3 กุมภาพันธ์ 2023
3 K

“ผม / หนู อยากเป็น…” 

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ วัยประถมตอนปลายดังลั่นห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ 

บรรยากาศภายในห้องดูไม่คุ้นชิน เพราะนักเรียนไม่ได้นั่งบนโต๊ะเรียงแถวตอนลึกอย่างที่เคยเป็น แต่กลับนั่งเป็นกลุ่มบนพื้น ความตึงเครียดของนักเรียนที่พบได้ทั่วไปกลับกลายเป็นความกระตือรือร้นแย่งกันตอบคำถาม

ห้องเรียนที่ดูแปลกตาไป ณ ขณะนี้ได้รับการเนรมิตจาก ‘มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์’ หรือรู้จักกันในนาม ‘Saturday School’ โรงเรียนคอนเซปต์สุดแหวกแนว ขนขบวนวิชานอกห้องเรียนมาพร้อมคุณครูอาสาถึงที่ นำทีมโดย ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้ง 

ภาพชุลมุนของเด็กน้อยที่วิ่งออกมาแปะความฝันของตนบนกระดานพื้นสีขาวด้านข้างห้อง ทำให้ใบหน้าที่มีเมฆดำลอยอยู่บนหัวแปรผันเป็นใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของนักเรียนทุกคน

“อย่าลืมความฝันของตัวเอง เมื่อใดที่เราไม่ลืม ทางเดินแห่งนั้นจะเปิดไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ” 

นี่คือข้อความเตือนใจที่ครูอาสากล่าวก่อนจะเริ่มการเรียนการสอน 

คุณครูไม่ได้สั่งให้นักเรียนเปิดหนังสือไปหน้าที่เท่าไร หรือให้คัดตามคำบอก แต่นำหุ่นยนต์มาแสดงจำลอง รวมถึงอธิบายกลไกการทำงานของมัน เสียงร้องดีใจของเด็ก ๆ ดังขึ้นทุกครั้งที่หุ่นยนต์เคลื่อนไหว เปรียบเสมือนกุญแจที่ไขไปสู่โลกใบใหม่ของพวกเขา

Saturday School โรงเรียนที่ตั้งจากคนตัวเล็ก ๆ และไม่บรรจุคำว่าเก่ง-ไม่เก่งในหลักสูตร

เสาเข็มต้นแรก

ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น Saturday School ก็เช่นกัน 

“จริง ๆ แล้วผมเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบก็ไปเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ประมาณ 1 ปี ช่วงนั้นในสังคมมีปัญหาหลายอย่าง ตัวเราคิดว่าไม่อยากอยู่ในสังคมที่มีปัญหาเยอะขนาดนี้ เลยมุ่งประเด็นไปที่การศึกษา เพราะว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ดีขึ้น”

จากชีวิตโปรแกรมเมอร์ เลือกเบนเส้นทางเป็นคุณครูในโรงเรียนย่านบางนาถึง 2 ปี เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยคืออะไร

“สิ่งหนึ่งที่ผมได้ลองทำที่โรงเรียน คือการศึกษาว่าจุดไหนสำคัญและเป็นจุดแข็งในการพัฒนาเด็ก จึงออกมาเป็นกิจกรรมที่ชวนเด็ก ๆ มาวันเสาร์ ชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจการพัฒนาเด็ก ๆ มาสอนในสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วเด็กก็ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจซึ่งไม่ได้เรียนในห้องเรียนปกติ

“แต่ผมไม่เคยคิดอยากเป็นครูเลย เราไม่ได้ถนัด แต่มันทำให้รู้ว่าเราชอบการพัฒนาเด็ก เห็นเด็กเติบโตก็ดีใจ แต่การไปสอนเด็กทุกวันอาจจะไม่ใช่แนวทางของผม”

จากคุณครูประจำในโรงเรียน เริ่มทบทวนชีวิตว่าตัวเองสนใจการช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมากกว่า จึงเข้าสู่การก่อตั้งมูลนิธิอย่างเต็มตัว แต่การทำให้เด็กน้อยที่มีชื่อว่า Saturday School เดินอย่างเป็นสเตปจนเติบใหญ่ขนาดนี้กลับไม่ใช่เรื่องง่าย

“เริ่มที่ห้องเรียนเดียวก่อน พอเทอมถัดไปก็ชวนเด็กมามากขึ้น จาก 1 ห้องเรียน กลายเป็น 3 ห้องเรียนในโรงเรียนเดิม พอดีตอนนั้นเราเริ่มเปิดแฟนเพจ รับสมัครคุณครู มีคนสนใจจำนวนมากเพียงพอให้ขยายไปเป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ได้ เราเลยขยายไปอีกโรงเรียนหนึ่งในเทอมที่ 3 ก็คือปีที่ 2 ของมูลนิธิ ต่อมาจาก 2 โรงเรียนมาเป็น 7 และ 9 โรงเรียน

Saturday School โรงเรียนที่ตั้งจากคนตัวเล็ก ๆ และไม่บรรจุคำว่าเก่ง-ไม่เก่งในหลักสูตร

“เราพยายามรักษาจำนวนโรงเรียนนี้มาเรื่อย ๆ จนถึงจังหวะที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นโครงสร้างองค์กรมากขึ้น เริ่มขยายงานและมีพาร์ตเนอร์ในการทำงานด้วยมากขึ้น”

การมีบริวารที่ดีเท่ากับมีชัยไปมากกว่าครึ่ง คำนี้คงใช้ได้ดีกับยีราฟ เพราะบรรดาคุณครูและผู้อำนวยการโรงเรียนย่านบางนาล้วนเปิดโอกาสให้เขาสอน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมของเขาอีกแรง เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้เครื่องจักรพุ่งทะยานไปได้ไกลกว่าที่เคย

จากเด็กที่ต้องคอยป้อนข้าวและต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ บัดนี้ Saturday School ยืนขึ้นด้วยลำแข้งของตัวเองแล้ว 

เด็กเมือง

Saturday School กระจายตัวอยู่ตามโรงเรียนในกรุงเทพฯ เยอะที่สุดก็จริง แต่จะพูดว่าเน้นเป็นหลักอาจไม่ได้ เนื่องจากมูลนิธิไม่ได้ตั้งใจจะโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายที่สุด 

เริ่มแรกมูลนิธิเคยพยายามขยายไปยังต่างจังหวัด แต่ด้วยเรื่องการบริหารจัดการที่ต้องมีคนคอยจัดการประจำ ครูอาสาที่จังหวัดนั้น ๆ ต้องมาสอนทุกสัปดาห์ จึงอาจเป็นสิ่งเกินตัวยีราฟที่ยังดูแลได้ไม่เต็มที่ โครงการจึงต้องพับเก็บไปในที่สุด 

“ถ้ามองกันจริง ๆ ในกรุงเทพฯ มีเด็กที่ฐานะของครอบครัวไม่ได้ต่างจากเด็กที่อาศัยในชนบทมากนัก อาจเพราะในกรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูงกว่า เด็กอาจจะเครียดกว่า แต่ในด้านการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เด็กกรุงเทพฯ อาจเข้าถึงได้ง่ายกว่า ทั้งเด็กเมืองและเด็กชนบทจึงมีความท้าทายที่ต่างกัน บอกไม่ได้ว่าใครดีหรือแย่กว่ากัน”

ปัจจุบันรากฐานของ Saturday School เริ่มแข็งแรง กำลังขยายไปอีกเกือบ 10 จังหวัด และจะขยายต่อไปเรื่อย ๆ

Saturday School โรงเรียนที่ตั้งจากคนตัวเล็ก ๆ และไม่บรรจุคำว่าเก่ง-ไม่เก่งในหลักสูตร

ห้องเรียนไม่ซ้ำแบบของโรงเรียนนอกเวลา

เมื่อห้องเรียนทั่วไปถูกออกแบบให้เด็ก ๆ ต้องพัฒนาทักษะหลายด้านโดยที่พวกเขาไม่ได้เลือก Saturday School จึงใช้ช่องว่างของระบบการศึกษา เนรมิตห้องเรียนฉบับตามใจหนู ๆ 

“เราพยายามไม่ยัดอะไรให้เด็ก แต่เรามองว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาได้ยังไง ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเต้น ร้องเพลง ศิลปะ ดนตรี เมื่อเขาได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน เขาก็จะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น” 

ห้องเรียนฉบับ Saturday School สอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นหลัก โดยยีราฟเล่าว่า อาสาสมัครของเขาใส่ใจกับเด็ก ๆ มาก พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้เติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยไร้ความกลัว การแบ่งแยก และการตัดสินว่าเก่งหรือไม่เก่ง

Saturday School โรงเรียนที่ตั้งจากคนตัวเล็ก ๆ และไม่บรรจุคำว่าเก่ง-ไม่เก่งในหลักสูตร

“สิ่งที่เราจัดเสมอคือวัน Big Day ในวันนั้นเด็กจากทุกโรงเรียนจะมารวมตัวกันแล้วแสดงผลงานหรือความสามารถที่ตนได้เรียนมาตลอดโครงการของเรา ไม่ว่าเขาจะทำได้ดีหรือไม่ดี ไม่สำคัญเท่ากับเขาได้โชว์ความสามารถของตัวเองออกมา แล้วได้รู้ว่ายังมีคนให้ความสำคัญกับความสามารถของเขา” 

เป้าหมายของ Saturday School ไม่ใช่การพัฒนาให้เด็กเต้นเก่งหรือวาดรูปเก่งเพียงอย่างเดียว การพัฒนาเด็กจากภายใน หรือ Soft Skills อันประกอบไปด้วย Growth Mindset (ความคิดแบบเติบโต) Self Awareness (การรู้จักตนเอง) Resilience (การล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้) และ Prosocial (ลักษณะนิสัยที่เอื้อหรือแบ่งปันให้กับคนรอบข้าง) คือแก่นแท้ที่พวกเขามุ่งสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน 

Saturday School โรงเรียนที่ตั้งจากคนตัวเล็ก ๆ และไม่บรรจุคำว่าเก่ง-ไม่เก่งในหลักสูตร

อาสาสมัครที่มากกว่าการเป็นครู

ตั้งต้นจากนักเรียน ออกแบบจากความตั้งใจของอาสา กว่าห้องเรียนวันเสาร์จะออกมาเป็นห้องที่เต็มไปด้วยร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบทเรียนสนุก ๆ ในแบบฉบับเข้าใจง่าย เบื้องหลังคือหยาดเหงื่อ ความทุ่มเท และความร่วมมือร่วมใจจากอาสาสมัครหลากความเชี่ยวชาญ ร่วมทำงานกันเป็นทีม ตั้งแต่ร่างเนื้อหาการสอน ไปจนถึงพาเด็ก ๆ ทำกิจกรรม

อาสาสมัครคือผู้ใกล้ชิดกับเด็กรองจากครู เมื่อผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน พวกเขาจะรับรู้ได้ทันทีว่าเด็ก ๆ มีพื้นฐานเป็นอย่างไร และควรปรับการสอนไปเป็นแบบไหน ด้วยเหตุนี้ การวางกิจกรรมและหลักสูตรให้เหมาะสมกับพื้นฐานของเด็กแต่ละคนจึงเป็นโจทย์ใหญ่

“ความถนัดของอาสาสมัครแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่สอนเต้นเขาก็จะเต้นเพลงไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายทุกคนต้องทำให้เด็กเชื่อว่า ทักษะความสามารถของพวกเขาพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน” 

Saturday School โรงเรียนที่เปิดทำการในวันเสาร์ สอนวิชานอกห้องเรียน และไม่บรรจุคำว่าเก่งหรือไม่เก่งในหลักสูตร

ยีราฟเชื่อว่าการออกแบบการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่ใครคนใดคนหนึ่ง เนื้อหาระหว่างทางและการออกแบบห้องเรียนเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นได้ อีกทั้งอาสาสมัครทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกมาล้วนเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

เพียงแต่ข้อสำคัญของการออกแบบหลักสูตร คือต้องเป็นวิชาที่เด็ก ๆ อยากเรียน แม้แต่การตั้งโจทย์ก็ต้องเป็นวิชาที่เด็กสนใจ แม้จุดนี้จะทำให้หาอาสาสมัครมาเข้าร่วมโครงการยากสักหน่อย แต่อีกด้าน สิ่งนี้การันตีได้ว่าทุกครั้งที่เปิดสอนจะมีเด็ก ๆ เฝ้ารอเสมอ 

ยีราฟบอกกับเราอีกว่า เมื่อเด็ก ๆ เริ่มคุ้นเคยกับครูอาสาสมัคร พวกเขาจะเริ่มเล่าหลายอย่างให้ฟัง ทั้งปัญหาที่บ้าน ปัญหาในชุมชน ปัญหายาเสพติด ซึ่งบางปัญหาเป็นเรื่องที่โรงเรียนวันเสาร์เพียงองค์กรเดียวแก้ไขได้ยาก แต่พวกเขาก็คอยประสานงานเพื่อช่วยเหลืออย่างสุดกำลัง

Saturday School โรงเรียนที่เปิดทำการในวันเสาร์ สอนวิชานอกห้องเรียน และไม่บรรจุคำว่าเก่งหรือไม่เก่งในหลักสูตร

อนาคตการศึกษาไทย 

แม้คนไทยจะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น แต่ในมุมคุณภาพของการศึกษากลับยังเป็นปัญหาที่ต้องทบทวนอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น 

“เรื่องของคุณภาพการศึกษามันไม่ได้ปรับแค่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องปรับทั้งระบบ” ยีราฟว่า

“ทั้งระบบที่หมายถึงครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาครู การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร จะทำยังไงให้คนเก่งมาเป็นครู เศรษฐกิจ การบริหาร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งทุกจุดพัฒนาได้ทั้งนั้น” 

แล้วใครบ้างที่จะทำให้การศึกษาไทยเปลี่ยนแปลง – เราถาม

“ผมว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้หมดเลย คนมีอำนาจอาจจะช่วยได้มากหน่อย ส่วนคนทั่วไปก็ช่วยได้เช่นกัน” เขาตอบ

แม้การเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาพใหญ่ทั้งระบบจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Saturday School นับเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนตัวเล็ก เพื่อสนับสนุนในมิติที่พวกเขาทำได้ 

ยีราฟบอกกับเราว่า ตอนนี้เขากำลังพยายามขยายจำนวนห้องเรียนให้มากขึ้น ทั้งในเขตเมืองและในชนบท เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เขาตระหนักเป็นอย่างดีว่า ลำพังโรงเรียนวันเสาร์ไม่อาจเข้าถึงเด็กทุกคนในประเทศได้ การขับเคลื่อนระบบการศึกษาเชิงนโยบายในภาพใหญ่จึงเป็นสิ่งต่อไปที่เขากำลังสำรวจ

จงเติมคำในช่องว่างต่อไปนี้ 

สำหรับประเทศไทยในอุดมคติ ถ้าการศึกษาไทยดี… 

“ผมว่าคนจะใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุขมากขึ้น และสังคมจะเต็มไปด้วยคนที่มีคุณภาพ” 

Saturday School โรงเรียนที่เปิดทำการในวันเสาร์ สอนวิชานอกห้องเรียน และไม่บรรจุคำว่าเก่งหรือไม่เก่งในหลักสูตร

Writers

เกษมณี ชาติมนตรี

เกษมณี ชาติมนตรี

นักเรียนฝึกเขียนที่เริ่มการเรียนใหม่ตั้งแต่ 0-10 ชอบของหวาน ชอบอ่านนิยาย ชอบสีสันสดใสของดอกไม้ ชอบเสียงเพลง

Avatar

ธนกร จตุรงค์ชัยสถิต

นัก(เรียน)วิทยาศาสตร์ ที่อยากเป็น นักวิจัยการเล่าเรื่อง แต่ตอนนี้เป็นเป็ดที่อยากบินให้สูงเหมือนนก อยากตัวใหญ่ให้เหมือนห่าน

Photographer

Avatar

วรินทร์ธร บุรธัชวัฒนสิริ

ชื่อเล่น มุกขลิน จบสถาปัตย์ลาดกระบัง สาขาถ่ายภาพ เป็นช่างภาพที่ร่าเริงสดใส รักในเสียงดนตรี แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เอ๋อๆงงๆ