หากวันสิ้นปีที่ล่วงเลยไปคือตัวแทนของอดีตซึ่งไม่อาจหวนกลับ วันขึ้นปีใหม่ที่กำลังย่างกรายเข้ามาก็คงเป็นสัญญาณแห่งอนาคต ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ขีดเขียนเรื่องราวบทใหม่ในชีวิตของตนเอง

สมการความเชื่อเช่นนี้มีผลให้มนุษย์หลากเชื้อชาติ หลายภาษา พากันให้ความสำคัญกับคืนข้ามปีในฐานะห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จากอดีตสู่อนาคต จากชีวิตเก่าสู่ชีวิตใหม่ หรือจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย้อนไปแก้ไขไม่ได้ สู่สิ่งว่างเปล่าที่รอการก่อร่างสร้างสรรค์ ฯลฯ แต่จะมีวิธีข้ามผ่านคืนสำคัญนี้ไปด้วยวิธีการใดนั้น ก็คงขึ้นอยู่ที่วัฒนธรรมความนิยมของแต่ละชนชาติ

คติการข้ามปีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกปัจจุบัน เห็นจะเป็นการปาร์ตี้สุดเหวี่ยงช่วงดึก ก่อนนับถอยหลัง ‘เคานต์ดาวน์’ ในวินาทีท้าย ๆ ของคืนวันที่ 31 ธันวาคม ปิดท้ายด้วยการดื่มฉลอง ระดมยิงพลุไฟในทันทีที่ย่างเข้าเวลา 0.00 น. นับว่าเป็นประเพณีสากลที่คนทั้งโลกทำเหมือน ๆ กัน

ประเพณีข้ามปีบางอย่างก็ทำกันเฉพาะถิ่น หรือเฉพาะคนบางกลุ่มในสังคม อย่างชาวไทยพุทธผู้ต้องการเหนี่ยวนำสิริมงคลเข้าตัวรับศกใหม่ ก็จะไปรวมตัวกันที่วัดเพื่อร่วมพิธีสวดมนต์ข้ามปี

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ภาพ : businessinsider.es

ค่ำคืนเดียวกับที่ทั่วโลกสนุกสนานกับการฉลองเคานต์ดาวน์ และชาวไทยบางส่วนรวมตัวกันสวดมนต์อยู่ที่วัด ชาวสเปนตลอดจนชนชาติอื่นที่พูดภาษาสเปนเป็นภาษาหลักยังมีวิธีเฉลิมฉลองเฉพาะถิ่นที่รับรองได้ว่าไม่เหมือนใคร และไม่มีชนชาติใดทำเหมือน คือการกินองุ่น 12 ลูก ที่พวกเขาเรียกว่า ‘องุ่น 12 ลูกแห่งโชคดี’ หรือ โดเซ่ อูบาส เด ลา ซูเอร์เต (Doce Uvas de la Suerte) เพิ่มเติมจากการนับเลขถอยหลังสู่ปีใหม่

เหตุใดชาวสเปนจึงต้องกินองุ่น ไม่กินผลไม้ชนิดอื่น หรือฉลองด้วยวิธีการอื่น ๆ ?

ปีใหม่ ฟ้าใหม่ กับคอลัมน์ใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Festive Vibes’ … ผม แพท-พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล ขอประเดิมคอลัมน์นี้ด้วยคลังความรู้เก่าสมัยร่ำเรียนภาษาสเปนในโรงเรียนมัธยมปลาย พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเจ้าองุ่นแห่งโชคดีนี้กันครับ

อาหารปีใหม่

มนุษย์ไม่ว่าอยู่แห่งหนไหนหรือมีผิวสีอะไร สิ่งหนึ่งซึ่งคนทุกกลุ่มมีคล้าย ๆ กันก็คือความเชื่อเรื่องชนิดอาหารที่ดื่มกินเข้าไป โดยบางครั้งความเชื่อเหล่านั้นก็เกิดขึ้นจากความรู้ความเข้าใจของคนรุ่นก่อน ๆ เป็นเหตุให้เราได้ยินคำกล่าวทำนองว่า “อาหารชนิดนี้ คนท้องห้ามกิน” “อาหารชนิดนี้ต้องกินเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น” หรือ “อยากมีโชคลาภ ต้องกินสิ่งนี้สิ” บ่อยครั้ง

ในวาระเปลี่ยนศักราชอันเทียบได้กับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผู้คนจากหลากหลายพื้นเพมีความคิดตรงกันว่า อาหารที่ควรค่าต่อการบริโภคในช่วงนี้ต้องเป็นอาหารที่ให้ความหมายดี มีมงคล เพื่อที่ชีวิตใหม่ในศกหน้าจะเป็นไปอย่างราบรื่น และเจริญรุ่งเรืองได้ด้วยผลบุญจากการกินอาหารชนิดนั้น

ความเชื่อเรื่องอาหารที่ควรกินในวันปีใหม่พบได้ในหลายประเทศ อาทิ ชาวกรีกจะกินเค้กทรงวงแหวนที่เรียกว่า ‘วาซิโลปิตา (vasilopita)’ ชาวอิตาเลียนและบางประเทศในอเมริกาใต้จะกินถั่วเลนทิลต้ม ชาวจีนจะกินเกี๊ยวซึ่งมีรูปร่างคล้ายเงินโบราณในวันตรุษจีนเป็นเคล็ดให้ได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มพูน ขณะที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนัดกันกินโซบะในคืนวันสิ้นปี ด้วยความเชื่อว่าจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวเฉกเช่นเส้นโซบะ

ความหมายขององุ่น

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ภาพ : nationalgeographic.es

องุ่น ภาษาสเปนเรียกว่า ‘อูบา (uva)’ แต่หลาย ๆ ครั้งคำนี้ก็จะปรากฏในรูปพหูพจน์ เป็น ‘อูบาส (uvas)’ หากมองว่ามีหลายพวงหรือหลายลูก

ในวัฒนธรรมสเปนรวมถึงยุโรปโดยทั่วไป องุ่นเป็นผลไม้ที่มีความหมายดีเสมอ เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกได้ง่าย ผลผลิตนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งยังอยู่คู่อารยธรรมตะวันตกมาโดยตลอด

หลักฐานการปลูกองุ่นพบได้ตั้งแต่ภาพเขียนฝาผนังของชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณมองผลไม้ชนิดนี้เป็นสัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ ถึงขนาดมีเทพเจ้าแห่งองุ่นและไวน์นามว่า ‘ไดอะไนซัส (Dionysus)’ หรือ ‘แบคคัส (Bacchus)’ แม้ในยุคที่ชาวยุโรปหันมานับถือคริสต์ศาสนากันแล้ว องุ่นก็ยังเป็นของสูงค่า เนื่องจากพระเยซูคริสต์เคยเปรียบเปรยพระองค์เป็นเถาองุ่นอันมีสาวกเป็นแขนงที่แยกย่อยออกไป อีกทั้งผลผลิตสำคัญอย่างเหล้าองุ่น ยังถือเป็นสิ่งแทนเลือดของพระองค์ด้วย

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ภาพวาดเทพเจ้าไดอะไนซัสในรูปลักษณ์ที่มีองุ่นปกคลุมพระวรกาย
ภาพ : wikimedia.org

ถ้าหากไปถามความหมายเชิงสัญญะขององุ่นกับชาวสเปน คำตอบที่ได้มาอาจมีทั้งความรื่นเริง ความมีชีวิตชีวา ความปีติยินดี ไปจนถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มูลเหตุที่แท้จริงของการที่ชาวสเปนมารวมตัวกันกินองุ่นส่งท้ายปี อาจไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องศาสนามากเท่ากับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์

ธรรมเนียมที่เกิดจากการยั่วล้อ

ประเพณีการกินองุ่นแห่งโชคดีเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ คือในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งคนยุคหลังขนานนามว่า ‘ยุคสวยงาม (Belle Époque)’ เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่ยุโรปสงบสุขจากภัยสงคราม ทุกชาติเร่งรัดพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ แฟชั่น ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม แต่ในทางกลับกัน ความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้กลับเป็นตัวถ่างช่องว่างทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจนให้ห่างออกจากกันอย่างสุดกู่

แหล่งอ้างอิงเกินครึ่งระบุว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1895 ยุคนั้นผู้ลากมากดีชาวสเปนหลงใหลแชมเปญของฝรั่งเศสกันมาก เหล้าองุ่นจากฝรั่งเศสและเยอรมนีถือเป็นของนำเข้าราคาแพงที่ชนชั้นล่างมิอาจไขว่คว้าถึง เมื่อถึงงานเทศกาลรื่นเริง เหล่าผู้ดีตีนแดงก็จะสั่งซื้อไวน์สัญชาติฝรั่งเศสหรือเยอรมันเข้ามาดื่มกินกันเสมือนเป็นแค่น้ำเปล่า โดยเฉพาะ ‘โนเช่บีเยฆา (Nochevieja)’ หรือคืนส่งท้ายปีเก่าที่พวกเขาเหล่านั้นจะดื่มกินทั้งองุ่นสด ๆ และเหล้าองุ่นกันด้วยความบันเทิงเริงใจ

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
หนังสือพิมพ์ El Siglo Futuro
ภาพ : hemerotecadigital.bne.es

วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1894 หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง ‘เอล ซิโกล ฟูตูโร (El Siglo Futuro)’ ได้เขียนข่าววิพากษ์พฤติกรรมอีลุ่ยฉุยแฉกของบรรดาชนชั้นสูงในคืนสิ้นปี พร้อมทั้งระบุว่าเหล้าองุ่นที่คนพวกนั้นดื่มกันล้วนเป็นของนำเข้าจากฝรั่งเศส แต่ลักลอบขึ้นทะเบียนเป็นเหล้าองุ่นท้องถิ่น

เพื่อเป็นการตอบโต้เหล่าอภิสิทธิ์ชน คืนวันที่ 31 ธันวาคมปีนั้น ชนชั้นกลางและชั้นล่างผู้ที่หัวใจอัดแน่นไปด้วยความขุ่นแค้นจึงรวมตัวกันมา ‘ล้อเลียน’ ชนชั้นสูงที่จัตุรัสกลางกรุงมาดริด ทุกคนไม่ได้พกขวดแชมเปญหรือเหล้าองุ่นชนิดใด ๆ ติดตัวมา มีแต่องุ่นพวงราคาถูกที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด เมื่อเสียงระฆังดังบอกเวลาเที่ยงคืนของวันขึ้นปีใหม่ ทั้งหมดจึงร่วมใจกันกัดกินองุ่นของตน เป็นการแสดงออกเชิงอารยะขัดขืนทางหนึ่ง

ชั่วเวลาไม่กี่ปี ธรรมเนียมนี้ก็สะพัดไปทั่วสเปน จากมาดริดไปยังเมืองอื่น ๆ กระทั่งชาวฝรั่งเศสและเยอรมันบางส่วนก็ยังสมาทานวิถีปฏิบัตินี้ เพื่อประชดประชันเหล่าชนชั้นสูงในประเทศของตนเองด้วย

การตลาดของชาวไร่องุ่น

แม้แหล่งข้อมูลจำนวนมากจะระบุว่าการกินองุ่นส่งท้ายปีเกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1895 แต่อีกหลายแห่งกลับระบุต่างออกไปว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นในปี 1909 โดยกลุ่มเกษตรกรสวนองุ่นที่อาลิกันเต (Alicante) ซึ่งกำลังประสบปัญหาขายผลิตผลของพวกตนไม่ได้ตามเป้า

องุ่นสายพันธุ์สเปนส่วนใหญ่จะปลูกกันระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน มีน้อยนักที่จะออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ถึงเดือนสุดท้ายของปีอย่างธันวาคม เป็นต้นว่าองุ่นจากแคว้นมูร์เซีย (Murcia) และเมืองอาลิกันเต (Alicante) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ไร่องุ่นเมืองอาลิกันเต
ภาพ : winetourismspain.com 

บ่อยครั้งที่ชาวไร่องุ่นจากอาลิกันเตและมูร์เซียระบายของไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ กระทั่งคืนสิ้น ค.ศ. 1909 ที่ชาวเมืองออกมาร่วมฉลองกันอยู่ มีกลุ่มชาวไร่องุ่นหัวใส นำองุ่นที่พวกตนปลูกไปเร่ขายยังจัตุรัสกลางเมืองหลวง พร้อมทั้งป่าวประกาศเชิญชวนคนมาซื้อองุ่นแห่งโชคดีซึ่งใครได้กินก็จะโชคดีตลอดทั้งปีที่จะมาถึง

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ภาพการ์ตูนล้อเลียนบุคคลสำคัญกินองุ่นแห่งโชคดี เมื่อ ค.ศ. 1911
ภาพ : es.wikipedia.org

ตำนานเรื่องชาวไร่องุ่นนี้มีทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ ฝ่ายที่ไม่เชื่อได้โต้แย้งว่า ชาวเมืองมาดริดมีธรรมเนียมกินองุ่นแห่งโชคดีนี้อยู่ก่อนแล้ว หนังสือพิมพ์ใน ค.ศ. 1898 ยังเคยตีพิมพ์คำพูดของผู้ผลิตองุ่นว่า “กินองุ่นแล้วโชคดี” ฉะนั้น การระบุว่ามันเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1909 จึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปหลายปี

รากเหง้าของธรรมเนียมนี้จะมาจากการประชดคนร่ำรวยเมื่อ ค.ศ. 1895 หรือกลยุทธ์การตลาดของชาวไร่องุ่นจากอาลิกันเตนั้นไม่สำคัญ เพราะปัจจุบันความเชื่อเรื่อง ‘องุ่นแห่งโชคดี’ ได้ลามไปทั่วสเปน ละตินอเมริกา ตลอดจนบางภูมิภาคของสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรพูดภาษาสเปนอาศัยอยู่มากแล้ว

วิธีกินองุ่นรับโชค

นอกเหนือจากพู่ประดับ หมวกปาร์ตี้ เครื่องดื่ม และนานาของตกแต่งสำหรับวันปีใหม่แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มักจะอยู่ติดบ้านของชาวสเปนในช่วงเทศกาลนี้ก็คือองุ่น ซึ่งโดยปกติจะใช้องุ่นสีเขียว ๆ ด้วยเป็นสีแห่งความสมบูรณ์พูนพร้อม การผลิบาน การเริ่มต้นใหม่ ฯลฯ

เมื่อคืน ‘โนเช่บีเยฆา’ มาถึง ชาวแดนกระทิงดุผู้รักการเข้าสังคมก็จะกอดคอกันไปรวมกลุ่มที่จัตุรัสกลางเมือง หรือ ‘ปลาซ่า เซนตราล (Plaza Central)’ อันเป็นศูนย์รวมกิจกรรมสาธารณะของชาวเมือง ส่วนใครที่รักบ้าน รักครอบครัว หรือสมัครใจจะฉลองภายในอย่างเงียบ ๆ ก็จะนั่งรอที่หน้าจอโทรทัศน์ประจำบ้าน

Doce Uvas กินองุ่น 12 ลูกเคานต์ดาวน์ ธรรมเนียมส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ของชาวสเปน
ภาพ : revistasociosams.com

องุ่นที่พวกเขาเลือกกินในคืนนี้มีหลายลักษณะ บ้างหิ้วองุ่นไปทั้งพวง บ้างเลือกองุ่นเท่าจำนวนใส่แก้วไวน์ บ้างคัดองุ่นใส่จานชาม แล้วแต่สะดวก

สถานที่ยอดนิยมอันดับหนึ่งในประเทศสเปนคือ จัตุรัสปูเวร์ตา เดล ซอล (Puerta Del Sol) ซึ่งเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 และจุดศูนย์กลางของทางหลวงชาติสเปน จุดเด่นของที่นี่คือสำนักงานไปรษณีย์พระราชวังหลวง หรือ Real Casa de Correos สถาปัตยกรรมสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานผู้ว่าราชการกรุงมาดริดในปัจจุบัน

ภาพ : muyinteresante.es

เวลา 23.59 น. ของทุกปี สายตาของคนทั้งชาติจะจับจ้องมาที่หมู่ระฆังบนยอดหอนาฬิกานี้ ใครไม่อยู่ที่ลานจัตุรัสนี้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะโทรทัศน์แห่งชาติสเปนได้ถ่ายทอดสดภาพหอนาฬิกานี้ออกอากาศเป็นประจำทุกคืนสิ้นปีตั้งแต่ ค.ศ. 1962 จนถึงปัจจุบัน

รอจนวินาทีท้าย ๆ ของปี ทุกคนทั้งที่อยู่ลานจัตุรัสและหน้าจอทีวีจะมาประจำที่พร้อมกับองุ่นแห่งโชคดีที่เตรียมไว้ หูตาเพ่งความสนใจไปที่ระฆังบนหอนาฬิกาสำนักงานไปรษณีย์หลวง

ภาพ : washingtonpost.com

เต๊งที่ 1 …ได้เวลาเริ่มกินองุ่นลูกแรก

เต๊งที่ 2 …กินองุ่นลูกที่ 2

เต๊งที่ 3, 4, 5 ทุกคนทยอยยัดองุ่นใส่ปาก สำคัญว่าต้องกัดกลืนให้ทันภายในเสียงระฆังที่ 12

เมื่อครบทั้ง 12 ลูกแล้ว ดอกไม้ไฟก็จะถูกจุดขึ้นอย่างระบือลือลั่น ท่ามกลางคำอวยพรที่เปล่งดังกระหึ่มว่า เฟลิซ อัญโญ่ นูเวโบ้ (¡Feliz año nuevo!) หรือ “สวัสดีปีใหม่” นั่นเอง

ภาพ : ambito.com

ทั้งนี้ ประเทศสเปนมีเวลาอยู่ 2 ไทม์โซนด้วยกัน ทั้งประเทศจะใช้เวลาเดียวกันหมด ยกเว้นเพียงคะแนรี (Canary Islands) หรือที่ภาษาสเปนเรียกว่า กานารียาส (Canarias) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะมีเวลาช้ากว่าส่วนอื่นของประเทศ 1 ชั่วโมง ที่นั่นก็จะมีเวลานเคานต์ดาวน์สู่ปีใหม่ไม่พร้อมกับที่อื่น

สาเหตุที่ต้องกินองุ่น 12 ลูก

โดยทั่วไปถือกันว่าเลข 12 นั้นคือจำนวนเดือนที่มีใน 1 ปี หากกินองุ่นแห่งโชคดีได้ครบ 12 ลูก ก็จะช่วยให้ตลอด 12 เดือนนั้นประสบโชคทั่วหน้า ถ้าใครกินไม่ทัน สะดุด ติดคอ ก็พานให้ทำนายกันไปต่าง ๆ นานาว่า ลำดับองุ่นที่กินไม่ทันหรือติดขัดนั้นคือลำดับเดือนที่จะเผชิญเคราะห์

แต่บางคนก็ถือเป็นจริงเป็นจังมากว่าองุ่นแต่ละลูกมีความหมายในตัวมันเอง ถ้ากลืนกินเข้าไปด้วยดีแล้วละก็ โชคดีก็จะมาเยือนเรื่องเหล่านั้นในปีที่จะมาถึง ตัวอย่างเช่น

ลูกที่ 1
Un Deseo Importante
ความปรารถนาสำคัญ
ลูกที่ 2
Un Deseo Imposible
ความปรารถนาที่เป็นไปไม่ได้
ลูกที่ 3
Un Deseo de Amor
ความปรารถนาด้านความรัก
ลูกที่ 4
Un Deseo de Familia
ความปรารถนาด้านครอบครัว
ลูกที่ 5
Un Deseo Indeseable
ความปรารถนาในเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา
ลูกที่ 6
Un Deseo Divertido
ความปรารถนาที่สนุกสนาน
ลูกที่ 7
Un Deseo Medioambiental
ความปรารถนาในสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ลูกที่ 8
Un Deseo Insistente
ความปรารถนาในเรื่องที่ยืนกรานว่าอยากได้
ลูกที่ 9
Un Deseo de Salud
ความปรารถนาด้านสุขภาพ
ลูกที่ 10
Un Deseo de Millonario
ความปรารถนาว่าจะเป็นเศรษฐี
ลูกที่ 11
Un Deseo Físico
ความปรารถนาเรื่องทางกาย
ลูกที่ 12
Un Deseo Humilde
ความปรารถนาเล็ก ๆ ง่าย ๆ

ตัวช่วยให้กินทันเวลา

เล่ามาถึงนี่ หลายคนอาจมีเครื่องหมายปรัศนีตัวโต ๆ ผุดโผล่อยู่ในใจว่า คนสเปนเขากินองุ่นทันได้อย่างไร ในเมื่อระฆังเคานต์ดาวน์นี้ดังขึ้นทุกวินาที ต่อเนื่องกันตั้ง 12 วินาที กว่าจะเคี้ยวให้แหลก กลืนลงคอ รอให้ย่อย ถ้ามีเมล็ดก็ต้องเสียเวลาขากถุยออกจากปากเสียก่อน จะมีเวลาพอให้ขย้อนองุ่นทั้ง 12 ลูกลงไปไหวหรือ

ภาพ : rtve.es

ขอตอบว่าเพราะเป็นงานยากนี่เอง หลายคนจึงรู้สึกท้าทายและมุ่งมาดที่จะพิชิตโจทย์นี้ให้ได้

สายพันธุ์องุ่นที่พวกเขาเลือกมากินรับโชคจึงต้องเฟ้นหามาอย่างพิถีพิถัน มากกว่าสีเขียวที่ให้ความหมายดี ก็ควรเป็นองุ่นไร้เมล็ด เพื่อทุ่นเวลาและหลีกเลี่ยงปัญหาการกลืนเมล็ดลงคอโดยไม่รู้ตัว

การกินองุ่นแห่งโชคดีสมัยนี้ไม่ยากเย็นเท่าแต่ก่อน เพราะเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นต่างรู้วิธีเพาะพันธุ์องุ่นไร้เมล็ด ผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลางบางคนมีความคิดดี ถึงกับลงทุนคว้านเมล็ดออกจนหมด บรรจุใส่หีบห่อที่ดูดี คัดเอามาให้ได้จำนวน 12 ลูกตามธรรมเนียม ถือเป็นสินค้าขายดีตามซูเปอร์มาร์เก็ตสเปนช่วงปลายปี เพราะเป็นที่ต้องการของผู้คนโดยทั่วไป

ภาพ : zhihu.com

ถึงจะมีองุ่นไร้เมล็ดที่คัดมาให้กินทันเวลาได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรเสีย ก็ไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่จะกินองุ่นโชคดีได้ ปกติชาวสเปนไม่สนับสนุนให้เด็กเล็กและผู้สูงอายุร่วมประเพณีนี้ เพราะแต่ละปีมักมีข่าวสลดเกิดขึ้นเนือง ๆ อย่างเช่นเด็กอนุบาลจากไปเพราะลูกองุ่นติดคอ ถ้าขาดความระมัดระวัง รอบคอบ จากที่จะได้รับโชคดี โชคร้ายก็อาจมาเยือนครอบครัวแทน

นอกจากกินองุ่น ชาวสเปนทำอะไรกันช่วงปีใหม่

อัญโญ นูเวโบ (Año Nuevo) หรือปีใหม่เป็นเทศกาลที่บันเทิงและกินเวลาเนิ่นนานที่สุดของชนชาติสเปนซึ่งรักสนุกเป็นชีวิตจิตใจ การเฉลิมฉลองของพวกเขามักเริ่มตั้งแต่สัปดาห์วันคริสต์มาส ลากยาวไปถึงวันที่ 5-6 มกราคม ชาวสเปนเรียกว่า ‘ดี๊ยา เด โลส เรเยส มาโกส (Día de los Reyes Magos)’ ภาษาไทยเรียก ‘วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์’ คือวันสำคัญทางคริสต์ศาสนาที่เชื่อกันว่าบรรดาโหราจารย์ทั้ง 3 ท่านจากดินแดนตะวันออก เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ พระกุมารเยซูที่เพิ่งประสูติในรางหญ้าไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

ตั้งแต่ 24 ธันวาคม จนถึง 5 หรือ 6 มกราคม ชาวสเปนมีประเพณีฉลองแทบไม่เว้นวัน หลายคนหลายครอบครัวก็ถือโอกาสหยุดยาวเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศกันช่วงนี้

พาเหรดในวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ที่เมืองมาลาก้า ประเทศสเปน
ภาพ : lancasteronline.com

บรรยากาศการเฉลิมฉลองน่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมโดยประมาณ เพราะในวันนั้นจะมีการวางแผงลอตเตอรี่คริสต์มาส ซึ่งมักเรียกสั้น ๆ ตามชื่อรางวัลใหญ่ว่า ‘เอล กอร์โด’ ร่ำลือกันว่าเป็นการจับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1812 หรือเมื่อกว่า 211 ปีมาแล้ว

หลังจากกินองุ่นรับขวัญปีใหม่กันไปแล้ว หลายครอบครัวยังถือเคล็ดว่า มื้อกลางวันของวันที่ 1 มกราคมจะต้องกินซุปถั่วเลนทิลเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง เพราะเมล็ดถั่วทรงกลมหน้าตาคล้ายเงิน ถ้ากินแล้วจะช่วยให้มั่งมีเงินทองไปตลอดศก อีกทั้งปีใหม่อยู่ในช่วงหน้าหนาว การได้กินซุปถั่วร้อน ๆ นี้ช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี

ที่ประหลาดสุดคงเป็นธรรมเนียมนุ่งชุดชั้นในแดงรับปีใหม่เพื่อให้สมหวังด้านความรัก บางแคว้นในสเปนถือเป็นธรรมเนียมว่า ก่อนออกจากบ้านไปร่วมกินองุ่นแห่งโชคดีที่ลานกลางเมือง จำเป็นต้องนุ่งเสื้อใน กางเกงในสีแดงจัดจ้านออกไปด้วย ยาเสน่ห์จะได้ออกฤทธิ์

ท่านใดไปเที่ยวสเปนช่วงปลายปีแล้วเห็นองุ่นเขียวขายอยู่เต็มซูเปอร์มาร์เก็ต กับชุดชั้นในแดงเต็มแผงตลาดนัด… หวังว่าบทความนี้จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนนะครับ

ภาพ : scrimaglio.com
ข้อมูลอ้างอิง
  • https://es.wikipedia.org/wiki/Doce_uvas
  • https://gogoespana.com/en/blog/las-doce-uvas/
  • https://www.directoalpaladar.com/actualidad-1/verdadera-historia-12-uvas-nochevieja-fruta-cuya-temporada-paso-hace-meses
  • https://www.dulcich.com/the-twelve-grapes-of-luck-las-doce-uvas-de-la-suerte/
  • https://www.losreplicantes.com/articulos/por-que-tomamos-uvas-nochevieja-origen-tradicion/
  • https://www.muyinteresante.es/cultura/arte-cultura/articulo/por-que-nos-tomamos-las-doce-uvas-en-nochevieja-231640859434

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย