หนึ่งในความฝันของคนยุคนี้คือการลาออก

ออกจากภาระงานประจำ ไปตามหาฝัน ทำกิจการของตัวเอง ทิศทางฝันของคนส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น

มีบริษัทอายุเกิน 100 ปีแห่งหนึ่งเชื่อว่า ต้นไม้ความฝันของพนักงานงอกงามได้ด้วยการสนับสนุนขององค์กรอย่างเข้าอกเข้าใจ

SCG คือบริษัทที่ว่า ในยุคสมัยที่ความภักดีต่อองค์กรลดน้อยลง พนักงานพร้อมลาออกหรือทำงานเสริมจนเป็นเรื่องปกติ องค์กรอายุ 110 อย่าง SCG กลับส่งเสริมให้พนักงานของตัวเองทำธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง สนับสนุนทั้งทรัพยากร เงินทุน และเครือข่ายทางธุรกิจ ผ่านโครงการชื่อว่า ‘ZERO TO ONE’ ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึง 6 ปีแล้ว

การบริหารคนขององค์กรนี้ก็มีเรื่องน่าสนใจ การเติบโตขององค์กรเก่าแก่จำเป็นต้องอาศัยพลังหนุ่มสาว ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งคุณค่าที่สั่งสมมายาวนาน

ที่มาของการส่งเสริมพนักงานในเครือทั้งหมดกว่า 50,000 คน จับกลุ่มฟอร์มทีมเสนอโครงการธุรกิจเมื่อ 6 ปีก่อนคืออะไร แป้ง-สุรภี แก้วยศ Head of Business Incubation Corporate Innovation Office ของโครงการ ZERO TO ONE และ อั้ม-วรรณหทัย อุปริรัตน์ Team Leader – People Transformation Corporate Human Resources Division / HRBP – Corporate & JVs / People จองห้องประชุมเล่าให้ฟัง 

แป้ง-สุรภี แก้วยศ Head of Business Incubation Corporate Innovation Office ของโครงการ ZERO TO ONE และ อั้ม-วรรณหทัย อุปริรัตน์ Team Leader - People Transformation Corporate Human Resources Division / HRBP - Corporate & JVs / People
แป้ง-สุรภี แก้วยศ และ อั้ม-วรรณหทัย อุปริรัตน์

โครงการ ZERO TO ONE เริ่มจาก SCG อยากมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในช่วงที่กระแส Digital Disruption เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในสังคมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ 

SCG เริ่มคิดที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อโต้ไปกับคลื่นของกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เชื่อว่าแปลงร่างเปลี่ยนรูป (Transformation) เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของทุกธุรกิจ จะทำสิ่งนี้ได้ ต้องเริ่มจากคนหรือทรัพยากรบุคคลเป็นหัวใจสำคัญ

บริษัทนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณค่าร่วม’ หรือ Core Value ได้แก่ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม 

ไม่ว่า SCG จะทำอะไร สิ่งนั้นต้องไม่หลุดจาก 4 ข้อนี้ 

ปกติบริษัทที่อยากเปลี่ยนตัวเองเพื่อสู้กระแส Disruption มักจ้างคนนอกเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจ แต่ SCG เชื่อในคุณค่าของพนักงานตัวเอง อยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากมันสมองขององค์กร โดยที่งานนั้นต้องมีความกล้า บุกเบิกธุรกิจใหม่

อีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ เทรนด์นี้ทำให้คนหนุ่มสาวที่มีไอเดียกล้าออกมาทำสตาร์ทอัพด้วยรูปแบบที่แหวกขนบ ฉีกไปจากการทำธุรกิจแบบเดิม เพื่อแก้ปัญหาที่ไม่เคยทำได้มาก่อน 

เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ SCG เริ่มโครงการ ZERO TO ONE สร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรจากบุคลากรภายในแทนที่จะเป็นคนภายนอก เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความฝันของตัวเองในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพ แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ กลายมาเป็นองค์ประกอบหลักของโครงการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

สุรภีเล่าว่า ตอนเริ่มโครงการ ทุกอย่างเต็มไปด้วยความท้าทาย ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยง เพราะตัวงานถือว่าใหม่มากทั้งกับทีมงาน ผู้ร่วมโครงการ รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วย แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของ SCG ที่เปิดกว้าง ทำให้งานเดินหน้าได้

ZERO TO ONE ปีแรกปักธงเป้าหมายปลายทางไว้ที่การสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมกับการพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้เข้าใจเทคโนโลยีและตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  

ทันทีที่เปิดตัว พนักงานส่งโครงการเข้ามาไม่น้อย ส่วนมากทุกคนปรารถนาอยากทำธุรกิจ มีทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ SCG เช่น ทำแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ

พนักงานที่สมัครเข้ามามีคุณสมบัติ 2 อย่างที่เหมือนกัน คือมีความกล้าและความมุ่งมั่น (Passion) เดิมพนักงานในองค์กรทุกคนมีเส้นทางอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน แต่การเข้าร่วมโครงการนี้ไม่มีอะไรการันตีว่าคุณจะประสบความสำเร็จเลย 

โครงการคัดเลือกโดยดูจากผู้สมัครเป็นหลัก ทีมงานเชื่อว่าจุดเริ่มของทุกโครงการเป็นไอเดียที่ยากจะตัดสินว่าดีหรือไม่ดี หรือจะทำสำเร็จหรือไม่ บอกได้เพียงแค่ว่าพอจะมีศักยภาพว่าจะทำได้ “เราเชื่อว่าถ้าเราได้คนที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นกับเรื่องนั้นจริง ๆ เข้ามา เขาจะทำให้ระหว่างทางเป็นไปได้ ไม่ว่าผลลัพธ์ปลายทางจะเป็นสิ่งที่เขาเสนอมาเหมือนเดิมหรือมีการเปลี่ยนไประหว่างทาง” สุรภีเล่า

จาก 100 ทีม คัดเหลือ 20 ทีมในขั้นตอนที่เรียกว่า HATCH ช่วงนี้จะมีพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วยดูแล SCG จัด Bootcamp 4 เดือนให้ความรู้ว่าการทำธุรกิจต้องรู้อะไรบ้าง การเป็นสตาร์ทอัพต้องเริ่มจากตรงไหน ทุกวันนี้โลกเดินไปในทิศทางใด  

พนักงานจะมาร่วมกิจกรรมนอกเวลางาน ทุกคนต้องทำงานประจำเป็นหลัก เสียสละเวลาส่วนตัวทุ่มเทให้กับโครงการอย่างจริงจัง  

จาก 20 ทีมเหลือ 10 ทีมในขั้นตอนที่เรียกว่า WALK ซึ่งเป็นช่วงที่ทีมเริ่มทำสินค้าและบริการขึ้นมาทดลองใช้ ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 1 ปี ทุกโครงการจะประเมินด้วยระบบ OKRs หรือ Objective Key Results เพื่อวัดผลของงาน ซึ่งปัจจุบัน SCG ใช้การการประเมินแบบนี้กับพนักงานเช่นกัน 

แนวทางใหม่นี้เปลี่ยนจากการวัดผลลัพธ์การทดลอง มาเป็นการวัดสิ่งที่ต้องการทดลองและออกแบบการทดลองให้สมเหตุสมผล เพื่อให้แต่ละโครงการวัดได้ว่าสินค้าและบริการใช้ได้จริง ทำให้ทุกคนไม่กลัวการทดลอง ไม่กลัวล้มเหลว เห็นผลชัดเจนมากว่าสินค้าและบริการนั้นจะไปต่อได้หรือไม่ 

ล้มได้ล้มไป ล้มจนกว่าจะเจอจุดที่ใช่ SCG มองว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรม Fail Fast, Learn Fast หรือ ล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว ให้กับพนักงานเช่นกัน  

สุดท้ายทุกทีมจะเข้าสู่ขั้นตอนที่เรียกว่า FLY โบยบินแยกออกไปตั้งธุรกิจจริง

ในระยะสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบริษัท SCG จะเปลี่ยนสถานะจากนายจ้างกับลูกจ้าง มาเป็นผู้ลงทุนกับเจ้าของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 ธุรกิจโบยบินได้แล้ว คือ 

‘Dezpax’ ธุรกิจจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ เชี่ยวชาญการทำกล่องบรรจุอาหารทุกประเภท ธุรกิจนี้ใกล้เคียงกับธุรกิจแพ็กเกจจิ้งของ SCG สิ่งที่ต่างออกไปคือกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นผู้บริโภคในกลุ่มร้านอาหาร ร้านกาแฟ Dezpax เป็นธุรกิจแบบ B2C หรือทำธุรกิจกับผู้บริโภคที่ใช้สินค้าโดยตรง 

ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งของ SCG เป็นลักษณะค้าขายกับธุรกิจใหญ่แบบ B2B ซื้อไปขายหรือผลิตต่อ มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกับการทำธุรกิจกับผู้บริโภคแบบ B2C Dezpax ช่วยเข้ามาเสริมตรงจุดนี้ ปัจจุบันเติบโตถึงขั้นนักลงทุนภายนอกอย่าง PTTOR ก็เข้ามาร่วมลงทุน

‘Rudy’ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรู้ได้ว่าแต่ละโครงการก่อสร้างต้องการสินค้าอะไรบ้าง เพราะวงจรการสั่งซื้อของโครงการก่อสร้างแต่ละโครงการไม่เหมือนกัน แพลตฟอร์มนี้ช่วยเสริมธุรกิจหลักของ SCG ได้เป็นอย่างดี เหมาะกับองค์กรที่ต้องการบริหารทีมขายแบบ Real Time 

‘Urbanice’ แพลตฟอร์มช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนิติบุคคลของหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมกับลูกบ้านในการรับส่งพัสดุและสร้างคอมมูนิตี้ภายในกันเอง เพื่อให้การใช้ชีวิตของคนเมืองยุคนี้สะดวกยิ่งขึ้น

สุดท้ายคือ ‘Roots’ แพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าอุตสาหกรรม ปัจจุบัน Roots กลายมาเป็นแอปพลิเคชันสั่งอุปกรณ์ความปลอดภัยที่พนักงาน SCG ทุกคนสั่งได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการจัดซื้อตามปกติ ธุรกิจของ SCG เองก็มีโรงงานจำนวนมาก ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ การอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสั่งซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยได้โดยตรงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก 

ล่าสุดมีธุรกิจที่ผ่านเกิดจาก ZERO TO ONE เพิ่มเติม ได้แก่ NaYoo แพลตฟอร์มหาที่อยู่อาศัยที่มีข้อมูลครบที่สุด ครอบคลุมทุกความต้องการ ZUPPORTS แพลตฟอร์มที่ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่าย ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ End-to-end ZYCODA ระบบ SaaS บริหารจัดการงานซ่อมบำรุงครบวงจร สร้าง AI ดูแลเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม Wake Up Waste แพลตฟอร์มและรถบีบอัดขยะที่ช่วยให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพดีขึ้น และ Ant HR แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการพนักงานแบบ Outsource และสัญญาระยะสั้นแบบ Subcontractor ในโรงงาน

ถ้าดูภาพใหญ่ จะเห็นว่า ZERO TO ONE ตอบโจทย์ทั้งให้พนักงานได้ทำตามฝัน เปิดกิจการของตัวเอง ในขณะที่ทุกองค์กรก็กลับมาช่วยให้องค์กรแม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ พัฒนาธุรกิจออกไปไกลและดียิ่งขึ้น

เรื่องหนึ่งที่เราสงสัย คือ ถ้า ZERO TO ONE ไปได้ดี ไม่เป็นการกระตุ้นให้พนักงานลาออกกันหมดหรือ

วรรณหทัยเล่าว่า จากมุมมองของฝ่ายดูแลคนหรือ HR โครงการนี้เป็นเหมือนกิจกรรมส่งเสริมพนักงาน สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนกับบริษัท มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

คุณค่าหรือประโยชน์หลัก ๆ ที่ SCG ได้จากโครงการชวนพนักงานออกไปเปิดกิจการตัวเอง พอจะสรุปได้ 3 ส่วน 

หนึ่ง สร้างวิธีคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนโฉม (Transform) การทำงานของพนักงาน ทั้งเรื่องความรับผิดชอบและการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ในโครงการ วรรณหทัยและสุรภีเล่าตรงกันว่า ทีมเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ชัดเจนมาก พนักงานทั้งหมดที่เข้าร่วมทำงานดีขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น หลายคนกลับเข้าไปเป็นดาวเด่นของสายงานธุรกิจ ไปดูแลบริหารโครงการใหญ่ ๆ ของหน่วยงาน

สอง สนับสนุนบรรยากาศและกระแสของสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ยกระดับการสนับสนุนที่มากกว่าการให้เงินลงทุนหรือ Angle Fund 

ZERO TO ONE พิสูจน์ว่า SCG ให้ได้มากกว่านั้น มีทั้งเครือข่ายธุรกิจและทรัพยากรอื่น ๆ ในเครือที่คอยสนับสนุน

ส่วนสุดท้าย คือการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งได้มาทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของ SCG ในส่วนของธุรกิจที่สอดคล้องกับธุรกิจหลักก็เหมือนเป็นยานลูกที่แยกออกไปจากยานแม่ ทางทีมงานมั่นใจว่าสักวันยานลูกเหล่านั้นจะกลับมาสนับสนุนยานแม่ และเติบโตไปเป็นยานลำใหญ่อยู่อย่างอิสระได้ด้วยตัวเอง

หากมองอีกด้าน พนักงานที่เข้าร่วม ZERO TO ONE แต่ไม่ได้ไปต่อ มีเส้นทางที่แตกต่าง บางคนเข้าร่วมแต่ไม่ได้ไปถึงขั้น FLY ก็ลาออกไปทำธุรกิจเอง ส่วนใหญ่เกิดจากพวกเขาอยากทำธุรกิจจริง ๆ ในอุตสาหกรรมที่ไกลออกไปจากเครือข่ายธุรกิจที่ทาง SCG สนับสนุนได้ 

แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีใครลาออกเพราะรู้สึกว่าการตกรอบโครงการนี้คือความล้มเหลว 

สุรภีเล่าว่าก่อนจบโครงการ 3 เดือน ทีมจะคุยกับทุกคนที่เข้าร่วมว่ามองปลายทางไว้อย่างไร กรณีที่โครงการไม่ได้ไปต่อ อยากกลับไปทำงานในส่วนงานใดในเครือข่ายของ SCG หลังจากนั้นทีมจะคุยกับสายงานธุรกิจนั้นว่าสนใจรับผู้ที่กำลังจะจบโครงการไปร่วมงานอีก 3 เดือนข้างหน้ามั้ย ส่วนคนที่ยังทำงานตำแหน่งเดิม หัวหน้าแผนกนั้นจะสังเกตและให้กำลังใจหากผลลัพธ์ทำให้พนักงานรู้สึกผิดหวัง 

หัวใจของขั้นตอนนี้คือการรับฟังความรู้สึกของพนักงาน เพื่อให้การทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใด

ZERO TO ONE เติบโตทุกปี ในปีล่าสุดมีการเปิดรับคนภายนอกเข้าร่วมโครงการด้วย มีจำนวนผู้สมัครถึง 300 คน แต่ละปีจะมีระยะเวลา รูปแบบโครงการ และจำนวนเงินที่ใส่ไปในโครงการแตกต่างกัน แต่แก่นหลักเหมือนเดิม คือความตั้งใจอยากสร้างและลงทุนในธุรกิจใหม่ ให้ความรู้และทักษะต่าง ๆ กับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนให้มีความรู้และทักษะในการทำงานที่หลากหลายขึ้น 

ผลพลอยได้อีกข้อ คือการรักษาพนักงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพไว้กับองค์กร แทนที่พนักงานจะออกไปแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ พวกเขามาร่วมโครงการ ZERO TO ONE ได้ ประหนึ่งเหมือน SCG ทำตัวให้เป็นตัวเลือกที่ดีให้พนักงานในวันที่เขาอยากลาออก ให้เขาได้กางตัวเลือกออกมาแล้วพบว่าภายในองค์กรเองก็ยังมีตัวเลือกที่ดีสำหรับเขาในเวลานั้น 

กลายเป็นกลยุทธ์ด้าน HR ที่ยอดเยี่ยม ช่วยพัฒนาและรั้งคนเก่ง ๆ ไว้ให้ร่วมงานกับองค์กรต่อไป ตอบทั้งโจทย์ธุรกิจและโจทย์คนทำงาน

SCG เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เผชิญความท้าทายด้านการบริหารคน

ช่องว่างระหว่างวัยเป็นประเด็นสำคัญ บริษัทพยายามยืดหยุ่นในหลายเรื่อง พยายามให้หัวหน้าแผนกเป็นคนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ให้พนักงานหนุ่มสาวทำงานอย่างมีสุข ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งคุณค่าร่วมของบริษัทที่สั่งสมมานับร้อยปีด้วย

พนักงานกว่า 50,000 คนในเครือมีความหลากหลายสูงมาก ทั้งเพศ วัย ความสนใจ และความฝัน 

องค์กรนี้ให้ความสำคัญกับทีมที่มีความหลากหลาย เชื่อว่าทีมจะทรงพลังบนความหลากหลาย ทำให้เกิดธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากองค์กรนี้ คือการให้ความสำคัญกับความฝันของคน รับฟัง ส่งเสริม สร้างสรรค์ และเปลี่ยนให้กลับมาเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจที่ดีกับทั้งองค์กรและตัวเขาเอง

หากองค์กรไหนมองว่าพนักงานคือคน รู้ว่าความฝันเขาคือใคร

ลองช่วยปลูกความฝันนั้นด้วยกัน ช่วยกันมองในแว่นทางธุรกิจ เพื่อให้ฝันนั้นยืนระยะต่อไปได้ องค์กรนั้นจะได้ใจคนในไม่ช้า

Writers

เพชร ทิพย์สุวรรณ

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟกับเค้กอร่อยๆ พอๆ กับเล่า Tips and Techniques การทำงานผ่านงานเขียน ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ