21 กุมภาพันธ์ 2018
7 K

ทุกวันนี้ 54 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง

เราเรียกมนุษย์ในเมืองเหล่านี้ว่า ประชากรเมือง หรือ Urban Population จากสมัยก่อนที่คนอยู่กระจัดกระจายกันตามพื้นที่เกษตรกรรม สู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผู้คนเริ่มอพยพ หลั่งไหลเข้ามาสู่พื้นที่เมืองมากขึ้น ทำให้เมืองเริ่มขยายตัวเรื่อยมา จนยุคปัจจุบันที่เหล่าประชากรเมืองทั่วโลกเติบโตขึ้นจาก 746 ล้านคนในปี 1950 สู่ 3.9 พันล้านคน ในปี 2014 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 พันล้านคน หลังปี 2030

นับจากวันนี้ไป การเติบโตของตัวเลขเหล่าประชากรเมืองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และแน่นอนว่าไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น

พูดถึงประชากรเมืองไปแล้ว จะไม่พูดถึง ‘เมือง’ เลยก็คงไม่ได้

เมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่เกิน 10 ล้านคนเป็นต้นไป เราเรียกว่า Mega City ตอนปี 1990 ทั่วโลกมีแค่ 10 เมืองเท่านั้น [ให้นึกภาพเดมี่ มัวร์ (Demi Moore) ในมหานครนิวยอร์กจากหนังเรื่อง Ghost 1990 แล้วจะพอเข้าใจบรรยากาศ Mega City ในยุคนั้น] จากนั้นไม่นานตัวเลขก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2014 Mega City ทั่วโลกเพิ่มจำนวนเป็น 28 เมือง เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกคือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 34.4 ล้านคน ในขณะกรุงเทพฯ อยู่อับดับที่ 28 ประชากร 8.29 ล้านคน

ในปี 2030 โลกจะมี Mega City 41 เมือง โอ้แม่เจ้า แค่คิดถึงโลกในอนาคตก็อึดอัดแล้ว

เหมือนจะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ศูนย์กลางความเจริญต่างๆ รวมถึงศิลปวิทยาการและแรงงานมนุษย์มากระจุกตัวกันอยู่ที่ในพื้นที่เมือง แต่เดี๋ยวก่อน! ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่สิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งต้องรองรับประชากรเมืองจำนวนมหาศาลให้อยู่รอดปลอดภัยใน Mega City ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ ระบบสาธารณสุข คนยิ่งเยอะ ระบบในการจัดการเมืองให้เป็นระเบียบก็ยิ่งแยะตามไปด้วย

แล้วกรุงเทพฯ ของพวกเราจะรับมือไหวไหมเนี่ย

ประชากรกำลังจะล้นโลก เผาผลาญทรัพยากรทางธรรมชาติให้หมดไปทีละน้อย จึงเป็นที่มาของ Sustainable Delvelopment Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดต่อเนื่องจาก Millennium Development Goals ที่สิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปวาง Action Plan ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้มีหมุดหมายอยู่ที่ปี 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) แบ่งเป็นเป้าหมาย 17 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่การขจัดความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการอนุรักษ์และจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

 

จากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ดูเป็นสเกลใหญ่มาก มากเสียจนนึกภาพแทบไม่ออกว่าจะนำมา adapt และ apply อย่างไรกับสังคมไทยและกรุงเทพฯ (ว่าที่ Mega City ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า) จนเมื่อวันก่อนเรามีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายของแซม บารอน (Sam Baron) Creative Director ของ Fabrica Design Studio สถาบันออกแบบระดับโลกที่คนในแวดวงดีไซเนอร์รู้จักกันเป็นอย่างดีที่งาน Bangkok Design Week 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

Sam Baron Sam Baron งาน Bangkok Design Week 2018

แซมเล่าเรื่องโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดที่ Fabrica Design Studio ได้ร่วมงานกับ AP Design Lab ในการหาคำตอบทางการออกแบบให้กับพื้นที่อยู่อาศัยในอนาคต เมื่อประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้นๆ พื้นที่อยู่อาศัยในเมืองก็จะยิ่งเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

Sam Baron Sam Baron

โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า Space Scholarship เป็นครั้งแรกของการให้ทุนการศึกษาในรูปแบบที่พักอาศัย ด้วยห้องชุดในคอนโดมิเนียมของ AP แก่น้องๆ นักศึกษาจากต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ โดยโจทย์ที่ AP Design Lab และ Fabrica Design Studio ตั้งไว้คือ การออกแบบพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยร่วมกันของเด็ก 7 คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มาจากภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์การออกแบบตอบโจทย์การใช้ชีวิตบนข้อจำกัดด้านพื้นที่ในเมืองให้ได้ และกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ แบ่งปัน และการอยู่ร่วมกัน บนความแตกต่างอย่างเกื้อกูล

เราอยากให้พื้นที่ห้องที่เราออกแบบร่วมกันในครั้งนี้รองรับการใช้งานที่หลากหลายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะในทุกวันที่น้องๆ นักศึกษาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จะมีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน มันจึงสำคัญมากกับการออกแบบเพื่อเสนอทางเลือกในการใช้งานพื้นที่อันจำกัดหลายๆ ทางเลือก ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้อยู่อาศัยสามารถประยุกต์การใช้พื้นที่ได้ งานออกแบบที่ดีไม่ควรตั้งกรอบการใช้งาน เพื่อเป็นคำตอบสุดท้ายให้แก่ผู้ใช้ แต่ควรเสนอความเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบมากกว่า”

ห้องชุดคอนโดมิเนียม AP ห้องชุดคอนโดมิเนียม AP ห้องชุดคอนโดมิเนียม AP ห้องชุดคอนโดมิเนียม AP

“ในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ทีมนักออกแบบของ Fabrica Design Studio มี 6 ชีวิต 6 เชื้อชาติ จาก 6 ประเทศ มาจากคนละมุมโลก มีพื้นหลังความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และมุมมอง ที่มีต่อสิ่งรอบตัวแตกต่างกัน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะความแตกต่างเหล่านั้นมันทำให้เรามองทุกอย่างกว้างขึ้น รอบด้านขึ้น จากการตั้งโจทย์ที่หลากหลายบนการแลกเปลี่ยนที่เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่นกันกับน้องๆ นักศึกษาทั้งเจ็ดคน เราออกแบบพื้นที่พักอาศัยที่อยากให้พวกเขารู้สึกว่าที่นี่คือบ้านจริงๆ ที่ซึ่งพวกเขาจะสามารถแบ่งปันบทสนทนา ประสบการณ์ชีวิต การเติบโต และการเรียนรู้ร่วมกัน กับเพื่อนร่วมบ้านของพวกเขาได้”

Space Scholarship

มีพื้นที่ส่วนกลางที่นั่งกินข้าว ทำงาน พูดคุย ในขณะเดียวกันก็สร้างความสงบในตอนที่ต้องการสมาธิอ่านหนังสือหรืออยู่กับตัวเองได้ ไม่มีข้อจำกัดตายตัวในการใช้พื้นที่ เราเรียกผลลัพธ์ทางการออกแบบนี้ว่า SUM (Sum of Small Parts) เป็นการสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันไปพร้อมๆ กับการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จากผลรวมขององค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ และวัสดุสิ่งของ อันหลากหลาย”

ห้องชุด AP คอนโด AP คอนโด AP คอนโด AP

ใกล้จบการบรรยาย แซมกล่าวทิ้งท้ายถึงรูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคตว่ากำลังจะกลายเป็น Co-Living Genaration หรือการอยู่อาศัยร่วมกันดังเช่น Space Scholarship ของ AP Design Lab และ Fabrica Design Studio Co-Living คือรูปแบบการอยู่อาศัยร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนข้อจำกัดอันหลากหลาย หากถอยออกมามองในภาพกว้าง ไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่เท่านั้นที่ใช้ร่วมกันได้ ในเมืองเมืองหนึ่งมีผู้คนมากมายจากหลากหลายบ้านเกิดเมืองนอน หากมีการทับซ้อนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหรือ cross culture กัน ก็น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่มิติทางการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ในอนาคตที่ทลายกรอบความคิดแบบเดิมได้

กลับไปสู่เรื่องประชากรเมืองและ Mega City ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น

เราคิดว่า Space Scholarship ของ AP Design Lab และ Fabrica Design Studio ในการให้ทุนการศึกษาแนวใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิต ภายใต้พื้นที่จำกัดของน้องๆ นักศึกษาที่มาจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโปรเจกต์นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านการอยู่อาศัยเดิมของกรุงเทพฯ ที่มีมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งใน Pilot Project สำคัญที่ช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต สู่หมุดหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน