เมื่อเกริ่นถึง ‘บอนไซ’ สิ่งแรกที่นึกถึงคงเป็นภาพต้นไม้ย่อส่วนที่ตัดแต่งอย่างงดงามและประณีตในกระถางขนาดเล็ก แต่เมื่อเข้ามาใน ‘Suanphung Bonsai Village’ กลับไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือบอนไซในกระถางขนาด 2 แขนโอบไม่รอบ ตั้งตระหง่านอยู่ทั่วพื้นที่นับหลายพันต้น

มนตรี สุขเสริมส่งชัย ผู้ก่อตั้งสมาคมบอนไซแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมาคมบอนไซเอเชียแปซิฟิก ใช้เวลากว่า 40 ปี ปลูกและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จนกลายเป็น ‘สวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจ’ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ครั้งแรกมนตรีไม่ได้สนใจไม้ชนิดนี้แม้แต่น้อย ซ้ำด้วยความคิดที่ว่า นี่คือการนำต้นไม้มาทรมานในกระถางเล็ก ๆ ไม่ให้โต จนกระทั่งเขามีโอกาสเข้าไปชมสวนในบ้านของ ผิน คิ้วคชา เจ้าของซาฟารีเวิลด์ เพราะเขาตกหลุมรักสนใบพายจากการขับรถผ่านถนนหน้าบ้านคุณผินทุก ๆ วัน และได้สนใบพายต้นเล็กหลายต้นที่คุณผินเพาะไว้มาในราคาต้นละ 10 บาท พร้อมบอนไซกลับมาด้วยอีก 1 ต้น

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

“นั่นคือต้นแรกที่จุดประกายให้ผมหันมาสนใจบอนไซ”

ชายวัย 75 เปรยให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น แม้นั่นไม่ใช่รักแรก แต่บอนไซต้นนั้นทำให้เขาเข้าวงการนี้มาเกือบ 50 ปี ตระเวนหา ศึกษาต้นที่ใช่มาสะสม และส่งประกวดจนได้รับรางวัลพระราชทาน เขาเริ่มเปลี่ยนจากเล่นบอนไซขนาดเล็กมาเป็นขนาดใหญ่ จนปัจจุบันกลายมาเป็นเจ้าของสวนบอนไซใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก็คือ ณ สถานที่แห่งนี้ 

“ผมซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ 20 กว่าปีแล้ว เดิมทีเป็นป่าไผ่ พอบอนไซที่สะสมไว้มีเยอะมาก ขนาดก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เลยคิดว่าคงจะดีถ้าเอาต้นใหญ่ ๆ มาเก็บไว้ที่สวนผึ้ง” เขาเล่าจุดเริ่มต้น

มนตรีใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาพื้นที่ ถางป่าไผ่ ขุดบ่อ ทำถนน ปั๊มน้ำ และไฟฟ้า 

เมื่อพื้นที่เสร็จสมบูรณ์ เขาคิดอยากทำสวน โดยมีเพื่อนแนะนำให้รู้จัก อาจารย์สาโรช โสภณางกูร (นักจัดสวน) มนตรีใช้เวลา 2 ปีในการรอพูดคุยกับอาจารย์ เพราะท่านฝีมือดี มีงานไม่ขาดมือ

“อาจารย์บอกว่านี่เป็นสวนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา แกเป็นคนเก่ง วางแลนด์สเคปได้ดี หลังจากนั้นผมก็วางบอนไซขนานไปกับแลนด์สเคปที่แกวางให้ แล้วก็เสริมเข้าไปอีกทีละนิด ๆ 

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

“ผมแบ่งเป็นสวนจีน สวนญี่ปุ่น ซึ่งทำสวนต้องใช้เวลาหลายปี ตอนนี้ก็ยังทำอยู่เรื่อย ๆ พอจัดสวนเสร็จก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยากมาพัก ผมถึงคิดเริ่มต้นสร้างที่พัก แต่ไม่เคยคิดว่าจะทำเชิงพาณิชย์”

จากกระต๊อบ ๆ หลังเล็กริมแม่น้ำลำภาชี สำหรับพักผ่อนส่วนตัว เขาค่อย ๆ ขยับขยายสร้างเป็นบ้านญี่ปุ่นในสวนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณดีที่สุดสำหรับปลูกบ้าน เพราะเห็นวิวสวนญี่ปุ่น 360 องศา

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

นอกจากบ้านญี่ปุ่นได้รับทิวทัศน์สวนญี่ปุ่นทั้งสวนแล้ว มนตรีก็เริ่มสร้างโรงแรมเล็ก ๆ ริมน้ำและบ้านใหม่อีกหลังที่อยู่ตรงข้ามสวนญี่ปุ่น เพื่อให้ได้บรรยากาศริมน้ำและในสวน โดยที่พักทั้งหมดโอบล้อมด้วยบอนไซ ซึ่งมนตรีพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดไปแล้ว 100 กว่าไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 300 ไร่

“สวนของผมไม่ใช่การจัดสวนโดยฝืนให้เข้ากับอาคาร ผมสร้างสวนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วเอาแปลนบ้านไปลงทีหลังในจุดที่ดีที่สุดของสวน บรรยากาศจึงต่างจากที่อื่นลิบลับ”

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

“คอนเซปต์ของที่นี่คือสวนบอนไซ” เจ้าบ้านเล่า ก่อนขยายความต่อ

“คำว่าสวนบอนไซ พูดสั้น ๆ แต่ความหมายลึกและไปไกลกว่านั้นเยอะ เพราะสวนต้องมีความสมบูรณ์พร้อมในตัวเอง หนึ่ง สถานที่ต้องสวยงามเหมาะสม ต้องใหญ่พอจะเรียกว่าสวนได้ สอง คุณภาพบอนไซเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” การหาไม้ที่สวยเป็นพัน ๆ ต้นเพื่อมาอยู่ในที่เดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าจะให้เนี้ยบ ต้องตัดแต่งตลอดเวลา หยุดไม่ได้เลย” ทุกวันนี้มนตรียังคงแวะเวียนไป สวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพื่อดูแลและจัดแต่งสวน แถมแววตาเขาเป็นประกายทุกครั้งเมื่อพูดถึงบอนไซ นั่นยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าสวนบอนไซของเขาต้องสวยเนี้ยบเป็นแน่ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารัก

อย่างที่เล่าให้ฟังตอนต้นว่าที่นี่มีบ้านพัก 3 แบบ บ้านญี่ปุ่น เพนต์เฮาส์ และอาคารริมน้ำ

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75
Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75
Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

หากพักบ้านริมน้ำจะได้รับบรรยากาศเย็นสบายจากแม่น้ำด้านหลังและเห็นวิวสวนจีนจากด้านหน้า ภายในสวนมีกำแพงสไตล์เมืองจีนและศาลาริมแม่น้ำ เหมาะมานั่งพักพิงหลังเดินชมบอนไซ

“สวนจีนมีองค์ประกอบมากกว่าสวนญี่ปุ่น มีสิ่งปลูกสร้างผสมเข้าไปเยอะ จีนถือว่าเขาเป็นแหล่งกำเนิดของบอนไซ ต้นมีลักษณะโปร่ง ๆ กิ่งห่าง ช่องไฟเยอะ ลีลาอ่อนช้อยมาก”

เมื่อทอดสายตาไปยังสวนญี่ปุ่น เราเห็นเสาโทริอิตั้งตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติ 

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

“บอนไซของประเทศญี่ปุ่นดูกระชับและสมดุลด้วยตัวของมันเอง” มนตรีเปรย

ลูกเล่นของบ้านญี่ปุ่น คือหากมองจากสวนญี่ปุ่นทะลุเข้าไปยังตัวบ้านจะเห็นเป็นบ้านชั้นเดียว แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ๆ ถึงพบว่าเป็น 2 ชั้น พิเศษไปกว่านั้น ชั้นล่างของบ้านเป็นห้องกระจกที่มองเห็นทิวทัศน์ของสวนญี่ปุ่นได้เต็มตา และมีโต๊ะโฮริโกะทัตทสึ (Horigotatsu) หรือโต๊ะทานข้าวแบบนั่งห้อยขาฉบับญี่ปุ่นอยู่ในบ้านด้วย ไม่ต้องบินลัดฟ้าไปแดนอาทิตย์อุทัยก็มีให้สัมผัสกลิ่นอายเจแปนที่สวนผึ้ง

ส่วนบ้านตรงข้ามบ้านญี่ปุ่น คือบ้านเพนต์เฮาส์ ซึ่งมองเห็นสวนฝั่งตรงข้ามได้โดยรอบ

“นอกจากเรียนรู้วิธีสร้างต้นไม้ บอนไซฝึกให้ผมรู้จักรอ เพราะทุกกิ่งมีขนาดที่ต้องการอยู่ในใจ ผมตัดเมื่อไหร่ มันหยุดโตเมื่อนั้น ใจร้อนไม่ได้” เขาเล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้ในเวลาเกือบ 50 ปีที่คลุกคลีกับไม้ชนิดนี้

เราถามต่อว่า แสดงว่าตอนนี้เป็นคนใจเย็น – “ใจร้อนเหมือนเดิม” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

“จุดประสงค์ของผมคืออยากให้คนมีโอกาสมาสัมผัสสวนบอนไซที่เป็นสวนบอนไซจริง ๆ และเป็นทางเลือกในการพักผ่อน เพราะที่นี่สงบ เงียบ และเป็นส่วนตัว แถมได้อยู่ท่ามกลางสวนที่สวยงาม”

Suanphung Bonsai Village ที่พักในสวนบอนไซสไตล์ญี่ปุ่น-จีน จ.ราชบุรี ของนักสะสมบอนไซวัย 75

ในทุก ๆ วันเราใช้เวลาส่วนใหญ่กับการวิ่งวุ่นทำสิ่งที่ทั้งอยากและไม่อยากทำ พอมีเวลาว่างก็ใช้มันนึกถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดหรือนึกโหยหาสิ่งที่ย้อนกลับไปไม่ได้อีก พอรู้ตัวอีกที ช่วงเวลาเหล่าก็ผ่านไปอีกครั้ง 

สำหรับเรา การได้มายืนหลับตาสัมผัสสายลมที่พัดผ่านทั่วร่างกาย สูดอากาศบริสุทธิ์ ปล่อยให้ธรรมชาติโอบกอดและปลอบประโลม ทำให้เราตระหนักได้ว่า การอยู่กับปัจจุบันช่วยผ่อนคลายเราจากความเหนื่อยล้าหรือความหนักอึ้งในสมองได้ไม่น้อย นี่จึงเป็นของขวัญที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า

ความสดชื่น ความสงบ และความสวยงามไร้ที่ติ มีเพียงแค่ธรรมชาติเท่านั้นที่มอบให้ได้

4 Things you should do

at Suanphung Bonsai Village

01

ลองสำรวจร้านอร่อยรอบ ๆ ที่พัก เช่น ครัวม่อนไข่ ครัวตะนาวศรี เดอะ ซีนเนอรี่ วินเทจ ฟาร์ม ฯลฯ

02

ลองชมสวนบอนไซด้วยจักรยานและรถกอล์ฟที่ทางที่พักเตรียมไว้ให้

03

ลองแช่ตัวที่ธารน้ำร้อนบ่อคลึง ให้อารมณ์ออนเซ็น แล้วกลับไปอินเจแปนต่อในบ้านญี่ปุ่น

04

ลองตื่นเช้าไปตักบาตรบนแพที่ตลาดโอ๊ะป่อย แล้วชม ชิม ช้อป อาหารและสินค้าชาวบ้าน

Writer

สหัสวี อารีย์

สหัสวี อารีย์

มนุษย์ผู้หลงรักในมนุษย์ ยึดติดอยู่กับการไม่ยึดติด และคลั่งความไม่สมบูรณ์แบบอย่างสมบูรณ์แบบ

Photographer

Avatar

หฤษฎ์ หอกเพ็ชร์

ถ่ายภาพตั้งแต่อยู่ปี 1 รู้ตัวอีกทีก็เป็นงานประจำไปซะแล้ว