เขียนเรื่องนี้ด้วยได้รับแรงบันดาลใจจากไอร้อนของประเทศเรา ในอิตาลีตอนนี้ยังไม่ร้อนหรอก อากาศดีด้วยซ้ำ จะร้อนเอาจริงจัง สิงหาฯ โน่น แล้ว เมื่อเอย เมื่อนั้น เราก็จะได้เจออิตาเลียนเต็มเมืองไทย ส่วนจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า หนีร้อนมาพึ่งเย็น หรือหนีเสือปะจระเข้นั้น ก็แล้วแต่จะคิดกันไป
หน้าร้อนในอิตาลีนั้น นับคร่าว ๆ เอาช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม-สิงหาคม อย่าลืมว่าอิตาลีมี 4 ฤดู ฤดูละ 3 เดือน คูณ 4 ก็ 12 เดือน พอดิบพอดี
พอย่างเข้าหน้าร้อน อิตาเลียนก็จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ตั้งท่าจะเตรียมเที่ยวกันท่าเดียว เรื่องวางแผนเที่ยวน่ะเหรอ บางบ้านวางกันเป็นปี หาไม่แล้วที่พักหรืออะไรต่ออะไรก็จะเต็มเอา
ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม อย่าได้ติดต่อธุรกิจ เพราะมักจะไม่ได้รับการตอบรับ จะทำอะไรให้รีบทำเสียตอนนี้ หรือไม่อีกทีก็เริ่มชีวิตกันใหม่ต้นเดือนกันยายน… ไม่ได้ฟังดูเหมือนโหราพยากรณ์เกินไปใช่ไหม
จะดึงดันไปเที่ยวอิตาลีช่วงนั้นเหรอ เอาซี่… (เสียงสูงมาก) ถ้าคิดว่ายังร้อนในไทยไม่พอ แต่ก็ว่าไม่ได้ เพราะของ Sales ช่วงกรกฎาฯ ก็ล่อตาล่อใจอยู่ใช่หยอกเสียเมื่อไหร่ แต่ถ้าไปช่วงเดือนสิงหาคมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าจะได้พบเมืองร้าง หากคิดว่า ดีสิ เมืองจะได้สงบ ๆ ก็ให้นึกด้วยว่า ร้านอาหารใด ๆ ก็อาจจะปิดด้วย เราก็อาจจะต้องต้มมาม่ากินอย่างสงบ ในโรงแรมอันแสนสงบไปด้วยเช่นกัน
สรุปว่า คนทั้งประเทศพร้อมใจกันเที่ยวโดยไม่ได้นัดหมายนั่นเอง (โถ พระหมายของโยม โดนอีกแล้ว) เมื่อคนไม่อยู่ จะเปิดร้านไว้ทำไม ก็ถือโอกาสนี้ไปเที่ยวด้วยสิ
หยิบยืมเงินเที่ยว
การเที่ยวแต่ละครั้งใช้เงินจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวเยอะ อาจารย์ชาวอิตาเลียนเคยบอกว่า บางคนถึงกับหยิบยืมเงินคนใกล้ตัวเพื่อไปเที่ยว ร้อนถึงนักเรียนไทยผู้ไม่เข้าใจความคิดนี้เลย ถามว่า ทำไมไม่รอให้มีเงินแล้วค่อยไปเที่ยวละ อาจารย์บอกว่า “เพราะหน้าร้อนไม่เคยคอยใคร”
คำกล่าวสั้น ๆ ถึงแม้จะไม่สามารถอ้างถึงอิตาเลียนในภาพรวมได้ แต่สะท้อนให้ตระหนักได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเรากับเขาอย่างหนึ่งคือ ฤดูกาลที่ชัดเจน สำหรับเรา ไปหน้าไหนก็คงไม่ต่างกันเท่าใดนัก ไม่สิ พอถึงหน้าหนาวเราก็เต้นหรับ ๆ ขยับเตรียมขึ้นเหนือเหมือนกันละ
กลับมามองเขาบ้าง ถ้าเขามีเงินในช่วงที่อากาศไม่ดีล่ะ ถ้ามีเงินในช่วงที่ลูก ๆ เปิดเทอมล่ะ ฯลฯ การไม่ไปเที่ยวหน้าร้อนก็คือ สูญเสียวันเวลาพักผ่อนไป 1 ปีนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อตอนอิตาลีคิดจะปิดประเทศช่วงโควิดนั้น ไม่มีช่วงไหนเลยที่คนอิตาเลียนจะเดือดเนื้อร้อนใจได้มากเท่ากับตอนที่กลัวว่า หน้าร้อนจะไม่ได้เที่ยว
ความร้อนแบบอิตาเลียน
ความร้อนของฤดูร้อนในอิตาลีหรือในยุโรปนั้น ยากแท้หยั่งถึง เรา ซึ่งถึงไม่ชอบแต่ก็แอบขิงคนทั้งโลกว่า เรามีหน้าร้อนที่ร้อนที่สุด ร้อนราวกับซ้อมตกนรกก็มิปานนั้น เมื่อเปรียบกับร้อนแบบอิตาลี เป็นความร้อนกันคนละแบบ
อิตาลีเวลาร้อนจัด ๆ จะร้อนแบบซาวน่า คือ แห้ง ๆ แผดเผา ในขณะที่ของไทยร้อนแบบห้องอบไอน้ำ เหงื่อตกเผาะ ๆ ๆ ตัวเหนียวหนุบหนับตลอดเวลา แต่ที่ทำให้หน้าร้อนในอิตาลีดูสิ้นหวังไปกว่า คือ เราโผไปหาความเย็นที่ไหนไม่ได้เลย ห้างก็ไม่ได้ใหญ่โตให้เราเดินแช่แอร์ได้ (อิตาเลียนเองก็ไม่ค่อยมีนิสัยชอบเดินห้าง) ร้านต่าง ๆ ถ้าไม่ใหญ่จริงก็ไม่มีแอร์

แล้วคลายร้อนกันอย่างไร
สมัยนี้ที่ไหนก็คงมีแอร์ แต่โดยทั่วไปสิ่งแรกที่ทำคือ เปิดประตู เปิดหน้าต่าง ให้ลมเข้า สมัยที่เรียนอยู่ในยุคต้น 90 ก็เป็นอย่างนั้น พอถึงหน้าร้อน โรงเรียนก็เปิดหน้าต่าง วันดีคืนดีคงเห็นว่าทั้งเด็กทั้งครูหน้าโรยกันไปตาม ๆ กัน ก็ซื้อพัดลมมาให้ตัวนึง นับว่าน่ารักมาก ขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยสำหรับชาวต่างชาติแห่งเมืองเซียน่ามา ณ ที่นี้ด้วย
ในยุคเดียวกัน บนรถก็เปิดหน้าต่าง ทั้งรถเมล์ รถไฟ โรงภาพยนตร์หลายแห่งปิดหน้าร้อน แต่ก็ทำให้เกิดความโรแมนติกในหลาย ๆ ที่ กล่าวคือ มีการจัดหนังกลางแปลง อย่างเช่นที่เมืองเซียน่า จัดฉายหนังกลางแปลงกันบนโรงละครโบราณ ที่ป้อมปราการของเมืองกันเลยทีเดียว

ภาพ : www.radiosienatv.it

ภาพ : www.gazzettadisiena.it
พัดลมของพี่ ส.ว.
ขอแทรกเรื่องส่วนตัว ย้อนไปเมื่อปี 1992 อันเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักความร้อนของอิตาลี บ้านที่ฉันพักอยู่นั้น มีพี่คนไทยอยู่พร้อมกับแฟนอันเป็นหนุ่มหล่อลูกผู้มีอันจะกินจากทางใต้ของอิตาลี ให้ชื่อภาษาไทยยามเม้าต่อหน้าและลับหลังว่า พี่ ส.ว.อันย่อมาจาก Salvatore ซึ่งเจ้าตัวก็รู้ พูดชื่อนี้ทีไรหันขวับทุกที
พี่ ส.ว. รักแฟนมาก เมื่อสาวเจ้าบ่นว่าร้อน พี่ ส.ว. ได้ซื้อของที่ไม่ได้มีกันทุกบ้านมาให้ตนเองและแฟน นั่นคือ พัดลม
วันที่พี่ ส.ว. ถือพัดลมเข้าบ้านมานั้น คนข้างบ้านและผู้ที่เช่าบ้านอยู่ด้วยต่างมองตามอย่างตื่นเต้น มองตามตั้งแต่ประตูเข้าบ้านไปจนพี่ ส.ว. เปิดพัดลมให้มันส่ายหน้าไปมา ทุกคนทำหน้าเหมือนกลัวห้องจะพองลม
จะว่าไป พัดลมก็ไม่ได้แพงอะไรมากมายนัก แต่ถ้าคิดว่าในปีหนึ่งจะได้เปิดแค่ราว 2 เดือน กับอีกอย่าง ลมที่ออกมาก็ไม่ค่อยต่างจากไดร์เป่าผมขนาดใหญ่สักเท่าไหร่ ก็ดูเป็นของฟุ่มเฟือยนิด ๆ สำหรับคนอิตาเลียน ทั้งนี้ไม่นับทางใต้ที่อุณหภูมิสูงกว่าทางเหนือ พัดลมก็อาจะไม่ได้เป็นของหายากเท่า
ของกินหน้าร้อน
ย่อมไม่ใช่ข้าวแช่ที่เอามาเข่นกันว่าของใครของแท้ คนไหนของปลอม คนนี้เจ้า คนนั้นไพร่
แน่นอน ไอศกรีมย่อมมาแรงโดยไม่ต้องเสียเวลาบรรยาย แต่อีกอย่างคือ ‘กรานีตา’ (granita) ต้นตำรับต้องของเกาะซิชีเลีย มันก็คล้าย ๆ น้ำผลไม้แช่เย็นจนขึ้นเกล็ดนั่นล่ะ

ภาพ : calabrianelpiatto.it
ส่วนผลไม้หน้าร้อนของอิตาลี ได้แก่ เชอรี่ สตรอเบอรี่ มะเดื่อ (Fig) แอปริคอต เนสโปลา (Nespola ในภาษาอิตาเลียน ชื่ออังกฤษคือ Medlar) ลูกพลัม พีช แตงโม เบอรี่ต่าง ๆ (อิตาเลียนเรียกรวม ๆ ว่า ผลไม้สีแดง) เมล่อน เป็นอาทิ

ภาพ : www.cedior.com
ส่วนผลไม้อีกอย่างที่จะโผล่มาตอนหน้าร้อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ผลไม้อิตาเลียนหรอกนะ คือ มะพร้าว ขายชิ้นละราว ๆ 1 ยูโร การจัดวางของการขายมะพร้าวนี้เหมือนกันทุกแห่งคือ เรียงรายเป็นชั้นอยู่ในน้ำพุขนาดเล็ก นักท่องเที่ยวทั้งอิตาเลียนและไม่อิตาเลียน ชอบซื้อเอามาขบกิน ใช่ ต้องขบ หรือไม่ก็เอากระต่ายมาขูด เพราะหน้าตาดูแก่ห้าวเหลือเกิน เหมาะแก่การนำไปคั้นกะทิต้มสายบัว

ของกินที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่ได้มีเพียงผลไม้เท่านั้น ตามร้านขายเครื่องดื่ม (Bar) เครื่องดื่มบางอย่างก็จะมีขายเฉพาะช่วงหน้าร้อนเช่นกัน เช่น ชาพีชเย็น นมอัลมอนด์เย็น ปัจจุบันทุกอย่างมีขายเป็นกล่องหมดแล้ว แต่ถ้าจะกินแบบสด ๆ กดจ๊อกใส่แก้วแบบน้ำเก๊กฮวยตามตู้แช่หน้าร้านขายยาในเมืองไทย ต้องรอหน้าร้อนเท่านั้น หมดหน้าร้อน เก็บเรียบ อยากกินต้องทำเอง
คนอิตาเลียนไปไหนช่วงหน้าร้อน
โดยทั่วไปแล้ว ยุคก่อนโควิด สถิติบอกว่า คนอิตาเลียนนิยมเที่ยวในประเทศมากกว่านอกประเทศ ในประเทศก็ได้แก่ เกาะซาร์เดนยา (Sardegna) เกาะซิชิเลีย (Sicilia) แคว้นปูลเยีย (Puglia) ที่อยู่ตรงส้นรองเท้าบูต นอกประเทศก็ได้แก่ หมู่เกาะเล็ก ๆ แถวสเปน สรุปว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ไปไหนไกล น่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางนั่นเอง เพราะเวลาไปทีก็ยกกันไปทั้งครอบครัว

ภาพ : www.worldatlas.com
แต่ในปี 2020 มหาวิทยาลัยคูซาโน (Università Cusano) ได้ทำวิจัยซึ่งก็อิงกับสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) ออกมาว่า คนอิตาเลียนในท่องเที่ยวน้อยลงมาก และนิยมเที่ยวกันอยู่แต่ในแคว้นที่ตัวเองอยู่ การเที่ยวก็เป็นไปเพื่อพักผ่อนหย่อนใจจริง ๆ การเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ดูโบสถ์ ดูพิพิธภัณฑ์น้อยลงไม่ใช่แค่กว่าเดิม แต่ลดลงอย่างฮวบฮาบ
เหตุผลหลักของการไม่เที่ยว คือเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นอันดับหนึ่ง การกลัวโควิดมาเป็นอันดับสอง ส่วนถ้าจะออกไปเที่ยวนอกแคว้นนั้น แคว้นที่คนอยากไปที่สุดสองแคว้นคือ แคว้นทัสกานีและแคว้นปูลเยีย ที่ได้กล่าวไปแล้ว
แต่มีสถานที่อีกแห่ง ที่เชื่อว่า หากถามวัยรุ่นอิตาเลียนจะต้องติดโผอย่างแน่นอน คือ รีมีนี (Rimini)

ภาพ : it.hotels.com
รีมีนี เป็นเมืองที่มีชายหาดกว้าง ยาว ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอิตาลี อยู่ในแคว้นเอมิเลีย-โรมัญญา (Emilia-Romagna) แล้วก็มีเมืองอื่น ๆ ในละแวก เช่น เชเซนาติโค (Cesenatico) อันเป็นฉากของซีรีส์ Netflix เรื่อง ‘Summertime’ ใครอยากพอเห็นภาพวัยรุ่นอิตาเลียนในช่วงหน้าร้อนริมหาด ขอแนะนำให้ดูเรื่องนี้ เพลงเพราะ นางเอกหน้าเก๋มาก


จริง ๆ แล้ว เคยคิดที่จะพาลูกศิษย์ลูกหาไปเริงร่าอยู่ริมหาดกับคนอิตาเลียน
แต่ไม่กล้าเสี่ยงเลย
โควิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่กลัวกว่านั้นคือ
ขากลับ จะไม่ยอมกลับด้วยน่ะสิ
แหล่งข้อมูล