ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ พี่เชน คือช่างภาพสัตว์ป่าอันดับหนึ่งของประเทศไทย

เขาเป็นนักเขียนฝีมือดี บอกเล่าเรื่องราวของสัตว์ป่าและธรรมชาติได้อย่างจับใจ แล้วเขาก็ยังเป็นหัวหน้าทีมทำวิดีโอสารคดีที่ชื่อ ‘สารคดีสัญชาติไทย’

ปีนี้พี่เชนอายุ 61 ปี ยังคงใช้ชีวิตในป่าเดือนละ 10 กว่าวัน

คงเหมือนช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นที่ไม่แยกตัวเองออกจากงาน เป็นอะไรก็อยู่กับมันทั้งชีวิต

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา พี่เชนมีผลงานหนังสือและหนังสือภาพมากมายหลายเล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนน่าตื่นเต้นเท่าหนังสือคู่นี้

หนังสือที่ชื่อเดียวกันว่า อาชิ

หนังสือรวมภาพถ่ายกวางผาเล่มนี้พี่เชนใช้เวลา 4 ปี นั่งเฝ้าถ่ายภาพตามชะง่อนผา เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

อีกเล่มเป็นหนังสือบันทึกการเดินทาง พี่เชนที่หยิบเอาต้นฉบับเรื่อง เงาตนบนรอยซาย ที่เคยตีพิมพ์แล้ว กลับมาเติมบทสรุปเพื่อให้จบบริบูรณ์

ถ้าจะว่ากันที่รสชาติ หนังสือคู่นี้หอมหวานมาก

หนังสือภาพถ่าย เต็มไปด้วยภาพที่ถ่ายทอดด้วยความรู้สึก ไม่ได้โชว์ภาพกวางผาที่ชัดที่สุด หรือโชว์ตัวตนของคนถ่าย แต่เป็นภาพที่เล่าเรื่องแบบที่ช่างภาพรู้สึก และคนดูภาพก็น่าจะรู้สึก

หนังสือบันทึก เรื่องราวที่พี่เชนเจอนั้นพิเศษเช่นเดียวกับภาษาและสำบัดสำนวนอันแสนจะละเมียดละไมของเขา

ถ้าว่ากันที่กระบวนการ นี่คือหนังสือเล่มแรกที่พี่เชนตัดสินใจพิมพ์เองด้วยระบบสั่งจองล่วงหน้า เพื่อให้ทำหนังสือคู่นี้มีรูปเล่มอย่างที่เขาอยากเห็นที่สุด

มีน-ชุตินันท์ โมรา (คอลัมนิสต์นักดำน้ำของ The Cloud) และ เอ้-พลพิชญ์ คมสัน คู่สามีภรรยานักทำสารคดีใต้ทะเล คือน้องรักและเพื่อนร่วมทีมสารคดีสัญชาติไทยของพี่เชน ที่อาสาเข้ามาช่วยจัดรูปเล่มให้หนังสือคู่นี้

ภาพทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้มาจากฟิล์มสไลด์ ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็นไฟล์ raw แล้วปรุงแต่งเล็กน้อยด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งภาพในปัจจุบัน

การจัดหน้าและออกแบบรูปเล่มก็ผ่านการตีความและเล่าเรื่องเพื่อสื่อสารเรื่องราวบางอย่างสู่ผู้อ่าน

ถ้าได้ฟังเรื่องราวเบื้องหลังของหนังสือคู่นี้ จะรู้ว่ามันเป็นมากกว่าหนังสือ

01

ช่างภาพ

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

พี่เชนเป็นช่างภาพชั้นเยี่ยมและนักรอคอยชั้นยอด ขั้นตอนที่ยาวนานและน่าเบื่อที่สุดของการถ่ายภาพสัตว์ป่าคือ การรอ แต่พี่เชนกลับชอบขั้นตอนนี้และมองว่าเป็นกระบวนการสำคัญของการทำงาน

“ถ้าเราตั้งโจทย์ว่าการรอคอยคือ การได้รู้จักตัวเอง ก็ไม่เสียเวลานะ เพราะมันทำให้เราอยู่นิ่ง ได้มองอะไรอย่างจริงจัง มองเข้าไปข้างใน ตอนนั่งอยู่ริมโขดหินที่เย็นมาก ผมนั่งหนาวสั่น แต่กวางผาไม่เป็นอะไรเลย ยืนเฉย มันทำให้รู้ว่า เมื่อเทียบกับสัตว์แล้ว เราโคตรอ่อนเลย ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เรานอบน้อมกับทุกสิ่งทั้งธรรมชาติและคน”

02

ไร้ชื่อ

“ผมเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ดิฉัน ตอนทำงานมาได้สักพักหนึ่งว่า ความฝันของผมคือ มีหนังสือสัตว์ป่าสักเล่มที่มีชื่อผมตัวโตๆ บนปก มันเป็นอีโก้ แบบกูเป็นช่างภาพสัตว์ป่านะเว้ย อยากให้คนรู้จัก โชคดีที่ผมมีหนังสือเล่มแรกตอนที่ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว” พี่เชนย้อนเล่าถึงหนังสือเล่มแรก

หนังสือภาพเล่มที่แล้ว 50 ปีห้วยขาแข้ง เขาทำงานร่วมกับช่างภาพรุ่นน้องอีก 2 – 3 คน เป็นการรวมภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ถ่ายยากมาก เขาตัดสินใจลงชื่อช่างภาพรวมกันตัวเล็กๆ ไว้ท้ายเล่ม เขาว่า “เราตกลงกับน้องๆ ว่า ให้รูปสัตว์มันโชว์ ไม่ต้องโชว์ชื่อช่างภาพ เราตั้งใจทำให้คนรู้จักสัตว์มากกว่า ไม่ต้องรู้จักคนทำงานหรอก รู้จักผลงานดีกว่า”

ส่วนหนังสือเล่มล่าสุด เขาบอกเอ้และมีนว่า ไม่อยากให้มีชื่อเขาบนปก แต่น้องๆ ไม่ยอม เพราะมันจะขายยากมาก เนื่องจากไม่รู้เลยว่าเป็นหนังสืออะไรของใคร สุดท้ายก็เลยมีชื่อพี่เชนตัวเล็กๆ สีจางๆ ที่กลมกลืนไปกับรูปแทน

03

ภาพสัตว์

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“เป็นเรื่องดีที่คนสนใจถ่ายภาพสัตว์ป่าเยอะขึ้น แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าเราทำความเข้าใจสัตว์ป่าด้วย ก่อนจะรู้จักอุปกรณ์กล้อง ต้องรู้จักสัตว์ป่าก่อน คนแบกเลนส์ยาวๆ ไปถ่ายรูปอาจจะต้องการรูปสวยๆ ชัดๆ ดูเท่ดี แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับสัตว์เลย ผมก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน ถ้าต้องการแค่รูปสัตว์อย่างเดียวมันน่าเสียดาย เราควรใช้การถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นเครื่องมือให้เราได้เรียนรู้ทั้งสัตว์ป่าและตัวเราเอง ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนจะวิเศษไปกว่าธรรมชาติอีกแล้ว

‘การถ่ายภาพสัตว์ป่าไม่ควรหยุดแค่ถ่ายให้สวย เราต้องก้าวข้ามความงามไปหาแก่นของมัน ภาพต้องเล่าเรื่องราวของตัวมันเอง ถ้าช่างภาพยังไม่เข้าใจมัน คุณจะถ่ายทอดเรื่องราวของมันออกมาได้ยังไง’

04

ภาพเหมือนคน

“ตอนถ่ายภาพใหม่ๆ ผมก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก สุดท้ายเวลาก็ค่อยๆ สอนผมว่า การถ่ายภาพสัตว์ป่าไม่ใช่การเล่าเรื่องของสัตว์ แต่เป็นเรื่องของคน เวลาเห็นกวางผาติดอยู่ตรงสันแคบๆ ก็เหมือนเรา คนเราก็ติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ไปไม่เป็นเหมือนกัน ถ้าสัตว์ตายไปสักตัว เราก็ต้องรู้ว่า วันหนึ่งมันจะเดือดร้อนถึงคนนะ ผมไม่ได้ทำเรื่องสัตว์ แต่กำลังทำเรื่องคน”

05

นาน

พี่เชนเจอกวางผาครั้งแรกปี 2530 พอถึงปี 2535 เขาก็กลับไปปักหลักถ่ายที่อินทนนท์ ม่อนจอง และเชียงดาว 4 ปีเต็มๆ จากนั้นก็ทิ้งไปเป็นสิบปีไม่ได้กลับไปถ่ายอีก ในที่สุดปี 2561 ภาพถ่ายเซ็ตนี้ก็กลายมาเป็นหนังสือภาพหลังจากใช้เวลารอคอยถึง 35 ปี

06

เหมือนแต่ต่าง

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“มันก็ไม่ต่างจากถ่ายภาพสัตว์ป่าชนิดอื่นหรอก แค่คุณต้องไปใช้ชีวิตอยู่บนชะง่อนหินตามหน้าผา เหมือนกวางผา แต่อยู่กันคนละชะง่อน ผมต้องให้ชาวลาหู่เพื่อนผมนำทางไป แล้วเอาเชือกผูกเอวให้ผมไต่ลงไปข้างล่าง ผมทำแบบนี้ตอนที่อายุยังไม่มาก เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมาก”

07

ฟิล์มสไลด์

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

ตอนนี้พี่เชนใช้ชีวิตในป่าเดือนละประมาณ 10 วัน แต่ช่วงก่อนหน้านี้เขาอยู่ในป่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 วัน แต่ละทริปเขาพกฟิล์มสไลด์เข้าไปประมาณ 10 ม้วน หมายความว่า 20 วันนั้น เขาถ่ายได้แค่ 360 รูป

“เดี๋ยวนี้ 360 รูป กดพรืดเดียวก็หมดแล้ว ยุคโน้นฟิล์มต้องประหยัด แบตเตอรี่ก็ต้องประหยัด กล้องดิจิทัลก็ดีนะครับ ผมก็ใช้ แต่มันทำให้ทักษะของเราหายไป โดยเฉพาะคนที่ปล่อยให้กล้องทำงานเองอย่างเดียว สมัยผมต้องวัดแสงแม่น ต้องรู้อุณหภูมิแสง ต้องพัฒนาฝึกฝนตัวเองตลอด”

08

เบลอ

ถ้าเราคุ้นเคยกับหนังสือรวมภาพถ่ายแบบชัดกริ๊บ แล้วมาพลิกดูหนังสือเล่มนี้แบบเร็วๆ จะรู้สึกว่าทำไมถึงมีแต่รูปเบลอๆ พี่เชนอธิบายว่า “ภาพชัดก็มีครับ แต่ไม่ได้เลือกมาใช้ ผมเลือกภาพแบบนี้มาก็เพราะ ในชีวิตจริงเราไม่เห็นสัตว์ป่าแบบชัดๆ หรอก เราเห็นมันแบบเบลอๆ ต้องใช้เวลามองหานานมากถึงจะเห็นตัว ผมเลยตั้งใจให้รูปเซ็ตนี้เป็นแบบนั้น”

09

ไฟน์อาร์ต

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“คุณจะบอกว่าผมถ่ายแบบไฟน์อาร์ตก็ได้ ช่างภาพดิจิทัลสมัยนี้อาจจะไม่ชอบใจกับภาพชุดนี้เลย หนังสืออะไรวะ ชัดก็ไม่ชัด มืดก็มืด งานนี้มันต้องใช้มากกว่าตาดูนะครับ”

10

ติดเกาะ

“ผมอยากจะบอกว่า กวางผาไม่มีอนาคต แหล่งอาศัยของมันถูกตัดให้เหลือผืนเล็กลง มันกำลังติดเกาะ มันต้องผสมพันธุ์กันเองในกลุ่ม ทำให้ลักษณะมันด้อยลง อ่อนแอลง เราไม่ต้องไปฆ่ามันหรอก ในที่สุดมันก็จะไม่เหลือเอง การล่าเป็นปัญหาปลายเหตุมาก ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สัตว์ป่าทุกชนิดเป็นแบบนี้หมดเลย ถ้าคุณดูภาพหน้าปก จะเห็นว่าดูแล้วเหงา เศร้า โดดเดี่ยว ผมหวังว่าภาพปกจะทำให้คนดูรู้สึกแบบนั้น”

11

สัตว์ป่าไม่มีอนาคต

“ผมให้โจทย์มีนกับเอ้ในการออกแบบหนังสือว่า ต้องการให้คนอ่านรู้สึกว่า กวางผาไม่มีอนาคต โทนรูปก็จะออกมาเหงาๆ เศร้าๆ โดดเดี่ยว เป็นจิตวิญญาณแบบภูเขา”

12

แต่มันไม่เคยหมดหวัง

“ถึงสัตว์ป่าไม่มีอนาคต แต่มันไม่เคยหมดหวัง มันใช้ชีวิตของมันไปเรื่อยๆ ภาพในเล่มนี้เลยเหงาแล้วค่อยๆ สว่างสดใส จากภาพขาวดำไปจบที่ภาพสี เพราะมันมีความหวังอยู่”

13

ส่งต้นฉบับด้วยฟิล์มสไลด์

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

ที่ผ่านมาพี่เชนส่งต้นฉบับคอลัมน์ให้นิตยสาร ดิฉัน ด้วยลายมือที่เขียนบนกระดาษแนบฟิล์มสไลด์ ใส่ซองส่งทางไปรษณีย์ เขาส่งอย่างนั้นเรื่อยมาจนถึงนิตยสาร ดิฉัน ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ส่วนคอลัมน์ของพี่เชนใน The Cloud เขาส่งเป็นไฟล์เวิร์ดและภาพดิจิทัล พี่เชนประเดิมคอลัมน์ตอนแรกเรื่อง กวางผา เป็นเรื่องที่น่าอ่านมาก

14

ผสมผสาน

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่อารมณ์อาลัยอาวรณ์ฟิล์ม แต่เป็นการผสมผสานของเก่ากับของใหม่ เป็นการเปิดใจร่วมงานกันของแอนะล็อกกับดิจิทัล มันอยู่ด้วยกันได้ เหมือนคนกับสัตว์ป่า คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ทำงานด้วยกันได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน”

15

เลือกรูป

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“พี่เชนเลือกฟิล์มสไลด์มาให้ 200 – 300 รูป ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงเอาฟิล์มสไลด์ไปดรัมสแกน แต่เท่าที่ผมพยายามหาข้อมูล ในเมืองไทยไม่เหลือเครื่องที่ใช้งานได้แล้ว ต้องส่งไปทำที่เยอรมนี ไฟล์ที่ได้ออกมาเป็น .tif ความยืดหยุ่นสู้ไฟล์ raw ไม่ได้ เราเลยลองใช้กล้องดิจิทัลสมัยใหม่ ถ่ายภาพฟิล์มสไลด์ เพื่อให้ได้ไฟล์ raw จะได้เอาข้อมูลต่างๆ ในฟิล์มสไลด์ไปใช้งานต่อได้” เอ้เล่าถึงวิธีการทำงาน

16

ฟิล์มสไลด์

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“เราคุยกับพี่เชนว่า ฟิล์มสไลด์พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดของมันแล้ว มันเก็บข้อมูลได้มหาศาล เก็บแสงได้ละเอียดมากจนตาเรามองไม่เห็น เมื่อก่อนเครื่องพิมพ์ภาพอาจจะไม่มีความสามารถขนาดนั้น แต่ตอนนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ดึงความเจ๋งของฟิล์มให้กลับมาได้ ฟิล์มสไลด์ที่ดูตาเปล่าเหมือนจะไม่มีภาพอะไร พอแปลงเป็นไฟล์ raw เราดึงข้อมูลจากฟิล์มออกมาได้หมดเลย” เอ้อธิบาย

17

คม

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“ความยากคือการไปตามหาอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นตู้ไฟสำหรับวางสไลด์และแท่นจับกล้อง ซึ่งแทบไม่มีร้านไหนขายแล้ว เราถ่ายแล้วต่อสายเข้าคอมพิวเตอร์เลย เพื่อเช็กว่าก๊อปปี้ภาพออกมาคมไหม แต่บางรูปก็ไม่คมมาตั้งแต่แรก เพราะข้อจำกัดของกล้องฟิล์มสมัยก่อน Stabilizer ยุคนั้นก็ไม่ดีเท่ายุคนี้ พี่เชนอยู่บนหน้าผาที่ลมแรง ISO ของฟิล์มก็ไม่เยอะ ซูม 600 บ้าง 800 บ้าง ยังไงมันก็ไม่คมเท่าปัจจุบัน เราเลยต้องสังเกตฝุ่นบนสไลด์ ถ้าฝุ่นคม แปลว่า เราก๊อปปี้ได้คมที่สุดแล้ว” เอ้เล่า

18

นาน

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“เราใช้เวลาถ่ายแต่ละรูปนานมาก แล้วก็ต้องใช้เวลาปรับสี บางรูปก็รีทัชฝุ่นออกอีกรูปละชั่วโมง ภาพทั้งหมดไม่ใช่ภาพสไลด์ดั้งเดิม แต่เราไม่ได้รีทัชให้บิดเบือนความจริง ทั้งหมดยังเป็นความจริงเหมือนเดิม เราใช้เวลากับขั้นตอนนี้เป็นเดือน” มีนเล่าถึงขั้นตอนที่หนักหนาที่สุด

19

รูปเสีย

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“การที่พี่เชนเข้าป่าครั้งละนานๆ ทำให้ฟิล์มบางม้วนโดนความชื้นโดนความร้อนก่อนเอาไปล้าง ภาพก็เลยเสีย ออกมาม่วงเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คือเป็นรูปที่ใช้ไม่ได้” เอ้เล่าถึงภาพเสียจำนวนหนึ่งซึ่งพี่เชนยังเก็บไว้

20

ซ่อม

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“เราเอาฟิล์มเสียๆ พวกนั้นมาแปลงให้เป็นไฟล์ raw แล้วปรับสีได้ เรามีรูปเซ็ตแม่ลูกกวางผา ฟิล์มสไลด์ม้วนเดียวกัน เวลาเดียวกัน อาจจะเป็นการอัดหรือการเก็บที่มีปัญหาเลยมีรูปที่สีเพี้ยน ตอนนี้เราปรับให้สีของทั้งสามรูปเท่ากันได้” มีนบอก

21

ภาพเพิ่ม

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

พอเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถซ่อมแซมฟิล์มสไลด์เสียๆ ได้ พี่เชนก็คัดรูปสไลด์มาให้เพิ่ม รวมเป็น 1,300 รูป

22

รูปซ้ำ

“มีนขอดูรูปทั้งหมดเพื่อให้ตกตะกอนว่าจะเล่าเรื่องยังไง พยายามจัดหมวดหมู่ของรูป ตอนแรกกังวลว่าภาพซ้ำเยอะมาก ความหลากหลายไม่เยอะ แต่พอดูดีๆ ก็เห็นว่า ในความซ้ำนั้นมีความแตกต่างอยู่ อาจจะเป็นสถานที่เดียวกัน มุมเดียวกัน แต่เป็นคนละวัน คนละฤดู หรือคนละปี มันเป็นรูปที่แตกต่างกัน” มีนเล่าถึงแนวคิดหลักในการจัดเรียงรูป

23

เฝ้ามอง

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“มีนอยากให้หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องการไปเฝ้าดูอย่างจริงจังของคนคนหนึ่ง ก็เลยเปิดหนังสือจากความมืด แล้วมีภาพหน้าคู่ 3 คู่ที่เป็นมุมเดียวกัน ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นรูปเดียวกัน แต่มันเป็นคนละรูปกัน เพื่อจะบอกว่า พี่เชนใช้เวลาเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เฝ้าอยู่ที่จุดเดิม แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นโดยไม่ต้องเขียนบอกว่าพี่เชนลำบากไปเฝ้าเป็นปีๆ” มีนเล่า

24

แบ่งหมวด

“มีนแบ่งหนังสือออกเป็นเซกชัน มีความเป็นฤดูกาลอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเล่าเรื่องพื้นที่เดิมๆ ซ้ำๆ เพราะพี่เชนอยู่ตรงนั้น กวางผาขยับบ้าง นั่งบ้าง ยืนบ้าง มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ส่วนฉากหลังก็ไล่ตั้งแต่ช่วงหน้าฝน ช่วงที่มีหมอกทึบไปจนถึงช่วงที่มีไฟป่า แล้วก็มีหญ้าอ่อนระบัด มีลูกกวางผาออกมา” มีนเปิดหนังสือให้ดู

25

รูปใหญ่

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“พี่เชนไม่ชอบการวางรูปเล็กหลายๆ รูปในเลย์เอาต์ เราเลยพยายามวางรูปให้กว้างและใหญ่ที่สุด ที่เลือกหนังสือใหญ่ขนาดนี้ เพราะบางรูปพิมพ์ใหญ่แล้วจะดูดี หนังสือภาพที่พิมพ์ในเมืองไทยมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าเล่มหน้ากว้างของหนังสือจะไม่เกิน 11 นิ้ว ถ้าอยากได้ใหญ่กว่านี้ต้องส่งไปพิมพ์ที่สิงคโปร์ ซึ่งเราไม่สามารถ เลยขยายขนาดไปทางตั้งให้มันสูงขึ้น” มีนอธิบาย

26

“ความเงียบเป็นอีกภาษาหนึ่ง ผมไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้มีคำบรรยายภาพ เลขหน้ายังไม่อยากให้มีเลยครับ อยากให้คนได้อยู่กับความเงียบ อยู่กับตัวเองโดยไม่มีอะไรมาบังคับ คิดเองว่ารูปนี้เป็นยังไง อยากให้ไปถึงตรงนั้น นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากสัตว์แล้วพยายามถ่ายทอดให้คนอื่นเห็น” พี่เชนบอกความตั้งใจ

“เรื่องนี้ผมไฟต์นานมาก” เอ้หัวเราะ “เราลองทำออกมาแล้ว มานั่งดูแล้วก็คิดว่า คนอ่านอาจจะไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง พอแบ่งเป็นเซกชันแล้วก็อยากให้คนอ่านได้มีทิศทางในการเสพนิดหนึ่ง สุดท้ายก็ประนีประนอมกันตรงมีข้อความสั้นๆ ที่หน้าเปิดเซกชัน ซึ่งเราดึงข้อความมาจากหนังสือ ช่วยนำทางให้คนอ่านนิดหนึ่ง

27

คำ

‘ภูเขาย่อมไม่เคลื่อนไปที่ไหน มีแต่เพียงผู้มาเยือนจะนำเรื่องราวของภูเขาไปบอกให้ผู้อื่นได้รับรู้’

นี่คือตัวอย่างคำที่อยู่ในหน้าเปิดเซกชัน

28

กระดาษ

“การทำหนังสือภาพเล่มหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้นทุนสูง โดยปกติในเมืองไทย ถ้าต้นทุนสูงก็ลดคุณภาพกระดาษ ลดคุณภาพการพิมพ์ลง แต่เราไม่ประนีประนอมอะไรพวกนั้นเลย เราต้องการทำงานที่มีคุณภาพที่สุด เราถึงเลือกกระดาษตัวนี้ซึ่งราคาค่อนข้างแพง นอกจากจะพิมพ์ดีแล้ว มันยังมีผิวสัมผัสที่รู้สึกได้ถึงเกรนของฟิล์มสไลด์” เอ้พูดจบก็ชวนให้เราลองสัมผัสกับผิวของหน้ากระดาษ

29

ปก

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“ทีแรกพี่เชนอยากใช้รูปนี้เป็นปก มันเป็นภาพกวางผาในเงามืด เป็นความลึกลับ ซึ่งเรามองไม่เห็นมัน เพราะเราไม่รู้จักสัตว์ป่า แต่ว่ามันไม่ค่อยจะดึงดูดเท่าไหร่ มีนเลยลองไปทำปกอื่นๆ มาให้พี่เชนเลือก จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นปกแบบที่เห็น” มีนเปิดภาพแรกที่เคยเกือบเป็นปกให้เราดู

30

รูปเล่ม

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“ผมอยากพิมพ์หนังสือสองเล่มคู่กันมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะผมไม่อยากให้มีตัวหนังสือในหนังสือภาพ ก็เลยพิมพ์หนังสืออีกเล่มออกมา เป็นบันทึกตอนที่ผมทำงานที่ดอยอินทนนท์ มีรายละเอียดวินาทีที่เจอลูกกับแม่กวางผา เป็นเล่มที่มีแต่เรื่องไม่มีรูป อ่านเล่มนี้แล้วก็ไปดูรูปเล่มโน้น มันเป็นหนังสือที่เคยพิมพ์มาแล้วในชื่อ เงาตนบนรอยซาย ผมเพิ่มเรื่องเข้าไปเพื่อให้มันเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์” พี่เชน

31

อาชิ

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

พี่เชนเล่าที่มาของชื่อหนังสือว่า “ชาวลาหู่เรียกกวางผาว่า อาชิ แปลว่า พาหนะของพระเจ้า เพราะสัตว์ที่วิ่งไปตามสันเขาได้เก่ง ถ้าไม่ใช่ของพระเจ้ามันจะวิ่งแบบนี้ได้ยังไง”

32

พิมพ์เอง

“ผมอยากทำหนังสือเล่มนี้ให้เป็น Coffee Table Book ตั้งแต่แรก ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมไปบอกสำนักพิมพ์ว่า อยากได้รูปเล่มแบบนี้ ภาพปกแบบนี้ใครจะยอม เพราะวางบนชั้นแล้วไม่สะดุดตาเลย แต่มันคือความรู้สึกของผมที่มีต่อกวางผา เป็นการเปิดประเด็นให้คนคิดต่อ ผมก็เลยเลือกที่จะพิมพ์เอง” พี่เชนย้อนเล่าถึงความฝันเมื่อ 30 ปีก่อน

33

พรีออร์เดอร์

“เราใช้วิธีพรีออร์เดอร์ ใช้เวลาระดมทุน 4 เดือนก็ได้ครบตามจำนวนที่ต้องการคือ 400 เล่ม แล้วเราก็พิมพ์เพิ่มมาอีกจำนวนหนึ่ง หนังสือคู่นี้ตอนพรีออเดอร์เราขาย 2,500 บาท แต่ตอนนี้ขาย 2,900 บาท ตอนนี้หนังสือพิมพ์เสร็จแล้ว คนที่สั่งซื้อก็รอรับได้เลย ส่วนคนที่เพิ่งเห็นข่าว ก็ยังสั่งซื้อได้นะครับ” เอ้เล่า

34

ซ้ำ

“ผมไม่รู้เลยว่าเล่มนี้มีโอกาสพิมพ์ซ้ำไหม คงต้องดูยอด ถ้าขายหมดแล้วมียอดสั่งเข้ามาเยอะ ก็อาจจะพิมพ์ แต่ผมอยากจะทำโปรเจกต์ใหม่มากกว่า ปล่อยให้เล่มนี้เป็นของหายากไป” พี่เชนสรุปว่า ถ้าชอบก็อย่ารอลุ้นพิมพ์ซ้ำเลย

35

สั่งซื้อ

ถ้าใครสนใจหนังสือคู่นี้ก็สั่งซื้อทางเฟซบุ๊กได้ที่เพจ Booktopia

และร้าน Thailand Outdoor

36

ภาพนิ่ง

กวางผา, ปริญญากร, ฟิล์มสไลด์, หนังสือภาพถ่าย, อาชิ

“งานของผมอยู่ในที่โล่ง

ท้องฟ้าสีครามเข้ม ทิวเขาสลับซับซ้อน ละอองหมอกหนาวเย็น เปียกชื้นเพราะสายฝน

กระนั้นท้องฟ้ากว้างไม่ได้ทำให้ผม ‘รู้จัก’ โลกนี้ดีขึ้นสักเท่าไหร่

ที่รู้ก็เพียงว่า ขณะใช้ชีวิตอยู่ริมหน้าผา

การนิ่งอย่างที่กวางผาแสดงให้เห็นคือสิ่งจำเป็น”

นี่คือข้อความสุดท้ายที่พี่เชนทิ้งไว้ท้ายหนังสือของเขา

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ