“ขออภัยค่ะ ธนาคารไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ท่านได้ เนื่องจากท่านมีประวัติติดเครดิตบูโร”

เป็นประโยคที่คุ้นหูสำหรับหลายคนที่เคยถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา คำว่า ‘ติดเครดิตบูโร’ นี้ตีความหมายได้ไม่กี่ทาง จึงไม่แปลกที่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร มักถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรและไม่เข้าใจ เหมือนกับบางหน่วยงานของภาครัฐอย่างกรมสรรพากร ที่พอพูดชื่อขึ้นมาก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังอย่างหวาดหวั่น ทั้งที่จริงแล้ว องค์กรแห่งนี้มีหน้าที่เก็บข้อมูลเครดิตของประชาชนในระบบ และเปิดเผยต่อสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้มีสิทธิ์หรือหน้าที่ชี้นำหรือช่วยตัดสินใจการอนุมัติแต่อย่างใด

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ของเครดิตบูโรเข้ามารับตำแหน่งเบอร์หนึ่งขององค์กรแห่งนี้ พร้อมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด ไม่เพียงต้องจัดการกับชีวิตของพนักงานในช่วงภาวะวิกฤตเท่านั้น เขายังต้องพาเครดิตบูโรออกมาอยู่ในที่แจ้ง อีกทั้งพูดกับคนหมู่มากให้เข้าใจบทบาทและการทำงานของบริษัทตลอดช่วงที่ผ่านมา แม้จะพยายามให้ความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่อยากจะหลบเลี่ยง

แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป

แนวคิดการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 โดยสมาคมธนาคารไทยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการลดความเสี่ยงการปล่อยกู้สินเชื่อ จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างได้จริงใน พ.ศ. 2542 เมื่อจดทะเบียนเป็น บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด โดยจัดเก็บข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดาและข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ และเปลี่ยนมาเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด อย่างเต็มตัวใน พ.ศ. 2548 โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสถาบันการเงิน 107 แห่ง ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และอื่นๆ มีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของผู้ยื่นกู้สินเชื่อที่นับล้านรายการต่อเดือน

สุรพลบอกกับเราว่าเขาเป็นซีอีโอบ้านนอก ไม่ได้มีฟอร์มหรือต้องหรูหราอะไร เพราะเติบโตมาจากการเป็นลูกพ่อค้าในต่างจังหวัด และเชื่อว่าผู้บริหารสูงสุดก็มีเรื่องที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่างเหมือนกับคนอื่นๆ 

นอกจากนี้ การตั้งคำถามด้วยความกล้าของคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้เขาได้คิดทบทวนและปรับมุมมองต่อนิยามความสำเร็จของชีวิตเสียใหม่ โดยไม่อาจใช้บรรทัดฐานในยุคหนึ่ง ไปตัดสินเหตุการณ์หรือปัจจัยที่เกิดขึ้นในอีกยุคหนึ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนทุกรุ่นควรยึดถือ คือการรับฟังและเคารพในความคิดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมาจากคนละกลุ่มสังคมหรือช่วงอายุไหนก็ตามที

ปัจจุบัน ซีอีโอของเครดิตบูโรคนนี้กำลังใช้ชีวิตที่ 2 หลังจากชีวิตแรกที่แสนเคร่งเครียดจบลงและหัวใจหยุดเต้นไปชั่วครู่ จนเมื่อหมอในห้องฉุกเฉินพาเขากลับมาได้ มุมมองที่มีต่อการทำงานและโลกใบนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และนี่คือเรื่องราวของเขา

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

เป็นซีอีโอที่เคยเกือบตายเมื่อหลายปีก่อน มันเกิดอะไรขึ้น

ไม่ได้เกือบตาย แต่ตายไปแล้ว ตอนนั้นเป็นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 การใช้ชีวิตก่อนหน้านั้นของผมคือกินและเที่ยว ไม่ระวังสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย มันเกิดขึ้นตอนผมอยู่ในงานเลี้ยงที่โรงแรม รู้สึกแน่นหน้าอกผิดปกติเลยเรียกรถตุ๊กตุ๊กไปที่โรงพยาบาลพญาไท 2 หายใจไม่ออก อาการมันบอกผมว่าน่าจะเป็นปัญหาใหญ่แน่ พอถึงโรงพยาบาลก็เข้าห้องฉุกเฉิน เหมือนในหนังเลย มีสายอะไรไม่รู้ระโยงระยางเต็มไปหมด หมอบอกว่าหลอดเลือดหัวใจผมตีบ ทำให้ช็อกและหัวใจล้มเหลว ต้องสวนหลอดเลือด แต่แล้วหัวใจก็หยุดเต้นไปครึ่งนาที 

ผมได้ยินเสียงสุดท้ายของหมอพูดว่า “อยู่กับผมก่อนนะ” แล้วผมก็เห็นภาพภรรยาอุ้มลูกทั้งสามคนมาหาเรา ตอนนั้นเข้าใจเลยว่าลูกและภรรยาคือห่วงที่รัดเราจริงๆ ห่วงแค่พวกเขานี่ล่ะ ไม่ได้ห่วงอะไรเลย จากนั้นหมอก็ปั๊มหัวใจจนฟื้นขึ้นมาแล้วไปสวนหลอดเลือดต่อ นอนโรงพยาบาลอยู่หลายวัน ระหว่างนั้นก็ถามตัวเองว่าเราจะกลับมาเป็นแบบนี้อีกมั้ย

ถือว่าสอบตกกับการใช้ชีวิตหรือเปล่า

สอบตกครับ ตอนนั้นหลังจากที่หมอเขาทำรายงานสรุปอาการออกมา ผมเอารายงานนั้นมาเขียนด้วยลายมือตัวเองว่า ‘พระท่านให้โอกาสแค่ครั้งเดียวนะ ไม่มีครั้งที่สอง’ แล้วก็เก็บเอาไว้ บอกกับตัวเองว่าเมื่ออายุมากขึ้นจะต้องไม่กลับไปนอนแบบนั้นอีก และหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ถือเป็นชีวิตที่สองของผมนะ

กว่าจะใช้ชีวิตมาถึงจุดนี้ ที่มาของคนชื่อสุรพลเป็นอย่างไร

ผมเป็นเด็กบ้านนอก เป็นลูกคนจีนที่ค้าขายในจังหวัดเชียงราย แล้วก็มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พ่อแม่ส่งมาเรียนเพราะกลัวผมไปติดผู้หญิง ตอนนั้นจะมีแฟนแล้วการเรียนไม่ดี พ่อก็เลยส่งมานี่เลย อยู่ที่บ้านญาติ ไปช่วยเขาทำงานช่างประปา บ้านเขาทำอะไรเราก็ต้องทำ ทุกวันนี้ก็ยังทำได้นะ 

จากนั้นก็สอบเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปทำงานเป็นฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร ทำงานไปก็เรียน MBA ไปด้วย ตอนนั้นใครจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการได้ต้องเรียน MBA เพราะโลกธุรกิจมีแค่สองภาษา คือ ภาษาบัญชีกับภาษากฎหมาย 

ตอนนั้นเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจล่มสลาย คนทำงานถูกลดเงินเดือน ตอนนั้นผมมีเงินออมทั้งเนื้อทั้งตัวสองล้านหนึ่งแสนบาท มีลูกสามคนต้องเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายในบ้านภรรยาผมเป็นคนจัดการเองหมด ทุกวันนี้เงินผมก็ให้ภรรยาเก็บ ผมเป็นซีอีโอที่เครดิตบูโรหรือไปนั่งเป็นบอร์ดที่นั่นที่นี่ ตอนรายงานบัญชีทรัพย์สิน เชื่อมั้ยว่าบัญชีเงินฝากที่เป็นชื่อผมมีเงินอยู่สามแสนหกหมื่นบาทแค่นั้นเอง ที่เหลืออยู่กับภรรยาหมด ดังนั้นอย่าไปทะเลาะกับภรรยานะ 

ผมเชื่อในคติคนจีน พ่อผมค้าขาย แม่ผมก็เป็นคนเก็บเงิน อย่างภรรยาผมก็เป็นนักบัญชี เขาจะมีรายงานให้ดูด้วยว่าตอนนี้่เงินอยู่ที่ไหนบ้าง จะลงทุนอะไรบ้าง 

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

เปรียบเทียบตอนวิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤต COVID-19 ครั้งไหนหนักกว่ากัน

ผมว่า COVID-19 มันค่อยๆ เพิ่มแรงกดดันเราไปเรื่อยๆ นักเศรษฐศาสตร์บอกให้เราคิดว่า COVID-19 จะอยู่กับเราตลอดไป เพราะไม่รู้ว่าจะมี COVID-22 หรือ COVID-24 อีกหรีอเปล่า ชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน หรือคนรายได้น้อย จะได้รับผลกระทบที่แรงมาก 

ผมคิดว่ามีสามอย่างที่ทำให้ผมรอดมาได้ในช่วงที่ผ่านมา คือ สติ วินัย และไอเดีย อย่างข้อแรกคือสติ คุณต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ฐานะเป็นยังไง อย่างผมมีเงินให้ใช้สามหมื่นบาทต่อเดือน เราก็ต้องใช้เงินให้อยู่ในงบประมาณ จะพาลูกไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ ยังดีที่ผมมีรายได้เสริมจากการสอนหนังสือเข้ามาด้วย เราต้องรู้ว่าทำอะไรอยู่ ส่วนวินัยคือ เมื่อตกลงว่าจะใช้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น และไอเดียคือคิดเรื่องการหาเงินเพิ่มว่าจะเอามาจากไหน ตอนสอนหนังสือนี่ผมไปขอเขาสอนด้วย ได้ชั่วโมงละสามร้อยกว่าบาท มาวันนี้ผมไปบรรยายชั่วโมงหนึ่งก็หลายหมื่นบาทแล้ว แต่คำถามคือ ถ้าผมไม่เริ่มวันนั้นแล้วจะได้วันนี้มั้ย ไม่มีทางเลย

ช่วงที่เกิดวิกฤตและมีปัญหาการชำระหนี้แบบนี้ คนก็ยิ่งพูดถึงเครดิตบูโร คุณสุรพลเบื่อหรือไม่เวลาที่คนพูดถึงองค์กรในด้านลบหรือไม่เข้าใจ

ตอนทำงานธนาคารผมก็มีนิสัยแบบนั้น คือโทษคนอื่น ในสังคมไทยเราจะไม่พูดกันตรงๆ เมื่อต้องปฏิเสธใคร ถ้าเราให้สิ่งที่เขาต้องการไม่ได้ เราก็มักจะเลี่ยงบาลีชี้ไปที่อีกคนหนึ่งแทน เหมือนอย่างเครดิตบูโร เจ้าหน้าที่สินเชื่อมักคิดว่าเวลาให้สินเชื่อใครถือเป็นบุญคุณ ทั้งที่มันเป็นเรื่องบริการ คุณได้ดอกเบี้ยจากเขาเป็นรายได้จากค่าบริการนะ การทำงานแบบมืออาชีพไม่มีคำว่าบุญคุณหรอก แต่พอไม่ให้สินเชื่อเขา ก็เอาตัวรอดด้วยการบอกว่าเป็นเพราะอีกหน่วยงานหนึ่ง 

พอผมมาที่เครดิตบูโรก็เหมือนเวรกรรมมีจริง ต้องมาแก้ปัญหานี้ และเป็นสิ่งที่เครดิตบูโรทั่วโลกถูกมองเหมารวมแบบนี้อยู่แล้ว ตอนที่เขาได้ประโยชน์กันบนข้อมูลที่เราส่งให้ เขาจะไม่พูดถึงเรา ผมบอกคนในองค์กรว่าเราจะไม่ยอมเป็นถังขยะอยู่ในมุมมืด แล้วนั่งฟังเขาพูดกันอย่างเดียว เราต้องออกไปยืนพูดกับเขาข้างนอกอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรคืออะไร เรามีหน้าที่อะไร

แล้วเครดิตบูโรทำหน้าที่อะไร

คือที่เก็บสมุดพกของคนที่เป็นหนี้ เวลาที่คนคนนั้นจะก่อหนี้เพิ่ม สมุดพกจะแสดงนิสัยของคนที่เป็นหนี้ว่าควรจะได้หนี้เพิ่มหรือไม่ เพราะมันแสดงความตั้งใจในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาร่วมกับความสามารถในการชำระหนี้ก็คือรายได้และเรื่องหลักประกัน เหมือนกับผลตรวจสุขภาพเรา เราจะดูว่าคนคนนี้สุขภาพดีหรือเปล่า ก็มาจากค่าผลเลือดที่ตรวจ 

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น
ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

เครดิตบูโรบอกธนาคารไม่ให้ปล่อยกู้ได้หรือไม่

เราไปบอกไม่ได้ กฎหมายไม่ให้เราทำ และเราก็ไม่รู้ว่าใครขอสินเชื่อเมื่อไหร่ หรือธนาคารไปบอกตอนไหนว่าได้หรือไม่ได้ เรารู้แต่ว่ามีคนไปขอสินเชื่อ และอนุญาตให้เราเปิดเผยข้อมูลให้ธนาคารดู ข้อมูลที่เราส่งไปต้องถูกต้อง ครบถ้วน อย่างตัวผมเองไม่สามารถไปดูข้อมูลเครดิตคนอื่นนะ จับติดคุกได้นะครับ ไม่รอลงอาญาด้วย 

ถ้าผมจะดูข้อมูลของตัวเอง ผมยังต้องไปติดต่อที่ศูนย์บริการ ชำระเงินค่าธรรมเนียมเลย ถึงจะได้รายงานออกมา ทุกครั้งที่มีการเข้าไปแตะข้อมูลจะเกิดหลักฐานเสมอ และตามมาด้วยความรับผิดชอบทางกฎหมาย คนที่กำกับดูแลเราคือธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เขาสั่งห้ามเครดิตบูโรเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ให้ต่างไปจากที่สมาชิกได้นำส่งเรา ธนาคารส่งข้อมูลมายังไงเราก็แก้ไม่ได้ เหมือนสำนักทะเบียนของมหาวิทยาลัยนั่นล่ะ เกรดออกมาแล้วเราจะไปแก้ไขเกรดไม่ได้ ถึงเราจะไม่อยากให้ใครเห็น แต่ก็ต้องโชว์ เพราะว่ามันคือความจริงของสิ่งที่เราทำ 

ได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตในวงการการเงิน

ผมเรียนรู้ว่าสถาบันการเงินก็เหมือนเรือ เรือจะปลอดภัยที่สุดถ้าจอดอยู่ที่ท่า แต่ต้องถามว่าเรือมีหน้าที่อะไร เรือต้องออกทะเลไปเผชิญคลื่นลม วันนี้เรือไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องออกจากอ่าวที่ปลอดภัย ฝ่าคลื่นด้วยฝีมือของกัปตันเพื่อไปช่วยคนที่เขาลอยคออยู่ เราช่วยทุกคนไม่ได้ แต่การที่เราได้แต่มองและจอดเรืออยู่เฉยๆ ไม่ไปช่วย ก็ต้องถามว่าเราได้ทำหน้าที่ของเรือแล้วหรือยัง มันต้องช่วยเขา

โรค COVID-19 อยู่กับเรามา 1 ปีแล้ว สิ่งที่เราจะเห็นนับจากนี้คืออะไร

ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้เกิดสิ่งที่น่ากลัวอย่างแรกคือ Income Shock รายได้หายไปหรือเหลือน้อยลง อีกอันก็คือคนติดกับดักหนี้ ก่อนหน้านั้นเรามีรายได้ระดับหนึ่ง เราก็ไปก่อหนี้และคิดว่าจะชำระหนี้ได้ ตอนนี้คือลูกหนี้ได้แต่ซื้อเวลาและไปต่ออย่างทุลักทุเล ขึ้นอยู่กับว่าเราได้จัดการผ่อนสั้นผ่อนยาวกับมันแค่ไหน 

จากนี้จะเห็นมหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเราผ่านไปได้ด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่เจออะไรมาช็อกเศรษฐกิจเราอีก ดังนั้น พ.ศ. 2564 – 2565 จะเป็นปีที่เราต้องอยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น เพื่อจะได้ไปฟื้นตัวใน พ.ศ. 2566 ด้วยพฤติกรรมใหม่ ระหว่างนี้ก็ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ช่วยค่าครองชีพ ผ่อนหนักให้เป็นเบา ลากหนี้ที่มีให้ยาวออกไป เราไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถึงมีวัคซีนก็ใช่ว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หน้ากากก็ยังต้องใส่ 

สิ่งที่สำคัญคือ ผู้บริหารหรือคนที่เป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรอยู่ในภาวะที่ใช้ปัญญาในอดีตมาวางแผนแก้ไขปัญหาที่คิดว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือ Unknown the Unknown เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ถ้าเรารู้ว่าไม่รู้อะไร เราก็ยังไปหาคำตอบได้ แต่ตอนนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ ทางออกที่บอกๆ กันตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า

การทำงานที่เครดิตบูโรวันนี้แตกต่างจากวันแรกอย่างไร

สัปดาห์แรกที่ผมมาเป็นซีอีโอ ตอนนั้นสำนักงานยังอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ปีนั้นมีความวุ่นวายทางการเมือง เราต้องบริหารจัดการวิกฤตตั้งแต่ก้าวแรก ต้องดูแลขวัญกำลังใจของพนักงาน ตอนนั้นความเข้าใจผิดเรื่องเครดิตบูโรเยอะกว่านี้มาก ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของสถาบันการเงินด้วย 

สิ่งที่ผมพลาดในช่วงแรกคือ ใช้ความเกรี้ยวกราดในการบริหารจัดการ คือบริหารบนความกลัว เพราะตอนนั้นผมเชื่อว่า ถ้าทำให้ลูกน้องกลัว เขาจะทำตามคำสั่งเรา และผมก็พบว่าผลประกอบการมันไม่ได้ดีขึ้น เพราะใจเราไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นของเขา เราไม่ฟัง แต่เราพูด เราสั่ง เดี๋ยวนี้ผมนั่งฟังทำความเข้าใจกับเขา ผมไม่เข้าใจตรงไหนก็บอกไปตรงๆ ว่าไม่เข้าใจ ซีอีโอที่โง่ที่สุด คือซีอีโอที่พยักหน้าแสร้งว่าเข้าใจ ทั้งที่ไม่เข้าใจเลย อย่างทีมไอทีผมต้องอธิบายผมซ้ำแล้วซ้ำอีกกว่าผมจะเข้าใจ

นอกจากนั้น ผมจัดระเบียบบริษัท จัดทีมใหม่ เป็นหัวหน้าทีมเจ็ดถึงแปดคน แต่ละคนมีหน้าที่ทำงานลงลึกในฟังก์ชันงานของตัวเอง ผมให้อิสระพวกเขาได้ทำหน้าที่ ตัวผมเองคุมเรื่องการพัฒนาบุคลากรและบัญชีการเงิน เช็คทุกใบที่เป็นรายจ่ายบริษัท ต้องให้ผมเป็นคนเซ็น

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

ต้องล้วงลูกบ้างหรือไม่

บางเรื่องจำเป็นต้องถาม ผมก็ถาม แต่ตอนสุดท้าย หนังสือที่ออกไปองค์กรอื่นในนามเครดิตบูโร ผมต้องเป็นคนเซ็น องค์กรนี้มีแค่ซีอีโอ สายงาน ฝ่ายงาน และส่วนงานเท่านั้น ผมนี่เป็นซีอีโอที่บ้านนอกสุดๆ ฟังดูไม่เท่นะ แต่ผมเดินไปคุยกับพนักงานได้ ไม่เข้าใจก็เดินไปถาม มันไม่ใช่เรื่องน่าละอาย สมัยก่อนเราตั้งคำถามด้วยความเกรี้ยวกราด เพราะเราคาดหวังว่าจะได้คำตอบเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ คำตอบของลูกน้องของผมจะมาพร้อมกับทางเลือกแต่ละทาง ผมก็จะถามต่อว่าทางไหนเป็นไปได้มากที่สุด แต่ละทางมีผลกระทบทางลบกับเราอย่างไร

เห็นว่าคุณสุรพลต้องปรับความคิดไม่ใช่แค่กับลูกน้อง กระทั่งลูกๆ ที่บ้านก็ต้องปรับด้วย

ใช่ ลูกๆ เขาถามผมว่า คนรุ่นผมหรือเบบี้บูมเมอร์นี่ภาคภูมิใจอะไรนักหนา กับการที่ตัวเองได้ฝ่าฟันความยากลำบากด้วยวิธีการแปลกๆ บางคนก็เห็นแก่ตัวหรือทำอะไรต่อมิอะไรบ้าง แล้วเราก็ภาคภูมิใจกับมัน 

ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่าความยากลำบากเหล่านี้ ถ้ามันมีการบริการจัดการที่ดีแต่แรกแล้ว คนรุ่นผมก็จะได้ไม่ต้องยากลำบาก และส่งผ่านความคิดว่าต้องเจอกับลำบากต่อไป ต้องเอาชนะความลำบากให้ได้ก่อนจึงจะประสบความสำเร็จ นี่เป็นวิธีการสื่อสารที่เราต้องคุยกับคนรุ่นใหม่นะ เพราะเขาตั้งคำถามว่า ถ้ามันมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ คนรุ่นผมอาจไม่ต้องลำบากขนาดนี้ และส่งผ่านความเชื่อความคิดแบบนี้ก็ได้

เห็นด้วยหรือไม่

ผมเห็นด้วยบางเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ เช่น เราควรมีฟุตปาทที่ดีกว่านี้หรือไม่ มีต้นไม้ที่ดีกว่านี้หรือไม่ ทำไมเราเป็นประเทศที่น้ำท่าบริบูรณ์ดี แต่พื้นที่สีเขียวในเมืองกลับน้อย ทำไมเราไม่มีสวนสาธารณะทุกหัวมุมของถนนหรือที่ใหญ่ๆ ประเทศเราถ้าจะมี Central Park แบบนิวยอร์ก ทำไมจะไม่ได้ 

แต่ก็มีมุมที่ผมไม่เห็นด้วย คือเราต้องมองเข้าไปก่อนว่าเงื่อนไขและข้อจำกัดในอดีตนั้นมันได้ถูกบริหารจัดการด้วยวิธีการไหน เราเอาเครื่องมือสมัยใหม่ในวันนี้ไปจัดการกับเรื่องในวันนั้นไม่ได้ ที่บ้านผมเราคุยกันแบบนี้ ถ้าเราต้องการจะคุยกับคนรุ่นใหม่ คุณไม่สามารถแกล้งเป็นคนรุ่นใหม่แล้วไปคุยกับเขา คุณต้องเป็นคนรุ่นนี้แหละ แต่คุณต้องอ่านในสิ่งที่พวกเขาอ่าน คุยกับพวกเขา คุยด้วยความอดทน มีขันติ 

คิดว่าผู้ใหญ่บ้านเราไม่มีขันติ หรือเด็กที่ไม่อดทน

ผู้ใหญ่เราฟังน้อยไป เหตุผลที่เราฟังน้อย เพราะเราคิดว่าเรารับผิดชอบมากกว่าเขา ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ คำตอบคือพวกเขาต้องรับผิดชอบมากกว่าเรา เพราะเราเหลือเวลาบนโลกนี้น้อยกว่าเขา เขาเหลือเวลาตั้งเยอะ พวกเขาต้องรับผิดชอบกว่าเรา อย่าทำตัวเราเองให้เป็นภาระกับเขา เราต้องทำตัวให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพ อย่าไปตั้งเงื่อนไขว่าเขาต้องมาดูแลเราตอนแก่ เราจึงจะบอกเขาไม่ให้ไปเป็นภาระของสังคมได้ มือที่ขอไม่เคยสูงกว่ามือที่ให้นะ

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

เรื่องที่คุณสุรพลพูดบ่อยคือชีวิตที่ไม่ปรุงแต่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นถือว่าแห้งเหี่ยว ไม่มีความสุขหรือเปล่า

เปล่าเลย เรามักคิดว่าเราทำสิ่งนี้เพราะเราให้รางวัลกับชีวิต ผมถามว่าตอนคุณตายคุณเอาไปด้วยได้มั้ย คุณจะมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน ก็ไม่มีใครใหญ่กว่าโลง อาจเพราะผมผ่านชีวิตแรกมา ถ้าไม่ผ่านความตายครั้งนั้นก็อาจคิดแบบนี้ไม่ได้ ทุกคนจะต้องผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่ทำให้คิดได้และคิดเป็น 

คำว่าไม่ปรุงแต่ง ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช้ชีวิตหรูหรานะ ถ้าคุณมีรายได้มาก ไม่มีหนี้ มีเงินออม ถ้าอยากได้กล้องดีๆ สักตัว คุณก็ซื้อได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้มีปัญหา หนี้ก็เยอะ เลี้ยงลูกยังทำไม่ดี คุณก็ยังจะไปเที่ยวให้ได้ ทั้งที่สถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องถามว่าความเหมาะสมมันอยู่ที่ตรงไหน ถ้าเรามีอยู่สองหมื่น แต่ใช้ชีวิตสองแสน ส่วนต่างนี้เราก็เติมด้วยภาระหนี้ที่คุณก็ไม่รู้จะแก้ยังไง แบบนี้มันไม่ใช่

ทุกวันนี้ผมกินข้าวไข่เจียวหรือข้าวกะเพราะกับไข่ต้ม ที่ออฟฟิศนี้จะรู้กัน ผมมีรองเท้าที่ใส่ทำงานสองคู่และรองเท้าวิ่ง สามคู่ เสื้อก็ไม่ได้ซื้อเป็นปี เพราะในตู้เสื้อผ้ามีอยู่เยอะแล้ว ว่างๆ ก็เอาของมาบริจาคให้คนอื่น เราต้องคิดว่าซีอีโอก็คือมนุษย์ อย่าทำตัวกึ่งเทพ พูดภาษาเทพกับคนอื่น พูดภาษาคนดีที่สุด เพราะซีอีโอคือคนทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเหมือนกัน เมื่อจบจากหน้าที่ไปแล้วคุณก็จบ ผมขับรถไม่เป็น จนถึงวันนี้พยายามขับรถเองก็ขับไม่ได้ ผมนั่งรถได้ทุกแบบนั่นล่ะครับ เราไปสร้างบรรทัดฐานว่าคนตำแหน่งนี้ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ มันไม่ใช่ชีวิตจริง มันไม่ใช่แบบนี้ มันเป็นแค่เปลือก

วันข้างหน้าที่ลงจากตำแหน่งนี้ไปแล้วจะไปทำอะไร

ผมคุยกับภรรยาแล้ว ชีวิตหลังเกษียณของเราจะไปขายของที่โรงเรียนอนุบาล ลูกค้าก็คือเด็กๆ ที่มาซื้อของช่วงเช้ากับเย็น หน้าที่เราคือไปหาของมาขายเพื่อทำให้พวกเด็กๆ มีความสุข 

จะทำจริงๆ หรือ

จริงสิ ผมไม่อยากไปเป็นกรรมการที่นั่นที่นี่ ไม่เอา เช้ามาผมก็ไปเปิดร้าน เย็นก็กลับบ้าน วันไหนไปซื้อของผมก็ไปกับภรรยา ตอนไหนร้านเงียบผมก็อ่านหนังสือ ภรรยาก็ฟังธรรมะ ความสุขมีแค่นี้ เราได้เตรียมเงินออมเอาไว้แล้ว สิ่งที่เตรียมให้ลูกก็มีแล้ว เขาจะใช้ชีวิตยังไงก็เรื่องของเขา พวกผมเองก็จะเป็นคนสูงอายุที่ได้เจอกับเด็กๆ น่ารักทุกคน คนสูงอายุเขาก็อยากได้ชีวิตแบบนี้กัน

ชีวิตที่สองของ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ สมุดพกเครดิตบูโร และการตั้งคำถามของคนต่างรุ่น

Questions answered by CEO of National Credit Bureau

ปกติดื่มชาหรือกาแฟ

กาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล ผมกินกาแฟดริปวันละแก้ว 

นอนวันละกี่ชั่วโมง

ผมเข้านอนสี่ทุ่มครึ่งไม่เกินห้าทุ่ม ตื่นประมาณหกโมงเช้า หกโมงครึ่งก็ต้องลุกแล้ว ตื่นมาก็จะไปช่วยภรรยาทำกับข้าว

สถานที่ที่ชอบไปมากที่สุด

อุโบสถที่วัดบวรนิเฯ ไม่รู้ทำไม บอกไม่ถูก ทุกครั้งที่ต้องการกำลังใจหรือคิดอะไรก็ตามจะไปที่นี่ และนั่งมองพระพุทธรูป สวยมากเลย

ประเทศสุดท้ายที่ไปก่อน COVID-19

ผมไปสิงคโปร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ตอนนั้นตัดสินใจยากอยู่เพราะเริ่มมีข่าว COVID-19 แล้ว แต่เราตัดสินใจไป เพราะปลายทางเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเรา และทริปนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสององค์กรดีมาก

ประเทศแรกที่จะไปหลังจากที่กลับมาท่องเที่ยวได้

ไต้หวันครับ เพราะพันธมิตรทางธุรกิจที่เราอยากคุยเป็นคนแรกอยู่ที่นั่น ก็เป็นเรื่องงาน

เคยชินกับการสวมหน้ากากหรือยัง

ผมว่ามันเป็นเหมือนอวัยวะที่เพิ่มเข้ามาแล้ว ตอนนี้ออกกำลังกายก็ยังต้องใส่นะ ผมออกกำลังกายสัปดาห์ละสี่ครั้ง อย่างวันเสาร์หรืออาทิตย์ต้องออกไปวิ่งที่สวนรถไฟ ทุกวันที่มาทำงานก็จะออกกำลังกายก่อนตอนเช้าแล้วเข้าออฟฟิศ

นิสัยตอนนี้แตกต่างจากตอนอายุ 20 อย่างไร

ความเกรี้ยวกราดมันหายไป แต่ก่อนขี้โมโห ใครพูดผิดสักคำไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้เฉยๆ

สิ่งที่ยังไม่เคยทำในชีวิตนี้

สิ่งที่ไม่เคยทำและผมไม่คิดจะทำด้วย คือการวิ่งมาราธอน ผมไม่อยากเลย เพราะรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าได้แค่ไหน ถึงจะชอบวิ่งก็ตามที

ให้เลือกไปเที่ยว จะไปทะเลหรือภูเขา

ภูเขา เพราะผมเป็นเด็กทางภาคเหนือ ผมไม่ชอบทะเล กลัวจมน้ำ

ถ้าฝุ่น PM 2.5 เป็นแบบนี้ไปอีกนานจะทำอย่างไร

ก็ต้องอยู่กับมัน ประเทศเราโตมาจากเกษตรกรรม ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มีมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ปัญหานั้นไม่โดนกับตัวเรา เราก็เลยทนมาได้ แต่เกษตรกรเขาทนมานานแล้ว ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่พวกเราก่อขึ้น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องทนกับมัน เหมือนที่เกษตรกรต้องทนเรื่องน้ำนั่นล่ะ จนกว่าการบริการจัดการจะดีขึ้น 

คุณห้ามลูกไปชุมนุมหรือเปล่า

ไม่ห้าม ไม่เคยห้าม แต่ผมพูดกับลูกว่าต้องรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ผมบอกแค่นี้ ผมเคารพในตัวพวกเขา พวกเขาก็เคารพผม จะอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่เคารพกันและกัน ผมก็ยังกอดพวกเขาทุกวัน

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)