เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวธุรกิจและนักการเมือง เคยเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจได้ แต่กระแสสังคมได้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

ทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เป็นการบ่มเพาะการเล่นพวกและคอร์รัปชัน สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม และยังบิดเบือนกลไกตลาดอีกด้วย

ตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่ความสัมพันธ์กับนักการเมืองเคยเป็นจุดแข็งในอดีตแต่อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่สังคมจับตามองในอนาคต คือ ‘Samsung’ กลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีรายรับเท่ากับ 17% ของ GDP และมีมูลค่าส่งออกถึง 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศในปี 2021

กลุ่มธุรกิจ Samsung มีอิทธิพลในประเทศมากขนาดที่คนเกาหลีบางคนเรียกประเทศของเขาเองว่า ‘The Republic of Samsung’

กำเนิดธุรกิจ 3 ดาว

อาณาจักรธุรกิจ Samsung ก่อตั้งโดย Lee Byung-chul ตั้งแต่สมัยที่เกาหลียังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยเขาเปิดบริษัทที่เมืองแทกู (Daegu) ชื่อ Samsung Sanghoe ขายผักและปลาแห้งในปี 1938 โดยคำว่า Samsung แปลว่า ดาว 3 ดวง ซึ่งถือเป็นชื่อมงคล เพราะเลข 3 เป็นเลขมงคลตามความเชื่อของเกาหลี ส่วนดาวหมายถึงอำนาจและความยั่งยืน กิจการของ Lee Byung-chul เจริญรุ่งเรืองเติบโตจนเขาตัดสินใจย้ายธุรกิจไปกรุงโซล

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีใต้เป็นประเทศเอกราช Lee Byung-chul ได้สร้างความสัมพันธ์กับ Syngman Rhee ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่ปกครองในช่วงปี 1948 – 1960 ขยายกิจการไปทำธุรกิจธนาคาร แป้ง น้ำตาล แปรรูปอาหาร และเสื้อผ้า ในขณะเดียวกันธุรกิจการค้าของ Samsung ก็เติบโตจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของเกาหลีใต้เมื่อประธานาธิบดี Rhee หมดอำนาจในปี 1960

การเติบโตของ Samsung ในช่วงนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจครอบครัวของตระกูล Lee พัฒนากลายไปเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในเกาหลีว่า ‘แชโบล’ (Chaebol)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ Samsung ดำเนินต่อมาในช่วงที่ประธานาธิบดี Park Chung-hee และประธานาธิบดี Chun Doo-hwan บริหารประเทศระหว่างปี 1962 – 1988 Samsung เป็นหนึ่งในกลุ่มแชโบลที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรัฐบาลสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ 

ความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้ ทำให้เกาหลีใต้เติบโตจนได้ฉายาว่าเป็นหนึ่งใน ‘เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย’ หรือ ‘Asian Tiger’ ในขณะเดียวกัน อาณาจักรธุรกิจ Samsung ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วควบคู่ไปด้วย

ในทศวรรษที่ 1960 Samsung ขยายไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ประกันภัย มหาวิทยาลัย และสื่อ ปลายทศวรรษ 1960s เริ่มผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผลิตภัณฑ์แรกคือโทรทัศน์ขาวดำ ต่อมาในทศวรรษที่ 1970 ขยายไปอุตสาหกรรมต่อเรือ รถยนต์ ก่อสร้าง Semiconductor เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สวนสนุก โรงแรมหรู และโฆษณา และในทศวรรษที่ 1980 ได้เริ่มผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และรวมธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันโดยจัดตั้งเป็นบริษัท Samsung Electronics

พ่อวุ่นเพราะรุ่นลูก

Lee Byung-chul มีลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย 8 คน เป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 5 คน ซึ่งหลายคนได้แต่งงานกับทายาทตระกูลการเมืองและตระกูลธุรกิจที่มีอิทธิพลในประเทศ เช่น 

Lee Maeng-hee และ Lee Chang-hee ลูกชายคนโตและคนรองต่างแต่งงานกับลูกสาวของนักการเมือง ส่วน Lee Suk-hee ลูกสาวคนที่ 2 แต่งงานกับลูกชายคนที่ 3 ของ Koo In-hee เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเครือ LG ซึ่งเป็นแชโบลที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ และ Lee Kun-hee ลูกชายคนที่ 3 แต่งงานกับ Hong Ra-hee ลูกสาวคนโตของตระกูล Hong ที่เป็นเจ้าของแชโบล 2 กลุ่ม คือกลุ่ม JoongAng Ilbo และกลุ่ม Bokwang ซึ่งมีธุรกิจต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โฆษณา ธนาคาร รวมถึงเครือข่ายร้านสะดวกซื้อใหญ่ที่สุดในประเทศ

ในปี 1966 Lee Byung-chul ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งผู้นำธุรกิจ Samsung เพราะ Lee Chang-hee ลูกชายคนที่ 2 ของเขาถูกข้อหาลักลอบนำเข้าน้ำตาลเทียมผ่านทางบริษัทผลิตปุ๋ยเคมี Korean Fertilizer ของ Samsung ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ Lee Maeng-hee ลูกชายคนโตจึงเข้ามาดูแลกิจการแทนพ่อ แต่ภายในเวลาแค่ 6 เดือน Lee Maeng-hee สร้างความวุ่นวายในบริษัทจนพ่อต้องกลับเข้ามาบริหารธุรกิจอีกครั้ง

ถัดมาอีกแค่ 3 ปี Lee Chang-hee ก็ก่อเรื่องอีกรอบ เขาต้องการตำแหน่งบริหารในบริษัท จึงไปแจ้งประธานาธิบดี Park Chung-hee ว่าพ่อของเขามีเงินทุนสำหรับให้สินบนเจ้าหน้าที่ ทำให้ Lee Byung-chul ตัดทั้งลูกชายคนโตและลูกชายคนรองออกจากการเป็นผู้นำธุรกิจ Samsung รุ่นต่อไป

เมื่อ Lee Byung-chul เสียชีวิตในปี 1987 ตำแหน่ง Chairman รุ่นที่ 2 จึงตกอยู่กับ Lee Kun-hee ลูกชายคนที่ 3 ซึ่งเป็นน้องคนเล็กและไม่ได้เตรียมตัวรับหน้าที่นี้

แตกแต่ยังโต

ภายหลังจากการเสียชีวิตของ Lee Byung-chul อาณาจักรธุรกิจ Samsung แตกออกเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจ Samsung, กลุ่มธุรกิจ Hansol, กลุ่มธุรกิจ CJ CheilJedang และ กลุ่มธุรกิจ Shinsegae แต่ทุกกลุ่มยังบริหารโดยทายาทของ Lee Byung-chul และยังขยายธุรกิจกันต่อไป

กลุ่มธุรกิจ Hansol เดิมทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ แยกตัวออกมาในปี 1991 นำโดย Lee In-hee ลูกสาวคนโตของ Lee Byung-chul ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีกิจการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมี โลจิสติกส์ ไอที ก่อสร้าง

กลุ่มธุรกิจ CJ CheilJedang เดิมทำธุรกิจแป้งและน้ำตาล แยกจาก Samsung ในปี 1997 นำโดย Lee Maeng-hee และ Lee Jay-hyun ลูกชายของเขา ปัจจุบันทำธุรกิจอาหาร ยา และเทคโนโลยีชีวภาพ

กลุ่มธุรกิจ Shinsegae เป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในเกาหลี แยกออกจาก Samsung ในปี 1997 โดย Lee Myung-hee ลูกสาวคนสุดท้องของ Lee Byung-chul ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้า แฟชั่น บริการที่พัก และการท่องเที่ยว

ส่วนธุรกิจที่เหลือของกลุ่ม Samsung เดิมอยู่ใต้การบริหารของ Lee Kun-hee ที่ถึงแม้จะแยกธุรกิจออกไปถึง 3 กลุ่มแล้ว แต่กลุ่มธุรกิจ Samsung ก็ยังคงเป็นแชโบลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และยังคงมีกิจการในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย บริษัทที่สำคัญได้แก่ Samsung Electronics, Samsung Heavy Industries, Samsung Engineering และ Samsung C&T Corporation

ในบรรดาทุกบริษัทนี้ Samsung Electronics ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกถือเป็นบริษัทสำคัญที่สุดของกลุ่ม ในปี 2012 รายรับจากบริษัทนี้บริษัทเดียวคิดเป็น 70% ของกลุ่ม Samsung

นอกจากนี้ Lee Kun-hee ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) จนพลิกโฉม Samsung จากแบรนด์สินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพต่ำ ให้เป็นแบรนด์นวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงระดับโลกได้

ขาดผู้นำอย่างไม่ทันตั้งตัว

วันที่ 14 มกราคม ปี 2008 ตำรวจเข้าบุกค้นบ้านและที่ทำงานของ Lee Kun-hee พร้อมแจ้งข้อหาว่า Samsung มีเงินกองทุนที่ใช้ติดสินบนอัยการ ผู้พิพากษา และนักการเมือง

3 เดือนต่อมา Lee Kun-hee ลาออกจากตำแหน่ง Chairman และแถลงข่าวยอมรับสารภาพต่อสาธารณชน ศาลตัดสินจำคุกเขา 3 ปีในข้อหาความผิดทางการเงินและหนีภาษีแต่ให้รอลงอาญา และคิดค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 98 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดี Lee Myung-bak ได้ให้อภัยโทษแก่เขา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ Lee Kun-hee ซึ่งมีตำแหน่งในคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ช่วยให้เกาหลีใต้ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาว

อย่างไรก็ตาม ในอีก 9 ปีต่อมา ศาลตัดสินว่าประธานาธิบดี Lee Myung-bak ยักยอกเงินและรับสินบนในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง และในสำนวนฟ้องเขาก็มีหลักฐานสินบนจาก Samsung รวมอยู่ด้วย

หลังจากได้รับอภัยโทษ Lee Kun-hee กลับไปเป็น Chairman ของ Samsung อีกครั้งในปี 2010 แต่เขาทำงานได้เพียง 4 ปีก็หัวใจวายกะทันหัน ขณะมีอายุได้ 72 ปี แม้ว่าเขาจะไม่เสียชีวิต แต่ก็ทำงานไม่ได้ ธุรกิจ Samsung จึงขาดผู้นำอย่างไม่ทันตั้งตัว

Lee Kun-hee มีลูก 4 คน คนโตเป็นลูกชาย ส่วนอีก 3 คนเป็นลูกสาว

Lee Jae-yong หรือ JY หรือ Jay ลูกชายคนโตและคนเดียวจึงเป็นทายาทที่จะเป็นผู้นำธุรกิจรุ่นถัดไป แต่เนื่องจากว่า Lee Kun-hee ยังไม่เสียชีวิต จนกระทั่งปี 2020 ระหว่างนั้น Lee Jae-yong จึงทำหน้าที่ประหนึ่งผู้นำ แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็น Chairman อย่างเป็นทางการก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ศาลสูงของกรุงโซล (Seoul High Court) และคณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้ (Korea Fair Trade Commission) ถือว่า Lee Jae-yong เป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจ Samsung โดยพฤตินัยตั้งแต่ที่พ่อของเขาหัวใจวายแล้ว

Lee Boo-jin และ Lee Seo-hyun ลูกสาว 2 คนโตนั้นเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือ Samsung และเป็น Co-president ของ Cheil Industries ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิงของครอบครัว ส่วน Lee Yoon-hyung ลูกสาวคนเล็กฆ่าตัวตายไปเมื่อปี 2005

เดจาวู

Samsung ต้องการควบรวมบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือบริษัท Samsung C&T Corporation และบริษัท Cheil Industries ซึ่งการควบรวมนี้จะทำให้ Lee Jae-yong ควบคุมการบริหารงานธุรกิจของบริษัทในกลุ่มได้ จากบริษัทโฮลดิงของครอบครัว ผ่านโครงสร้างการถือหุ้นไขว้ที่ซับซ้อน

ต้นปี 2017 Lee Jae-yong ถูกฟ้องศาลในข้อหาคอร์รัปชันและติดสินบนประธานาธิบดี Park Geun-hye และที่ปรึกษาเพื่อให้กองทุนบำนาญแห่งชาติ (Korean National Pension Service, NPS) อนุมัติการควบรวมนี้ เพราะ NPS ถือหุ้นบริษัท Samsung C&T Corporation อยู่ 10% ด้วย

หลังจาก ‘The Trial of the Century’ หรือการไต่สวนแห่งศตวรรษ ศาลตัดสินว่า Lee Jae-yong มีความผิดในข้อหาติดสินบนพนักงานรัฐ ยักยอกทรัพย์ และให้การเท็จ มีโทษจำคุก 5 ปี เขายื่นอุทธรณ์และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังจากถูกขังอยู่ปีเศษ แต่ก็ถูกจองจำอีกหลังจากคดีกลับเข้าสู่การพิจารณาในเวลาต่อมา

เช้าวันที่ 26 มกราคม ปี 2021 Lee Jae-young ส่งข้อความจากเรือนจำไปที่กระดานข่าวภายในสำนักงานใหญ่ของ Samsung แสดงความเสียใจและขอให้บริษัทก้าวต่อไปโดยไม่ต้องสนใจสถานการณ์ของเขา

อย่างไรก็ตาม Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ได้ให้อภัยโทษ และปล่อยตัว Lee Jae-yong ในปี 2022 เขากลับไปเป็น Executive Chairman ของ Samsung Electronics อีกครั้ง

ทุนนิยมพวกพ้อง

ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มธุรกิจ Samsung ในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีและการขยายตัวของ Samsung

ในอดีต ผู้คนจำนวนมากเห็นว่า Samsung มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องสนับสนุน และยังเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะยอมให้ล้มได้ แต่ในปัจจุบันกระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่มองว่าบทบาทของแชโบลไม่ได้เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน ซ้ำยังบ่มเพาะการเล่นพรรคพวกและคอร์รัปชันที่บิดเบือนกลไกตลาดอีกด้วย ทำให้สาธารณชนจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองอย่างละเอียดมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเกาหลีใต้ในช่วงหลังเริ่มส่งผลกระทบต่อ Samsung เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดี Moon Jae-in ที่ปกครองประเทศในช่วงปี 2017 – 2022 มีนโยบายปฏิรูปแชโบลเพื่อสร้างความโปร่งใส รวมถึงแก้กฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แชโบล

ทุนนิยมพวกพ้องที่เคยเป็นจุดแข็งของ Samsung มายาวนานกำลังกลายมาเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ ซึ่งบีบบังคับให้พวกเขาต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลอ้างอิง
  • finance.yahoo.com/news/samsung-unveils-foldable-smartphones-bet-120652381.html
  • www.cnet.com/pictures/samsung-history-of-phones/10/
  • www.wikiwand.com/tr/Lee_Byung-chul
  • cungcau.vn
  • www.koreaherald.com
  • www.theguardian.com/business/2010/mar/24
  • en.wikipedia.org/wiki/Lee_Myung-hee
  • www.canoe.com/business/money-news
  • www.english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_business/403239.html
  • www.edition.cnn.com/videos/business/2020/10/26
  • www.nytimes.com/2017/04/07/business/jay-y-lee-jae-yong-samsung-trial.html
  • www.carscoops.com/2017/05/samsung-gets-approval-to-test
  • blog.saginfotech.com/samsung-india-caught-gst-investigation

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต