เป็นเกียรติ เป็นศรี เราไม่ได้กำลังจะพาคนอ่านท่องบทสวดไหว้ครูแต่อย่างใด แต่นี่คือที่มาของชื่อสถานที่ที่กำลังจะเล่าในบทความนี้ นั่นคือ ‘สวนเปนศรี’ (สะกด ‘เป็น’ ด้วยรูปแบบดั้งเดิม คือ ‘เปน’)

สถานที่ที่ต้องการให้ผู้มาเยี่ยมชมได้มีสภาวะน่าสบาย (ช่วงอุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่ทำให้คนรู้สึกสบาย) บำบัดตัวเองด้วยธรรมชาติ เสริมการพักผ่อนด้วยความสงบของจังหวัดลำปาง ลงมือเผาเซรามิกด้วยเทคนิค ‘รากุ’ ย้อมผ้าด้วยเทคนิค ‘ชิโบริ’ เพื่อกระตุ้นศิลปินในตัวเองให้ตื่นขึ้นมา

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

อันที่จริงแล้วมันเป็นแค่เพียงหนึ่งความตั้งใจของ ด่อง-กีรติ ศรียงค์ ทีมงานและผู้ก่อตั้งสวนที่บอกกับเราว่า เขามองเห็นถึงคาแรกเตอร์ในแบบของลำปางและอุปสรรคในแบบของจังหวัดนี้ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนั้นนำมาสู่อีกหนึ่งความตั้งใจที่ว่า ไม่อยากให้ลำปางเป็นแค่จังหวัดทางผ่านอีกต่อไป

“จริง ๆ แล้วลำปางมีทั้งความอาร์ตและความคราฟต์ในตัว ผมว่าเราไม่ต้องไปแข่งกับเชียงใหม่หรือศึกษาเชียงราย เพราะผมเคยทำมาแล้ว ผลออกมาคือล้มเหลว เราควรจะศึกษาจังหวัดตัวเอง แล้วดึงเอาความไม่เหมือนกับที่อื่นนั้นมาเป็นจุดเด่น เพราะเราไม่ได้ขี้เหร่เรื่องการท่องเที่ยวเลย”

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

ก่อนจะเป็นศรี

ด่องบอกกับเราว่าแรกเริ่มเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นนารกร้าง ถนนไม่มี ไฟฟ้าไม่ถึง การจะสร้างสวนเปนศรีให้เป็นรูปเป็นร่างต้องบุกเบิกอะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นมาตั้งแต่ 0 ไม่ใช่ 1 ซึ่งด่องเลือกใช้คอนเซปต์ที่มากด้วยลูกเล่นอย่าง ‘ล้านนายุคฟื้นฟู’ หรือ ‘ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง’ (การโยกย้ายผู้คนจากเมืองอื่นเข้ามาเพื่อฟื้นฟูเมืองล้านนา) ทำให้สวนเปนศรีประกอบด้วยอาคารล้านนาแบบประยุกต์ การจัดสวนฟอร์มัลแบบยุโรป การจัดสวนเซนแบบญี่ปุ่น แม้ว่าเขาอยากให้เราเรียกว่าสวนหิมพานต์ก็ตาม

“เรียกสวนเซนแล้วมันไม่เท่เลย” เพราะเหตุผลง่าย ๆ ดังนี้ ครับ

เขาใช้เวลาปั้นนารกร้างให้เป็นตัวเป็นตนอยู่ประมาณ 2 ปี พร้อมกับใช้กรณีศึกษาของสถานที่เชิงสร้างสรรค์ซึ่งเรียกว่า Creative Space ในเชียงใหม่และเชียงรายมาเป็นแนวคิดแม่แบบดำเนินธุรกิจ ซึ่งด่องบอกกับเราอย่างไม่อ้อมค้อมว่า การยกกรณีของเชียงใหม่และเชียงรายมาใช้คือความผิดพลาด

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

“มันคนละอย่างกันเลย พอเริ่มต้นเปิด ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ตอนนั้นเครียด แต่พอเราเริ่มจับทางได้ว่าลำปางก็มีคาแรกเตอร์ในแบบของตัวเอง มีอุปสรรคในแบบของตัวเอง เราปรับวิธีคิดใหม่ เน้นทัวร์ต่างประเทศ ลูกค้าหลักจึงเป็นทัวร์ฝรั่งประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราไม่ประสบผลสำเร็จกับทัวร์ไทยหรือคนลำปางเลย จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จกับลูกค้าในท้องถิ่น”

อุปสรรคของจังหวัดที่ด่องมองเห็นคือ (ตรงส่วนนี้คงต้องพึ่งการนึกตามไปด้วยของผู้อ่าน) วันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดยาว มีใครเกิดความรู้สึกเบื่อบ้าน แสลงเตียง อยากจะขับรถ นั่งเครื่องบิน โดยสารรถไฟมาที่ลำปางสักนิดไหมครับ คงไม่สินะครับ นั่นแหละครับคืออุปสรรคของลำปาง น้อยคนนักที่คิดจะมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถ้าไม่เป็นจุดพักรถ ก็เป็นจุดพักนอนก่อนตีตั๋วไปเชียงใหม่

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ
สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

คาแรกเตอร์ของลำปาง ด่องบอกว่าไม่ได้หวือหวา เพราะเป็นเมืองเงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อน ใช้ชีวิตช้า ๆ ไม่ต้องวิ่งแข่งกับม้าเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าเกิดเอียนกับความเงียบแล้ว ห้างและกาดกองต้าก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ได้พบเจอกับความครึกครื้นของผู้คน

ว่ากันง่าย ๆ จังหวัดนี้ชัดเจนด้วย 2 บรรยากาศ และด่องก็ใช้ประโยชน์จากตรงนั้นสร้างโอกาสของตัวเองขึ้นมาในชื่อโปรแกรม ‘Craft Therapy’ หรือ ‘หัตถศิลป์บำบัด’

หัตถศิลป์บำบัด

“หลายคนมักบอกว่าตัวเองมีความเป็นศิลปิน ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอาชีพเกี่ยวกับการออกแบบ นั่นแสดงว่าลึก ๆ เขาชอบและอยากทำงานออกแบบ ก็เหมือนตอนเป็นเด็ก ทุกคนชอบวาดรูป แต่ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างทำให้เราต้องไปทำอย่างอื่น ท้ายที่สุดก็ลืมตัวตนด้านงานศิลป์ของเราไป” ด่องเกริ่น

Craft Therapy หรือ หัตถศิลป์บำบัด ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมกับเชิญนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลลำปางมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพื่อช่วยบำบัดอาการเหนื่อยล้าจากการนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน ทั้งนิ้วล็อก ออฟฟิศซินโดรม พร้อม ๆ กันนั้นยังช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจของผู้คนที่โดนรุมทำร้ายจากปริมาณงานอันมากโข สภาพแวดล้อมแสนกดดัน หัวหน้า-ลูกค้า-เพื่อนร่วมงานใจร้าย ไม่ว่าคุณจะมาจากจังหวัดไหน สวนเปนศรีพร้อมกอดให้กำลังใจด้วยหัตถศิลป์บำบัด

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ
สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

ด่องอยากให้ทุกคนมาลองมาชุบ เคลือบ เผา งานเซรามิกในแบบของตัวเอง ออกแบบลายเสื้อ กระเป๋า ด้วยวิธีการมัดย้อม เพราะสิ่งที่คุณได้รับกลับไปไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณสร้างขึ้นมากับมือ แต่เป็นความภูมิใจที่ทำบางอย่างสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งยังได้รู้จักตัวเองในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม

“บางทีก็มาเป็นครอบครัว พ่อแม่ลูก เราอาจไม่เคยรู้เลยว่าลูกหรือคนในครอบครัวมีความสามารถด้านนี้ ถือเป็นการมาเพื่อรู้จักตัวเอง รู้จักสมาชิกครอบครัวในแง่มุมที่เราไม่เคยได้เห็น ผมว่ามันได้อยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเราชอบในวัยเด็ก แต่เราอาจจะลืมมันไปเฉย ๆ”

ในอนาคตด่องมองเห็นถึงโอกาสที่อยากจะทำกิจกรรมนี้ให้เป็นทริป 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่ไปรับจากสนามบินหรือสถานีรถไฟ ส่งยังที่พัก พาไปกินข้าว ก่อนพาไปทำกิจกรรมที่สวนเปนศรี และเมื่อมีเวลาเป็นวัน ๆ เขาก็อยากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสขึ้นรูปเซรามิกด้วยแท่นหมุน แต่ก็นั่นแหละ สิ่งนี้ยังคงเป็นอนาคตอันใกล้ที่สวนเปนศรีอยากใช้โอกาสในจังหวัดลำปางให้เป็นประโยชน์

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

ชุบ เคลือบ เผา มัด ย้อม

เราขอขยายความถึงเทคนิค ‘รากุ’ และ ‘ชิโบริ’ ที่ทางสวนเปนศรีเลือกใช้กันสักนิด

การเลือกใช้ 2 เทคนิคนี้ไม่ได้มากมายด้วยเรื่องราว ด่องไม่ได้เดินทางไปญี่ปุ่น ขึ้นเขา ปีนผา ลงห้วยไปฝึกวิชากับปรมาจารย์เจ้าสำนักรากุและชิโบริ เพราะความจริงคือ “เราถนัด ลูกค้าชอบ”

เทคนิค ‘รากุ’ ด่องอธิบายอย่างง่ายว่า ปกติเซรามิกใช้เวลาในการเผาประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไป อุณหภูมิประมาณ 1,230 องศาเซลเซียส จากนั้นรอให้เย็นตัวตามกระบวนการการผลิตอีกประมาณ 8 ชั่วโมงถึงจะเปิดเตาได้ กลับกัน รากุใช้เวลาในการเผาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง – 2 ชั่วโมง อุณหภูมิประมาณ 1,100 องศาเซลเซียส ข้อแตกต่างสำคัญที่สุดคือไม่มีการรอให้เซรามิกเย็น แต่เปิดเตาตอนร้อน ๆ แล้วคีบออกมาเพื่อนำไปบ่มกับเปลือกข้าวหรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยากับตัวเซรามิก กลายเป็นลวดลายที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งด่องเชื่อว่ามันส่งผลให้งานชิ้นนั้นไม่ซ้ำใคร และกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของคนคนนั้นไปโดยปริยาย

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ
สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ
สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

เทคนิค ‘ชิโบริ’ เป็นการมัดย้อมเพื่อกั้นสีไม่ให้ซึมเข้าไปในลายผ้า ใช้เวลาผลิตประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ร่างแบบ เริ่มมัด ถ้าอยากได้ดอกเล็กก็มัดถี่ขึ้น ถ้าอยากได้ดอกใหญ่ก็มัดหลวมหน่อย จากนั้นนำไปย้อมสี รอแห้ง แกะมาซัก ผึ่งแห้ง เป็นอันเสร็จ คุณจะได้รับเสื้อหรือกระเป๋ากลับบ้านไปใช้งานอย่างน่าดูชม

สวนเปนศรียังมีแปลง ‘ผักอินทรีย์’ ให้ดู เด็ด และกิน เนื่องจากเป็นผักปลอดสารพิษที่มีไว้สำหรับนำมาปรุงอาหารในครัว บางครั้ง หรืออาจหลายคราวก็มักมีเหล่าคุณป้าคุณยายที่ปลูกพืชผักสวนครัวแล้วนำมาขายให้แก่ทางสวน ส่งผลให้บางเมนูถึงกับต้องคิดด้นสดกันหน้างาน ขนาดด่องยังบอกว่า

“เมนูที่มีวันนี้ จะมีวันพรุ่งนี้หรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ”

สวนเป็นศรี Creative Space ที่ชวนคนมาฟื้นฟูจิตใจด้วยงานคราฟต์และอยากให้กลับมาแอ่วลำปางบ่อย ๆ

Creative Space

ถึงแม้สวนเปนศรีมีคำนำหน้าว่า ‘สวน’ มีทั้งสวนฟอร์มัล สวนเซน (สวนหิมพานต์ แปลงผักอินทรีย์) แต่สถานะตามที่ด่องนิยามไว้คือ ‘Creative Space’ นอกจากให้ผู้คนมาทำกิจกรรมหัตถศิลป์บำบัดแล้ว เขายังต้องการให้นักเรียนที่สนใจด้านการออกแบบ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัยมาลองสัมผัสงานออกแบบของจริง ลงมือทำจริง และรู้จักแง่มุมของงานชิ้นนั้นจริง ๆ เพราะด่องเชื่อว่า จะทำให้เด็กได้รู้ว่าชอบอะไร ถนัดอะไร พอลงมือทำแล้วจะเป็นอย่างที่ตั้งใจหรือคิดไว้หรือเปล่า

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ด่องไม่ได้หยุดความคิดเอาไว้แค่การเปิดเวิร์กช็อปสำหรับคนที่สนใจเพียงเท่านั้น เขายังมีความคิดอยากขยับขยายสิ่งเหล่านี้ให้เข้าถึงผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาทุนสนับสนุน สร้างกิจกรรมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกระทั่งการร่วมมือกับทางโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลเด็กพิเศษ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นแผนในอนาคต แต่เขาก็อยากทำให้ได้ในเร็ววัน

Suan Phen Sri พื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากให้ผู้คนมาสัมผัสความสงบของจังหวัดลำปาง และสร้างงานฝีมือเพื่อฟื้นฟูจิตใจในวันที่สูญเสียตัวตน

“เรารู้มาว่าเด็กระดับมัธยมปลายหรือปริญญาตรีปีสุดท้ายในฝั่งยุโรป-อเมริกา เขามีทุนให้เด็ก Long Stay ในต่างประเทศเพื่อศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งต้องร่วมงานกับมหาวิทยาลัย ให้เขาการันตีว่าสถานที่ของเรามีมาตรฐานมากพอ ตอนนี้พยายามทำพอร์ตเพื่อนำเสนอกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมเข้าใจว่ามาตรฐานของสวนเปนศรีจะต้องสูงมาก วันนี้อาจยังไม่ถึงมาตรฐานตรงนั้น แต่เราจะพัฒนาไปให้ถึง และแสดงให้เขาเห็นถึงวัฒนธรรมที่เป็นคาแรกเตอร์ของจังหวัดลำปาง”

เราถามด่องด้วยคำถามสามัญประจำบ้านที่หากใครอ่านคอลัมน์หัวนี้อยู่บ่อยครั้งคงพอรู้ว่าคืออะไร – แล้วเขาอยากให้คนที่มาสวนเปนศรีแห่งนี้ได้รับประสบการณ์แบบใดกลับไปกันนะ

สิ่งที่เขาตอบมาไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่กลับเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจไม่น้อยเพราะเขาอยากให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ด้านงานคราฟต์ในแบบที่คนคนนั้นอยากได้ ตรงรสนิยม และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองอย่างน่าภาคภูมิใจ ไม่ต้องถ่อไปถึงต่างประเทศ ขอแค่มาสวนเปนศรี เขาเชื่อว่าจากสุวรรณภูมิไปห้าแยกลาดพร้าวในเย็นวันศุกร์ที่ฝนตกอาจใช้เวลาเดินทางนานกว่าด้วยซ้ำไป

Suan Phen Sri พื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากให้ผู้คนมาสัมผัสความสงบของจังหวัดลำปาง และสร้างงานฝีมือเพื่อฟื้นฟูจิตใจในวันที่สูญเสียตัวตน

สำหรับคำถามสุดท้าย

ด่องเองก็ไม่กล้าตอบอย่างมั่นใจ แม้ว่าเขาอยากให้ลำปางไม่ใช่แค่จังหวัดทางผ่าน อยากให้ทุกคนรับรู้ถึงคาแรกเตอร์ของลำปาง และลองเดินทางมาพักผ่อนในจังหวัดแสนสงบแห่งนี้สักครั้งหนึ่ง แต่ในตอนนี้ สวนเปนศรีของเขาอาจจะยังไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกที่ทำให้ใครบางคนเลือกที่จะมาก็ได้

“ผมไม่กล้าตอบว่าที่นี่สำคัญกับลำปางอย่างไร แต่ถ้าถามว่าสำคัญอย่างไร ผมขอยกตัวบุคคลดีกว่า เช่น พี่ที่ดูแลสวน ก่อนมาทำงานกับผม เขาเก็บของเก่าขายมาก่อน ผมเห็นเขาทุกวันเลยชวนมาทำงานด้วยกัน หรือคุณป้าคุณยายที่ปลูกพืชผักสวนครัว ถึงผมไม่ได้ซื้อจากเขาทั้งหมด อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็ไม่ต้องปั่นจักรยานไปขายที่ไกล ๆ แค่โทรมา ผมก็บึ่งมอเตอร์ไซค์ไปซื้อเลย แล้ว ‘สวนเปนศรีสำคัญอย่างไร’ ผมว่ามันทำให้ละแวกนี้เกิดการหมุนเวียนของบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้”

Suan Phen Sri พื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากให้ผู้คนมาสัมผัสความสงบของจังหวัดลำปาง และสร้างงานฝีมือเพื่อฟื้นฟูจิตใจในวันที่สูญเสียตัวตน
สวนเป็นศรี – Suan Phen Sri
  • เลขที่ 577 หมู่ 2 บ้านบุญเกิด ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น.
  • 08 1428 8883
  • สวนเป็นศรี – Suan Phen Sri

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ฉัตรชัย วงค์เกตุใจ

อยากเรียนรู้การเกษตรปลอดภัย ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติกับครอบครัว และชอบออกกำลังกาย