ขบวนสุดท้ายก่อนกลับไทยแล้วสินะ

หลังจากรอนแรมอยู่ในคิวชูมาอาทิตย์กว่า ๆ ก็เข้าสู่รถไฟท่องเที่ยวขบวนสุดท้ายที่ผมได้นั่งแล้ว วันนี้คือการปิดท้ายที่เรียกว่าฟินาเล่ก็ว่าได้ เพราะเป็นขบวนรถไฟที่ลากจูงด้วยหัวรถจักรไอน้ำ นั่นคือ ‘SL HITOYOSHI’

ถ้ามองภาพรถไฟนำเที่ยวในประเทศไทย SL HITOYOSHI คงไม่ต่างอะไรกับขบวนรถนำเที่ยวรถจักรไอน้ำเส้นทางกรุงเทพฯ – อยุธยา / ฉะเชิงเทรา / นครปฐม ที่จะออกมายืดเส้นยืดสายปีละ 6 ครั้ง ในวันสำคัญ ๆ ซึ่งทุกครั้งที่ออกมาก็เชิญชวนสารพัดสายตาให้จ้องมองและยกกล้องขึ้นมาถ่าย

SL HITOYOSHI ก็เช่นกัน รถไฟที่ลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำเพียงขบวนเดียว (และหัวเดียว) ของเกาะคิวชูที่ในเดือนเมษายน ปี 2022 ถึงมีนาคม ปี 2024 ให้บริการเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นไปรถจักรไอน้ำ Class 8620 หมายเลข 58654 ที่เป็นพระเอกลากรถไฟสายนี้จะหยุดให้บริการ หลังจากรับใช้เส้นทางมากว่า 100 ปี 

แก่กว่ารถจักรไอน้ำที่อาวุโสที่สุดของไทยซะอีก

รถไฟท่องเที่ยว SL HITOYOSHI พื้นเพดั้งเดิมเลยวิ่งในเส้นทาง Kumamoto-Hitoyoshi ในเส้นทางสาย Hisatsu ที่มีทางรถไฟเลียบแม่น้ำตามไหล่เขาสวยงามมาก แต่เมื่อปี 2020 เกิดเหตุการณ์น้ำป่าและน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ทางรถไฟสายนี้ขาดหลายจุด สาย Hisatsu จึงให้บริการไม่ได้ 

SL HITOYOSHI เลยต้องย้ายเส้นทางมาให้บริการจาก Kumamoto-Tosu บนเส้นทางสาย Kagoshima Main Line แทน จากทางรถไฟสายวิ่งเข้าป่าเขาลำเนาไพร กลายเป็นรถจักรไอน้ำที่วิ่งไปตามเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าและชินคันเซ็นแทน 

แม้ว่าความขลังของเส้นทางจะลดน้อยลง แต่ความขลังของขบวนรถไฟไม่ได้ลดน้อยลงตาม ถึงกับมีคนแห่แหนไปชมกันเต็มสองข้างทางไม่ต่างจากเดิม

SL HITOYOSHI สมัยยังวิ่งให้บริการอยู่ในเส้นทาง Hisatsu
ภาพ : www.kinasse-yatsushiro.jp

ขบวน SL HITOYOSHI ประกอบด้วยรถจักรไอน้ำหมายเลข 58654 หันหัวออกจาก Kumamoto ไปทาง Tosu ตามด้วยรถโดยสารจำนวน 3 คันสีช็อกโกแลต โดยในคันที่ 1 และ 3 บริเวณท้ายตู้มีพื้นที่นั่งส่วนกลางขนาดใหญ่ กรุด้วยกระจกให้ชมรถจักรไอน้ำกันแบบ Full HD พร้อมเก้าอี้น้องหนูจำนวน 3 ตัว ให้เด็ก ๆ ได้เห็น ได้เรียน ได้รู้ กับรถจักรไอน้ำกันแบบชิดติดขอบตัวถังไปเลย ส่วนด้านท้ายสุดเป็นรถจักรดีเซล Class DE10 ทำสีพิเศษแบบเดียวกับขบวนรถไฟท่องเที่ยวขบวนนี้ 

ซึ่งถ้าหากใครจะนั่ง SL HITOYOSHI ที่ลากด้วยรถจักรไอน้ำ ต้องนั่งในขาไปจาก Kumamoto-Tosu เท่านั้น เพราะขากลับจาก Tosu-Kumamoto รถจักรดีเซล DE10 จะเป็นคนลากกลับและห้อยหัวจักรไอน้ำไว้ท้ายขบวน

รถจักรไอน้ำ 58654 ใช้ลากออกจาก Kumamoto ไป Tosu
รถจักรดีเซล DE10 ใช้ลากจาก Tosu กลับมา Kumamoto

แน่นอนว่าคนแบบเราต้องไม่พลาดที่จะนั่งเที่ยวไปอยู่แล้ว แต่นั่นต้องแย่งชิงกับชาวญี่ปุ่นอีกหลายสิบชีวิตที่แย่งตั๋วเที่ยวไปกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และยิ่งไปกว่านั้น วันที่เราเดินทางคือช่วงสุดท้ายก่อนที่จะยกเลิกวิ่งในอีกไม่กี่เดือน การจองรถไฟขบวนนี้ยิ่งยากทวีคูณ เราไม่ได้ใช้ JR Kyushu Pass ตอนจอง เพราะถ้าหากถึงเวลาที่เราไปรับพาส ป่านนั้นคงเต็มแหงแก๋ไปแล้ว เราเลยเลือกจองผ่านเว็บไซต์ของ JR Kyushu โดยตรงในราคาเต็ม และจองในวันแรกที่เปิดจองเวลา 8 โมงตรงตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย บริเวณบันไดสถานีรถไฟรังสิตในอากาศเดือนมีนาคมที่ร้อนระอุทะลุปรอท

ก็คนมันรักอ่ะเนอะ

แต่เว็บไซต์นั้นน่ารักกับนักท่องเที่ยวมาก ภาษาญี่ปุ่นมาทุกบรรทัด กว่าเน็ตจะใช้ฟังก์ชันแปลภาษาให้ กว่าจะกด กว่าจะทำรายการ ที่นั่งก็ ‘เต็ม’ ขึ้นมาซะอย่างนั้น

ไม่ได้! เราจะยอมไม่ได้ ในเมื่อขึ้นจาก Kumamoto ไม่ได้ ขอลองเสี่ยงเลือกสถานีกลางทางดู เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะนั่งรถไฟท่องเที่ยวของคิวชูถึงปลายทาง คนลงระหว่างทางก็มี จุดประสงค์หลักของรถไฟท่องเที่ยวคือต้องการให้คนได้เที่ยวบนรถไฟ เราต้องมีหวังสิ!

ด้วยผลบุญที่ลูกได้ทำมา เราก็คว้าที่นั่งจากสถานี Omuta ไป Tosu ได้แบบปาดเหงื่อ เอาวะ แค่ 1 ชั่วโมงในครึ่งเส้นทางก็ยังดีกว่าไม่ได้นั่ง

ตัดภาพกลับมาที่คิวชูในวันฟ้าใสอากาศแจ่มใส อุณหภูมิ 15 องศา (ต่างกับวันจองอย่างลิบลับ)

เรารอดู SL HITOYOSHI ที่สถานี Kumamoto ไม่ได้ จำเป็นต้องออกเดินทางไปสถานี Omuta โดยทันที เพราะจะไม่มีรถท้องถิ่นขบวนไหนแซงเจ้ารถไฟขบวนนี้ได้เลย ระหว่างทางเราสังเกตเห็น Railfan ดักคอยถ่ายรูปอยู่เต็มสองข้างทางเป็นระยะ ๆ 

เขาอดทนกันดีนะครับ

1 ชั่วโมงต่อมาเราก็เดินทางมาถึงสถานี Omuta เป็นสถานีขนาดกลาง ๆ ที่มีทั้งรถไฟ JR และรถไฟของเอกชน เหลือเวลาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงนิด ๆ SL HITOYOSHI จะเดินทางมาถึง ระหว่างนี้ก็ขอสำรวจสถานีนิด ๆ หน่อย ๆ ที่นี่เป็นหนึ่งในต้นทาง-ปลายทางของรถไฟท้องถิ่นที่มุ่งหน้าไป Kumamoto อีกทิศทางหนึ่งก็จะวิ่งไปที่ Hakata โดยเรียกง่าย ๆ ว่าที่นี่เป็นจุดเปลี่ยนรถสายสั้นที่วิ่งเป็นทอด ๆ นั่นเอง ลักษณะของการเดินรถไฟท้องถิ่นของญี่ปุ่นจะแตกต่างจากบ้านเราอย่างหนึ่ง คือเขามีสถานีต้นทางปลายทางเป็นรูปแบบ (Pattern) เดียวกัน และถ้ารถที่จอดทุกสถานี จะไม่ได้วิ่งในระยะทางที่ไกลมากนัก ถ้าใครจะเดินทางไกลต้องเดินทางด้วยรถไฟด่วน (Limited Express) หรือชินคันเซ็นไปเลย

ผู้คนเริ่มเต็มชานชาลา เป็นสัญญาณว่า…. เขามาดูรถไฟ ใช่ ส่วนใหญ่ซื้อตั๋วชานชาลาในราคา 150 เยนเพื่อเข้ามาดูรถไฟเท่านั้น ไม่ได้มานั่งรถไฟเลยสักกะติ๊ดดดด มีพ่อแม่หลายคนพาเด็กน้อยมาชะเง้อยืนมองเพื่อรอ SL HITOYOSHI หนึ่งในนั้นมาไกลจาก Nagasaki เขาบอกว่ามันน่าตื่นเต้นนะที่จะได้เห็น SL HITOYOSHI วิ่งในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้เห็นอีก ผมเลยบอกไปว่า นี่บินมาจากประเทศไทยเพื่อจะมานั่ง SL นี่แหละ คุณแม่คนนั้นถึงกับออกปากว่า “สุโก้ยยยยยย”

ปู๊นนนนน

เสียงหวีดรถจักรอันแหบห้าวเป็นเอกลักษณ์ส่งเสียงมาแต่ไกล บอกให้ผู้คนในชานชาลาว่าถอยห่างออกจากเส้นสีเหลืองหน่อย รถจักรไอน้ำสีดำพ่นควันโขมงก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาในสถานีด้วยเสียงฉึก ฉัก ฉึก ฉัก แฉ่ แฉ่ เอี๊ยดดดด หยุดสนิทพร้อมเสียงชัตเตอร์นับไม่ถ้วนที่ดังบนชานชาลา

ถ้าบอกว่า SL เป็นดาราก็คงไม่ปาน ทุกคนพุ่งเป้าไปที่รถจักรสีดำขลับล้อกับแสงแดดยาม 11 โมง ขบวนรถหยุดที่ Omuta ประมาณ 5 นาที พร้อมตรวจสอบสภาพก่อนเดินทางต่อ ระหว่างนี้ผมรีบพาตัวเองขึ้นรถไฟก่อน

ในตู้โดยสารอุ่นสบาย (ไม่แน่ใจว่าอุ่นจากอากาศหรืออุ่นจากความอบอุ่นที่กรุ่นเต็มรถไปหมด) ที่นั่งของผมอยู่กับครอบครัวหนึ่งที่มีลูกเล็ก เป็นที่นั่งแบบรถไฟชั้น 3 บ้านเรา แต่ตกแต่งสวยกว่ามาก เก้าอี้ทำจากไม้อย่างดีสีเข้ม บุผ้านวมสีเข้าชุดกับรถ ผนังรถประดับด้วยไม้และมีโคมไฟสไตล์โบราณ ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งรถไฟในยุคโบราณ 

บริเวณทางเดินไปห้องน้ำมีผ้าผืนบางปิดเอาไว้เหมือนเป็นการแบ่งกั้นอาณาเขต นอกจากนั้นพนักงานตรวจตั๋วยังแต่งตัวแบบย้อนยุค มีคนหนึ่งแต่งตัวแบบนายตรวจของ Galaxy Express ซะด้วย

เพราะเราอยากใช้เวลาบนรถไฟนี้ให้คุ้มมากว่าการนั่งเฉย ๆ เลยขอเดินสำรวจรถสักหน่อย แน่นอนว่าคันกลางก็ต้องมีที่ขายของ เป็นซอยละลายทรัพย์ให้เราซื้อของที่ระลึกกันอย่างจุใจ ทั้งน้ำดื่ม ผ้าขนหนู เข็มกลัด ที่รองแก้ว แฟ้ม และมีตราประทับบนรถให้เก็บสะสมถึง 3 ลาย

บริเวณด้านหน้าสุดติดรถจักรไอน้ำถูกจับจองที่นั่งเต็มโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่นั่งติดขอบกระจกบานใหญ่ เห็นรถลำเลียงของ SL ได้เต็มตา พร้อมผู้ปกครองที่นั่งดูอยู่ห่าง ๆ ความรู้สึกของผมคือมีความสุขกับภาพที่เห็นมาก ลักษณะของขบวนรถไฟนำเที่ยวรถจักรไอน้ำที่สร้างมาอย่างพิถีพิถัน มีพื้นที่ส่วนกลางให้อิ่มเอมกับบรรยากาศของการเดินทาง พร้อมให้แนบชิดกับรถจักรที่พ่นควันและส่งเสียงหวีดออกมา การตกแต่งประดับประดาห้องโดยสารให้เหมือนพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ มีโมเดลรถจักรไอน้ำแสดงอยู่ในตู้ 

มันคือการทำให้รถไฟขบวนนี้มีคุณค่ามากกว่าแค่ยานพาหนะ แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ของความทรงจำระหว่างที่เดินทางได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้รังสรรค์มาจากการออกแบบของ อาจารย์เอจิ มิโตะโอะกะ คนเดิม

ฝีจักรของรถไฟเริ่มผ่อนแรง ตึกรามบ้านช่องเริ่มเผยตัวมาให้เห็นมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าเรากำลังถึงสถานีปลายทางแล้ว 

Tosu ไม่ต่างอะไรกับ Omuta บรรดาคนรักรถไฟอยู่เต็มชานชาลาไปหมด บางคนก็มารอขึ้นรถเที่ยวกลับ แต่ก็ขอมาดูตั้งแต่รถยังไม่เข้าชานชาลา ปริมาณคนที่ยืนรอรับเยอะมากจนคนในรถเองไม่รู้จะรู้สึกเกร็งหรือเปล่า แต่ถ้าคิดว่าเขามาดูรถไฟ ไม่ได้มารอเราก็คงไม่เขินอายเท่าไหร่ วินาทีที่รถจอดสนิทและประตูเปิดออก ทุกคนจากรถกรูกันไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนที่ทั้งขบวนจะลากไปเก็บในโรงพักรถ เรารีบข้ามไปชานชาลาอีกฝั่ง เพื่อหวังจะได้รูปภาพรถไฟขบวนนี้เต็ม ๆ ตั้งแต่หัวยันท้าย 

กลิ่นควันที่เกิดจากเผาไหม้ตลบอบอวล กลิ่นแตกต่างจากรถจักรไอน้ำของบ้านเรามาก เพราะเชื้อเพลิงที่ใช้กำเนิดความร้อนที่นี่ใช้ถ่านหินเป็นหลัก เสียงพนักงานโกยถ่านหินโยนใส่เตาไฟดังแกรก ๆ ต่างกับบ้านเราที่รถจักรไอน้ำใช้น้ำมันเตา ภาพการโยนฟืนแบบอดีตจึงไม่ได้เห็น ซ้ำแล้วการใช้ถ่านหินยิ่งไม่เห็นเข้าไปใหญ่ เพราะบ้านเรานั้นไม่ได้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น

ประมาณ 20 นาทีหลังจากจอดให้คนถ่ายรูปจนหนำใจ (คิดว่าหลายคนคงไม่หนำใจ) รถไฟทั้งขบวนก็ถูกลากเข้าโรงพักรถเพื่อตรวจสภาพ และเตรียมกลับออกมาเทียบชานชาลาให้บริการในช่วงบ่ายเพื่อเดินทางกลับ Kumamoto 

จริง ๆ ผมต้องเดินทางต่อไปที่ Beppu เพื่อพักผ่อนต่ออีก 3 วันก่อนกลับประเทศไทย แต่ผมก็ยังไม่อยากรีบออกจากสถานี Tosu เพียงเพราะต้องเดินทางต่อหรือนั่งรถไฟเสร็จถึงปลายทางแล้ว 

โอกาสที่เราจะได้อยู่กับ SL HITOYOSHI ครั้งแรก (และครั้งสุดท้าย) ควรต้องใช้ให้คุ้มค่าสิ ผมเลยนั่งพูดคุยกับ Railfan คนญี่ปุ่นอย่างออกรส ด้วยภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นของตัวเองที่กระท่อนกระแท่น และภาษากาย หลายคนมาจากต่างที่ ทั้งในคิวชูเองหรือแม้แต่จากโตเกียว โอกาสที่พวกเขาจะได้เห็น ได้ถ่ายภาพรถจักรไอน้ำและขบวน SL HITOYOSHI ที่ยังคงวิ่งบนทางรถไฟอย่างสง่างามคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แม้ว่าพวกเขาบางคนจะไม่ได้ตั๋วโดยสาร แต่พวกเขาสัญญาว่าจะต้องเดินทางกับคุณทวดที่สง่างามขบวนนี้ให้ได้

หลายคนเสียดายที่ไม่ได้ตั๋วขามา แต่อย่างน้อยการนั่งขากลับที่รถจักรไอน้ำอยู่ด้านท้ายก็ยังได้บรรยากาศแล้วครึ่งหนึ่ง ผมเองก็ถามกับตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าตอนนั้นจองตั๋วไม่ทันจะรู้สึกยังไงกัน คงกลายเป็นคนแบกกล้องมานั่งดู แล้วเมาท์มอยกันเองกับแฟนรถไฟบนชานชาลาแบบนี้ล่ะมั้ง หรือแค่ชะเง้อคอดูแล้วมองเข้าไปในรถ อิจฉาคนได้นั่ง โบกมือหยอย ๆ คอตกดูรถไฟวิ่งออกจากสถานี

2 ชั่วโมงของการพูดคุยและวิ่งถ่ายรูปรถไฟผ่านไปอย่างรวดเร็ว สัญญาณบางอย่างบ่งบอกว่า SL HITOYOSHI เที่ยวกลับกำลังจะถอยมาเทียบที่ชานชาลา สายตาของบรรดา Railfan จับจ้องไปที่โรงพักรถที่เราเห็นรถจักรไอน้ำจอดอยู่ไกล ๆ ระหว่างนี้ทุกคนหามุมเด็ดเป็นของตัวเองเพื่อให้ได้ภาพสวยที่สุดไปครอบครอง

ผมบอกลาแก๊งคนที่คุยด้วยเพื่อออกไปหามุมเด็ดของตัวเอง บรรยากาศการล่ารถไฟแบบนี้ไม่ได้เกิดกับตัวเองมานานแล้ว โดยเฉพาะขบวนรถไฟที่ลากด้วยรถจักรไอน้ำ ครั้งล่าสุดคงเมื่อเกือบ 5 ปีก่อนในเส้นทางกรุงเทพฯ – อยุธยา บรรยากาศที่ Tosu วันนี้ก็คล้าย ๆ กับที่อยุธยา ต่างกันว่าคนที่เราพูดคุยนั้นเขาพูดคนละภาษา แถมรถไฟที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ใช่รถไฟบ้านเราที่คุ้นเคย (แต่สวยมากนะ ขอชมเลย)

ขากลับนั้นรถจักรดีเซล DE10 ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนลากกลับ เรายืนรอจนถึงเวลาออก เสียงหวีดดังขึ้น และทั้งขบวนค่อย ๆ ออกเดินทาง คนจากทั้งสองฟากฝั่งชานชาลาโบกมือให้กับผู้คนในขบวน บางคนก็เปิดหน้าต่างโบกมือกลับ ผมรอส่ง SL HITOYOSHI จนรถเคลื่อนตัวผ่านโค้งปลายชานชาลาและลับสายตาไป นี่เป็นทริปรถจักรไอน้ำที่พิเศษที่สุด การได้นั่งรถไฟขบวนนี้ในอีเวนต์สุดท้าย ได้มาพูดคุยคนละภาษากับคนคอเดียวกัน ไม่ใช่แค่นั่งรถไฟเที่ยวเฉย ๆ แต่เป็นการสร้างความทรงจำที่สุดแสนจะวิเศษ วินาทีที่ SL ค่อย ๆ ลับสายตาไป นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นขบวน SL HITOYOSHI ตัวเป็น ๆ หลังจากนี้ไปเขาจะมีตัวตนในภาพถ่ายและความทรงจำของผมเท่านั้น

Thanks SL!!

เกร็ดท้ายขบวน

ใครยังไม่มีโอกาสได้นั่ง SL HITOYOSHI อยากให้หาเวลาว่างไปนั่งสักครั้ง ซึ่งขบวนนี้เป็นรถไฟที่ลากด้วยรถจักรไอน้ำขบวนสุดท้ายของคิวชู ส่วนตัวตู้รถไฟทั้ง 3 อาจย้ายไปเป็นรถไฟนำเที่ยวขบวนอื่น และถ้าคุณอ่านบทความนี้หลังจากเดือนมีนาคม ปี 2024 มันจะกลายเป็นบทความแห่งความทรงจำที่เราจะไม่ได้นั่งรถไฟขบวนนี้อีกแล้ว

อ่านข้อมูลของ SL HITOYOSHI พร้อมวันให้บริการได้ที่นี่เลย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ