพราะว่าคนเหล่านี้ไม่มีกรอบครอบเขา ไม่มีกรอบว่าอย่าเขียนคำแบบนี้ คำแบบนี้ตลาดจะไม่รับ อย่างเพลง คำแพง ถ้าให้นักวิเคราะห์เพลงที่เป็นรุ่นเก่าวิเคราะห์เขาจะบอกว่าขายไม่ได้ เพราะว่าใช้คำไม่รู้เรื่อง เป็นภาษาอีสาน มันก็จะแคบ คุณไม่สามารถขายเพลงนี้ได้ทั่วประเทศ อาจจะดีแต่สินค้าคุณขายได้เฉพาะหมู่บ้านเดียว คุณไปขายหมู่บ้านอื่นไม่ได้ สมมติว่าเป็นปลาร้า คุณจะไปขายภาคใต้เขาก็ไม่กิน
แต่คุณไม่คิดอย่างนั้น
เอ๊ะ: ไม่คิด เราคิดว่าเราจะสร้างงานที่มันแตกต่าง ที่เหลือให้คนเสพเขาเป็นคนตัดสิน พอกระแสมันเริ่มขึ้นมา คนที่ฟังก็เริ่มเปิดกว้าง

กลายเป็นว่าตอนนี้ คำแพง ก็ไม่ได้ดังแค่ในอีสานใช่ไหม
เอ๊ะ: เราเพิ่งกลับจากชุมพรเมื่อเช้า ก่อนหน้านั้นก็ไปสุราษฎร์ธานี
ทำไมคนทุกภาคถึงเปิดรับเพลงภาษาอีสาน
เอ๊ะ: ผมว่าเพราะเทคโนโลยีอย่างโลกออนไลน์มันกว้างขึ้น คนเลยเสพอะไรเยอะมากขึ้น สมัยก่อนคนฟังก็มีแค่ช่องค่ายเพลงใหญ่ เขาก็รับสื่อแค่นั้น ไม่ใช่ว่าตอนนั้นเขาไม่อยากรับสื่อใหม่ แต่มันไม่มีสื่ออื่น ทุกวันนี้พอมีสื่ออื่น คนก็เลยเริ่มหาสิ่งใหม่ๆ ฟัง เราลงไปใต้เราก็หวั่นๆ แต่เขาร้องได้หมด คนใต้คัฟเวอร์เพลง คำแพง เยอะด้วยในยูทูบ และตอนนี้งานหลักอยู่ที่ภาคกลาง เทคโนโลยีมันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน ศิลปินมีโอกาสมากขึ้น
พูดได้ไหมว่าโลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงวงการลูกทุ่งไป
เอ๊ะ: สำคัญ สมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ทั่วถึงอย่างทุกวันนี้ การผลิตเพลงอยู่ที่ค่ายใหญ่หมด พอการผลิตเพลงอยู่ที่ค่ายใหญ่ ศิลปินที่เข้าไปเป็นนักร้องในค่ายใหญ่ก็จะถูกกรอบครอบไว้ ผู้ใหญ่เลือกเพลงให้ ทีมงานเลือกเพลงให้ เพลงต้องเป็นแบบนี้ ดนตรีต้องแบบนี้ถึงมีความเป็นไปได้ที่จะดัง แต่พอเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาเร็ว แล้วต้นทุนต่ำ คนก็เรียนรู้จะสร้างงานเองที่บ้าน ทำให้ไม่มีกรอบ ไม่มีใครบอกว่าดนตรียังไงดี ไม่มีใครบอกว่าการเขียนแบบไหนดี พอปล่อยออกมาแล้วสังคมยอมรับ มันก็เป็นกระแสใหม่ที่น่าจับตามอง
ถ้าอย่างนั้นการเปิดกว้างของเทคโนโลยี ของโลกออนไลน์มีข้อเสียไหม
เอ๊ะ: ข้อเสียมันก็มี เราสามารถทำงานอะไรก็ได้อย่างรวดเร็วแล้วปล่อยออกไป แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมันก็จะลงอย่างรวดเร็วถ้าคุณภาพเราไม่ดี พูดภาษาชาวบ้านก็คือถ้าคุณดังเพราะโชค คุณก็จะอยู่ได้ไม่นาน เราต้องผลิตงานที่มีคุณภาพไปเรื่อยๆ
แล้วการที่เพลง คำแพง มียอดวิวสูงถึง 300 ล้าน เป็นเพราะโชคหรือเปล่า
เอ๊ะ: สำหรับผม ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะโชค ทุกอย่างเป็นไปด้วยผู้ฟังเขาแชร์กันเอง ปากต่อปาก และเราไม่มีกระบวนการปั่น ไม่มีการซื้อโฆษณา ไม่มีการจ้าง ไม่มีการสร้างกระแส เราแค่ผลิตงานที่เราตั้งใจเต็มที่ ปล่อยออกไป แต่ถามว่าเราหวังแค่ไหน เราไม่ได้หวังแน่นอน ถือว่าเพลงทำงานของมันได้ดีมาก เราไม่ใช่เพลงประกอบหนังใหญ่แล้วได้ 300 ล้าน

คุณคิดว่าถ้าไม่ใช่แซ็คร้อง เพลงนี้จะทำงานขนาดนี้ไหม
เอ๊ะ: เสียงคนร้องเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง เพลงมี 3 ส่วนหลัก คือตัวเพลง ดนตรี และเสียงร้อง ทั้งสามส่วนนี้ต้องเข้ากัน ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพลงดี เสียงร้องดี ดนตรีคุณทำไม่ดี ก็ไม่ได้ หรือดนตรีดี เพลงดี คนร้องเสียงไม่ดี ไม่ส่งอารมณ์เพลง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพลงนี้ทุกอย่างมันลงตัวพอดี
คนทำเพลงจะมีประโยคนึงว่า ‘เพลงเพลงนึงมันเกิดมาเพื่อคนคนนึง’ คือมันไม่ใช่เพลงเพลงนึงจะให้ใครร้องก็ได้ ทำไมคนเขียนเพลงสมัยก่อนเขาถึงต้องเลือกว่าเพลงนี้จะให้ใคร เพราะเขาจะดูว่าคนไหนน่าจะใช่ที่สุด
คุณเคยเล่าว่าแซ็คใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะร้องเพลง คำแพง ได้ ทำไมถึงนานขนาดนั้น
เอ๊ะ: เพราะตอนแรกเขาก็จะร้องเหมือน ไมค์ ภิรมย์พร เหมือนไหมไทย ใจตะวัน ซึ่งเป็นไอดอลเขา เราก็บอกเขาว่าร้องแบบนี้ไม่ได้ เราจะไปร้องทับศิลปินที่เขาดังอยู่แล้วไม่ได้ ต้องหาตัวเองให้เจอ ผมมีหลักการสร้างงานอย่างนึง สำหรับตัวเองคือเราจะไม่สร้างงานที่เหมือนใคร แม้แต่การเขียนเพลง การทำดนตรี การร้อง เพราะอย่างนั้นมันไม่ใช่การสร้างศิลปะ มันเป็นการก๊อปปี้ เหมือนคนที่ซื้อภาพก๊อปปี้ไปติดบ้าน ถามว่ามันสวยมั้ย สวย แต่มันมีค่ามั้ย ศิลปินที่สร้างงานที่แตกต่างอาจจะขายได้ยาก แต่ถ้ามีคนเห็นคุณค่า มันจะมีคุณค่ามากกว่า
แล้วแซ็คมีอะไรที่แตกต่างจากนักร้องลูกทุ่งคนอื่น
เอ๊ะ: แซ็คไม่มีความเป็นลูกทุ่ง เขาจะไม่ค่อยมีลูกเอื้อน ลูกโหน เขาจะมีแค่วิธีการร้องด้วยธรรมชาติของเขา จากการที่มีคนนั้นคนนี้เป็นไอดอล แล้วร้องบ่อยๆ ไม่มีกรอบในการฝึก เพราะฉะนั้น เขาก็จะไม่ได้เป็นลูกทุ่ง เพราะเขาไม่ได้เรียนลูกทุ่ง สิ่งที่อยู่ในตัวเขาคือสิ่งที่เขาได้ฟังมาจากชีวิตเขา
มันเป็นข้อดีหรือข้อเสีย
เอ๊ะ: เป็นสิ่งที่ดี ศิลปะควรเป็นอย่างนั้น ควรเป็นธรรมชาติ ผมเจอนักร้องรุ่นน้องเยอะมากที่ร้องเพลงแบบแซ็คอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พอถึงวัยหนึ่งเขาไปเรียนเอกดนตรี กลับมาเขาจะร้องเพลงไม่เหมือนเดิม สำหรับผมไม่ดีเลย มันขาดความเป็นธรรมชาติ ไปเอาทฤษฎีเข้าตัวเอง พอทฤษฎีมากทำให้เราขาดความเป็นอิสระ ถ้าเราเรียนรู้ทฤษฎีเพื่อสร้างธรรมชาติเราให้ดี อันนี้โอเค แต่ส่วนมากพอไปรับทฤษฎีก็เอามาใช้หมด ธรรมชาติหายไป ธรรมชาติเกิดก่อนทฤษฎี แต่เราเอาทฤษฎีมาคุมธรรมชาติไว้ มนุษย์ไม่ได้เรียนทฤษฎีมาก่อนร้องเพลงใช่มั้ย เขาร้องกันมาตั้งแต่โบราณ แล้วเราค่อยเอาทฤษฎีไปครอบมันไว้ ผมจะบอกแซ็คแค่ว่า ร้องแบบนี้จะเพราะกว่า โหนเสียงตรงนี้ ตรงนี้น่าจะดึงลงมา แต่ไม่บอกว่าถูกหรือผิด
ทุกวันนี้มีช่วงเวลาไหนบ้างมั้ยที่มานั่งคุยกัน รำลึกกันถึงวันแรกๆ
เอ๊ะ: คุยกันแทบทุกวัน เพราะทีมงานอยู่ด้วยกันทุกวัน เป็นบรรยากาศที่ดี และเราพูดคุยกันเพื่อให้เราเข้าใจว่าเรามาจากตรงไหน ในเมื่อมีชื่อเสียง เงินทอง เข้ามา เราก็ต้องมั่นคงในวิธีคิดในการทำงาน การใช้ชีวิต การใช้เงินทอง ใช้ชื่อเสียงที่มีไม่ให้มันทำลายเรา

สำหรับพวกคุณ ยอดวิวมีความหมายแค่ไหน
แซ็ค: ผมเชื่อในทีมงานและเชื่อในงานมากกว่า ยอดวิวเป็นแค่สิ่งที่ทำให้คนรู้จักเพลง คำแพง และ แซ็ค ชุมแพ เฉยๆ
เอ๊ะ: สำหรับตัวผม ยอดวิวมันมีคุณค่าน้อยกว่าตัวงาน เพลงที่ผมทำมาทั้งหมด มีอยู่เพลงนึงที่มีคุณค่ากับผมมาก มากกว่าทุกเพลง แต่ยอดวิวน้อยกว่าทุกเพลง แล้วผมก็ยังเข้าไปฟัง และยังชื่นชอบมันอยู่
คือเมื่อจุดยืนเริ่มต้นเราไม่ได้ตั้งมาตรฐานความสำเร็จว่าเราต้องดังนะ เราต้องมีเงินนะ จุดยืนเราตั้งแต่ครั้งแรกเราบอกว่าเราสร้างงานเรามีความสุขนะ แซ็คร้องมีความสุขนะ ทีมงานทำเอ็มวี ทำดนตรี ทำเพลงพวกพี่มีความสุข พอจุดยืนเราอยู่ตรงนั้น ครั้งต่อไปเราก็ยังยืนจุดเดิม แล้วมันก็จะไม่กดดัน ถ้าเราไปยืนบอกว่าเราต้องดัง แล้วพอวันนึงเราดัง จุดยืนต่อไปมันจะบอกว่ามึงต้องดังกว่าเดิม มันจะไม่มีความสุขในงาน เราต้องมีความสุขในการทำงานเหมือนเดิม แล้วก็เลือกงานที่ดีที่สุดของเรา คัดกันมาเหมือนเดิม อย่างที่ผมบอก มันไม่มีทฤษฎีอะไรมาบอกว่าเพลงไหนจะดังไม่ดัง มันมีแค่มาตรฐานตัวเราว่าเราต้องสร้างงานให้ดีที่สุด ถ้าจะไม่ได้ 300 ล้านวิวอีกแล้วก็ไม่ซีเรียส
ทุกวันนี้เวลาแซ็คกลับไปชุมแพ เวลาเดินไปบนท้องถนนคนอื่นมองคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม
แซ็ค: ชุมแพเป็นบ้าน ก็มีแต่พี่น้อง รู้จักกันหมดตั้งแต่เด็กๆ จะมีก็แค่โดนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ แซวว่าลืมชุมแพแล้วมั้ง ไปอยู่กรุงเทพฯ ผมก็บอกว่าไม่ได้ลืม แค่ต้องทำงาน ไม่มีเวลากลับบ้าน
เคยคิดเล่นๆ ไหมว่าถ้าวันนี้เพลง คำแพง ไม่ดังขนาดนี้วันนี้คุณจะทำอะไรอยู่
แซ็ค: ผมก็คงทำงานช่วยคุณพ่อทำเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่บ้าน
