5 เมษายน พ.ศ. 2530

สืบ นาคะเสถียร พร้อมกับทีมอีก 6 คน เริ่มต้นเดินทางสู่สันเขาที่ล้อมรอบด้วยป่าทึบ อันเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าเขาสก

ผ่านไปหลายวัน ผู้นำทางพาเขามายืนอยู่ที่ปลักบนสันเขาแห่งหนึ่ง

“ปลักนี้แหละครับ” ลุงเชย ชี้ที่ปลัก 

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2508 ลุงเชยในวัย 62 ปี และเพื่อนชื่อ เดี้ยน พบและยิงกระซู่ตัวหนึ่งตายที่นี่ พวกเขายิงโดยไม่รู้หรอกว่าครั้งนั้นจะกลายเป็นข้อมูลว่านั่นคือกระซู่ตัวสุดท้ายที่มีแหล่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย

สืบพบเพียงปลักเก่า ๆ ที่มีร่องรอยหมูป่าและสมเสร็จมาใช้ บันทึกการสำรวจของสืบที่ทำไว้บอกให้เรารู้ว่าผืนป่าเขาสกนั้นเคยมีสภาพสมบูรณ์เช่นไร

ต้นฤดูฝน พ.ศ. 2540

ผมยืนมองปลักขนาดค่อนข้างใหญ่ สภาพเป็นหลุมลึกลงไปจากพื้นลาด ใบไม้ซ้อนทับหนาทึบ

จากน้ำตกโตนเตย ผมกับ สุทิน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยโตนเตยใช้เวลา 2 วันเดินมาถึงที่นี่ เพื่อตามหาสิ่งที่เคยมีและสาบสูญไปแล้ว

“ตอนนั้นลุงไม่รู้หรอกว่ามันจะหมด” ลุงเชย ชายชราซึ่งรับจ้างดูแลสนามหญ้าบริเวณเขื่อนรัชชประภาเล่าให้ฟังตอนผมแวะไปหาที่บ้าน

“ที่จริงน่ะ ตอนยิงได้แล้วก็ขลาดนะ โจรก็ขลาด นายก็ขลาด ต้องช่วยกันกับเจ้าเดี้ยนรีบเอาซากมาขายถูก ๆ ไม่กล้าเก็บซากไว้เพราะกลัวโดนจับ” แกพูดเสียงสั่น ๆ 

การยิงกระซู่ได้คล้ายเป็นข่าวใหญ่ คนจำนวนมากเชื่อถึงความมีคุณค่าของซากสัตว์โบราณเช่นนั้น หลายคนหมายปอง เพราะเชื่อว่าซากกระซู่จะทำเงินมากมาย

“ไม่รวยหรอก ตอนไปขายพวกร้านขายยาในเมืองมันกดราคา ไม่คุ้มค่าเหนื่อย” ลุงเชยเล่าต่อ

“ตอนพานายสืบไปนั่นก็เดินไม่ง่าย ทางรก หน้าฝนด้วย ยุงเยอะ ต้องนอนรวมกันในมุ้งเดียว” ลุงเชยทบทวนความหลัง

“เสียดายนายสืบนะ” หลังนิ่งไปสักครู่ ลุงเชยพูดเบา ๆ “แกจริงเกินไป” ลุงเชยมองออกไปนอกหน้าต่าง

ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับแก 

สำหรับบางคน หากเลือกที่จะ ‘จริงเกินไป’ ก็ดูเหมือนจะอยู่บนโลกใบนี้ไม่ง่ายดายนัก

ผมกับสุทินยึดเส้นทางตามที่ลุงเชยบอก 

“ลุงบอกทางให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เดินขึ้นควนไม่ไหวแล้ว ไปกันเองเถอะ”

ผมยกมือไหว้ลาลุงเชย ใบหน้ายับย่นมีรอยยิ้มจาง ๆ

วันเวลาพาทุกสิ่งไป ความกระฉับกระเฉง ความกล้าแกร่ง กลายเป็นความร่วงโรย

วันเวลาพาหลายชีวิตจากไป ดูเหมือนเวลาจะทำได้ทุกสิ่ง นอกจากจะพาชีวิตให้ย้อนกลับคืนมา

ฝนตกพรำ ๆ เป็นธรรมดาของสภาพป่าดิบชื้น สุทินเดินนำผมลัดเลาะไปตามด่านเล็ก ๆ ค่อนข้างชัน อากาศชื้น รอบตัวคือหนามหวายและความร่มครึ้ม

สุทินหยุดเมื่อได้ยินความเคลื่อนไหวข้างหน้า ความรกทึบที่มองข้างหน้าได้ไม่เกิน 5 เมตรทำให้ผมไม่เห็นว่าเป็นตัวอะไร

“นกหว้า” เขาพูดเบา ๆ 

หนามหวายเป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินไปข้างหน้า ลักษณะของหนามที่งองุ้มมาทางด้านหลังเป็นตะขอที่เกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าเกี่ยวเนื้อหรือเสื้อผ้าแล้ว การเอาแต่เคลื่อนไปข้างหน้านั่นจะทำให้เสื้อผ้าฉีกขาด บาดแผลเปิดกว้าง

ผมเลือกที่จะหยุดและถอยเพื่อปลดหนาม ถอยเพื่อเดินไปข้างหน้าใหม่ ซึ่งสำคัญกับการเดินทาง

อาจมีบางคนที่มุ่งมั่นจะเดินต่อโดยไม่ใส่ใจ แม้ว่าเส้นทางจะเต็มไปด้วยเลือดและน้ำตา

เสียงเคลื่อนไหวห่างออกไป นกหว้ารับรู้ถึงการมาของเรา สัญชาตญาณระวังไพรอันเป็นเลิศของมันรับรู้ถึงอันตรายแล้ว

นกหว้าบอกให้รู้ว่าเราใกล้ถึงสันเขา เพราะนี่เป็นช่วงเวลาที่นกหว้าตัวผู้จะใช้เวลาอยู่กับลานของมัน ลานที่มีไว้เพื่อแสดงความแข็งแรงสวยงามให้ตัวเมียเห็น ตัวผู้จะรักษาลานของมันให้สะอาดอยู่เสมอ ใบไม้ กิ่งไม้จะถูกเขี่ยออก

เราใช้เวลาอีกร่วม 1 ชั่วโมงจึงหาที่พัก อากาศเย็นแม้ว่าท้องฟ้ายังไม่มืด

ผมผูกเปล สุทินก่อไฟกองเล็ก เสื้อผ้าเปียกผึ่งข้างกองไฟ การรักษาตัวให้แห้งและอบอุ่นจำเป็นต่อการเดินในป่าดิบชื้น

แสงวับแวมจากกองไฟช่วยให้เราไม่อยู่ในความมืดมิดนัก

ฝนตกพรำ ๆ ตลอดคืน เช้ามืดใบไม้ฉ่ำน้ำร่วงหล่นพื้นดังเปาะแปะ นกชนหินส่งเสียงแว่ว ๆ สลับเสียงชะนี 2 ครอบครัวร้องโต้ตอบกัน

“ทากดีนักแหละวันนี้” สุทินพูดยิ้ม ๆ พร้อมกับยกเป้ขึ้นหลัง

ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าที่ยังอยู่ในสภาพพรรณไม้หนาทึบของผืนป่านี้ ไม่แปลกที่ใต้ใบไม้หนาทึบบนพื้นจะมีทากมากมาย

ป่าเขาสกมีเนื้อที่กว่า 461,712.5 ไร่ 80% ของพื้นที่คือทิวเขา อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ทิวเขาที่มีป่าไม้หนาแน่นเป็นสันกันระหว่างเขตตะวันตกกับตะวันออก ทำให้ป่าเขาสกได้รับอิทธิพลลมทะเลทั้ง 2 ด้าน คือด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีฝนตกตลอดปี

“ที่นี่มีแค่ 2 นะครับ คือฤดูฝนมากกับฤดูฝนน้อย” สุทินคุ้นเคยกับที่ทำงานเขาดี เช่นเดียวกับเหล่าสัตว์ป่า ชีวิตพวกมันมีเพียง 2 ฤดูกาล คือฤดูฝนและฤดูแล้ง

เวลาผ่านมาเนิ่นนาน เรื่องราวของกระซู่ตัวนั้นถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ช่วงเวลานั้น ไม่เฉพาะกระซู่ที่หายไป มีชีวิตอีกจำนวนมากต้องกระเสือกกระสนดิ้นรน เพราะบริเวณปากคลองแสง แหล่งอาศัยสำคัญของพวกมันเปลี่ยนเป็นแอ่งน้ำกว้างกว่า 165 ตารางกิโลเมตร เพราะผลจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภา ยอดเขาหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำ หลายยอดเป็นคล้ายเกาะกลางทะเลสาบที่มีทิวทัศน์สวยงาม

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 สืบ นาคะเสถียร ทำโครงการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าที่ตกค้างตามเกาะ เขาบันทึกการทำงานไว้บางส่วนว่า

ระดับน้ำเพิ่มมากขึ้น พื้นดินถูกตัดขาดเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย สัตว์ป่าอดอาหารและแก่งแย่งที่อยู่อันจำกัด บางตัวผอมโซ บางตัวเป็นซากห้อยตามกิ่งไม้

สืบและทีมช่วยเหลือสัตว์ป่าไว้ได้จำนวนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาทำงาน พวกเขาพบกับภาพอันน่าเวทนาของเหล่าสัตว์ป่าที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด สืบนำเรื่องราวของพวกมันมานำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณายุติโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน 

และได้ผล ความตายของเหล่าสัตว์ป่าแห่งผืนป่าเขาสกไม่สูญเปล่า

ปลักที่เคยมีกระซู่ซึ่งเคยมีชีวิตและจากไป เก่าและแห้งราวกับว่ามันไม่เคยมีชีวิตที่นี่ 

ภายใต้ซากใบไม้หนาทึบของใบไม้ที่ทับถม เคยมีรอยประทับอยู่ ทั้งรอยตีนกระซู่และรอยเท้า สืบ  นาคะเสถียร

สำหรับผม มันคือ ‘รอย’ แห่งความหวัง

สักวันเราจะอยู่ร่วมกันได้จริง สักวันทุกการกระทำของเราจะนึกถึงชีวิตซึ่งมีสิทธิ์อยู่บนโลกใบนี้ด้วยเสมอ

ฝนตกไม่หยุด ใต้ผ้ายางข้างกองไฟมีความอบอุ่น 

หลังจากตรากตรำได้พักเพียงชั่วครู่ก็มีความสุข

รายล้อมด้วยความมืดและป่าทึบ แมลงกรีดเสียงเซ็งแซ่

แม้ว่าการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้จะไม่ยืนยาวนัก แต่ก็มีบางคนทำให้ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้นยิ่งใหญ่ และน่าจดจำ

บนเปลไม่ไกลจากกองไฟ ผมพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการจะเดิน ‘ตามรอย’ ชีวิตที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้

เพื่อระลึกถึง สืบ นาคะเสถียร ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงจัดทำ ‘อนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า’ ประกอบด้วย

เรืออนุรักษ์ เรืออพยพสัตว์ป่าที่ สืบ นาคะเสถียร และทีมงานเคยใช้ในโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

นิทรรศการภาพถ่าย รวบรวมเรื่องราวและเหตุการณ์ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ทั้งผลงานของ สืบ นาคะเสถียร และสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จัดแสดงไว้ภายในอาคารอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า

วีดิทัศน์ สารคดีการทำงานโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

อ่านรายละเอียดโครงการได้ที่นี่

Writer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน

Photographer

เกศรินทร์ เจริญรักษ์

เกศรินทร์ เจริญรักษ์

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแมกไม้