ไปทำเลเซอร์ยกกระชับมาค่ะ

แต่ไม่ได้ไปทำให้หน้าตึงแบบที่เขาฮิต ๆ กันนะคะ อุ้มไปทำภายในค่ะ อย่าเพิ่งตกใจ! ภายในที่ว่าคือภายในคอ เพราะนี่เป็นเลเซอร์ที่คลินิกหมอฟัน เพื่อกระชับเนื้อเยื่อคอข้างในให้หายกรนค่ะ

งงกว่าเดิมอีก (หัวเราะ)

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้

ในโลกนี้คงมีคนเดียวที่รู้ว่าอุ้มกรนคือคนที่นอนอยู่ข้าง ๆ ทุกคืนอย่าง พ่อสมคิด ฮีบ่นมานานหลายปีแล้วว่า ยูกรนดังมากกกกกกทุกคืน ดังจนไอนอนไม่หลับ บางทีต้องจับอุ้มพลิกตัว ก็พอช่วยได้บ้าง แต่นาน ๆ เข้า ฮีถึงกับต้องเอาพัดลมมาเปิดเบอร์แรงสุดให้ดังฟู่วว ๆๆๆๆ กลบเสียง อุ้มนี่เป็นพวกชอบห้องนอนเงียบ ๆ แต่จะไปปิดพัดลมของฮีก็มีความกรนเบอร์แรงสุดของตัวเองที่ปิดไม่ได้ค้ำคออยู่ เลยต้องหาฟองน้ำมาปิดหูตัวเอง อิหลักอิเหลื่อจนพาลจะหาเรื่องแยกห้องนอนกันอยู่แล้วเนี่ย

หลายคนคงร้องอุ๊ต๊ะ! ปัญหาเดียวกับบ้านฉันเลย แต่อาจกลับกันตรงสามีเป็นฝ่ายกรน เพราะภาพจำของคนจะเป็นแบบนั้นมากกว่าใช่มั้ยคะ ว่าผู้ชายหรือไม่ก็คนน้ำหนักเยอะ ๆ มักนอนกรน แต่จริง ๆ แล้วผู้หญิงเองก็นอนกรนไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย และหารู้ไม่ว่าผอมกะหร่องอย่างอุ้มนี่ก็ตัวตึงทางนี้กับเขาได้ด้วยเหมือนกัน

งั้นต้องมาคุยกันก่อนค่ะว่าทำไมคนเราถึงกรน

แน่นอนว่าเพศ น้ำหนักตัว การดื่มแอลกอฮอล์ โรคภูมิแพ้หรือไข้หวัด ล้วนมีผลต่อการกรน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดเสียงดังเวลานอนนั้น เกิดจากสรีระและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อในช่องปากและคอของแต่ละคนค่ะ

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้
รูปแสดงเพดานอ่อนและลิ้นที่ไปปิดทางเดินหายใจเวลานอน

รูปข้างบนนี้แสดงให้เห็นถึงเวลาที่ร่างกายของคนเราเข้าสู่ภาวะหลับลึก กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (ตรงที่อยู่หน้าลิ้นไก่) ลิ้น และคอด้านใน จะหย่อนตัวลง จนบางครั้งถึงกับไปปิดทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน บางคนอาจมีกล้ามเนื้อบริเวณนี้ที่หย่อนยานมากกว่าปกติ

ยิ่งช่องลมในคอถูกปิดกั้นมากเท่าไหร่ ร่างกายก็ต้องยิ่งใช้ความพยายามในการหายใจเข้าออก (ทางปาก) มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้กล้ามเนื้อที่หย่อนเหล่านั้นยิ่งสั่นพั่บ ๆ กลายเป็นเสียงเพลงมโหรีปี่พาทย์ที่ไม่มีใครอยากฟัง

นอกเหนือไปจากสร้างความรบกวนให้คนที่นอนห้องเดียวกัน การกรนยังทำให้เจ้าตัวนอนหลับไม่เต็มที่ ตื่นมาไม่สดใส กลางวันก็ง่วงเหงาหาวนอน หงุดหงิด จำอะไรไม่ค่อยได้ นาน ๆ ไปอาจมีปัญหาความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจตามมา

อีกอย่างที่กอดคอกันมากับอาการกรน คือการหยุดหายใจเวลาหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจถูกปิดกั้น หรือที่เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA) ค่ะ ถ้าคุณกรนแล้วมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ก็น่าสงสัยแหละค่ะว่านี่เป็นปัญหาสุขภาพที่ใหญ่กว่าแค่นอนเสียงดังสร้างความรำคาญ อาการที่ว่าก็อย่างเช่น

  • มีคนช่วยสังเกตได้ว่าหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • ง่วงมากตอนกลางวัน
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • ปวดหัวตอนเช้า
  • ตื่นมาเจ็บคอหรือปากแห้ง
  • นอนหลับไม่ค่อยสนิท
  • บางครั้งสะดุ้งเฮือกตื่นมากลางดึก แล้วเหมือนเพิ่งโผล่ขึ้นมาจากน้ำเพื่อหายใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • เจ็บหน้าอกตอนกลางคืน
  • ถ้าเป็นในเด็ก อาจสมาธิสั้น มีปัญหาด้านพฤติกรรม และผลการเรียนไม่ดี บางทีถึงขั้นถูกวินิจฉัยว่าเป็น ADHD

อุ้มนี่เช็กถูกทุกข้อ ยกเว้นเรื่องความดันโลหิตสูงและ ADHD คือบางทีตื่นมาเฮือก ใจเต้นไม่เป็นส่ำ รู้สึกกลัวตายมากเลย แล้วก็ถึงจุดที่คิดว่า ไม่ได้แล้ว ปล่อยไปแบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องทำอะไรสักอย่าง

คือจริง ๆ อาการกรนนี่มีมาตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้วนะคะ แล้วก็ไปโรงพยาบาลเพื่อทำ Sleep Study มาแล้วด้วย แต่ปัญหาตอนนั้นคือต้องไปนอนในห้องที่โรงพยาบาล ใส่เครื่องวัด มีสายระโยงระยาง แถมมีพยาบาลเดินเข้าเดินออกมาจดนู่นปรับนี่ ผลคือสิริยากรนอนไม่หลับแม้แต่นาทีเดียว ตื่นทั้งคืนทำลายสถิติมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผลมันจะไปใช้ได้อะไร เสียเงินเปล่ามากเลย

แล้วตอนนั้นกะว่าได้ผล Sleep Test มาจะได้เอาไปให้หมอสั่งเครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) มาใส่ตอนนอน เพราะค่อนข้างแน่ใจว่า Apnea แน่ ๆ แต่พอไม่หลับ ผลใช้ไม่ได้ ประกอบกับงานยุ่ง ๆ เลยไม่ได้ตามเรื่องนี้ต่อ

พอมาอยู่สหรัฐฯ อาการกรนมากำเริบหนักมากตั้งแต่ท้อง เมตตา แล้วก็กะว่าจะไปทำ Sleep Study อีกแหละ แต่ไป Sleep Center แล้วเขาบอกว่ามีทางเดียว คือยูต้องเข้ามานอนทำที่ตึกเรา อุ้มรู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวก็อีหรอบเดิม แถมอุ้ม Co-sleeping และยังให้นมลูกอยู่ จะทำได้ยังไง เลยลากยาวมาจนมีลูกอีกคน รู้ตัวอีกที อนีคา ก็ปาเข้าไป 7 ขวบ! คือนี่ยอมให้ปัญหานี้เรื้อรังมาเกือบ 20 ปีเชียวนะ!

แล้วมันมาถึงจุดที่ก่อนนอนต้องกอดสมคิด 1 ที คิดในใจว่าพรุ่งนี้ขอให้ตื่นมาเจอกัน อย่าไหลตายไปกลางดึกนะสิริยากร… หนักขนาดนั้นน่ะค่ะ ก็ควรไปจัดการได้แล้วล่ะแม่ ลากมายาวเกิ๊น

แต่ทีนี้กำลังจะทำเรื่องนัด Sleep Center อยู่พอดี๊ ก็มีอันไปคุยจิ๊จ๊ะกะผู้ปกครองที่โรงเรียนคนหนึ่ง ไอ้เราก็เป็นพวกชอบถามคนว่า ยูทำอะไร เพราะมักได้คำตอบใหม่ ๆ เปิดโลกไปทีละประตู 2 ประตู คุณแม่คนนั้นตอบมาว่า ไอทำงานที่คลินิกหมอฟันแห่งหนึ่ง ซึ่งมี Mission คือการให้คนเลิกใช้ CPAP

คือ?!?!

ไอกำลังมุ่งหน้าไปทางนั้นนะยูวว ทำไมจู่ ๆ มาบอกว่าให้เลี้ยวไปทางอื่นแบบนี้

อุ้มนั่งลงคุยกับเขาจริงจัง ถึงได้รู้ว่ามีวิธีรักษาอาการกรนแบบอื่นที่ได้ผล และไม่ต้องถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ต้องผูกติดกับเครื่องช่วยหายใจยามนอนไปทุกคืนแบบนั้น

เป็นที่มาของการตัดสินใจไปทำเลเซอร์ที่เพดานอ่อนในคอมาค่ะ

เลเซอร์นี้ทำงานยังไง ลองนึกถึงเวลาคนไปทำหน้า ใช้เลเซอร์กระตุ้นผิวให้ผลิตคอลลาเจนเองตามธรรมชาติ จนหน้ายกกระชับดูเต่งตึงขึ้นแบบนั้นน่ะค่ะ เลเซอร์อันนี้ก็เหมือนกัน คือยิงไปที่เนื้อเยื่อที่หย่อนยานตรงคอด้านใน เพื่อกระตุ้นให้กระชับขึ้น เพิ่มความกว้างของโพรงในคอให้ลมไหลผ่านสะดวกขึ้น หน้าตาเครื่องเลเซอร์เป็นแบบนี้ค่ะ

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้
อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้
เครื่อง DEKA QuietNite Laser

อุ้มไปทำครั้งแรก ไม่ได้พ่นยาชาเฉพาะจุดด้วยนะคะ ไม่เจ็บเท่าไหร่ เหมือนกินลูกอม Pop Rocks ที่มันเปรี๊ยะ ๆ ในปากน่ะค่ะ แต่อันนี้เปรี๊ยะ ๆ ตรงคอข้างใน (มีควันเหม็นไหม้ออกมาด้วยค่ะ ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็แอบหลอนนิดหนึ่ง) โดน Zap ไปประมาณ 10 จุดได้มั้งคะ พอทำเสร็จก็ไม่เจ็บนะคะ รู้สึกเหมือนเวลาดื่มอะไรร้อนจัด ๆ แล้วลวกคอน่ะค่ะ แต่ก็เป็นอยู่แค่วันเดียว

คุณหมอฟันซึ่งเป็นชายสูงวัยใจดีบอกว่าบางคนทำครั้งแรก คืนนั้นก็เห็นผลเลย บางคนต้องทำ 2 ครั้ง แล้วแต่ว่าร่างกายจะตอบสนองอย่างไร อุ้มกลับมาบ้าน สมคิดยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็ยอมปิดพัดลมพิสูจน์รักแท้ว่าคืนนั้นจะได้ยินอุ้มกรนน้อยลงไหม

ตื่นเช้ามารีบถามนางก่อนสิ่งอื่นใดว่า ไอกรนน้อยลงไหมยู สมคิดนิ่งไปนิดหนึ่งแล้วบอกว่า “ไอแทบไม่ได้ยินยูกรนเลยแฮะ”

บิงโก!!!

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้
แหวนและแอปพลิเคชันทำ Sleep Study

คืนถัดมา อุ้มรีบเอาแหวน Sleep Study มาใส่ เพราะลืมเล่าไปว่าที่คลินิกให้อุปกรณ์ Home Sleep Study มาด้วย เป็นแหวนยาง มีจอด้านบน ประหนึ่งใส่ Apple Watch ไว้ที่นิ้วเลยค่ะ แล้วเครื่องนี้จะเชื่อมกับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ พอจะนอนก็ใส่แล้วกด Start มันจะบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจและปริมาณออกซิเจนในร่างกายตลอดทั้งคืน พอเช้าตื่นมาก็กด Stop มันจะอัปโหลดผลส่งไปให้ที่คลินิก ตีความเป็นรายงานออกมา ที่คลินิกบอกว่าให้อุ้มทำ 3 คืน จะได้มีผลเปรียบเทียบกัน

นี่คือหน้าตาการนอนของอุ้มค่ะ

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้
ผล Sleep Study ของอุ้ม

การจะตัดสินว่าคนคนหนึ่งมี Obstructive Sleep Apnea หรือไม่ ต้องดูที่ค่า Apnea-hypopnea Index (AHI) ซึ่งจะบอกว่าใน 1 ชั่วโมง คุณหยุดหายใจนานเกิน 10 วินาทีกี่ครั้ง (ถ้ามากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง ถึงจะถือว่ามี Sleep Apnea อย่างอ่อน ๆ ส่วนคนที่หยุดหายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่ามีอาการหนักมาก)

ผลบอกว่าอุ้มหยุดหายใจเวลานอนจริงดังคาดค่ะ แต่ไม่มากถึงขั้นจะเรียกว่ามี Apnea เพราะแค่ประมาณ 2 – 3 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น และหยุดหายใจอยู่ในราว ๆ ครั้งละ 10 – 54 วินาที เพราะฉะนั้น หมออาจจะไม่สั่ง CPAP ให้ด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เป็นตัวแดงและมีผลต่อคุณภาพการนอน (และคุณภาพชีวิต) ของอุ้ม คือการตื่นตลอดคืน หรือหลับไม่ลึก ไม่เต็มอิ่มต่างหากค่ะ

การที่กล้ามเนื้อในคออุ้มหย่อนลงมา รวมถึงเพดานปากและขากรรไกรล่างที่เล็ก ทำให้ลิ้นไม่มีที่อยู่ และเคลื่อนลงไปด้านใน ปิดทางเดินหายใจอยู่ตลอดคืน พอเริ่มจะมีอาการขาดอากาศ (อันจะนำไปสู่การหยุดหายใจ) สมองอุ้มก็รีบส่งสัญญาณให้ร่างกายตื่นตัว อาจเปลี่ยนท่านอน กัดฟันเพื่อขยับตำแหน่งของลิ้น โดยที่อุ้มไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จึงจำไม่ได้ว่าตัวเองตื่น หรือบางครั้งหนักหน่อยก็อาจกระตุ้นให้รู้สึกปวดฉี่ จนต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก

เหตุการณ์กระตุ้นของสมองบ่อย ๆ ทั้งคืนแบบนี้ ทำให้ค่า Fragmentation ของอุ้มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น (เขาบอกว่าไม่ควรเกิน 15% ของการนอน แต่ของอุ้มทะลุไปที่ 32% ก็มี บางคืนตื่นแบบไม่รู้ตัวถึง 20 ครั้งแหนะค่ะ) และประสิทธิภาพการนอน หรือ Sleep Efficiency อยู่ที่แค่ 80% (จริง ๆ คือควรเกิน 85%) และภาวะหลับลึก (REM) ของอุ้มอยู่ที่แค่ 18 – 20% เท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมาก

มิน่า ตื่นมาถึงรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่มและเหนื่อยทุกวันเลย

ใครที่มีอาการต่าง ๆ ที่อุ้มเล่ามาตอนต้น อยากแนะนำให้ทำ Sleep Study นะคะ จะได้รู้ว่าคุณภาพการนอนของตัวเองเป็นอย่างไร หยุดหายใจในระหว่างหลับบ่อยและนานแค่ไหนด้วย เดี๋ยวนี้ในเมืองไทยมีบริการทำ Sleep Study ให้ที่บ้าน อุ้มว่าน่าจะง่ายและให้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่หลับยากเวลาต้องไปนอนที่ไม่คุ้นชิน

กลับมาที่การรักษาของอุ้ม หลังจากที่ทำเลเซอร์ไปครั้งแรก อุ้มเล่าให้คุณหมอฟังใหญ่เลยว่าเห็นผลทันตามาก ตอนนี้สามีไอไม่ต้องเปิดพัดลมสร้าง White Noise แล้ว ยังต้องทำเลเซอร์อีกครั้งไหม คุณหมอบอกว่า ยังต้องทำอีกครั้ง เพราะเป็นมาตรฐานการรักษาสำหรับคนเพิ่งทำเป็นครั้งแรก ต่อไปค่อยกลับมาทำปีละหนก็เพียงพอ

ใครอยากฟังคุณหมออุ้มพูดเรื่องนี้ ดูในวิดีโอนี้ก็ได้ค่ะ คุณหมอใจดี๊ดีเนอะ

เดือนต่อมา อุ้มกลับไปให้คุณหมอทำเลเซอร์ในคออีกเหมือนเดิม แต่ต่างไปคือตอนนี้โพรงในคออุ้มกว้างขึ้นกว่าเดิม คุณหมอเลยยื่นแท่งเลเซอร์เข้าไปได้ลึกขึ้นอีก

นี่ทำมาได้อาทิตย์กว่าแล้ว เดี๋ยวนี้สมคิดไม่ต้องเปิดพัดลม และรายงานทุกเช้าว่าเมื่อคืนไม่ได้ยินอุ้มกรน มันดีงาม!!! และแปลว่าอุ้มไม่ต้องใช้เครื่อง CPAP

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้

คือการนอนแล้วต้องมีเครื่องครอบหัว ครอบจมูก (หรือเสียบอยู่ในจมูก) และต้องเสียบปลั๊กตลอดคืน ทุกคืน คงไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากให้เกิดกับตัวเองอยู่แล้ว แต่ CPAP ยังเป็น Gold Standard หรือมาตรฐานการรักษาความผิดปกติในการนอนของคนทั้งโลกอยู่ดี อุ้มถามคุณหมอว่าข้อเสียของการใช้ CPAP คืออะไร

คุณหมอบอกว่า คนเราควรหายใจทางจมูก เพราะ

– อากาศที่เข้าไปในโพรงจมูกจะได้รับการกรองฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปสู่ปอด

– อากาศนั้นจะมีความชื้นเพิ่มขึ้นและอุ่นขึ้นเท่ากับอุณหภูมิร่างกาย ปอดจึงนำไปใช้งานได้ดีขึ้น

– เวลาเราหายใจเข้าผ่านโพรงจมูก บริเวณไซนัสจะปลดปล่อย Nitric Oxide ซึ่งช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้นและร่างกายได้รับออกซิเจนไปใช้งานมากขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายและสุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้

ทีนี้การใส่เครื่อง CPAP นั้นคือการดึงอากาศในห้องมาเพิ่มความดันด้วยเครื่อง แล้วส่งผ่านท่อเข้าสู่ทางเดินหายใจของเรา เป้าหมายก็เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ปิดอยู่ ทำให้คนใส่ได้รับอากาศและออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็บรรลุผลนั้นนะคะ แต่ทีนี้ถ้าเครื่องเป็นแบบครอบปากครอบจมูก โอกาสที่คนใส่จะหายใจทางปากย่อมมีมากกว่า

การหายใจทางปากเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานนั้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อร่างกายแน่ เพราะอากาศที่ผ่านเข้าไปไม่ได้รับการกรอง ต่อมทอนซิลต้องทำงานหนักขึ้น จนทำให้เจ็บคอบ่อย ๆ อากาศไม่ได้รับการปรับอุณหภูมิและความชื้นผ่านจมูก ปอดจึงทำงานหนักขึ้น และร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ได้น้อยลง รวมทั้งไม่มีการผลิตไนตริกออกไซด์ ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพโดยรวมของมนุษย์

นอกจากเรื่องการหายใจทางปาก ยังมีเรื่องความไม่สบายในการใส่ ลมรั่วออกมาจากหน้ากากทำให้ตาแห้ง หรือผิวบริเวณที่ใส่หน้ากากมีอาการระคายเคือง บางคนใส่หน้ากากแล้วรู้สึกอึดอัด นอนไม่สบายหรือนอนไม่หลับ จนเราได้ยินบ่อย ๆ ว่ามีคนเลิกใส่ CPAP หลังจากลองใช้ไปได้ไม่นาน

หรือถึงแม้จะเป็นเครื่อง CPAP แบบที่สอดท่อใส่เข้าไปทางจมูกโดยตรงอาจทำให้จมูกแห้ง เพราะมีอากาศที่มีแรงดันสูงกว่าปกติและมีความชื้นน้อยพ่นเข้าไปในจมูกตลอดเวลา บางคนเลือดกำเดาไหล หรือถ้าทำความสะอาดเครื่องและท่อไม่ดีพอ อาจมีเชื้อราหรือแบคทีเรียทำให้เป็นโรคทางเดินหายใจได้อีก

อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยค่ะ ลองนึกว่าสามีภรรยาหรือแฟนกัน คนหนึ่งใส่หน้ากากใส่ท่อนอนทุกคืน มันจะเซ็กซี่ชวนให้มีอารมณ์ขนาดไหน

อุ้ม สิริยากร เล่าประสบการณ์เลเซอร์เพดานอ่อนในคอ การรักษาที่แก้อาการกรนเรื้อรังได้

เล่ามาขนาดนี้ โรงพยาบาลและศูนย์นิทราเวชทั้งหลายก็จะพากันมาถล่มอุ้ม เพราะอย่างที่บอกว่า CPAP นั้นเป็นมาตรฐานสากลในการบำบัดความผิดปกติจากการนอนหลับ (Sleep Disorder) ที่ทั่วโลกใช้เหมือนกันหมด ถ้าเป็นที่หสรัฐฯ ประกันจ่ายค่าเครื่องให้ด้วยซ้ำ ในขณะที่การรักษาแบบใช้เลเซอร์ที่อุ้มไปทำมานั้นต้องจ่ายเอง เพราะถือเป็นการรักษา ‘ทางเลือก’ และทำทีละครั้งก็ไม่ใช่ถูก ๆ (ครั้งละประมาณ 800 เหรียญฯ หรือเกือบ 30,000 บาท)

แต่อุ้มมาเล่าให้ฟังเพราะไปทำมาแล้วได้ผลดีจริง ๆ และอยากมาบอกว่าโลกนี้มีทางเลือกอื่นในการรักษาอาการกรนที่ไม่ใช่แค่ใส่ CPAP เวลานอน ทันตแพทย์และผู้ให้การดูแลรักษาเรื่องนี้น่าจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับคนที่สนใจ และอุ้มว่าน่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่ได้ผลดีกว่าด้วยในระยะยาว

อุ้มเห็นคนที่รู้จักไปทำเลเซอร์ผิวหน้ากันทีละ 40,000 – 50,000 ขนาดเพื่อความสวยเรายังทำกันได้ แล้วนี่เป็นเรื่องความเป็นความตาย (ไม่ได้พูดเกินจริงนะคะ เพราะรู้สึกมาเองกับตัว) หรือเรื่องคุณภาพชีวิตของเราในระยะยาว อุ้มว่าคุ้มค่ะ

ใครสนใจเรื่องนี้ หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์เหล่านี้ค่ะ

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์