ฟอนต์สำคัญยังไง

ในโลกที่การสื่อสารด้วยตัวอักษรเกิดขึ้นตลอดเวลา ชีวิตของคนเราต้องพบกับตัวอักษรทั้งบนหน้าจอ หน้ากระดาษ รวมถึงในสภาพแวดล้อม ตัวอักษรเหล่านั้นต้องทำงานได้ดีทั้งในเชิงประโยชน์ใช้สอย คือมองแล้วอ่านออกทันทีว่าเขียนว่าอะไร และยังต้องทำงานในการส่งต่อน้ำเสียงและความรู้สึกของข้อความได้อย่างถูกต้องด้วย เช่น ตัวอักษรพาดหัวของหนังสือพิมพ์ต้องทำให้เรารู้สึกว่ากำลังพูดเสียงดัง หนักแน่น และน่าเชื่อถือ ส่วนตัวอักษรที่ใช้ทำโลโก้ของน้ำยาปรับผ้านุ่ม ก็ต้องทำให้เรารู้สึกนุ่มสบายไปด้วย คำว่า ‘แอร์’ บนป้ายหน้าอู่ซ่อมรถยนต์จึงมักเขียนด้วยตัวอักษรหน้าตาเหมือนก้อนน้ำแข็ง และป้ายประกาศขายบ้านจึงไม่ควรใช้ตัวอักษรสีแดง ย้วย ๆ ที่เหมือนมีเลือดหยด

การออกแบบตัวอักษรยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบันที่แบรนด์ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านประสบการณ์ที่มากกว่าสื่อโฆษณา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บางครั้งคุณอาจจำได้ว่าข่าวที่คุณกำลังอ่านอยู่เป็นของสำนักไหน แอปฯ บนหน้าจอมือถือที่ใช้อยู่เป็นของแบรนด์อะไร โดยไม่เห็นโลโก้และสี เพียงเพราะคุณจำฟอนต์นี้ได้

เมื่อฟอนต์เป็นเครื่องมือสำคัญขนาดนี้ในการออกแบบการสื่อสาร จึงไม่แปลกที่หลายแบรนด์และองค์กรธุรกิจลงทุนกับการมีฟอนต์ของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจเลือกฟอนต์ที่มีอยู่ในท้องตลาดมาใช้ให้ตรงกับบุคลิกของตน

เมื่อต้นเดือน ผมเจอกับบุคคลในตำนานในงานชุมนุมคนเนิร์ด ผมได้นั่งคุยกับ โรเจอร์ แบล็ค (Roger Black) ที่กรุงเทพฯ 

การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน
การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน

เขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ระดับตำนาน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านฟอนต์ที่ยืนหยัดในวงการมาตั้งแต่ยุคก่อนคอมพิวเตอร์ เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ของนิตยสารชื่อดังหลายหัวมาตั้งแต่ยุค 70 เช่น Rolling Stone, The New York Times, Newsweek, Esquire และอีกมากมาย เขาก่อตั้งบริษัทผลิตฟอนต์ (Type Foundry) ในชื่อ ‘Font Bureau’ ในช่วงปลายยุค 80 ก่อนจะมาร่วมออกแบบเว็บไซต์หลายตัวในยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต เช่น MSNBC.com, discovery.com เป็นต้น 

และล่าสุด บริษัทของเขา ‘Type Network’ เป็นเว็บไซต์ที่จัดจำหน่ายฟอนต์ให้บริษัทฟอนต์ชั้นนำหลายสิบแห่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขามาประเทศไทย เขาเป็นแขกประจำของงาน BITS (Brand Identity and Typography Symposium) และเอ่ยปากบนเวทีในปีนี้ว่านี่เป็น Conference โปรดของเขา เดิมทีชื่อเต็มของงานนี้คือ Bangkok International Typographic Symposium เป็นงานชุมนุมวิชาการด้านการออกแบบตัวอักษรหนึ่งเดียวใน Southeast Asia ที่จัดมาตั้งแต่ปี 2010 ริเริ่มโดย คัดสรร ดีมาก บริษัทออกแบบฟอนต์แนวหน้าของประเทศไทย 

งานนี้ถือเป็นการพาประเทศไทยไปตั้งหมุดบนเวทีระดับภูมิภาค เพราะก่อนหน้านี้อยากไปร่วมงาน Type Conference ที่มีนักออกแบบนานาชาติมารวมตัวกัน ต้องบินไปถึงยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ใกล้หน่อยก็ญี่ปุ่น หลังจากที่เริ่มต้นในสเกลเล็ก ๆ งานนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ตลอด 10 ปีแรก ขอบเขตของเนื้อหาก็ขยับขยายสู่การทำแบรนดิ้ง เทคโนโลยี และแง่มุมด้านธุรกิจของการออกแบบ ก่อนจะหยุดจัดไปหลายปีเพราะโควิด เพิ่งได้กลับมาจัดอีกรอบในปีนี้พร้อมชื่อใหม่ในตัวย่อเดิม

การเปลี่ยนชื่องานในครั้งนี้สอดคล้องกับหัวข้อที่โรเจอร์เคยพูดเมื่อหลายปีก่อนว่า 

“Font is branding.”

 เพราะทุกวันนี้เราปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านตัวอักษรมากขึ้น มากกว่าที่เราตระหนักรู้

การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน

ทำไมคุณยังอยู่ในแนวหน้าของธุรกิจการออกแบบด้วยตัวอักษรมาตลอด ทั้งที่ผ่านการเปลี่ยนเทคโนโลยีมาหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงเวลาเกือบ 50 ปีที่ทำงานมา

ผมไม่ได้พยายามที่จะเป็นอย่างนั้น (อยู่ในแนวหน้ามาตลอด) หรอกนะ แต่ดีไซเนอร์ต้องคอยสังเกตความเป็นไปของสิ่งรอบตัวอยู่แล้ว ผมไม่ใช่คนที่ทำนายอนาคตได้ด้วย ยิ่งโลกทุกวันนี้มันซับซ้อนขึ้น ก็ยิ่งยากที่จะสังเกตและทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ แต่สิ่งที่สนุกที่สุดของการเป็นนักออกแบบคือการได้เจอความเปลี่ยนแปลง ถ้าทั้งชีวิตจะทำอะไรซ้ำ ๆ ไปตลอดมันคงไม่ดี

โลกของตัวการใช้ตัวอักษรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะการโฆษณาทางสิ่งพิมพ์ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สไลด์ของผมวันนี้มีภาพหน้าหนังสือพิมพ์จากปี 1967 ตอนนั้นการเรียงพิมพ์ยังเป็น Phototypesetting แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุค Digital Media ซึ่งทุกอย่างมีการออกแบบมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่ามีงานออกแบบที่ดีขึ้นนะ พอคุณอายุมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งคุณจะมองเห็นแพตเทิร์น มองเห็นทิศทาง (ของการเปลี่ยนแปลง) แต่ทำนายอนาคตได้ไม่เป๊ะหรอก 

อย่างการที่ Google ยึดครองรายได้ของโฆษณาก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ผมเคยเจอพวกเขาตอนเริ่มต้นเลย โลโก้เดิมดูแย่มาก ๆ และตอนนั้นเขาไม่รู้จะหาเงินยังไงด้วยซ้ำ

(คำตอบของเขาทำให้เราไม่แปลกใจว่าทำไมเขายังดูกระฉับกระเฉงขนาดนี้ในอายุ 75 ปี – ผู้เขียน) 

ตอนนี้วิดีโอจะมาแทนตัวอักษรไหม

YouTube มีรายได้จากโฆษณาปีละหลายพันล้านเหรียญฯ คุณอาจโพสต์คลิปวิดีโอบน Instagram และ TikTok เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ Text เป็นเรื่องรอง แต่วิดีโอไม่มาแทนที่การอ่านหรอก รู้ไหมว่ามีคนจำนวนมากเรียนรู้ภาษาต่างประเทศจาก YouTube นะ พอคุณได้ฟังคนพูดพร้อมกับได้ดูภาพ คุณจะเรียนรู้ระบบของภาษาได้เร็วขึ้น แต่สุดท้ายคนจะกลับมาที่ตัวอักษร 

วันนี้มีนักออกแบบจากอินโดนีเซียที่พูดถึงการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นของเขา และมีบริษัทฟอนต์ TypeTogether กำลังทำโปรเจกต์ชื่อ Primarium รวบรวมการสอนการเขียนตัวอักษรในระดับประถมศึกษาของภาษาต่าง ๆ อยู่ สำหรับผม การอ่านและการเขียนเป็นเครื่องมือช่วยเรื่องความจำนะ เพราะมนุษย์ชอบสิ่งที่คุ้นเคย อย่างเวลาเข้าไปโรงแรมฮิป ๆ ยังมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพลงเก่า ๆ หนังเก่า ๆ คุณก็ยังหาดูได้ในเซอร์วิสต่าง ๆ ตัวอักษรก็เช่นกัน มันเป็นการสะสมรวบรวมวัฒนธรรม 

ผมคิดว่าการสื่อสารด้วยตัวอักษรจะไม่หายไปไหน จนกว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทำงานแบบ Telepathy ได้โดยสมบูรณ์

การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน
การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน

แล้วโลกของการออกแบบที่กำลังตื่นเต้นกับ AI ล่ะ

ผมคิดว่านักออกแบบควรเดินออกไปข้างนอก จะเป็นในเมืองหรือออกนอกเมือง ไปฟังเสียงนกบ้างก็ได้ เพื่อสะสมประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ผมดูพรีเซนต์ของ Adobe เสร็จแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือหาวิธีที่จะปิดกล่องเครื่องมือ AI (หัวเราะ)

บางอย่างก็ดีนะ เช่น การบูรณะภาพถ่ายเก่าแล้วลงสี แต่ถ้าคุณคิดว่าจะเริ่มคิดงานจากการบอกให้ AI ลองทำนู่นนี่ให้ อาจไม่ต่างอะไรจากการสเกตช์

บางคนรอบตัวผมกลัวว่าจะเป็นจุดจบของอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์เลยนะ! ถ้าวันหนึ่งสั่งให้ AI สร้างฟอนต์โดยบอกค่าต่าง ๆ ที่ต้องการไป เช่น ขอตัว Serif (มีเชิง) ที่ High Contrast (เส้นตั้งและเส้นนอนมีความหนาต่างกันชัดเจน) ดู Elegant แล้วขอ X Height ต่ำ ๆ (ความสูงของตัวพิมพ์เล็กที่อ้างอิงจากตัว X เมื่อเปรียบเทียบกับตัวพิมพ์ใหญ่) 

นั่นคืออะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างฟอนต์ Bodoni กับ Cheltenham (ตอบทันที) 

(ผมอึ้งกับความไวของเขา เพราะคำตอบนั้นแสดงให้เห็นว่าเขามีภาพจำของแบบตัวอักษรที่ชัดเจนมากอยู่ในหัว – ผู้เขียน) 

การต่อสู้กับการออกแบบยุค AI ในทัศนะของ โรเจอร์ แบล็ค อาร์ตไดฯ นิตยสาร Rolling Stone ในตำนาน

ถ้าไม่ใช่นักออกแบบรุ่นใหญ่หรือมีประสบการณ์เยอะเท่าคุณล่ะ

สิ่งที่คุณบอกสักวันมันก็จะมาถึง มันอาจออกมาแย่กว่างานที่ให้นักออกแบบที่ไม่มีประสบการณ์ทำก็ได้นะ เพราะผมว่างานที่ให้ AI ทำยังมีสัญญาณอะไรบางอย่างที่บอกให้เราจับได้ว่าเป็นงานโดย AI นะ อย่างครั้งหนึ่งที่ผมเจอบิลภาษีที่อยากจะเจรจากับสรรพากรให้ลดหย่อนให้หน่อย ผมเลยให้ ChatGPT ช่วยเขียนจดหมายให้ แต่อ่านแล้วยังมีอะไรแปลก ๆ อยู่

เหมือนเวลาคุณบอกได้ว่ารูปนี้มาจาก Adobe Stock หรือ Getty Images คือคุณจะพอรู้ว่าจะได้ผลลัพธ์อย่างไร จาก Library ไหน ผมคิดว่าบนโลกนี้มีงานออกแบบที่ไม่ดีอยู่เยอะมากแล้วนะ ไม่รู้ว่าภาพรวมจะแย่ลงหรือเปล่า 

อย่างถ้าเป็นดนตรี คุณจะรู้ทันทีเมื่อมี Virtuoso (อัจฉริยะทางดนตรี) โผล่มาคนหนึ่ง แล้วเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ไปเลย ทำให้คุณต้องหยุด ต้องฟัง แต่โลกของ Generative มันคือการเพิ่มเสียงเข้าไปใน Noise ที่อื้ออึงอยู่เป็นแบ็กกราวนด์อยู่แล้ว เราอาจจะเจอสิ่งที่น่าสนใจได้ แต่มันก็จะดูคล้าย ๆ กันไปหมด และมีรูปปลอมเยอะขึ้นมาก ๆ ด้วย

ถ้า Google Fonts เก็บข้อมูลจากการใช้งานของพวกเราได้ แล้ววันหนึ่งมันก็จะรู้ว่าฟอนต์ไหนเหมาะกับการใช้งานในบริบทไหน อยู่มาวันหนึ่งอาจมีฟอนต์ที่ออกแบบโดยไม่ต้องใช้ Type Designer และถ้าป๊อปมาก ๆ จนแย่งอาชีพเราล่ะ

เราไม่รู้หรอกว่าเรื่องแบบนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 

แต่นักออกแบบตัวอักษรหลายคนต่อต้าน Google Fonts นะ และจริง ๆ หลายฟอนต์ที่เคยใช้กันเยอะบนคอมพิวเตอร์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นเพราะว่า License อนุญาต ไม่ได้ถูกเลือกด้วยความตั้งใจขนาดนั้น 

บางทีเราเลือกฟอนต์นี้เพราะมันมากับพรินเตอร์ ในยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต Netscape ก็ไปทางหนึ่ง Microsoft ไปอีกทางหนึ่ง กว่าเราจะมี font-face (คำสั่งที่ทำให้ใช้ Custom Font บนเว็บไซต์ได้) เอาฟอนต์ไปไว้บน Server ได้ เราก็มีช่วงเวลาที่แย่มาก (ในเรื่อง Typography บนอินเทอร์เน็ต) อยู่ตั้งประมาณ 15 ปี 

คุณจะเอาแบบนั้นหรือ 

มันแย่กว่า Google Fonts ที่ออกจะน่าเบื่ออีกนะ เหมือนเป็นฟอนต์ที่ใช้งานได้เฉพาะบนโปสเตอร์ฮาลโลวีน แต่วันหนึ่งเราก็อาจมีคนอย่าง Matthew Carter (นักออกแบบตัวอักษรในระดับตำนานอีกท่านที่ปัจจุบันอายุ 86 ปี) หรือคนที่เป็น Matthew Carter ของเจนฯ ถัดไป ซึ่งออกแบบตัวอักษรให้น่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็อ่านง่าย แบบที่คุณเห็นแล้วรู้เลยว่า 

“นี่แหละที่ฉันอยากได้”

คุณเหมือนมีความหวังในมนุษยชาติมากเลยนะครับ และมั่นใจมากด้วยว่าธุรกิจของคุณมีทางไป

เรามีลูกค้าองค์กรที่รู้ชัดเจนเลยว่าต้องการฟอนต์ที่ดูดี ทำงานได้ในภาษาเหล่านี้ และทำงานร่วมกันทุกภาษาได้อย่างดี พวกเขากลับมาหาเราหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งเขาเป็นองค์กรที่จ่าย 2 – 3 แสนดอลลาร์ฯ เพื่อฟอนต์ได้ เพราะทำกำไรไตรมาสละเป็นหลักหมื่นล้าน เราอยู่บนจุดสูงสุดของตลาด ดังนั้นเราจะไม่เป็นไร ยังมีคนที่หลงใหลในงานสิ่งพิมพ์ พวก Limited Edition กลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นไรเช่นกัน

(สิ่งที่เขาพูดดูเหมือนกับที่เราได้ยินในวงสนทนาเกี่ยวกับอนาคตของคนทำงานสร้างสรรค์ในยุค AI ว่าคนที่เจ๋งจริงยังไงก็จะอยู่รอด เราเลยลองเปลี่ยนคำถามใหม่ – ผู้เขียน )

ในฐานะที่คุณเคยผ่านการเข้าสู่ยุคดิจิทัลมาแล้ว อะไรที่คุณคิดว่าจะเป็น The Next Big Thing

ผมคิดว่าตอนนี้จะยังไม่มี The Next Big Thing แต่จะเป็นการรวมกันของสิ่งต่าง ๆ ถ้าคุณดู Spotify Playlist เป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าสำหรับผู้ใช้งานที่เป็นองค์กรเล็ก ๆ จะมีระบบที่ช่วยจับคู่ฟอนต์ที่เหมาะให้คุณ คุณจะมีเครื่องมืออันชาญฉลาดที่ช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนฟอนต์ให้เหมาะกับแคมเปญโฆษณา หรือ Annual Report ของคุณ มีเทมเพลต AI ที่ปรับเปลี่ยนได้ระหว่างทางในทุกขั้นตอน มันเลือกสิ่งต่าง ๆ ให้คุณแล้วทำให้ดูว่าถ้าเป็นวิดีโอจะเป็นแบบนี้นะ 

แล้วคุณก็จะถามต่อว่า ถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่นล่ะ มันก็จะช่วยเลือกแมตช์ให้คุณ ดังนั้น ถ้าผมเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่อยากเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ก็จะไม่ต้องลงทุนมากมายอีกต่อไปในการรักษาอัตลักษณ์ให้ต่อเนื่อง

  แน่นอนว่าก็จะยังมีคนที่ต้องการความเป็นธรรมชาติของงานที่ดูมีความไม่สมบูรณ์แบบทำมืออยู่ เหมือนเวลาคุณทำงานออกแบบเสียงก็ต้องใส่ Noise ลงไป ไม่งั้นเสียงอาจฟังดูสังเคราะห์ไปหน่อย บางคนที่รักความแอนะล็อกมาก ๆ ก็ต่อต้าน Drum Machine แต่ถ้าไม่มี Drum Machine คุณก็ทำเพลง Dance Music ไม่ได้ คุณเอาวงดนตรีเล่นสด มาตีกลองก็จะไม่เป็น Dance Music ผมคิดว่า AI Type เป็นเรื่องของการผสมผสานแบบนี้แหละ

ถ้าอย่างนั้นอนาคตของ Typography ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัท Tech อย่างเดียว แต่ยังต้องมี Input จากคนที่เข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ ใช่ไหม

กลับมาดู Spotify Playlist มันคือการที่เรียนรู้ได้ว่าคนคนหนึ่งชอบอะไร แล้วนำเสนอสิ่งที่ใกล้เคียง วนเป็นลูปอยู่อย่างนั้น มันอาจจะถูกใจ แต่ไม่หลุดออกไปจากเดิมได้ การคิดแบบ Top-down ว่าระบบรู้ดีว่าอะไรเหมาะที่สุดสำหรับทุกคนไม่ได้สำเร็จไปทุกครั้ง 

Apple News เคยพยายามจะรวบรวมคอนเทนต์จากหลายแหล่งข่าวหรือสิ่งพิมพ์หลายฉบับมาเลย์เอาต์ใหม่ในแบบเดียวกันหมด แต่มันก็ล้มเหลวใช่ไหมล่ะ

ผมยังเชื่อว่าคุยกับเขาต่อได้อีกนาน แต่ทั้งเขาและผมต้องกลับไปนั่งฟังสปีกเกอร์คนอื่นต่อ จึงต้องจบบทสนทนาลงเท่าที่ได้ขอสล็อตเวลาของเขาไว้ 

ระหว่างที่เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ ผมรู้สึกตลกตัวเองมากที่เป็นคนอายุน้อยกว่าเขา แต่กลับไม่มีความมั่นใจในอนาคตและอาชีพของตัวเอง หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับคนที่ทำงานมาร่วม 50 ปีอย่างเขาเลย

ในสไลด์ของ Roger Black สำหรับงาน BITS ปีนี้ เขากลั่นกรองสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานมายาวนานกว่าอายุของใครหลาย ๆ คน มีเคล็ดลับและเทคนิคที่ตกตะกอนมาแชร์ให้เราได้รู้สึก “อ๋อ” อยู่หลายข้อ แต่ที่เซอร์ไพรส์เราที่สุดคือข้อที่ 11 ตอนที่เราคิดว่าน่าจะจบแค่ 10 ข้อ

เขาบอกว่า

11. Lunch is the most important meal of the day.

การจบการพรีเซนต์ของเขาก่อนพักเบรกมื้อเที่ยงทำให้ผมตั้งใจไปสร้างบทสนทนากับผู้มาร่วมงานคนอื่น ๆ มากเป็นพิเศษ และช่วงเวลาที่เขามานั่งคุยกับเราต่อหลังมื้อเที่ยง มันให้อะไรเรามากมายจริง ๆ บางทีคำตอบที่แท้จริงของคำถามข้อแรกที่เราคุยกับเขาอาจไม่ใช่การเข้าใจเทคโนโลยีหรือการโอบรับความเปลี่ยนแปลง 

แต่เป็นเพราะเขาเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากกว่าใครก็เป็นได้

Writer

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

นักออกแบบกราฟิกที่ชอบงานไทโป ปั่นจักรยาน แปะโพสต์-อิท และเดวิด โบวี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล