ครบรอบ 53 ปีของโครงการหลวง สินค้าสดใหม่ปลอดภัยจากภูเขาที่ยกขบวนมาวางขายในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2532 ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่งานโครงการหลวงได้เข้ามาจัดในพื้นที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างดีเสมอมา
ปีนี้งานโครงการหลวง 53 จึงมาภายใต้แนวคิด The Infinite Blooms มอบความสดใสจากผลผลิตที่เติบโตออกดอกออกผลอย่างอุดมสมบูรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมออกแบบจากเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งมีไฮไลต์สนุก ๆ อย่างการเปิดตัวมะเขือเทศเชอร์รีเหลือง ดอกเอเดลไวส์จากเทือกเขาแอลป์ ต้นเฟิร์นกว่า 100 สายพันธุ์ และเวิร์กชอปงานทอผ้าใยกัญชงจากเจ้าของภูมิปัญญา



ก่อนก้าวเท้าออกไปช้อปปิ้ง เราคัดสินค้าห้ามพลาด ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังความสมบูรณ์แบบของผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง ไปจนถึงปลายทาง มาแบ่งปันให้ทุกคนเห็นคุณค่าความตั้งใจของเกษตรกรผ่านตัวอักษรด้านล่างนี้
กาแฟอะราบิกาดอยหลวงอินทนนท์
“กาแฟมีมากมาย แล้วทำไมต้องเป็นกาแฟจากโครงการหลวงอินทนนท์” ถ้าใครกำลังตั้งคำถามนี้อยู่ ต้องมาหาคำตอบด้วยตัวเองในงานโครงการหลวง 53

‘ปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 2,500 เมตร บนดอยสูงที่อากาศเย็นชื้นตลอดปี มีร่มเงาของต้นไม้ มีแดดแซมรำไร นับเป็นบ้านอันสมบูรณ์ของต้นกาแฟ’ นี่คือจุดแข็งของอะราบิกาบนดอยอินทนนท์
กาแฟที่ดีต้องเลี้ยงลูกบนต้นนาน ๆ เพราะสารอาหารจะได้แทรกซึมเข้าไปในเมล็ดกาแฟเยอะ ๆ เมื่อถึงฤดูสุกในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เมล็ดจะไล่สีจากเขียวเปลี่ยนเป็นแดง เรียกว่ากาแฟเชอร์รี เหล่าเกษตรกรก็จะเก็บเจ้าเมล็ดเชอร์รีไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกกลายเป็นกาแฟกะลา จากนั้นต้องนำไปล้างเมือกออกโดยการหมักน้ำนานถึง 48 ชั่วโมง เมื่อทำความสะอาดแล้วก็นำไปสีให้เกิดเป็นสารกาแฟ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการคั่วตามวิถีชาวปกาเกอะญอ คือคั่วหม้อหรือกระทะกลางกองฟืน มีทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม แต่ความยากปราบเซียนอยู่ที่จังหวะการคั่ว น้ำหนักมือต้องสม่ำเสมอ คนสารกาแฟอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะทำให้กาแฟสุกไม่เท่ากัน หรือบางส่วนก็ไหม้ไปเลย สุดท้ายก็นำมาบดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
กว่าจะออกมาเป็นผงกาแฟ 1 ถุง ต้องผ่านหลายขั้นหลายตอนหลายกระบวนการเหลือเกิน


ปลาเรนโบว์เทราต์ มากับปลาสเตอร์เจียน
เจ้าปลา 2 ชนิดนี้แวกว่ายมาไกลจากอเมริกา เยอรมนี ภูฏาน และรัสเซีย สู่สถานีวิจัยประมงที่สูงดอยอินทนนท์
ปลาเรนโบว์เทราต์ ชื่อนี้ได้มาเพราะเอกลักษณ์ของสีข้างลำตัวหลากสีเหมือนสายรุ้ง ในช่วงที่ปลาอยู่ในสภาวะสมบูรณ์เพศระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม เรนโบว์เทราต์มีต่อมความรู้สึกที่ไวต่อเรื่องอุณหภูมิน้ำกับปริมาณออกซิเจนเป็นอย่างมาก เติบโตได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ยิ่งอุณหภูมิน้ำต่ำลง ปลาก็จะกินอาหารได้มากขึ้น และน้ำที่ไหลต้องเป็นน้ำสะอาดเหมือนน้ำของลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม

ส่วนสเตอร์เจียนต้องใช้เวลาเลี้ยง 7 ปี ถึงจะให้ไข่ จะแยกออกว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมียตอนอายุ 3 ปี โดยต้องเข้าเครื่องอัลตราซาวนด์เท่านั้น แยกด้วยตาเปล่าไม่ได้ ปลาสเตอร์เจียนโตเต็มวัยได้ถึง 75 ปี ในช่วงอนุบาลเป็นช่วงที่ดูแลยากที่สุด เพราะเป็นช่วงปรับเปลี่ยนอาหาร ต้องมีคนสลับกันมาดูตลอด 24 ชั่วโมง
เห็นเลขอายุที่การันตีความแข็งแกร่งของสเตอร์เจียนแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะอึดถึกทนอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ สเตอร์เจียนชอบแหวกว่ายบริเวณน้ำไหล แต่ถ้าน้ำไหลแรงเกินไป มีลมแทรกเข้ามาในท่อทำให้ออกซิเจนเบาบาง ปลาทั้งบ่ออาจตายได้ในเวลาเพียง 60 นาที

เพราะเหตุนี้ จึงต้องมีการผลัดเวรคนมาดูแลบ่อตอนกลางคืน หากเกิดปัญหาต้องรีบขึ้นไปปิดวาล์วน้ำบนเขา และอีกสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ เกษตรกรจะต้องถ่ายน้ำออกจากบ่อทุกวัน และล้างบ่อวันเว้นวัน เพราะสเตอร์เจียนเป็นปลารักสะอาด บวกกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบกินอาหารก้อนจากใต้น้ำ การดูแลความสะอาดในบ่อจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

ทั้งไข่คาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียน และความตัวเล็กเนื้อแน่น มีไขมันดีเยอะของเรนโบว์เทราต์ เป็นแรงบันดาลใจให้เชฟรังสรรค์เมนูมากมายขึ้นมา มีขนมจีนน้ำยาปลาเทราต์สำหรับคนรักเส้น ข้าวซอยแห้งปลาเทราต์ที่นำเมนูประจำถิ่นอย่างข้าวซอยมาพลิกแพลงเป็นแบบแห้ง เพิ่มรสสัมผัสที่หลากหลายด้วยปลาเทราต์ทอดกรอบนอกนุ่มใน
เอเดลไวส์ ดอกไม้แห่งรักแท้

เจ้าดอกไม้จิ๋วสีขาว ๆ กลีบปุกปุยคล้ายปกคลุมด้วยหิมะนี้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชินีแห่งเทือกเขาแอลป์ เพราะเป็นดอกไม้เมืองหนาวจากสวิตเซอร์แลนด์ ดอกจะบานเพียงปีละ 3 ครั้งเท่านั้น และเมื่อเด็ดดอกออกจากลำต้น รูปลักษณ์ก็จะคงอยู่อย่างนั้นไม่เหี่ยวเฉา จึงสื่อความหมายว่าเป็นดอกไม้แห่งรักแท้
การออกปลูกคือต้องเกิดราก พอมีรากแสดงว่าเขาพร้อมที่จะออกสู่แปลงข้างนอก โดยกระบวนการเกิดรากมีอยู่ 2 วิธี คือ การเกิดรากในขวดแก้วและการเกิดรากในวัสดุปลูก ขั้นตอนการเกิดรากในขวดแก้วนั้นง่ายกว่ามาก แต่ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งเลือกใช้การเกิดรากในวัสดุปลูก เพราะโอกาสรอดของพืชมีความแน่นอนกว่า และเป็นผลดีในระยะยาวต่อการเติบโตของพืชในอนาคต
“เราทำทุกหนทาง ถึงแม้ว่ามันจะยุ่งยากกว่า แต่ขอให้มีต้นรอดไปจนถึงข้างนอก” นี่คือคำพูดที่หนักแน่นของนักวิจัย ผู้อยู่เบื้องหลังการเพาะพันธุ์ดอกเอเดลไวส์ที่งดงาม

เจ้าหน้าที่ต้องเดินสำรวจในห้องทดลองทุกวัน คอยสังเกตวัสดุปลูกไม่ให้แห้งหรือแฉะเกินไป ผู้ดูแลต้องมีความรู้ความชำนาญ และระวังเชื้อจุลินทรีย์ที่จะปนเปื้อนเข้ามา เพราะหากมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน พืชในห้องทดลองจะไม่รอดทั้งหมด โดยส่วนมากเชื้อจะติดมากับคน เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่กระบวนการตัดเนื้อเยื่อ ทุกคนต้องสวมถุงมือทุกครั้ง ชิ้นส่วนห้ามออกนอกกระดาษรองตัด อุปกรณ์ทั้งหมดผ่านการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งห้ามไปที่แปลงข้างนอกก่อนเข้าห้องทดลอง เพราะอาจมีเชื้อที่ส่งผลต่อพืชติดตัวมาได้
รากของเอเดลไวส์จะเกิดขึ้นและแข็งแรงหลังจากผ่านการบ่มเพาะเป็นเวลา 1 เดือน ดอกจะอุดมสมบูรณ์พร้อมสำหรับนำไปสกัดสารต้านอนุมูลอิสระ หนึ่งในคุณประโยชน์ที่ใส่ในเวชสำอางต่าง ๆ และที่นิยมอีกอย่างคือการสกัดกลิ่นไปใส่ในน้ำหอม โลชั่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม และเครื่องประทินผิว
เฟิร์นและสารพัดพันธุ์ไม้เมืองหนาว
เมื่อมีไม้ดอก ก็ต้องมีไม้ประดับ
‘เฟิร์น’ คือไม้ประจำถิ่นน้ำตกสิริภูมิ และเป็นต้นไม้ที่น่าจับตาสำหรับงานในครั้งนี้

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มีเฟิร์นทั้งหมดประมาณ 50 สกุล 100 กว่าสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่โดดเด่นสะดุดตาคือ เฟินกูดดอยแคระ ซึ่งมีที่นี่ที่เดียว เฟิร์นชอบอยู่พื้นที่ร่มรำไร ไม่ต้องการแดด เน้นความชื้นเยอะ ๆ กว่าแต่ละชนิดจะงอก ต้องใช้เวลาเพาะนาน 3 – 6 เดือน บางชนิดใช้เวลาเป็นปี และจะขายได้ต่อเมื่อมีขนาด 4 นิ้วขึ้นไป เพราะต้นเล็กจะมีโอกาสรอดน้อย เฟิร์นเป็นพืชที่โตช้ามาก ผู้ปลูกต้องอาศัยความใจเย็น เฝ้าดูพัฒนาการเจริญเติบโตของเขาทีละนิด
“เราเรียนมาด้านนี้โดยตรงและสนุกกับมัน เรามีความสุขที่ได้ทำ ก็จะทำไปเรื่อย ๆ” ปภาวี โอบอ้อม หนึ่งในเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรผู้ดูแลเฟิร์นบอกกับเรา

นอกจากเฟิร์น ยังมีพันธุ์ไม้เมืองหนาวอีกนานาชนิด มีไม้ฟอกอากาศแบบถุงและกระถาง ซึ่งมีความยากในการดูแลที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ ถ้าเป็นพืชอวบน้ำ ตระกูลเปปเปอร์ เกล็ดมรกต จะกำหนดไม่ได้ว่า 1 วันต้องรดน้ำเช้าเย็น 1 – 2 ครั้ง แต่ต้องดูที่วัสดุปลูกของไม้แต่ละชนิด ถ้าวัสดุปลูกเริ่มแห้งจึงให้น้ำทันที ถ้าปล่อยให้วัสดุปลูกแห้ง พืชจะเหี่ยวและเน่าในที่สุด ส่วนการดูแลในฤดูฝนก็ต้องเปลี่ยนจากการให้ปุ๋ยทางน้ำ เป็นการฉีดพ่นทางใบแล้วให้พืชสังเคราะห์แสงแทน เพราะหน้าฝนอากาศชื้น ถ้าพืชได้รับปุ๋ยเยอะเกินไปจะน็อกได้
สังเกตได้เลยว่าไม่มีสูตรการปลูกพืชที่ตายตัว แม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ปล่อยผ่านไม่ได้ เกษตรกรต้องใส่ใจสิ่งมีชีวิตทุกต้น เพื่อดอกใบที่สวยงามอุดมสมบูรณ์
ผองพืชจากที่ราบสูง
มะเขือเทศเชอร์รีเหลือง เปปิโน ผักเคล มะเดื่อฝรั่ง คือผลผลิตที่ปลูกขึ้นในระบบ Substrate หรือการปลูกพืชในวัสดุทดแทนดิน ซึ่งช่วยลดการสะสมโรคแมลง เป็นการป้องกันเชื้อและอุ้มน้ำได้ดี ปลูกได้ทุกหนทุกแห่ง แม้ในบริเวณที่ดินไม่ดีหรือพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และทรัพยากรในการเตรียมดิน ภายใต้การดูแลของ อรรนพ เปรมัษเฐียร หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่จะเปิดตัวในงานนี้เป็นที่แรก คือมะเขือเทศเชอร์รีเหลือง ผลเป็นสีส้ม ๆ เหลือง ๆ ตามชื่อ ไม่ใช่สีแดงสดที่พบได้ตามท้องตลาด จุดเด่นของพันธุ์เหลืองคือมีรสชาติเหลืองหวานและมีสีสันเน้นความสวยงาม สำหรับการปลูกต้องอาศัยการทะนุถนอมเป็นพิเศษ จะมีเจ้าหน้าที่ 1 คนเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด สังเกตความต้องการสารอาหารและน้ำของพืช ไม่ปล่อยให้ต้นแห้งใบเฉา





ผลไม้อีกหนึ่งอย่างที่อยากแนะนำคือ ฟิกหรือมะเดื่อฝรั่ง ลูกเด้ง เต่งตึง เนื้อแดงสดหวานฉ่ำ มีสรรพคุณที่มากกว่าความอร่อย เช่น รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยได้ เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าสารเคมีทั่วไป

สำหรับคนที่ชอบทานผัก เราอยากให้ทำความรู้จักกับผักเคล หน้าตาเป็นใบสีเขียวหยิก ๆ จริง ๆ แล้วเคลเป็นพืชตระกูลเดียวกับกะหล่ำ หลายคนอาจจะรู้จักกันอีกฉายาว่าเป็น ‘คะน้าใบหยิก’ ในความหยักของใบเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวิตามินซี วิตามินเค มีคลอโรฟิลล์ และโพแทสเซียมสูง เป็นผักที่มาแรงในหมู่คนรักสุขภาพที่อยากให้ทุกคนได้ลอง

เส้นใยกัญชง สิ่งเดียวที่ม้งมีติดตัว
“สิ่งเดียวที่ม้งมีติดตัวคือกัญชง” นี่คือคำบอกเล่าของประธานกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าจากเส้นใยกัญชง ประจำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง

เส้นใยกัญชงมีความสำคัญกับชาวม้งตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งเป็นเชือกมัดสะดือเด็ก ทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำเป็นกระสอบใส่ข้าวเปลือกข้าวโพดในสวนในไร่ ตลอดจนใช้ในพิธีอวมงคล ชาวบ้านจึงไม่อยากให้วัฒนธรรมเหล่านี้หายไป

ทุกวันนี้มีการสืบสานส่งต่อความรู้เรื่องหัตถกรรมจากเส้นใยกัญชงสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในหมู่บ้านแม่สาน้อย แต่ในครั้งนี้ภูมิปัญญาจะถูกบอกเล่ามาไกลถึงเมืองกรุง เพราะผ้าทอทั้งหลายจะมีจัดแสดงและจำหน่ายอย่างอิสระ ใครที่ไม่ได้สนใจแค่ตัวสินค้า แต่อยากเรียนรู้กระบวนการกำเนิดผ้า 1 ผืน พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะภายในงานจะมีเวิร์กชอปสอนตั้งแต่การเตรียมเส้นใยมากกว่า 20 ขั้นตอน ก่อนจะเข้าสู่โลกแห่งการทอใยกัญชง

‘เมล็ดกาแฟอะราบิกา เนื้อปลาเรนโบว์เทราต์ ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว ขบวนผักผลไม้บนที่ราบสูง และหัตถกรรมพื้นบ้านจากเส้นใยกัญชง’ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทหยาดเหงื่อของชาวบ้าน ลงแรงลงใจเพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ดีที่สุด ซึ่งคัดรวมมาไว้ในงานโครงการหลวง 53 รอแค่ทุกคนมาเที่ยวชมชิมช้อปด้วยตัวคุณเอง
สัมผัสความสดใหม่ของสินค้าทางการเกษตรเสมือนเก็บเกี่ยวจากดอยได้ง่าย ๆ ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่วันที่ 4 – 14 สิงหาคม 2565