01
เมื่อไม่มีใครทำ คุณต้องลุกขึ้นมาทำเอง
มอนเตสซอรี่ (Montessori) คือปรัชญาการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ที่เน้นการสร้างอุปกรณ์การเรียนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก
ในเมืองกลาส ประเทศออสเตรีย มีโรงเรียนทางเลือกแนวมอนเตสซอรี่ที่สร้างขึ้นเพราะผู้ปกครองต้องการโรงเรียนแบบนี้แต่ไม่มีใครทำ คุณพ่อคนหนึ่งเลยลุกขึ้นมาทำเอง เราได้คุยกับผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ เขาบอกว่า ลูกๆ ของเขาเรียนและเติบโตที่นี่กันหมด
สิ่งแรกที่ลูกๆ ของเขาบอกกับพ่อคือ ถ้าพ่อจะทำโรงเรียนให้พวกเขา ขอให้โรงเรียนนั้นไม่มีการบ้าน เพราะเด็กๆ จะได้มีเวลาที่ทำสิ่งอื่นๆ ที่เขาสนใจ


โรงเรียน SIP Knallerbse นี้มีตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย เราไปโรงเรียนนี้กับรถโรงเรียนที่มารับเด็กๆ ในเมือง
สิ่งน่าทึ่งสิ่งแรกของที่นี่คือ เมื่อเรียนไปได้สัก 2 ชั่วโมงจะมีเสียงกระดิ่งดังขึ้น ทุกคนวิ่งออกจากห้องเรียนกันหมดแล้วไปที่สนามหลังโรงเรียน กระโดดบันจี้จัมพ์ เล่นบาส เตะบอล วิ่งเล่นบนเนินป่าหลังโรงเรียน เล่นๆๆ นานสักครึ่งชั่วโมงได้ ค่อยกลับเข้าไปในห้องเรียนต่อ โดยไม่มีกระดิ่งเรียกเข้า
ครูบอกว่า สมาธิคนเราไม่ได้ยาวขนาดนั้น เด็กๆ และครูที่จดจ่ออยู่กับการเรียนการสอนตั้ง 2 ชั่วโมงแล้ว ควรได้ออกไปยืดเส้นยืดสาย บริหารร่างกาย ใช้มือไม้ ออกแรง แล้วก็ยังดีกับหัวใจ เด็กๆ ต่างห้อง ต่างวัย ได้เล่น ได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยกันอีก นั่นคือการให้ความสัมพันธ์กับการพัฒนาที่สมดุลของหัวสมอง ร่างกาย และจิตใจ ในแต่ละวันนั่นเอง
ไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ของโรงเรียนมอนเตสซอรี่ มันเพียบพร้อมและเต็มไปด้วยการคิดมาก เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละวัยอยู่แล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนพาเราเดินไปแต่ละห้อง ที่นี่มีการเรียนแยกระดับเป็น อนุบาล ประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย แต่ไม่มีการจัดห้องเรียนแบบหันหน้าเข้าหากระดานดำหรือเรียนเป็นวิชา แต่เรียนเป็นโปรเจกต์ แต่ละคนจะวุ่นอยู่กับโปรเจกต์ต่างๆ มากมาย
ลูกชาย ผอ. อวดโครงการปลูกปั้นทำแอนิเมชันเรื่อง ‘กล้วย’ เขาชอบกินกล้วยมาก จึงสนใจเรื่องราวของกล้วยว่ามีความเป็นมาอย่างไร เติบโตอยู่ที่ไหนบ้าง และเป็นไปได้อย่างไร ที่เขาจะปลูกกล้วยในบ้านเมืองของเขาได้บ้าง
เราถามว่าจะวัดผลการเรียนรู้กันอย่างไรที่นี่ เด็กๆ ตอบว่า แต่ละคนมีแฟ้มผลงาน ความสนใจของตัวเอง และประเมินตัวเองอยู่ตลอด
02
อำนาจไม่นิยมในห้องเรียน
ความสัมพันธ์ของครูกับเด็กเป็นเหมือนเพื่อนและอยู่ในระดับเดียวกันมากกว่าผู้มีอำนาจสั่งการหรือสั่งสอน เด็กคนหนึ่งบอกกับเราว่า
“ถ้าพวกเขารู้สึกกลัวครูของพวกเขา แสดงว่าครูของพวกเขามีอำนาจเหนือเด็กเกินไปแล้ว และเด็กๆ ต้องพูดคุยกับครูของพวกเขาเรื่องนี้ให้ได้” เราถามถึงตัวอย่างของบทสนทนาเรื่องอำนาจเหนือนี้ของครูกับเด็ก
เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า พวกเขามีห้องพิเศษที่เป็นห้องแสดงสีของความรูัสึก
เด็กๆ และครูจะเข้าไปอยู่ในห้องนั้นด้วยกันเงียบๆ และแต่ละคนก็จะระบายสีของความรู้สึกของตัวเองออกมา
แล้วก็นำมาพูดคุยกัน โดยเรื่องที่พูดคุยนั้นจะเป็นความลับ ไม่เอาออกมานอกห้อง
ด้วยกระบวนการนี้ เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขาได้พูดคุยถึงความรู้สึกของพวกเขากับครู กับเพื่อนๆ อย่างแท้จริงและปลอดภัย
กระบวนการรับฟังกันในห้องเงียบนั้นลดการใช้อำนาจเหนือของผู้ใหญ่กับเด็ก ครูกับนักเรียน ได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะทุกคนต่างได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมาโดยไม่มีการตัดสินซึ่งกันและกัน
ลูก ผอ. บอกว่า ที่นี่ไม่เรียกพ่อว่าพ่อ และไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ในการเป็นลูก ผอ. ของโรงเรียน
ขณะเดียวกัน ความเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง คนอายุมากกว่าจะมาบอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นข้ออ้างในการห้ามปราม หรืออนุญาตให้ทำหรือไม่ทำไม่ได้ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เคยเหมือนกัน แต่ละคนต้องได้มีประสบการณ์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ถ้าไม่ปล่อยให้แต่ละคนได้ล้มลุกคลุกคลานกันเองบ้าง เขาอาจจะลุกไม่เป็นเลย


03
ยิ่งรู้จักตัวเองเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
เมื่อเราถามถึงปลายทางว่าเด็กๆ ที่นี่จบแล้วไปต่ออย่างไรกัน ผอ. เล่าให้ฟังว่า ที่ออสเตรียมีระบบการเรียนแบบหนึ่งที่เมื่อจบมัธยมต้นแล้วเลือกได้ว่าอยากจะประกอบอาชีพอะไร แล้วก็ไปมีประสบการณ์กับสิ่งนั้น โดยไม่ต้องมาโรงเรียนสักเท่าไหร่ก็ได้ เช่นเด็กที่รู้ว่าอยากเป็นช่างซ่อมประปา ช่างภาพ ช่างเสริมสวย ก็ไปฝึกงานอยู่กับช่างตัวจริงในสถานประกอบการนั้นๆ เลย
ทางโรงเรียนและผู้ประกอบการต่างๆ ในเมืองส่วนใหญ่จะลงทะเบียนกับรัฐเพื่อให้รับเด็กเข้ามาฝึกงานได้ การเรียนแบบนี้ทำให้เด็กๆ ได้ทดลองค้นหาสิ่งที่ตัวเองคิดฝันอยากเป็นตั้งแต่ระดับมัธยม ไม่ต้องรอจนเรียนจบมหาวิทยาลัย เหมือนกับเป็นทางลัดให้กับชีวิต
“ยิ่งรู้จักตัวเองเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เด็กๆ จะได้ไม่เสียเวลากับการทดลองค้นหาการใช้ชีวิต”
ต่างกับการศึกษาในระบบบ้านเรา ที่ยังให้เด็กนักเรียนที่จบมัธยมต้นต้องเลือกสายการเรียนวิทย์หรือศิลป์ เด็กๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เห็นโลกมากมาย จึงยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบ รัก หรือโตขึ้นจะเป็นอะไร เพราะระบบการศึกษาในบ้านเรา ตั้งแต่สมัยอนุบาล ประถม ถึงมัธยม ยังขังเด็กอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น
ระบบการศึกษาแบบนั้นในบ้านเรายังไม่เอื้อให้เด็กออกไปทดลองใช้ชีวิตทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าอยากเป็น ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขจริงๆ บ้านเราอาจไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรไปมากมายเพื่อจำกัดให้เด็กๆ ท่องตำราสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ในห้องเรียน ในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รู้ว่านำไปใช้งานอย่างไรในชีวิตข้างหน้าสักเท่าไหร่
มหาวิทยาลัยต้องไม่เป็นปลายทางคอขวดที่บีบตันคับแคบสำหรับเด็กมัธยมเป็นจำนวนมาก เพราะเด็กๆ ได้เห็นและผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริงนอกห้องเรียนตั้งแต่เนิ่นๆ


04
ห้องเรียนดนตรีที่ส่งเสียงของการฟัง
คนเมืองนี้บอกเราว่า คนที่นี่ไม่ทักกันว่า เล่นดนตรีเป็นหรือเปล่า แต่จะถามว่าเล่นเครื่องดนตรีชิ้นไหน
ประเทศนี้เป็นเมืองเกิดของนักแต่งเพลงคลาสสิกดังๆ ชื่อใหญ่หลายคน อาทิ โมสาร์ท บีโธเฟน เดินไปที่ไหนในเมืองก็จะเห็นคนมีเครื่องดนตรีติดตัวเป็นอาวุธได้ทั่วไป


เราเลยอยากรู้ว่าที่นี่เขาเรียนและสอนดนตรีกันอย่างไร แล้วก็มีโอกาสได้ตามลูกเพื่อนอายุ 6 ขวบไปเรียนร้องเพลง
“ตั้บ ปาดับตั๊บตับ” เสียงเด็กๆ ร้องกระโดดดังสนั่นออกมาจากห้องสอนร้องเพลง พอโผล่เข้าไปดู นักเรียนและครูกำลังร้องและเต้นกันอย่างสนุกสนาน
เมื่อมีโอกาสได้คุยกับครูสอนร้องเพลงที่แท่นเปียโน ระหว่างคุยกันครูก็เล่นเปียโนคลอให้ฟังตลอด ถามถึงความจำเป็นในการเรียนร้องเพลงเรียนดนตรี ว่ามันเป็นเรื่องของงานอดิเรกที่ควรส่งให้ลูกหลานเรียนรึเปล่า
ครูตอบว่า มันจำเป็นและสำคัญกว่านั้น ถ้าอยากให้เด็กรู้จักการฟังเสียงของตัวเองและเสียงของคนอื่น เราควรส่งลูกให้ได้เรียนดนตรีและร้องเพลงตั้งแต่ยังเด็ก ยิ่งเล็กได้เท่าไหร่ยิ่งดี
การที่เด็กได้เรียนร้องเพลง เขาต้องหัดฟัง ทั้งทำนอง จังหวะ ถ้อยทำ ที่เรียงร้อยกันเป็นเพลง และดนตรี ที่ส่งตรงไปยังคลื่นและจังหวะเต้นของหัวใจมนุษย์ได้เร็วและทำให้รู้สึกได้มากที่สุด



เพลงและดนตรี ถือเป็นสื่อศิลปะที่ทำงานกับหัวใจ ทำให้เรารู้สึกกับสิ่งใดๆ ก็ตามได้รวดเร็วที่สุดแล้ว
เมื่อเด็กได้ร้องเพลงกันเป็นวงคอรัส เด็กต้องหัดฟังเสียงคนอื่น ฟังเสียงคนรอบข้าง ฟังเสียงคนในวง และรอจังหวะที่จะเปล่งเสียงร้องของตัวเอง ให้ประสานกัน
“เรื่องเหล่านี้สำคัญกว่าการร้องเพลงเป็น ร้องเพลงเพราะ ใช่หรือเปล่าล่ะ” ครูหยุดเสียงเปียโนแล้วหันมาถามเรา
เราแค่ตอบไปว่า กลับไปจะซื้อเครื่องดนตรีให้หลานชิ้นหนึ่งทันทีค่ะ แต่จริงๆ คือ วาดภาพเห็นภาพตัวเองกลับไปเป็นนักเรียนเรียนเขียนดนตรีแล้วล่ะ
05
ห้องเรียนวงใหญ่ที่แสนไพเราะ
ไปห้องเรียนสอนร้องเพลงเล่นดนตรีเด็กเล็กแล้ว เราก็ได้มีโอกาสเห็นคลาสเรียนพิเศษของนักศึกษาดนตรีที่มาสอนเด็กตามบ้าน
ลูกชายคนที่สองของเพื่อนเล่นไวโอลินตั้งแต่เล็ก แต่เพิ่งมีโอกาสได้เข้าวงออร์เคสตราของชุมชนในเมืองกลาส
และกำลังจะมีการแสดงในอีกไม่กี่วัน ครูพิเศษเลยมาสอนที่บ้าน ครูนักศึกษาคนนั้นบอกว่า ที่บ้านเธอทุกคนเป็นนักดนตรีคลาสสิกหมด
คุณปู่ของเธอก็ยังเล่นเชลโลตัวใหญ่ และจะขึ้นแสดงดนตรีด้วยกันด้วย เธอบอกว่าดนตรีคลาสสิกเปรียบเสมือนเรื่องชีวิตประจำวันของเธอ
เราบอกเธอว่า สำหรับคนทั่วไป ดนตรีคลาสสิกเหมือนอยู่บนหิ้ง เป็นดนตรีของคนชั้นสูง เธอบอกว่ามีประวัติศาสตร์ที่ทำให้เป็นแบบนั้น
แต่สำหรับเธอ ดนตรีชนิดไหนก็ทำหน้าที่ของมัน คือช่วยปลอบประโลมจิตใจมนุษย์ได้เหมือนกัน


อีกไม่กี่วันต่อมา เราได้รับบัตรไปดูคอนเสิร์ตออร์เคสตราด้วย สถานที่แสดงดนตรีอยู่ออกไปนอกเมือง ต้องนั่งรถบัสไปจนเกือบสุดสาย ขี่จักรยานไปไม่ได้ สถานที่แสดงเป็นเสมือนโรงนาเก่าที่ปรับปรุงมาเป็นโรงแสดงมหรสพ และร้านอาหารในฟาร์มเล็กๆ บรรยากาศดีมากๆ
คนที่ไปจะนำอาหารจากบ้านตัวเองไปวางไว้บนโต๊ะ บ้านเพื่อนเราอบขนมปังและคุกกี้ไปวางสมทบ เขาเรียกกันว่า Potluck ใครมีอะไรก็เอาไป ไม่ได้นัดเมนูกัน ทางตะวันตกเวลามีปาร์ตี้มักทำกันแบบนี้ และน่าแปลกใจว่าทุกครั้งจะมีอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทครบ และเพียงพอให้ทุกคนที่มางานได้อิ่มหนำสำราญ
เป็นการได้เข้าไปดูวงดนตรีออร์เคสตราแสดงสดอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกของเรา เพลงแล้วเพลงเล่าที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเกือบร้อยชิ้น เกือบร้อยคน ประสานเป็นเสียงเพลงและท่วงทำนองที่เข้าถึงก้นลึกของจิตใจเราได้อย่างมหัศจรรย์ ไม่รู้จะหาคำวิเศษณ์ที่ไหนมาบรรยายความรู้สึกที่เราได้อยู่ตรงนั้นออกมาได้จริงๆ
สิ่งที่ตราตรึงในความรู้สึกเรามากที่สุดคือวาทยากร ดูในทีวี เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรของเขา โบกไม้โบกมือไปมา
แต่พอได้อยู่ตรงนั้น เรารับรู้ได้ถึงพลังการเคลื่อนไหวทุกปลายนิ้วมือและใบหูของวาทยกร ว่าต้องมีความพลิ้วไหว พร้อมกับแข็งแกร่งที่จะพาวงไปด้วยกัน ดนตรีตัั้งเกือบร้อยชนิด นักดนตรีเกือบร้อยคน ที่มีความแตกต่างกันออกไป ถ้าไม่มีวาทยากรคอยสะบัดโบกพากันไป วงอาจจะเป๋ไปทางนั้นทางนี้
เรากลับรู้สึกว่า วาทยากรก็คงเหมือนกับ ‘ผู้นำของประเทศ’ ที่ต้องรู้จักฟังเสียงของประชาชนที่แตกต่าง หลากหลาย
แล้วประสานความแตกต่างนั้นให้เป็นบทเพลงที่ไพเราะและมีพลังไปด้วยกัน


สนใจเพิ่มเติมเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือกนานาชาติ ติดตามรายการบินสิ! Fly again ได้ทาง Thai PBS