แม้อายุผู้เขียนจะล่วงเลยไปตามกาลเวลา แต่ครั้งหนึ่งก็เคยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘เด็กสยาม’ มาก่อน

ชีวิตสมัยเรียนชอบไปตากแอร์ฉ่ำ ๆ ที่สยามพารากอน เดินทะลุไปทานข้าวที่สยามเซ็นเตอร์ แล้วไปดูของเก๋ ๆ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ 

แต่เรื่องราวของสยามในบทความนี้จะไม่เหมือนกับหน้าห้างที่ลูกค้าทั่วไปเห็น เพราะเรากำลังจะพาผู้อ่านไปสำรวจเบื้องหลังการทำศูนย์การค้าระดับตำนาน จากประสบการณ์ตรงของ คุณตุ้ม-นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด 

เธอเริ่มประโยคแรกในการสัมภาษณ์กับ The Cloud ว่า “สยามพิวรรธน์ทำอะไรทำจริง เราไม่ได้มาเล่น ๆ” 

สยามพิวรรธน์ คือผู้บุกเบิกย่านสยามในเชิงพาณิชย์มานานกว่า 60 ปี เริ่มจากการสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรม 5 ดาวระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ต่อด้วยการเปิดสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ จนกระทั่งตัดสินใจครั้งใหญ่ รื้อโรงแรมเปลี่ยนเป็นสยามพารากอน ในปี 2005 ศูนย์การค้าระดับโลกด้วยเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการเปิดอภิมหาโครงการไอคอนสยาม และ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ 

บนพื้นที่กว่า 2 ล้านตารางเมตร ภายใต้การบริหารจัดการของสยามพิวรรธน์ เรียกได้ว่าเป็นเมืองย่อม ๆ แห่งหนึ่ง มีพนักงานมาทำงานตั้งแต่เช้าจรดดึกกว่า 20,000 คน ต้อนรับผู้คนจากทั่วโลกที่เดินผ่านไปมาระหว่าง 3 ห้าง ทั้งสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน ประมาณ 200,000 – 300,000 คนต่อวัน และไอคอนสยามอีกกว่า 90,000 คนต่อวัน

นอกจากจะสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความบันเทิงระดับโลกแล้ว เป้าหมายถัดไปของสยามพิวรรธน์ คือการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ด้วยการมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050

“เรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือดูแลสิ่งแวดล้อมเราทำมานานมากแล้ว พอมีเทรนด์โลกในการประกาศเป้า Net Zero เราจึงไม่ค่อยกลัว มั่นใจว่าทำได้” นราทิพย์เกริ่น

ก่อนจะลดให้ถึงศูนย์ เราต้องไปตามหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของเรา หรือคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) กันก่อน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emissions) ขององค์กรในประเภท 1 มาจากกิจกรรมขององค์กรโดยตรง เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันสำหรับรถยนต์ของบริษัท และปริมาณการใช้สารทำความเย็น เป็นต้น ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emissions) ประเภท 2 คำนวณจากการซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร

รวมทั้ง 2 สโคป คิดเป็นประมาณ 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสโคป 3 เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมด้านอื่น ๆ (Indirect Emission) เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้เช่า ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยกันดูแลโลกใบนี้ เพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนในรุ่นต่อ ๆ ไป

เมื่อเราทราบถึงที่มาแล้ว เห็นทีการประหยัดพลังงานจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดของเราในการมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) 

ร้อนจากแดด เย็นจากหลังคา

เคยสงสัยไหมว่าห้างขนาดใหญ่อย่างสยามพารากอน เปิดแอร์ที่อุณหภูมิเท่าไหร่จึงจะพอดี 

นราทิพย์เฉลยให้ฟังว่า “24 องศาเซลเซียสบวกลบ 1”

ภายใต้การตัดสินใจเพิ่มหรือลด 1 องศา ต้องมีการคำนวณอย่างแม่นยำจากเจ้าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการปรับอุณหภูมิอัตโนมัติให้เย็นทั่วถึงทั้งห้าง 

ฤดูกาลก็มีผลกับการปรับตัวเลข ช่วงหน้าร้อนที่ใคร ๆ ก็อยากหนีเข้าห้าง ควรเพิ่มอุณหภูมิแอร์ขึ้นมาสักเล็กน้อย เพื่อไม่ให้รู้สึกถึงความเย็นฉับพลันเมื่อก้าวขาเข้าประตู หรือการอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปิดประตูอยู่เสมอ ป้องกันความเย็นไหลออก

ใครที่เดินห้างจนดึกดื่นอาจไม่ทันสังเกตว่าแอร์ได้ดับลงตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงก่อนห้างปิด แต่ความเย็นยังคงไหลเวียนอยู่ภายในห้าง ช่วยประหยัดไฟได้อีกส่วนหนึ่ง 

สยามพิวรรธน์เปลี่ยนหลอดประหยัดพลังงานครบ 100% มานานหลายปีแล้ว เพิ่มเติมคือการใส่เซนเซอร์เข้าไป เช่น ลานจอดรถหรือออฟฟิศสำนักงาน เมื่อไม่มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ไฟจะดับลงโดยอัตโนมัติ

ทุกรายละเอียดของการประหยัดพลังงานมีผลพิสูจน์จากตัวเลขหน่วยค่าไฟของศูนย์การค้าที่ไม่เคยเพิ่มขึ้น และได้รับรางวัลมามากมายด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อตารางเมตร

“เราทำไปถึงบ้านของพนักงาน จัดแข่งขันให้เอาบิลค่าไฟที่บ้านมาโชว์เปรียบเทียบกันเดือนต่อเดือน คนที่ชนะมาเล่าให้ฟังว่าลูกเป็นตัวตั้งตัวตีบอกให้ปิดไฟในบ้าน กลายเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่น่ารัก นี่คือสิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำ และอยากเห็นการขยายผลต่อในสังคม” นราทิพย์เล่าอย่างภาคภูมิใจ

แม้จะมุ่งมั่นประหยัดพลังงานเพียงใด แต่หากแหล่งกำเนิดพลังงานยังไม่สะอาด คงไม่มีทางไปถึงเป้า Net Zero ได้เป็นแน่ การนำพลังงานสะอาดมาใช้จึงเป็นโจทย์ที่สยามพิวรรธน์ทุ่มสุดตัว

นราทิพย์ยอมรับว่าพื้นที่หลังคาบนห้างย่านสยามอาจไม่เพียงพอที่จะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าแบบเดิมได้ทั้งหมด “คงต้องใช้พื้นที่อีก 2 – 3 สนามหลวงถึงจะเป็นไปได้ เราเลยพยายามเปิดรับเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เช่น ฟิล์มติดกระจก เราใช้แบบสะท้อนความร้อนเพื่อลดอุณหภูมิภายในอาคารอยู่แล้ว ต่างประเทศกำลังพัฒนาให้กลายเป็นแผงโซลาร์บางเฉียบ อนาคตอาจมีนวัตกรรมผลิตพลังงานสะอาดจากกระจกรอบอาคารได้”

แต่สำหรับพื้นที่บริหารนอกสยาม สยามพิวรรธน์ไม่รอช้า ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป แผงมหึมาบนไอคอนสยาม ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

รวมทั้งบนหลังคาของสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร ก็พร้อมท้าแดดด้วยการติดโซลาร์ รูฟท็อป ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,900 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

เมื่อโลกยิ่งร้อน ยิ่งมีความท้าทาย ให้ลูกค้ารู้สึกเย็นสบายเท่าเดิม แต่ใช้ไฟน้อยลงและสะอาดมากขึ้น จึงเป็นเป้าหมายด้านพลังงานของสยามพิวรรธน์ในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 30% ภายในปี 2026 และ 100% ภายในปี 2030 

เรื่องเล่าในห้องน้ำ

ห้องน้ำสะอาดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้คนอยากเดินเข้าห้าง แต่หากอยากทำห้องน้ำให้สะอาดต่อโลกด้วย เขาทำยังไง ขอตามฮีโร่ประจำห้องน้ำเข้าไปดู

แม่บ้านทำความสะอาดที่นี่มีส่วนร่วมในภารกิจพิชิตความยั่งยืนเช่นกัน 

ชักโครกตัวไหนกดน้ำแล้วมีเสียงผิดปกติจะรู้ทันทีและแจ้งช่างทันใด เพื่อมาตรวจสอบดูแลน้ำไม่ให้รั่วไหลอย่างสิ้นเปลือง

การเปลี่ยนก๊อกน้ำเป็นแบบเซนเซอร์อัตโนมัติ และปรับเวลาให้ลดลงอีก 2 – 3 วินาที ก็ช่วยประหยัดน้ำได้มหาศาล หากลูกค้า 100,000 คนต่อวันที่เดินเข้าห้องน้ำช่วยประหยัดน้ำได้คนละ 1 ลิตร ก็เท่ากับน้ำ 100,000 ลิตรที่นำไปทำประโยชน์อื่นต่อได้

ระหว่างล้างมือ อาจมีน้อยคนที่รู้ว่าเรากำลังถูมือด้วยน้ำยาล้างมือออร์แกนิก เพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ เพราะน้ำทุกหยดจะถูกหมุนเวียนต่อ น้ำที่ผ่านอ่างล้างมือไปแล้วมุ่งตรงสู่เครื่องบำบัดน้ำ และส่งต่อไปยังกิจกรรมใช้น้ำที่ไม่สัมผัสตัวคน เช่น ล้างอาคารจอดรถ รดน้ำต้นไม้ หรือเติมน้ำรถดับเพลิง

ล้างมือเสร็จ สะบัด 2 ที เช็ดมือด้วยกระดาษทิชชูรีไซเคิล 1 แผ่นใหญ่ (แผ่นเดียวก็พอนะ บนป้ายช่วยเขียนเตือนสติอีกทาง) ถึงเวลาเดินออกไปสำรวจเรื่องที่คาใจกันต่อ 

ชวนหยิบขยะติดไม้ติดมือมาห้าง

เราไปห้างเพื่ออยากซื้ออะไรบางอย่างติดไม้ติดมือกลับบ้าน ใช่หรือไม่

หรือเราไปห้าง แล้วทำอะไรมากกว่านั้นได้

สยามพิวรรธน์อยากให้พื้นที่ศูนย์การค้าเป็นห้องเรียนของคนที่อยากเริ่มต้นแยกขยะ

อย่างน้อยที่สุด เมื่อเดินลงบันไดเลื่อนมาในแต่ละชั้น จะไม่เห็นถังขยะใสใบเดียวอีกต่อไป แต่จะได้ใช้เวลากันคนละ 3 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น พิจารณาชานมไข่มุกที่อยู่ในมือ เทน้ำทิ้งลงถัง ก่อนแยกชิ้นให้ถูกตามถังขยะ 4 ใบที่วางเรียงกัน

พนักงานภายในของสยามพิวรรธน์กว่า 3,000 คนบนออฟฟิศสำนักงานก็ได้เรียนรู้การแยกขยะไปพร้อมกัน 

“เมื่อก่อนทุกคนจะมีถังขยะเล็ก ๆ ใต้โต๊ะทำงาน ทำให้ทิ้งรวมกันไปหมด ตอนนี้เราเอาถังขยะใต้โต๊ะออก ให้ทุกคนเดินลุกจากโต๊ะไปทิ้งขยะที่ถังแยกของส่วนกลาง” นราทิพย์เล่า

สำหรับใครที่อัปเลเวลด้านการแยกขยะ เปลี่ยนพฤติกรรมตนเองและคนในครอบครัวให้แยกขยะที่บ้านแล้ว ผู้เขียนขอแสดงความชื่นชมจากใจจริง และอยากชวนให้มาทำภารกิจกันต่อ คือการหาที่ไปให้ขยะแต่ละประเภท 

ลานจอดรถทัวร์หลังศูนย์การค้าสยามพารากอนในวันนี้กลายเป็นพื้นที่มหาสนุกของคนที่หิ้วขยะมาจากบ้านในรูปแบบไดรฟ์ทรู (Drive-thru) ไม่เชื่อลองดูสีสันของตู้แยกขยะทั้ง 8 ตู้บริเวณจุดรับขยะหรือ Recycle Collection Center ที่หน้าตาสะอาดน่าทิ้ง ตู้เหล่านี้รับขยะ 8 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง กระดาษ สอง แก้ว สาม เหล็ก อะลูมิเนียม สี่ พลาสติกแข็ง ห้า พลาสติกยืด หก พลาสติกแบบซองมัลติเลเยอร์ เจ็ด ขวดพลาสติกใส และแปด กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ 

โจทย์ใหญ่ของสยามพิวรรธน์ จากศูนย์การค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาเมืองต้นแบบ

ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) มีจุดรับโดยเฉพาะ บริเวณ SCBX NextTech ชั้น 4 สยามพารากอน โดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง Synnex รับไปจัดการอย่างถูกต้องต่อ

นราทิพย์เล่าอย่างสนุกสนานว่า “ถ้ามาห้างทุกวันเสาร์แรกของเดือนซึ่งเราจัดอีเวนต์ใหญ่เรื่องแยกขยะ จะเห็นบรรยากาศที่น่ารักมาก มีครอบครัวขับรถเข้ามาพร้อมลูกเล็ก ๆ ช่วยกันขนขยะมาให้เรา พี่จะชอบมาวันเสาร์ มาแอบดูเขา มันเป็นสังคมของคนที่อยากมาทำความดี แล้วยังได้ VIZ Coin เป็นรางวัลไปเป็นส่วนลดซื้อหาของทานเล่นในห้างต่อได้” 

เรื่องลดขยะภายในห้าง สยามพิวรรธน์ก็ไม่ได้มาเล่น ๆ ด้วยเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะจากการดำเนินงานลง 50% ภายในปี 2030

สารพัดวิธีถูกนำมาใช้ ตั้งแต่การไม่แจกถุงให้ลูกค้า รณรงค์การนำแก้วส่วนตัวมาเติมเครื่องดื่ม หรือออกแบบแก้วน้ำโรงหนังให้ใช้พลาสติกน้อยลง ร้านค้าที่ให้ความร่วมมือจะได้รับการประกาศเกียรติคุณทุกต้นเดือน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับร้านค้าอื่น 

หัวใจสำคัญคือการแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งเพื่อไม่ให้ปนเปื้อน ช่วยให้นำขยะแห้งไปรีไซเคิลหรืออัปไซเคิลได้มากขึ้น

เศษอาหารทั้งหมดในห้างไม่ได้มีจุดจบอย่างน่าเศร้าที่หลุมฝังกลบ ร้านค้าทุกเจ้าจะได้รับการแจกถุงสีเขียว ซึ่งเราเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่เทรวม’ กับกรุงเทพมหานคร ในการแยกเศษอาหารออกมาโดยเฉพาะ เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักหรือเป็นอาหารสัตว์

“มีขยะออกจากห้างเราประมาณ 20 ตันต่อวัน ส่วนในปีที่แล้วเหลือ 18 ตันต่อวัน เพราะเราคัดแยกมากขึ้น กทม. ใช้งบกำจัดขยะสูงถึง 900,000 บาทต่อวันในการจ้างคนเก็บขยะและจ่ายค่าขนส่งขยะทั่วกรุงเทพฯ เมื่อเราทำเองได้ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายของ กทม. อีกทางด้วย” นราทิพย์เล่า

เปลี่ยนขยะเป็นของขึ้นห้าง

ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยะคือทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่หากถูกจัดการอย่างถูกวิธี

โครงการจัดการขยะแบบ 360 องศา ได้ชุบชีวิตขยะเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ แถมเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจได้แบบเกินคาด 

หากเดินขึ้นไปบนชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ บริเวณโซน ECOTOPIA จะพบสินค้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน ไปจนถึงของตกแต่งสวน ชวนให้คิดว่าเราก็มีไลฟ์สไตล์แบบเท่ ๆ ตั้งแต่ตื่นยันเข้านอนได้ โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนทรัพยากรใหม่ (Virgin Materials) ของโลกใบนี้

“อยากให้มองว่าห้างเป็นได้มากกว่าสถานที่ขายของ เราเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนเห็นองค์ความรู้ผ่านตัวอย่างที่เราทำจริง เช่น เราทำเรื่องขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ให้เห็นผลลัพธ์ว่าสิ่งที่เขาแยกขยะไปแล้วกลับออกมาเป็นอะไรได้บ้าง เราอยากสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด”

เมื่อถึงเวลาที่ศูนย์การค้าต้องเล่นใหญ่ในช่วงเทศกาล จัดเต็มทั้งแสงสีเสียง ก็ยิ่งเป็นโอกาสดีในการสอดแทรกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

ต้นคริสต์มาสที่สูงตระหง่านมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 100 เมตร อยากให้ลองเดินใกล้เข้ามาอีก 99 เมตร แล้วจะพบรายละเอียดบนต้นคริสต์มาสที่ล้วนมาจากวัสดุรีไซเคิล 

เป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้วที่ต้นคริสต์มาสหน้าลานดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่ มาจากความคิดสร้างสรรค์ในการนำของเก่ามาเล่าใหม่ เช่น จอทีวีเก่าโบราณ ตลับเทป แผ่นซีดี ถังน้ำพลาสติก ล้วนมาร่วมนับถอยหลังเข้าปีใหม่ไปด้วยกัน 

หากใครประทับใจกับต้นคริสต์มาสกังหันลมจากพลาสติกชีวภาพสีสันสดใสในปี 2020 หลังเทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป เจ้ากังหันเหล่านี้ไม่ได้ถูกทิ้งขว้างไปไหน กลายเป็นอุปกรณ์กองเชียร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ต่อในเดือนกุมภาพันธ์ 

“พลาสติกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ปีนี้ไอคอนสยามฉลองครบรอบ 5 ปี เราเปิดรับบริจาคของเล่นเก่านำมาสร้างสรรค์เป็นต้นคริสต์มาส เมื่อจบงานก็จะส่งต่อสู่น้อง ๆ เยาวชนทั้งในชุมชนรอบห้างและทั่วประเทศไทยในช่วงเทศกาลวันเด็ก 2024”

โจทย์ใหญ่ของสยามพิวรรธน์ จากศูนย์การค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาเมืองต้นแบบ

ได้เวลาเดินออกจากห้าง 

หลังจากเราสำรวจเบื้องหลังการบริหารจัดการศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์กันแล้ว นราทิพย์ชวนเรามองออกไปนอกพื้นที่ของสยามพารากอน ซึ่งมีเพื่อนบ้านอย่างร้านค้า สำนักงาน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน ตั้งกันอยู่แน่นขนัดใจกลางเขตปทุมวัน 

ด้วยความตั้งใจของสยามพิวรรธน์ไม่ได้หยุดแค่การบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า แต่ยังอยากดูแลความเป็นอยู่ของเจ้าบ้านและผู้มาเยือนให้ดียิ่งขึ้น จึงเกิดความร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ในการยกระดับย่านปทุมวันให้เป็น Smart Eco-district ต้นแบบนิเวศอัจฉริยะที่ใคร ๆ ก็อยากมาเดิน 

สยามจะเป็นย่านที่เดินได้เดินดีมากขึ้น จากทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีร่มเงาของต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มและติดตามดูแลโดยพนักงานสยามพิวรรธน์ ขยายไปถึงโซนราชเทวี อังรีดูนังต์ และคลองแสนแสบ

ขยะรกหูรกตาที่น้อยลงด้วยความร่วมมือจากเพื่อนบ้านโดยรอบช่วยกันบริหารจัดการขยะ

ปัญหารถติดอาจยังแก้ไม่ตก แต่ก็มีความพยายามให้คนใช้รถน้อยลง ด้วยการส่งเสริมขนส่งสาธารณะ และให้ที่จอดรถพิเศษสำหรับคนเดินทางมาพร้อมกันแบบคาร์พูลเกิน 4 คน

ในวันที่ฝุ่นเยอะ จะมีการรดน้ำรอบตึกและตรวจรถควันดำก่อนเข้าโซนปทุมวัน 

หากมาเดินสยามครั้งหน้า มาลองเดินห้างไปพร้อมกับการสำรวจไอเดียเรื่องความยั่งยืนกัน

อย่าลืมใส่รองเท้าเดินสบาย สะพายถุงผ้า และเอาขยะที่บ้านติดไม้ติดมือมาด้วยนะ

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ