1 กุมภาพันธ์ 2024
393

แม้จะอยู่ที่ญี่ปุ่นมาเกือบ 10 ปี แต่ความสัมพันธ์เดียวที่เรามีกับฟุตบอลญี่ปุ่น คือการอ่านการ์ตูน กัปตันซึบาสะ

จนกระทั่งปีที่แล้วมีโอกาสไปดูการแข่งขันเจลีกระหว่างทีม Urawa Red Diamonds กับ Kyoto Sanga ที่สนาม ถึงได้สัมผัสความสนุกของการดูฟุตบอลที่ไม่ใช่อนิเมะ การชื่นชมและอินไปกับกองเชียร์อันเร่าร้อนอย่างมีมารยาท ความสะอาด ความสะดวก และความอร่อยของอาหารในสนามที่หลากหลายราวกับฟู้ดคอร์ตในห้าง ยิ่งเจอสินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์เชียร์นานาชนิด ชวนให้คิดว่าสนามกีฬานี่มันดิสนีย์แลนด์ของโลกฟุตบอลรึเปล่า

พูดตรง ๆ ว่าดูบอลไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่แค่ดูไปรอบ ๆ ก็สนุกมาก

และถ้าจะให้เล่าถึงเสน่ห์ของฟุตบอลญี่ปุ่นที่ไม่ได้เป็นแค่กีฬาแต่เป็นไลฟ์สไตล์ด้วย ก็ต้องชวน Takashi Ogami ผู้ก่อตั้ง SHUKYU ซึ่งเป็นทั้งชื่อของนิตยสารและครีเอทีฟเอเจนซี่เกี่ยวกับฟุตบอลสุดเท่มาคุย

พี่เขาบอกว่าความสนุกของฟุตบอลไม่ได้มีแค่การดูกับการลงเล่นนะ

 SHUKYU = Football

SHUKYU ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ฟุตบอล แต่ในที่นี้หมายถึงนิตยสารและครีเอทีฟเอเจนซี่เกี่ยวกับฟุตบอลซึ่งก่อตั้งขึ้นที่โตเกียวในปี 2015 นิตยสารเน้นสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมของฟุตบอลในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ผู้เล่น สโมสร กองเชียร์ แฟชั่น ศิลปะ สถาปัตยกรรม อาหาร และอื่น ๆ ธีมของแต่ละฉบับจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ความสนใจของ บ.ก. ซึ่งก็คือตัว Takashi เอง ตัวอย่างงานที่ผ่านมา ได้แก่ ฉบับ Female, Technology, Identity, The Design Story of J.LEAGUE

“ผมเห็นนิตยสารเล่าเรื่องฟุตบอลในแง่วัฒนธรรมและแบรนด์ที่ทำสินค้าฟุตบอลในเชิงแฟชั่นที่อังกฤษตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน แต่สมัยนั้นที่ญี่ปุ่นยังไม่ค่อยใครทำแบบนั้น ผมเลยอยากลองทำเองดู” Takashi เริ่มเล่าที่มาที่ไป

ส่วนงานเอเจนซี่นั้นเน้นพาฟุตบอลไปสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ นอกวงการกีฬา เรียกได้ว่าทำแทบทุกอย่างทั้งทำเว็บไซต์ สิ่งพิมพ์ วิดีโอโปรโมต ยูนิฟอร์ม สินค้าออริจินอล สินค้าคอลแล็บต่าง ๆ ป๊อปอัปอีเวนต์ ซึ่งได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังและศิลปินมากมาย เช่น adidas, Paris Saint-Germain, J.LEAGUE Club, Noritake รวมไปถึงได้ทำคอนเทนต์ร่วมกับ Olympic Channel ในช่วง Tokyo 2020 ด้วย

“ถ้าชอบดูบอลอยู่แล้ว คุณอาจสนใจหาข้อมูลและรู้เกี่ยวกับเรื่องทีมที่ชอบในระดับหนึ่ง แต่การทำหนังสือและสินค้า ผมตั้งใจใช้พลังของดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์มาช่วยให้คนสนใจเยอะขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมหรือไม่ต้องชอบฟุตบอลก็ได้ คนไม่ชอบอ่านหนังสือก็มี ผมเลยทำสินค้าแฟชั่นด้วย เพราะเข้าถึงง่าย เช่น เสื้อยืด ผมคิดว่าเสื้อสโมสรใส่ไปดูบอลหลายคนเขินเวลาออกนอกสนาม บางคนอายที่ต้องใส่ขึ้นรถไฟ ผมอยากทำของที่คนใช้ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน” 

หลังจากหอบหนังสือและสินค้ากุ๊กกิ๊กเปิดป๊อปอัปทั้งในและนอกประเทศมานาน ปีที่แล้ว SHUKYU จับมือกับเพื่อนอีก 3 คนที่สนใจฟุตบอลเหมือนกันเปิดร้าน 4BFC ที่มีทั้งสินค้าของ SHUKYU สินค้าฟุตบอลวินเทจและอื่น ๆ เพราะอยากได้ที่มั่นสร้าง Community Space รวมคนที่สนใจฟุตบอลในแง่ต่าง ๆ รวมไปถึงคนอ่านด้วย

“ปกติเวลาขายหนังสือจะไม่ได้เจอผู้อ่านโดยตรง ไม่มีฟีดแบ็กออนไลน์เท่าไหร่ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน เขาก็ไม่รู้ว่าคนทำเป็นใคร แต่ถ้าเขามาซื้อที่นี่ เราจะได้รู้จักกัน” 

Football = Lifestyle

​อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรก จักรวาลฟุตบอลญี่ปุ่นมีหลายมิติที่น่าสนใจ เช่น อาหาร ความทุ่มเทของกองเชียร์และมาสคอตคิวต์ ๆ ส่วนตัวสนามเองก็สตอรีแน่น หลายแห่งวิวเด็ด อาคารดีไซน์สวยไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญ หลายทีมใน J.LEAGUE ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ร่วมกับคนในท้องถิ่นอย่างจริงจังจนฟุตบอลไม่ได้เป็นเรื่องของคนที่ชอบกีฬาอย่างเดียว แถมยังมีคอลแล็บกับการตูนดัง เช่น วันพีซ และ โปเกมอน ได้ใจโอตาคุในคราบแฟนบอลไปอีก

“ผมเริ่มทำ SHUKYU เพราะคิดว่านำเสนอเรื่องของฟุตบอลได้หลายมุม สมัยทำอีเวนต์ซึ่งส่วนมากเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ส่วนมากคนที่สนใจคือคนในเมืองใหญ่ ต่างจังหวัดคนอาจไม่อินเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเรื่องฟุตบอล ทุกประเทศก็มีทีมเป็นของตัวเอง ญี่ปุ่นเองก็มีทีมหลากหลายทั้งเมืองใหญ่เล็ก หมายความว่าจริง ๆ แล้วมีคนสนใจฟุตบอลเยอะมาก อีกทั้งคนที่สนใจฟุตบอลเองก็หลากหลายมาก ทั้งอายุและเพศ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ แฟนบอลญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้หญิงค่อนข้างเยอะ ผมเลยรู้สึกว่าฟุตบอลมีหลายมุมที่น่าสนุก แน่นอนว่าเราเล่นฟุตบอล เชียร์บอลเป็นหลัก แต่ยังมีมุมอื่นที่น่าสนุกให้เราเอนจอยหลากหลายเช่นกัน”

เรื่องแฟนบอลนี่เราเห็นด้วยมาก จากที่ได้ไปสุ่มสัมภาษณ์แฟนบอลในสนาม พบว่าผู้คนที่เดินทางมาชมหลากหลายมากจริง ๆ นอกเหนือแฟนบอลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ยังมีคนในท้องถิ่นที่ผูกพันกับสโมสร คู่รักที่หนุ่มพาแฟนสาวมาแนะนำให้รู้จักกับทีมโปรด และกลุ่มเด็กประถมที่รวมตัวกันมาเพราะมีฝันอยากเป็นนักบอล เหตุผลที่ตั้งใจมาเชียร์ก็หลากหลาย บางคนประทับใจความแข็งแกร่งของทีม บางคนรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจของเมือง บางคนเชียร์เพราะเป็นความผูกพันที่ถูกส่งทอดต่อกันมาในครอบครัวที่รุ่นพ่อรุ่นปู่พาลูกหลานมาดูตั้งแต่เด็ก บางคนก็อาจไม่ได้อินมาก แต่นี่ก็เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ทั้งสนุก สะดวก และอร่อย

“อีกอย่างที่น่าสนใจ คือถ้าเป็นเรื่องฟุตบอล โตเกียวไม่ใช่ศูนย์กลางนะครับ อย่างลอนดอนหรือเมืองใหญ่อื่น ๆ เขาจะมีสโมสรใหญ่ ๆ โตเกียวก็มีทีมแต่ไม่ได้ป๊อปมาก เมืองอาจจะดังเรื่องแฟชั่นมากกว่า 

“แม้จะเป็นจังหวัดที่ไม่ดัง แต่ถ้าทีมฟุตบอลดัง คนก็เดินทางไปดูครับ เช่น Kashima Antlers ที่ จังหวัด Ibaraki เมือง Kashima ไม่ใหญ่แต่สโมสรใหญ่ ประวัติยาวนาน นี่ก็เป็นหนึ่งในความน่าทึ่งของฟุตบอล ที่สำคัญคนไม่ได้สนใจแค่ J.LEAGUE นะครับ สนใจทีมทั่วไปด้วย” 

ส่วนความสนุกของการดูบอลญี่ปุ่นที่ดึงดูดผู้คนหลากหลายมาไว้ด้วยกันในสนาม Takashi บอกว่า ในกรณีของ J.LEAGUE คงเป็นเพราะแต่ละทีม ระดับไม่ต่างกันมาก ไม่รู้ว่าใครว่าจะชนะ ต้องไปลุ้นกันเอาเอง

Lifestyle = Relationship

ก่อนจะมาเริ่มทำ SHUKYU Takashi วนเวียนอยู่ในแวดวงการจัดอีเวนต์แถวฮาราจูกุ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลและการทำนิตยสารแม้แต่น้อย แต่ Takashi เริ่มชอบฟุตบอลมาตั้งแต่ 10 ขวบซึ่งเป็นปีที่ J.LEAGUE ถือกำเนิดขึ้น ก่อนหน้านั้นเบสบอลคือกีฬายอดฮิตที่ครองใจมหาชนมาโดยตลอด แต่ความฮอตของ J.LEAGUE ทำให้เด็กหนุ่มจำนวนมากหันมาเล่นและดูฟุตบอล แต่ความผูกพันนั้นมักจะเริ่มจางหายไปตามวัย Takashi เลยอยากให้ SHUKYU ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับฟุตบอลในแง่มุมใหม่

“ในโรงเรียนของญี่ปุ่นจะมีชมรมฟุตบอลจนถึง ม.ปลาย แต่ส่วนมากพอจบ ม.ปลาย แล้วจะเลิกเล่นกัน เพราะอาจจะยุ่งเรื่องเรียนและหันไปสนใจอย่างอื่น คนกลุ่มนั้นที่เคยเตะบอลมานานน่าจะชอบทั้งการเล่นและการดูบอล ผมเลยอยากให้คนกลุ่มนี้และคนที่ชอบดูบอลทั่วไปได้รู้จักมุมอื่น ๆ ที่น่าสนใจของฟุตบอลด้วย แม้จะได้ไม่เล่นบ่อย ๆ แล้ว แต่ก็ไม่ได้หายจากกันไปเลย มันน่าเสียดายครับ”

แต่ในวันที่สื่อออนไลน์แข็งแกร่งขึ้นทุกวัน แม้คลิปสั้น 10 นาที คนยุคนี้อาจจะมองว่ายาวไป Takashi ยังกล้าเลือกสื่อสารผ่านการทำนิตยสารอย่างคราฟต์ ถึงจะจ้างนักเขียนและช่างภาพฟรีแลนซ์บ้าง แต่นอกจาก บ.ก. ยังเป็นคนสัมภาษณ์เอง เขียนเองเสียส่วนใหญ่ ใน 1 ปีเลยออกนิตยสารแค่ 1 – 2 ฉบับเท่านั้น

“ผมชอบนิตยสารครับ อาจเพราะโตมากับการอ่านหนังสือและเคยคิดมานานแล้วว่าอยากทำ ที่สำคัญ มีหลายอย่างเลยที่ถ้าไม่ใช่กระดาษจะทำไม่ได้ เลยอยากทำเป็นเล่มต่อไปเท่าที่ทำได้” 

บรรณาธิการหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมว่าเขามองข้อดีข้อเสียและหน้าที่ของสื่อออนไลน์และสิ่งพิมพ์แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลแบบผลการแข่งขันใช้สื่อออนไลน์ได้ แต่เรื่องที่จะเล่าในนิตยสารควรเป็นเนื้อหาที่อ่านได้ตลอด สดใหม่อยู่เสมอ 

“ตอนทำนิตยสาร ผมพยายามคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ เนื้อหาในเว็บไซต์ ผ่านไป 1 ปี เราอาจจะไม่อ่านแล้วถึงมันจะเป็นเนื้อหาที่ดีมากสำหรับตอนนั้น คือคนอาจจะไม่ได้กลับไปกดอ่านอีกหรือกลับไปอ่านเว็บนั้นไม่ได้แล้ว แต่พอเป็นนิตยสารที่วางอยู่ที่ไหนสักแห่ง อีก 10 ปีถ้าไม่ไหม้ก็ยังอ่านได้ หรืออาจจะอยู่ถึง 100 ปีก็ได้ พอคิดถึงคุณสมบัตินี้ของหนังสือเลยตั้งใจทำเนื้อหาให้คนอยากเก็บไว้นาน ๆ ไม่งั้นไม่คุ้มที่ลงทุนทำเป็นรูปเล่ม”

นอกจากสานสัมพันธ์ในประเทศ เขายังมุ่งผูกมิตรต่างประเทศด้วย SHUKYU ทุกเล่มมีคำแปลภาษาอังกฤษแนบไปกับนิตยสารและมีบริการส่งต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติ ซึ่งได้ผลดีมาก มีแฟนคลับชาวต่างชาติถึง 30% ทั้งในยุโรปและเอเชีย แม้เนื้อหานิตยสารจะค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ก็มีคนอ่านมากพอให้ได้ไปวางขายในร้านหนังสือและ Selected Shop ต่างประเทศมากมาย ป๊อปอัปใน MoMA นิวยอร์กและแกลเลอรีในลอนดอน ปารีสก็เปิดมาแล้ว สเตปถัดไปของ SHUKYU คือการทำให้คนรู้จักร้านที่เพิ่งเปิดมากขึ้น และออกไปตั้งป๊อปอัปที่ต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

“พอตอนนี้เดินทางได้ปกติแล้ว ผมอยากออกไปเจอคนที่ชอบฟุตบอลในคอมมูนิตี้ต่าง ๆ เผื่อได้ทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน เพราะคอมมูนิตี้แบบนี้ ที่ประเทศอังกฤษหรือในยุโรปอาจมีเยอะแล้ว แต่ในเอเชียยังมีไม่มาก ผมว่าเราน่าจะทำอะไรได้หลายอย่างเลย

“ตอนนี้ชาวต่างชาติเริ่มให้ความสนใจ J.LEAGUE เวลาผมไปออกบูทต่างประเทศก็รู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนญี่ปุ่นไปแชร์เรื่องราว ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เวลาคนมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วแวะมาดูบอลเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาครับ”

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2