“บางครั้งเราก็แค่อยากมีใครสักคนรับฟัง” 

นี่คือคำโปรยบนโปสเตอร์สีพาสเทลน่ารักที่มีรายละเอียดว่า 

“Free Counseling Service : นักจิตวิทยา จิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ รักษาข้อมูลเป็นความลับ ช่วยเหลือจิตใจเบื้องต้นฟรี คนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 30-50 นาที”

นี่คือโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่โพสต์อยู่บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นีน่า-ลินินา พุทธิธาร หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘อาบัน’ แห่ง WiTcast 

แม้ว่างานหลักของเธอจะเกี่ยวกับนโยบายทางวัฒนธรรมและกระบวนการชุมชน ในฐานะที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก และอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เธอก็มีความสนใจเรื่องสุขภาพจิตและสิทธิและทุ่มเทเวลาศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ Call Out ในประเด็นการคุกคามทางเพศ อาบันจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และร่วมออกมาส่งเสียงเรียกร้องด้วย จนทำให้เธอกลายเป็นที่ปรึกษาจำเป็นที่มีน้อง ๆ วัยเรียนจำนวนมากส่งข้อความมาระบายและบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเผชิญ ซึ่งหลายคนก็หนักหนาถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ ไปจนถึงขั้นอยากจบชีวิตก็มี  

“มันเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดเยอะมาก ไม่ใช่แค่น้อง ๆ ที่ส่งข้อความมา พอเราคุยกับเพื่อน ก็พบว่าเพื่อนเราหลายคนล้วนเคยโดนละเมิดทางเพศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมถึงตัวเราเองด้วย นั่นทำให้เวลามีน้อง ๆ มาปรึกษา เราจึงเข้าใจเขามาก ๆ แต่พอมีจำนวนน้อง ๆ ที่เข้ามาคุยเพิ่มขึ้นเป็น 20 – 30 คน ภายในเวลาสั้น ๆ เราก็รู้ตัวแล้วว่า ทักษะและเวลาของเรามีจำกัด ทำให้ช่วยรับฟังพวกเขาไม่ได้เต็มที่ ยิ่งเราไม่มีเวลาคลี่คลาย บางเรื่องราวเลยไปกระตุ้นประสบการณ์เก่าของตัวเอง เราก็เริ่มคิดว่าจะหาคนที่เชี่ยวชาญด้านจิตใจมาช่วยดีไหม”

ยังไม่ทันจะได้เอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร ก็มีแฟนรายการ WiTcast ที่เป็นนักจิตวิทยาคลินิก 2 คน นั่นคือ ณัทธร อารยะกุล และ สุนิสา วังสมบัติ ติดต่อเข้ามาพอดีเพื่อถามว่า “พี่อาบันไหวไหม” พร้อมเสนอตัวช่วยรับฟังเรื่องราวจากน้อง ๆ ผู้ถูกกระทำ 

Safe Zone Project รุ่นแรกจึงเริ่มขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยที่ตอนแรกอาบันตั้งใจให้เป็นโครงการเฉพาะกิจเพื่อเปลี่ยนความโกรธ คับข้องใจ สงสาร เห็นใจ หดหู่ มาเป็นพลังงานบวกด้วยการลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะช่วยคนได้จริง ๆ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยมีนักจิตวิทยาอาสารับฟัง และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ถูกคุกคามทางเพศและผู้ที่ต้องการปรึกษาทางจิตวิทยาทั่วไปจำนวน 10 คน ซึ่งปรากฏว่าหลังเปิดรับสมัครเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ผู้สมัครก็เต็มทันที 

เมื่อโครงการแรกผ่านไปด้วยดี อาบันจึงตัดสินใจเปิดรอบที่ 2 โดยคราวนี้ประกาศรับสมัครนักจิตวิทยาและจิตแพทย์อาสาเพิ่มเติม เพื่อให้ช่วยคนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาบันก็ต้องมานั่งคัดกรอง CV ของแต่ละคนด้วยตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่า เป็นคนที่มีทักษะด้านนี้จริง แม้ว่าความตั้งใจตอนแรกคือการอยากช่วยเหลือคนที่เคยถูกคุกคามทางเพศ แต่ปรากฏว่าผู้สมัครหลายคนมาขอรับคำปรึกษาจากปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านเพศด้วย ซึ่งอาบันก็คุยกับทีมอาสาและเห็นตรงกันว่า ความทุกข์ของคนไม่อาจชั่งตวงวัดได้ว่าแบบไหนหนักหนาสาหัสมากกว่ากันได้ จึงตัดสินใจรับให้คำปรึกษาทั้งหมด

“ผลตอบรับคือดีมากนะ หลายคนสะท้อนว่าภาพจำที่น่ากลัวของการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาหายไป พอคุยแล้วสบายใจขึ้น บางคนบอกว่า จบโครงการนี้จะลองไปพบนักจิตวิทยาด้วยตัวเองแล้ว ส่วนบางคนก็สะท้อนว่า ทำให้เริ่มมองเห็นความหวังและทางออกในชีวิต ส่วนบางคนก็บอกว่าได้เข้าใจอะไรมากขึ้น ได้รู้ว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการเยียวยา หนึ่งก็คือน้ำเสียงที่อ่อนโยน สองคือการที่มีคนรับฟังโดยไม่ขัดจังหวะ ไม่สั่งสอน ไม่ตัดสิน ให้เขาได้พูดเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก เพราะหลายคนไม่สามารถคุยเรื่องพวกนี้กับใครได้เลย”

 จากจุดนั้น อาบันเริ่มคิดขยายโปรเจกต์ให้กว้างไกลกว่าแค่การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ แต่คือการสร้างความเข้าใจในระดับสังคม ผ่านพอดแคสต์ที่พูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบที่กว้างกว่านั้นมาก และบ่อยครั้งก็มาในรูปแบบที่เหยื่อไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกคุกคาม

บาดแผลที่ร้าวลึก 

ภายใต้รอยยิ้มของผู้คนมากมายที่เดินสวนกับเราในแต่ละวัน หลายคนในจำนวนนั้นอาจกำลังเก็บงำความเจ็บปวดบางอย่างไว้ภายในใจโดยไม่เคยกล้าเอ่ยปากเล่าให้ใครฟัง

ในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบเหตุความรุนแรงทางเพศในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของญี่ปุ่นที่ว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Surgery ที่พบว่าศัลยแพทย์หญิงเกือบ 1 ใน 3 เคยถูกคุกคามทางเพศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายและ LGBTQ+ ก็ตกเป็นเหยื่อของเรื่องนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร 

“สิ่งที่อยากให้สังคมเข้าใจคือการคุกคามทางเพศหรือ Sexual Harassment ไม่ได้มีแค่การข่มขืนหรือการทำอนาจารแบบโต้ง ๆ อย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเฉดมาก ตั้งแต่การแทะโลมด้วยวาจา การลวนลาม การถ้ำมอง การใส่ความ การควบคุมบงการ (Manipulation) การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (Sexual Exploitation) การกรูมมิง (Grooming) การทำให้เหยื่อรู้สึกผิด (Gaslight) และอื่น ๆ อีกมากมาย” อาบันเล่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ในพอดแคสต์ตอนแรกของ Safe Zone ที่ออกอากาศในช่อง WiTcast

ความน่ากลัวของการคุกคามทางเพศบางรูปแบบก็คือ มันอาจแนบเนียนมากจนเหยื่อไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกคุกคาม ทำให้เขาหรือเธอต้องดำดิ่งในวงจรนี้ลึกลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเองที่ฝังลึก หนึ่งในนั้นคือกลวิธีใช้คำพูดให้เหยื่อรู้สึกผิดจนยอมทำตามที่อีกฝ่ายต้องการ  

อาบันยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติว่า มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่คุณสนิทด้วย (อาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้) ชวนคุณไปนวดอโรมาในสปาด้วยกัน แต่คุณรู้สึกลำบากใจ จึงตอบเลี่ยงว่าขอไม่ไปดีกว่า อีกฝ่ายจึงตีหน้าเศร้าพร้อมพูดตัดพ้อยกใหญ่ว่า 

นี่เธอไม่ไว้ใจพี่เหรอ พี่แค่ชวนเธอในฐานะพี่น้อง ไม่ได้คิดอะไรกับเธออยู่แล้ว แต่เธอมองพี่เป็นคนแบบนั้นเหรอ แพ็กเกจสปาที่ซื้อมาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ที่ชวนเพราะเธอคือคนพิเศษสำหรับพี่นะ พี่เห็นเธอทำงานเหนื่อยมากก็อยากให้ได้ผ่อนคลาย แถมจะแยกห้องกันด้วย แต่วันนี้เธอทำให้พี่รู้แล้วว่าพี่คิดผิด พี่รู้แล้วว่าเธอมองพี่เป็นคนแบบนี้ ก็ขอโทษละกันที่ทำให้เธอไม่สบายใจมาตลอด ต่อไปนี้พี่จะไม่ทำให้เธอรำคาญแล้ว….

แน่นอนว่าหากคุณเป็นคนใจบาง ก็คงรู้สึกผิดจนยอมไปสปาด้วย ซึ่งหากสถานการณ์นั้นนำไปสู่อะไรที่เลยเถิด คุณก็อาจกลับมาโทษตัวเอง รู้สึกผิดกับตัวเอง ไปจนถึงขั้นเกลียดร่างกายตัวเอง 

“แล้วถ้าคุณไปโวยวายว่าทำแบบนี้กับฉันทำไม คุณก็อาจได้รับคำตอบกลับมาว่า 

ที่ผ่านมาก็เป็นเธอเองไม่ใช่เหรอที่เข้าหาพี่ ชวนพี่ไปกินข้าว มีอะไรก็มาปรึกษา ทำไมวันนี้ถึงมาโทษพี่ล่ะ วันนั้นที่ไปสปาก็ไม่เห็นว่าอะไรเลยนี่ เธอต่างหากที่ทำร้ายพี่  

“นี่คือคุณกำลังโดน Gaslight บางทีอาจถึงขั้นทำให้เหยื่อสับสนว่า ตัวเองเป็นคนต้องการทางเพศด้วยซ้ำ นี่คือสาเหตุที่เหยื่อในกรณีแบบนี้มักไม่กล้าเล่าให้ใครฟังและโทษตัวเอง”   

ในทางกลับกัน หากวันนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณก็อาจตายใจและคิดกับตัวเองว่า เราไม่น่ามองพี่เขาในแง่ร้ายเลย เราจิตใจไม่ดีเอง ต่อไปจะไม่มองใครแบบนี้อีกแล้ว คุณจะลดการ์ดป้องกันตัวลงกับเขา และยอมไปไหนมาไหน ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงขึ้นเรื่อย ๆ กับเขา ซึ่งนั่นก็คือการตกหลุมพรางของคนที่กระทำการ ‘Grooming’ โดยสมบูรณ์ นั่นคือคนที่มีเจตนาละเมิดคนอื่น โดยใช้วิธีหลอกให้เหยื่อตายใจ ตะล่อมเหยื่อทีละนิด สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แล้วค่อย ๆ ละเมิดทีละขั้น สร้างโลกที่มีแต่เราสองคน ให้เก็บเป็นความลับจากคนอื่น ให้พึ่งพาเขา แยกเราออกจากสังคมเก่า ทำให้หมดความเชื่อมั่นในตัวเอง จนวันหนึ่งก็ควบคุมเราและละเมิดทางเพศอย่างเต็มตัว 

คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะนั้น และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราไม่ได้คิดมากไปเอง 

“เราว่าขั้นแรกเลย คือต้องหัดเท่าทันความรู้สึกตัวเองก่อน ว่าอะไรที่เรารู้สึกไม่โอเค อย่ามองข้ามสัญชาตญาณตัวเองที่ว่าเรื่องนี้มันแปลก ๆ ถัดจากนั้นพอรู้ตัวแล้ว ก็ต้องสื่อสารให้เป็น กล้าที่จะบอกความรู้สึกตัวเอง กล้าที่จะปฏิเสธ”

และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็จะเป็นตัวบอกว่า อีกฝ่ายมีเจตนาดีกับเราหรือไม่  

“อย่างเช่นกรณีสปา คุณอาจบอกว่า ‘ไม่เอาดีกว่าพี่ หนูเขิน’  นั่นคือการที่คุณขีดเส้นให้เขา แล้วถ้าอีกฝ่ายแคร์คุณจริง ไม่ได้คิดทำอะไรคุณจริง เขาจะเคารพเส้นนั้น โดยอาจบอกว่า ‘อ้าว เหรอ ขอโทษ ๆ แล้วก็ขอบคุณที่บอกนะ งั้นอยากทำอะไรอย่างอื่นไหม จะชวนคนอื่นไปด้วยก็นะ’ แต่ถ้าคุณขีดเส้นแล้วอีกฝ่ายยังดึงดันล้ำเส้นต่อด้วยการทำให้คุณรู้สึกผิดหรือกลัว นั่นคือสัญญาณอันตรายแล้ว” อาบันสรุป

“เราต้องกล้าที่จะผิดใจคนที่จงใจรุกล้ำเรา เพราะถ้าเรามัวแต่กลัวเขาเสียความรู้สึก ผลลัพธ์คือเราอาจเสียตัวและเสียใจ อีกอย่างที่ช่วยป้องกันได้ก็คือการมีคนไว้ใจได้ให้เราคอยบอกเล่าพูดคุย เช่น มีเหตุการณ์อะไรที่ไม่แน่ใจก็อาจไปปรึกษาว่าเรื่องแบบนี้มันแปลก ๆ ไหม หรือช่วยกันดูสัญญาณอันตราย เพราะบ่อยครั้งผู้ละเมิดมักเลือกเหยื่อที่อยู่ตัวคนเดียว เหมือนเสือที่เลือกเหยื่อที่แตกฝูง” 

และสุดท้าย หากเรารู้ตัวแล้วว่าความสัมพันธ์ที่เราอยู่นั้นเป็นพิษ เราต้องกล้าพอที่จะเดินออกมา 

“เราต้องรู้ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตเรา แม้กระทั่งพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ เจ้านาย แฟน หรือเพื่อนสนิท ถ้าเราคิดได้ตรงนี้ อำนาจของเขาในการควบคุมจิตใจเราจะลดลงทันที แล้วอำนาจนั้นจะกลับคืนมาอยู่กับเรา แต่ก่อนจะถึงจุดที่ก้าวออกมาได้ บอกได้เลยว่าหัวใจอาจจะแตกสลายก่อน เพราะเราต้องยอมรับแล้วว่าคนที่เราเคยไว้ใจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด มันคือการมองเห็นความจริงที่เราพยายามไม่มองมาตลอด แล้วมันก็หนักหนามาก”

ก้าวขึ้นจากหลุมดำ 

อาบันยอมรับว่า เธอเองก็คือหนึ่งคนที่เคยตกอยู่ในหลุมดำทางความรู้สึกนั้น

“เราเคยโดนคุกคามทางเพศมาหลายรูปแบบมาก แต่ไม่เคยรู้ตัวชัด ๆ เลย จนกระทั่งมาเจอนักจิตบำบัดคนปัจจุบันที่พาเราสะท้อนไปถึงตั้งแต่สมัยมัธยม เรื่อยมาจนเกือบถึงปัจจุบันทำให้เห็นว่าเราโดนคุกคามและทำร้ายหลายครั้ง แต่เรากลบมันไปเพราะไม่อยากรับรู้ แกล้งลืมมัน ฉันเริ่มต้นชีวิตใหม่เลยดีกว่า จนมองไม่เห็นแพทเทิร์นตัวเองว่าอะไรที่ดึงดูดเราไปสู่คนและเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

อาบันเริ่มต้นเล่าประสบการณ์เจ็บปวดในอดีต ซึ่งหนักหนาสาหัสถึงขั้นเคยหมดกำลังใจในการมีชีวิต

“ใครที่กำลังอยู่ในภาวะคิดสั้น ใช้ชีวิตต่อไม่ไหว อาบันผ่านมาหมดแล้ว อาบันเข้าใจทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เราก้าวผ่านจนมาถึงวันนี้ได้ อาบันว่าอย่างแรกสุดคือการรักตัวเอง เราต้องให้เกียรติเด็กน้อยในตัวเราที่พยายามสู้ทุกสิ่งอย่างลำพังมาจนถึงวันนี้ ทั้งชีวิตน้องสู้สุด ๆ  น้องเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไงเมื่อเจอเรื่องเลวร้าย แต่น้องก็ไม่เคยยอมแพ้เลย น้องแบกร่างวิ่นแหว่งมีบาดแผลเต็มตัว วิ่งเนื้อตัวมอมแมม ล้มลุกคลุกคลานอย่างสุดความสามารถมาหาเรา เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ที่จะส่งไม้ต่อให้เราในวันนี้ แล้วเราจะทำให้เด็กน้อยคนนั้นผิดหวังได้ยังไง เมื่อรับไม้มาแล้ว เราก็เลยบอกตัวเองว่าจะยอมแพ้ไม่ได้”

ส่วนลำดับถัดมาที่อาบันแนะนำก็คือ ‘การทลายกำแพงความเงียบ’ หรือ Break the Silence ที่เปลี่ยนจากการเก็บทุกสิ่งไว้ในใจคนเดียว มาเป็นเริ่มต้นเล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง 

“เราเริ่มจากบอก พี่แทน (แทนไท ประเสริฐกุล – แฟนของอาบัน) ซึ่งตอนแรกเราก็กังวลมาก แต่ปรากฏว่าพี่แทนเข้าใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เรามาก ๆ เราเลยเริ่มกล้าที่จะบอกคนรอบตัวมากขึ้น ทำให้เราได้ระบบนิเวศที่ดีมาก ๆ ช่วยประคองเวลาที่เรารู้สึกไม่ไหว แล้วเราก็ใช้กระบวนการจิตบำบัดควบคู่กับการพบจิตแพทย์ ซึ่งเปลี่ยนมา 7 คนกว่าจะเจอคนที่ใช่ คือเราทุ่มเรื่องนี้เต็มที่ เพราะตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะทำทุกวิถีทางให้สุขภาพใจดีขึ้น”  

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อาบันเน้นย้ำก็คือ เราต้องเลือกคนที่จะคุยด้วยให้ดี เพราะหากเลือกผิด อาจทำให้ดิ่งลงเหวลึกไปกว่าเดิม

“เราจะเลือกคนโดยดูจากความสัมพันธ์ที่ผ่านมาว่าเขาพาเราไปในทางที่ดีไหม เวลาเราเล่าปัญหาทั่ว ๆ ไปให้ฟัง เขาตอบสนองอย่างไร เอาเรื่องของเราไปพูดต่อหรือเปล่า ซ้ำเติมเราหรือไม่ คนที่เราจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังคือคนที่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า เข้าใจเรา อยู่ข้างเรา และไว้ใจได้ เขาไม่จำเป็นต้องเออออเห็นด้วยกับเรา แต่เขายอมรับและเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร ซึ่งสำหรับหลายคน ครอบครัวอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย บางครั้งผู้ละเมิดก็เป็นคนในครอบครัวเอง ก็ไม่เป็นไร เราหาระบบนิเวศใหม่เพื่อเติมเต็มตัวเองได้ อาจลองเข้ากลุ่มที่มีความสนใจตรงกันหลาย ๆ กลุ่มดู หรือลองพบปะเพื่อนใหม่ ๆ ตามงานหรือโอกาสต่าง ๆ ลองดูว่าใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องฝืน เลือกให้ดี แล้วมันจะเพิ่มโอกาสในการพบเจอพื้นที่ปลอดภัยให้ชีวิตเรางอกงามไปด้วยกัน”  

แต่ถ้าหันซ้ายหันขวาแล้วยังไม่เจอใครที่เราพร้อมจะเปิดใจคุยด้วย ก็อาจเลือกคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยอาจหาข้อมูลรีวิวประกอบว่าคนนั้นมีรูปแบบการให้คำปรึกษาที่เหมาะกับเราหรือไม่  

“ถัดจากการ Break the Silence และการพยายามจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ก็คือต้องรู้จักขอความช่วยเหลือ กล้าที่จะอ่อนแอ กล้าที่จะเป็นภาระให้ผู้อื่นบ้าง เพราะเรื่องนี้หนักมากจริง ๆ แต่ขอให้เชื่อว่ามีคนที่พร้อมจะให้คุณเป็นภาระของเขา แล้วเมื่อไหร่ที่คุณยอมเป็นภาระ เมื่อนั้นคุณจะค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างอาบันจะตั้งไว้เลยว่า ถ้าวันไหนพยายามเองแล้วไม่ไหว เราจะขออนุญาตพึ่งพิงคนอื่นนะ โดยที่จะระวังไม่ให้ตัวเองบ่นระบายพร่ำเพรื่ออย่างไร้ที่สิ้นสุด เพราะคนอื่นก็มีขีดจำกัดในการรับฟังได้เหมือนกัน“

ในช่วงที่อาบันเกิดรู้สึกอ่อนไหวอย่างรุนแรงขึ้นมา เธอก็ใช้วิธีคุยกับกลุ่มคนที่ไว้ใจ ซึ่งเคยตกลงกันล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่า ถ้าวันไหนไม่ไหว ขอโทรหานะ ไม่จำเป็นต้องแนะนำอะไร ไม่ต้องสั่งสอนอะไรได้ไหม ขอแค่รับฟังและเข้าข้างกันก่อน จนกว่าเราจะนิ่งขึ้น แล้วเราค่อยมาคิดวิธีแก้ปัญหากัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีดูแลที่ต่างกัน บางคนชวนไปกินข้าวดูหนัง บางคนก็มานั่งด่าคนนั้นด้วยกันอย่างออกรสจนจบลงด้วยเสียงหัวเราะ บางคนก็แค่นั่งฟังเงียบ ๆ พร้อมจับมือให้กำลังใจ บางคนก็ส่งบทความทางจิตวิทยาให้อ่าน บางคนก็ส่งรูปแมวหรือคาปิบารามาให้ บางคนก็ลากเราไปออกกำลังกาย

“แต่เราไม่ได้เล่ารายละเอียดทุกเรื่องกับทุกคนนะ แต่ละคนก็มีระดับการเล่าต่างกันไป บางครั้งอาจส่งไปในกรุ๊ปไลน์เพื่อนแค่ว่า แก วันนี้เราแย่มาก ไม่ไหวแล้ว เพื่อนก็จะชวนไปกินข้าว ชวนคุยเรื่องอื่น แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโดยตรง แต่มันทำให้เราได้เห็นถึงความรักของเพื่อน ๆ ที่พร้อมจะพุ่งตัวมาช่วยเราในวิธีของเขา และความรักนี้ก็คือสิ่งที่ช่วยพยุงเรา” 

อาบันไล่เรียงรายชื่อของผู้คนมากมายรอบตัวที่ล้วนมีส่วนช่วยให้เธอข้ามพ้นวันเวลาแห่งความอ่อนไหวนั้น

“เราเกลียดประโยคที่ว่า ต้องขอบคุณคนที่ทำร้ายเราที่ทำให้เราแกร่ง เราว่าไม่ใช่ ฉันจะไม่ให้เครดิตคนเหล่านั้น ฉันจะให้เครดิตตัวฉันเองที่ยืนหยัดผ่านคนเหล่านั้นมาได้ต่างหาก รวมถึงระบบนิเวศของฉันที่ช่วยโอบอุ้มพยุงฉันไว้ด้วยความรักและบางครั้งก็น้ำตา แต่ผู้กระทำไม่สมควรได้เครดิตอะไรเลย อย่าขอบคุณเขา ให้ขอบคุณตัวเอง ขอบคุณเพื่อนและครอบครัวที่อยู่ข้างเรา และการที่จะมีเพื่อนอยู่ข้างเราได้ นั่นคือเราต้องเปิดใจให้เขาเข้ามาด้วยนะ นี่คือความแกร่งอีกแล้ว เพราะการจะเล่าเรื่องแบบนี้ให้ใครสักคนฟังมันยากมาก ใครที่เจอแบบนี้และกำลังอ่านอยู่ ขอบคุณตัวเองเยอะ ๆ เลยนะ คุณเก่งมาก แกร่งมาก โคตรอภิมหาแกร่งเลย”  

และเมื่อวันหนึ่งที่คุณเข้มแข็งขึ้น คุณก็อาจกลายเป็นที่พึ่งให้คนอื่นต่อไปได้ ดังเช่นที่อาบันกำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้

“เราว่าเป็นธรรมชาติของคนที่ผ่านเรื่องนี้มาได้ที่อยากช่วยคนอื่นต่อ หลายคนที่ช่วยคนอื่นได้ก็เพราะเขาเองก็เคยผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน ทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้โหดร้ายเจียนตายขนาดไหน บางคนมาปรึกษาเราโดยที่ตอนแรกยังไม่กล้าเล่าทุกอย่าง เราเพียงแค่ตั้งใจฟัง เขาบอกว่าท่าทีบางอย่างของเราทำให้เขารู้สึกได้ทันทีเลยว่าเราเข้าใจ” 

ร่วมสร้างระบบนิเวศที่ปลอดภัย  

หากเราอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย สังคมที่ปราศจากการคุกคามทางเพศ สังคมที่เหยื่อซึ่งอาจเป็นคนที่เรารักไม่ถูกเหยียบย่ำซ้ำเติมและได้รับการเยียวยา ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนเช่นกันที่จะต้องร่วมกันสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมา

ขั้นที่หนึ่งในระดับที่ใกล้ตัวที่สุด คือการที่เราทุกคนช่วยกันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนรอบข้างที่อาจกำลังเจอเรื่องราวเหล่านั้น โดยมีวิธีง่าย ๆ คือ เป็นพื้นที่รับฟังโดยไม่ตัดสิน 

“การรับฟังในฐานะเพื่อน เรามีอารมณ์ร่วมไปกับอีกฝ่ายได้นะ เช่น ถ้าเรารู้สึกโกรธ ก็อาจพูดออกมาได้เลยว่า เฮ้ย โกรธแทนว่ะ หรือจะด่าออกมาเลยก็ได้ ซึ่งบางทีก็ทำให้เหยื่อรู้สึกดีขึ้น หรือถ้าเราสะเทือนใจอยากร้องไห้ ปล่อยน้ำตาไหลออกมาได้นะ เคยมีเพื่อนมาเล่าเรื่องบางอย่างให้เราฟัง แล้วเราน้ำตาไหลก่อนเขาอีก แต่ก็บอกว่าเธอเล่าต่อไปได้นะ ไม่เป็นไร เราฟังได้ แล้วสุดท้ายเราก็นั่งร้องไห้ด้วยกัน ไม่ต้องพูดอะไร แล้วสุดท้ายเพื่อนเราก็สบายใจขึ้นและขอบคุณเราที่ให้เขาร้องไห้ได้โดยไม่รู้สึกว่าต้องซ่อน ส่วนเราก็ขอบคุณที่เขาเล่าให้เราฟัง 

“สิ่งสำคัญคือความรู้สึกนั้นต้องมาจากข้างในจริง ๆ ไม่เสแสร้ง ถ้าอยากร้องไห้ก็ไม่ต้องทำตลกกลบเกลื่อน หรือถ้านิสัยเราเป็นคนตลก ก็เล่นมุกให้เพื่อนขำได้ตามธรรมชาติของตัวเอง ไม่ต้องพยายามทำตัวเป็นนักจิตวิทยาหรอก เพราะการที่เพื่อนเลือกเราเป็นผู้รับฟัง แปลว่าเขาน่าจะอยากได้การตอบสนองแบบที่เป็นตัวเราอยู่แล้ว”

ส่วนในกรณีของพ่อแม่ ซึ่งอาจมีความเจ็บปวดมากเป็นพิเศษเมื่อต้องฟังเรื่องราวที่ลูกถูกกระทำ อาบันแนะนำว่า อาจต้องระวังในการแสดงออก ไม่ด่วนผลีผลามทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต เช่น จะไปเอาเรื่องคนนั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจจนครั้งหน้าไม่กล้ามาปรึกษาอะไร แต่ทางที่ดีคือเริ่มจากรับฟังก่อน พร้อมถามว่าลูกอยากให้ช่วยแบบไหน และยืนยันให้ลูกแน่ใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อแม่ก็พร้อมอยู่เคียงข้างลูกเสมอ  

“แต่สิ่งที่เราเจอคือ หลายครั้งพ่อแม่กลับเป็นคนที่ทำให้บาดแผลลึกกว่าเดิม เราเคยเจอน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาเคยได้ยินแม่พูดว่า เรื่องละเมิดทางเพศไม่เกิดกับลูกฉันแน่นอน เพราะลูกของแม่จะไม่ทำตัวให้เสื่อมเสียแบบนั้น ลูกของแม่จะไม่โง่แบบนั้น… นี่คือการที่พ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกผิดจนไม่กล้าเล่าต่อ และยิ่งตอกย้ำว่าเหตุการณ์เลวร้ายคือตัวตนของลูก”

อาบันเปรียบเทียบให้ฟังว่า หากตัวตนของเราคือดินน้ำมันก้อนหนึ่ง และเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดกับเราคือดินน้ำมันอีกก้อนที่มีสีดำ การถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ แบบนี้เหมือนการยิ่งบดขยี้ให้ดินน้ำมันสีดำผสมรวมไปกับดินน้ำมันที่เป็นตัวตนของเราจนกระทั่งไม่สามารถแยกสีดำออกมา ซึ่งนั่นจะทำให้การก้าวข้ามหลุมดำทางความรู้สึกยากมาก แต่หากคนที่รับฟังช่วยสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์ร้าย ๆ เป็นแค่ดินน้ำมันสีดำก้อนหนึ่งที่แปะอยู่ และเราดึงแยกออกมาจากตัวตนของเราได้ เหตุการณ์ร้ายไม่ได้นิยามตัวตนของเรา เมื่อนั้นการก้าวข้ามหลุมดำก็ง่ายขึ้น

“ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ถ้าเราเห็นเพื่อนกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดูไม่น่าปลอดภัย เราอาจเข้าไปเตือนได้นะ แต่ต้องอย่าใช้คำพูดที่เป็นการตัดสิน เพราะอาจทำให้เขาปิดประตูใส่เรา วิธีที่เราใช้ก็คือการเข้าไปถาม ชวนคุย เช่น  ช่วงนี้ดูเศร้า ๆ ไปนะ มีอะไรอยากเล่าไหม ถ้าไม่เล่าไม่เป็นไรนะ หรืออาจชวนไปกินข้าวแล้วถามว่า ความสัมพันธ์เป็นยังไงบ้าง ฟังเขาเล่าก่อน แล้วค่อยหามุมตั้งคำถามเพื่อให้เขาคิดได้ด้วยตัวเอง เช่น แกโอเคกับความสัมพันธ์แบบนี้จริง ๆ เหรอ แต่แน่นอนว่า เราก็ต้องเผื่อใจด้วยว่าเราอาจเข้าใจผิด สิ่งสำคัญคือการเป็นคนที่เพื่อนรู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วปลอดภัย เล่าปัญหาหรือสัญญาณแปลก ๆ ให้เราฟังได้ตลอด อย่างน้อยการที่เขามีเราเป็นพื้นที่ในพูดและเรียบเรียงความคิดความรู้สึก ก็น่าจะเป็นก้าวแรกของการทบทวนความสัมพันธ์นั้นได้” 

ส่วนในกรณีที่เราเห็นว่าเพื่อนมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิดคนอื่นเสียเอง อาบันก็แนะนำว่า หากเราหวังดีกับเพื่อนจริง ก็ควรช่วยสะท้อนให้เขารู้ตัวหรือชวนให้เขาตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อให้เขาได้มองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านและอาจนำไปสู่การหยุดทำแบบนั้น   

จากนั้น ถ้าถอยออกมาในมุมที่กว้างขึ้นในระดับสังคม เช่น เวลามีข่าวการ Call Out ในโลกโซเชียล สิ่งที่เราทุกคนช่วยกันได้ ก็คือการหยุดวัฒนธรรม Victim Blaming หรือการโทษเหยื่อ 

“การโทษเหยื่อ แค่ตรรกะก็ผิดแล้ว คนที่เราควรโทษคือผู้กระทำมากกว่า แทนที่สังคมจะถามว่าทำไมผู้ถูกกระทำถึงแต่งตัวแบบนั้น หรือพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้น สิ่งที่สังคมควรถามมากกว่าคือ ทำไมอีกฝ่ายไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ และยังคงทำทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะทำให้อีกคนเจ็บปวด แค่นี้คนที่ถูกกระทำก็เจ็บช้ำมากพอแล้ว ถ้าเขามาเจอสังคมซ้ำเติมอีก ก็เหมือนมีมีดเป็นล้านเล่มไปรุมแทงเขา ผลคือเหยื่อคนอื่น ๆ อีกหลายคนอาจหลบเข้าถ้ำ ไม่กล้าออกมาพูด แล้วผู้ละเมิดก็ลอยนวลต่อไป เหยื่อไม่ควรต้องอาย คนที่ควรต้องอายคือผู้กระทำ”  

ดังนั้น หากสังคมหยุดวัฒนธรรมโทษเหยื่อและพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ถูกกระทำ เมื่อนั้นสังคมเราก็อาจมีผู้ที่กล้าออกมา Call Out มากขึ้น และนำมาสู่สังคมที่ปลอดภัยขึ้น โอกาสที่ผู้กระทำคนนั้นจะไปทำสิ่งเดิมกับเหยื่อรายใหม่ก็มีน้อยลง 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกด้านของเหรียญที่ฝ่ายหนึ่งถูกใส่ความว่าเป็นผู้กระทำ ทั้งที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ดังเช่นในกรณีของคนดังที่เคยถูกตราหน้าว่าไปละเมิดผู้อื่น และกว่าจะได้รับความเป็นธรรมก็ผ่านไปหลายปี 

“เราต้องดูทั้งสองมุมเนอะ เพราะเราก็มีเพื่อนที่อยู่กลุ่ม ‘ชายแทร่’ ที่เคยถูกฝ่ายหญิงปั้นเรื่องเพื่อแบล็กเมล์เช่นกัน พวกเขาเปิดอกคุยว่า เหตุการณ์นั้นฝังใจจนทำให้เวลาเห็นข่าวผู้หญิงออกมาพูดว่าโดนละเมิดทางเพศ จะสงสัยไว้ก่อนว่าปั้นเรื่องเพื่อแบล็กเมลชัวร์ อันนี้เป็นอคติและการเหมารวมที่เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีตของเขา เราก็ได้แต่ชี้ว่า นอกจากสมมติฐานอันนั้นแล้ว เขาคิดว่าเป็นไปได้ด้วยไหมว่าผู้ชายที่โดนกล่าวหาจะกระทำผิดจริง แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เขาจะมองเรื่องนี้ยังไงเหรอ พวกเขาก็เก็บไปคิดนะ”

ทีนี้ คำถามที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ แล้วอย่างนี้เราจะเชื่อใครดี ยิ่งในกรณีที่ฝ่ายถูกกล่าวหาเป็นคนที่เรารู้จัก เราย่อมอยากรู้ความจริงเพื่อที่จะได้จัดวางความสัมพันธ์ของเรากับเขาได้ถูก เราย่อมอยากรู้ว่า คนนั้นเป็นคนเดียวกับที่เราคิดว่าเรารู้จักดีหรือเปล่า หรือว่ามีอีกด้านซ่อนอยู่ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากตัดสินใครผิด ๆ   

“ความสงสัยนี้เป็นเรื่องดีนะ ซึ่งถ้าเราอยากรู้จริง ๆ ว่ารายละเอียดเป็นยังไง เราอาจเปลี่ยนวิธีตั้งคำถามกับเหยื่อ แทนที่จะพูดว่า ไหนล่ะหลักฐาน มีคลิปชัด ๆ เปล่า หรือ เรื่องนานแล้วทำไมเพิ่งมาพูด ลองใช้ประโยคที่ศิวิไลซ์ขึ้น เช่น อยากแชร์ข้อมูลอะไรไหม แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า หลักฐานบางอย่างก็อ่อนไหวเกินไปที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ แถมบางทีการเล่าก็ไปกระตุ้นความทรงจำเลวร้ายของเขาให้กลับมาโลดแล่นในความรู้สึกและร่างกาย เหมือนว่ากำลังอยู่ในเหตุการณ์ร้ายนั้นอีกครั้งได้ด้วย (PTSD – Post-traumatic Stress Disorder) ที่สำคัญคือ เรื่องน่าเศร้าของการละเมิดทางเพศในรูปแบบของการกรูมมิง มักจะไม่มีหลักฐานชัด ๆ เพราะผู้กระทำอาศัยกลวิธีได้คืบจะเอาศอก ทำให้เหยื่อพึ่งพา และสร้างภาพนักบุญ ทำให้สังคมไม่เชื่อว่าจะทำผิดจริง จึงหันไปโทษเหยื่อแทน” 

และสุดท้ายคือในระดับโครงสร้าง เธอก็ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรแก้กฎหมายให้นิยามการคุกคามทางเพศครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ นิยามการข่มขืนคือต้องมีหลักฐานการไม่สมยอม โดยอิงหลังฐานการขัดขืนทางร่างกาย เช่น บาดแผลทางกาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เสนอว่า การตอบสนองต่อภัยอันตรายของคนเราไม่ได้มีแค่ระบบ Fight or Flight (สู้หรือหนี) เท่านั้น แต่ยังมีการตอบสนองโดยการ Freeze คือร่างกายจะนิ่งราวกับเป็นอัมพาตชั่วคราว ซึ่งเป็นกลไกป้องกันความเจ็บปวดอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งการตอบสนองแบบ Fawn คือการเอาใจผู้กระทำเพื่อรักษาชีวิต

“ส่วนการสมยอมหลายครั้งก็อาจมีที่มาจากการบังคับให้เหยื่อจำยอม ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจ การข่มขู่ การ Gaslight การแบล็กเมล์ หรืออื่น ๆ เช่น การควบคุมทางจิตวิทยา ซึ่งควรเข้าข่ายละเมิดทางเพศตามกฎหมายด้วย อย่างกฎหมายเมืองนอกหลายประเทศก็อัปเดตกันแล้ว”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เนื่องจากหลายเหตุการณ์ไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับเอาผิดในชั้นศาล แต่สิ่งที่จะเข้ามาช่วยในกรณีนี้ได้ ก็คือจรรยาบรรณวิชาชีพ 

“ต่อให้ทางกฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่ถ้าบริษัทหรือองค์กรที่ผู้กระทำทำงานอยู่ให้ความสำคัญและมีข้อปฏิบัติหรือ Protocol ที่ชัดเจนในการป้องกัน ตรวจสอบ ลงโทษ และเยียวยา เช่น ตั้งคณะกรรมการที่ยุติธรรมและมีความสามารถในการหาข้อเท็จจริง มีบทลงโทษที่เหมาะสมในกรณีที่ผิดจริง มีการเยียวยาผู้เสียหาย และสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้ผู้เคยถูกกระทำทำงานต่อได้ แค่นี้เหยื่อก็จะรู้สึกได้รับความเป็นธรรมและช่วยป้องกันเหยื่อรายต่อไปได้แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีองค์กรไหนมี Protocol เหล่านี้ บางแห่งกลบข่าวด้วยซ้ำ เพราะห่วงภาพลักษณ์องค์กร แทนที่จะเข้าใจว่าการปิดปากเหยื่อนั่นแหละที่จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรพังแน่นอน”

ส่วนอีกสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน คือช่องทางสำหรับร้องเรียนที่ไว้ใจได้ โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลางจริง ๆ ไม่ว่าจะในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล บริษัท แม้กระทั่งในวงการนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เองก็ควรจะมีหน่วยงานสหวิชาชีพ เพื่อตรวจสอบจริยธรรมและรับเรื่องร้องเรียน เพราะอาบันเองก็รู้เรื่องราวของนักจิตวิทยาบางคนที่ละเมิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ด้วยการละเมิดทางเพศผู้ที่มาปรึกษาด้วยเทคนิควิธีทางจิตวิทยา ทั้ง ๆ ที่วิชาชีพนี้ควรทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คน 

นอกจากนั้น ทางภาครัฐก็ควรสนับสนุนให้บริการทางสุขภาพจิตเข้าถึงได้สำหรับทุกคน เช่น การให้สิทธิ์ประกันสุขภาพหรือประกันสังคมครอบคลุมการพบนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ หรือการมีนักจิตวิทยาให้บริการฟรีในสถาบันการศึกษาหรือที่ทำงาน

“สุดท้ายคือ สังคมควรเลิกมองได้แล้วว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตคือโรคจิต คนที่ป่วยโควิดยังโพสต์ลงเฟซบุ๊กกันได้เลยว่าวันนี้เรา 2 ขีดนะ เพื่อน ๆ ก็จะแห่กันมาให้กำลังใจ ขอให้หายเร็ว ๆ ส่งข้าวส่งน้ำให้ แต่ทำไมเวลาที่สุขภาพจิตของเรา 2 ขีด เรากลับไม่กล้าบอกใคร” อาบันตั้งคำถามชวนคิด

วันที่บาดแผลได้รับการเยียวยา

ในช่วงเวลาแห่งความอ่อนไหว บางครั้งเราก็อาจรู้สึกมืดมนจนราวกับว่าบาดแผลนั้นคงไม่มีวันหาย

แต่เรื่องราวของอาบันคือตัวอย่างหนึ่งที่กำลังบอกผู้คนว่า การก้าวข้ามออกจากหลุมดำนั้นเป็นไปได้

“สิ่งที่เราได้จากการทำ Safe Zone Project โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือ พอเราได้ช่วยเยียวยาผู้อื่น มันกลับทำให้ตัวเราเองได้รับการเยียวยาไปด้วย ก่อนหน้านี้ แม้ว่าโดยรวมเราจะโอเค แต่ในใจลึก ๆ เรายังโทษตัวเองอยู่เลย แต่พอต้องมาคุยกับน้อง ๆ หลายคนก่อนส่งต่อให้นักจิตวิทยา ซึ่งบางคนอับอาย โทษตัวเอง ร้องไห้หนักมาก และกำลังคิดสั้น เรารับฟังและช่วยสะท้อนเหตุการณ์ให้เขาเห็นว่า ตอนนั้นเขาอายุน้อยมากนะ เขาไว้ใจคนผิดเพราะไม่เท่าทัน เขากำลังมีปัญหาชีวิตตอนที่คนนั้นยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เขาไม่ได้อยากให้ตัวเองโดนทำร้ายสักหน่อย เขาแค่ไม่รู้ว่าคนนั้นจะเจตนาล่วงละเมิดเขา หากรู้ ใครจะยอมเชื่อใจคนที่จะทำลายชีวิตเขาจนป่นปี้กันเล่า 

“เราบอกให้น้องพูดตามทางโทรศัพท์ว่า ‘หนูไม่ได้ทำอะไรผิด หนูไม่มีอะไรต้องอาย’ แล้วเราก็พูดพร้อมกัน ท่องซ้ำๆ ปลดปล่อยเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ จนน้องเขารู้สึกดีขึ้น แล้วแปลกมาก พอวางสาย เรากลับร้องไห้หนักมาก กลายเป็นว่าสิ่งที่เราบอกน้อง คือเราได้บอกตัวเองไปด้วย ใช่… อาบันไม่ได้ทำอะไรผิด อาบันไม่มีอะไรต้องอาย…” อาบันกล่าวด้วยเสียงปนสะอื้น 

“การออกมา Call Out คนที่คุกคามทางเพศ จริง ๆ เรากลัวมากนะ เราใช้ความกล้าทั้งหมดในการทำ แสดงจุดยืนว่าจะอยู่เคียงข้างเหยื่อ ที่ผ่านมาก็เคยไปเป็นพยานที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทั้งที่ต้องเปิดเผยเรื่องตัวเองด้วย แล้วความกล้าตรงนั้น นำมาสู่ความกล้าที่จะเล่าเรื่องตัวเอง ความกล้าที่จะบอกว่า เราก็เป็น Survivor จากการคุกคามทางเพศ จนทำให้เรามานั่งให้สัมภาษณ์อย่างวันนี้ได้ เพราะเราไม่อยากให้ใครต้องมาเจออะไรแบบนี้อีกแล้ว” 

ส่วนหลายคนที่สภาพจิตใจดีขึ้นจากการได้เข้าร่วมโครงการนี้ อาบันยกเครดิตให้นักจิตวิทยาและจิตแพทย์อาสาทั้งหมดที่สละเวลามาช่วย แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลย

“วันที่โพสต์ประกาศรับอาสาครั้งแรก เรากังวลมาก นอนไม่หลับเลย กลัวว่าจะไม่มีใครมาสมัคร แต่ปรากฏว่าตื่นมามีถึง 17 คน มีทั้งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญการปรับความคิดและพฤติกรรม คือหลากหลายสาขาวิชามาก แล้วแต่ละคนโปรไฟล์สูง ๆ ทั้งนั้น บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นจิตแพทย์ในโรงพยาบาล ทุกคนพร้อมเข้ามาช่วย บางคนเป็นแฟนรายการ WiTcast บางคนก็ไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แล้วทุกคนคือทุ่มเทเต็มที่มาก น้องบางคนที่สมัครรับบริการบอกว่า คุยได้หลัง 4 ทุ่มเท่านั้น เพราะต้องรอให้พ่อแม่นอนก่อนแล้วค่อยแอบออกมาคุย อาสานักจิตวิทยาของเราก็พร้อม นับถือมาก” 

นอกจากนั้น ยังมีแฟนรายการ WiTcast ที่ไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่พอรู้ว่าอาบันวางแผนจะทำพอดแคสต์ต่อในประเด็นนี้ก็สนับสนุนโดยซื้อไมโครโฟนดี ๆ ให้ใช้จัดรายการ 

“เราได้เห็นเลยว่า ถึงแม้โลกนี้จะมีคนใจร้ายอยู่ แต่คนดี ๆ ก็มีอยู่จริงเช่นกัน สำหรับใครที่เคยผ่านเรื่องนี้มา อาบันก็อยากบอกว่า ไม่เป็นไรนะ วันนี้คุณเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่ความผิดคุณ ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองและโลกนี้ว่า เราทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้แน่นอน และคุณคือคนที่มีพลังชีวิตในการเผชิญหน้ากับอะไรก็ตาม รวมถึงเรื่องในใจที่คุณคิดว่าบอกใครไม่ได้ วันนี้คุณอ่อนแอได้ เข้มแข็งได้ กลาง ๆ ก็ได้ ไม่เป็นไรเลย เรื่องมันเกิดไปแล้ว อยู่ในอดีต ตอนนี้คือลมหายใจใหม่ที่คุณจะเลือกใช้ได้นะ โลกนี้อาจยังมีอะไรดี ๆ ที่คุณอยากลองทำอีกเยอะเลย 

“ส่วนใครที่ยังไม่เคยเจอเรื่องเหล่านี้ ก็อยากให้รู้ไว้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่จะขอบคุณคุณอย่างมาก ขอแค่คุณบอกว่าคุณพร้อมอยู่ข้างเขา หรืออย่างน้อยก็เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมในการสอบถามพูดคุย อาบันว่าไม่มีชุดคำตอบสำเร็จรูปหรอกว่าต้องทำตัวหรือใช้คำพูดแบบไหนถึงจะดีที่สุด อาบันอยากให้คุณลองเปิดใจดูด้วยว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงอายุน้อยที่โดนกระทำนะ ผู้สูงอายุก็โดนได้ ผู้ชายก็โดนได้ เพศต่าง ๆ โดนได้หมด ยิ่งกลุ่มเปราะบางที่ทุพพลภาพหรือโดนตัดขาดจากความช่วยเหลือ โดนจารีตประเพณีบังคับให้ยอมรับการข่มเหงนี่ยิ่งหนัก เพราะฉะนั้น การสนับสนุนกฎหมาย นโยบาย จรรยาบรรณ วัฒนธรรมสังคมใหม่ การให้ความรู้ การแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม โดยที่ไม่ไปสุดอีกขั้วด้วยการใส่ความคนอื่น น่าจะทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เราทุกคนล้วนจะได้ประโยชน์จากการสร้างสังคมแบบนี้ สังคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย”

ส่วนในกรณีของผู้ที่เคยเป็นฝ่ายกระทำผู้อื่นมาก่อน อาบันก็บอกว่า หากคุณสำนึกผิดอย่างจริงใจแล้ว ก็อยากให้ให้อภัยตนเองและไม่ทำแบบนี้กับใครอีก 

“คุณมีโอกาสเลือกเส้นทางใหม่ที่จะไม่ทำให้คุณต้องปวดหัวหรือเสียใจกับการกระทำที่คิดสั้นอีก คุณอาจหาทางขอโทษและเยียวยาเหยื่อและคนรอบข้างเขาที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการกระทำของคุณ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เหยื่อบางคนอาจไม่อยากเห็นหน้าคุณอีก สังคมกลุ่มหนึ่งอาจเลือกไม่ยอมรับคุณไปตลอดชีวิต คุณก็ต้องยอมรับเพราะมันเป็นสิทธิ์ของเขา แต่คุณเริ่มใหม่ได้เสมอ และเราเชื่อว่าจะมีสังคมที่พร้อมให้โอกาสคนที่จริงใจในการแก้ไขพฤติกรรมตัวเอง” 

สำหรับก้าวต่อไปของ Safe Zone อาบันบอกว่า จะเปิดรับการปรึกษารอบที่ 3 ในอีกไม่นานนี้ และหลังจากนั้นก็จะมีพอดแคสต์สัมภาษณ์จิตแพทย์และนักจิตวิทยาอีกราว ๆ 10 ตอน รวมทั้งกำลังวางแผนอยากหาอาสาสมัครตัดต่อวิดีโอ ตัดต่อเรื่องราวจากพอดแคสต์ให้เป็นคลิปความรู้สั้นๆ ลงใน TikTok เพื่อให้เข้าถึงวัยรุ่นมากขึ้น หรือสรุปใจความสั้น ๆ โพสต์ลง Facebook ซึ่งเธอก็บอกว่า หากใครที่สนใจอยากมาเป็นอาสาตรงนี้ ไม่ว่าจะอาสานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ อาสาทำสื่อ ตัดต่อวิดีโอ หรืออยากสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพื่อให้โครงการนี้ยั่งยืนขึ้น ก็ติดต่อเข้ามาได้ที่ [email protected]

“เพราะอาบันเชื่ออย่างสุดใจว่า ที่ที่ปลอดภัย เบาโล่ง รื่นรมย์ นั้นมีอยู่จริง ก็อยากจะชวนทุกคนมาอยู่ในพื้นที่นี้ร่วมกันค่ะ”

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง