สัตว์ฝันได้ไหม

สายรุ้งจับได้หรือเปล่า

เล่นมือถือกลางสายฝนฟ้าผ่าจริงหรือ

หากคุณมีคำถามแต่ยังไม่ได้คำตอบ

SaySci :: เซย์ไซน์ มีคำตอบให้คุณ

นี่คือช่อง TikTok สายวิทยาศาสตร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.4 ล้าน แม้จะเพิ่งมีอายุเพียง 2 ปี แต่เจ้าของช่องอย่าง พล-นวพล เชื่อมวราศาสตร์ ก็คว้าแชมป์ TikTok Awards Thailand 2023 สาขา Best of Education กว่า 3 ล้านโหวตมาครองสำเร็จ! 

ความน่าทึ่งไม่ได้มีเพียงจำนวนปีในการทำคอนเทนต์ พลยังเป็นพนักงานประจำที่ทำ TikTok เป็นงานรอง แต่มีระเบียบวินัยในการลงคลิปทุกวัน แถมยังทำทุกหน้าที่ด้วยตัวเองคนเดียวตั้งแต่หาข้อมูล ใช้ความเป็น ‘แฟนคลับมวยปล้ำ’ ใส่ลงไปในการเขียนสคริปต์ อัดวิดีโอ จนถึงตัดต่อในโปรแกรม

เป้าหมายทั้งหมดก็เพื่อทำให้คนไม่สนใจวิทยาศาสตร์หันมาสนใจวิทยาศาสตร์

แต่ก่อนจะได้รางวัลการันตีว่าความฝันของเขาเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที ต้องเล่าก่อนว่าเส้นทางที่ผ่านมาของพลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแม้แต่น้อย กลับกัน เขาใช้เวลาถึง 8 ปีบนเส้นทางที่โรยด้วยหนามกุหลาบมากกว่า

Ladies and Gentlemen, Please give a big applause for his effort!

สมัยมัธยมศึกษา วิชาที่พลไม่ถนัดที่สุด คือวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 

สมัยมหาวิทยาลัย คณะที่พลเลือกเรียน คือคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์

ข้อมูลฟังดูย้อนแย้งทีเดียว อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณหันกลับไปหาในสิ่งที่คุณเกลียด

ส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ (หัวเราะ)

ผมไม่ชอบวิทย์-คณิต แต่ได้ยินคำว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เราชอบเล่นคอมพิวเตอร์ก็เลยจะไปสมัครคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ที่ไหนได้มันคือส่วนหนึ่งของภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์

อีกส่วนคือตอนเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนฯ วิชาวิทยาศาสตร์มีกิจกรรมหลากหลาย เขาให้แต่ละห้องทำอาหารแล้วเอามาขาย โดยการขายคือต้องอธิบายชีวเคมีที่อยู่ในอาหารนั้น ๆ 

นั่นคือสิ่งที่จุดประกายให้ผมรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่แค่อยู่ในหนังสือเรียน จากนั้นผมก็เปลี่ยนมุมมองไปเลย

นำวิชาการกับการทำสื่อมารวมกันได้อย่างไร

ผมฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์ตั้งแต่อยู่ ม.2 แล้วครับ 12 ปีก่อนเป็นยูทูบยุคเริ่มต้น ผมเรียนวิธีตัดต่อ วิธีอัดหน้าจอ ลองทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ทำมาเรื่อย ๆ ก็ฝันอยากจะได้โล่เงิน โล่ทองกับเขาบ้าง แต่ตอนนั้นทำ ๆ เลิก ๆ จนหมดไฟไปสักพักหนึ่ง

อะไรจุดประกายคุณขึ้นมาอีก

ชมรมสื่อและประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นชื่อชมรม SCIREN ซึ่งเขามีการทำวิดีโอ หนังสั้น ผมก็ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับบ้าง เขียนบทบ้าง แล้วก็เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำจากเขา

พอดีกับที่ยุคนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีรายการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์สนุก ๆ เหมือนฝรั่ง ผมเห็นช่อง Science Channel หรือ The Game Theorists ของต่างชาติก็เลยลองทำบ้าง

เท่ากับคุณอยู่ในยุคบุกเบิกเลย ทำแล้วเวิร์กไหม

ส่วนใหญ่คนดูหลักสิบหลักร้อยครับ (หัวเราะ) แต่คลิปแรกเรื่อง ทำไมเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาลถึงหวานได้ มี ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ และเพจ Drama-addict ช่วยแชร์ 

ถ้าให้ย้อนกลับไปคอมเมนต์คลิปแรกของตัวเองตอนนั้น คุณจะพูดอะไร

เละ (หัวเราะ) ภาพนั้นคือเด็กตัวผอม ใส่เสื้อตัวเล็ก ๆ อาศัยดวงอาทิตย์ส่องในห้องมืด ๆ ผนังห้องสกปรกหน่อย พูดเว้นวรรคเยอะมาก ช้า มีแต่น้ำ ผมจะบอกเขาว่าพูดให้มันกระชับกว่านี้หน่อย

แต่ยังไงก็… อย่าหยุดทำนะ

จุดไหนที่ทำให้คุณเริ่มตั้งเป้าหมายอย่างจริงจังในสิ่งที่ทำ

เพื่อนชวนไปแข่งโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (YTSA) ได้รางวัลและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปดูงานที่เยอรมนี ตอนนั้นผมเริ่มตกตะกอนได้ว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อสังคม และผมก็เพิ่งรู้ตอนนั้นว่าเขาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ‘การสื่อสารวิทยาศาสตร์’ 

พอทำยูทูบไปเรื่อย ๆ ยังไม่ดัง ผมก็ไปแข่งรายการระดับโลกชื่อ FameLab Thailand 2019 เป็นคนเดียวในโลกที่แต่งคอสเพลย์ Detroit: Become Human ไปพูดเรื่องวิทย์จากเกม 

นั่นคือจุดที่ทำให้ผมคิดว่า ผมเอาทุกอย่างรอบตัวมาผนวกเป็นวิทย์แล้วเอามาให้ความรู้คนอื่นได้

ต้นปี 2022 ผมเลยทำ TikTok ชื่อ SaySci อย่างจริงจังหลังจากที่ปี 2020 – 2021 ทำยังไม่จริงจังนัก

@saysci

ชิปปี้ชิปปี้ก็มีสาระ!!! #TikTokUni #สาระ #saysci

♬ Dubidubidu – Christell

1 2 3, Here is the Winner, SaySci!

ประสบการณ์คือสิ่งที่พลสั่งสมมาเรื่อย ๆ จากวิชาที่เขาไม่ชอบ มุ่งสู่เส้นทางนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เต็มตัว เป็นหนึ่งในภาคีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้สนใจทุกเรื่องรอบตัวตั้งแต่อาหารจนถึงมีมในโลกโซเชียล

แต่ถ้าคุณกำลังจินตนาการว่าห้องของเขาเต็มไปด้วยหนังสือวิชาการหรือบทความวิทยาศาสตร์ 

เราขอบอกว่า คุณคิดผิด!

พื้นที่ 1 ส่วน 3 ของห้องตกแต่งด้วยเข็มขัดและของสะสมเกี่ยวกับมวยปล้ำ เขาถึงขั้นสั่งทำเข็มขัดมวยปล้ำจากต่างประเทศเป็นโลโก้ช่อง SaySci เข็มขัดหลายเส้นยังออกแบบเองและได้ใช้จริงบนเวที แถมตอนนี้เขายังไปฝึกมวยปล้ำและนำเทคนิคการเล่าเรื่องของมวยปล้ำมาประยุกต์ใช้กับการเล่าวิทยาศาสตร์ด้วย

วิทยาศาสตร์สไตล์มวยปล้ำเล่ายังไง

มวยปล้ำมีการวางโครงเรื่อง คนบนสังเวียนต้องทำตามหน้าที่ ผมหยิบเอาองค์ประกอบการพูด การเว้นวรรค การหายใจ จนถึงการสบตาและการวางท่าทางมาจากตรงนั้น เราจะเห็นคนถือไมค์พูดลักษณะนี้มาตลอด มันทำให้อยากเป็นแบบนั้นบ้าง ผมเรียนรู้วิธีการพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ จากมวยปล้ำนี่แหละ

นั่นคงทำให้ช่องของคุณกลายเป็นช่องที่ได้ใจเด็ก ๆ มากเป็นพิเศษ

อาจจะใช่ มันต้องสนุก ได้ความรู้ จากที่กลุ่มเป้าหมายตอนทำยูทูบคือคนทั่วไป TikTok ก็ลดอายุมาเป็นเด็กประถมปลายถึงมัธยมต้น

หลังจากเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย คุณเจออะไรบ้าง

เจอความท้าทายอย่างหนักครับ (หัวเราะ) 

สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือการเอนเตอร์เทนเด็ก ชีวิตประจำวันของน้อง ๆ คือเรียนตั้งแต่ 8 โมงถึง 4 โมงเย็น บ้างก็เรียนพิเศษจนถึง 6 โมงเย็น ถ้าเขาต้องมาไถมือถือเจอเรื่องวิทย์อีกจะหนักเกินไป

สอง เนื้อหา ถ้าย่อยง่ายเกิน เนื้อหาก็ผิด แต่ถ้ายากเกินไปเขาก็ไม่เข้าใจ 

ผมอยากให้เขาดูคลิปของ SaySci แล้วชอบเคมีจังเลย วันหนึ่งเขาอาจค้นพบสารเคมีใหม่ที่ช่วยโลกเราได้ หรืออาจค้นพบวิธีรักษามะเร็งด้วยความสนใจแรก ๆ จากเรา ผมมองว่ามันเปลี่ยนอนาคตได้เลย

อะไรคือสิ่งที่คุณมีแต่ช่องวิทยาศาสตร์อื่น ๆ อาจจะยังไม่มี

เราคือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มาในคราบของเอนเตอร์เทนเมนต์ เพื่อทลายกำแพงของคำว่า ‘ช่องวิทย์’ ที่หลายคนบอกว่าฉันไม่สนใจ ยากเกินไป

สุดท้าย ถ้าคุณดูเรา คุณต้องสนุกและได้ความรู้กลับไปทุกคลิป

คิดว่าอะไรที่ทำให้คุณครองใจคนดูจนได้รางวัล TikTok Awards Thailand 2023

(หัวเราะ) ผมไม่คิดว่าตัวเองจะชนะ และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการทำคอนเทนต์ใกล้กับคนดู ทำให้เขาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับเรา 

ผมรู้สึกขอบคุณทุกคนมาก ๆ เลยครับ

จากที่คุณทำยูทูบมาก่อน ตอนนี้คิดว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ที่สุดของ SaySci ไหม

ใช่ครับ เพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่คนเข้าถึงง่าย ปัจจุบันเขาสนับสนุนด้านการศึกษามากขึ้นด้วย อย่าง #tiktokuni สำหรับสายความรู้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ คาแรกเตอร์ของ TikTok ยังคงแฝงความบันเทิงเข้าไปด้วย

ถ้าให้วิเคราะห์ลักษณะ For You Feed ทำให้เราต้องเล่าเรื่องให้คนฟังสนใจตั้งแต่เริ่มให้ได้ ผมใช้วิธีแบบที่เล่าไป จากนั้นผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้น จนตอนนี้ล้านกว่าแล้ว

@saysci

เล่าสาระแบบแม่ค้าไลฟ์สดชาวจีน? #TikTokUni #สาระ #saysci

♬ Sneak, suspicious, stupid, thief, sneak in(1108491) – Makotti

Keep dreaming, Keep doing, The next winner can be YOU!

พลบอกว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในไทยมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่งู ไดโนเสาร์ จนถึงอวกาศ หากแต่จำนวนยังถือว่าน้อย และขาดการสนับสนุนทั้งจากคนในวงการด้วยกันจนถึงสังคม

การทำ TikTok เพื่อเข้าถึงคนจำนวนมากจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ใช่การเพิ่มคู่แข่ง แต่เป็นการเพิ่มเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งพลก็แชร์เทคนิคเบื้องหลังการปั้นช่องของเขาให้เราฟังแล้ว

คุณทำเองทุกตำแหน่ง แต่ละคลิปใช้เวลานานไหม

เขียนบทประมาณครึ่งวัน ถ่าย 2 – 3 ชั่วโมง และตัดต่อคลิปละประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเป็นคนที่ลงคลิปทุกวัน เพราะฉะนั้นผมเลยมีช่วงที่ทำสต็อกลงไว้ก่อนครั้งละ 10 – 20 คลิปด้วย

คุณใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคอนเทนต์

ตอนแรกเริ่มจากความสงสัยของตัวเอง ทำไปสักพักเริ่มมีคอนเมนต์ พี่ อันนี้คืออะไร ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะเหมือนเราได้ตอบคำถามของเขาไปด้วย เพิ่ม Engagement

คุณใช้วิธีไหนในการเช็กข้อมูลบ้าง

ถามจากผู้รู้จริง อาจเป็นเพื่อนในสายนั้น ๆ หรือบางทีก็ไลน์หาอาจารย์ครับ ส่วนการอ่านงานวิชาการ ผมต้องหาจากงานวิจัยมากกว่า 2 แหล่งขึ้นไป แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ไม่เคยอ่านแค่แหล่งเดียว

ถ้าพูดถึงความแตกต่างระหว่างคอนเทนต์ในยูทูบที่เคยทำกับ TikTok มีอะไรบ้าง

เรากระชับมากขึ้น การตัดต่อและองค์ประกอบในการถ่ายก็เปลี่ยนไป

ด้วยความที่ผมทำงานประจำเป็น BI Developer คลุกคลีกับการทำ Data แดชบอร์ด กราฟ ทำให้หันมาสนใจหลังบ้านมากขึ้น เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลว่า ถ้ายอดเอนเกจประมาณนี้ควรทำยังไงต่อบ้าง

อีกเรื่องคือความถี่ แฟนผมแนะนำว่าให้ทำวันละคลิป เราก็เป็นคนเชื่อฟังแฟนซะด้วย (หัวเราะ) ลงคลิปบน TikTok ไม่เคยพลาดสักวัน 

แต่ที่เหมือนเดิมคือลูกค้าไม่ค่อยเข้าเป็นเรื่องปกติ (ฝากด้วยครับคุณลูกค้า)

คิดว่าตอนนี้เป้าหมายในการทำให้คนไม่สนวิทย์หันมาสนใจสำเร็จไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์

ยากจัง ถ้ามองในมุมนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เรายังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ หลายเรื่องต้องทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ทัศนคติ ความรู้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราลงคอนเทนต์ทุกวัน ปัจจุบันประมาณ 950 คลิป โดยที่เนื้อหาไม่ตัน เพราะวิทยาศาสตร์มีอีกมากมายให้เราค้นพบ

แต่ถ้ามองในมุมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผมเองให้ไว้สัก 50% การได้รับรางวัล TikTok Awards Thailand 2023 แล้วขึ้นไปพูดบนเวทีถือเป็นความฝันสูงสุดเลยครับ

อีก 10 ปีข้างหน้าคิดว่า SaySci จะเป็นอย่างไร

ปิดครับ (หัวเราะ)

ถ้ายังอยู่ อยากเป็นองค์กรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนและเลี้ยงชีพตัวเองได้

แต่ถ้า 10 ปีข้างหน้าไม่มีอยู่แล้ว ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ อยากเห็นช่องอื่น ๆ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ หมั่นนำเสนอเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

ที่สำคัญคืออยากให้การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาที่คนไม่มองข้ามอีกต่อไปครับ

Writers

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

นักสำรวจความคิดมนุษย์ฉบับฝึกหัด ถนัดฟังทุกเรื่องที่มนุษย์เล่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ เข้าใจมนุษย์ที่เรียกว่า ตนเอง

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์