งานยาก เวลาน้อย น้อยคนจะอยากทำ 

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ คือคนส่วนน้อย เขาเข้ามาทำงานแสนท้าทาย ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA

Job Description ของท่านยาก ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘โหดสัด’ เพราะต้องบริหารองค์กรที่มีพนักงาน 200 กว่าชีวิตให้เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนรัฐบาลให้ทันสมัย สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลให้หน่วยงานรัฐ 7,850 แห่งตอบโจทย์ประชาชน นำข้อมูลมหาศาลของประชากร 71 ล้านคนให้ใช้งานได้ 

ทั้งหมดนี้ ดร.สุพจน์ ต้องทำแผนส่งภายใน 2 สัปดาห์แรกของการทำงาน

3 ปีต่อมา เราเริ่มเห็นบัตรประชาชนและใบขับขี่ดิจิทัลที่ไม่ต้องพกบัตรจริงทางแอปพลิเคชัน ทางรัฐรวมข้อมูลสำคัญที่เราต้องรู้มาให้ใช้งานง่ายและสะดวก แพลตฟอร์มมากมายของรัฐที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น รอการเปิดตัวในไม่ช้า

ดร.สุพจน์ ชอบงานยาก ท้าทาย ที่ผ่านมา หนึ่งในงานสำคัญของเขาคือ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations รับภารกิจเปลี่ยน 20 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้ากับยุคสมัย เหตุผลที่เขาย้ายมา DGA เพราะอยากทำงานใหญ่ที่มีอิมแพกต์และมีผลกับชีวิตคนวงกว้างมากขึ้น

เรากางแผนการทำงานว่า 3 ปีที่ผ่านมาเขาทำอะไรบ้าง จะบรรลุภารกิจยาก ๆ เหล่านี้ได้ยังไง

ยาก ท้าท้าย แต่ไม่ไกลเกินความจริง

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อยากเปลี่ยนหน่วยงานรัฐ 7,850 แห่งสู่การเป็น Smart Government

เดินตามท้องถนน ลองถามใครสักคน ว่า DGA คือใคร ทำอะไร – ไม่รู้ คงเป็นคำตอบส่วนใหญ่

ไม่แปลก DGA ทำงานอยู่เบื้องหลังมาตลอด ชื่อเต็มของหน่วยงานคือ Digital Government Development Agency (Public Organization) หน้าที่คือการช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องเทคโนโลยีของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง

สร้างแพลตฟอร์ม จัดอบรม ออกมาตรฐาน พัฒนาบริการ ให้คำปรึกษา เรียบเรียงงานต่าง ๆ ให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือสร้าง Digital Government ให้เกิดขึ้นได้จริง เป็นเหมือนมดงานฝ่าย B2B ช่วยให้งานราบรื่น

เมื่อเข้ามาทำงาน ดร.สุพจน์ มองว่าหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ขาดอยู่ คือแพลตฟอร์มที่จะเจอกับคนทั่วไป บัตรประชาชนหาย ใบขับขี่หมดอายุ ทำยังไงให้คนไม่ต้องลางานไปจัดการ งานกลุ่มนี้น่าจะมีแพลตฟอร์มรัฐที่ทำงานแบบ B2C เยอะขึ้น สะดวกขึ้น

DGA สร้างแพลตฟอร์มได้ ปัญหาคือถ้าคนยังไม่รู้จักหน่วยงานนี้ ทำอะไรก็ดูไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้ใจ การรีแบรนด์จึงเกิดขึ้น 

ดร.สุพจน์ มองว่างานสมัยนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมาร่วมจึงจะสำเร็จ เขายกตัวอย่างการสร้าง Open Data Community แพลตฟอร์มข้อมูลทั้งประเทศ ถ้าสามารถดึงประชาชนมาเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทำงาน ให้เขาแนะนำ การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ง่ายขึ้น

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อยากเปลี่ยนหน่วยงานรัฐ 7,850 แห่งสู่การเป็น Smart Government

“สมัยก่อนภาครัฐอยากทำอะไรก็ทำเลย แต่ตอนนี้เราอยากฟังก่อน เช่น ประชาชนอยากให้เราเปิดข้อมูลอะไรบ้าง เราต้องฟังประชาชน นี่คือวิธีทำงานที่ผมปรับเปลี่ยนมาตลอด 2 ปี” กัปตันทีมแห่ง DGA เล่า

“การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานยุคใหม่ นี่คือหัวใจที่เราอยากเปลี่ยน อยากให้ประชาชนรู้ว่าเราทำเพื่ออะไร เป้าหมายคืออะไร”

การปรับเปลี่ยนมีตั้งแต่การทำเว็บไซต์ใหม่ สร้างคอนเทนต์ สื่อสารกับคนหลากหลายขึ้น ไปจนถึงการปรับ Mindset ของพนักงานทั้งหมด 

“ทำงานวันแรก ผมชวนลูกน้องทุกคนมานั่งเล่าให้ฟังว่าทำอะไรอยู่บ้าง ไล่ประชุมทุกวัน 1 สัปดาห์ สัปดาห์ต่อไปทำแผนไปเสนอบอร์ด

“เราเสนอว่าต้องเปลี่ยนจาก Service Provider เป็น Orchestrator หรือคนที่ประสานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน สมัยก่อนเขาจะมองว่า DGA เป็นคนให้บริการแพลตฟอร์มเรื่อง IT Service แต่เราต้องการจะปรับเปลี่ยน DGA ให้เป็นคนขับเคลื่อน Digital Transformation ของภาครัฐ” นี่คือเป้าหมายที่เขาบอกพนักงานทุกคน

เร่งด่วน สำคัญ ถ้าเห็นเป้าหมายตรงกัน ยากแค่ไหนก็เป็นไปได้

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อยากเปลี่ยนหน่วยงานรัฐ 7,850 แห่งสู่การเป็น Smart Government

ดร.สุพจน์ รู้ดีว่าคนมองภาครัฐอย่างไร

ช้า ไม่น่าเชื่อถือ เขาเข้าใจ แต่เพื่อความเป็นธรรม หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เป็นอย่างนั้น คือสเกลของข้อมูลที่มหาศาลกว่าภาคเอกชนมาก

ดร.สุพจน์ เข้างาน 08.30 น. ประชุมจนฟ้ามืด กินข้าวคนเดียวบนโต๊ะทำงาน เพราะทุกหน่วยงานรัฐต่างอยากเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัย ทุกคนจึงมุ่งมาหาให้ DGA ช่วย กลายเป็นคลื่นงานมหาศาลที่เขาต้องวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการจัดหน่วยงานเป็น 3 ระดับ ระดับแรกคือหน่วยงานที่พร้อมที่สุด ทำเป็น เขาพยายามนำหน่วยงานนี้ให้ทุกคนรับรู้ จะได้ทำงานเชื่อมโยงง่ายขึ้น 

ระดับที่ 2 คือ กลุ่มที่ DGA เข้าไปทำงานด้วย เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ทำเรื่องลงทะเบียน SME เป็นการทำงานตามแผนรัฐบาลดิจิทัล กลุ่มนี้เขาลงแรงเพื่อให้เกิดบูรณาการเรื่องข้อมูลมากที่สุด

กลุ่มสุดท้ายคือหน่วยงานย่อยระดับเทศบาล มีจำนวนหลายพันแห่ง เขาออกแบบแพลตฟอร์มกลางไปสนับสนุน ทำ KPI ทำมาตรฐานให้ทุกหน่วยงานเดินตาม ทำให้เข้าใจง่ายที่สุด

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อยากเปลี่ยนหน่วยงานรัฐ 7,850 แห่งสู่การเป็น Smart Government

“คนชอบคิดว่ารัฐปรับตัวช้า ซึ่งไม่จริงเสมอไป เช่น ถ้าเรื่องการเงิน กระทรวงการคลังทำได้ดีมาก เรื่อง Payment ถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลย เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาครัฐ บางส่วนไปเร็ว บางส่วนจะไปช้า หน้าที่เราคือทำยังไงให้ทุกภาคส่วนมูฟไปข้างหน้าได้” ดร.สุพจน์ เล่า

จากประสบการณ์การทำงานสายบริการและเทคโนโลยี เขารู้ว่างาน Transformation ไม่ใช่งานที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ มีงานที่ต้องอินพุตต่อเนื่อง ส่วนที่ดีก็ดีแล้วก็ทำต่อ ส่วนที่ไม่ดีก็ขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลง แม้จะช้า แต่ความน่าเชื่อถือยังคงมีอยู่

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กับ 3 ภารกิจในการพาประเทศสู่การเป็น Smart Government

Smart Government เป็นสิ่งที่ ดร.สุพจน์ พูดถึงบ่อยในการสัมภาษณ์

ความหมายที่แท้จริงของ Smart คือ รัฐบาลที่ทำเรื่องดี ๆ ก่อนที่เราจะร้องขอ คิด และมองไปข้างหน้าเสมอ

“ผมว่าประชาชนคาดหวัง ทำยังไงให้รัฐบาลรู้ใจเราทุกวันนี้เราต้องเป็นคนไปบอก ไปขอ ว่าอยากได้อะไร แต่จะทำยังไงให้รัฐบาลเตรียมบางอย่างที่จะตอบโจทย์เราได้”

เขายกตัวอย่างแอปพลิเคชันของทางรัฐที่เพิ่งเปิดใช้ไม่นาน แอปฯ นี้รวมข้อมูลทะเบียนราษฎรที่จำเป็น ดึงข้อมูลมาจากหลายส่วนมาเสนอให้เข้าใจง่าย เวลาบัตรใกล้หมดอายุจะมี Notification คอยเตือน

ระดับที่ไกลกว่านั้น คือการรู้ประวัติประชากร มาออกแบบรัฐสวัสดิการที่ Customize ให้เหมาะกับแต่ละคน งานเหล่านี้เป็นงานทางอ้อมของ DGA ที่ส่งผลกับชีวิตคนจริง ๆ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กับ 3 ภารกิจในการพาประเทศสู่การเป็น Smart Government

“ภายใน 10 ปีนี้ เทคโนโลยีที่ไทยควรลงทุนมากที่สุด หนีไม่พ้น AI มีแค่เรื่องเดียว ถ้าถามผมนะ” ผอ. ที่น่าจะไฮเทคที่สุดของรัฐเล่า

ดร.สุพจน์ ขยายต่อว่า ใน AI จะมีเทคโนโลยีย่อย ๆ อีกหลายตัว ตัวที่สำคัญคือ การประมวลผลภาษาไทย ทำให้เรามีระบบที่ใช้ในประเทศไทยได้ AI ยอดนิยมอย่าง chatGPT ข้อมูลภาษาไทยมีนิดเดียว แต่ถ้ามีภาษาไทยของเราเอง ระบบช่วยเหลือที่เรียกว่า Virtual Assistance จะพัฒนาการบริการของรัฐจะก้าวไปอีกขั้น 

“ตอนนี้เราไม่ได้มองว่า DGA อยากทำอะไรแล้วเราก็ไปทำ แต่ต้องมองว่าภาพรวมของ Ecosystem ของรัฐในเรื่องนั้นว่ายังขาดอะไรอยู่ ถ้าตัวไหนสำคัญ เราจะ Enable หรือสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดข้ึนได้อย่างไร อาจจะต้องทำเองหรือร่วมมือกับเอกชน ถึงจุดนั้นผมอยากเห็น DGA ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้วก็อยากเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล”

ภารกิจสุดท้ายของผู้อำนวยการคนนี้ยังไม่ลุล่วง 

แต่เชื่อว่าไม่นาน เขาจะทำได้สำเร็จ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กับ 3 ภารกิจในการพาประเทศสู่การเป็น Smart Government

10 Things you never know

about Supot Tiarawut

1.  ชื่ออีเมลแรกในชีวิตของคุณ

[email protected] ยาว เป็นอีเมลของมหาวิทยาลัย ตอนนั้นยังไม่มีเว็บไซต์ด้วยซ้ำ

2.  ถ้าต้องติดเกาะ เลือกของติดตัวได้เพียง 1 ชิ้น คุณจะเลือกอะไร

อุปกรณ์ที่จุดไฟได้

3. เวลาอยากจบบทสนทนาทางไลน์ คุณจะพิมพ์ว่าอะไร

Thank you

4.  คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต มือถือ คุณเลือกอะไร

มือถือกับโน้ตบุ๊ก

5.  ถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตล่มทั่วโลก สิ่งแรกที่คุณอยากทำคือ

เล่นกีฬา ออกไปวิ่ง

6.  สติกเกอร์ไลน์ที่ใช้บ่อยที่สุด

ลายปลาหมึก เป็นสติกเกอร์ที่ลูกสาวออกแบบ

7.  หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบ

The World in 2050 โดย Hamish McRae

8.  เมนูที่สั่งบ่อยที่สุด

ข้าวผัดกะเพรา บางทีก็แล้วแต่เลขาสั่ง

9. สิ่งที่คุณไม่อยากเห็นลูกน้องทำมากที่สุด

สร้างความแตกแยก

10.  ทำงานมาเหนื่อย ๆ คำปลอบใจที่อยากได้ยินมากที่สุดคืออะไร

วันนี้อยากกินอะไร

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)