“อย่าสำออย เป็นแค่มะเร็ง” 

นี่คือประโยคที่ทำให้คนเกือบหมดหวัง เอาชนะก้อนเนื้อร้ายมาได้

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการ ‘SWING Thailand มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ’ เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เข้มแข็ง อย่างคนไม่ยี่หระกับความตาย

กว่า 19 ปีที่ผู้หญิงร่างเล็ก ปราดเปรียว นำทัพกะเทย ตุ๊ด เกย์ ฯลฯ สารพัดชื่อที่สังคมแปะป้ายพวกเขา เรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียมให้กับเพื่อนพนักงานบริการหรือ Sex Workers ตั้งแต่ประเทศไทยยังเชื่อว่าเพศที่สามเท่ากับโรคเอดส์ และยา PrEP ต้าน HIV ไม่มีจริง

สุรางค์ก่อตั้ง SWING Clinic Bangkok ขึ้นมาเพื่อตรวจสุขภาพให้กับพนักงานบริการเป็นหลัก ทั้งการตรวจ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงคนข้ามเพศทั้งหญิงชายก็มีบริการตรวจฮอร์โมนไว้รองรับ โดยสิ่งที่ทำให้คลินิกของเธอมีผู้มาใช้บริการไม่ขาดสายและเปรียบได้กับเสาหลักต้นใหญ่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ คือพวกเขารับยา PrEP และตรวจสุขภาพทั้งหมดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียว

9 มกราคม พ.ศ. 2566 คือวันที่คำสั่งฟ้าประทานจากกระทรวงสาธารณสุขร่อนลงหน้าคลินิก

ระบุว่า SWING ต้องหยุดให้บริการ PrEP ทันที เนื่องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมเป็นคนจัดบริการ PrEP และหากผู้เข้ารับบริการไม่ใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิ สปสช. หรือสิทธิข้าราชการ จะรับบริการไม่ได้ แม้เธอจะดำเนินการอย่างปกติสุขมาแล้วถึง 7 ปี

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยเรื่องที่สุรางค์และพี่น้องนอกสายเลือดของเธอยึดถือไว้เป็นการต่อสู้ชั่วชีวิต

“อย่าสำออย” เพราะกะเทยมันจะว่าเอา

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

“สังคมไม่ยอมรับ แต่เราต้องอยู่ให้ได้”

ใจกลางพัฒน์พงษ์คือที่ที่เท้าเราเหยียบย่ำอยู่ตอนนี้ เบื้องหน้าเป็นบาร์ไร้ชีวิตที่รอคอยตะวันตกดินเพื่อเฉิดฉาย ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังเป็นป้ายคำเตือนตัวโต ๆ ว่า ‘ห้าม..ค้าประเวณี’

บริเวณชั้น 5 และ 6 ของอาคารนี้ คือที่ตั้งของ SWING Thailand

“เราไม่ค่อยเห็นต้นไผ่หักกลางลำ มันมักจะโน้มลู่ลม” สุรางค์กำลังเล่าให้ฟัง เมื่อถามว่าทำไมโลโก้แรกจึงเป็นต้นไผ่ เธอบอกว่าเปรียบได้กับพี่น้อง Sex Workers ส่วนแรงปะทะจากสังคมก็ไม่ต่างอะไรกับพายุ

“โดยกฎ อาชีพนี้ผิดกฎหมาย สังคมไม่ยอมรับ แต่เราต้องอยู่ให้ได้ แล้วต้นไผ่มันจะต้องแตกหน่อเพื่อขยายพันธุ์ เช่นกันกับ SWING ที่เริ่มต้นจาก Sex Workers แค่ 4 – 5 คน ตอนนี้ก็แตกหน่อกันจนต้นไผ่แข็งแรงขึ้น เราไม่กลัวลมแล้ว”

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

ประตูเก่าแก่สีชมพูถูกผลักออก เผยให้เห็นออฟฟิศที่แสบสันที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา แต่ถึงมันจะเปรี้ยวเข็ดฟันเหมือนแฟชั่น Y2K ที่นี่ก็เต็มไปด้วยการประกาศกร้าวของชาว LGBTQ+ ผ่านรูปภาพและถ้อยคำอันทรงพลัง

ไม่น่าเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของมันเกิดจากผู้หญิงที่ชื่อสุรางค์

“พี่เป็น Activist ที่ทำงานกับ Female Sex Workers ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี แต่ทำไป ๆ ก็เจอว่า Sex Workers มีทุกเพศ อย่าง Male Sex Workers เขาก็ยังเป็นพ่อของลูก แต่ทั้งเพศสภาพ ความคาดหวังของสังคม ความกดดันในความเป็นชายมันมีเยอะ เวลามีปัญหาก็ไม่กล้าจะไปหาใครหรอก เพราะเขาแสดงความอ่อนแอไม่ได้โดยเพศสภาพที่ครอบเอาไว้ Transgender ก็ไม่ได้ถูกให้ค่าอยู่แล้ว ณ ตอนนั้น

“แน่นอน ช่องทางเพศสัมพันธ์ของเขาคือทวารหนัก แพทย์หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่เข้าใจเรื่อง Anal Sex ไม่มีเลย แล้วเขาจะกล้าเดินไปหาหมอเหรอ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะตอบคำถามหมอว่ายังไง ทำไมเขาติดเชื้อที่ทวาร ทำไมเขาทำอาชีพแบบนี้

“เราเลยถามเขาว่า อยากมีองค์กรที่ทำงานเพื่อ Male Sex Workers ไหม เขาตอบว่าอยาก นี่คือสิ่งที่มาไขกุญแจว่าพี่ต้องทำอะไร”

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

“เราไม่ได้ทำตามหน้าที่ เราทำเพราะนี่คือพี่น้องเรา”

“เราภูมิใจที่จะบอกว่า SWING เป็นองค์กรของ Sex Workers เพราะทุนก้อนแรก 200,000 บาทที่ทำให้เป็น SWING ขึ้นมาก็มาจากพี่น้อง ทำให้เรามีห้องเช่า มีไฟฟ้าใช้”

พ.ศ. 2547 ที่นี่เคยเปรียบเหมือนถังขยะของพัฒน์พงษ์ พวกเธอต้องเก็บกวาดเอง ทาสีเอง ทำเองทุกอย่าง แม้แต่โต๊ะทำงานหรือคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีเหมือนองค์กรอื่น จะมีก็เพียงแต่หัวใจที่มุ่งมั่น

“สิ่งที่ยากคือเราจะต้องเปิดประเด็น Male Sex Workers และ Transgender ซึ่งสลับซับซ้อนให้คนรู้ เราทำงานหนักมาก เราไม่มีเครือข่าย เพราะไม่มีใครรู้จักองค์กรเรา คนยังไม่เชิญเราไปประชุม แล้วหลังจากนั้นมามันก็ค่อย ๆ เติบโต”

นอกจากจะใช้เงินทุนก้อนแรกจาก Sex Workers พนักงานเกินกว่าครึ่งก็เป็น Sex Workers ด้วยเช่นกัน ถามว่าทำไมสุรางค์ตั้งใจแบบนั้น

“พี่น้อง Sex Workers เป็นคนที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เขาขาดมาก ๆ คือโอกาส” เธอตอบ

“เขาไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เมื่อไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เขาก็ไม่มีการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษา โอกาสที่จะหางานได้เหมือนคนอื่นก็น้อยลง งั้นที่ตรงนี้จะเป็นที่ที่ให้พี่น้อง Sex Workers ใช้สร้างโอกาสให้กับตัวเอง”

เธอเล่าว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการของเธอก็เรียนจบแค่ ม.3 ส่วน Co-founder ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาก็จบแค่ ม.6 ซึ่งนอกจากเป็นพื้นที่สร้างโอกาสแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพมากเพียงไร แม้องค์กรอื่นจะเรียนจบปริญญา แต่ถ้าดูผลงาน SWING Thailand ก็ไม่เคยแพ้ใคร โดยเฉพาะทักษะพิเศษที่ในห้องเรียนให้ไม่ได้ 

“เรื่องการออกแบบและหาทางออกให้ชีวิต พี่คิดว่าไม่มีใครสู้ได้แน่นอน” เราเห็นด้วย “ไอ้เรื่องที่เราคิดว่ายาก พอไปคุยกับน้อง ๆ เรื่องเรามันเล็กนิดเดียว เรื่องเขาโคตรยากเลย เราได้เรียนรู้อะไรจากเขาเยอะมาก”

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

SWING Thailand ถือว่าเป็นองค์กรที่โดดเด่นอยู่แถวหน้า เมื่อพูดถึงการผลักดันให้ชุมชน Sex Workers ชุมชน LGBTQ+ หรือภาคประชาชนลุกขึ้นมาให้บริการสุขภาพได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือแพทย์เท่านั้น แต่เป็นการให้บริการที่ทำงานคู่ขนานกัน คือให้คำปรึกษาโดยอาสาสมัครชุมชนและบริการตรวจสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่ที่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์

“เราทำงานแบบเข้าใจคน เราเข้าใจพี่น้อง เราพูดภาษาเดียวกัน” สุรางค์ชี้ให้เห็นความต่างระหว่างคลินิกของเธอกับภาครัฐ “เรารู้ว่าบริการแบบไหนที่เรียกว่า Friendly เราไม่ได้ทำตามหน้าที่ เราทำเพราะนี่คือพี่น้องเรา เราทำด้วยหัวใจ Sense ของผู้รับบริการมันรับรู้ได้ 

“เวลาของรัฐคือ 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็น ในขณะที่ Sex Workers นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน แล้วเขาจะรับบริการได้ยังไง บริการของเราจัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต บรรยากาศก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าคนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน น่ากลัว หรือเป็นพื้นที่ที่มีแต่เชื้อโรค

“ซึ่งไม่ได้บอกว่าเราแข่งกับรัฐ เราพยายามบอกเขาว่า โมเดลดี ๆ แบบนี้ มันทำได้จริง” 

ไม่เพียงเก่งแต่เรื่องบุ๋น ถ้าจะถามเรื่องบู๊ หญิงร่างเล็กก็มีวิธีการต่อกรที่ต่อให้ใหญ่มาจากไหนก็ไม่กลัวด้วยเช่นกัน

“ยิ่งถ้าสิ่งนั้นมันมาเอาเปรียบ ทำร้ายพี่น้อง Sex Workers พี่ไม่ยอมเด็ดขาด ช่วงโควิดที่พี่น้องถูกปล่อยปละละเลย เอาถุงยังชีพ 50 ถุงมาให้กับ Sex Workers จำนวน 50,000 คนที่พัทยา พี่ฟาดเต็มที่นะ เพราะนี่คือการลบหลู่กัน คุณเอาเก็บไว้ที่บ้าน ไม่ต้องเอามา หรือถ้าหน่วยงานไหนทำงานแค่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ฉันก็ไม่ทำด้วย”

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่มีคำสั่งฟ้าผ่าให้หยุดให้บริการ PrEP เธอนัดแนะกับพี่น้องให้สวมเสื้อสีดำมาใช้บริการ เพื่อไว้อาลัยให้กับกฎหมายไทยที่ไม่เคยมองเห็นคนเท่ากัน 

นั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีที่เธอคิดจะลาออกไปขายก๋วยเตี๋ยว

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

“ไม่เป็นไร ไม่ต้องให้ก็ได้ PrEP”

“มันบั่นทอนเพราะเราสู้มาตั้งแต่ 1” เธอเล่าให้ฟัง

“เราให้บริการ PrEP มาเกือบ 7 ปี เราลุกขึ้นมาเป็นหน่วยทดลองร่วมกับคุณหมอ HIV โดยการสนับสนุนของ USAID รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เราต้องเทรนหนักมาก เพราะ PrEP เป็นเรื่องใหม่มากในโลกนี้ เพื่อที่จะเอาข้อมูลมาผลักดันให้กับรัฐบาลไทย แล้วบรรดาหมอทั้งหลายในประเทศก็ออกมากางปีกว่าไม่เอา PrEP เพราะกลัวว่าคนจะมีพฤติกรรมแย่ 

“เราลุกขึ้นมาให้บริการด้วย Implemention Research จนผลออกมาว่า PrEP ยับยั้งการติดเชื้อได้ จนถึงวันที่ PrEP เข้าไปอยู่ในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย รู้สึกว่าโคตรหายเหนื่อย แล้วอยู่ ๆ คนคนหนึ่งก็ทุบทุกอย่าง

“ในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้ เลยบอกน้อง ๆ ว่าไม่ทำแล้ว กูจะไปขายก๋วยเตี๋ยว”

10 มกราคม พ.ศ. 2566 1 วันหลังประกาศกระทรวงฯ คือวันที่สุรางค์กลับมามีความหวัง

“มีคนมารับบริการมากกว่า 200 คน นั่งรอกันไม่มีใครบ่นสักคำ คนไหนไม่ได้ใส่เสื้อดำก็เข้ามายกมือไหว้ขอโทษ นี่คือกัลยาณมิตร นี่คือคนที่จะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว”

โจทย์คือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมเป็นคนจัดบริการ PrEP แต่หากนับแค่ในกรุงเทพฯ สุรางค์บอกว่ามีผู้รับบริการ PrEP อยู่ราว ๆ 5,000 คน 

“แล้วจะทำยังไงกับคนที่ไม่ใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิ สปสช. สิทธิข้าราชการ จะปล่อยให้เขาติดเชื้อเหรอ เตรียมเงินสำหรับยาต้าน HIV พอรึยัง เตรียมบุคลากรไว้พอรึยัง หรือใครได้ประโยชน์อะไร” เธอตั้งคำถามอย่างโกรธเกรี้ยว 

“รัฐหรือผู้นำบางคนคิดว่าตนจะทำอะไรก็ได้ มันไม่ใช่ ประเทศนี้ไม่ใช่ของใคร ชีวิตประชาชนไม่ควรอยู่ในกำมือเขา มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

“ปัจจุบันเขามีแผนกเฝ้าระวังติดตาม คอยมอนิเตอร์เฟซบุ๊ก SWING เวลาโพสต์เรื่องยาก็จะมีหลังบ้านบอกว่า ขอร้อง เดี๋ยวยาจะมาแล้ว เราก็ตอบว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องให้ก็ได้ PrEP เดี๋ยวประเทศก็คงจะได้ของขวัญ เตรียมตัวไว้เลยค่ะถ้าคิดว่าจะจบปัญหา HIV ได้ ไม่มีทาง”

นี่คือประกาศิตของหญิงแกร่งผู้ไม่ยอมจำนน

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

“Sex work is a work”

นอกจากเรื่อง PrEP มีสวัสดิการอะไรอีกที่พี่น้อง Sex Workers ควรได้รับแต่ไม่ได้สักที

ตอนโควิดที่รัฐมีเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท พี่น้อง Sex Workers เข้าถึงไม่ได้นะคะ เพราะว่าพี่น้องทำงานท้องถนน โทรศัพท์บางคนยังไม่มีเน็ตเลย แล้วจะเข้าไปลงทะเบียนได้ยังไง 

แล้วช่วงแรก ๆ ในใบลงทะเบียนก็ยุ่งยาก ต้องระบุด้วยว่าทำงานอะไร นายจ้างเป็นใคร พอเราระบุว่าทำงานอะไร ข้อมูลก็ถูกปฏิเสธ ทั้งที่เราเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักมากก่อนใคร เขาก็ต้องใช้วิธีไม่ตอบความจริงถึงได้รับเงินช่วยเหลือมา แล้วเราก็ต้องสอนน้องว่าต้องตอบอะไร ซึ่งมันไม่ใช่ สังคมไทยควรที่จะตรงไปตรงมา

เวลามีวิกฤตอะไรขึ้นมา แน่นอนว่าทุกคนลำบาก แต่ Sex Workers ถูกทิ้งแน่นอน เงินเยียวยาเข้าถึงยาก มาตรการการช่วยเหลือ กองทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือไม่ต้องพูดถึง ไม่มี การเข้าถึงการตรวจโควิด ณ ตอนนั้นคือยากยิ่งกว่าหาทอง 

ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ไม่มีเลยจริง ๆ

แล้วสถานการณ์ไหนที่ภาครัฐจะนึกถึงพี่น้อง Sex Workers เป็นอันดับแรก

(ตอบทันที) อ๋อ เวลาจะจับเอาข้อมูลค่ะ ว่ามีการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีการปราบปรามการค้ายาเสพติดเท่าไหร่ อันนี้จะคิดถึงที่แรกเลยค่ะ 

แต่ในขณะเดียวกัน เวลาเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ กลับบอกว่าไม่พบการค้าประเวณีนะ

พัทยาน่ะ ลงไปตรวจไม่พบการค้าประเวณี น้อง ๆ มาบอกเราว่า “แล้วหนูทำอะไร หนูภูมิใจมาตลอดว่าหนูเป็น Sex Worker” มีจังหวัดหนึ่งบอกมี Sex Worker 1 คน เฮ้ย มันไปยืนตรงไหนวะ จะไปยืนอยู่เป็นเพื่อน 

เราไม่ได้บอกว่าองค์กรเราดี องค์กรเราเก่ง แต่ว่าถ้าไม่มีองค์กรอย่างพวกเราที่ทำหน้าที่แบบนี้ พี่น้องจะเป็นยังไง ขนาดทำหน้าที่กันอยู่ขนาดนี้ยังยากเย็นแสนเข็ญเลย

ทำไมคุณถึงเรียกกลุ่ม Sex Workers ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกันทางสายเลือดว่า ‘พี่น้อง’ เสมอ

คำว่าพี่และน้องไม่จำเป็นต้องเป็นพี่น้องในสายเลือดเดียวกัน ถ้าเรารักคนเหล่านี้ เราเคารพคนเหล่านี้ เราแคร์คนเหล่านี้ เขาก็คือพี่และน้องเรา มันมีความหมายมากกว่าการเรียกเขาว่าเป็นเคส เป็นกลุ่มเป้าหมาย นั่นแปลว่าเราให้ค่าเขาไม่เท่าเรา ซึ่งเราไม่ได้มีอะไรเหนือไปกว่าเขา 

ที่นี่พี่จะบอกน้อง ๆ ว่า อย่ามาเรียกฉันว่าผู้อำนวยการ พี่เป็นพี่คนโตของบ้าน พี่น้องเราเจอการกดทับจากสังคมมาเยอะแยะ เราจะมาตั้งตัวเป็นเจ้าหน้าที่ SWING อีกเหรอ พี่ว่ามันไม่ใช่

ตอนช่วงที่มีการนำอาหารไปช่วยเหลือน้อง ๆ พี่บอกเลยว่า เราจะไม่ใช้คำว่าแจก ถ้าแจกคือเราลงไปให้คนที่ด้อยกว่า แต่เราใช้คำว่า แบ่งปัน 

ตลอด 19 ปีที่ทำ SWING Thailand ตอนนี้ถึงจุดที่พึงพอใจรึยัง

ให้ 70% เพราะอีก 30% คือสิ่งที่พี่สัญญากับน้อง ๆ และสัญญากับตัวเองไว้ว่า พี่จะสู้ให้ Sex work is a work ให้งานนี้ได้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะสู้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แต่ พ.ร.บ. นี้พี่อาจจะต้องตายก่อน เพราะว่าการสู้เพื่อยกเลิก พ.ร.บ. มันจะไปสะดุดหัวแม่ตีนคนที่ได้ประโยชน์ แต่ก็จะสู้ให้ได้

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.SWING Thailand ผู้ใช้เวลา 20 ปีต่อสู้เพื่อ Sex Workers และ LGBTQ+

มองเห็นความหวังหรือความเป็นไปได้อะไรในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้บ้างไหม

เห็นความหวัง แต่ต้องจูนกันใหม่ 

ไม่ได้ให้คนมาเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครอง Sex Workers นะ ในความหมายของเราคือยกเลิกไปเลย ทำให้ Sex Workers มีฐานะเป็นมนุษย์ เป็นลูกจ้าง แล้วก็ไปอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานเหมือนคนอื่น 

ทำไมต้องมีกฎหมาย ประชาชนคนอื่นไม่เห็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ จะบอกว่ากฎหมายคุ้มครองเหรอ ทำไมต้องคุ้มครองด้วย ถ้าจะคุ้มครองก็ต้องเขียนกฎหมายคุ้มครองทุกคน คุ้มครองทุกอาชีพ กฎหมายพื้นฐานที่มีก็ใช้กับมนุษย์ทุกคน Sex Workers ก็เป็นมนุษย์ ทำไมต้องมาสร้างความพิเศษให้กับเรา 

บ้านเราไม่เคยมีอะไรพิเศษที่เป็น Positive คุ้มครอง มักจะแฝงไปด้วยการควบคุม

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของ Sex Workers เป็นสนามรบที่มีวันจบไหม

ไม่ต้องเอา Sex Workers เอาความเท่าเทียมของพี่น้อง LGBTQ+ ก่อน สนามรบนี้ไม่มีวันจบหรอก แต่พี่คิดว่าจะเริ่มสูสีขึ้นมาหน่อย

เดี๋ยวก็จะมีกระแสกลัวเด็กจะมาค้าประเวณี จะบ้าเหรอ คนไม่ทำยังไงก็ไม่ทำ อย่ามโนกันไป มันมีอะไรแบบนี้ให้ต้องสู้อยู่ตลอดเวลา 

ถ้าสูสี แล้วมองว่ามีโอกาสชนะรึเปล่า

ไม่เอาชนะ แต่ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะต้องสู้กับพวกมโนอีกเยอะ

ในปัจจุบัน แม้คนจะเปิดกว้างเรื่อง Sex Workers เยอะแล้ว แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่เชื่อว่าสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันเป็นสังคมในอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ คุณคิดเห็นยังไง

เท่ากันไม่ใช่เหมือนกันเนอะ เออ มันเท่ากันได้ คนที่มีมากแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเอามากอีกก็ได้ ถ้าคนตรงนี้ขาด ก็ควรไปเติมให้เขา 

บางทีการเท่ากันหรือการแบ่งปันต้องใช้เรื่องโครงสร้างด้วย อันนี้สำคัญและจำเป็นมาก แต่ในเรื่องของปัจเจกมันทำได้ ถ้าเรามี 100 บาท กินข้าว 50 บาทอิ่ม แบ่ง 10 บาทให้คนอื่น เขาก็ยังได้กิน

แม้แต่เรื่อง LGBTQ+ พี่คิดว่ามันหนักหนาอะไรกับการยอมรับ Identity เขา การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อคน เขาไปทรานส์ตัวเองมา เขาก็เจ็บที่ตัวเขาเอง แล้วมันหนักหนาอะไรกับการแก้กฎหมาย แก้ตัวหนังสือ ถ้าเราปลดล็อกอีโก้ตัวเอง ปลดล็อกจมูกที่เชิดขึ้น มนุษย์เป็นคนเขียน มนุษย์ก็แก้ได้เองไม่ใช่เหรอ 

จากอดีตผู้หญิงดีสู่พี่คนโตแห่ง SWING Thailand คุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ต่อสู้เพื่อพนักงานบริการและ LGBTQ+ นาน 20 ปี

“เราเป็นคน เขาก็เป็นคน มันไม่ต่างกัน”

หาก ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เป็นท่อนหนึ่งของเพลงดัง 

สำหรับสุรางค์ ต้องบอกว่าก่อนเธอจะกลิ้งได้อย่างนี้ สุรางค์เคยเป็นผู้หญิงดีที่นิ่งเหมือนผ้าพับไว้

เธอเกิดในครอบครัวข้าราชการที่ทุกคนประกอบอาชีพครู เลือกเรียนการละครที่วิทยาลัยนาฏศิลป โดยมีดีเอ็นเอของแม่ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์คอยช่วยเหลือคนในหมู่บ้านอยู่ในสายเลือด 

วันหนึ่ง พี่สาวคนสนิทแนะนำให้รู้จักกับกลุ่มละครชื่อว่า ‘Honeybee’ ทำงานรณรงค์ให้กับ Sex Workers ในพัฒน์พงษ์ ที่ที่ผู้หญิงดีอย่างเธอไม่อยากย่างกรายเข้าไปมากที่สุด

“เราต่อสู้กับภายในของตัวเอง ระหว่างการเป็นผู้หญิงดี กับการที่ฉันต้องมาทำงานกับผู้หญิงที่อยู่ในพัฒน์พงษ์

“เราไม่กล้าเอ่ยปากบอกแท็กซี่ว่าจะไปพัฒน์พงษ์ด้วยซ้ำ เพราะกลัวแท็กซี่จะมองว่าเรามาทำงานในนี้ งั้นเราลงแถวสีลมแล้วค่อยเดินเข้ามา เราไม่กล้าแม้จะถามคนว่าซอยนี้อยู่ตรงไหน พอมาอยู่ในบาร์ก็นั่งตัวแข็ง มองนู่น มองนี่ ช่างเป็นคนละโลกกับเรา แต่ท้ายสุดก็ตอบรับมาทำงานด้วย

“ตอนทำงานอาทิตย์แรก ๆ ไม่กินน้ำในออฟฟิศ เพราะข้อมูลที่ใส่เข้ามาในหัวเราคือ Sex Workers เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ไม่สะอาด อีกเรื่องที่ต้องเตรียมตั้งรับ คือพวกเขาต้องพูดจาหยาบคาย เราไม่เคยรู้จักคำพวกนี้ แต่พออยู่ไปแล้วเราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย

จากอดีตผู้หญิงดีสู่พี่คนโตแห่ง SWING Thailand คุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ต่อสู้เพื่อพนักงานบริการและ LGBTQ+ นาน 20 ปี

“เราเห็นแต่ความน่ารัก ความห่วงใย การให้เกียรติ เราไม่รู้เลยว่าไอ้ภาพหรือข้อมูลที่ฝังอยู่ในหัวหายไปเมื่อไหร่ จนกระทั่งเรามีโอกาสได้สอนหนังสือพี่ ๆ ให้อ่านเขียนภาษาไทยได้ มันเปิดกะโหลกเรามากเลยว่ายังมีคนไทยที่แม้แต่ชื่อตัวเองยังเขียนไม่ได้ เรารู้สึกเลยว่านี่คือที่ที่เราจะมาทำงาน และเราก็ถอดกรอบของความเป็นผู้หญิงดีออกไป” 

งั้นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับผู้หญิงดีคืออะไร – เรานึกสงสัย

สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นผู้หญิงดี…” สุรางค์ทวนคำถาม “พี่ว่ามันเหมือนกัน”

“ต่อให้เป็นผู้หญิงแบบไหน ก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน อย่าเอากรอบที่ใครก็ไม่รู้กำหนดมาใส่บนหัว ถ้าเรายอมเปิดกรอบตัวเอง เราจะมีกัลยาณมิตร มีข้อมูลมากมายที่เข้ามาเติมความรู้ให้กับเรา 

“พี่กะเทาะเกราะของการเป็นผู้หญิงดี แล้วรู้สึกว่าเราก็เหมือนกันกับเขา เราเป็นคน เขาก็เป็นคน มันไม่ต่างกัน เราใช้แก่นของความเป็นคนที่มันมากกว่าศาสตร์ที่เราเรียน นำพางานจนมาถึงวันนี้” 

เราถามเธอต่อว่าทุกวันนี้ยังรู้สึกอายเมื่อเรียกแท็กซี่ไปพัฒน์พงษ์อยู่รึเปล่า รู้คำตอบอยู่แล้วว่าเธอต้องบอกว่า ไม่ แต่สุรางค์กลับให้คำตอบที่ต่างออกไป

“ถ้าถามว่าพื้นที่ที่ปลอดภัยของพี่ที่สุดอยู่ที่ไหน พี่จะบอกว่าพัฒน์พงษ์ เพราะถ้าพี่ไปทะเลาะกับใครแล้วหลบเข้าพัฒน์พงษ์ พี่คิดว่าพี่รอด” 

คุณคิดว่าเธอพูดเล่นหรือจริง

จากอดีตผู้หญิงดีสู่พี่คนโตแห่ง SWING Thailand คุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ต่อสู้เพื่อพนักงานบริการและ LGBTQ+ นาน 20 ปี

“ลุกขึ้น อย่ามัวสำออย”

ถ้าให้เลือกยอมหักกับยอมงอเลือกอะไร

หัก แต่บางอย่างที่มันไม่กระทบอะไรเกินไป พี่ก็จะยอมคดนิดหนึ่ง 

พี่เคยปฏิเสธทุนจากต่างประเทศ เขาตกลงว่าจะให้เงินเรา 20 ล้าน เสร็จแล้วก็คุยกันว่าจะตัดเหลือ 5 ล้าน เขาบอกว่า SWING คงไม่โง่ที่จะปฏิเสธเงิน 5 ล้านหรอก แล้วคำนี้มันตกมาถึงพี่ 

ถ้าไม่มีคำว่า ‘คงไม่โง่’ ถ้าได้ 5 ล้านตั้งแต่แรกฉันไม่โกรธ เพราะรู้สึกว่าเขาดูถูกคนไทย ดูถูกชุมชนเรา พี่ไปกัน 5 คนด้วยชุดดำแล้วก็บอกเขาว่า ฉันไม่เอาแม้แต่บาทเดียว แล้วหลังจากนั้นองค์กรเราก็ถูกปิด สิ่งที่พี่ทำคือขายส้มตำเชิงสัญลักษณ์ มีป้ายบอกให้รู้ว่าทำไมต้องมาขายส้มตำ 

แต่การยอมหัก เท่ากับยอมเสียอะไรบางอย่างไปไม่ใช่เหรอ

เราเชื่อว่าเรามีดี เราหาใหม่ได้ ถ้าสิ่งที่เสียนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่คู่ควร ทำไมถึงต้องไปอยู่ใต้ศิโรราบ ทำไมเราต้องยอมสยบ ถ้าไม่มีเหตุและผลอะไร ศักดิ์ศรีเราต้องไปต่อ

พี่รางค์เคยใจอ่อนกับเรื่องอะไรบ้างไหม

น้อง ๆ บอกว่าพี่เป็นคนใจอ่อน เวลาโกรธใคร พี่จะโกรธไปสักพัก แล้วก็จะเหนื่อย โอเค ไปข้างหน้าต่อด้วยกัน แต่คงไม่ไปแบบเต็ม 100 นะ ขอไปแค่ 50 พอ 

ที่เราสูญเสียไปถือว่าเราได้เรียนรู้คน รู้ว่าต่อไปนี้เราจะต้องแข็งแกร่งแบบไหน 

การเป็นคนเด็ดขาดและยอมหักในบางครั้ง ไม่กลัวใครมองว่าเป็นคนใจร้ายเหรอ

แรก ๆ ก็ Suffer เหมือนกันนะ แต่หลัง ๆ ก็หยุดแคร์แล้ว เพราะคนที่แคร์คือชุมชนเรา คืองานเรา คือทีมเรา แล้วคนอื่นมีความสำคัญกับชีวิตเราขนาดไหน ถ้าไม่มีความสำคัญมากก็จะไปแคร์เพื่อ มันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชุมชนเราในด้านบวก 

ไม่จำเป็นต้องมีคนรักมากมาย แล้วที่รัก รักจริงรึเปล่าไม่รู้ แต่ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวตายไปก็รู้แล้วว่าใครรักหรือใครเกลียด แต่ตอนนี้ขอทำก่อน

ทั้งการก่อตั้งองค์กร วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย ทุกอย่างเป็นการทำเพื่อพี่น้องทั้งหมด มีอะไรที่พี่รางค์ทำเพื่อตัวเองบ้าง

ที่พี่ทำอยู่ทุกวันนี้ พี่ทำเพื่อตัวเองด้วย เพราะการได้เห็นความก้าวหน้า ได้เห็นพี่น้องได้สิ่งที่เขาอยากได้ มันเยียวยาพี่ ดีไม่ดีพี่อาจจะได้มากกว่าที่พี่ทำให้กับเขาอีก การเยียวยาตัวเองมันไม่ใช่เรื่องเงิน 

แม้แต่ตอนที่พี่เป็นมะเร็ง ถ้าเกิดพี่ไม่ได้ทำงานนี้พี่อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้วก็ได้ แล้วหลังจากนั้นพี่ก็เป็นคนที่ไม่กลัวเรื่องความเจ็บปวด ไม่เคยกลัวเลย วันนี้พี่ก็ดูแลพี่สาวที่เป็นมะเร็ง เขามีพี่เป็น Role Model เราก็ยังหัวเราะกับมัน ผมไม่มี เดี๋ยวมันก็ขึ้น ผมไม่มี มันก็สวยดี

จากอดีตผู้หญิงดีสู่พี่คนโตแห่ง SWING Thailand คุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ต่อสู้เพื่อพนักงานบริการและ LGBTQ+ นาน 20 ปี

เหมือนที่พี่รางค์บอกว่า พอได้มาคลุกคลีกับพี่น้อง ได้ฟังเรื่องของเขา เรื่องเรามันก็เล็กไปเลย

ใช่ เรื่องเราเล็ก เพราะฉะนั้นอย่าไปจมว่าเรื่องเราใหญ่มาก เข้าใจได้แหละว่าบางพาร์ตเราก็เป็นมนุษย์ แต่จมมากมันก็ไม่ได้ไปข้างหน้า จมแล้วจะยิ่งถอย 

ที่คอมพิวเตอร์พี่เขียนไว้ว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เวลาเราเจออะไรหนัก ๆ มีเรื่องร้องไห้เพราะงาน เพราะอะไรหลายอย่าง พี่ก็บอกตัวเองว่า เดี๋ยวเข็มเวลามันก็เดินผ่านไป

ขอ 1 บทเรียนที่ได้จากการทำ SWING ที่สำคัญที่สุดในชีวิต

19 ปีกับการได้เห็นพี่น้อง Sex Workers ได้มีพื้นที่ ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็น นี่เป็นบทเรียนที่ล้ำค่ามากที่สุดในชีวิตพี่ พี่ไม่คิดว่าจะได้เยอะขนาดนี้ เมื่อวาน พอนายกฯ เมืองพัทยารู้ว่าเรามี Full Time Staff อยู่ 74 คน แล้วเกินกว่า 50% เป็น Sex Workers เขาตาค้างเลย

พี่ไม่ได้ต้องการอะไรทั้งสิ้น ต้องการเพียงแค่ให้สิ่งที่ทำเกิดผลกับคนตัวเล็ก ๆ ที่เขาไม่มีโอกาส เพราะท้ายที่สุด จะนอนที่เล็ก ๆ หรือที่ใหญ่ ๆ มันก็แค่นอนหลับ กินมันก็แค่ 3 มื้อให้อิ่ม แล้วเดี๋ยววันหนึ่งเราก็ต้องจากไป งั้นตอนที่เรายังทำอะไรได้ พี่ก็จะแบ่งปัน สร้างให้มันเกิดผลอะไรกับคนที่เขาไม่มีโอกาส นี่คือสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับพี่แล้ว

คุ้มค่าเหนื่อยไหม

ที่สุด ไม่ได้แค่คุ้มเหนื่อย ต้องบอกว่าขอบคุณโอกาสที่ทำให้พี่มีพลังจนถึงทุกวันนี้ 

5 ปีที่แล้วพี่เป็นมะเร็ง นอกจากครอบครัวที่ทำให้เราลุกขึ้นได้ ก็คือพี่น้อง 

คำพูดของน้องคือ ลุกขึ้น อย่านอน อย่ามัวสำออย เป็นแค่มะเร็ง นี่คือวิธีการปลอบใจแบบซื่อ ๆ ของเขา พี่เลยบอก โอเค มะเร็งมันเล็กน้อย สู้กับกะเทยใหญ่กว่า (หัวเราะ)

ทำให้ตลอดระยะเวลาการให้คีโม การที่เราไม่มีผมไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะพวกเขาที่ทำให้เรากลับมาได้ แล้วก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องไปขวนขวายมากเลย จนเราหาย น้องคนเดิมบอกเราว่า ทำงานค่า ทำงาน หยุดสักทีเถอะคีโม (หัวเราะ)

จากอดีตผู้หญิงดีสู่พี่คนโตแห่ง SWING Thailand คุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ต่อสู้เพื่อพนักงานบริการและ LGBTQ+ นาน 20 ปี

ช่องทางการติดต่อ SWING Thailand

Facebook : Swing Thailand

Website : www.swingthailand.org

โทร : 02 632 9501

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ