ลิฟต์สำนักงานใหญ่ของ Nirvana Development เต็มไปด้วยคำคม

บางบริษัททำเพื่อตกแต่ง เนอวานาจริงจัง ทำเพื่อปลูกฝังความคิดให้พนักงาน ไม่ได้แปะเล่น ๆ คำเหล่านี้กัปตันทีมใหญ่ของเนอวานาเป็นคนคิดและเขียนด้วยตัวเองทั้งหมด

พี-ศรศักดิ์ สมวัฒนา ชอบอ่านหนังสือ ปัจจุบันด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Nirvana Development ทำให้เขามีเวลาส่วนตัวน้อยลง แต่ก็ยังนำเวลาเหล่านั้นทุ่มให้กับการอ่าน สำหรับเขา มันคือการพักผ่อนชั้นเลิศ และเป็นแหล่งข้อมูลในการทำธุรกิจ

ศรศักดิ์เป็นคนฉลาด เป็นผู้บริหารจอมวางแผน โครงการของเนอวานาขึ้นชื่อว่าเลือกทำเลแม่น งานก่อสร้างคุณภาพดี ใส่ใจการเลือกผู้รับเหมาและนักออกแบบ ซื้อมาอยู่เองหรือเพื่อลงทุนก็ดูตอบโจทย์ไปซะทั้งหมด เร็ว ๆ นี้เขาเพิ่งเปิดตัวโครงการใหม่ ‘NIRVANA COLLECTION’ โครงการระดับ Township บนถนนกรุงเทพกรีฑา จุดเด่นของงานนี้คือบ้านใหญ่ราคา 200 ล้านบาทที่ไม่เพียงตอบทุกโจทย์ของคนในครอบครัว แต่ยังสะท้อนวิสัยทัศน์การสร้างบ้านของเนอวานาและศรศักดิ์ในปัจจุบันด้วย

เคล็ดลับความสำเร็จของเขาคือ Mindset หรือการมีแนวคิดที่แหลมคม สิ่งนี้ซ่อนอยู่ในทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดูจะเป็นเรื่องเดียวกัน ดำเนินอยู่ภายใต้แนวคิดคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก 

เขาวางกลยุทธ์การใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไร สะท้อนมันออกมาผ่านโครงการบ้านของเนอวานาอย่างไร เขายินดีเปิดหลังบ้านเล่าให้ฟัง

พี-ศรศักดิ์ สมวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Nirvana Development

ก่อนมาเป็นเจ้าของกิจการ ศรศักดิ์ทำงานมา 5 บริษัท ในแวดวงที่ไม่ซ้ำกันเลย 

เขาเคยทำงานสายการเงิน เป็นนักวิเคราะห์และบริหารจัดการหนี้ เขาไม่ชอบทำสิ่งเดิมซ้ำสอง เมื่อคิดว่าได้เรียนรู้เต็มที่แล้ว ก็กระโจนไปสู่สิ่งใหม่ นี่คือวิถีการใช้ชีวิตที่ทำให้เขาเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ

CEO ของเนอวานาไม่เคยตั้งใจจะเป็นเจ้าของธุรกิจ เขาทำงานไปตามโอกาสที่มี ด้วยพื้นฐานชอบการเรียนรู้ เขาเลือกเอาฐานความรู้ที่มีมาต่อยอดเสมอ 

“ในการทำธุรกิจ ความกว้างสำคัญพอ ๆ กับความลึก ถ้าเราลึกมากเกินไปในสายใดสายหนึ่ง เราอาจประกอบภาพใหญ่ไม่ได้” ศรศักดิ์เล่า 

บ้านเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ เมื่อต้องทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ศรศักดิ์บอกว่าการทำบ้านต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะบ้านไม่ใช่แค่โครงสร้างอาคาร แต่เรากำลังสร้างสิ่งที่จะมีคนเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น ไม่ใช่แค่เจ้าของบ้านคนเดียว แต่รวมถึงคนรอบตัวในชีวิต พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูงที่จะมาใช้พื้นที่นี้ร่วมกันอีกหลายปี

การสร้างบ้านต้องทำอย่างมีศิลปะ ศรศักดิ์ไม่ได้หมายถึงศิลปะในความหมายของการออกแบบบ้านให้สวยอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างบ้านโดยมีศิลปะในการฟังลูกค้าด้วย เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้เนอวานาแตกต่างจากผู้อื่น

“เมื่อบอกว่าเราจะทำบ้านที่สมบูรณ์แบบ คุณต้องคิด 2 เรื่อง หนึ่ง หาให้เจอก่อนว่าเขาคือใคร สอง ความหมายของคำว่าสมบูรณ์แบบของเขาจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร 

“บ้านไม่ใช่เรื่องที่เราเดินไปถามว่าอยากได้บ้านแบบไหน เราต้องนั่งคิดให้ลึกพอ บ้านไม่ได้สร้างเพื่ออยู่คนเดียว ไม่ใช่สูท ไม่ใช่รองเท้า บางครอบครัวสร้างบ้านเพื่ออยู่ด้วยกัน การสร้างบ้านที่สมบูรณ์แบบจึงไปถามคนคนเดียวไม่ได้ เนอวานาทำสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้านสรรสร้าง’ เป็นบ้านที่ลูกค้าปรับแต่งเล็กน้อยให้เข้ากับความต้องการได้ เราทำสิ่งนี้มา 20 ปี เราไม่ใช่แค่รู้ เราเข้าใจ 

“สามีภรรยาบางคู่มาเถียงเรื่องบ้านต่อหน้าเรา มีอินทีเรียเป็นกรรมการ ข้อมูลพวกนี้เป็นสิ่งที่จ้างบริษัทรีเสิร์ชไม่ได้ ลูกค้าต้องผ่านกระบวนการคิด 3 วันถึงจะมาคุยกับเรา บ้านเนอวานาจึง So Responsive กับลูกค้ามาก เพราะเราไม่ได้เดินไปถามคน แต่เขาคิดมาแล้ว แล้วเขาเดินมาขอให้เราช่วยทำ จ่ายเงินให้อีกต่างหาก เพื่อให้เราทำให้ เพราะฉะนั้นมันต้องของจริง 

ศรศักดิ์โตมากับการเป็นนักวิเคราะห์การเงิน หน้าที่ของอาชีพนี้คือการหา Pain Point ของลูกค้าและหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

เขาออกมาเป็นเจ้าของกิจการในวัยไม่ถึง 30 ปี ครอบครัวไม่เคยทำธุรกิจขนาดใหญ่มาก่อน จุดแข็งของเขาคือเป็นคนหนุ่ม เรี่ยวแรงเยอะ ไฟแรง อยากทำอะไรใหม่ ๆ ที่วงการบ้านไม่เคยทำ

เมื่อคนหนุ่มมาทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างใจร้อน ช่วงเริ่มต้น ปรัชญาการทำงานของเขาคือคิดและทำยาว ๆ คิดถึงความยั่งยืนมากกว่าการโตไวแต่ฉาบฉวย 

โครงการส่วนใหญ่ของเนอวานาเป็น ‘แนวราบ’ หรือการทำบ้านเป็นหลัง คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์รู้ดีว่าบ้านเสี่ยงต่ำกว่าคอนโด เพราะเราค่อย ๆ สร้างและทยอยโอนไปพร้อมกันได้ ผิดกับการสร้างคอนโดมิเนียมที่มักต้องลงทุนสร้างให้เสร็จก่อนจึงจะได้เงินบาทแรกเข้ามา

15 ปีแรกเนอวานาไม่ทำคอนโดมิเนียมเลย ถือเป็นการทำธุรกิจแบบ Safe Side เสี่ยงต่ำ ข้อเสียคือการสร้างบ้านต้องใช้ที่ดินมากกว่า ซึ่งทั้งหายากและแพงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคอนโดมิเนียมมีตัวเลือกที่ดินมากกว่า เข้าไปอยู่ในเมืองได้มากกว่า

ใช่ว่าเนอวานาจะไม่ทำคอนโดมิเนียมเลย โครงการอย่าง Banyan Tree Residences Riverside Bangkok และ The MOST เป็นหนึ่งในคอนโดมิเนียมที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพการก่อสร้าง การออกแบบให้อาคารอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและเป็นตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่ดีที่ไม่ได้อยู่ในเมือง ทั้งหมดนี้ศรศักดิ์เริ่มสร้างเมื่อนำเนอวานาเข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ มีทุนพร้อม เขาถึงสร้าง

เบื้องหลังวิธีคิดนี้มาจากพื้นฐานชีวิตของศรศักดิ์เอง เขาไม่ได้มีทุนจากครอบครัว ทำธุรกิจจากศูนย์ เงินทุกบาทมีค่า การเติบโตที่ต้องกอดหนี้ไปด้วยไม่ใช่ทางที่เหมาะกับเขาและเนอวานา

ศรศักดิ์คิดถึงความเสี่ยงตลอดเวลา เขาเล่าเปรียบเปรยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนรังสีรั่วไหลจากโรงงาน ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวมานาน แต่คนคุมโรงไฟฟ้าเคยคิดถึงเรื่องนี้ในสมการหรือเปล่า เขาไม่มั่นใจ เช่นเดียวกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ครั้งหนึ่งก็เคยเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 วันข้างหน้าอาจมีสิ่งนี้อีก เขาควรคิดวิธีรับมือไว้บ้าง

“เราเริ่มจาก Ground Zero ช่วงเริ่มต้นใช้เงินผมและจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องบางส่วน เราเรียนรู้จากแก่น วิธีคิดไม่เหมือนกัน ถ้าคนมีทุนไม่จำกัด สร้างเสร็จก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคุณแบกหนี้เยอะ ๆ เวลาล้ม มันหนักกว่าเยอะ งานคอนโดมิเนียม ต้องจ่ายบาทสุดท้ายให้หมดก่อนจึงจะได้บาทแรก ธุรกิจจะโตมั้ย ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างมันอย่างไร 

“ธุรกิจที่เสี่ยงก็เติบโตเยอะ ไม่ใช่ไม่ดี มันเป็นเรื่องการรักษาสมดุล ถ้าสมดุลดีก็จะรักษาการเติบโตที่ดีบวกกับความเสี่ยงที่รับได้ อยู่ที่เรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน จะเพิ่มทุนมั้ย เนอวานาไม่มีนโยบายจะเพิ่มทุน เราทำในสิ่งที่มี ไม่รบกวนคนอื่น ขอผลกำไรมาเติมธุรกิจ นี่เป็นปรัชญาของเรา”

โครงการล่าสุดของเนอวานาเกิดขึ้นบนถนนกรุงเทพกรีฑา ขนาดที่ดินทั้งหมด 200 – 300 ไร่

ศรศักดิ์เรียกมันว่า Township ภาษาอสังหาฯ คือการสร้างหลายโครงการในที่เดียวกัน ซอยโครงการย่อยและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตรงโจทย์ผู้อยู่อาศัย ภาษาชาวบ้านคือเหมือนสร้างเมืองย่อม ๆ ของตัวเอง เป็นเทรนด์ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้าชอบทำ

เนอวานาเก่งเรื่องการหาทำเล หลักคิดของการเลือกเริ่มจากการดูถนนที่ผ่านโครงการ

ถนนคือการเชื่อมต่อ เวลามองถนนเส้นหนึ่ง เขาจะมอง 2 ข้อ หนึ่ง มันวิ่งจากไหนไปไหน เชื่อมต่อกับอะไร สอง ถนนเส้นนั้นสร้างด้วยแนวคิดแบบไหน

ถ้าลากเส้นดี ๆ กรุงเทพกรีฑาคือถนนที่เชื่อมตั้งแต่ย่านรามคำแหง บริเวณมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค เชื่อมพัฒนาการ ศรีนครินทร์ ร่มเกล้า ไปจนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ 

กรุงเทพกรีฑาเป็นเหมือนถนน Local Road ของสนามบิน ถ้าเราจะไปสนามบินสุวรรณภูมิ มีทางเลือกถนนอยู่ 2 ทาง คือบางนา-ตราด และมอเตอร์เวย์ ถนนทั้ง 2 เส้นเชื่อมต่อกับภาคตะวันออกทั้งภาค ขนส่งทั้งหมดต้องผ่าน ต้องใช้ถนนร่วมกับคนทั่วไป เรียกว่า ‘ท่อร่วม’ ในอนาคตการจราจรจะยิ่งติดขัด การสร้างกรุงเทพกรีฑาเป็นทางเลือกที่ 3 จึงจำเป็นต่อเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้คนสัญจรง่ายและสะดวกขึ้น

กรุงเทพกรีฑาเป็นถนนยุคใหม่ ขนาด 10 เลน ไม่มีไฟแดง มีสะพานข้ามแยกเยอะมากเพื่อให้รถวิ่งผ่านเร็วที่สุด แต่เมื่อมองอีกด้าน ถนนเส้นนี้เชื่อมต่อกับชุมชนย่านลาดพร้าว รามคำแหง หัวหมาก ทั้ง 3 ย่านเต็มไปด้วยหมู่บ้านและชุมชนหนาแน่นมาก 

หากมองชุมชนให้ลึกไปถึงครอบครัว วันหนึ่งลูกหลานจะจากบ้านไปสร้างครอบครัวใหม่ ตามธรรมชาติ คนมักจะรู้สึกคุ้นเคยกับย่านที่โตมาในวัยเด็ก และถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไปไกลจากย่านที่เคยอยู่ 

หมู่บ้านสัมมากร หมู่บ้านเสรี หมู่บ้านเสนานิคม และอีกหลายหมู่บ้านย่านรามคำแหง เป็นบ้านสำหรับคนรุ่นที่เรียกว่า Corporate Guy คนกลุ่มนี้อายุ 40 ปีขึ้นไป การออกแบบบ้านสำหรับคนกลุ่มนี้อาจไม่ตอบโจทย์คนยุคใหม่อีกแล้ว 

นี่คือเหตุผลที่เนอวานามาตั้งที่กรุงเทพกรีฑา เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ลูกหลานที่กำลังสร้างอนาคตของตัวเอง

“เราคิดแบบลูกกตัญญู ภาษาคนขายบ้าน เวลาจะตั้งต้นชีวิตใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ สามีภรรยา 90 เปอร์เซ็นต์ซื้อบ้านแบบไม่ใกล้บ้านพ่อแม่ฉัน ก็ใกล้บ้านพ่อแม่เธอ อย่างน้อยก็มีฐานให้เกาะ เกิดอะไรขึ้นก็ขอความช่วยเหลือกันได้” ซีอีโอที่โตย่านลาดพร้าวเล่า

โครงการนี้ใช้ชื่อว่า NIRVANA COLLECTION โครงการบ้านที่ในอนาคตจะมีตั้งแต่ราคา 7 ล้านไปจนถึง 200 ล้าน ช่วงเริ่มโครงการผลักดันบ้านสำหรับกลุ่มลูกค้า Ultra Luxury มีสโลแกนว่า ‘THE ART OF AN INDULGENT LIFE’ มองบ้านเป็นเหมือนที่อยู่อาศัยเก็บความทรงจำล้ำค่าในครอบครัว

ผู้อ่านที่ไม่ได้มีกำลังซื้อมากอาจมองบ้านกลุ่มนี้ว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่าสนใจ แต่มองอีกด้าน บ้านระดับบนสุดก็เป็นเหมือนเครื่องมือแสดงวิสัยทัศน์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หากต้องสร้างบ้านที่ดีที่สุดให้ครอบครัวหนึ่ง บ้านหลังนั้นควรมีอะไรบ้าง

ศรศักดิ์วิเคราะห์ว่าถนนกรุงเทพกรีฑาช่วงที่ดีที่สุดคือบริเวณติดกับถนนศรีนครินทร์ เขาเลือกจุดนี้เป็นที่ตั้งโครงการ 

“เนอวานา คอลเลคชั่น คือเสาหลักของโครงการ Township ติดถนนใหญ่ เราคือโครงการที่มีมูลค่าดีที่สุดเท่าที่ลูกค้าจะได้ในอนาคต แต่การสร้างบ้าน นอกจากวัตถุดิบดี ทำเลดี วิธีการปรุงต้องดีด้วย”

โครงการนี้คิดละเอียด เริ่มจากการมองว่าถนนกรุงเทพกรีฑารถวิ่งเร็ว ลูกบ้านหรือคนที่อยากมาชมโครงการโอกาสขับเลยมีสูง หรือต้องชะลอความเร็วแต่ไกลเพราะหาไม่เจอ ทางเข้าโครงการจึงเทโค้งเข้ามาด้านในเล็กน้อย ทางเข้าที่เป็นกิจจะลักษณะจริง ๆ อยู่ด้านใน รถวิ่งเข้าโครงการช้าลง เพิ่มความปลอดภัยให้ลูกค้า 

เลี้ยวเข้ามาอีกหน่อยจะพบกับไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้ Nirvana Porch มีร้านที่พ่อแม่ชอบ ลูกอิน เพิ่มความสะดวกสบาย เข้ามาอีกจะเจอส่วนกลางขนาดใหญ่เรียกว่า Collection Club มีห้องรับแขก พื้นที่พบปะสำหรับคนนอกโครงการ พร้อมบริการ Concrierge เหมือนอยู่ในโรงแรม 5 ดาว

เนอวานาใช้บริการผู้รับเหมา Bouygues-Thai 1 ใน 4 บริษัทก่อสร้างที่ดีที่สุดในประเทศ (ผลงานเด่น ๆ ของบริษัทนี้คือ IMPACT Challenger และ ตึก Mahanakhon) ทั้งโครงการเน้นความแข็งแรง คงทน ถึงขั้นตอกเสาเข็ม 25 เมตรกับถนนในโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าบ้านและโครงการไม่ทรุดในอนาคต 

“เหลือแค่สนามหญ้าล่ะครับที่ยังไม่ได้ตอก” เขาเล่าติดตลก

พื้นที่ส่วนกลางก็ไม่ได้ทำอย่างไร้ที่มาที่ไป เริ่มจากมีที่นั่งพักสำหรับไรเดอร์ส่งอาหาร ส่งของตรงนี้ ทีมส่วนกลางค่อยนำไปส่งเองถึงหน้าบ้าน เช่นเดียวกับเวลามีไปรษณีย์ คนส่งเอกสารให้เซ็น ทุกคนจะถูกรับรองบริเวณนี้ทั้งหมด รักษาความเป็นส่วนตัวของคนในหมู่บ้าน

เนอวานาคิดละเอียดถึงขั้นสร้างห้องเล่นดนตรีในพื้นที่ส่วนกลาง เก็บเสียงอย่างดี เพราะถ้าให้ลูกหลานเล่นดนตรีในบ้าน เสียงอาจไปรบกวนเพื่อนบ้านหลังอื่น คนเล่นก็ไม่สะใจ เลยจัดที่ให้เล่นอย่างดีแยกออกมาด้านนอก

รายละเอียดเหล่านี้ หากไม่คิดลึก คิดละเอียด คงไม่มีทางเกิดขึ้น

นอกเหนือจากสิ่งที่ตาเห็น ศรศักดิ์ยังใส่ใจสิ่งที่มองไม่เห็น อย่างความสัมพันธ์และความผูกพันของลูกค้าเนอวานาอีกด้วย

ศรศักดิ์เป็นคนลาดพร้าว บ้านของเขาอยู่ในโครงการเนอวานา 

ทำธุรกิจสร้างบ้านมา 20 ปี เขาทั้งสร้างบ้านให้คนอื่นและตัวเอง เข้าใจสินค้าและคนในบ้านอย่างถึงแก่น 

ศรศักดิ์วิเคราะห์ภาพรวมตลาดตอนนี้ว่าเหลือแต่ผู้เล่นรายใหญ่ ทุกคนเป็นมืออาชีพ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติอีกมีน้อยลง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้คนมีเงินซื้อบ้านน้อยลง แต่ความต้องการยังมีอยู่ 

“เรายังทำธุรกิจที่อยู่กับปัจจัย 4 ถามว่าข้าวแพงขึ้น คนจะกินข้าวน้อยลงมั้ย คงไม่ แต่อาจจะกินหรูน้อยลงแค่นั้นเอง กลุ่มที่จะแต่งงานคงไม่เลื่อนแต่งเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ฤกษ์มาแล้ว บ้านต้องหา ชีวิตต้องดำเนินไปข้างหน้า” 

โครงการแนวราบ อัตราการฟื้นตัวยังดีสุด ปัญหาของแนวราบคือราคาการผลิตที่สูงขึ้น ผู้รับเหมาหายากขึ้น ถือเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“การสร้างการเติบโตในธุรกิจอสังหาฯ วันนี้ ถ้าจะดันให้โตจริง ๆ อาจต้องลืมขอบเขตไปบ้าง ต้องเอาของดีที่สุดออกมาขายก่อน

“ผมว่าคอนโดมิเนียมในเมืองจะดีได้ต้องเลือกทำเลดีมาก วันนี้ลูกค้าคม ฉลาด รู้ลึก เพราะฉะนั้นเราต้องให้สิ่งที่ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่เขาหาจากที่อื่นไม่ได้ ถ้าโครงการของเราเป็นแบบ Me Too คงไม่ดี บ้านคือหนึ่งในสินค้าเพื่อการลงทุน ถ้าธีมเรื่องการลงทุนของเราไม่แข็งแรง ก็อาจไม่ได้คุ้มค่าสำหรับลูกค้าที่จะตัดสินใจซื้อ ผมว่าครึ่งปีหลังคนจะเริ่มรับได้กับราคาบ้านที่สูงขึ้น บ้านที่ลงตัวสำหรับเขายังเป็นบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต” ศรศักดิ์เล่า

ทุกโครงการของเนอวานาเชื่อมโยงกับคำว่า ‘ครอบครัว’ ศรศักดิ์มักมองการเติบโตของกลุ่มลูกค้าเดิม คิดตามสถานะครอบครัวว่าเขาจะโตไปทางไหนและอย่างไร จากนั้นก็สร้างบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการนั้น 

“เวลาซื้อบ้าน หลายคนไม่ได้คิดถึงแต่ลูก เขาคิดถึงหลานด้วย เมื่อหลานเกิดและโตขึ้นมา เขาจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างไร มีอะไรอยู่ใกล้บ้านบ้าง เข้าเมืองง่ายมั้ย มีโรงเรียนดี ๆ หรือเปล่า บ้านเราตอบทุกโจทย์

“ธุรกิจบ้านเป็นธุรกิจที่อยู่กับความเป็นครอบครัว ตัวอย่างหนึ่งคือการออกแบบห้องนอนชั้นล่าง เราเรียกว่าห้องนอนผู้ใหญ่ เราจะทำห้องนี้อย่างดี บางคนบอกว่าเข้าไปในบ้านเนอวานาแล้วดูไม่ใหญ่ดูไม่โอ่โถง เพราะลูกค้าเราไม่ได้เป็นคนอวดบ้าน เราทำในส่วนที่สำคัญจริง ๆ ห้องนอนผู้ใหญ่มีสวนส่วนตัว ไม่ได้เอาห้องเหลือ ๆ มาทำ มีการไหลเวียนของอากาศที่ดี เพราะคนที่อยู่บ้านเยอะคือคนมีอายุ เราทำทุกอย่างบนแนวคิดแบบนี้ Get around Customer เอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง เขาอยากได้อะไร เราทำสิ่งนั้น”

แก่นของเนอวานาคือคำว่าครอบครัว และเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทอยู่มาได้ถึง 20 ปี

8 Things you never know

about Sornsak Somwattana

1.  จุดไหนในบ้านที่ชอบที่สุด

เก้าอี้ส่วนตัวข้างที่นอน ผมเป็นคนใช้ชีวิตในห้องนอนเยอะ

2.  ภูเขาหรือทะเล

ทะเล

3. ร้านอาหารที่ชอบไปที่สุด

DEAN & DELUCA สาขาคริสตัล ปาร์ค

4.  เลนส์กล้องที่อยากอวดที่สุด

Noctilux

5.  เวลากลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ชอบทำอะไร

นั่งเก้าอี้ตัวนั้นในห้องนอน ดูอะไรไปเรื่อย

6.  อยากให้พนักงานเรียนรู้อะไรจากคุณมากที่สุด

Mindset วิธีคิดที่ถูกต้องน่าจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น

7. ความท้าทายในชีวิตตอนนี้

มี 2 อย่าง หนึ่ง ธุรกิจที่ต้องทำ ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ท้าทาย อีกอันหนึ่งคือสุขภาพ ปีนี้ 49 ถ้าไม่ระวัง พลาดพลั้งไป ลืมตาอีกทีอาจจะแก่แล้ว

8.  เข้างานตอนกี่โมง

ถึงออฟฟิศตอน 9 โมง เป็นคนนอนดึก โชคดีที่บ้านอยู่ใกล้ออฟฟิศ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ NIRVANA COLLECTION

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ