The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ครั้งหนึ่ง แหม่ม-สุพัตรา กิจวิสาละ เคยนึกฝันอยากเดินทางท่องเที่ยวในโลกกว้าง

แต่เธอกลับเลือกตีตั๋วเดินทางลึกเข้าไปในชีวิตมนุษย์แทนเส้นขอบฟ้า กับงานที่หลายคนอาจมองเป็นเพียง ‘ถังขยะรองรับอารมณ์ผู้ป่วย’ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็นับเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติอย่างสูงสุดที่ได้ติดตามชีวิตมนุษย์คนหนึ่งบนที่นั่งชั้นริงไซด์ ชนิดที่คนทั่วไปอาจไม่มีวันได้สัมผัส

เธอเป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative Care) คอยดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะท้าย เป็นงานที่ไม่ได้หยุดแค่เพียงบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ยังรวมถึงการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยและคนรอบข้าง 

แหม่มบอกว่าเธอไม่ต่างอะไรกับ Therapist (นักบำบัด) หรือ Healer (นักเยียวยา) หน้าที่หลักคือฟังความปรารถนาสุดท้ายอย่างเข้าใจ และตระเตรียมพินัยกรรมชีวิตก่อนตายให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ

“การทำงานของพี่คือมาเรียนในโรงเรียนชีวิต โดยมีชีวิตจริงของคนไข้เป็นครู”

นี่คือเรื่องเล่าระหว่างการเดินทางบนชีวิตมนุษย์ของเธอ

สุพัตรา กิจวิสาละ

ตั๋วใบแรก

จากเด็กต่างจังหวัดที่เคยฝันอยากเดินทางรอบโลก และเริ่มต้นออกเดินทางผ่านการมองรถไฟที่ผ่านหน้าบ้าน อำเภอนครชัยศรี ตั๋วใบแรกที่พาเธอออกเดินทางได้จริง ๆ คือวิชาพยาบาล

“ตอนแรกไม่ได้ชอบหรอก แต่เห็นว่าเป็นวิชาที่มีติดตัวไว้จะดี เพราะเด็ก ๆ เราเรียนลูกเสือ-เนตรนารี แค่ได้พันผ้ารักษาแผลเรายังรู้สึกดีเลยนะ ถ้าเรามาเรียนพยาบาลเราจะได้แปะแผลทั้งตัวเลย

“พอเรียนจบ เขาให้เราทดลองงานไปหลาย ๆ แผนก เราเริ่มจากอายุรกรรม แผนกเด็กอ่อน แล้วไปอยู่ที่จักษุ โสต ศอ นาสิก (ตา หู คอ จมูก) หลังจากนั้นเราก็ทดลองไปเรื่อย ๆ” เธอเกริ่นถึงตั๋วใบแรก

สำหรับคนทั่วไปอาจมองเห็น ‘พยาบาล’ คล้าย ๆ กัน แต่งชุดขาวเหมือน ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงกลับแตกแขนงออกไปอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลแผนกศัลยกรรม อายุรกรรม สูติ-นรีเวช และอื่น ๆ 

“ตอนเลือกแผนกที่ชอบ เราก็ไม่รู้นะว่าชอบอะไร รู้แค่ไม่ค่อยชอบห้องที่ไม่มีหน้าต่างกับรู้ว่าเราชอบพูดคุยกับคนไข้” 

เรื่องราวคนไข้ที่กลายมาเป็นวีซ่าเดินทางเข้าไปในเรื่องราวมนุษย์ ถูกเล่าออกจากปากแหม่มเคสแล้วเคสเล่า ตลอดการพูดคุย เรื่องของเธอโยนผมขึ้นไปในอากาศอยู่หลายครั้ง กลับกัน บางตราประทับก็ทุบผมให้ใจสลายอย่างเลือดเย็น และตราประทับแรกบนหน้าพาสปอร์ตมักเป็นที่จดจำเสมอ 

“คนไข้คนแรกในชีวิต คือ ลุงจำปา ปัจจุบันแกเสียชีวิตแล้ว แกเปิดโลกเรามาก เพราะวันเริ่มงานวันแรก เราเปิดห้องเข้าไปเจอลุงกำลังโหนบาร์อยู่บนเตียง ครึ่งล่างของลุงอัมพาต พอเราเห็นก็ตกใจ เลยบอกแกไปว่า ลุง ระวังตก! แล้ววิ่งเข้าไปช่วย ซึ่งปรากฏว่าลุงเก่งกว่าเราเยอะ เพราะแกทำทุกวัน 

“เราเป็นนักเรียน ยังทำอะไรไม่ได้มาก ทำได้แค่นั่งพูดคุยกับลุง ถามไปว่าแกเป็นใคร แกตอบมาว่าเป็นคนขับสิบล้อ มาจากบ้านร้อยเอ็ด กำลังจะสร้างฐานะตอนกลับบ้าน สุดท้ายได้ลุงแก่ ๆ พิการกลับบ้านไป 1 คน’ แล้วลุงแกก็หัวเราะ ตอนนั้นคิดเลยว่าชีวิตมันก็อย่างนี้แหละ 

“ในแต่ละวันของเรา เราต้องพูดกับตัวเองทุกวันว่า เราจะทำอะไรก่อนที่วันหนึ่งจะกลับบ้านเหมือนลุงจำปา คำถามนี้ทำให้เรารักงานพยาบาล รักโรงพยาบาล ซึ่งเป็นงานที่ไม่น่าอภิรมย์ในมุมมองของคนอื่น แต่ความอภิรมย์ของเรา คือเรารู้สึกว่าพยาบาลเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติให้อยู่ใกล้ชิดผู้คนในช่วงที่เขาป่วย อ่อนแอ และเปราะบาง ไม่มีใครฉลองความเจ็บป่วยหรอก และคนป่วยเขาก็ไม่ได้อนุญาตให้คนทุกคนเห็นเขาตอนอ่อนแอด้วย แต่เราคือคนที่เขาอนุญาตให้เข้าไป สำหรับนี่คือเกียรติสูงสุด”

เมื่อถึงจุดหนึ่ง แหม่มก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทเรื่องพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจถึงแรงขับของแต่ละพฤติกรรมที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งและกลายมาเป็นงานปัจจุบัน คือพยาบาล Palliative Care

Palliative Care | บรรเทาโรคและรักษาความรู้สึก

จากการพูดคุยทำให้เรารู้ว่า Palliative Care มีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วตั้งแต่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่รักษาไม่หาย เพื่อให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ในอดีตบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญไปที่การรักษาที่ตัวโรคเป็นหลัก (Curative Care) และเมื่อจบขั้นตอนของการให้ยา ฉายแสง ผ่าตัด ให้เคมี แต่โรคร้ายยังไม่จากไปไหน สิ่งที่คุณอาจได้รับจากการรักษาที่ตัวโรคเป็นหลักในอดีตคือ “ขอโทษด้วย เราได้ทำหมดแล้วทุกวิถีทาง” 

ปัจจุบันการรักษาได้ขยายให้กว้างไปอีก กลายเป็น Palliative Care หรือการรักษาแบบประคับประคอง เป็นสหสาขาที่ไม่ได้จำกัดเพียงการแพทย์ แต่แตกออกไปถึงมิติสังคม ความสัมพันธ์ในชุมชน จิตวิญญาณ และอีกมาก โดยการรักษาโรคและการรักษาประคับประคองได้ถูกวางแผนไว้อย่างกลมกลืน ไม่ต้องรอให้การรักษาโรคเสร็จสิ้นแล้วจึงเริ่มทำ แต่ค่อย ๆ ผสม (Integrate) กันไปตลอดเส้นทาง

“เราต้องบอกตัวเองว่าเป็น Therapist (นักบำบัด) หรือ Healer (นักเยียวยา) ที่มาช่วยเขา ซึ่งทุกข์กายนั้นมีแน่ ๆ เพราะเขาป่วย และทุกข์ใจคือเขาจะรู้สึกว่าอาการป่วยอาจเกิดจากสิ่งที่เขาเคยทำมา หรือมีเรื่องที่เขายังทำไม่สำเร็จ หน้าที่ของเราคือฟัง ฟังให้เขากล้าเล่า ให้เขารู้สึกว่าปลอดภัยที่จะคุยด้วย บางทีไม่ต้องเป็นพยาบาลหรอก เป็นมนุษย์นี่แหละ เรารู้ว่าคนตรงหน้าทุกข์ก็ไม่ควรซ้ำเติมทุกข์ของเขาอีก

“การมาทำงานของเราคือการมาเรียนในโรงเรียนชีวิต โดยมีชีวิตจริงของคนไข้เป็นครู ไม่ใช่หนัง ไม่ใช่ละคร ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่คือชีวิตจริง เป็นกำไรแห่งชีวิตที่ได้เรียนรู้” เธอเล่า

บทสนทนาง่าย ๆ ที่ถูกแจกแจงจากแหม่มแสนสามัญและธรรมดามาก

วันนี้ลุงมีเรื่องทุกข์ใจอะไรบ้างหรือเปล่า บอกหนูได้นะ

ลุงมีใครที่คิดถึงบ้างไหม ญาติพี่น้อง เพื่อนเก่า ตอนนี้พวกเขาเป็นยังไง ได้พูดคุยกันไหม

ลุงมีความฝันอะไรบ้างไหม แล้วฝันนั้นตอนนี้เป็นยังไง 

คำถามเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ‘ครั้งสุดท้ายที่มีคนถามผมด้วยคำถามแบบนี้คือเมื่อไหร่กัน’ และนั่นคือคำถามที่เปิดการเดินทางเข้าสู่การผจญภัยในหลากชีวิตที่ผมอาจไม่คิดมาก่อน

ผมพบว่าถ้าแหม่มฟังวันละ 4 เรื่อง อาทิตย์หนึ่งก็ตก 20 เรื่อง เดือนหนึ่งก็ 80 เรื่อง

หมายความว่าแหม่มจะนั่งฟังละครแห่งชีวิตราว ๆ ปีละเกือบ 1,000 เรื่อง ทั้งเรื่องหัวเราะลั่น เรื่องน้ำตาแตก หรือเรื่องที่ทำให้โกรธจนตัวสั่น ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เคยโทรมาปรึกษาปัญหาเรื่องชีวิตรักซ้ำไปมาอยู่ทุกวัน จนถึงจุดที่ผมเลือกตัดสายพร้อมส่งข้อความสั้นกลับไปว่า ‘ติดประชุม’ 

“ถ้ามองว่างานที่ทำเป็นถังขยะระบายอารมณ์ก็เป็นได้ จริงอยู่ที่นั่งฟังอย่างนั้น 8 ชั่วโมง บางทีก็ไม่ไหว แต่ไม่ใช่ของเสียที่ไร้ประโยชน์ทั้งหมด เราต้องกรองและผันไปใช้ประโยชน์ เพราะเรื่องราวที่ได้ฟังในแต่ละวันก็เป็นกระจกเช็กตัวเราด้วยว่าเรายังเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่ใช่หรือไม่ และเราจะขัดเกลาตัวเองด้วยว่าเราต้องเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าโดยไม่ไปตัดสินมนุษย์คนอื่น” 

ถึงตอนนี้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าในโลกกว้างใหญ่ที่มีประตูหลายล้านบานให้เลือกเปิดเพื่อออกเดินทาง แต่ทำไมถึงเลือกเปิดประตู Palliative Care และออกเดินทางบนถนนช่วงสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ 

“มนุษย์ในช่วงที่ป่วยหรือใกล้ตายมีภาวะที่เรียกว่า 5 Stages of Kübler-Ross (แบบจำลองคือเบลอร์-รอสส์ เป็นการแสดงระดับขั้นทางอารมณ์ที่มีต่อการเสียชีวิตของบุคคล) ไม่มีใคร ขอบคุณที่มาบอกว่าเป็นมะเร็งนะ แต่คนไข้จะปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง ร้องไห้ แล้วค่อยยอมรับ

“สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาเพื่อช่วยเขา เราไม่มีทางรู้เลยว่าบ้านนี้จะเป็นยังไง แล้วมันก็ผลักดันให้เราขยันพัฒนาตัวเองเพื่อมารับมือกับความสูญเสียต่าง ๆ ต่อไป

“เพราะประสบการณ์การทำงาน Palliative Care กับการเยียวยาชีวิตคนในวันที่เขาเป็นทุกข์จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ทำให้เราเข้าใจชีวิตเพิ่มขึ้น เข้าใจช่วงที่เปราะบางที่สุด โดยหวังว่าวันหนึ่งเมื่อเราเปราะบาง เราจะดีลกับมันได้และไม่ฟูมฟายเกินไปนัก อีกอย่าง เราได้ใช้คุณค่าของเราเพื่อบรรเทาความเปราะบางของคนอื่นเพื่อประทังชีวิตเขา” 

เรียนรู้ | เตรียมพร้อม | วางแผน

ปัจจุบัน ถ้าไม่อยากรับบริการแค่เรื่องการรักษาโรค แต่ต้องการให้ครอบคลุมถึงการรักษาแบบประคับประคองไปด้วยก็ขอรับบริการจากแพทย์เจ้าของไข้ได้เลย หรือถ้าแพทย์พบว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็อาจแนะนำทีม Palliative Care ให้ทันที แล้วถ้าวันนั้นมาถึง ผมต้องเตรียมพร้อมอย่างไร 

“รวมภาระและเรื่องราวที่เราต้องเคลียร์ในชีวิตมาเลย เอาทุกอย่างมากองไว้เลยค่ะ อยากทำอะไร มีอะไรต้องรีวิว มีเรื่องค้างคาใจอะไร เรื่องเงิน ผู้คน ความเกลียด ความรัก ลิสต์ใส่กระดาษ A4 ไว้เลย”

ในงานของ Palliative Care จะถูกเขียนไว้ว่า Family as a Unit หมายถึง การดูแลผู้ป่วยประคับประคองไม่ได้จำกัดเพียงคนไข้เท่านั้น แต่ทุกอย่างสัมพันธ์เกี่ยวกันไปหมด เพราะถ้าญาติพี่น้องหรือคนที่รักทุกข์ คนไข้ก็จะทุกข์ไปด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออาการป่วยเช่นกัน 

“เราต้องรู้ว่าคู่ชีวิต พี่น้อง พ่อแม่เขาคือใคร ใครที่มีผลต่อการตัดสินใจของเขา ใครที่แคร์เขามากที่สุด ใครที่มีผลกระทบกับความทุกข์ของเขา ไม่เหมือนรักษาทั่วไปที่ให้ยาเสร็จก็จบ เราต้องรู้จักครอบครัวเขา นับเป็นส่วนหนึ่งของงานได้เลย และเมื่อคนไข้จากไป เราดูแลญาติคนไข้ต่ออีกราว ๆ 2 อาทิตย์ ถ้าเศร้าเสียใจมากกว่าปกติ ใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ เราจะส่งต่อให้อีกแผนกช่วยดูแล เช่น เคสโรคซึมเศร้า

“ความท้าทายของงาน Palliative Care คือมันไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน เราถือ Care Plan แล้วใช้แผนเดียวกันกับทุกคนไม่ได้ หมอมีเป้าหมายของเขา คนไข้มีเป้าหมายของเขา เรามีเป้าหมายหรือกรอบการทำงานในแต่ละเคสเช่นกัน เรารู้ว่าต้องทำงานแบบไหนและจบที่ตรงไหน คืออยู่อย่างไม่ทรมาน ได้รับการดูแลอย่างดี และจากไปอย่างสงบ”

3 กรอบการทำงานที่ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย อาจครอบคลุมไปถึงจักรวาลของเวลาเดินทางที่เหลืออยู่ ทำให้ผมคิดถึงหนังสือ Designing Your Life ของ Bill Burnett ที่ค่อย ๆ สะท้อนปัญหาและความต้องการของชีวิตเพื่อเป็นเข็มทิศให้เดินทางไปข้างหน้า แต่งานของแหม่มดูจะเป็นการสะท้อนความต้องการที่ตกค้างในชีวิต แล้วเก็บสิ่งที่เหลืออยู่จากข้างหลัง (Finish the Unfinished) ซึ่งอาจมีผลกระทบโดยตรงกับการวางแผนการเงินในช่วงเวลาที่เหลืออยู่

“เรื่องเงินนี่สำคัญมากเลยค่ะ เงินมากก็โอกาสมาก เงินมากก็สะดวกมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อเราจะจากไป เราอาจจินตนาการเห็นตัวเรานอนจับมือกับคนรักอย่างสงบในห้องเงียบ ๆ ที่มีแต่ครอบครัวและคนรู้จักมาพบกันครั้งสุดท้าย แต่ถ้าไม่มีเงิน เราก็ไม่ได้ห้องเดี่ยว เราอาจนอนในห้อง ER (ห้องฉุกเฉิน) ของโรงพยาบาลรัฐ ค่าใช้จ่ายต่างกันแน่นอน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินถึงซื้อความสุขสบายได้เสมอไป

“บางครั้งเงินอาจทำให้เราอยู่ได้นานขึ้น แต่เราก็ทำเวลาที่เหลืออยู่ให้มีความหมายมากขึ้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่ตรงไหน”

คำถามหนึ่งที่ถูกวางลงบนโต๊ะ ณ ขณะนั้น แล้วคนไข้กับญาติคนไข้ เราควรใส่ใจใครมากกว่ากัน

“จริง ๆ แล้วคนละแบบ ไม่มีการให้ความสำคัญใครมากกว่าใคร คนป่วยก็ควรป่วยและจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่คนไร้ญาติ คนอยู่ก็ควรได้รับเรื่องราวที่มีความหมายให้จดจำ

“แต่ละคนมีความหมายของชีวิตไม่เหมือนกัน”

มีข้อแนะนำสำหรับญาติไหมว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ – ผมถาม

“ทำให้เขาเห็นว่าเรายังรักเขา ให้อภัยเขา และเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้” – เธอตอบ

พินัยกรรมชีวิต

1 ชั่วโมงกว่า ๆ ของการพูดคุยทำให้ผมหายใจไม่ทั่วท้องอยู่หลายครั้ง และเปลี่ยนมุมมองเรื่องความตายไปอย่างมาก

“เราก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน พ่อเราเสียตอนอายุ 9 ขวบ ตอนนั้นไม่เข้าใจเรี่องความตาย มารับรู้เรื่องความตายตอนโต คือเพื่อนสนิทตายถึงรู้ว่าเราจะไม่พบกันอีก รู้สึกเป็นความเศร้าโศก เสียใจ แต่ทุกวันนี้เราพบว่าความตายคือเรื่องธรรมชาติ วันหนึ่งเราก็ต้องตาย”

บทสนทนาวันนี้ทำให้ผมฉุกคิดว่าเวลาของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลามีคุณค่าไม่เท่ากัน อย่างช่วงนาทีสุดท้ายของการพูดคุยก็เป็นอีกช่วงเวลาที่ผมอยากยื้อไว้ให้นานอีกหน่อย

…ผมกำลังคิดว่าการอยู่ได้นานขึ้นหรืออยู่อย่างมีความสุขมากขึ้นสำหรับคนไข้และผู้ที่เกี่ยวข้อง อะไรคือสาระสำคัญ

“เราว่ามันคือการอยู่อย่างมีความหมายมากกว่า ในความนานบางครั้งก็มีความหมาย

“มีคนไข้รอลูกบินกลับมาจาก Seattle การอยู่ได้นานขึ้นสำหรับลูกก็มีความหมายที่จะมาเจอพ่อก่อนจากลา และพ่อก็อยากอยู่ได้นานขึ้นเพื่อเจอหน้าลูกก่อนลาจาก ความนานแบบนี้ที่มีความหมาย 

“แล้วไอ้เรื่องความสุขเนี่ย คนเราไม่ได้สุขตลอดเวลาหรอก ไม่ว่าจะสุขกายสุขใจ แต่การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายนี่แหละที่เราคิดว่าสำคัญ และเราคงไม่กล้าไปบอกว่าเราจะช่วยสร้างความหมายของการอยู่ให้เขาหรอก แต่เรารู้สึกดีที่ได้มีส่วนร่วมกับผู้คนในวันที่เขาสร้างความหมายใหม่ให้กับชีวิต” 

เหมือนวีซ่าการพูดคุยระหว่างผมและเธอกำลังจะหมดลงในไม่กี่นาทีนี้ แต่การเดินทางเข้าไปในชีวิตผู้คนของเธอคงยังไม่จบลงง่าย ๆ ถ้าวันหนึ่งการเดินทางของเราใกล้จบลงแล้วจริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้น

“เราควรทำ Life Review กันบ่อย ๆ ว่าตอนนี้เราเหลืออะไร เอามาเขียนบน 1 หน้าของกระดาษ A4 ลิสต์เรื่องการเงิน สุขภาพ ครอบครัว สังคม หน้าที่การงานและอื่น ๆ แล้วก็ทำเป็นเช็กลิสต์เลยว่าเราต้องการอะไร ขาดอะไร อะไรที่ยังมีความหมายกับเรา 

“เราเองก็ทำ Living Will หรือ สมุดเบาใจ เหมือนทำพินัยกรรมชีวิตว่าเมื่อถึงวันตาย เราอยากตายแบบไหน ในนี้จะกำหนดเลยว่าเราเป็นใคร เคยเป็นยังไง นิสัยยังไง ภาคภูมิใจกับอะไร วันที่จากไปจะให้ใครเป็นคนตัดสินใจแทน รวมถึงความสุขสบายแบบที่ต้องการ 

“เราขอตายอย่างสงบที่บ้าน ริมหน้าต่าง มีหมา 2 ตัว ถ้าเป็นไปได้ช่วยเปิดเพลง The Older I Get แต่ไม่ต้องเปิดตลอดเวลาก็ได้ และขอให้คนอื่นจดจำเรา ว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบและมีความรักให้กับทุกคน” เธอเปรยถึงความปรารถนาสุดท้ายก่อนจบบทสนทนา

ขอขอบคุณสถานที่ : DNA.Do Not Awkward Café

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การรักษาพยาบาล’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ พยาบาลดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้เห็นถึงทางเลือกในการรักษาพยาบาล และเข้าใจรูปแบบการรักษาแบบประคับประคอง พร้อมคำแนะนำ วิธีรับมือและเตรียมใจ จากคนที่เข้าใจชีวิตและความเป็นมนุษย์

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/keyghVuyHBDgN2qMA

Writer

รัช ตั้งสุณาวรรณ

รัช ตั้งสุณาวรรณ

ผู้ชายที่หลีกเลี่ยงการเจอคนใหม่ แต่กลับทำงานสื่อสารและทำทุกอย่างที่อยู่ใน Bucket List อย่างหักโหมเพียงเพื่อจะหนีคำว่า ‘สังขาร’ ให้นานที่สุด…อย่างมีความสุข

Photographer

ศศมน อมาตยกุล

ศศมน อมาตยกุล

รักการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพบุคคล เพราะเชื่อว่า การมองคนผ่านเลนส์ เราจะเห็นมุมที่สวยงามที่สุด และ รอยยิ้มที่หวานที่สุดของพวกเขา