อาจจะขัดกับความคาดหวังของใครบางคน แต่ผู้ที่สนิทชิดเชื้อจะรู้ดีว่าฉันไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ ประวัติศิลป์อะไรทั้งนั้น ฉันชอบเดินตลาด ลัดเลาะซอกซอย เงยหน้าสวัสดีซิญญอร่าที่ตากผ้าอยู่บนระเบียง แวะบาร์ เงี่ยหูฟังคน (อิตาเลียน) คุยกัน ร้อน ๆ ก็กระโดดขึ้นรถเมล์หรือรถราง นั่งไป-กลับจนสุดสาย ถ่ายรูปถังขยะ ป้ายราคาหน้าร้านเสริมสวย ฯลฯ ไปเรื่อย

ด้วยเหตุดังกล่าว ชีวิตของฉันจึงอยู่กับถนนเสียเป็นส่วนมากโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว 

ภาพ : Irena carpaccio on Unsplash

วันหนึ่ง หาข้อมูลที่พักของเมืองต่าง ๆ ในอิตาลี แล้วทั้ง 2 ที่ก็ตั้งอยู่บนถนนชื่อเดียวกัน (แต่ต่างเมือง) ก็ให้ได้มาคิดว่า เออหนอ ชื่อถนนนี้เจอบ่อยมาก ชะรอยคงจะเป็นชื่อถนนที่ฮอตฮิตที่สุดเป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลย เรามาดูดีกว่าว่าถนนในอิตาลีชื่ออะไรซ้ำกันเยอะสุด

ก่อนจะเฉลย ต้องเล่าก่อนว่าชื่อถนนในอิตาลีนั้นมักตั้งจากชื่อบุคคลสำคัญ ถ้าขึ้นต้นด้วยเลขโรมันเนี่ย ร้อยทั้งร้อยจะตามด้วยชื่อเดือน นั่นคือวันสำคัญอะไรสักอย่างหนึ่ง ใครอยากรู้ก็ต้องไปหากันต่อเอง นับว่าเป็นนโยบายบริหารต่อมอยากรู้อยากเห็นได้ชะงัดนัก

ชื่ออีกประเภทที่นิยมนำมาตั้งชื่อถนนคือชื่อเมือง ดังนั้นบางครั้งจะงงมาก เช่น ถนน Torino (เมืองตูริน) ที่อยู่ที่เมืองโบโลญญา หรือถนน Bologna ที่อยู่ตูริน เป็นอาทิ

ในตอนแรกนั้น สมมติฐานของฉันคือชื่อถนนที่ฮิตที่สุดน่าจะเป็นถนนการิบัลดี (Garibaldi) เพราะไปที่ไหน ๆ ก็ต้องเจอชื่อนี้ อันเป็นชื่อนายพลผู้เป็นบุคคลสำคัญในการรวมชาติอิตาลี เป็นหนึ่งในลิสต์ People You May Know ของฉัน แต่คำตอบที่ได้ไม่ใช่นายพลท่านนี้ ชื่อถนนอันดับ 1 ในอิตาลีคือ 

‘ถนนโรมา (Via Roma)’ 

ภาพ : blog.urbanfile.org

ใช่ โรมา ที่แปลว่า กรุงโรม นั่นล่ะ 

ถึงตรงนี้หลายคนคงตบเข่าฉาด ใช่สิ ถนนทุกสายมุ่งสู่โรมนี่นา เข้าใจได้ ๆ

ช้าก่อน ภราดรทั้งหลาย หลายสิ่งหลายอย่างในโลกอาจฟังดูเข้าที แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ความจริงคือ มุสโสลินี เผด็จการของอิตาลี ได้ออกคำสั่งในปี 1931 นี้เอง ให้ทุกเมืองในประเทศอิตาลี (ยกเว้นโรม) ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งของเมืองว่าถนนโรมา ทั้งนี้เพื่อฉลอง 10 ปีที่พรรคฟาสซิสต์ครองอำนาจในอิตาลี โดยถนนนั้นต้องไม่เป็นถนนสายรอง ปัจจุบันมี Via Roma อยู่ทั้งหมด 7,870 สาย บางเมืองที่ไม่มี Via Roma เพราะทางเมืองได้เปลี่ยนชื่อเพื่อไม่ให้หลงเหลือร่องรอยของฟาสชิสต์นั่นเอง

แล้ว Porta Romana (แปลว่า ประตูโรมา) ล่ะ

อันนั้นน่ะใช่ อันนั้นคือร่องรอยโบราณของอารยธรรมโรมันจริง กล่าวคือ ในหลาย ๆ เมืองโบราณในอิตาลีนั้น กำแพงเมืองด้านหนึ่งจะมีประตูหนึ่งที่เป็น Porta Romana อันเป็นทิศที่มีถนนมุ่งสู่กรุงโรม และในหลาย ๆ เมือง ตอนที่มุสโสลินีให้เปลี่ยนชื่อถนนว่า Via Roma ก็ยึดเอาถนนตรงประตูสู่โรมนั่นล่ะ เช่นที่เซียน่า ส่วนฟลอเรนซ์นั้นเลือกเอาถนนสายอื่น เพราะถนนตรงประตูสู่โรมันตั้งชื่อว่า Via Romana ซึ่งแปลว่า ถนนโรม มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนโบโลญญา ไม่มี Porta Romana ที่กำแพงเมือง ส่วน Via Roma นั้นเคยมี แต่เปลี่ยนชื่อไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพ : it.wikipedia.org

จริง ๆ ฉันจบเรื่องตรงนี้ได้เลย เพราะความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวได้บรรลุแล้ว แต่เมื่อพูดถึงถนนแล้ว ก็จะเล่าเรื่องถนนในแง่มุมอื่น ๆ ให้ฟังก็แล้วกัน

สุภาษิตที่ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่โรม นั้น คนกล่าวเป็นกวีนักเทววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ อแลง เดอ ลิลล์ (Alain de Lille) กล่าวไว้เมื่อปี 1175 ประโยคที่กล่าว หรือจะให้ถูกคือเขียนนั้นเป็นภาษาละติน และจริง ๆ แล้วท่านบอกว่า ถนนนับพันสายพาผู้คนสู่โรมอันเป็นเมืองอมตะ (Mille viae ducunt homines per saecula Romam) ตอนท่านเขียนไว้นั้น ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไรอยู่ แต่ในปัจจุบันคำกล่าวนี้เป็นประโยคเฝือ ๆ ที่หมายถึงการกระทำหรือวิธีหลากหลายที่มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน

การใช้โรมเป็นเหมือนตัวแทนแห่งความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่นั้น พบได้ในสุภาษิตฝรั่งอื่นเช่นกัน เช่น กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ซึ่งไม่รู้ว่าผู้คนจะไปลึกซึ้งอะไรกับมันมากมาย เพราะที่ไหน ๆ กรุงเทพ ปารีส บางกรวย บางกร่าง ท่าแซะ ก็ล้วนแล้วสร้างไม่เสร็จภายในวันเดียวทั้งสิ้น ยกเว้นสะพานไทย-เบลเยี่ยม ตรงแยกสาทร-พระรามสี่ ซึ่งสร้างเสร็จภายใน 1 วัน (แต่ซ่อม 1 เดือน)

กลับมาที่ถนนต่อ เมื่อพูดถึงถนนและไหน ๆ ก็ป้วนเปี้ยนมาเรื่องโรม-โรมัน แล้ว ถนนที่ว่า มุ่งสู่โรม…หรือจะให้ถูกคือ ที่ออกจากโรมไป…นั้น สายหลัก ๆ มีอะไรบ้าง

ภาพ : it.wikipedia.org/wiki
  • ถนนอัปเปีย (Via Appia) ถนนสายนี้มุ่งลงทางใต้ ปลายทางอยู่ที่เมืองบรินดีซี (Brindisi) หากเปรียบประเทศอิตาลีเป็นรองเท้าบูต ก็อยู่แถว ๆ ส้นรองเท้านั่นล่ะ
  • ถนนเอาเรเลีย (Via Aurelia) ตีซ้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลาะต้นขารองเท้าบูตไป ปลายทางอยู่ที่เมืองลูนี เลยเมืองปิซาขึ้นไป
  • ถนนคัสเซีย (Via Cassia) ไปจบอยู่ใกล้ ๆ ถนนเอาเรเลียเหมือนกัน คือที่เมืองมัซซา (Massa) แต่ไม่ได้เลาะทะเลไปอย่างถนนเอาเรเลีย หากแต่ตรงขึ้นไปจากโรมเลย แล้วค่อย ๆ ตีโค้งซ้ายไปในแคว้นทัสกานี ที่ Siena ถนนนี้ก็ตัดผ่าน
  • ถนนฟลามีเนีย (Via Flaminia) หากมองในแผนที่ ถนนสายนี้จะดูเหมือนตรงขึ้นไป แต่จริง ๆ แล้วมันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี ทั้งนี้เพราะคาบสมุทรอิตาลีเป็นรูปรองเท้าบูตเอียง ปลายทางของถนนสายนี้อยู่ที่เมืองรีมีนี (Rimini) เมืองชายหาดยอดนิยมของอิตาลี
  • ถนนซาลาเรีย (Via Salaria) ไปทางทิศตะวันออก ปลายทางอยู่ที่ซันเบเนเด็ตโต เดล ตรอนโต (San Benedetto del Tronto) เมืองเล็ก ๆ ในแคว้นมาร์เค (Marche) จากชื่อ คนที่รู้ภาษาอิตาเลียนแทบจะเดาได้ทันทีว่าถนนสายนี้ใช้ขนเกลือเข้าสู่โรม
  • ถนนตีบูร์ตีนา (Via Tiburtina) ก็ไปทางทิศตะวันออกเช่นกัน แต่อยู่ใต้ถนนซาลาเรีย ปลายทางอยู่ที่เมืองเปสการา (Pescara)

ปัจจุบันถนนโรมันเหล่านี้ก็ถูกสร้างทับเป็นถนนสมัยใหม่แล้ว แต่ยังคงมีบางส่วนที่คงรักษาให้เห็นความเป็นถนนโรมันโบราณ

ภาพ : Abriella clare marino on Unsplash

แล้วถนนโรมันโบราณนั้นเป็นอย่างไร

ในปัจจุบันเรายังพอเห็นถนนโรมันโบราณอยู่บ้าง ซึ่งปูด้วยหินก้อนใหญ่ แต่ถนนแบบโรมันที่เห็นชัดเจนที่สุดคือที่ปอมเปอี เพราะเป็นถนนในเมือง นอกจากจะเห็นความใหญ่ของก้อนหินแล้ว ยังเห็นความสัมพันธ์กับเมืองด้วย

ดูเผิน ๆ ถนนในปอมเปอีก็ดูคล้ายถนนปัจจุบันในแง่โครงสร้าง กล่าวคือ มีทางเท้าอยู่ข้างทาง ที่ดูแปลกไปคือในบางช่วงของถนนจะมีก้อนหินยกสูงขึ้นมาเหมือนเป็นทางม้าลายให้ข้าม ใช่ มันคือทางข้ามจริง ๆ ถนนที่เราเห็นนั้นไม่มีใครเขาเดินกัน เขาเดินบนทางเท้า ถนนมีไว้สำหรับรถม้าและเป็นทางระบายน้ำ และนั่นคือเหตุผลที่เวลาข้ามถนน เขาจึงทำหินสูงขึ้นมา เท้าเราจะได้ไม่เหยียบลงไปบนทางน้ำ (เสีย) นั่นเอง ส่วนที่ไม่ทำเป็นแผ่นเดียว ยาวจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ก็เพื่อให้ล้อรถม้าผ่านไปได้ไง

ภาพ : ecampania.it/

แล้วถนนที่โรมล่ะ ที่เดินยาก ๆ น่ะ ใช่ถนนโบราณไหม

ถนนในโรมที่เป็นก้อนหินสี่เหลี่ยมจัตุรัสก้อนเล็ก ๆ เรียงกันเหมือนโมเสก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียก Cobblestones นั้น ใช้ปูเป็นแห่งแรกที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ และในภาษาอิตาเลียนยังเรียกว่า Sampietrini ซึ่งมีรากมาจากคำว่าเซนต์ปีเตอร์นั่นเอง

ภาพ : ingenio-web.it

กลับมาที่อิตาลีปัจจุบัน ถนนหลวงที่ยาวที่สุดในอิตาลี คือถนนอาเดรียติคา ยาวราว 1,000 ไมล์ จากเวโนโตถึงปูลเยีย รวมทั้งสิ้น 6 แคว้น เป็นถนนเลาะชายหาดด้านตะวันออก หากนึกถึงแผนที่แบบรองเท้าบูตของอิตาลี ถนนสายนี้คือลงจากต้นขายาวมาตามน่องจนถึงปลายเท้านั่นเอง

วันนี้แค่นี้ได้ไหม มากกว่านี้จะจับได้แล้วว่ารู้ไม่จริง

แอบกลับมาที่ นายพลการิบัลดี ของเราอีกครั้ง ถึงท่านจะไม่ได้เป็นชื่อถนน แต่สำหรับลานเมือง (Piazza) ท่านครองอันดับ 1 นะ อย่าได้ดูเบาไป

ภาพ : mapcarta.com

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า