ไปทะเลกัน!

เมื่อพูดถึงทะเล ปล่อยใจให้จินตนาการชั่วครู่ ภาพเท้าเราเหยียบย่ำทรายขาวละเอียด คลื่นซัดน้ำใสชวนสดชื่น บรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินน่ามอง ร้านอาหารทะเลจานโตที่ห้ามพลาด 

คุณนึกถึงที่ไหนเป็นที่แรก 

สำหรับเรา ‘หัวหิน’ ยังคงเป็นสถานที่ที่ช่วยชุบชูใจให้หายเหนื่อยในทุกปี ด้วยระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 2 – 3 ชั่วโมง ออกจากเมืองหลวงที่รีบร้อนและวุ่นวาย ไปพบหาดทรายขาวสุดลูกหูลูกตา บรรยากาศสงบ ผู้คนน่ารัก อาหารอร่อย แต่เหตุผลเพียงไม่กี่ข้อข้างต้นนี้ที่เราใช้มาตลอด กลับบอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจของหัวหินได้ไม่ดีพอ จนกระทั่งเรารู้จัก ‘Rough and Heritage’ 

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

หากมองจากด้านนอก ที่นี่เป็นร้านขายสินค้าตกแต่งบ้านดีไซน์อบอุ่นในพื้นที่ไม่ถึง 100 ตารางเมตร บนถนนนเรศดําริห์ ถนนเส้นแรกของหัวหิน แม้บรรยากาศในปัจจุบันจะทำให้นึกภาพอดีตไม่ออกเท่าไหร่ แต่โชคดีที่เรามีโอกาสพูดคุยกับ จิ๊บ-จิราภรณ์ ชื่นศิริกุล และ ปีบ-อาชวิน รัตนะ 

และนี่คือบทสนทนาเคล้าอดีตและข้าวของแอนทีกในพื้นที่วัฒนธรรมของหัวหิน

ลงหลัก 

“เดิมตรงนี้เป็นร้านขายยาไทยแผนโบราณของคุณปู่ ผมเป็นรุ่น 3 ถ้านับจริง ๆ บ้านนี้ก็อยู่มาเกือบร้อยปีแล้วครับ นับตั้งแต่ประมาณรัชกาลที่ 7” ปีบเริ่มเกริ่นบทสนทนาถึงที่ไปที่มาของพื้นที่แห่งนี้

จิ๊บหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชวนเราดู เป็นหนังสือเกี่ยวกับหมอยาในอดีต ก่อนแนะนำให้เรารู้จักกับ ‘หมอฉุย’ ผ่านภาพสีขาวดำในนั้น หมอฉุยเป็นหมอยาไทยแผนโบราณยุคแรกขงองหัวหิน ส่วน ‘บ้านหมอฉุย’ ก็เป็นภาพจำของคนในพื้นที่ เมื่อใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเดินเข้าออกให้หมอฉุยช่วยกวาดยาและจัดยาให้เป็นประจำ และใช่! บ้านหมอฉุยที่เล่าไปข้างต้น ก็คือสถานที่ที่เรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย
Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

จู่ ๆ ข้าวของเครื่องใช้ที่ประดับร้าน ช่วยสร้างอารมณ์สุดวินเทจและแสนอบอุ่น กลับแสดงตัวออกมาให้เห็นถนัดตาเพื่อตอกย้ำเรื่องราวของตนเอง เพียงแค่ได้ฟังจิ๊บและปีบเล่าเพียงไม่กี่ประโยค

“จุดเปลี่ยนเริ่มมาจากวันที่การขายยาแผนโบราณลดลง ร้านขายยาจัดยาหม้อ ยาผงไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะความนิยมและยุคสมัยเปลี่ยนไป” ปีบเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ปีบเล่าว่า ส่วนผสมของยาไทยแผนโบราณสมัยก่อน ผลิตจากวัตถุดิบที่คาดไม่ถึง ซึ่งได้รับการยอมรับในยุคนั้น อย่างกรามช้าง งาช้าง กระดูกสัตว์ จนถึงพืชป่าหลากชนิดที่ไม่ได้ปลูกกันแพร่หลาย

“เปลือกหอยในโหลนี้ คนคิดว่าเอามาใส่เพื่อประดับตกแต่ง แต่จริง ๆ คือส่วนผสมของยาในยุคก่อน” จิ๊บเล่า ก่อนปีปเสริมต่ออีกหน่อย “นอกจากยาไทยที่คุณปู่ทำ เมื่อ 50 ปีก่อนคุณป้าก็เป็นทันตแพทย์หญิงคนแรกของหัวหิน ได้ปริญญาด้านนี้ ซึ่งที่นี่เคยเป็นคลินิกทำฟันของคุณป้ามาก่อนด้วย” 

‘โหดมาก’ อันนี้เราคิดในใจ

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย
Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

“เรายังเก็บอุปกรณ์ทำฟันแบบโบราณไว้เป็นที่ระลึก ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ยังเก็บไว้อย่างดี เฟอร์นิเจอร์ในร้านแทบทั้งหมดไม่ได้ซื้อใหม่เลย เราพยายามเอาตู้ โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์ร้านขายยามาตกแต่งทั้งหมด เพราะเชื่อว่าของทุกอย่างคือสิ่งที่ใช้สื่อสารเรื่องราวในยุคนั้น

“อย่างตู้ยานี้เป็นพระเอกของการตกแต่งในร้านเลย อายุร้อยกว่าปีได้ คนคิดว่าเราซื้อของมาจัดเรียงเข้าไปเหรอ เปล่านะ ทุกอย่างที่อยู่ในตู้คือของจริงทั้งหมด ยาหอมที่อยู่ในขวดโหล เปลือกหอย เครื่องสาน ทุกอย่างคือของจริง บ้านหลังนี้คือของจริง เพียงแต่ว่ายุคสมัย เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง” 

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

จิ๊บเล่า ก่อนเปิดภาพม้านั่งไม้หน้าตาธรรมดา พร้อมเล่าความไม่ธรรมดาให้เราฟังว่า 

เป็นม้านั่งตัวเดิมที่สมัยเด็ก ๆ มีไว้นั่งรอคุณปู่กวาดยา เมื่อสมัยที่นี่ยังเป็นร้านยาบ้านหมอฉุย แต่ปัจจุบันกลายเป็นม้านั่งแสนสบาย ให้คนเข้ามาจิบกาแฟ ชมบรรยากาศสมัยเก่าก่อน

“หน้าตาแถบนี้เปลี่ยนไปเกือบหมด ที่นี่คือ Heritage ของย่านนี้ เราอยากทำให้มันกลับมาเหมือนเดิม เต็มไปด้วยความทรงจำวันเก่า อย่าลืมว่าเฟอร์นิเจอร์แทบทุกชิ้นอายุเป็นร้อยปีแล้ว 

“และตอนนี้มันยังอยู่ นี่คือใจความสำคัญของย่านแล้วนะ” เธอกล่าวตบท้าย

ปักฐาน

ย้อนกลับไปประมาณ 5 – 6 ปีก่อน ปีบตัดสินใจเริ่มชุบชีวิตบ้านหลังนี้ด้วยการเปิด ‘โอสถเพลส’ ขึ้นมา เป็นร้านกาแฟในชื่อร้านขายยา คอยเสิร์ฟกาแฟร้อนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาว่าติดใจกันมานักต่อนัก ก่อนจิ๊บจะตัดสินใจวางแผนชีวิตคู่มาลงหลักปักฐานที่หัวหิน และเปิด Rough and Heritage 

“เราจบสถาปัตย์ ทำงานด้านอาคารมาสักพักหนึ่ง ก็ลองเปลี่ยนสายมาทำงานด้าน Material จากนั้นมีโอกาสทำงานกับร้าน Workmanship General Store อยู่ 9 ปี เป็นร้านนำเข้างาน Antique จากนิวยอร์ก อเมริกา จากที่ชอบงานดีไซน์อยู่แล้ว ความรู้ด้านเฟอร์นิเจอร์เลยหลากหลายขึ้น 

“นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกชอบงานแบบนี้ พอกำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่ จะออกจากกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตที่หัวหิน เพราะแฟนเป็นคนที่นี่ เลยเอาความชอบ ความถนัด มาทำด้วยกันซะเลย” เธอเล่าพื้นเพ

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

พื้นที่แห่งนี้จึงเปลี่ยนผ่านจากร้านขายยาไทยแผนโบราณ คลินิกหมอฟันของคุณป้า สู่ Rough and Heritage ครึ่งหนึ่งเป็นร้านขายของตกแต่งบ้านขนาดกะทัดรัด อีกครึ่งเป็นร้านกาแฟของปีบ ด้วยการจัดสรรปันส่วนพื้นที่ที่มีอยู่ให้ลงตัว ใช้คอนเซ็ปต์และอุปกรณ์ตกแต่งที่ตกทอดมาจากคุณปู่เหมือนกัน

“มันเป็นความภาคภูมิใจนะ เฟอร์นิเจอร์พวกนี้เล่าเรื่องราวได้ดี บ่งบอกอาชีพที่นับหนึ่งของบ้านหลังนี้ ยิ่งถ้าอ่านประวัติของคุณปู่ บ้านนี้ยิ่งเหมือนศูนย์รวมของคนหัวหิน เป็นหัวใจหลัก เป็น Heritage ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังของย่าน แถมยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยลูกหลานคนหัวหินเอง”

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

Rough and Heritage จัดจำหน่ายสินค้าที่จิ๊บคัดสรรด้วยตนเอง จากความชอบและความชำนาญด้านสินค้าแอนทีกร่วมสิบปี หากใครชอบเฟอร์นิเจอร์ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวแบบนี้ เราอยากแนะนำว่าให้ลองใช้เวลาสักนิด ขับรถไปหัวหินแล้วชวนเธอคุยดู หรือลองถามประวัติชิ้นนู้นชิ้นนี้ดูสักหน่อย รับรองว่าสนุกแน่นอน ยิ่งถ้านับสีหน้าและแววตาที่จิ๊บส่งมาตอนพูดด้วยยิ่งแล้วใหญ่ ขนาดเราที่ฟังเธอพูดอยู่ตอนนี้ แม้หูจะฟัง แต่มือก็แอบจดชื่อดีไซเนอร์ฝีมือดีที่เธอเล่าไว้นับสิบคน ก่อนจะยอมรับในใจว่า 

‘เอาล่ะ เราโดนตกแล้ว ชิ้นนี้มันต้องมีแล้วไหม’ 

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

จิ๊บเล่าต่ออย่างออกรส “ด้วยความที่เราอยู่ในงานแบบนี้มานาน เวลาเราเลือกของแต่ละชิ้นมันคือการใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาสิบปี ดังนั้น เวลาเลือกอะไรเข้ามา ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่ชอบเป็นหลัก และยังเห็นไม่เยอะในประเทศไทย เราว่ามันคือโอกาสที่จะทำให้คนไทยได้เห็นงานแบบนี้ ซึ่งมันสนุกมากเลยนะ อย่างโคมไฟ Le Klint เป็นงานพับด้วยมือ ยิ่งถ้าได้ไปดูวิดีโอที่เขาทำ เราจะยิ่งดีใจที่มีสิ่งนี้อยู่ในบ้าน ยิ่งถ้าบ้านมืดแล้วเปิดไฟ แสงที่กระจายออกมาจะสวยมาก เรารู้ว่าเราทำบ้านที่มีโคมไฟทุกดวงที่ชอบไม่ได้ แต่แค่ได้มาแล้วขายไป เราก็มีความสุขแล้ว เป็นความชอบล้วน ๆ” เธอยอมรับด้วยน้ำเสียงสุดปลื้มปริ่ม

“เราเองชอบงานวัฒนธรรม ชอบงานแอนทีก สินค้าที่ขาดไม่ได้คืองานแอนทีกอย่างแน่นอน และเมื่อเราอยู่ในวัยที่สะสมความรู้มาเยอะ เราก็อยากปล่อยของตัวเองเหมือนกัน น่าจะสนุกดี“

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

สินค้าของ Rough and Heritage จึงไม่ได้มีเพียงงานของศิลปินยุคก่อนที่จิ๊บตั้งใจเลือกมาเท่านั้น แต่ยังมีตะกร้าดีไซน์น่ารักที่จิ๊บตั้งใจออกแบบขึ้นมาเองอีกด้วย

แล้วทำไมต้องเป็นตะกร้า – เราสงสัย

 “ถ้าเป็นบ้านฝรั่งจะมีตะกร้าอยู่ตลอด เอาไว้ใส่นู้นใส่นี่ ถ้าเป็น Farm House ก็เอาไปใส่ฟืน อีกอย่างงานหัตถกรรมของคนไทยดีมาก มีคุณค่ามาก เราดูมาเยอะ แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างดั้งเดิม คนเจเนอเรชันเราไม่รู้จะเอาไปใช้ยังไง เลยเป็นจุดที่เราอยากทำให้มันสนุกขึ้น อยากให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้”

เธอเล่าว่าแม้ฟังก์ชันตะกร้ามีเพื่อใส่ของ แต่ถ้าลองหยอดงานดีไซน์เข้าไปสักหน่อย เมื่อนำไปประดับให้ดี ของชิ้นนี้อาจกลายเป็นงานศิลปะชิ้นโปรด ชวนให้หลงรักบ้านของตัวเองเพิ่มขึ้นได้

สานต่อ

“ไม่มีคำว่าง่ายเลย” 

นี่คือประโยคแรกที่จิ๊บพูด เมื่อเราถามถึงความรู้สึกหลังได้สร้างผลิตภัณฑ์ออกมา

“ปัญหาแรกคือเราไม่มีคนทำให้ ช่างส่วนใหญ่เขาอยากทำแพตเทิร์นเดิม เลยทำให้เราต้องทำงานหนักมากในการหาช่างฝีมือไปเรื่อย ๆ ว่าใครคือคนที่จะแมตช์กับเรา คนที่ยอมเปิดใจในการทำงานกับเรา หายากมาก มีน้อยมาก บางครั้งก็ทำทิ้ง ทำใหม่หลายครั้ง กว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เราต้องรู้ว่าความชอบของลูกค้าคืออะไรถึงจะไปต่อได้ จนสุดท้ายใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเจอคนที่ยอมทำให้”

จิ๊บเล่าถึง ‘พันเกลียว’ ตะกร้าผักตบชวาใบเอกของร้าน น้อยคนนักจะรู้ว่าทำจากวัสดุอะไร เหมือนเป็นเชือกแต่ก็ไม่ใช่ เธอเล่าว่าพันเกลียวเป็นงานซับซ้อน ผ่านการคิดและทดลองทำมานับไม่ถ้วน ทั้งยังต้องพึ่งพาเทคนิคชำนาญจากช่างฝีมือดี สิ่งที่ทำให้เราตาโตเมื่อได้รู้ความลับของเจ้าใบนี้ไม่ใช่เพียงเพราะทำมาจากผักตบชวา แต่มันคือผักตบชวาขนาด 200 เมตร ที่พันกันจนกลายเป็นตะกร้าใบนี้ต่างหาก 

Rough and Heritage จากร้านขายยาไทยโบราณบ้านหมอฉุย หัวหิน สู่ร้านแอนทีกและตะกร้าฝีมือคนไทย

กรรมวิธีคือนำผักตบชวามาพันจนเป็นเกลียว จากนั้นนำมาสานกัน แล้วนำมาพันเกลียวอีกครั้ง อดีตนักเรียนสถาปัตย์เล่าว่าเทคนิคที่ซ่อนอยู่ในตะกร้าแต่ละใบ เหมือนการออกแบบอาคารที่อยู่ในรูปแบบของตะกร้า ใช้ตรรกะเดียวกันเพียงแต่ลดขนาดลงมา พันเกลียวจึงมีลักษณะพิเศษ เหนียวแน่น แข็งแรง

“เราอยากให้เขารู้ว่า เฮ้ย คนไทยเก่งนะ ทักษะช่างไทยไม่ด้อยไปกว่าใคร”

เดินชมของแต่งบ้านและเรื่องราวของ Rough and Heritage ร้านที่ตั้งใจอยู่เพื่อเล่าเรื่องหัวหิน และบอกว่าช่างไทยเก่งไม่แพ้ใคร

ความยากลำดับแรกผ่านไป ความยากลำดับที่สองก็เริ่มขึ้น เมื่อจิ๊บอยากลองปรับเปลี่ยนวัสดุ

“เราว่าช่างทำไม้ไผ่ในประเทศไทยมีน้อย เขาบอกว่า เพราะไม้ไผ่ของไทยกับญี่ปุ่นต่างกัน ความดัดงอ ความเหนียวต่างกัน ไม้ไผ่เลยกลายเป็นวัสดุที่ทำยาก ดัดไม่ได้ ต้องใช้เทคนิคเยอะ เวลาทำงานก็เจ็บมือ เพราะแข็ง อีกปัญหาที่เจอ คือ ตัววัสดุเองค่อนข้างมีปัญหา ทั้งความชื้น มอด แต่สุดท้ายเราก็มาเจอคนหนึ่งที่ยอมทำให้เรา จนออกมาเป็นชิ้นงานที่เราแฮปปี้ แต่ก็ยังต้องศึกษาต่อไปนะ” เธอกล่าวตบท้าย

เดินชมของแต่งบ้านและเรื่องราวของ Rough and Heritage ร้านที่ตั้งใจอยู่เพื่อเล่าเรื่องหัวหิน และบอกว่าช่างไทยเก่งไม่แพ้ใคร

ความยากของไม้ไผ่ยังคงไม่หมดแค่นี้!

จิ๊บเล่าว่าปัญหาของวัสดุยังขึ้นอยู่กับผลกระทบด้านสภาพอากาศนับสิบ ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ภัยน้ำท่วมที่เข้ามา ทุกอย่างส่งผลกระทบโดยตรงถึงวัสดุทั้งสิ้น แล้วทำไมเธอถึงไม่คิดยอมแพ้เลย 

“มันเป็นสิ่งที่ยาก แต่เรามีความสุขมากจริง ๆ เวลาที่มีคนเดินเข้ามาแล้วเขาไม่คิดว่านี่เป็นงานของคนไทย เขาตื่นเต้นกับมัน และอีกอย่างคนชอบคิดว่าของแบบนี้มีแต่ชาวต่างชาติที่ชอบ เปล่าเลย 90% ของคนซื้อเป็นคนไทย เราคิดว่าถ้าผ่านจุดที่ทำให้คนไทยซื้อได้ เราไปต่อได้ ไม่ว่ามันจะไปอยู่ที่ไหน 

“เราเชื่อว่าถ้าสินค้าดี และมันน่าสนใจ ยังไงก็มีคนเห็น อีกอย่างเรารู้สึกว่าทุกเรื่องมันต้องสู้ อย่างงานแอนทีกแต่ละชิ้นที่เราเลือกมาก็ต้องใช้เวลา ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ แม้กระทั่งบ้านหลังนี้ก็ด้วย คำว่า Heritage มันยาวนานเนอะ ต้องใช้กาลเวลาพิสูจน์ว่าเราคือตัวจริง เราว่าอันนี้ก็เช่นกัน”

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ยังคงหยิบยกเทคนิควิธีการอย่างเคยมาปรับใช้กับการออกแบบเสมอ 

ด้วยแนวคิดที่ว่า ปูนต้องเป็นแค่เสาสี่เหลี่ยมเหรอ ไม่ใช่สิ!

เธอพยายามเอาวัสดุที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในตลาดมาศึกษาเพิ่มเติม และ Deconstruct ใหม่ วัสดุแต่ละชนิดหรือแม้แต่ชนิดเดียวกันที่ปลูกขึ้นมาจากคนละภาคก็ต่างกันแล้ว จึงต้องค้นคว้าว่าวัสดุแต่ละอย่างว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน เพราะเธอเชื่อมาตลอดว่าของเราดี และทักษะช่างเราก็ดี!

“อย่างงานไม้ไผ่จากภาคกลางและภาคตะวันออก ช่างสองคนนี้ก็ทำงานไม่เหมือนกันนะ ภาคกลางเขาใช้ไม้ไผ่ตัวอ้วนที่หนาขึ้นมาหน่อย เลยออกแบบให้เป็นตะกร้าชิ้นใหญ่สำหรับใส่ของหนัก ไปตลาดซื้ออะไรมาก็หย่อนลงไปได้เลยไม่ต้องห่วง ส่วนภาคตะวันออกเป็นช่างจากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ช่างคนนี้ใช้ผิวไม้ไผ่มาทำงาน ทำให้ตะกร้าจากช่างคนนี้ออกมาเบามาก เหมาะกับการถือเล่น”

เดินชมของแต่งบ้านและเรื่องราวของ Rough and Heritage ร้านที่ตั้งใจอยู่เพื่อเล่าเรื่องหัวหิน และบอกว่าช่างไทยเก่งไม่แพ้ใคร

จิ๊บเล่าสถานการณ์น่ารักให้เราฟังว่า 

“เคยมีผู้ชายคนหนึ่งมาซื้อตะกร้าผักตบชวาในร้าน เป็นแบบใส่ของไว้หลังรถได้ พอคุณแม่เห็น ถามว่าซื้อจากไหน จะเอาไปใส่ปิ่นโตไปไหว้พระ เขาก็ต้องกลับมาซื้ออีก พอคุณแม่เอาไปใช้ พี่สาวเห็น พี่สาวก็อยากได้อีก เราว่ามันกลายเป็นสิ่งที่คนทุกเจเนอเรชันใช้ได้ ไม่มีการแบ่งแยกเพศหรือวัย 

“การที่คน 3 เจเนอเรชันเดินเข้ามาในร้าน แล้วเขาได้ตะกร้ากลับไปทุกคน สำหรับเรา แค่นี้มันสำเร็จมากแล้ว เราอยากให้ทุกคนใช้งานได้ และภูมิใจกับงานของคนไทยด้วยกัน เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว เราเคยตีค่าว่าของแบบนี้ต้องราคาเท่านี้ แต่วันหนึ่งเมื่อเกิดการพัฒนาสินค้า แล้วคนยอมรับราคาของมัน ไม่ง่ายเลย แต่พี่คิดว่าช่างแต่ละคนเขาสมควรที่จะได้รับ ถ้าถามเรา เราก็ทำแบบเขาไม่ได้ 

“คนแบบนี้คือคนที่เราควรจะรักษาไว้” เธอย้ำหัวใจสำคัญ

เดินชมของแต่งบ้านและเรื่องราวของ Rough and Heritage ร้านที่ตั้งใจอยู่เพื่อเล่าเรื่องหัวหิน และบอกว่าช่างไทยเก่งไม่แพ้ใคร

นอกจากตะกร้าดีไซน์น่ารักแล้ว Rough and Heritage ยังมีเทียนหอมขายด้วย จิ๊บเล่าให้ฟังว่าที่ร้านคิดค้นและเบลนด์กลิ่นกันเอง จิ๊บอยากให้กลิ่นของเทียนหอมสัมพันธ์กับร้าน ด้วยความที่ภายในร้านบรรจุงานไม้ไว้เยอะ ทั้งตะกร้าและเฟอร์นิเจอร์ จึงออกมาเป็นเทียนหอมกลิ่น Bamboo Tabacco Hemp กลิ่นหอมนุ่มนวล ละมุน ชวนให้อยากพักผ่อน และตรงกันข้ามก็อยากได้กลิ่นสดชื่น ตัดกับบรรยากาศอบอุ่นภายในร้าน จึงออกมาเป็น Lilly of Valley Neroli Grapefruit กลิ่นโทนดอกไม้ สดชื่น

เธอว่าไม่ใช่เพียงเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยให้ห้องมีบรรยากาศที่ดี แต่กลิ่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ 

เพราะกลิ่นจะพลิกให้วันแย่ ๆ ของเราให้กลายเป็นวันที่ดีขึ้นได้ (เมื่อเจอกลิ่นที่ถูกใจนะ)

“ถ้าในแง่สถาปัตยกรรม เราแค่อยากให้คนที่มาได้ซึบซับวัฒนธรรม เหมือนกับเราส่งต่ออารยธรรมบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคหนึ่ง มันเหลืออยู่ไม่กี่หลังแล้วที่ยังอยู่และเปิดให้คนเข้ามาดูได้

“ส่วนแง่สินค้า มันคือการรวบรวมผลงานของคนไทยจำนวนหนึ่งไว้ในร้าน อยากให้คนมาเห็นผลงานคนไทย อยากบอกต่อ อยากให้เขาสัมผัส และอยากให้ภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นปู่อยู่ต่อไป”

เดินชมของแต่งบ้านและเรื่องราวของ Rough and Heritage ร้านที่ตั้งใจอยู่เพื่อเล่าเรื่องหัวหิน และบอกว่าช่างไทยเก่งไม่แพ้ใคร

Rough and Heritage

ที่ตั้ง : 162 ถนนนเรศดำริห์ ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (แผนที่

เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. (ปิดวันจันทร์) 

โทรศัพท์ : 09 4649 2962

Facebook : Rough and Heritage

 

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

เปมิกา เลาหสินณรงค์

Full time เภสัชกร Part time ถ่ายภาพ ชอบหาคาเฟ่สงบจิบกาแฟ และทาสแมว