ถ้าไม่ต้องถูกกดเป็นทาส ชาวสยามคงจะมีความสุขกันมาก เพราะธรรมชาติที่นี่ แม่ที่สองของเขา เอาใจเขาเหมือนเด็ก ๆ ทำให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ป่าเต็มไปด้วยพืชผักผลไม้ชั้นเลิศ แม่น้ำและบึงเต็มไปด้วยปลา ไม้ไผ่ไม่กี่ลำก็พอเพียงทำบ้านได้ ในขณะที่น้ำท่วมเป็นครั้งคราวตามฤดูคอยฉาบปุ๋ยบนแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ คนไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากหว่านเมล็ดพืชลงดิน จากนั้นแสงอาทิตย์จัดการต่อให้หมด พวกเขาไม่รู้จักและไม่มีความต้องการข้าวของเครื่องใช้หรูหราฟุ่มเฟือยที่ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของชีวิตของคนยุโรปไปเสียแล้ว

อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวชีวิตในสยามประเทศเมื่อ พ.ศ. 2402

มองสยามอย่างฝรั่ง เปิดมุมมองที่คนต่างชาติมีต่อธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในอดีตของไทย

เอกสารประวัติศาสตร์ของสยามในอดีตนั้น เรื่องราวด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม น่าจะมีคนบันทึกน้อยที่สุด หากเปรียบเทียบกับบันทึกทางด้านสังคม การเมือง การปกครอง สงคราม เศรษฐกิจ ชีวิตผู้คน ฯลฯ และส่วนใหญ่คนที่บันทึกเรื่องราวเหล่านี้มักเป็นนักธรรมชาติวิทยาหรือนักสำรวจชาวยุโรปที่เดินทางมาสำรวจภูมิประเทศแทบทั้งสิ้น

บันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวยุโรปนั้นมักพูดถึงสยามตรงกันว่า เป็นดินแดนที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบ หลายพื้นที่ยังไม่เคยมีมนุษย์เข้าไปสำรวจ แม่น้ำหลายสายหล่อเลี้ยงคนส่วนใหญ่ที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ตามที่ราบผืนใหญ่ริมน้ำ มีสัตว์ป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่ล่ามาเป็นอาหารได้ ดังเช่นเอกสารเก่าแก่ฉบับหนึ่งของ นายโยส เซาเต็น (Joost Schouten) ผู้อำนวยการบริษัทการค้าของฮอลันดา เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2179 สมัยอยุธยา บันทึกไว้ว่า

สยามเป็นราชอาณาจักรที่มีชื่อเสียงและมีอำนาจอาณาจักรหนึ่ง ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 18 องศาเหนือ ชายเขตแดนทางตอนเหนือติดต่อกับเมืองพะโคและอังวะที่ 12 องศา อาณาเขตแผ่ไปทางทิศตะวันตกถึงอ่าวเบงกอลของเมาะตะมะที่ 7 องศา มีเขตแดนติดต่อกับอาณาจักรปัตตานีและไทรบุรี ทางทิศใต้ตั้งแต่อ่าวเบงกอลถึงปัตตานี ฝั่งทะเลตอนนี้เลียบขึ้นไปทางเหนือจนถึง 13 องศาเหนือ มีลักษณะเป็นรูปโค้งที่เรียกกันว่า ‘อ่าวสยาม’ ฝั่งทะเลมีอาณาเขตต่อไปทางใต้อีกจนถึง 12 องศาใต้ และห่างจากทะเลเข้าไปทางตะวันออกตอนเหนืออาณาเขตกัมพูชา และราชอาณาจักรเชียงใหม่ ตองอู และล้านช้างที่ 18 องศา จนกระทั่งถึงเมืองอังวะและพะโค”

มองสยามอย่างฝรั่ง เปิดมุมมองที่คนต่างชาติมีต่อธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในอดีตของไทย

ดังนั้น รูปร่างของประเทศนี้จึงมีลักษณะคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก และวัดโดยรอบได้ระยะทาง 450 ไมล์ฮอลันดา 1 ไมล์

ฮอลันดาเท่ากับ 6 ไมล์ของอังกฤษ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นภูเขา ป่าไม้ และป่าทึบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นฝั่งตรงข้ามทะเล แต่ก็เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง แม่น้ำต่าง ๆ มีปลามากมายหลายชนิด และสยามมีเกาะต่าง ๆ หลายแห่ง อ่าว ท่าเรือ และแม่น้ำลำคลองมากมาย ซึ่งอำนวยความสะดวกเป็นอย่างยิ่งแก่หัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลาย

ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในอดีตนั้น สะท้อนได้จากสินค้าขาออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของป่าที่มีแหล่งผลิตอยู่ในป่าอันกว้างใหญ่ของราชอาณาจักร มีการส่งสินค้าจากในป่ามาที่ท่าเรือกรุงศรีอยุธยา ก่อนล่องออกทะเลไปทางอ่าวไทยต่อไป

  โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการหนังสัตว์ในปริมาณมหาศาล เห็นได้จากรายการสินค้าส่งออกของสยาม มีการ ‘ค้าหนังกวาง’ มากเป็นพิเศษ

การล่ากวางเพื่อชำแหละหนังสัตว์นั้นต้องอาศัยนายพรานไทยผู้ช่ำชอง ต้องมีความรู้ในภูมิประเทศ ธรรมชาติถิ่นอาศัยของกวาง และมีความรู้เรื่องระดับน้ำ เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญในการล่าและนำหนังสัตว์ออกจากป่า

ผู้ที่รับซื้อหนังกวางคือชุมชนชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอาศัยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นผู้ชำนาญการฟอกหนัง เพราะหนังสัตว์เน่าเสียง่าย จึงต้องรีบทำการฟอกหนังสัตว์ให้นิ่มและเหนียวทนทาน ก่อนจัดเตรียมส่งออกไปญี่ปุ่นเพื่อนำไปทำเครื่องหนัง ถุงมือ ชุดศึก ชุดเกราะซามูไร และซองปืน 

สมัยนั้น พระคลังสินค้าของอยุธยามีอำนาจผูกขาดการค้าส่งออก ก่อนที่ภายหลังจะมีการให้สัมปทานแก่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา โดยเฉพาะช่วงเวลา พ.ศ. 2176 – 2206 มีตารางแสดงรายการสินค้าที่ส่งไปญี่ปุ่นของบริษัทดังกล่าวดังนี้ 

1. หนังกวาง ปริมาณส่งออก 1,970,124 ผืน

2. ไม้ฝาง ปริมาณส่งออก 78,343 หาบ* (4,700,580 กก.)

3. หนังปลากระเบน ปริมาณส่งออก 464,126 ผืน

4. ครั่ง ปริมาณส่งออก 3,163 หาบ (189,780 กก.)

5. หนังวัว หนังควาย ปริมาณส่งออก 116,005 ผืน

6. ไม้กฤษณา ปริมาณส่งออก 8,353 catty* (5,200 กก.)

7. ดีบุก ปริมาณส่งออก 307 หาบ (18,420 กก.)

8. งาช้าง ปริมาณส่งออก 309 หาบ (18,540 กก.)

9. เขาวัว เขาควาย ปริมาณส่งออก 79,700 เขา 

*1 หาบ เท่ากับประมาณ 60 กิโลกรัม

*1 catty เท่ากับประมาณ 625 กรัม

ในช่วงระยะเวลา 30 ปี หนังกวางเกือบ 2 ล้านผืนถูกส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าปริมาณกวางในแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะที่ราบภาคกลางมีจำนวนมหาศาลเพียงใด และเมื่อมีกวางมาก สัตว์ผู้ล่า อาทิ เสือโคร่ง เสือดาว หมาป่า ฯลฯ ก็น่าจะมีปริมาณมากขึ้นตามธรรมชาติ และสะท้อนถึงถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าว่าต้องมีความอุดมสมบูรณ์มากด้วย เช่นเดียวกับหนังกระเบนส่งออกร่วม 5 แสนผืน ก็น่าจะประเมินได้ว่า เมื่อ 400 กว่าปีก่อน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลมีมากน้อยเพียงใด

ที่น่าสนใจ คือสินค้าส่งออกเมื่อ 300 กว่าปีก่อน ยังมีของป่าอีกนานาชนิด อาทิ ช้าง งาช้าง นอแรด ขนนกยูง ขนนกกระเต็น กระดองเต่า ปะการัง ไม้กฤษณา ไม้ฝาง ไม้จันทน์ ฯลฯ

โดยเฉพาะนอแรด น่าจะได้มาจากการล่าแรด 2 ชนิดในป่า เพื่อนำนอแรดไปขายทำยาแผนโบราณของจีน ซึ่งทุกวันนี้แรดที่ได้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว คือแรดชวานอเดียว และแรดสุมาตราหรือกระซู่ เป็นแรดขนาดตัวเล็กที่สุด มี 2 นอ 

มองสยามอย่างฝรั่ง เปิดมุมมองที่คนต่างชาติมีต่อธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในอดีตของไทย

นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้เดินทางมาสำรวจในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเขียนหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2231 มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงแรดอย่างน่าสนใจว่า

ข้าพเจ้าไม่อาจงดเว้นที่จะกล่าวถึงแรด อันเป็นสัตว์ที่น่ากลัวและดุร้าย ซึ่งใครเห็นแล้วต้องพรั่นพรึงเสียได้ มันมีลำตัวสูงเท่าฬาขนาดใหญ่ ๆ และลักษณะหัวก็คล้าย ๆ กัน เว้นเสียแต่มีนอแหลมอยู่บนดั้งจมูกยาวสักเท่าฝ่ามือ ตีนของมันแต่ละข้างแบ่งออกเป็นกีบคล้ายนิ้วมือทั้งห้า มีรูปพรรณและความใหญ่เท่าตีนฬาทีเดียว หนังของมันสีน้ำตาล ไม่น่าดูเลย และแข็งโกกกระทั่งกระสุนปืนก็ยิงไม่เข้า หุ้มทั้งสองข้างลำตัวกระทั่งถึงดิน แต่ถ้าเวลามันโกรธแล้วมันจะพองตัวและทำตัวให้ใหญ่ได้เท่าโคถึกทีเดียว ฆ่ามันได้ยากนัก จะจู่โจมมันก็ต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่จะถูกฉีกเนื้อเป็นชิ้น ๆ 

คนที่ทำการล่าสัตว์ชนิดนี้มีวิธีป้องกันความดุเดือดของมันได้ โดยที่มันชอบอยู่ในที่ลุ่มที่หล่ม เขาจึงคอยสังเกตเวลามันเคลื่อนย้าย โดยเข้าซ่อนตัวอยู่เสียในพุ่มไม้ทางด้านใต้ทางลม คอยกระทั่งมันล้มตัวลงนอนหลับหรือลงตีแปลง เพื่อจะได้ย่องเข้าไปยิงกรอกเข้าในหูมันได้ถนัด อันเป็นแห่งเดียวที่มันอาจได้รับบาดเจ็บถึงตายได้ และทุกส่วนสรรพางค์ของสัตว์ชนิดนี้ใช้ทำยาได้ทั้งนั้น เฉพาะนอนั้นมีสรรพคุณในทางแก้ยาเบื่อ ยาเมา และขายกันตั้งนอละ 100 เอกิว (ประมาณ 600 ฟรังก์)

จากบันทึกในอดีตของนักสำรวจชาวต่างประเทศ ก็พอจะนึกเห็นภาพกว้าง ๆ ของธรรมชาติสัตว์ป่าและสภาพป่าประเทศในอดีตว่ามีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด ซึ่งหลายอย่างไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกต่อไป

เปิดบันทึกด้านธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม ที่ชาวต่างชาติมีต่อธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของไทย ว่าดินแดนนี้น่าอยู่แค่ไหน

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว