ชายวัยอิสระอายุ 60 กว่า พาร่างที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามตามสัดส่วนของนักกีฬาเดินฝ่าแสงแดดตอน 15.00 น. เข้ามาในลานแอโรบิกสวนรถไฟ (สวนวชิรเบญจทัศ) เม็ดเหงื่อที่ผุดขึ้นบนใบหน้าของเขาไหลจากหน้าผากเหนือแว่นสายตากรอบสีดำลงมา เขาดูเป็นชายวัย 60 กว่าที่ยังคมเข้มและแข็งแรง

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง อุทิศเวลาและชีวิตให้การสอนแอโรบิกตามสวนสาธารณะมากว่า 27 ปี เพื่อให้คนไทยสุขภาพดี พร้อมทั้งปลุกไฟของผู้สูงวัยสายขี้เกียจให้ตื่นขึ้นมาใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์

ครูชีพ ผู้นำเต้นแอโรบิกที่สละเวลา-ชีวิตกว่า 27 ปี ให้คนไทยสุขภาพดีและปลุกสูงวัยมาออกกำลังกาย
ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง

เขานำเต้นที่สวนรถไฟมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เมื่อครั้งยังเป็นลานดินเต็มไปด้วยหลุมบ่อ เพราะเต้นจนหญ้าตาย กระทั่งเปลี่ยนมาเป็นลานซีเมนต์ ปัจจุบันเขาคือครูผู้มีเครือข่ายเต้นแอโรบิกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทีมงาน 18 คน มีพื้นที่ในความดูแลทั่วกรุงเทพฯ มีผู้ร่วมอุดมการณ์รักสุขภาพนับพันคน

ครูชีพพาทีมงาน The Cloud น้องใหม่ในสัปดาห์ทองคำมายังลานแอโรบิกเพื่อพูดคุย รอเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่คนแปลกหน้านับร้อยมารวมตัวกันเพื่อออกกำลังกาย มีตั้งแต่เด็กน้อยอายุ 10 ขวบ จนถึงวัยอิสระอายุ 90 ปีที่มาร่วมกิจกรรมแทบไม่ขาดสายมานานนับสิบปี แต่ก่อนจะถึงเวลายักย้ายส่ายสะโพก เราและทีมงานขอทิ้งตัวลงบนม้านั่งที่เรียงรายอยู่โดยรอบเพื่อคุยกับชายคนนี้

จากเด็กลพบุรี สู่ครูผู้มีแต่ให้

ครูชีพเป็นคนลพบุรีโดยกำเนิด สมัยเด็กชอบวิ่งและเตะฟุตบอล เมื่อโตขึ้นเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ ครูวรรณศิริ แสงทอง แห่งศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) 

“ตอนอายุ 29 ปี ผมทำงานแล้ว และอยากออกกำลังกาย เลยไปวิ่งที่ศูนย์เยาวชนฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) เห็นเขาเต้นกันดูสนุกดี ประกอบกับผมก็ชอบเสียงเพลง เลยลองไปเต้นกับเขา แต่วันแรกไปเก้อ เพราะไม่ทราบว่าเขาหยุด วันถัดไปจึงไปอีก และช่วยครูผู้หญิงซึ่งเป็นลูกศิษย์ครูวรรณศิริขนลำโพงมาจัดวาง 

“ผมเริ่มเต้นต้นปี ผ่านไป 3 – 4 เดือน เขาเริ่มเห็นแวว เลยมาถามว่าสนใจนำเต้นไหม ผมตอบตกลงและไปอบรมเป็นวิทยากร ใช้เวลาอบรม 1 สัปดาห์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้ายัน 4 โมงเย็น เรียนทั้งท่าเต้น ท่าย่ำ ระบบหายใจ และการจับจังหวะเพลง แปลว่าถ้าหูบอด เต้นคร่อมจังหวะ จะนำเต้นไม่ได้” เขาหัวเราะ

แต่ถึงอย่างนั้นก็เคยมีสมาชิกที่เป็นผู้พิการทางการได้ยินมาเข้าร่วม และเขาก็นำเต้นได้ตรงจังหวะทั้งหมด เพราะจับการเคลื่อนไหวด้วยการมอง และจับความความสั่นสะเทือนของลำโพง

ครูชีพ ผู้นำเต้นแอโรบิกที่สละเวลา-ชีวิตกว่า 27 ปี ให้คนไทยสุขภาพดีและปลุกสูงวัยมาออกกำลังกาย

ครูชีพได้ใบประกาศผ่านการอบรมจาก กทม. การขึ้นเวทีครั้งแรกของเขาไม่ได้สร้างความตื่นเต้นมากมาย เพราะชินทั้งการเต้นหน้าเวทีและการมีคนรอบข้างเต้นด้วยกัน เราสังเกตว่าท่าทางการเต้นของครูชีพทั้งแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ทราบว่าเขาจบเพาะช่าง แต่ก็ชั่งใจว่าทำไมจึงเต้นเก่งขนาดนี้

“ผมจบเพาะช่าง แต่ผมเรียนลีลาศได้เกรด A เชียวนะ” เขายิ้มอย่างภูมิใจ

เมื่อเริ่มเข้าสู่วงการครูนำเต้นแอโรบิก เจ้าตัวต้องเปลี่ยนแปลงทั้งการแต่งกายและบุคลิกภาพ

เมื่อก่อนแต่งตัวเป็นหนุ่มลูกทุ่งเสื้อลาย สวมกางเกงสีเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด จนได้รับฉายา ‘ไอ้คล้าว’ แห่ง มนต์รักลูกทุ่ง ต่อมาเข้าทำงานที่บริษัทขายเสื้อผ้ากีฬาชื่อดังจึงเริ่มปรับเปลี่ยนการแต่งตัว รวมถึงเสนอให้ทางบริษัทสนับสนุนชุดแก่ทีมงานในบางโอกาส จากไอ้คล้าวจึงกลายเป็นหนุ่มสมาร์ตจิตอาสา

เครือข่ายหยาดเหงื่อเพื่อแอโรบิก

“ผมทำงานตำแหน่ง Visual Merchandising ของ adidas ทำหน้าที่ดูแลภาพลักษณ์ การตกแต่งดิสเพลย์ และการจัดหน้าร้านให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ ทำมา 27 ปีแล้ว” เขาเล่า

ส่วนเราสังเกตชุดที่เขาใส่ ทุกอย่างเป็นยี่ห้อเดียวกันหมด บ่งบอกถึง Brand Loyalty

ครูชีพ ผู้นำเต้นแอโรบิกที่สละเวลา-ชีวิตกว่า 27 ปี ให้คนไทยสุขภาพดีและปลุกสูงวัยมาออกกำลังกาย

ทุกวันหลังเลิกงาน เวลา 17.00 น. ครูชีพจะรีบเดินทางไปนำเต้นตามสถานที่ต่าง ๆ วันละประมาณ 45 นาที จำนวน 4 – 5 วันต่อสัปดาห์ เขาเป็นครูที่ให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลามาก เพราะมีผู้คนนับร้อยกำลังรอเต้นอย่างตั้งใจ หากประเมินแล้วว่าไม่อาจไปถึงตามนัดได้ ครูชีพก็ยินดีสละสิทธิ์ให้ลูกศิษย์ชายหญิงกว่า 18 คนในเครือข่ายไปนำเต้นแทน เพื่อประโยชน์ของสาธารณะที่ไม่ต้องมีใครรอใคร

ปัจจุบันกลุ่มทีมงานที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ คือเขตดินแดงและห้วยขวาง

ครูชีพเป็นผู้คัดเลือกทีมเองทั้งหมด คุณสมบัติคือต้องมาเต้นเป็นประจำ มีจิตอาสา ยินดีสละเวลาเพื่อส่วนรวม และท่าเต้นต้องแข็งแรง ชนิดที่เห็นแล้วรู้เลยว่ามาจากการฝึกของครูชีพแน่นอน

สำหรับผู้ที่มาเต้นกับเขา ก็มีทั้งใจรักและใจสู้ แม้วันฝนพรำ หากครูไม่ลงจากเวที ด้านล่างเวทีก็ไม่มีถอย เว้นเสียแต่ฝนกระหน่ำจนเดินหน้าเต้นต่อไม่ไหว ทั้งครูผู้สอนและผู้เข้าร่วมจึงยอมเลิกรา

หนึ่งในสมาชิกลานแอโรบิกที่ใจสู้จนต้องบอกต่อคือ ลุงพงษ์ อายุ 93 ปี แอโรบิกช่างทำให้คนแข็งแรงจริง ๆ เพราะเป็นที่รู้กันว่าลุงพงษ์คือขาประจำที่มาเต้นไม่ขาด หากขาดแปลว่ามีธุระสำคัญมาก ส่วน พี่หนิง เป็นสมาชิกที่มาเต้นได้สักพักก็ไม่ต้องไปพบแพทย์บ่อย ๆ เพราะร่างกายฟิตและแข็งแรงขึ้น

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

สมาชิกส่วนใหญ่ของลานแอโรบิกสวนรถไฟเป็นวัยกลางคนจนถึงวัยอิสระ เรียกว่าฝั่งสวนรถไฟมีผู้สูงอายุเข้าร่วมมากกว่าฝั่งสวนจตุจักร แต่ก็มีสูงวัย (วัยฟิต) ที่เต้นทั้ง 2 ลานต่อกันด้วย 

เรามองไปหน้าเวทีขณะที่เพลงลูกทุ่งดังออกจากลำโพงเพื่อบิวต์อารมณ์คนในลานและส่งสัญญาณว่าใกล้เวลาเต้นแล้ว ลุงพงษ์มายืนรอในที่ประจำ เขารูปร่างสูงใหญ่ ท่าทางแข็งแรง ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามาทักทายพูดคุยกันรอบขอบสนาม เราเห็นสูงวัยส่วนหนึ่งหยิบไม้กวาดมาปัดกวาดเศษดินเศษหญ้าออกไปจากพื้น สีหน้าของพวกเขาแจ่มใส – นี่คือ ‘ชุมชนคนรักสุขภาพ’ ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ

“ที่นี่ต้อนรับทุกคนเลยครับ แค่ขยับก็เท่ากับได้ออกกำลังกายแล้ว ผมขอให้มาเถอะ คนไหนที่มาเต้นแล้วผมเห็นแวว หากเขาสนใจก็ยินดีช่วยจับไลน์ ฝึกท่าให้ เพื่อไปอบรมเป็นวิทยากร”

ครูชีพบอกว่าในอนาคตจะมีการเปิดลานแอโรบิกในพื้นที่สาธารณะอีกมาก หากวันนั้นมาถึง จำนวนวิทยากรไม่มีทางเพียงพอ เขาจึงยังมองหาทีมงานเพื่อรองรับจำนวนสนามใหม่ที่จะเกิดขึ้น

และอีกเหตุผลสำคัญ คือเพื่อให้ประชาชนยังมีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่ผมกำลังทำ ช่วยแก้ปัญหาสังคมด้านสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมหยุดทำ คนที่มาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพก็จะขาดความต่อเนื่อง ผมอยากให้เขามาทุกวัน เพราะเป็นผลดีกับเขาเอง”

ปลุกสูงวัยมาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ลานแอโรบิกของครูชีพคือการสร้างชุมชนขนาดเล็กที่เชื่อมกันด้วยการออกกำลังกาย ที่แห่งนี้มีผู้คนหลากหลายอาชีพแวะเวียนมา ทั้งทหาร-ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แพทย์ พยาบาล แม่บ้าน ฯลฯ บางกลุ่มก่อเกิดมิตรภาพจนชักชวนไปกินไอศกรีม-กินข้าวเย็นก่อนแยกย้ายกลับบ้าน (แม้บ้านจะอยู่ไกลกันก็ตาม)

ยิ่งพูดถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างวัยอิสระ ครูชีพบอกว่าเต้นแอโรบิกช่วยได้ทั้งสุขภาพกายและใจ

“ปัญหาของคนเกษียณคือเขามีเวลาอิสระเยอะ เยอะจนบางคนขี้เกียจตื่น ขี้เกียจลุก ทั้งที่การลุกมาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมตอนเช้า เป็นเรื่องดีกว่านอนอยู่เฉย ๆ หลายครั้งพวกเขาปล่อยตัวให้อิสระเกินไป ผมพยายามบอกว่า ถ้าแบ่งเวลาเช้าหรือเย็นมาออกกำลังกายจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีได้

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

“ถ้าผมเจอเขามาออกกำลังกายสักครั้งก็จะเดินไปชวนคุยว่าเพิ่งมาใหม่เหรอ รบกวนมาออกสักอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้งก็ดีนะครับ วันเว้นวันก็ดี จนหลัง ๆ เขามาทุกวันเลย เพราะเขาบอกว่ามาที่นี่มีเพื่อน แอโรบิกได้เพื่อนเยอะ อย่างที่บอกว่าต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างกลุ่มคน แต่กลับรวมตัวกันอยู่ตรงนี้”

กีฬาแต่ละประเภทสร้างเสริมความแข็งแรงในแต่ละส่วน แต่แอโรบิกได้ครบทุกส่วน ตั้งแต่ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อ ยิ่งเต้นติดต่อกัน 45 นาที รับรองว่าหัวใจทำงาน สูบฉีดเลือดดี

สิ่งที่ครูชีพทำอยู่สะท้อนให้เห็นว่าเขาคือครูผู้มีแต่ให้ เขาพร้อมสละเวลา หยาดเหงื่อ แรงกาย รับค่าตอบแทนอันน้อยนิด ทั้งบางครั้งยังต้องสละทรัพย์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของสังคม

ปัญหาและอนาคตของวงการแอโรบิก

สำหรับการสอนที่สวนรถไฟ ค่าสอนที่ได้รับปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของผู้ว่าฯ กทม. โดยสมัย พิจิตต รัตตกุล ได้ค่าจ้าง 400 บาท สมัย สมัคร สุนทรเวช ได้ 250 บาท และปัจจุบัน 500 บาท จากคำเรียก ‘จิตอาสา’ ก็เปลี่ยนเป็น ‘วิทยากร’ ส่วนครูชีพเริ่มสอนตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน ได้ค่าตัว 60 บาท

“ค่าเดินทางไป-กลับก็หมดแล้ว” สำหรับเขา เงินไม่สำคัญเท่ามิตรภาพและความภูมิใจที่ได้รับ ผู้คนกว่า 200 คนรอคอยการเต้นเพื่อสุขภาพ หากคนไทยมีสุขภาพแข็งแรง อัตราการเจ็บป่วยก็น้อยลง ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ส่งผลถึงการประหยัดงบประมาณรัฐที่ใช้จ่ายด้านการรักษาไปในตัว

“แต่ผมก็มีปัญหาในการซ่อมเครื่องเสียง เพราะ กทม. ไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้ ถ้าผมไม่เอาไปซ่อมเองก็ไม่มีเสียงเพลงให้คนเต้น แรก ๆ ผมออกเงินไปก่อน พอสมาชิกเขาเห็น เลยมารวมกันให้ตามกำลังทรัพย์ ตอนหลังจึงเริ่มมีการเก็บรายปี ปีละ 100 บาทตามความสมัครใจของผู้มาเต้น”

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ผู้ที่ช่วยสนับสนุนถือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกทั้งหมด ครูชีพไม่ได้ต้องการเงินที่ควักไปก่อนคืน เพราะทุกอย่างทำด้วยใจ แต่เรื่องค่าตัววิทยากรยังเป็นปัญหาอยู่บ้าง ไหนจะเรื่องการไม่มีประกันอุบัติเหตุหรือสวัสดิการรองรับ เพราะการเดินทางมาสอนแต่ละครั้ง หากรีบก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน

แต่สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ ‘ดูเหมือน’ มาแย่งสมาชิกแอโรบิกอย่างการเต้น ‘ซุมบา’ ครูชีพบอกว่านั่นไม่ถือเป็นอุปสรรค เพราะการเต้นซุมบาใช้ข้อต่อมากจึงไม่เอื้อ ทั้งยังอันตรายต่อผู้สูงอายุ

หากการเต้นแอโรบิกไม่ดีจริง เขาก็คงไม่ได้เต้นที่สวนรถไฟมานานถึงปีที่ 27

“ที่นี่เราเต้นกันเป็นกิจวัตร เรียกว่าระบบรูทีน ผู้เต้นเห็นครูตลอดเวลา เน้นท่าเต้นที่ไม่ยาก ทำตามได้ มาไม่กี่ทีก็จำได้” เราถามต่อด้วยความอยากรู้ว่าแอโรบิกเป็นเรื่องที่เชยไหม เขาบอกว่า “ไม่เลย”

“เราไม่เน้นทันสมัย เราเน้นสุขภาพ วัดกันง่าย ๆ ที่อายุสมาชิก ลุงพงษ์ก็ 93 แล้ว”

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ครูชีพมุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมด้านสุขภาพมาตลอดและตั้งเป้าไว้ว่าตลอดไป แม้ฤดูฝน เขาก็หวังว่ากิจกรรมอันมีประโยชน์นี้จะดำเนินต่อได้ โดยเห็นว่าควรสร้างโดมคลุมลานแอโรบิก และอยากส่งเรื่องถึงผู้ว่าฯ กทม. ให้พิจารณางบประมาณบำรุงลานและเครื่องเสียง ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน

“ฝากอีกเรื่องถึงผู้ว่าฯ กทม. ในวันฝนตก วิทยากรของเขตดินแดงจะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพราะไม่ได้จัดกิจกรรม แม้ว่าเขาเดินทางไปถึงแล้วก็ตาม ผมคิดว่าควรมีความเป็นธรรมให้วิทยากรด้วย แค่การเดินทางก็มีค่าใช้จ่ายแล้ว งบประมาณที่ทำเรื่องขอเบิกจ่ายออกมาแต่ไม่จ่าย ก็ไม่ทราบว่าเอาไปไหน”

ครูชีพหวังว่าจะได้ขยายพื้นที่การเต้นออกไปอีกหลายสนาม

“ผมอยากให้เปิดใจว่าการออกกำลังกายที่สวนสาธารณะไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด สิ่งที่ได้นอกจากสุขภาพดีคือมิตรภาพที่กว้างขึ้น” ผู้ทุ่มแรงกายแรงใจกว่า 27 ปีย้ำเสียงหนักแน่นในประโยคสุดท้าย

จากการพูดคุยครั้งนี้ เราได้รู้จักตัวตนของเขามากยิ่งขึ้น แต่คงไม่มีคำอธิบายใดเหมาะไปกว่า

‘ครูผู้ทุ่มเททุกหยาดเหงื่อเพื่อแอโรบิกและเพื่อสังคมอย่างแท้จริง’

ครูชีพ-สมชาย ปิยะคง ผู้สอนแอโรบิกเพื่อสังคมนาน 27 ปี ยืนหยัดอยากให้คนไทยสุขภาพดี และสูงวัยได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

สำหรับผู้อยากลองมาเต้นแอโรบิกเพื่อสุขภาพกับครูชีพ ลองดูตารางวันและเวลาตามนี้เลย

  • วันจันทร์ เวลา 18.00 – 19.00 น. ที่สวนเบญจสิริ 
  • วันศุกร์ เวลา 18.10 – 19.00 น. ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)
  • วันอังคารและเสาร์ เวลา 18.00 – 19.00 น. ที่สวนจตุจักร 
  • วันอาทิตย์ เวลา 17.10 – 18.00 น. ที่สวนรถไฟ

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การสร้างคอมมูนิตี้หลังเกษียณ’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่อง ครูชีพ ครูนำเต้นแอโรบิกในสวนสาธารณะที่ทุ่มหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ เพื่อสังคมกว่า 27 ปี ด้วยความตั้งใจที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพดี พร้อมชักชวนผู้สูงวัยมาออกกำลังกาย เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ร่างกายแข็งแรง ยังเป็นกิจกรรมสร้างเพื่อนจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ หลังเกษียณที่เหงาน้อยลง เพราะมีเพื่อนใหม่เยอะขึ้น

Writer

ปัทมา กลิ่นทอง

ปัทมา กลิ่นทอง

นักเขียนอิสระ ร้างเวทีมานาน รางวัลสูงสุดที่เคยได้รับคือ รางวัลแว่นแก้ว สารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี 2553 เรื่องเกิดเป็นเด็กตลาด โดยใช้ชื่อจริงว่า ปัทมา กลิ่นทอง ยังไขว่คว้าหาความสุขด้วยการเขียน นอกจากเต้นซุมบ้าและโยคะ

Photographer

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

“หยุดเวลาไว้ในภาพใบนั้น โอบกอดวันวานไว้ในกล้องตัวเก่า โลกสุขสว่างหรือซึมเศร้า งามหรือเหงา ล้วนมีค่าเท่า ๆ กัน” เกิดมาเป็นผู้บันทึก มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวมากมาย ขอบคุณทุกฉากชีวิตที่ผ่านมา แม้เพียงครั้งหนึ่งยังคิดถึงเสมอ