หากพูดถึงคำว่า สยองขวัญ สิ่งแรกที่แล่นเข้ามาในหัวเราทุกคนก็คงหนีไม่พ้นเรื่องผี แต่ความเป็นจริงแล้ว ปีศาจ การฆาตกรรม ความชั่วร้าย ถือเป็นเรื่องสยองขวัญที่ทำให้รู้สึกขนหัวลุกได้ไม่แพ้กัน เหมือนดั่งคำโปรยบนช่องยูทูบนี้ที่กล่าวไว้ว่า เพราะเรื่องสยองขวัญไม่ได้มีแต่เรื่องผี

ช่องที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘สัมภเวศิลป์

ครั้งแรกที่กดเข้าไปดูคลิปก็ทำเอาเราสงสัยว่า นี่คือคลิปบนช่องยูทูบหรือหนังสยองขวัญกันแน่ เพราะความอลังการตั้งแต่อินโทร การจัดฉากเล่าเรื่อง ไปจนถึงเสียงดนตรีประกอบที่ทำเราขนลุกไปพร้อม ๆ กับการฟังผู้ชายคนหนึ่งกำลังวิเคราะห์ฉากในหนังเรื่องนั้นให้ฟัง 

เขาคือ เนส-เสรีชัย ศิริชัยสุทธิกร Moderator, Colorist, Art Director, Content Creator ของช่องสัมภเวศิลป์

วันนี้ถึงตา The Cloud พาผู้อ่านทุกท่านมาวิเคราะห์ช่องสัมภเวศิลป์ไปพร้อม ๆ กัน

From Graphic Designer to YouTuber

เนสจบกราฟิกดีไซน์ เขากลายมาเป็นคุณครูเปิดคอร์สสอนวิธีใช้โปรแกรมสำหรับสายงานดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง ตั้งแต่ถ่ายทำ ทำฟุตเทจ จนถึงตัดต่อในโปรแกรมที่คุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง Adobe Photoshop, Adobe Premiere Pro หรือ Adobe After Effects 

“ปีนั้นเป็นยุคที่ทุกคนต้องพึ่งพาการซื้อโฆษณาถึงจะขายได้ เลยคิดโปรเจกต์หนึ่งกับเพืื่อนขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงไม่ทำพื้นที่ของตัวเองแล้วขายคอร์สผ่านการทำคอนเทนต์ จึงเปิดช่องยูทูบขึ้นมา”

ยูทูบเบอร์มือใหม่เริ่มสรรหาคอนเทนต์หลากหลายโดยมีศิลปะเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อคอร์สของเขา แม้จะยังจับทางไม่ได้ในช่วงแรกก็ตาม

“ผมทำทั้งศิลปะผสมเรื่องตลก ศิลปะผสมการเรียนการสอน ศิลปะผสมเรื่องสยองขวัญ สรุป เหลือรอดมาอันเดียวที่มีคนดู คือศิลปะกับเรื่องสยองขวัญ 

“ไป ๆ มา ๆ คนเริ่มดูคอนเทนต์ของเราเยอะขึ้น กลายเป็นขายคอร์สแค่ 20% ที่เหลือเราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หลังจากนั้น 1 ปี รายได้ก็นำการขายคอร์สไปแล้ว เลยเลือกที่จะเป็นยูทูบเบอร์เต็มตัวครับ”

Full-time YouTuber

แม้ชื่อช่องจะออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า สัมภเวสี ซึ่งหมายถึงวิญญาณกำลังแสวงหาที่เกิด บ้างก็ใช้เรียกผีเร่ร่อน แต่ช่องนี้แสดงจุดยืนได้อย่างชัดเจนว่าจะผสมผสานศิลปะกับความสยองขวัญเข้าด้วยกัน 

เนสเริ่มด้วยการรวบรวมเรื่องราวของภาพวาด งานเพนต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผี เช่น ภาพที่วาดด้วยเลือด เจ้าของภาพตาย แล้วส่งต่อไปทาง eBay คนที่ซื้อไปก็เจออะไรแปลก ๆ 

เพียงแต่ยอดผู้ชมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลับสวนทางกับงานศิลปะเชิงสยองขวัญที่เริ่มจะหมดลง เขาจึงต้องมองหางานประเภทอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมสยองขวัญของต่างชาติ จนลามมาถึงภาพยนตร์สยองขวัญของไทย เรื่อง บอดี้..ศพ#19 ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่เขาหยิบมาวิเคราะห์

“หนังสยองขวัญใช้ศิลปะมาข้องเกี่ยวกับอารมณ์ของคนดูมากที่สุดเลย” เนสอธิบายเสริมว่ากว่าจะเป็นหนึ่งฉากที่ทำให้คนดูรู้สึกกลัวได้ ต้องวางแผนเอาไว้ทั้งหมด

“เพราะหนังสยองขวัญต้องอาศัยการสร้างบรรยากาศ ตั้งแต่เสียงลมพัด เสียงหมาหอน แสงไฟสลัว ๆ การเลือกใช้สี รวมไปถึงการปูเนื้อเรื่องว่าก่อนหน้านี้ตัวละครไปเจออะไรมา ทำไมถึงมาที่นี่ จนปลายทางมาเจอผี”

ความสนุกของการดูหนังสยองขวัญสำหรับเนสจึงเป็นการตั้งคำถามกับศิลปะที่อยู่ในหนัง ทั้งแสง สี เสียง จนกลายมาเป็นคลิปจริงจังที่ชวนคนดูวิเคราะห์ไปพร้อมกับเขา

“ยกตัวอย่าง เราจะชอบสงสัยว่า ทำไมพื้นหลังฉากนี้ต้องเป็นสีแดง ทั้งที่ผู้กำกับเลือกสีอื่นก็ได้ อาจจะเป็นโครงเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกตั้งแต่แรกว่ากลิ่นเรื่องนี้ไม่ค่อยดี 

“บางทีผู้กำกับอาจบอกว่าเขาก็ไม่ได้คิดนะ คุณคิดไปเอง แต่เราสนุกกับการตีความมาก เพราะเป็นธรรมดาที่คนเราจะตีความงานศิลปะต่างกันออกไป”

Work Hard Watch Harder

กว่าจะมาเป็นคลิปที่วิเคราะห์ได้ลื่นไหลอย่างที่เราเห็นกัน เนสใช้เวลาดูและอ่านเพียงแค่ 2 – 3 รอบเท่านั้น เขาเผยทริกให้ฟังว่า 

“อ่านรอบแรกคืออยากอ่าน อ่านแบบไม่ได้คิดว่าจะทำงาน รอบสอง อ่านแล้วก็เริ่มไฮไลต์ว่าจะพูดอะไร ถ้ามีรอบสามก็จะมาวงกลมในจุดที่หนังสือบอกใบ้ สมมติมีผู้ชายคนหนึ่งฆาตกรรมใครสักคน อาจดูเหมือนเป็นการป้องกันตัว แต่มีปากกา 1 ด้ามในฉากที่ถูกเล่าตั้งแต่ต้นเรื่อง เราก็จะวงกลมทุกตรงที่เล่าเรื่องปากกา”

เมื่อยอดคนดูแตะหลักหมื่น จึงถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เนสจริงจังกับการทำช่องมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่า แม้ช่องนี้จะเป็นพื้นที่ของเขา แต่ก็เพียงแค่ 20% เท่านั้น อีก 80% เป็นของคนดูกับสปอนเซอร์ที่ให้การสนับสนุน 

“ตอนแรกใส่เสื้อยืดปกติ ไม่ได้ตัดผมอะไร แต่ก็ไปปรับเปลี่ยนมาให้เหมาะกับลุค และแต่งฉากห้องให้เคารพคนดู คุมคุณภาพเสียง การจัดไฟ การเกรดสี เราอยากให้เขาได้ดูคอนเทนต์มีคุณภาพที่สุด เพราะเขาสละเวลามาดูคอนเทนต์เราเป็นชั่วโมง เขาก็ควรได้อรรถรสดี ๆ กลับไป”

เราขอเป็นอีกหนึ่งคนที่การันตีคุณภาพของช่องสัมภเวศิลป์ตั้งแต่ 30 วินาทีแรก เห็นถึงความใส่ใจในการทำคลิปที่เกิดมาจากความหลงใหลในงานวิดีโอต่างประเทศ อย่าง American Horror Story แต่อย่างที่รู้กันว่ายุคสมัยนี้แทบไม่มีใครหยุดดูอินโทรกันแล้ว แม้กระทั่ง Netflix ยังมีปุ่มให้กดข้ามเลยด้วยซ้ำ 

“ไม่ว่าจะ 5 วิ 10 วิ หรือ 1 นาที ยังไงคนก็ข้ามอยู่ดี งั้นก็ทำดี ๆ ให้อินโทรเหมือนซีรีส์ต่างประเทศแต่อยู่บนช่องยูทูบเลยแล้วกัน สร้างแบรนด์ตัวเองให้น่าจดจำ แตกต่างจากช่องคนอื่น เพราะเรามีทักษะพวกนี้อยู่แล้ว อย่างน้อยคนที่มาดูช่องนี้ครั้งแรกก็ต้องหยุดดู ครั้งที่ 2 – 3 จะข้ามก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเขาได้รับรู้แบรนดิงของเราไปแล้ว”

แน่นอนว่าความสม่ำเสมอในการทำคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะประคองให้ช่องอยู่รอด เทคนิคที่ทำให้สัมภเวศิลป์สรรหาคอนเทนต์มาเล่าได้เกือบทุกวัน คือเมื่อไรก็ตามที่เนสนึกอะไรออก หรือไปเจอหนังที่น่าสนใจ เขาจะลิสต์เก็บไว้ แล้วค่อยไปหาข้อมูล เขียนสคริปต์ เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำก็หยิบมาใช้ได้เลย จนตอนนี้ลิสต์ของเขาล้นไป 2 อาทิตย์ล่วงหน้า

กำแพงศิลปะ

ช่วงแรกหลังหันมาเอาดีด้านนี้ เนสสารภาพว่าเขาเองก็กังวลไม่น้อยว่าจะมีคนดูไหม กลัวคอนเทนต์จะลึกเกินไป แต่สุดท้ายแล้วความกังวลนั้นก็คลี่คลาย เพราะเริ่มมีการถกเถียงกันถึงการตีความของเขา 

“ถ้าคนดูเสนอความเห็นว่าเขามองแบบไหน ผมก็จะคิดว่า เออว่ะ มองแบบเขาก็ได้เหมือนกันนะ ถึงจะเห็นแย้ง แต่ก็พร้อมตีความไปด้วยกัน ถือเป็นการขับเคลื่อนสังคมให้มองงานศิลปะต่าง ๆ ละเอียดขึ้น สังเกตเยอะขึ้น แทนที่จะดูผ่าน ๆ ไป

“เนสเข้าใจว่าเราทุกคนต้องใช้ชีวิตดิ้นรนอยู่ในสังคมไทยที่ไม่ผลักดันคุณค่าของงานศิลปะเหมือนประเทศเกาหลี บ้านเราคือถ้าจะอินกับศิลปะได้ ต้องมีเงินก่อน ถ้าคุณเอาเวลาทั้งหมดในชีวิตไปหาเงิน ศิลปะก็แทบจะไม่อยู่ใกล้ตัวคุณเลย”

เป้าหมายสูงสุดของช่องสัมภเวศิลป์จึงเป็นการเล่าเรื่องสยองขวัญเพื่อถ่ายทอดคุณค่าของงานศิลปะไปสู่ผู้ชม ให้ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะต่อไปในอนาคต

แล้วทุกวันนี้ยังกลัวผีไหม – เราถามทิ้งท้าย

“ตอนแรกก็กลัว แต่ทำไปเรื่อย ๆ แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมีเหตุผลของมัน อาจจะคิดไปเองก็ได้ แต่ถ้าเจอจริง ๆ ก็อาจจะอีกคำตอบหนึ่งครับ” เขาหัวเราะ

Writer

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

ติดกาแฟ ชอบแชร์เรื่องคน หลงรักเกาะเต่า ความฝันคือการเป็น Newyorker