นอนนอน (nornnorn) คือสตาร์ทอัพที่ให้บริการเช่าที่นอนใหม่คุณภาพสูง ด้วยราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 65 บาทต่อชิ้น เพื่อแก้ปัญหา 2 เรื่องใหญ่และใหม่ในวงการที่นอน
หนึ่ง คือ การเข้าถึงที่นอนคุณภาพดีของธุรกิจที่พักโดยไม่ต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่อย่างแต่ก่อน ซึ่งที่นอนเป็นหัวใจไม่แพ้การบริการ
สอง คือ การรีไซเคิลที่นอนที่หมดอายุการใช้งานแล้วอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยทายาทรุ่นที่ 4 ของธุรกิจที่นอนสัญชาติไทยอายุ 88 ปี ที่เมื่อสืบย้อนกลับไปยังเรื่องราวของผู้รับช่วงต่อรุ่นก่อนหน้า เราพบว่าพวกเขาต่างเป็นสตาร์ทอัพในยุคของตัวเอง และในแนวทางของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
เริ่มจากคุณทวดและพี่ชาย สองผู้ก่อตั้งร้านที่นอนนุ่นย่านพาหุรัด ในสมัยที่คนไทยยังนิยมนอนพื้นเสื่อหรือกระดาน และที่นอนนุ่นเป็นสินค้าหรูหราพบได้ตามบ้านผู้มีฐานะเท่านั้น
ต่อมาทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งแยกตัวไปเปิดร้านที่นอนย่านกิ่งเพชร ผลิตที่นอนนุ่นและที่นอนฟองน้ำด้วยมือ ก่อนค้นพบวิธีทำที่นอนสปริง จนร่วมกับเพื่อนก่อตั้งโรงงานที่นอนสปริงแห่งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเริ่มทำแบรนด์ที่นอน ‘ดาร์ลิ่ง’ (Darling) ส่งขายทั่วประเทศและทั่วภูมิภาค
ด้วยคลุกคลีช่วยงานพ่อมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ทายาทรุ่นที่ 3 กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่นอนคนหนึ่งในวงการ เธอและสามีพาที่นอนดาร์ลิ่งบุกเข้าตลาดโรงแรมชั้นนำของประเทศ ก่อนจะแยกตัวมาก่อตั้งบริษัทและทำที่นอนแบรนด์ ‘สปริงเมท’ (Springmate) เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่พักและโครงการอย่างกว้างขวางทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
มาถึงทายาทรุ่นที่ 4 อดีตนักเรียนฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ ผู้มาสร้างแบรนด์สปริงเมท ขยายตลาด ปฏิรูปและแก้ปัญหาธุรกิจ ก่อนแยกตัวมาทำแพลตฟอร์มให้บริการเช่าที่นอนใหม่คุณภาพดีจากหลากหลายแบรนด์ด้วยค่าเช่าที่เข้าถึงได้จริง

The Cloud มีนัดกับ รัตนา เตชะพันธ์งาม ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จำกัด เจ้าของแบรนด์ที่นอน ‘สปริงเมท’ และ นพพล เตชะพันธ์งาม ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้ก่อตั้ง ‘นอนนอน’ เพื่อพูดคุยวิธีทำธุรกิจที่นอนตลอด 88 ปี ตั้งแต่บรรยากาศการค้าขาย ปัญหาที่พบในแต่ละยุคพร้อมวิธีรับมือ ยากจะบอกว่าโจทย์ของใครยากง่ายกว่ากัน ยุคที่ต้องการสินค้าที่แตกต่าง ยุคที่ความเชื่อใจสำคัญที่สุด ยุคที่สงครามค้าปลีกอาจทำให้ตำนานต้องปิดลง ยุคที่ไม่ได้พูดถึงกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่คิดถึงความยั่งยืนถาวรมากกว่า
กระโดดขึ้นเตียงตามมาฟังเรื่องราวนี้ด้วยกันได้เลย
นิทานก่อนนอนเรื่องนี้อาจจะยาวนิดหน่อย หากทำใครเผลอหลับไป กลับมาอ่านตอนตื่นได้ไม่ว่ากัน
(หมายเหตุ : ขอใช้สรรพนามเรียกแทนบุคคลต่างๆ ตามนพพล ทายาทรุ่นที่สี่)
ธุรกิจ : ร้านที่นอนย่งซุนหงวน, ร้านที่นอนสุขวัฒนา, บริษัท ไทยควิลติ้งโปรดักชั่น จำกัด, บริษัท ที่นอนดาร์ลิ่ง จำกัด, บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จำกัด และ นอนนอน สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มให้บริการเช่าที่นอน
ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2475
อายุ : 88 ปี
ประเภท : ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่นอนและเครื่องนอน
ผู้ก่อตั้ง : คุณทวดและพี่ชาย ร้านที่นอนย่งซุนหงวน (พ.ศ. 2475)
ทายาทรุ่นสอง : ประเสริฐ ประเสริฐวณิช ร้านที่นอนสุขวัฒนา (พ.ศ. 2502) บริษัท ไทยควิลติ้งโปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท ที่นอนดาร์ลิ่ง จำกัด
ทายาทรุ่นสาม : สมชายและรัตนา เตชะพันธ์งาม บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จำกัด (พ.ศ. 2534)
ทายาทรุ่นสี่ : นพพล เตชะพันธ์งาม นอนนอน (พ.ศ. 2561), กฤษพณ และณัฐพร เตชะพันธ์งาม
เรื่องเล่าก่อนเข้านอน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… ย้อนกลับไปเมื่อ 80 กว่าปีก่อน
คุณทวดกับพี่ชายคุณทวดถูกส่งตัวจากประเทศจีนมาทำธุรกิจในไทย ร่วมกันก่อตั้งร้านที่นอนนุ่น ‘ย่งซุนหงวน’ หน้าตลาดพาหุรัดใน พ.ศ. 2475
ชื่อ ‘ย่ง’ แปลว่าตลอดกาล ขณะที่ ‘ซุนหงวน’ มีความหมายว่า สะดวก ราบรื่น ไม่ติดขัด เงินทองไหลมาเทมา
ต่อมาคุณทวดป่วยหนัก จึงเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดที่ซัวเถาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป
จนกระทั่งคุณตาประเสริฐ ประเสริฐวณิช มีอายุ 13 ปี พี่ชายคุณทวดก็เรียกตัวจากเมืองจีนให้มาทำธุรกิจร่วมกัน โดยรับเอาหุ้นส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เคยเป็นของคุณทวดไปตามชอบธรรม จากนั้นธุรกิจก็ดำเนินต่อไปด้วยดี จนเมื่อคุณตาประเสริฐอายุได้ 30 ปี ก็แยกตัวออกไปเปิดร้านที่นอนชื่อ ‘ที่นอนสุขวัฒนา’ ในย่านกิ่งเพชร ใน พ.ศ. 2502
ผู้ผลิตที่นอนสปริงเจ้าแรกในไทย และเจ้าแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อของ ‘สุขวัฒนา’ มาจากความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้าได้นอนอย่างเป็นสุขสมชื่อ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอยู่ยืนยาวถาวรและวัฒนาไปด้วย

นอกจากเป็นเจ้าแรกในย่านแล้ว ที่นอนสุขวัฒนายังผลิตและขายส่งที่นอนให้ร้านค้าในละแวกกิ่งเพชร สะพานดำ แม้นศรี และย่านอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงร้านค้าในต่างจังหวัดทั่วประเทศ จนทำให้บริเวณสี่แยกน้ำพุราชเทวีกลายเป็นย่านร้านขายที่นอนของกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
สมัยนั้นที่นอนนุ่นเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลาง เนื่องจากราคาไม่แพงและมีคุณภาพการใช้งานที่ยาวนาน ต่อมามีการพัฒนาเป็นที่นอนฟองน้ำเพราะผลิตได้เร็วขึ้น แต่ยังมีความแน่นใกล้เคียงที่นอนนุ่นและไม่เก็บฝุ่น
หลังจากทำธุรกิจขายผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนให้กลุ่มทหารอเมริกันที่มาประจำการในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม จนใกล้ชิดสนิทสนมถึงขั้นช่วยแก้ปัญหาที่นอนยุบ เมื่อรื้อดูก็พบที่นอนสปริงกับตาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีมานานก่อนหน้านั้นหลายสิบปีแล้ว ให้สัมผัสที่นุ่มและนอนสบายกว่าที่นอนนุ่นและฟองน้ำ คุณตาประเสริฐจึงเริ่มลงมือศึกษาและตัดสินใจร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดโรงงานผลิตที่นอนสปริงแห่งแรกของไทย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน พ.ศ. 2507


Good night, Darling
ต่อมาคุณตาประเสริฐแยกตัวจากหุ้นส่วนเดิม เพื่อมาสร้างโรงงานผลิตที่นอนสปริงและฟองน้ำแห่งใหม่ในชื่อ บริษัท ไทยควิลติ้งโปรดักชั่น จำกัด ใน พ.ศ. 2521 นำเครื่องจักรทำ Quilting หรือเย็บเดินลาย เข้ามาจากยุโรปเพื่อเดินลายผ้าบนที่นอน ทำให้ที่นอนดูหรูหราและแข็งแรงขึ้น จากเดิมที่ใช้ผ้าผืนธรรมดาหุ้มที่นอน รวมถึงมีเครื่องจักรร้อยแผงสปริงมาแทนที่การใช้มือร้อยแบบแต่ก่อน ทำให้ผลิตเร็วขึ้นนับสิบเท่า มีมาตรฐานสูงขึ้น พร้อมสร้างแบรนด์ดาร์ลิ่ง
“ที่มาของชื่อแบรนด์มาจากการที่คุณพ่อประทับใจคำว่า ‘ดาร์ลิ่ง’ ซึ่งแปลว่า ที่รัก” คุณแม่รัตนาเล่า
ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน คุณแม่รัตนาซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ 3 และพี่สาว ถือเป็นแรงงานสำคัญที่คอยช่วยงานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานขาย งานผลิต งานดูแลคลังสินค้า หรืองานจัดส่ง
“ดิฉันทำงานที่ร้านคุณพ่อตั้งแต่อายุสิบสองปี ดูแลตั้งแต่การขาย การเปิดบิล ไปจนถึงการผลิตที่นอนนุ่นและที่นอนฟองน้ำ ได้ช่วยเย็บที่นอนนุ่น ผ้าปู และปลอกหมอนเวลาขาดพนักงาน พออายุสิบหกปี บางครั้งก็ขับรถหกล้อออกไปส่งที่นอนให้ลูกค้าด้วยตัวเองเวลาคนขับไม่พอ”
นอกจากคุณตาประเสริฐคิดชื่อเก่งแล้ว ยังคิดขายเก่งด้วย
จากการศึกษาวิธีการโฆษณาสินค้าของต่างประเทศ คุณตาประเสริฐได้สั่งผลิตโฆษณาโทรทัศน์ที่ฮือฮาของยุค ด้วยการนำรถบดถนนมาบดที่นอนเพื่อให้เห็นถึงความแข็งแรง ทนทาน จนคนทั้งประเทศจดจำและเรียกว่าแบรนด์ ‘ที่นอนรถบด’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ เมื่อได้เจอผู้ที่ได้รับสัมปทานทำป้ายบอกทาง คุณตาประเสริฐเล็งเห็นประโยชน์ของการใช้ป้ายบอกทางในการโฆษณา จึงขอออกทุนผลิตป้ายบอกทางตามที่ต่างๆ แลกกับพื้นที่โฆษณาที่นอนเล็กๆ ใต้ป้าย ผลก็คือโฆษณาและชื่อของที่นอนดาร์ลิ่งได้กระจายไปอยู่ตามสี่แยกทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ

ขณะที่คุณแม่รัตนาก็ซึมซับวิธีการทำที่นอนที่ดี เพราะคลุกคลีอยู่กับการผลิตที่นอนมาตั้งแต่เด็ก เธอเห็นความแตกต่างและคิดหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ให้ลูกค้าอย่างเข้าใจ หากรู้ว่าที่นอนชิ้นไหน แบรนด์ไหน รุ่นไหน มีปัญหา เธอไม่รอที่จะรื้อดูข้างใน จนพบสาเหตุความนอนสบายและไม่สบายต่างๆ ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้
“ข้างในมีวัสดุอะไรบ้าง ประกอบขึ้นมาอย่างไร จากตอนแรกที่เราคิดแค่จะซ่อมที่นอนที่ลูกค้านำมาให้ช่วยซ่อม เรากลับได้ศึกษาและรู้จักวัสดุที่ลึกซึ้งอย่างคาดไม่ถึง เช่น ตอนนั้นน้อยคนจะรู้ว่ายางพาราของไทยให้ความรู้สึกเย็น จริงอยู่ที่ทั่วโลกมีการใช้ยางพารา แต่เป็นยางพารากึ่งสังเคราะห์ ส่วนในเมืองไทยเราใช้น้ำยางร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ที่นอนมีความเย็น นุ่ม อยู่ทนทานนานกว่า”
องค์ความรู้บวกกับการได้ไปดูงานในต่างประเทศบ่อยครั้ง ทำให้คุณแม่รัตนาได้เรียนรู้ศาสตร์การทำที่นอนจากความเข้าใจในวัสดุ เมื่อรวมกับประสบการณ์ออกแบบที่นอนรูปแบบต่างๆ ทำให้เชี่ยวชาญเรื่องที่นอนกว่าใคร
“เคยออกแบบที่นอนในเรือ ทรงจะแปลกกว่าทั่วไปเพราะต้องโค้งรับกับลำเรือ ดิฉันก็วัดขนาด ร่างแบบ ตัดเย็บ และประกอบเสร็จภายในสามวันที่เรือจอดเทียบท่า เป็นงานที่ท้าทายมากแต่ทำให้ลูกค้าประทับใจและเกิดการบอกต่อ”
คือช่วงฤดูใบไม้ผลิของธุรกิจที่นอน
หลังจากคุณแม่รัตนาพบรักและแต่งงานกับคุณพ่อสมชาย อดีตพนักงานขายดีเด่นจากบริษัทคู่แข่ง ทั้งคู่ใช้ความสามารถที่มีช่วยทำให้แบรนด์ที่นอนดาร์ลิ่งบุกตลาดใหม่ๆ สำเร็จ
“จากเดิมที่คุณพ่อเจาะตลาดร้านค้าและโรงแรมระดับล่าง ช่วงปีแรกที่คุณสมชายมาช่วยงานทำยอดขายถล่มทลาย จากการเข้าไปเสนอขายที่นอนสปริงแบรนด์ดาร์ลิ่งให้กับโรงแรมห้าดาวชื่อดังหลายแห่ง ในช่วงที่อุตสาหกรรมโรงแรมกำลังเติบโตในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เดิมทีโรงแรมชั้นนำจะนำเข้าที่นอนจากต่างประเทศเท่านั้น” คุณแม่รัตนาเล่า

จากนั้นใน พ.ศ. 2528 ทั้งคู่ก็ได้รับหน้าที่ดูแลร้านที่นอนสาขาใหม่แถวลาดพร้าวของคุณตาประเสริฐ พร้อมขยายตลาดของดาร์ลิ่งในกลุ่มโรงแรมชั้นนำทั่วประเทศ ก่อนจะตั้งบริษัทและโรงงานเพื่อทำแบรนด์ที่นอนสปริงเมทของตัวเองใน พ.ศ. 2534 ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตที่นอนคุณภาพที่แข็งแรงและใช้งานได้นานยิ่งกว่าเดิม


เมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อ พ.ศ. 2540 ที่นอนสปริงเมทได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่จนผ่านวิกฤตไปได้ นั่นคือการผลิตที่นอนหนึ่งหมื่นชิ้นสำหรับนักกีฬาที่ร่วมงานมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ใน พ.ศ. 2541 ทั้งที่เป็นแบรนด์เพิ่งเกิดและมีโรงงานที่เล็กมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สปริงเมทเอาชนะมาได้อย่างไร เราถาม
“คณะกรรมการประกาศเกณฑ์การคัดเลือกชัดเจนว่าจะเลือกตามคุณภาพ หลังจากเยี่ยมชมโรงงานดูความสามารถในการผลิตของทั้งสิบสี่แบรนด์ ในการคัดเลือกรอบสุดท้าย คณะกรรมการเอ่ยขอหนังสือรับรองผลงาน โดยให้เวลาจัดหาใบรับรองฯ แค่หนึ่งวัน ด้วยความที่เราอยู่ในตลาดมานาน มีสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้าแม่บ้านในโรงแรมที่เป็นลูกค้าเราหลายแห่ง ทุกที่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รีบออกใบรับรองฯ ให้ จนเราได้งานในที่สุด ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ หาใบรับรองฯ มาไม่ได้แม้แต่ใบเดียว”
คุณแม่รัตนาบอกว่า ที่นอนเป็นสินค้าที่มองไม่เห็นข้างใน จึงต้องอาศัยความเชื่อใจเป็นที่สุด โดยเฉพาะจากธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งที่นอนสำคัญไม่แพ้การบริการ
“สำคัญคือประสบการณ์นอนที่ดี หากแขกนอนแล้วยุบเขาคงไม่กลับมาอีก”
ความใส่ใจเรื่องคุณภาพทำให้สปริงเมทมีชื่อเสียงในวงการโรงแรมเรื่องการเป็นผู้ผลิตที่นอนคุณภาพดี หากคิดถึงที่นอนคุณภาพจะมีชื่อของสปริงเมทอยู่เสมอแม้ไม่ทำการตลาดใดๆ
“คุณพ่อจะสอนว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องทำของที่ดีที่สุด ที่เรามั่นใจที่สุด บ่อยครั้งมากที่เราพบลูกค้าเก่ารุ่นพ่อแม่ที่พาลูกที่กำลังจะแต่งงานมาเลือกซื้อที่นอนชิ้นใหม่ ยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจ เราพูดเสมอว่าที่นอนเป็นของที่คนมองจากภายนอกไม่เห็น เวลาขายจะพูดดีแค่ไหนก็ได้ให้ลูกค้าเชื่อและยอมซื้อ ส่วนสินค้าจริงๆ เป็นอย่างไรลูกค้าก็ไม่อาจทราบได้จนกระทั่งได้ใช้งานไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เรื่องนี้สำคัญที่สุด เราจะไม่มีวันหักหลังลูกค้า นี่คือคำมั่นสัญญา
“และนอกจากความซื่อสัตย์แล้ว เรายังอยากแก้ปัญหาให้กับลูกค้า เพราะนอกจากก่อให้เกิดความสุขทางใจ ยังทำให้เราได้ทราบ Pain Points ของลูกค้า จนทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ช่องทางและธุรกิจใหม่ๆ” คุณแม่รัตนาเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอด 50 ปีของการทำธุรกิจ พร้อมส่งต่อไปถึงลูกๆ
เมื่อธุรกิจไปได้ดี ก็ถึงเวลาที่ทายาทรุ่นสามสานฝันกลับไปเป็นนิสิตจุฬาฯ เมื่ออายุ 58 ปี
เมื่อวันเวลาผ่านไป ธุรกิจก็เริ่มลงตัวมากขึ้น จากตอนที่วัยรุ่นต้องช่วยงานที่บ้านจนไม่มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย คุณแม่รัตนาก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบปริญญาโท ที่คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อตอนอายุ 58 ปี

“ตอนเรียนรามฯ มีเพื่อนร่วมชั้นอายุยี่สิบหกยี่สิบเจ็ดปี ด้วยความเป็นเพื่อน เพื่อนเล่าทุกอย่างที่บ้านให้เราฟังหมด เลยได้เข้าใจความรู้สึกของลูกที่มองพ่อแม่อย่างเรา เราบอกตัวเองเลยว่าจะไม่ทำแบบนั้นกับลูก เราจะเอาใจฟังเขาก่อน และจะเคารพความคิดเห็นของเขา กลายเป็นว่าเปิดโอกาสให้เขากล้าทำสิ่งที่เขาอยากทำ
“ส่วนตอนเรียนปริญญาโท ก็ได้รู้ว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่เขียนในตำรานั้น คือสิ่งที่เราลองผิดลองถูกมาตลอดชีวิต โดยที่ไม่รู้ว่าวิธีเหล่านี้เขียนอยู่ในตำราธุรกิจ เมื่อรู้ก็เกิดความมั่นใจ เรื่องไหนไม่เคยคิดลองมาก่อนก็ไฟแรงอยากทำทันที” คุณแม่รัตนาเล่า
สู่การปฏิรูปเพื่อสู้ศึกในยุคทายาทรุ่นที่ 4
“ตอนเด็กๆ คิดว่าถ้าสังคมเราล่มสลายไป จะมีความรู้อะไรที่จำเป็นต่อการสร้างอารยธรรมใหม่ นอกจากหมอและวิศวกร สุดท้ายก็เรียนฟิสิกส์” ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าเมื่อเราถามที่มาของการเลือกเรียนต่อ
หลังเรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาฟิสิกส์และทฤษฎีทางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และอนุปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นพพลได้กลับมาทำงานในส่วนงานสร้างแบรนด์และพัฒนาธุรกิจใน พ.ศ. 2548
“ที่ผ่านมา ธุรกิจของเรามีชื่อเสียงในกลุ่มลูกค้าโรงแรมและโครงการ เราทำตลาดผ่านความน่าเชื่อถือกับคนโรงแรมกลุ่มเดิมๆ เป็นหลัก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป กลุ่มลูกค้าเราขยายขึ้น เราก็เริ่มได้รับคำถามจากลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า ถ้าสินค้าของเราดีจริง ทำไมเราไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนทั่วไปหรือในตลาดค้าปลีกเลย”

แม้จะสร้างภาพลักษณ์ของสปริงเมทใหม่หมดให้สมกับตำนานธุรกิจของครอบครัวที่มีมานาน การแข่งขันของธุรกิจที่นอนในเวลาที่นพพลเข้ามารับช่วงต่อนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากแบรนด์ดังจากต่างประเทศ และการเปลี่ยนไปของตลาดค้าปลีก จากร้านที่นอนและเฟอร์นิเจอร์รายย่อยกลายเป็นห้างสรรพสินค้าทันสมัยที่มีอำนาจต่อรองสูง ตามมาด้วยร้านเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่เข้ามามีอิทธิพลในตลาด
“ภาพลักษณ์ของสปริงเมทในกลุ่มลูกค้าโครงการและโรงแรมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับบนทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ แต่ในกลุ่มตลาดค้าปลีกในช่วงแรกๆ ที่ผมเข้ามาช่วยงาน เรากลับถูกจัดให้อยู่ในระดับที่ต่ำลงมา เนื่องจากสปริงเมทประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ไทย การเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำเป็นเรื่องยาก เพราะห้างฯ ต้องการสินค้าที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมากกว่า” นพพลเล่าปัญหาที่เขาพบ
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ รัตนาและนพพลตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme: MDICP) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2551 เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดให้เหมาะสมกับขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อแรกก่อตั้ง ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ


“เป้าหมายสำคัญในตอนนั้นคือ ทำให้โรงงานได้รับมาตรฐาน ISO ซึ่งเราต้องเขียนขั้นตอนการผลิตทั้งหมดออกมาอย่างละเอียด ในขณะเดียวกัน จากคำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการตลาด เราได้เข้าใจที่มาและผลกระทบของความล้มเหลวของเราในตลาดค้าปลีก จนในที่สุดเราก็ยอมถอยออกมาจากตลาดค้าปลีกเป็นการชั่วคราวเพื่อตั้งหลักใหม่ และเพื่อให้เราก้าวต่อไปได้มั่นคงกว่าเดิม”
ต่อมาไม่นาน นพพลได้ทีมที่มีประสบการณ์ในวงการค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์มาร่วมงาน จนช่วยให้สปริงเมทสามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม สปริงเมทจึงได้กลับมาลุยตลาดค้าปลีกอีกครั้งจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
งานใหญ่ต่อมาคือการปฏิรูปการบริหารจัดการด้วยระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมการผลิตและการบริหารจัดการทั้งหมดของบริษัท เพื่อให้ติดตามต้นทุนการผลิตจริงได้ตลอดเวลา และเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำทันการณ์ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
“เป็นสิ่งที่บริษัทต้องการมากๆ ในเวลานั้น เราอยากรู้ต้นทุนที่แท้จริงเพื่อกำหนดราคาสินค้าให้ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทมีสินค้าหลายพันรายการ ตั้งแต่สินค้าที่เราผลิตเองทั้งหมด สินค้ากึ่งผลิตเอง สินค้าซื้อมาขายไป และต้นทุนของวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ก็มีความผันผวนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน การดำเนินธุรกิจของเราเองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น”
นพพลเล่าเรื่องราวในช่วงสิบปีที่ช่วยงานที่บ้าน ก่อนส่งไม้ให้น้องสาวและน้องชายเข้ามาช่วยงานต่อ ขณะที่เขาหันไปทุ่มเทให้ธุรกิจใหม่ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจที่นอนของครอบครัว
นิทานตื่นนอน ที่เขียนเรื่องจากโจทย์ของลูกค้าและอยากแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ระหว่างที่ทำงานที่บ้านก็พบอุปสรรคที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากสถานการณ์พาไปและคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีน ถ้าเราสู้อยู่บนเกมเดิม วันนี้อาจยังเอาอยู่และอยู่ได้อีกสิบปี แต่เราอาจจะแพ้ในที่สุด ก็เลยถามตัวเองว่า ทำไมเราไม่เริ่มสร้างเกมใหม่ของเรา เกมที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน อะไรคือประเด็นที่ลูกค้าเจอแต่ยังไม่มีใครแก้”
และเกมใหม่ของนพพลก็คือ การสร้างธุรกิจบนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้สินค้าใช้งานได้อย่างยาวนาน และให้สินค้าต่างๆ คืนกลับมาเพื่อการรีไซเคิลแทนที่การนำไปทิ้ง เพื่อลดการเกิดขยะ ช่วยให้วัสดุและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดภาวะโลกร้อน

เกิดเป็น ‘นอนนอน’ แพลตฟอร์มที่ให้บริการเช่าที่นอนคุณภาพ เริ่มต้นเพียงเดือนละ 65 บาทต่อชิ้นในไทย หรือ 1.9 เหรียญดอลลาร์สหรัฐในต่างประเทศ ช่วยให้โรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจที่พักอื่นๆ ไม่ว่าระดับไหนก็ตามได้เข้าถึงที่นอนคุณภาพ จากเดิมที่ธุรกิจที่พักขนาดเล็กอาจไม่มีงบพอที่จะซื้อที่นอนคุณภาพ ทำให้มีแต่ที่นอนคุณภาพต่ำที่นอนไม่สบายและอายุการใช้งานสั้นไว้ให้บริการแขก และธุรกิจที่พักอาศัยทั้งหมดเกือบทั่วโลกขาดวิธีการในการกำจัดที่นอนที่หมดสภาพการใช้งานแล้วอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สัญญาเช่าของนอนนอนอยู่ที่ 7 – 10 ปี เมื่อครบสัญญา นอนนอนจะรับที่นอนเก่าไปแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ในขณะเดียวกัน นอนนอนก็จะเริ่มทำวิจัยและพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษซากวัสดุเหล่านั้น จากที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำมากในปัจจุบัน ให้มีมูลค่าสูงขึ้นจนคุ้มค่าการรีไซเคิล
แม้บริการให้เช่าจะมีอยู่ในสินค้าอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่เคยมีใครนำมาทำกับเฟอร์นิเจอร์มาก่อน ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ไม่อยากลงทุนเป็นเงินก้อนในครั้งเดียว
“ตลอดเวลาสิบปีกว่าที่ช่วยงานที่บ้าน ผมเห็นว่าโรงแรมส่วนใหญ่ ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อที่นอนคุณภาพเพื่อให้บริการแขกได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการจะซื้อที่นอนเป็นอย่างสุดท้ายก่อนจะเปิดโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้งบประมาณไปกับการก่อสร้างและตกแต่งภายในหมดแล้ว โอกาสเลือกที่นอนดีๆ จึงน้อยลง และแทนที่จะจ่ายเงินสำหรับที่นอนที่ใช้ได้สิบปี กลับต้องคอยเปลี่ยนที่นอนทุกสองสามปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า

“นอกจากนี้เริ่มมีลูกค้าอยากให้ช่วยทิ้งที่นอนเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้ขายต่อให้พนักงานของลูกค้าเองก็ยังไม่หมด หรือที่นอนอาจมีสภาพที่แย่เกินกว่าจะใช้งานต่อหรือซ่อมแซมใหม่ได้ จึงอยากหาวิธีกำจัดที่นอนหมดอายุอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไม่มีการรีไซเคิลที่นอน เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ทำเงิน จึงต้องฝังกลบหรือเผาทำลาย เกิดปัญหามลภาวะและไมโครพลาสติกในระบบนิเวศ ซึ่งในแต่ละปีมีที่นอนหลายร้อยล้านชิ้นทั่วโลกที่ถูกทิ้งอย่างไม่เหมาะสม”
นพพลเล่าว่า เขาคาดหวังให้ที่พักขนาดเล็กมีโอกาสเข้าถึงที่นอนคุณภาพ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับโรงแรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน จากประมาณการยอดขาย นอนนอนอาจช่วยให้ที่นอนกว่า 2.2 ล้านชิ้นไม่ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ พร้อมมอบชีวิตใหม่ให้วัสดุจากที่นอนใช้แล้วกว่า 39,000 ตันในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน นอนนอนมีลูกค้าเป็นโรงแรมทั้งในไทยและอินโดนีเซีย สำหรับลูกค้าทั่วไปยังคงรอการพัฒนาระบบ FinTech เพื่อบริหารความเสี่ยงหนี้สูญกรณีลูกค้าไม่จ่ายค่าบริการอยู่ หากสำเร็จเราคงได้ใช้ที่นอนดีๆ หลับสบายหายห่วงในเร็ววัน
นพพลเล่าเหตุผลที่ไม่เริ่มทำ ‘นอนนอน’ ภายใต้ธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่แรก ว่าเป็นเพราะอยากให้คล่องตัว และอยากให้แพลตฟอร์มเปิดกว้างกับแบรนด์ที่นอนคุณภาพแบรนด์อื่นๆ ด้วย
ในอนาคตอันใกล้ เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับเป็นปกติจากช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 นพพลบอกว่ามีโอกาสที่นอนนอนจะเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะผู้ประกอบการโรงแรมจะหันมาปรับแผนการลงทุน ชะลอการจ่ายเงินก้อนให้น้อยที่สุด
ก่อนจากกัน เราชวนนพพลทิ้งท้ายปัญหาคลาสสิกของการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว พร้อมวิธีการรับมือที่สมเป็นครอบครัวสตาร์ทอัพมาตลอด 4 รุ่น

“การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตเป็นกับดักที่ใหญ่มาก สิ่งที่เคยได้ผลดีในอดีตไม่ได้แปลว่าจะได้ผลดีในวันนี้ และคนรุ่นใหม่เองก็ไม่อาจคัดค้านได้เลย เพราะเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้นมาก่อนจริงๆ ที่น่าแปลกคือ ตอนที่พวกผู้ใหญ่ท่านเริ่มต้นธุรกิจ ท่านก็เริ่มจากความกล้าที่ลองทำ ลองเสี่ยงทั้งนั้น แต่พอสำเร็จแล้ว ความกล้านั้นกลับหายไป คุณพ่อและคุณแม่เองก็ก้าวออกมาจากธุรกิจของคุณตาจนมีสปริงเมทและธุรกิจอื่นๆ ทุกวันนี้ ตอนนี้ก็ถึงคราวผมออกมาเพื่อหาช่องทางทำสิ่งใหม่ๆ
“การได้รู้เรื่องราวของคนรุ่นก่อนช่วยทำให้เรากล้าทำ ถึงตาของเราแล้วที่จะเป็นผู้เริ่มแบบที่พวกท่านเคยเริ่มมาก่อน รู้ซึ้งเลยว่าสมัยพวกท่านก็คงไม่ได้ง่ายเหมือนกัน แต่ก็ยังผ่านมาได้”
ได้ยินแล้วอดภูมิใจแทนทุกคนไม่ได้ คงจะเร็วไปหากบอกว่า นี่คือบทสรุปของนิทานที่ชื่อ ‘นอนนอน’ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันชั้นดี ถึงความดีงามของเรื่องราวธุรกิจที่นอนสัญชาติไทยที่มีตำนานเกือบร้อยปี ธุรกิจนี้