เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีวงประสานเสียงหญิงล้วน คว้าเหรียญทองจากเวที 4th World Virtual Choir Festival 2021 ได้สำเร็จ ที่น่าปรบมือชื่นชมคือ วงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม (Siam Ruby Women’s Choir) เป็นวงประสานเสียงผู้สูงอายุวัย 50 – 70 ปี ซึ่งรูปแบบการแข่งขันในครั้งนี้เป็นแบบ Virtual ประจวบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักร้องประสานเสียงทั้ง 16 คน ต้องฝึกซ้อมออนไลน์และอัดคลิปส่งประกวดทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยเบื้องหลังความตั้งใจมีแรงผลักดันจากคนรุ่นหลานอย่าง อาจารย์ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ ผู้ก่อตั้ง ผู้ฝึกสอน และวาทยกร วงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ตลอดจนเป็นเจ้าของบริษัท เอนาวา จำกัด สตูดิโอที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยให้ยืนยาว สุขภาพจิตแจ่มใส สุขภาพกายแข็งแรง ด้วยกิจกรรมเสียงเพลง ทั้งคลาสเรียนร้องคาราโอเกะ วงประสานเสียง ฯลฯ 

ความพอดีกันของความสุขและความไพเราะ คือท่าไม้ตายที่ทำให้พวกเขาชนะใจกรรมการ ก่อนจะทำความรู้จักเรื่องราวเบื้องหลังของผู้สูงอายุกับเสียงเพลงและคนเจนวายกับเบบี้บูมเมอร์ ชวนฟังเพลง ‘อสงไขย’ จากพี่วัยเก๋าทั้ง 16 คน พร้อมกัน รับรองว่าขนจะลุกเกรียวด้วยความทึ่งในศักยภาพ ความไพเราะและความสุขที่ผู้ขับร้องมอบให้ผู้ฟัง

บทเพลงที่คว้าเหรียญทองจากเวที 4th World Virtual Choir Festival 2021

Spark Joy

อาจารย์ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ หรือ เดว์ เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทั้งชีวิตเขามอบหัวใจให้ดนตรี ระหว่างทางเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์หลากหลาย ทั้งเข้าร่วมการแข่งขันดนตรี ร่วมประกวดดัชชี่บอยแอนด์เกิล และจับงานแสดงร่วมกับช่อง Thai PBS เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ รับบทเป็น นาคา, โหมโรง รับบทเป็น ศร จวบจนระดับอุดมศึกษา เขาเลือกเรียนสาขาประพันธ์เพลงคลาสสิก วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และจบปริญญาโทด้านการอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจบการศึกษาเขาก็เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นวาทยกรวงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย ซึ่งเป็นวงประสานเสียงผู้สูงอายุที่คว้า 4 เหรียญเงิน จากการแข่งขัน 3 ประเทศ

“ผมได้ร่วมโปรเจกต์พิเศษกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขาอยากทำโปรเจกต์ช่วยเหลือสังคมด้วยการให้ผู้สูงอายุเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือ การร้องเพลง และผมเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ซึ่งเป็นประธานโครงการ เขาชวนผมไปทำด้วยกัน พอทำแล้วผมรู้สึก Spark Joy กับผู้สูงอายุ

“ผมมองเห็นศักยภาพของพวกเขา และผมเป็นคนที่ทำอะไรจะต้องทำให้สุด ต้องดึงศักยภาพของคนสูงวัยออกมาให้เต็มที่ หลังจากนั้นผมเขียนเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลง เอาเพลง ผู้ใหญ่ลี ไปทำเป็นร็อกแอนด์โรลว์ ไปแข่งที่ประเทศมาเลเซีย จนได้เหรียญเงินกลับมา เราแข่งมาแล้วสามประเทศ ได้สี่เหรียญเงิน ไม่เคยได้เหรียญทองเลย ในสายตาผม เหรียญทองเป็นเรื่องที่ยากมาก ยากที่จะเห็นว่าความสามารถระดับเหรียญทองมันต้องประมาณไหน 

“ผมสู้แล้วก็คิด แสดงและฝึกฝนพวกเขาต่อไป” อาจารย์ธนาวุฒิเล่าตั้งใจ

ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ ผู้พาวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยามชนะเหรียญทองครั้งแรกของไทย

วงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อยมีเหรียญเงินติดตัว แต่อาจารย์ธนาวุฒิก็ยังมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของวัยอิสระอย่างไม่หยุดยั้ง เขาเสนอละครเวที ในความทรงจำ เดอะมิวสิคัล ให้นักศึกษาสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ธนาวุฒิเสนอว่า เขาอยากทำละครเวทีที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดบนเวที โดยเขารับหน้าที่ประพันธ์เพลง แถมได้ คุณสุชาติ ชวางกูร รับบทพระเอก และ คุณนนทิยา จิวบางป่า รับบทนางเอก ซึ่งการแสดงประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องสงสัย และเขายังเป็นผู้ประพันธ์และเรียบเรียงละครเวที เทพธิดาบาร์ 21 ด้วย 

หลังจากเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาสักพัก เขาก็ตัดสินใจลาออก

“ผมมีคติอยู่ว่า อะไรที่ไม่ใช่ความสุขผมไม่ทำ ผมมีความสุขกับการสอนผู้สูงอายุ ก็เลยตัดสินใจลาออก ลาออกจากวงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อยด้วย แล้วก็ชวนลูกศิษย์เก่ามาตั้งวงประสานเสียงด้วยกัน

“ลูกศิษย์ของผมค่าเฉลี่ยอยู่ที่หกสิบปี ส่วนผมอายุสามสิบปี ข้ามเจนกันเลย เจนวายกับเบบี้บูมเมอร์”

เราเชื่อแล้วว่าอาจารย์ธนาวุฒิสปาร์กจอยกับผู้สูงอายุจริงๆ 

Siam Ruby Women’s Choir

อาจารย์ธนาวุฒิตั้งบริษัท เอนาวา จำกัด ขึ้นมา เพื่อเชื่อมดนตรีกับผู้สูงอายุ ให้มีอายุยืนยาว สุขภาพกายและสุขภาพจิตสดใสแข็งแรง และยังก่อตั้งวงประสานเสียงขึ้นอีก 6 วง ได้แก่ วงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม วงประสานเสียงพลังสุขสูงวัย (ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) วงประสานเสียงเพื่อนโดม วงประสานเสียงเพลินเพลงคอรัส (การรวมตัวกันของผู้ปกครองโรงเรียนเพลินพัฒนา) วงประสานเสียงเยาวชนเทศบาลนครยะลา และ The Emerald Singers (วงขับร้องประสานเสียงที่มีช่วงวัยต่างกันและมีความหลากหลายของเพลงที่ขับร้อง)

ซึ่งวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม เป็นการรวมตัวกันของหญิงวัยอิสระที่มีใจรักเสียงเพลงและต่อยอดเป็นกิจกรรมร้องเพลง มีสมาชิก 16 คน น้องน้อยอายุ 52 ปี และพี่โตอายุ 72 ปี แต่อายุไม่อาจจำกัดความสามารถ

พวกเธอเริ่มออกแข่งขันขับร้องประสานเสียงระดับนานาชาติครั้งแรก ค.ศ. 2019 คว้าเหรียญเงินจากรายการ Senior Choir และรางวัลเหรียญทองแดงจากงาน Singapore International Choral Festival 2019 ประเทศสิงคโปร์

“ทุกการแข่งขันที่ผ่านมาเราไม่เคยได้เหรียญทอง มันเครียดนะ ทุกๆ ครั้งที่แข่ง ผมพยายามปรับตัวตลอด บางทีความผิดมันเกิดจากผมนะ ถ้าผมรู้มาตรฐานของเหรียญทองว่าเป็นประมาณไหนก็คงจะดี แต่นี่ผมมืดแปดด้าน เลยข้อคำแนะนำจากกรรมการทุกครั้ง เขาพูดเหมือนกันว่า ทุกการร้องเพลงต้องมีความสุขและความไพเราะ

“ผู้สูงอายุต้องร้องเพลงอย่างมีความสุข แล้วก็ไพเราะด้วย คำสองคำนี้ มันยากที่จะอธิบายว่าความสุขแบบไหนที่แสดงออกมาแล้วลงตัว กรรมการเคยบอกกับผมว่า เขาไม่ต้องการเพลงที่ยาก ไม่ต้องการให้ร้องหลายเสียง แล้วก็ไม่ต้องการเพลงระดับสูงจนนักร้องร้องแล้วรู้สึกทรมาน แต่เขาต้องการเพลงที่มัน Touch the heart อย่างเดียวก็พอ 

“ผมเอาเรื่องนี้กลับไปคิดจนเจอโควิด-19 ทำให้พวกเราไม่ได้ไปแข่งใน ค.ศ. 2020 ส่วน ค.ศ. 2021 มีการชักชวนจากเจ้าของงานประเทศอินโดนีเซีย ผมก็สนใจเข้าร่วม เพราะเขาเปิดรับซีเนียร์ด้วย ผมลองดูอีกสักตั้ง มานั่งตกผลึกว่าความสุขกับความไพเราะจะออกมาได้ยังไง ในการแข่งขันผมเลือกเพลง อสงไขย
เพลงไทยร้องง่ายๆ จังหวะง่ายๆ และเป็นเพลงที่พวกเขาร้องแล้วเพราะที่สุด ทั้งสิบหกคนก็ชอบ เวลาออกคอนเสิร์ต เขาร้องเพลงนี้แล้วสีหน้าเต็มไปด้วยความสุข ผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกไพเราะ มีความพอดีของเสียง จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเหรียญทองเหรียญแรกในหลายปีที่ผ่านมา”

ไม้ตายที่ทำให้พิชิตเหรียญทอง คือความพอดีของความสุขและความไพเราะ-เราย้ำ

ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ ผู้พาวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยามชนะเหรียญทองครั้งแรกของไทย

“ความพอดีต้องคำนึงเป็นอันดับแรก ผมรู้อยู่แล้วว่านักร้องของผมทำได้เท่านี้คือสุดยอด อย่าทำไปมากกว่านั้น เพราะวันนั้นพวกเราอยู่ในจุดที่ต้องแสดงความเจ๋งที่สุดออกมา นั่นคือความพอดีที่สุด ไม่ใช่ความยากที่สุด”

เหรียญทองจาก 4th World Virtual Choir Festival 2021 นับเป็นความสุขที่มอบให้กับคนไทยทุกคน

“นักเรียนบางคนอยู่กับผมมาตั้งแต่ต้นเขาก็ดีใจมาก บางคนเพิ่งมาปีเดียวก็ดีใจ งานนี้ไม่มีใครไม่ดีใจเพราะมันเกินความคาดหมาย อย่างที่ผมบอก ผมเป็นคนที่ทำอะไรจะต้องทำให้สุดจนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย สมมติปีที่ห้ายังไม่ได้เหรียญทอง ผมก็จะทำต่อไป บังเอิญว่ามันได้เร็วไปหน่อย ซึ่งผมมองไว้ห้าปี สิบปี ถึงจะได้เหรียญทอง

“วันนั้นผมรู้สึกประสบความสำเร็จมาก ดีใจมาก ฉันทำได้ เพราะผมไม่เคยยอมแพ้กับอะไรเลย งานประกวดผมก็ส่งประกวดตลอดเลยนะ แต่ผมไม่เคยได้ขึ้นเวที ผมก็ไม่หยุดส่ง ส่งคลิปทุกปี เขาไม่เลือก ผมก็ไม่เป็นไร ผมไม่เคยท้อ พูดง่ายๆ ว่าทำไมต้องท้อ เหตุผลของการท้อแท้คืออะไร นั่นยิ่งทำให้ผมกลับมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง

“พอนักเรียนเห็นว่าผมหรือครูผู้สอนของเขาเป็นนักสู้ ตัวผู้เรียนก็สู้ ไม่มีใครยอมแพ้เลย” 

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

Social Distancing

“เราซ้อมกันผ่านไลน์กลุ่มครับ” หัวเรือเฉลยเบื้องหลังความสำเร็จ ทำเอาเราต้องร้องว้าว (ในใจ)

ลูกหลานต่างรู้กันดีว่าแอปพลิเคชันไลน์กับผู้สูงอายุเป็นของคู่กัน ภาพสวัสดีวันจันทร์ก็เช่นกัน 

อาจารย์ธนาวุฒิเลือกใช้แอปพลิเคชันสื่อสารยอดนิยมมาเชื่อมวัยอิสระ ในวันที่โรคภัยบอกให้เราต้อง Social Distancing พูดไปจะหาว่าอวย เพราะคุณพี่ สว. (สูงวัย) ติดใจการเรียนการสอนออนไลน์กันยกใหญ่ ส่วนการซ้อมก็อาศัยการวิดีโอคอลพร้อมกัน แล้วตรวจเช็กการร้องแยกอีกเป็นรายบุคคล ซึ่ง 16 คน ไม่ได้เท่ากับ 16 ครั้ง คุณพี่บางท่านต้องตรวจการบ้านถึง 3 รอบ และมากสุดคือ 10 รอบขึ้นไป เพื่อให้ได้รอบที่ดีที่สุดของทุกคน ผู้สอนว่านี่คือโจทย์หิน

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

“รูปแบบการส่งประกวดคือการอัดคลิปของแต่ละคนแล้วเอามาต่อกัน โดยผมเล่นไลน์เปียโนแจกทุกคน แล้วให้เขาใส่หูฟังฟังเสียงเปียโนแล้วร้องออกมาปากเปล่า หลังจากนั้นผมให้ซาวนด์เอ็นจิเนียช่วยซ้อนเสียงทั้งหมดให้

“ความยากคือทุกคนต้องร้องให้เป๊ะก่อน หายใจพร้อมกัน ปิดคำ เปิดคำพร้อมกัน ซึ่งพวกเขาต้องอัดมาจากที่บ้าน บางคนยังพักผ่อนอยู่ที่หัวหินอยู่เลย บางคนก็อยู่บ้านหลาน บ้านญาติ อุปกรณ์ก็ของญาติบ้าง หลานบ้าง”

เราแอบหยอกผู้สอนไปว่ากว่าจะถึงเส้นชัยก็อุปสรรคไม่น้อย วัยอิสระไม่โอดโอยกันบ้างหรือ

“ตอนหลังก็มาสารภาพว่าท้อ” อาจารย์ธนาวุฒิเว้นจังหวะก่อนจะอธิบาย

“ผมบอกเขาว่า คุณฟังเสียงตัวเองคนเดียวอย่าท้อเลย คนฟังสิบหกเสียงยังไม่ท้อเลย” ผู้สอนหัวเราะ

การปรับตัวไม่เพียงเฉพาะการฝึกซ้อมของวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม แต่คลาสร้องเพลงคาราโอเกะของเอนาวา สตูดิโอ ก็ถูกปรับมาเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ด้วยเหมือนกัน มีสอนมากถึง 13 คลาสต่อสัปดาห์

การสอนร้องคาราโอเกะของที่นี่ จะสอนร้องอย่างปลอดภัย เข้าใจตัวเองและเข้าใจข้อจำกัด

“ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้องปรับตัวกันหนักมาก ก่อนหน้าก็หลงทาง แต่ผมว่าข้อดีของคนที่มาเรียนกับผมคือ หัวใจเขาไม่แก่ ถ้าหัวใจแก่ไม่มาเรียนร้องเพลงหรอก อะไรที่เขาปรับได้ เขาจะปรับเร็วเลย กลายเป็นว่าติดใจ

“ผมเปิดสอนร้องเพลงออนไลน์สัปดาห์ละหนึ่งเพลง ตอนนี้ผมเปิดสิบสามห้องต่อสัปดาห์ มีคนสนใจเยอะมาก ห้องหนึ่งผมสอนสิบห้าคน สิบห้าคูณสิบสามคือจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่เรียนออนไลน์ บางคนเข้าห้องน้ำก็เดินร้องเพลงไปด้วย แล้วก็มีการบอกต่อด้วยนะ ตัวลูกอายุหกสิบกว่าแล้ว ก็ชวนคุณแม่อายุเก้าสิบมาเรียนด้วยกัน”

สนทนากันสักพัก ต่อมสงสัยทำงาน การสอนสูงวัยร้องเพลงยากกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า-เราถาม

“เขาประสบการณ์เยอะ บางทีเม็มฯ เต็ม อาจจะเข้าใจช้ากว่าคนทั่วไป ผมต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไปก็จะเข้าใจเขา สิ่งที่ผมชอบคือวัฒนธรรมเก่าๆ ที่เขาให้ความเคารพคุณครู แม้ผมจะเป็นรุ่นหลานของเขา แต่บางคนไม่ได้มองว่าผมเป็นเด็ก เขามองว่าผมเป็นอาจารย์ ถ้าพวกเขามองข้ามอายุ ทุกอย่างก็ไม่ใช่ปัญหา คุณค่าความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่อายุ มันอยู่ที่ภาวะความเป็นผู้นำ และอีกฝ่ายต้องยอมรับในสิ่งที่ผมเป็น ส่วนผมก็ต้องแอคทีฟและพัฒนาอยู่เสมอ”

เพียงเข้าใจและยอมรับก็พิชิตระยะห่างระหว่างวัยได้ นี่สิ ความหมายของวลี อายุเป็นเพียงตัวเลข!

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

Live and Learn

การทำงานกับผู้สูงอายุมาหลายขวบปี ทำให้อาจารย์ธนาวุฒิมีไกด์บุ๊กในการดำเนินชีวิต เป็นตำราและบทเรียนชีวิตนับสิบ นับร้อย ของเหล่าพี่ๆ วัยอิสระ เขาเรียกมันว่า ‘สูตรสำเร็จ’ ที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นพร้อมกับภาวะผู้นำ

“ต้องค่อยๆ เรียนรู้ผู้สูงอายุ หลายคนมีความสามารถหลากหลาย และหลายคนทำให้ผมมีความสามารถมากขึ้นด้วยซ้ำ เขาผ่านอะไรมาเยอะ ผมเอาตรงนั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ผมเรียนรู้จากนักเรียนมีสามสเต็ป

“หนึ่ง ผมเรียนรู้ที่จะเป็นหรือไม่เป็นเหมือนกับเขา สอง ผมเรียนรู้วิธีการจะใช้ความสุขเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด สาม การต่อสู้กับความแก่ ซึ่งผมพยายามศึกษาทุกเรื่องใหม่หมดทุกครั้ง เพราะการเรียนรู้จะทำให้คุณเติบโต แล้วคุณก็ต้องกลับไปเรียนรู้อะไรบางอย่างเพื่อที่จะเป็นเด็ก แล้วเติบโต ถ้าคุณเรียนรู้ทุกๆ ปี คุณก็จะไม่มีความแก่

“ผมใช้วิธีนี้กับตัวเองเสมอ หนึ่งปีต้องมีหนึ่งเรื่องเล่า ปีก่อนผมสนใจเรื่องแฟชั่น กีฬา เครื่องดื่ม การลงทุน ส่วนปีนี้ผมกำลังศึกษาเรื่องไวน์และพันธุ์องุ่น พอสนใจแล้วผมเอาจริง อย่างตอนสนใจเรื่องอาหาร ผมไปเรียน ไปลองขาย เพื่อให้อยู่ในจุดที่ผมเข้าใจมันจริงๆ แม้กระทั่งปีที่สนใจเรื่องการลงทุน เล่นหุ้น ก็กลายเป็นนิสัยติดตัวผม ทำให้ผมใช้เงินเป็น ที่สำคัญ ต้องดูด้วยว่าเราได้อะไรจากความรู้นั้น และมันทำให้เราอยู่รอดได้ยังไง ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งดี” 

คุณพี่วัยอิสระและอาจารย์ธนาวุฒิพิสูจน์ให้เห็นแจ้งแล้วว่า อายุไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

ใช่-ไม่มีใครแก่เกินเรียน

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

Passion & Impact

ชายผู้มอบชีวิตให้กับดนตรีตั้งเป้าหมายใหญ่ที่จะพาวงประสานเสียงผู้สูงอายุไปถึงคือการโลดแล่นทั่วโลก และเป็นที่พูดถึงในนาม ‘วงประสานเสียงผู้สูงอายุ’ ไม่ใช่เพียงแค่วงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม แต่หมายรวมถึงวงประสานเสียงผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย ต้องได้รับการยอมรับจากสากลว่ามีความสามารถ ถ้าพูดถึงเมื่อไหร่ต้องที่ไทยเท่านั้น

“สิ่งหนึ่งที่ผมทำสำเร็จแล้วคือ ความสุขที่มากพอจนผู้เห็น ผู้ฟังต้องยิ้มตาม ผมไม่ต้องการให้คนฟังฟังแล้วรู้สึกว่าเจ๋ง เก่งที่สุด หรือเทียบกับใคร แต่ขอเป็นความสุขที่ไม่มีใครเทียบดีกว่า และทับทิมสยามก็เป็นตัวแทนประเทศไทย ไม่น้อยหน้าไปกว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือพาราลิมปิก เพราะเราคือผู้สูงอายุไทยที่สร้างชื่อเสียงให้ก้องโลก”

และนับเป็นการคว้าเหรียญทองครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยสำหรับวงประสานเสียงผู้สูงอายุด้วย

“นี่คือยาที่ดีที่สุด” วาทยกรพูดถึงการเกิดขึ้นของวงประสานเสียงผู้สูงอายุ

“เพราะการร้องเพลงช่วยพัฒนาสมองซีกขวา ส่วนการร้องประสานเสียงช่วยพัฒนาสมองซีกซ้าย สมองทั้งสองซีกจะไม่ฝ่อ และการยืนร้องเพลง ร่างกาย สรีระสง่างดงามมากขึ้น อีกเรื่องคือการฝึกหายใจ ยิ่งเก็บออกซิเจนได้เยอะ การเผาผลาญยิ่งดี และที่สำคัญได้สังคม มิตรภาพ เพื่อนๆ ให้การยอมรับ ทำให้คนสูงวัยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม ช่วยสร้างความรับผิดชอบ เพราะมีส่งการบ้าน ต้องฝึกซ้อม และข้อสุดท้ายทำให้สูงวัยเป็นนักพิชิตเป้าหมาย เป้าหมายคือมีคอนเสิร์ตหนึ่งครั้งทำให้ประทับใจที่สุด นี่คือการทำให้ฮอร์โมนความสุขและความสำเร็จพลุ่งพล่าน”

ผู้คลุกคลีกับบรรดาวัยอิสระบอกว่าการตั้งเป้าหมายนั่นสำคัญ ยิ่งพิชิตได้ยิ่งเพิ่มพลังใจ

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

“อาจจะเป็นการร้องเพลงจบหนึ่งเพลง การร้องเพลงไม่ให้เพี้ยน การร้องเพลงให้ตรงจังหวะ มันเป็นการชนะใจตัวเองทั้งนั้น ลูกหลานต้องพยายามถามสูงวัยว่าความสุขของเขาคืออะไร ให้มุ่งเน้นไปทางนั้น เพราะกิจกรรมทำให้คุณภาพของคนสูงวัยดีขึ้น และต้องไม่ลืมหาเป้าหมายระยะสั้นให้ได้ เพื่อให้เขากระโจนสู้เป้าหมายนั้นอย่างภาคภูมิใจ”

สิ่งที่ทำให้เด็กชายที่ผูกพันกับดนตรีตั้งแต่ 4 ขวบ จวบจน อายุ 30 ปี คือ ‘แพสชันและอิมแพค’

“แพสชันคือสิ่งแรกที่คุณต้องมี ต้องมีความอยาก ความรัก ความคลั่งไคล้ ส่วนอิมแพค มันต้องมีประโยชน์หรือเข้ากับสถานปัจจุบัน ตัวผมก็ไม่ได้ทำธุรกิจสำเร็จในปีแรกหรือสองปีแรก แต่สิ่งที่ทำให้ผมมีความอดทนอยู่ได้คือ ‘แพสชัน’ จงเชื่อในแพสชันของคุณ แล้วจงคิดอย่างถี่ถ้วนว่ามันอิมแพคต่อคนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลกยังไงบ้าง

“บั้นปลายผมวางแผนกับภรรยาว่าจะเก็บเงินแล้วทำเพื่อสังคม ไปตระเวนแนะนำชาวบ้านเรื่องการเก็บเงิน ส่วนตัวผมจะทำให้ชุมชนมีศักยภาพ มีทักษะ มีความรู้มากขึ้น ผ่านดนตรีและการร้องประสานเสียง 

“ทุกวันนี้ดนตรีให้ทุกอย่างกับผม ผมคงจะอยู่กับดนตรีต่อไป พัฒนาวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการประสานเสียง ส่งเสริมดนตรีไทย ส่งเสริมคุณภาพผู้สูงวัยกับดนตรี เพราะผมอยากทำให้ตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม”

เราเชื่อว่าแพสชันที่มีต่อเสียงเพลงและผู้สูงอายุของชายคนนี้กำลังสร้างอิมแพคในใจพวกคุณ

คุยกับวาทยากรวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พากลุ่มนักร้องสูงวัยคว้าเหรียญทองครั้งแรกของไทย

ภาพ : วงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม Siam Ruby Women’s Choir

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก