สงขลาเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีอะไรมากมายให้เที่ยวชม ทั้งเขตเมืองเก่าที่สวยงาม เดินถ่ายรูปได้ทุกซอกซอย มีทะเลที่สงบกว่าที่ไหนๆ มีขนมโบราณโฮมเมด ไหนจะมีทุเรียนรสชาติดีราคาถูกให้คุณได้กินจุใจ
แม้ฉันจะตาลุกวาวกับทุกสิ่งข้างต้นที่เล่ามา แต่เป้าหมายของการมาสงขลาครั้งนี้คือการไป ‘หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา’ หรือ ‘หอดูดาวสองทะเล’ หอดูดาวแห่งแรกของภาคใต้ และเป็นหอดูดาวครบวงจรแห่งที่ 3 ของประเทศไทยถัดจากจากนครราชสีมาและฉะเชิงเทรา



เพียงก้าวแรกที่ไปถึง ฉันก็ตาลุกวาวกับภาพของหอดูดาวสุดโมเดิร์นตรงหน้า ทั้งเมื่อประกอบกับวิวที่มองเห็นทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยแล้วยิ่งทำให้หอดูดาวตรงหน้าสวยจับใจขึ้นไปอีก

เมื่อมาหอดูดาว ภารกิจหลักจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากดูดวงดาว แม้การเป็นเด็กต่างจังหวัดของฉันจะทำให้ฉันตื่นตาตื่นใจกับการดูดาวน้อยกว่าเพื่อนจากเมืองกรุงเล็กน้อย เพราะหากคุณอยู่ในที่ไกลแสนไกล ตกดึกเพียงก้าวออกมาจากบริเวณบ้านก้าวสองก้าว คุณก็จะเจอดาวพร่างพราวเต็มท้องฟ้า
แต่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนนี่นาว่าดาวที่เห็นคือดาวอะไร ทั้งไม่เคยเห็นวงแหวนดาวเสาร์เป็นวงๆ กับตา ฉันจึงขอหยุดตื่นตาตื่นใจกับภาพสองทะเลตรงหน้าสักนิด เพื่อไปศึกษาดาราศาสตร์จริงๆ จังๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
ดวงดาวกับชาวใต้

อาจารย์ต้อ-เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และอาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เท้าความให้ฉันฟังว่า การดูดาวสัมพันธ์กับชีวิตคนใต้มาตั้งแต่ในอดีต ถึงขั้นมีคำกล่าวว่าหากดูดาวไม่เป็น ชาวประมงก็ออกทะเลไปหาปลาไม่ได้ ทั้งคนใต้ยังถือว่าทิศในการนอนเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อครั้นวิถีชีวิตยังผูกพันอยู่กับป่า คนใต้จะนอนหันหัวไปทางทิศใต้ เพื่อหากเกิดอะไรขึ้น เมื่อตื่นมาจะเจอทิศเหนือเสมอ และความคิดนี้ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน
แม้วิถีชีวิตคนใต้จะผูกพันกับดาวมาก แต่กลับไม่มีหอดูดาวในบริเวณภาคใต้เลย การศึกษาเรื่องดาราศาสตร์แต่ละครั้ง ชาวใต้ต้องเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร สู่เมืองหลวง อาจารย์จึงอยากกระจายโอกาสให้ทั่วถึงทุกคน

แล้วความหลงใหลด้านดาราศาสตร์ซึ่งนำมาสู่การสร้างหอดูดาวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน เราสงสัย
“ตอน ม.สาม ผมบังเอิญสอบได้ที่หนึ่งของจังหวัด แล้วได้โอกาสไปแข่งวิชาการต่อที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งมีบัตรกำนัลให้เลือกอยู่สองใบ คือสวนสยาม และท้องฟ้าจำลอง เอกมัย
“เด็กบ้านนอกได้เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก ก็เลือกท้องฟ้าจำลอง หลังจากนั้นมันคือเปลี่ยนชีวิตผมเลย มีแบบนี้ด้วยเหรอ ทำไมเด็กกรุงเทพฯ ถึงได้โอกาสแบบนั้น ทำไมผมถึงได้ไปแค่คนเดียว เพื่อนในห้องผม เด็กบ้านผม ไม่ได้รับโอกาสนี้”
อาจารย์เล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตที่ทำให้เลือกเรียนด้านดาราศาสตร์และพยายามจะให้คนใต้ได้มีโอกาสศึกษาด้านดาราศาสตร์เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาและเด็กในเมืองกรุงมากมายได้รับ
ให้เด็กใต้ได้เห็นว่าวงแหวนดาวเสาร์สวยงามขนาดไหน และหลุมบนดวงจันทร์หน้าตาเป็นอย่างไร
ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สร้างคน
กว่าจะเป็นหอดูดาวอย่างที่เห็นไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์ต้องพยายามบุกบั่นปั้นโครงการนี้มากว่า 16 ปี รวมถึงใช้ที่ดินของตัวเองเพื่อสร้างความฝันนี้ให้กลายเป็นความจริง

โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือหลักมาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
“คุณคมสันต์ โอ๊ยนาสวน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แอบมาดูแล้วเห็นผมอยู่เดินคุมงานก่อสร้างอยู่ ท่านเห็นผมครั้งแรกก็นึกว่าเป็นคนงาน เพราะผมตัวเกรียม ผมกระเซอะกระเซิง ไม่คิดว่าผมเป็นผู้อำนวยการด้วยซ้ำ
“เขามาเสนอตัวขอให้เชฟรอนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างแรงบันดาลใจด้วยกัน เพราะดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่สร้างคนได้” ไม่เพียงแต่ให้ทุนสร้างหอดูดาวเท่านั้น เชฟรอนยังให้ทุนสนับสนุนเรื่องการออกโร้ดโชว์ตามโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย

“เราเอาอุปกรณ์นิทรรศการบางส่วนไปจัดแสดงที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เอากล้องออกไปตั้งเพื่อเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ได้เห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ เชฟรอนกับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา สงขลา จึงเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเด็กๆ ด้วยกัน”
อาจารย์ต้อเล่าถึงการลงพื้นที่อย่างขะมักเขม้น เพื่อกระจายโอกาสให้เท่าเทียมดังอุดมการณ์ที่มีตั้งแต่ต้น
ส่องดาวซีกโลกใต้
ความพิเศษที่ทำให้หอดูดาวแห่งนี้โดดเด่นกว่าที่ไหนๆ คือการที่สงขลาอยู่ใกล้เส้นละติจูดมาก โดยอยู่เหนือจากเส้นศูนย์สูตรมาแค่ 7 องศา ทำให้หอดูดาวแห่งนี้เป็นจุดที่สังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ได้ดีที่สุดในประเทศไทย

“ที่นี่เราจะเห็นวัตถุท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้เกือบทั้งหมด กลุ่มกางเขนใต้ กระดูกงูเรือใต้ พวกนี้ ทางเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ไม่มีสิทธิ์เห็น หรือยากมากที่จะได้เห็น แต่ทางนี้เห็นได้ชัดเจน กึ่งกลางทางช้างเผือก เราก็สังเกตการณ์ได้”
ณ วินาทีที่อาจารย์เล่าจบ ฉันอยากบอกอังศุมาลินเหลือเกินว่าหากเธอเกิดในยุคนี้ เธอจะมีโอกาสได้เฝ้ามองโกโบริชัดๆ เต็มตาเลยนะ
ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์อิสลามแห่งแรกของไทย
นอกจากเหมาะแก่การชมกลุ่มดาวซีกโลกใต้แล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์อิสลามแห่งแรกของไทยอีกด้วย
“ดาราศาสตร์อิสลามคือศาสตร์ของเวลา หนึ่งวันชาวมุสลิมต้องละหมาดห้าครั้ง คือเวลาย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ และกลางคืน ซึ่งเวลาทั้งห้านี้เกิดจากการสังเกตตำแหน่งของดวงอาทิตย์นั่นเอง
“ถัดมาคือการกำหนดเดือนใหม่ คือการนับจากการที่ดวงจันทร์เสี้ยวแรกปรากฏขึ้นบนฟากฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตด้วยตาได้ยากมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าดวงจันทร์ทำมุมเท่าไหร่ กี่องศาจากขอบฟ้า

“หน้าที่ของเราจึงเป็นการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำที่สุดเพื่อสนับสนุนการประกาศต่างๆ ของจุฬาราชมนตรีซึ่งมี คุณลอญารี มามะ ลูกศิษย์ของผมและบุคลากรของหอดูดาวแห่งนี้ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย”
อาจารย์กล่าวถึงอีกภารกิจหลักของหอดูดาวแห่งสงขลา ดินแดนที่วัฒนธรรมไทย จีน และอิสลาม สอดประสานกันอย่างแน่นแฟ้นกลมเกลียว
สัมผัสดารา
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่ถูกออกแบบมาให้ทุกอาคารเชื่อมกันหมดแห่งนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก หนึ่งคือ ท้องฟ้าจำลองที่เป็นโรงภาพยนตร์จอโค้งครึ่งทรงกลม 25 พิกเซล แสดงภาพเกือบสามมิติ ผู้ที่มาที่นี่ไม่ต้องใส่แว่นตาแดงน้ำเงินแต่อย่างใดก็สามารถเห็นอุกกาบาตเหมือนจะพุ่งเข้ามาหาได้
สองคือ โซนนิทรรศการเชิงโต้ตอบที่มีอยู่มากกว่า 14 โซน

มีก้อนอุกกาบาตของจริงจากอาร์เจนตินาให้เด็กได้สัมผัสได้จริงว่านี่คืออุกกาบาตเหล็กจากนอกโลกที่มีค่าความหนาแน่นมากทำให้ยกขึ้นไม่ได้
มีเครื่องชั่งน้ำหนักแบบจำลองให้เล่นสนุกว่าคุณชั่งบนดาวดวงไหน คุณน้ำหนักเท่าไหร่ เรียกว่าขึ้นตาชั่งครั้งเดียวคุณชั่งน้ำหนักได้ทุกดวง ทั้งดาวเคราะห์และดวงจันทร์

มีเครื่องจำลองน้ำขึ้น น้ำลง ให้เด็กชมและทดลองสัมผัสได้ เรียนรู้จริงได้ ซึ่งฉันต้องขอบคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้ เรียนวิทยาศาสตร์มาสิบกว่าปี เพิ่งเข้าใจหลักการน้ำขึ้นน้ำลงจริงๆ ก็วันนี้
สามคือ โซนดูดาวจริงๆ ด้วยกล้องโทรทรรศน์หุ่นยนต์ 0.7 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ และทันสมัยเบอร์สองของอาเซียน ด้วยกล้องตัวนี้นี่เองที่ทำให้ฉันได้เห็นดาวเสาร์สมใจ ไม่ต้องเปิดรูปจากอินเทอร์เน็ตเพื่อดูวงแหวนของมันอีกต่อไป
เรียนรู้ดวงดาว เข้าใจโลกดวงนี้
หลังจากจ้องมองวงแหวนของดาวเสาร์จนภาพนั้นเข้าไปประทับอยู่ในใจแล้ว ฉันถามชายผู้อุทิศตนให้ดาราศาสตร์มาทั้งชีวิตว่า เมื่อดาราศาสตร์ไม่ส่งผลถึงปากท้อง ทำไมดาราศาสตร์จึงยังสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ตัวเล็กๆ อยู่
“เพราะดาราศาสตร์สอนให้เข้าใจความเป็นเหตุและผล ทำไมดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ทำไมหนึ่งวันมียี่สิบสี่ชั่วโมง ทำไมหนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวัน ทำไมหนึ่งปีมีสิบสองเดือน ทำไมไปหมด แต่มันมีเหตุและผลในตัวของมันเอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเข้าใจเหตุและผล คุณจะเรียนรู้ได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกใบนี้” ชายผู้หลงใหลดาราศาสตร์ตั้งแต่ ม.3 กล่าว

ฉันนั่งฟังและนึกดีใจแทนคนใต้ที่มีโอกาสได้เข้าใจดาราศาสตร์ได้ง่ายๆ ไม่ต้องเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับฟากฟ้าอันน่าพิศวงอีกต่อไป
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ