เมื่อคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เรามักนึกถึงพระองค์ในฐานะ ‘พ่อ’ ผู้ยิ่งใหญ่ อบอุ่น ภาพที่เราคุ้นตาคือภาพที่พระองค์เสด็จฯ ไปในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงงานหนักเพื่อประชาชน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพในทุกๆ เรื่อง

เราไม่ค่อยได้นึกถึงพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นยุวกษัตริย์ เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ครั้งพระราชหฤทัยของพระองค์โถมทับด้วยความเศร้าจากการสูญเสีย ‘พี่ชาย’ ผู้เป็นที่รัก-พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และต้องทรงสืบราชสมบัติ รับภาระแห่งแผ่นดินพร้อมทั้งความหวังของประชาชน เป็นภาระอันแสนยิ่งใหญ่และหน่วงหนักที่มาถึงพระองค์อย่างไม่เคยคิดฝันในพระชนมพรรษาเพียง 18 ย่าง 19 พรรษา

แต่ก็ทรงผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้อย่างองอาจกล้าหาญด้วยขัตติยมานะ และด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้งความรักลึกซึ้งที่ทรงมีแด่ ‘พี่ชาย’ ผู้เป็นยิ่งกว่าพี่น้อง ยิ่งกว่าเพื่อนสนิท ประดุจดังเงาของกันและกัน

และความรักที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยของพระองค์

นี่เป็นสิ่งที่เราจะได้รับจากการอ่านพระราชนิพนธ์ 2 เรื่องแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้แก่ พระราชานุกิจรัชชกาลที่ 8 และ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

พระราชนิพนธ์ทั้งสองเรื่องจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘พระราชนิพนธ์แห่งความรัก เมื่อต้นรัชกาลที่ 9’

ที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 9 ก็เพราะว่าทั้งสองเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์ในเวลาไล่เลี่ยกันภายในช่วงเวลา 100 วันหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เรื่อง พระราชานุกิจรัชชกาลที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อรวบรวมพิมพ์ในหนังสือ พระราชานุกิจกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วันถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล วันที่ 20 กันยายน 2489

ส่วน เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ เป็นบันทึกประจำวันส่วนพระองค์ ซึ่งทรงบันทึกไว้ระหว่างวันที่ 16 – 22 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและระหว่างวันที่เดินทางเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้พระราชทานให้นำบันทึกนี้ลงพิมพ์ใน วงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม 2490

ความหมายของคำว่า ‘พระราชานุกิจ’ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าหมายถึง “กิจส่วนน้อยอันพระเจ้าแผ่นดินพึงทรงประพฤติเป็นการส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น เสด็จเข้าที่บรรทมเวลานั้น บรรทมตื่นเวลานั้น เสวยเวลานั้น เสด็จประพาสเวลานั้น เป็นต้น” พูดง่ายๆ ก็คือ กิจวัตรประจำวันนั่นเอง ต่างจากคำว่า ‘พระราชกิจ’ หรือ ‘พระราชกรณียกิจ’ ที่หมายถึง “กิจส่วนสำคัญอันพระเจ้าแผ่นดินพึงทรงประพฤติเพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน เช่นเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ทรงปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงดำเนินพระบรมราโชบายในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น” อย่างไรก็ตาม พระราชานุกิจกับพระราชกิจหรือพระราชกรณียกิจ แท้จริงแล้วก็แยกกันไม่ออก ต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงถึงกันอยู่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงสันนิษฐานอีกว่า พระราชานุกิจที่กำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติหรือปฏิบัติกิจต่างๆ นี้มีต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประมาณ พ.ศ. 2001 แสดงให้เห็นถึงพระราชานุกิจว่า “พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ เป็นระเบียบและตามกำหนดเวลาแน่นอน เช่น เสด็จออกขุนนางวันละ 3 ครั้ง คือ เวลาเช้า 10 นาฬิกาเสด็จออกพิพากษาคดี เวลาบ่าย 14 นาฬิกาเสด็จออกที่เฝ้ารโหฐาน เวลาค่ำ 20 นาฬิกาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน เป็นต้น พระราชกิจอย่างอื่นก็จัดเข้าระเบียบประพฤติโดยมีกำหนดเวลาเป็นทำนองเดียวกัน ข้าราชการผู้มีหน้าที่ในราชกิจอย่างใดก็เข้าเฝ้าแหนตามกำหนดเวลาทรงปฏิบัติราชกิจนั้นเสมอไม่ต้องนัดหมาย…”

การบันทึกพระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ในแต่ละรัชกาลไม่ได้มีการทำอย่างเป็นระบบ มักจะเป็นการเรียบเรียงขึ้นหลังจากสิ้นรัชกาลแล้ว โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงพระราชานุกิจของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ส่วนของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียบเรียง ทรงใช้วิธีสกัดเอาจากเอกสารหรือบันทึกต่างๆ รวมทั้งพระราชพงศาวดาร หรือมิฉะนั้นก็ทรงสอบถามจากผู้ถวายรับใช้ใกล้ชิด เช่น พระราชานุกิจในรัชกาลที่ 4 กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ ผู้เป็นพระราชธิดาทรงเล่าประทาน

ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ได้มีการบันทึกพระราชานุกิจเอาไว้ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคตลง จึงได้ไปขอต้นฉบับพระราชานุกิจที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงไว้แล้วจากหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เพื่อจะนำมาจัดพิมพ์ หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงแนะนำว่า ควรจะเรียบเรียงพระราชานุกิจให้ครบทั้ง 8 รัชกาล เพื่อรักษาเรื่องราวอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไว้ ถ้าช้าไปคนที่รู้เรื่องล่วงลับไปหมดแล้ว เรื่องก็จะศูนย์ไปเสีย” ดังนั้น การเรียบเรียงพระราชานุกิจในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 นั้น จึงได้ขอให้ผู้ที่ถวายการรับใช้ใกล้ชิด ได้แก่ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) จางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 และหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร สมุหราชองครักษ์และราชเลขานุการในพระองค์รัชกาลที่ 7 เป็นผู้เรียบเรียงตามลำดับ

ส่วนของรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระราชอนุชาที่สนิทคู่พระทัยทรงเป็นผู้เรียบเรียง

ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า ‘พระราชนิพนธ์แห่งความรัก’ เพราะถ้าใครเคยได้อ่านหนังสือ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ก็จะเห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 นั้นทรงเป็นพี่น้องที่รักและสนิทสนมกันมาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “ทรงเป็นมากกว่าพี่น้อง ทรงเป็นเหมือนแฝดกันเลย และทรงเป็นเพื่อนที่รักกันมากว่าเพื่อนอื่นๆ จะพอพระทัยในการเล่นด้วยกันมากกว่าเล่นกับผู้อื่น”

เพราะฉะนั้น ในการเรียบเรียง พระราชานุกิจรัชชกาลที่ 8 จึงไม่มีผู้ใดอื่นที่จะเหมาะสมยิ่งไปกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น ‘น้องชาย’ ที่ติดตาม ‘พี่ชาย’ ไปทุกหนทุกแห่ง ในภาพเก่าๆ จะเห็นว่าทั้งสองพระองค์แทบจะไม่เคยแยกจากกันเลย จึงทรงทราบพระกิจวัตรประจำวันและรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกิจต่างๆ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 อย่างดีที่สุด

ใน พระราชานุกิจรัชชกาลที่ 8 เป็นพระกิจวัตรประจำวันระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ตั้งแต่เวลาที่บรรทมตื่น คือเวลาประมาณ 08.30 – 09.00 น. เรื่องการเสวย ซึ่งได้บันทึกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ เช่นว่าไม่โปรดให้ห้องเครื่องจัดพระกระยาหารให้มากเกินไป โปรดให้จัดแต่พอดีๆ มีเวลาที่เสด็จลง ‘ปิกนิก’ ในสวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนาในเวลา 11.00 น. และ 15.00 น. ทั้งนี้เพราะประทับอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานานจึงต้องทรงศึกษาเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็มีเวลาว่างที่ทรงพักผ่อน เช่น ทรงขับรถเล่น ทรงดนตรีกับพระราชอนุชาและแขกรับเชิญ ทอดพระเนตรภาพยนตร์ ทอดพระเนตรการชกมวย ฯลฯ

ส่วนการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ มีทั้งในพระนครและนอกพระนคร ที่สำคัญ คือการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามจังหวัดต่างๆ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา โดยมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “ช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่งและฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว” ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ใด ราษฎรก็จะพากันมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน ในหลวงรัชกาลที่ 8 จะโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงปราศรัยกับราษฎรด้วย

นี่เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการดำเนินตามรอยพระบาท ‘พี่ชาย’ ในการเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อทำความรู้จักและรับรู้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน

แม้ว่าจะทรงครองราชย์ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี และเสด็จกลับประทับในประเทศไทยเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เพียง 2 ครั้ง คือในปี 2481 ครั้งหนึ่ง และ 2488 – 2489 อีกครั้งหนึ่ง แต่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ทรงเป็นที่รักของประชาชนอย่างมาก ทรงพระเมตตาและมีพระราชจริยวัตรที่งดงามโดยการอบรมของสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสามารถผูกใจคนทั้งหลายไว้ได้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติ ศาสนา หรือชั้นวรรณะใด ดังเช่นเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสสำเพ็งให้ราษฎรชาวไทยเชื้อสายจีนได้เฝ้าฯ ชมพระบารมี ทำให้ความบาดหมางระหว่างไทย-จีนที่เคยมีมาก็หมดไป

พระราชานุกิจรัชชกาลที่ 8 จึงถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะอนุชนรุ่นหลังเช่นพวกเรามักไม่ค่อยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 8 เท่าใดนัก ทั้งที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็น ‘ศูนย์รวมใจ’ ที่นำประเทศไทยผ่านช่วงเวลาสำคัญในรอยต่อของประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 9 และที่สำคัญคือ พระราชานุกิจนี้บันทึกโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระราชอนุชาที่รักพี่ชายดั่งดวงใจ ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนไว้ในหนังสือ ทำเป็นธรรม ว่า ทรงเป็นเสมือนอีกครึ่งหนึ่งของกันและกัน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงในหลวงรัชกาลที่ 8 ไม่ว่าจะเป็นการถวายพระเกียรติยศต่างๆ รวมถึงการก่อตั้งทุนมูลนิธิอานันทมหิดลที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่เรียนดีให้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติ การสร้างสะพานพระราม 8 และพระบรมราชานุสรณ์อื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ใครลืมเลือน ‘พี่ชาย’ ของพระองค์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคตประมาณ 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489

พระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ เป็นบันทึกประจำวันส่วนพระองค์ในช่วงเวลานั้น คือบันทึกระหว่างวันที่ 16 – 22 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเสด็จฯ ออกจากประเทศไทยและช่วงเวลาที่เสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งตามเส้นทางผ่านเมืองและประเทศต่างๆ ได้แก่ ประเทศศรีลังกา นครการาจี กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ จนไปถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2490 วารสารวงวรรณคดี จึงได้เชิญบันทึกส่วนพระองค์ที่นี้มาตีพิมพ์

ที่ว่าพระราชนิพนธ์นี้เป็น ‘พระราชนิพนธ์แห่งความรัก’ อีกเรื่องหนึ่งก็เพราะว่า เมื่ออ่านดูแล้ว เราจะเห็นว่าทรงแสดงความรักความห่วงใย คำนึงถึงประชาชนชาวไทยอยู่ตลอดเวลา ทรงบันทึกภาพว่า ในตอนนั้นเวลาที่เสด็จฯ ไปในงานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8 ราษฎรทั้งหลายต่างก็พากันมาเฝ้าฯ บางคนมาเป็นประจำจนทรงจำหน้าได้

ในวันที่ 19 สิงหาคม ทรงบันทึกว่า “เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า ‘ให้เข้ามาสิ’ เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก”

พระราชนิพนธ์ตอนที่น่าจะเป็นที่รู้จักและประทับใจพวกเราคนไทยเป็นอย่างดีก็คือ ในบันทึกวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นวันที่เสด็จฯ ออกจากประเทศไทย ทรงบันทึกว่า ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลไปรอส่งเสด็จตั้งแต่ที่พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว เนืองแน่นไปจนถึงบริเวณวัดเบญจมบพิตร ในขณะที่รถแล่นไปตามทาง ทรงบันทึกว่า “…ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่าอย่าละทิ้งประชาชน’ อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ ‘ทิ้ง’ ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ ‘ละทิ้ง’ อย่างไรได้…”

ข้อความนี้ ใครที่ได้อ่านหรือได้ยินได้ฟังแล้ว ก็คงจะรู้สึกจับใจอย่างมาก เพราะเมื่อลองคิดดูว่าพระองค์ในเวลานั้นเป็นเพียงยุวกษัตริย์ พระชนมพรรษาเพียง 18 ย่าง 19 พรรษาเท่านั้น ซ้ำยังเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหันโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ท่ามกลางความเศร้าเสียพระทัยที่สูญเสีย ‘พี่ชาย’ และต้องเป็นกำลังพระราชหฤทัยที่เข้มแข็งแก่แม่ที่กำลังทุกข์โทมนัสอย่างแสนสาหัส โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเกิดสิ่งใดขึ้นกันแน่ พระองค์ทรงเห็นความรักของประชาชนที่ส่งเป็นกระแสจิตมา ผ่านแววตาแห่งความหวังและปรารถนาจะยึดพระองค์เป็นที่พึ่ง และพระองค์ก็ทรงกล้าหาญเหลือเกินที่จะตอบว่า พระองค์จะไม่ทอดทิ้งประชาชน หากประชาชนไม่ทอดทิ้งพระองค์

ในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ และเจ้านายไทยในโลซานน์ บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙ รวบรวมโดย ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส ระบุว่า “พระองค์ทรงระลึกถึงคำของราษฎรผู้หนึ่งที่กราบบังคมทูลหลังจากขึ้นครองราชย์เมื่อปีที่ผ่านมาขณะกำลังจะเสด็จฯ กลับสวิตเซอร์แลนด์ว่า ‘ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน’ ถ้อยคำนี้ติดอยู่ในพระราชหฤทัยมาก และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทรงปฏิบัติพระองค์ตามที่ดวงพระชะตาลิขิตไว้”

เสียงร้องของชายคนหนึ่ง และความคิดที่อยู่ในพระราชหฤทัยในเวลานั้น เราคนไทยก็ได้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่คำพูดหรือความคิดที่เลื่อนลอย ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เราแจ้งประจักษ์ใจว่า ทรงไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ทรงทำทุกอย่างเพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย และพระองค์เองก็ได้เปลี่ยนจากยุวกษัตริย์หนุ่มน้อย กลายเป็น ‘พ่อ’ หรือ ‘พ่อของแผ่นดิน’ ที่ประชาชนชาวไทยรักและเทิดทูนบูชา ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และเศร้าอาลัยอย่างที่ไม่มีอะไรจะเปรียบได้เมื่อเสด็จสู่สวรรคาลัย

ท่ามกลางหมู่เมฆที่ดูราวกับสวรรค์ ซึ่งทรงมองผ่านจากหน้าต่างเครื่องบินที่มุ่งหน้าตรงไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะประทับอยู่พระองค์เดียวลำพังกับสมเด็จพระบรมราชชนนีโดยไร้พี่ชายที่รัก ทรงบันทึกไว้ว่า “หวนกลับไปนึกดูเมื่อ ๙ เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง ๗ ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย… เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่แล้วมาด้วย…”

ในวันนี้ที่พระองค์ทรง ‘จากสยาม’ ไปอย่างไม่มีวันกลับ หลังจากที่ทรงใช้เวลา 70 ปีเพื่อที่จะ ‘รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชน’ ของพระองค์ในทุกหนทุกแห่ง ทุกตารางนิ้วบนแผนที่ ทุกขุนเขา ที่ราบ เกาะแก่ง ผืนดิน อากาศ และผืนน้ำ ด้วยสองพระบาท ด้วยพระเมตตา และด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ เวลานี้พระองค์คงประทับอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆ ณ สรวงสวรรค์

แม้ทอดพระเนตรลงมา พระองค์ก็คงจะทรงได้ยินเสียงร้องและคำพูดเดิมจากหัวใจของอาณาประชาราษฎร์ที่ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน”

แต่ก็อย่างที่พระองค์ได้ทรงตอบแล้วเมื่อ 71 ปีก่อนว่า “ถ้าประชาชนไม่ ทิ้ง ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ ละทิ้ง อย่างไรได้”

คงอยู่ที่ความคิดและการกระทำของประชาชนชาวไทยนั้นเอง ว่าจะมี ‘ความรัก’ ของพระองค์ประทับอยู่ในดวงใจตลอดไปจนนิรันดร์หรือไม่

ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ

Save

Writer

Avatar

ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

เรียนจบและทำงานที่ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจศึกษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีไทย รวมถึงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9