ปฺรถม

“ทำไมถึงเลือกเรียนภาษาที่ตายแล้ว”

นี่เป็นคำถามแรกที่คนถาม ตอนได้ยินว่าฉันเลือกเข้าเรียนเอกภาษาบาลีและสันสกฤต (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เอกภาษาเอเชียใต้’) ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว

คนไทยส่วนใหญ่น่าจะรู้จักภาษาบาลีมากกว่า เพราะเป็นภาษาที่ใช้ในบทสวดและอยู่คู่กับพุทธศาสนาในประเทศไทยมาเนิ่นนาน บางคนอาจเคยได้ยินชื่อภาษาสันสกฤตในฐานะภาษาอินเดียที่มีอิทธิพลในสังคมไทย ควบคู่กับภาษาบาลีและภาษาที่ ‘ตาย’ แล้ว

ทั้งนี้ เราควรเริ่มจากการนิยามคำว่า ‘ตาย’ เมื่อพูดถึงภาษา ถ้า ตาย หมายถึงไม่มีคนใช้เป็นภาษาแรกหรือภาษาแม่ ภาษาสันสกฤตก็นับได้ว่าไม่เคยเกิดมาเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่เคยมีคนใช้ภาษานี้เป็นภาษาแม่

แต่ถ้า ตาย หมายความว่า ไม่มีคนใช้พูด อ่าน เขียน อีกต่อไป ภาษาสันสกฤตก็ไม่นับว่าตาย เพราะยังมีคนที่ใช้ภาษานี้ได้ทั่วโลก แม้จะมีอยู่จำนวนไม่มาก

เข้าคลาสเรียนภาษาสันสกฤต ม.เท็กซัส ตามติดชีวิต ‘นักสันสกฤต’ สาวไทยคนเดียวในอเมริกา

ฉันชอบบอกใคร ๆ ว่าชื่อของฉันก็เป็นภาษาสันสกฤต ที่มาจากการสมาสของคำว่า มนสิ (แปลว่า ในใจ) และ ชา (แปลว่า ผู้เกิด) รวมได้ความว่า ‘ผู้ที่เกิดในใจ’ หมายถึง ความรัก ทั้งยังเป็นชื่อ ของเทพเจ้าแห่งความรักหรือพระกามเทพอีกด้วย

สำหรับฉัน ภาษาสันสกฤตเป็นสะพานที่นำไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ของวรรณคดีและความเชื่อต่าง ๆ ที่มีมานานกว่า 3,000 ปี ฉันตั้งใจจะเรียนเอกภาษาไทยในระดับปริญญาตรีในตอนแรก แต่หลังจากที่ได้ลองเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต จึงเริ่มเข้าใจว่าทั้ง 2 ภาษานี้เป็นรากฐาน และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย เลยเลือกเรียนเป็นสาขาเอก (และเป็นนักเรียนเอกเพียงคนเดียวตลอดระดับปริญญาตรี) ยิ่งได้เรียนทั้งภาษา วรรณคดี และขนบความคิดต่าง ๆ มากขึ้น ฉันยิ่งอยากเข้าถึงความซับซ้อนของวิชาการด้านสันสกฤต จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก

ทฺวิตีย

“เรียนสันสกฤต ทำไมต้องไปอเมริกา ทำไมไม่ไปอินเดีย”

นี่เป็นคำถามที่มีคนถามฉันมากที่สุดตอนกำลังเตรียมตัวไปเรียนต่อด้านสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อ 8 ปีมาแล้ว

สันสกฤตเป็นหนึ่งในภาษาเก่าแก่ของอินเดีย จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทั่วไปจะคิดว่าอินเดียเป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนการสอนทางด้านนี้ แต่ในความเป็นจริง หลากหลายประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรป อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ให้ความสำคัญกับสันสกฤต และสถาบันต่าง ๆ ก็มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป

ตอนที่ฉันตัดสินใจไปเรียนต่อ ก็หาข้อมูลไตร่ตรองอยู่นานว่าจะไปที่ไหนดี ท้ายที่สุดเลือกไปที่คอร์เนล เพราะมี Professor Lawrence McCrea ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีทางปรัชญาและศาสนาฮินดูที่ฉันสนใจ ฉันใช้เวลารวม 8 ปีจึงจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่นี่

หลักสูตรของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน โดยคร่าว ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเน้นการวิจัยที่ใช้ทฤษฎีมาช่วยในการวิเคราะห์ตัวบทต่าง ๆ ส่วนนักวิชาการที่ยุโรปส่วนมาก เช่น ฮัมบูร์ก มิวนิก ไลเดน ตูริน ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และปารีส สนใจการชำระตัวบท ในขณะที่สถาบันที่อินเดียมีทั้งแบบขนบและแบบที่ปรับให้ใกล้กับหลักสูตรที่อเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยอโศกะและมหาวิทยาลัยเฟลม

เข้าคลาสเรียนภาษาสันสกฤต ม.เท็กซัส ตามติดชีวิต ‘นักสันสกฤต’ สาวไทยคนเดียวในอเมริกา

แม้ว่าฉันจะจบจากคอร์เนล แต่ก็นับว่าเป็นผลผลิตของสำนักชิคาโก (Chicago School) เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาจบจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและสืบสายมาจาก Sheldon Pollock ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดแห่งวงการสันสกฤต และผู้เขียนบทความเรื่อง The Death of Sanskrit (2001) และ Language of the Gods in the World of Men (2006) อันเป็นที่วิจารณ์ในวงกว้าง

หลักสูตรสันสกฤตในสหรัฐฯ และแคนาดาแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ หลักสูตรมีรวมอยู่ในภาควิชาศาสนา เช่นที่มหาวิทยาลัย Virginia, Emory และ Pennsylvania และหลักสูตรในภาคเอเชียใต้หรือเอเชีย เช่นที่ มหาวิทยาลัย Columbia, Harvard, Cornell, Chicago, Berkeley และ Texas ส่วนใหญ่หลักสูตรแบบที่ 2 จะใหญ่กว่า และมีตำแหน่งอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง สำหรับนักวิชาการที่ทำงานด้านสันสกฤตโดยตรง ซึ่งเราเรียกกันในแวดวงว่า ‘นักสันสกฤต’

บางที่มีนักสันสกฤตมากกว่า 1 ตำแหน่ง ทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางและผลิตนักสันสกฤตได้มากกว่าที่อื่น จึงเกิดเป็นสำนัก ดังเช่นสำนักชิคาโกที่ดังทั้งทางด้านศาสตร์และศิลป์ หมายถึงทั้งงานเขียนทั่วไปและกวีนิพนธ์ กับสำนักเท็กซัส (Texas School) ที่ฉันทำงานอยู่ในปัจจุบัน โด่งดังด้านธรรมศาสตร์และงานทางด้านกฎหมายอื่น ๆ ตั้งแต่รุ่น Patrick Olivelle หนึ่งในนักสันสกฤตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกตอนนี้

เข้าคลาสเรียนภาษาสันสกฤต ม.เท็กซัส ตามติดชีวิต ‘นักสันสกฤต’ สาวไทยคนเดียวในอเมริกา

หลังจากเข้าเรียนที่คอร์แนล ฉันใช้เวลาประมาณ 8 ปีจึงเริ่มคุ้นชินกับการเรียนที่สหรัฐฯ โดยหลักแล้ว การเรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่นี่เน้นการวิเคราะห์และค้นคว้าวิจัยด้วยตัวเอง จึงแทบไม่มีวิชาไหนเลยที่ใช้การบรรยายเพียงอย่างเดียว ต่างกับตอนที่ฉันเรียนปริญญาตรีที่ประเทศไทย ที่เน้นการเรียนรู้จากผู้สอนเป็นหลัก ดังนั้น สิ่งที่ยากที่สุดตอนไปเรียนตอนแรกคือ การอภิปราย ถกเถียงเนื้อหาต่าง ๆ กับเพื่อนในห้องเรียน เพราะต้องพยายามฟังให้ละเอียด คิดให้เร็ว และพูดภาษาอังกฤษให้ทันคนอื่น

ความยากประการที่ 2 คือการเขียนรายงานและบทความต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ภายในเวลาที่จำกัด ส่วนใหญ่แต่ละวิชาจะไม่มีการสอบกลางภาคหรือปลายภาค แต่จะใช้การเขียนอภิปราย รายงาน และบทความเป็นตัววัดระดับความสามารถกับความเข้าใจของนักเรียน ทั้งนี้ในบางวิชานักเรียนเลือกหัวข้อวิจัยเองได้ตามความถนัดและความสนใจ

ความยากประการสุดท้าย คือการนำเสนอผลงานวิชาการและเข้าร่วมสัมมนาหัวข้อต่าง ๆ ไปพร้อมกันกับการเรียนและทำวิทยานิพนธ์ ฉันยังจำได้ดีว่าอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ส่งบทความวิชาการไปที่งานประชุม เพื่อจะได้นำเสนอผลงานทันทีที่ฉันจบปีแรกของการศึกษา ทั้งที่ฉันยังไม่มีความมั่นใจ เพราะคิดว่าตนเองยังไม่พร้อมนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษท่ามกลางเหล่านักวิชาการ แต่ในท้ายที่สุด ฉันก็ทำได้ดีพอสมควร และพบว่าการนำเสนองานวิชาการและสัมมนาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หลังจากนั้นฉันก็ไปร่วมงานต่าง ๆ ทุกปี และได้รู้จักนักวิชาการในสาขาสันสกฤตและสาขาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนกลายมาเป็นครอบครัว บางคนกลายมาเป็นเพื่อนสนิท ในแต่ละงานฉันได้พบกับสังคมนักวิชาการที่ต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น งานประชุมทางเอเชียใต้ที่แมดิสัน (Madison) วิสคอนซิน (Wisconsin) เป็นแหล่งรวมนักวิชาการจากสำนักชิคาโก ส่วนที่งานประชุมที่จัดขึ้นโดย American Oriental Society มักจะมีนักวิชาการจากสำนักเท็กซัสเข้าร่วม

ตฺฤตีย

“เป็นนักสันสกฤต ทำอะไร”

ตามที่กล่าวไปแล้วว่านักสันสกฤตมีหลายสำนัก และแต่ละสำนักมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน ที่สำคัญคือ นักสันสกฤตไม่ได้รู้แค่ภาษา แต่ศึกษาองค์ความรู้หลากหลายด้าน ทั้งวรรณคดี ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และความเชื่อของผู้คน เช่นเดียวกับนักวิชาการในด้านอื่น ๆ เช่น ไทยศึกษา นักสันสกฤตบางที่ทำงานวิจัยอย่างเดียว บางที่ทั้งสอนและวิจัยด้วย

เปิดประสบการณ์นักสันสกฤต 8 ปีในสหรัฐฯ กับการเรียน ป.โท - ป.เอก ของนักวิชาการชาวไทยผู้หลงใหลในภาษาและวัฒนธรรมอินเดียโบราณ

โดยส่วนตัว ฉันเพิ่งเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ภาควิชาเอเชีย (Asian Studies) มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (The University of Texas at Austin) ได้เกือบปี และเป็นนักสันสกฤตไทยที่มีตำแหน่งทางวิชาการคนเดียวในสหรัฐฯ ขณะนี้ ฉันมีหน้าที่สอนสันสกฤตเป็นหลัก ทั้งงานนิพนธ์ภาษาสันสกฤตที่เป็นมหากาพย์ งานด้านปรัชญาเวทานตะ และพุทธสันสกฤต นอกจากนี้ก็สอนรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูและเอเชียใต้

บรรยากาศการเรียนการสอนที่นี่ต่างจากประเทศไทยที่ส่วนใหญ่ถือว่าอาจารย์เป็นผู้สอน ส่วนนักเรียนเป็นผู้เรียนที่ต้องตั้งใจฟังและเคารพอาจารย์ มหาวิทยาลัยที่นี่เน้นนักเรียนเป็นหลัก นักเรียนเป็นผู้สร้างและต่อยอดองค์ความรู้ด้วยการอภิปราย ค้นคว้า และตั้งคำถาม โดยมีอาจารย์เป็นผู้เสนอหัวข้อและให้คำปรึกษา คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการสอนชาวต่างชาติเป็นเรื่องยาก แต่ฉันกลับคุ้นเคยกับความกระตือรือร้นและความเป็นกันเองของนักเรียนที่นี่

เปิดประสบการณ์นักสันสกฤต 8 ปีในสหรัฐฯ กับการเรียน ป.โท - ป.เอก ของนักวิชาการชาวไทยผู้หลงใหลในภาษาและวัฒนธรรมอินเดียโบราณ

โดยส่วนตัว ฉันคิดว่าห้องเรียนคือสถานที่ที่ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน การสนทนาโต้แย้งระหว่างอาจารย์กับนักเรียนโดยไม่มีความแตกต่างระหว่างฐานะมาเป็นสิ่งกีดขวางจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นักเรียนที่มาเรียนกับฉันส่วนมากมีครอบครัวที่มาจากอินเดียหรือเอเชียใต้ จึงสนใจจะต่อยอดความรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นในวิชา History of Hindu Religious Traditions ที่ฉันสอนเมื่อปีที่แล้ว มีนักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้ภาษาอินเดียในครอบครัว แต่นั่นก็ใช่ว่านักเรียนเหล่านี้จะเข้าใจวัฒนธรรมอินเดียหรือศาสนาฮินดูอย่างลึกซึ้ง อันที่จริงสิ่งที่พวกเขารู้ล้วนมาจากการปฏิบัติและพิธีกรรมในบ้าน ซึ่งต่างจากศาสนาฮินดูตามความเข้าใจของนักวิชาการหรือที่ปรากฏในวรรณคดีอินเดีย การเรียนวิชานี้จึงทำให้พวกเขาได้มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากความรู้เดิม

นอกจากในรายวิชาแล้ว ฉันและนักสันสกฤตคนอื่น ๆ เช่น Professor Donald Davis ที่ภาควิชาเอเชียและนักเรียนยังพบปะกันทุกวันศุกร์ เพื่ออ่าน รามายณะ ต้นเค้าของวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน อีกทั้งสิ่งที่มีค่าที่สุดคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำความเข้าใจตัวบทและเกร็ดวัฒนธรรมต่าง ๆ กับนักสันสกฤตที่ทรงคุณวุฒิ ดังเช่น Professor Patrick Olivelle และ Professor Joel Brereton ที่แม้ว่าจะเกษียณไปแล้วแต่ก็ยังมาร่วมอ่านกับทุกคน

ในขณะเดียวกัน ฉันก็ต้องทำงานวิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากระดับปริญญาเอก ฉันสนใจเรื่องความเชื่อที่นำไปสู่การหลุดพ้นในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะในศรีไวษณพนิกายทางอินเดียใต้ที่ใช้ทั้งภาษาสันสกฤต ทมิฬ และภาษาผสมระหว่างทั้ง 2 ภาษานี้ ที่เรียกว่า ‘มณีประพาฬ’ หัวข้อวิชาการของฉันอาจจะฟังดูไม่เข้ากับศาสนาพุทธที่ฉันนับถือมากนัก แต่หัวข้อนี้มีรากฐานมาจากความเชื่อของฉันในฐานะชาวพุทธที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพในศาสนาฮินดู ความสนใจของฉันเริ่มมาจากความสงสัยว่า เหตุใดคนเราจึงนับถือและศรัทธาในพระเจ้าได้มากมาย

ถ้าถามว่าได้อะไรจากการศึกษาวิจัยทางด้านสันสกฤต หรือการศึกษาด้านนี้นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้

หนึ่งคือการเพิ่มองค์ความรู้ทางด้านสันสกฤตทำให้เราเข้าใจภูมิภาคอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลของสันสกฤตมากขึ้น ที่ปรึกษาของฉันเคยกล่าวว่า แค่หยิบงานสันสกฤตขึ้นมาเล่มหนึ่ง ศึกษาให้ละเอียด และถ่ายทอดสิ่งที่ค้นพบให้ผู้อื่นรู้ ก็เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกได้แล้ว เพราะยังมีงานสันสกฤตมากมายที่ไม่ได้รับความสนใจและรอวันเลือนหายไปกับกาลเวลา

ข้อที่ 2 การมองย้อนกลับไปในอดีตผ่านสันสกฤต ช่วยให้เราค้นพบความเป็นไปได้ที่ต่างจากความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งคำถามและพัฒนาข้อบกพร่องที่เรากำลังเผชิญ แน่นอนว่า อดีตไม่ได้สวยงามเสมอไป แต่ถ้าไม่เคยเห็นสังคมแบบอื่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโลกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ดีกว่าเดิมได้ ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผลักดันให้ฉันยังทำงานด้านสันสกฤตจนถึงทุกวันนี้และตั้งใจจะทำไปเรื่อย ๆ คือ ความชอบส่วนตัวและคำกล่าวของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศนีย์ สินสกุล อาจารย์สันสกฤตคนแรกในชีวิตของฉันที่ว่า “แล้วเราจะปล่อยให้มันหายไปหรือคะ”

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

มนสิชา เอกปิยะพรชัย

มนสิชา เอกปิยะพรชัย

นักสันสกฤตผู้หลงใหลภาษาทมิฬ ทำงานที่ออสติน ใช้ชีวิตใน 3 ทวีป ร่อนเร่พเนจรไปทุกที่ที่งานและความฝันพาไป