3 พฤศจิกายน 2023
2 K

‘Refield Lab’ คือใคร

นอกจากความจริงที่ว่า สมาชิกในทีมทั้ง 3 คน หมี-นักรบ สายเทพ, ตอง-อัตนา วสุวัฒนะ และ ก๊อก-อรกมล นิละนนท์ เป็นเพื่อนชั้นปีเดียวกันที่ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ว่ากันตรง ๆ การจะอธิบายถึงบทบาทของพวกเขาทำให้คนอ่านเข้าใจภายในไม่กี่บรรทัดนั้นไม่ง่ายเลย แต่เราหวังว่าข้อมูลชุดนี้จะช่วยให้คุณพอนึกภาพออกได้

1. Refield Lab อยากเชื่อมโยงระหว่างดีไซเนอร์กับงานรีเสิร์ช ไม่ไปทางดีไซน์มากนัก และไม่ไปทางรีเสิร์ชมากนัก

2. Re หมายถึงทั้ง ‘Research’ , ‘Refresh’และ ‘Regenerate’ และ Field หมายถึงทั้ง ‘พื้นที่’ และ ‘สาขาวิชา’ ส่วน Lab หมายถึงการเป็นพื้นที่ทดลองก่อนจะนำไปใช้ในพื้นที่จริง  

3. งานที่พวกเขาทำ คือการใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมาย วางแผนพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย และคิดถึงธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งพื้นที่นั้นจะเป็นชนบทห่างไกล บนดอย หรือในเมืองกรุงก็ได้ทั้งนั้น

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

สิ่งที่น่าสนใจคือความเป็นคนรุ่นใหม่ของก๊วนนี้ ถ้าวัดกันที่จำนวนปีอาจไม่ยาวนานนัก แต่ถ้าวัดกันได้แรงกายแรงใจ ยังเต็มเปี่ยมแน่นอน

เรามักคุ้นหน้าค่าตาพวกเขาในงานพัฒนาพื้นที่เมือง-ชนบทที่จัดขึ้นทุกหนแห่ง เรียกได้ว่าพวกเขาเป็นกำลังสำคัญของวงการในตอนนี้ และจะเป็นต่อไปในอนาคต
เรานัดกันคุยสบาย ๆ ที่ Patom Organic Living คาเฟ่ออร์แกนิกใจกลางทองหล่อ Little Big People คราวนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับ Refield Lab และไปดูกันว่าพวกเขาตั้งใจจะทำอะไรกันแน่

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

ตัวตน

หมี ตอง ก๊อก เป็นเพื่อนชั้นปีเดียวกัน
เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ตองเริ่มต้นชีวิตทำงานด้วยการเดินทางสายดีไซน์ ส่วนหมีและก๊อกเรียนต่อด้านรีเสิร์ช และมาทำงาน Research and Development ในบริษัทสถาปนิก

3 คนนี้รวมตัวกันเมื่อก๊อกเริ่มกวักมือเรียกหมีและตองมาปั้นทีมรีเสิร์ชด้วยกัน
“นึกถึงตองเพราะเคยทำงานคู่กัน ตองชอบค้นหานู่นนี่กับเรา พองานเริ่มเยอะขึ้น ก็คิดว่าชวนใครมาช่วยดีนะ เลยนึกถึงหมี” ก๊อกเล่าถึงจุดเริ่มต้นด้วยรอยยิ้ม ทั้งคู่บอกว่าแต่ก่อนไม่ได้ใกล้ชิดกับหมีมาก และรู้จักกันด้วยการทักไปขอเลกเชอร์
“งานดีไซน์ที่ดีมาจากพื้นฐานงานข้อมูลที่มีคุณภาพ” หมีเล่าบ้าง “เราพยายามผลักดันให้ออฟฟิศดีไซน์มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับงานออกแบบของตัวเอง เพื่อพัฒนางานออกแบบให้เวิร์กจริง ๆ”
หลังจากนั้นสักพักทั้งสามก็จับมือกันออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ใช้ชื่อว่า Refield Lab จนถึงทุกวันนี้
ก่อนมาคุยกันในวันนี้ เราเคยถามว่าพวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ดีไซเนอร์’ รึเปล่า แต่พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับคำนั้นเท่าไหร่นัก
“บางครั้งงานเราไม่ได้จบออกมาเป็นดีไซน์ แต่เป็นแผนการทำงานหรือแผนพัฒนา” ก๊อกอธิบายในคราวนี้ “เราเริ่มตั้งแต่เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจพื้นที่ ทำข้อมูลพื้นที่ที่ชุมชนเข้าใจในระดับหนึ่งอยู่แล้วให้ชัดขึ้นว่าพื้นที่เขามีเงื่อนไขอย่างไร ปัจจุบันเขามีการใช้พื้นที่ยังไง และสอดคล้องกับเงื่อนไขพื้นที่มากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การวางแผนและผังในอนาคต

“เราไม่ได้พยายามดีไซน์ให้ทุกคนเป็นเหมือน ๆ กัน แต่เรามีข้อมูล มีองค์ความรู้บางอย่างที่จะไปเติม ให้รู้ว่าเขาจะทำด้วยตัวเองอย่างไรได้บ้าง”

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

ชนบท

งานแรกที่ชาว Refield Lab เริ่มลงสนาม คือโครงการบ้านมั่นคงชนบท ตำบลบ้านพี้ จังหวัดน่าน ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือการทำระบบการจัดการน้ำในพื้นที่

แรกเริ่มเดิมที ทางพื้นที่มีแผนมาแล้วว่าจะทำระบบจัดการน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้ง หากวิธีการที่ตั้งใจไว้เป็นเครื่องมือทั่ว ๆ ไปอย่างการสร้างฝาย บ่อ หรือถังเก็บน้ำ ซึ่งใช้งบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคงเยอะ ทั้งสามจึงลงพื้นที่ไปศึกษาเพื่อหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องการจัดการน้ำในระยะยาวได้

สเตปแรกคือการเก็บข้อมูล ทำข้อมูลในเชิงแผนที่ หาต้นตอของน้ำ แล้วคำนวณออกมาว่าชุมชนมีน้ำเท่าไหร่ ชาวบ้านใช้เท่าไหร่ และตัวเลขทั้ง 2 ทางนั้นสมดุลกันหรือไม่
“เราพบว่าช่วงหน้าแล้ง ความต้องการน้ำเยอะกว่าต้นทุนที่มี และชาวบ้านก็เก็บน้ำได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ เราเลยว่า งั้นลองปรับแก้กันไหม” ก๊อกพูด

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

อย่างแรกที่พวกเขาเสนอ คือการเพิ่มน้ำต้นทุน

วิธีการคือเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อชะลอน้ำไว้ในพื้นที่ให้มากขึ้น 

จังหวัดน่านเป็นหุบเขา เดิมพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เกษตรที่เปิดหน้าดินออกและปลูกพืชเชิงเดี่ยว เวลาฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลไปอย่างรวดเร็ว (เหมือนเหงื่อที่ไหลเข้าตาง่ายเมื่อไม่มีคิ้ว) พวกเขาจึงเสนอให้พี่ ๆ ปลูกพืชคลุมหน้าดิน ปรับลักษณะการปลูกต้นไม้ให้ช่วยชะลอน้ำที่ไหลจากพื้นที่ภูเขา

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

อีกวิธีคือการชะลอน้ำในลำน้ำ พวกเขาเสนอให้ปลูกพืชริมสองข้างลำน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการระเหย ช่วยยึดเกาะตลิ่ง ช่วยให้น้ำที่ไหลลงมาแดงน้อยลง และช่วยกรองไม่ให้สารเคมีจากข้างบนมาลงแหล่งน้ำส่วนรวม

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

อย่างที่ 2 คือการสนับสนุนให้ปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดความถี่ในการรดน้ำบางช่วงเวลา ทั้งยังได้ผลผลิตที่มากและหลากหลายกว่าเดิมด้วย

ซึ่งการจัดการน้ำทั้งหมดนี้ ส่งเสริมทั้งเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำกินของชาวบ้านในพื้นที่
ถัดจากบ้านพี้ จังหวัดน่าน Refield Lab ก็ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อเลือกพื้นที่อื่น ๆ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ด้วย Landscape Approaches เหมือนอย่างบ้านพี้

ด้วยบทบาททางอาชีพที่มี พวกเขาต้องออกต่างจังหวัดกันบ่อย ๆ บางทีเดือนหนึ่ง 3 – 4 ครั้ง และในพื้นที่หนึ่งก็ต้องกลับไปหลายครั้งในรอบปี เพื่อไปสำรวจฤดูที่ต่างกัน

“นี่คือสามเหลี่ยมที่เราตั้งไว้ตอนทำบ้านมั่นคง” หมีพูดพลางเปิดสไลด์ให้เราดู
“จริง ๆ ได้ไอเดียมาจาก อ.ดร.ดนัย ทายตะคุ อาจารย์ของเรา พูดถึงฐานสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ฐานใหญ่ที่สุดคือการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แล้วสิ่งแวดล้อมนั้นก็ทำให้เกิดสังคมหรือเศรษฐกิจ ซึ่งบนยอดสุดคือเรื่องวัฒนธรรม”
สิ่งแวดล้อมที่ดี หมายถึงการที่คนในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันจนเกิดชีวิตที่มั่นคง เช่น มีอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอ มีอาชีพที่เกิดรายได้ในพื้นที่ ไม่ต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน สุดท้ายก็จะต่อยอดทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างการท่องเที่ยวได้

“พอศึกษาแลนด์สเคป มันก็ไปแตะหลาย ๆ มิติ ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงกฎหมายที่ดิน เราอยากให้งานเราสื่อสารไปถึงทั้งข้างบนและข้างล่างเลย”

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช
Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

เวลาไปลงพื้นที่ คนในพื้นที่เขาคิดยังไงกันบ้าง – เราถาม

“ตอนแรกเขาก็งง ๆ กันนะ” หมีพูด

“เราก็มีวิธีการนำเสนอของเรา ไปถึงก็กางแผนที่ คุณพี่คะ ลุ่มน้ำคุณพี่เป็นแบบนี้” ก๊อกเล่า “ในช่วงแรกของทุกที่ เขาไม่ค่อยเชื่อเรา แต่พอได้ลงพื้นที่ ชี้ชวนกันดู เขาก็เริ่มเกิดความเข้าใจในที่สุด เพราะข้อมูลนั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดในพื้นที่จริง ๆ”

ก๊อกยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า พวกเขาเคยถามถึงหอยนางรม ชาวบ้านก็นึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อก่อนเลี้ยงหอยนางรมในคลองกันเยอะ แต่เลิกไปเพราะหอยเริ่มตาย และลูกหอยไม่ยอมเกาะวัสดุเลี้ยง เพราะแถวนั้นมีนากุ้งและโรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย การชวนคุยแบบนี้ทำให้ชาวบ้านเองก็ได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ทางด้าน Refiled Lab เองก็ได้ข้อมูลไปวิเคราะห์

บางอย่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากโลกร้อน แต่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของมนุษย์

มีวิธีเชื่อมความสำคัญกับคนในพื้นที่ยังไงบ้าง – เราถามต่อ

“เริ่มจากการพูดคุยแล้วฟังเขา เขาจะเริ่มเปิดให้เรา” ตองตอบบ้าง “ถ้าไปกินข้าวด้วยเขาก็จะแฮปปี้มาก ในวงข้าวเป็นวงที่เราได้ข้อมูลเยอะกว่าในวงประชุม ชาวบ้านก็จะเล่าไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องเกร็ง ผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็ถอดหมวกออก และพูดในมิติของชาวบ้าน

“เขาชอบพาเดินเข้าป่า! บางครั้งบอกว่าอยู่ใกล้ ๆ ท้ายหมู่บ้านนี่เอง สรุปว่าเดินเข้าป่า 2 กิโล” หมีเล่ากลั้วหัวเราะ 

การเข้าป่านี่แหละที่ทำให้เห็นวิถีชีวิตจริง ๆ ของคนในพื้นที่ 

จะว่าไป งานของทั้งสามก็คงโชคดีตรงนี้ ใครกี่คนจะมีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตประจำวันของคนอื่นแบบนี้อีก คงเป็นประสบการณ์หาได้ยากทีเดียว

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

เมือง

ปีนี้ Refield Lab เริ่มขยับเข้ามาทำงานในเมือง ด้วยความสนใจของสมาชิกทั้งสาม และด้วยความที่เริ่มร่วมมือกับเครือข่ายคนทำงานเมืองที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่ต่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น mor and farmer, สนใจ เฮาส์, CROSSs, ยังธน และ ริทัศน์บางกอก 

ย้อนเวลากลับไป สถาปนิกที่ทำงานเมืองรุ่นก่อนรวมตัวกันด้วยชื่อ CAN หรือ Community Architects Network ภายใต้สมาคมอาษา แต่ Refield Lab มาไม่ทันยุครุ่งเรืองนั้น

“พอเราไปเจอพี่ ๆ เขาก็จะชอบเล่าถึงเวิร์กช็อปที่ชุมแสง นครสวรรค์ เวิร์กช็อปนั้นทำ 5 วัน คนเข้าร่วมเป็นร้อย มีคนมาจากต่างประเทศ เขามีเครือข่ายกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั่วเอเชีย เป็น Asian Coalition for Housing Rights (ACSR)” หมีเล่าอย่างตื่นเต้น

“เรารู้สึกว่ามันอิมแพกต์ มีพลังในการทำงาน การทำงานแบบนี้ควรจะเป็นงานเครือข่าย ไม่ใช่ทำคนเดียว เพราะทุกคนเชี่ยวชาญต่างเรื่องกัน เราก็อยากเห็นภาพนั้นบ้างเหมือนกัน”

เมื่อคิดแบบนั้น พวกเขาจึงตั้งใจรวมคนทำงานเมืองรุ่นใหม่ในชื่อกลุ่ม CAN อีกครั้ง หากครั้งนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Community Act Network ไม่จำเป็นต้องเป็น Architects เท่านั้น

“เวลา CAN ในยุคนั้นจัดเวิร์กช็อปขึ้นมา ก็ทำให้เกิดกลุ่มคนใหม่ ๆ ที่ทำงานเรื่องเมืองขึ้น รวมกลุ่มจัดตั้งบริษัท ในยุคเราเลยอยากให้มีบ้าง เพื่อคนที่อยากทำจะได้รู้ว่ามีช่องทางที่จะอยู่ได้ด้วยการทำงานลักษณะนี้” ก๊อกว่า

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

ปัจจุบันพวกเขาร่วมมือกับ CROSSs และยังธน ทำงานในพื้นที่บางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นที่ที่ทางนั้นเริ่มมาสักพักหนึ่งแล้ว และต่อยอดให้ครอบคลุมมิติที่หลากหลายมากขึ้นได้ด้วยความเชี่ยวชาญด้านนิเวศของ Refield Lab 

บางกอกใหญ่มีลักษณะเป็นเครือข่ายลำคลองที่มีป่า มีพื้นที่เกษตรอยู่ริมคลองด้วย ในนามของ CAN และในการสนับสนุนของ HSA (Healthy Space Aliance) จึงตั้งใจจะพัฒนา Blue-green Infrastructure ของพื้นที่นี้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจัดกิจกรรมเดินสำรวจย่านบางกอกใหญ่ พาคนไปดูน้ำและพื้นที่สีเขียว ทำให้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่ที่ตนอยู่ และเข้าใจว่าพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเป็นสวนสาธารณะอย่างเดียว แต่พื้นที่เกษตรก็มีประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารและการช่วยซับน้ำ 

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

“แล้วพื้นที่เหล่านี้ก็เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย คือพอมีคลองก็มีสวน พอคลองเน่า สวนก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน” หมีสรุป 

นี่คือส่วนงานเมืองที่พวกเขากำลังเริ่มต้น และหวังว่าจะมีนโยบายของรัฐที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาต่อไป

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

โลก

คุยกันมาเป็นชั่วโมง เราถามคำถามที่อยากรู้มาตลอดการสนทนา Refiled Lab ‘หวัง’ จะเห็นอะไร

“คงไม่พูดว่าอยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น เราทำไม่ได้หรอก เราแค่ไม่อยากให้โลกแย่ไปกว่านี้” หมีตอบ

ในการทำงานแต่ละครั้ง หน้าที่ของพวกเขาคือการศึกษาและคิดแผนพัฒนา หลายครั้งคนในพื้นที่ไม่เลือกใช้แผนนั้น พวกเขาก็ไม่เสียใจ แต่ถึงอย่างไร Refield Lab ก็คิดว่า ถ้ามีคนทำงานแบบที่พวกเขาทำอยู่เยอะ ๆ ก็น่าจะดี

ได้เรียนรู้อะไรในชีวิตการทำงานนี้บ้าง – เราถามต่อ

“เราเป็นคนต่างจังหวัด สิ่งที่เห็นคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ในทางเหนืออย่างเดียว พอมาทำงานนี้จึงได้เห็นวิถีที่สอดคล้องไปกับพื้นที่แต่ละในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ายังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ

“เราเป็นคนตัวเล็กในโลกใบใหญ่” หมีบอกกับเรา

“เราเชื่อมั่นในความฉลาดของมนุษย์ แต่เชื่อมั่นในพลังของธรรมชาติมากกว่า ธรรมชาติมีพลังที่เรามองไม่เห็น มนุษย์ไม่เคยควบคุมธรรมชาติได้ เพราะเรามีความรู้จำกัด”

ก่อนกลับ เราได้รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ท่ามกลางชาวเหนือ 3 คน (ถ้ารวมคุณพี่ช่างภาพของเราด้วยก็เป็น 4) หมีเป็นคนไทลื้อในจังหวัดลำปางที่เติบโตในชุมชนไทลื้อ ตองเป็นคนเชียงใหม่ อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ส่วนก๊อกมีพื้นฐานทางบ้านเป็นคนน่าน และมีเชื้อสายไทลื้อเช่นกัน

พอถึงตรงนี้ก็เห็นภาพมากขึ้นว่า ทำไมทั้งสามถึงคุ้นชินกับธรรมชาติมาก

ถ้าได้เห็นเยาวชนจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ รู้ดีในลักษณะพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง มาทำงานพัฒนากันเยอะ ๆ ก็คงจะดี เชื่อว่า Refield Lab ยังต้องการเพื่อนร่วมทางอีกเยอะ

Refield Lab นักวางผังภูมินิเวศที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการรีเสิร์ช

Website : www.refieldlab.com

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล