เป็นที่ทราบกันดีกว่าทั่วโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญกับการอ่าน แต่การอ่านกลับไม่ใช่กิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้หรือเข้าถึงง่ายอย่างที่ควรจะเป็น อาจเพราะราคาหนังสือที่แพงลิบ พื้นที่และบรรยากาศที่เหมาะกับการอ่านมีไม่ทั่วถึง หรืออาจเป็นปัญหาใหญ่อย่างวัฒนธรรมการปลูกฝังให้รักการอ่านที่ไม่แข็งแรงพอ
วันนี้เราได้พูดคุยกับ ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อํานวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ถึง ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ หนึ่งในโครงการของ Common School ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นห้องสมุดให้ ‘ทุกคน’ ได้เข้าถึงความรู้ โดยที่ห้องสมุดนี้เปิดให้ทุกคนยืมหนังสือผ่านหน้าจอฟรี และมีบริการส่งเล่มจริงไปให้อ่านถึงบ้าน!

ห้องสมุดของทุกคน
ในบรรยากาศการพูดคุยแบบเป็นกันเอง ครูจุ๊ยเริ่มเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของโครงการอ่านเปลี่ยนโลกว่า
“การกระจายความรู้ให้เข้าถึงทุกคน คือความเป็นประชาธิปไตยที่คนสัมผัสได้ ความรู้ควรอยู่ทุกที่ ไม่ต้องใช้เงินซื้อมันมา
“มีคนจำนวนมากจริง ๆ ที่เข้าไม่ถึงหนังสือ เพราะหลายเล่มราคาแพง บางเล่ม 600 – 700 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 2 วัน ซึ่งในความเป็นจริง คุณไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือครบทุกเล่มก็ได้ การยืมหนังสือเล่มที่อยากอ่าน อ่านจบแล้วก็แบ่งกันใช้ ประโยชน์จะไปได้ไกลกว่า เลยออกมาเป็นคอนเซปต์ที่เรียกว่า Book Sharing”
ห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกจึงเกิดขึ้น ด้วยระบบการยืมหนังสือออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย แค่กดยืมผ่านเว็บไซต์ หนังสือก็จะส่งไปที่บ้าน โดยมีเวลาให้ถึง 30 วันต่อการยืมหนังสือ 1 เล่ม พร้อมอำนวยความสะดวกด้วยซองและแสตมป์สำหรับส่งกลับคืน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
นอกจากนี้ หนังสือทุกเล่มที่ส่งกลับคืนยังผ่านการเข้าตู้อบฆ่าเชืื้อ เพื่อส่งต่อหนังสือให้ถึงมือทุกคนอย่างปลอดภัย
“การมีห้องสมุดให้คนยืม-คืนหนังสือเป็นการแก้ปัญหาหนังสือแพงได้ง่ายที่สุด เพราะถ้าคุณมีห้องสมุดดี ๆ ใกล้บ้าน แล้วเอาหนังสือดี ๆ ไปใส่ ต่อให้หนังสือจะแพงแค่ไหน ภาษีก็จ่ายได้ทั้งนั้น ดังนั้นจุ๊ยมองเรื่องโครงสร้าง เพื่อให้หนังสือเข้าถึงคนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า แล้วรัฐก็รับค่าใช้จ่ายตรงนั้นไป เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชากรจากการปลูกฝังการอ่าน”


หากให้ไล่เลียงทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านคงต้องใช้เวลามากพอสมควร ครูจุ๊ยอธิบายว่าเป็นปัญหาเชิงระบบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้ตลาดถูกบีบด้วยความไม่เข้าใจ ผลิตหนังสือออกมาแบบจำเจ และอาจขาดการวิเคราะห์แบบลึกซึ้ง โดยเฉพาะในหนังสือเด็ก ทั้งที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมการปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักการอ่านเป็นอย่างมาก
ครูจุ๊ยยกตัวอย่างห้องสมุดในประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก ที่นั่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับประชากรทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงใส่ใจและสนับสนุนนักอ่านทุกคน อย่างเช่น หนังสือเสียง แท็บเล็ตสำหรับคนอยากอ่านบนอุปกรณ์ดิจิทัล หนังสือเด็กที่ครบครัน หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาวะ Dyslexia หรือภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา ส่งผลให้อ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือไม่ได้ ก็ยังมีหนังสือแบบพิเศษสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ
ครูจุ๊ยเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ประเทศฟินแลนด์ทำเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนได้อ่าน เหมือนกับคำว่า ‘เฟรนด์ลี’ พอเรารู้สึกว่ารัฐใส่ใจ ผู้คนก็อยากเข้ามาใช้บริการ ซึ่งห้องสมุดในบ้านเรานั้นยังห่างไกลกับคำนั้นพอสมควร เป็นเหตุให้คนไทยยิ่งห่างไกลจากการอ่าน
ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีร้านหนังสือมากมายทั้งเจ้าใหญ่และร้านหนังสืออิสระ แถมยังมีงานหนังสือให้ได้ไปหยิบซื้อกัน แต่หนังสือแต่ละประเภทกลับกระจัดจายไปทั่ว ไม่ได้หาซื้อได้ง่าย
“นี่คือพูดถึงกรุงเทพฯ นะ ถ้าพูดถึงต่างจังหวัดคือไม่ต้องหา เพราะไม่มี”
อ้าว แล้วคนต่างจังหวัดเขาอ่านหนังสือยังไง – เราถามขึ้นทันที
“มันเลยต้องมีห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกของดิฉันไง” ครูจุ๊ยว่า

หนังสือเปิดโลก
ด้วยความเชื่อที่ว่า การอ่านเปลี่ยนโลกได้ เกณฑ์การคัดเลือกหนังสือส่วนใหญ่ของห้องสมุดแห่งนี้จึงเน้นไปยังหนังสือที่ชวนนักอ่านตั้งคำถามกับสิ่งรอบ ๆ ตัว
ที่นี่มีตั้งแต่หนังสือเด็ก วรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมเยาวชนของสวีเดน ไปจนถึงหนังสือสังคม ภาษาศาสตร์ ปรัชญา วัฒนธรรม การเมือง และประวัติศาสตร์
“ก่อนจะเปลี่ยนโลก เราต้องเปิดโลกก่อน แล้วคุณจะได้ไปจินตนาการต่อว่าคุณจะเปลี่ยนโลกใบนี้ยังไง”
สำหรับครูจุ๊ย เธอมองว่า “ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่พามนุษย์มาเจอกัน เป็นพื้นที่ที่ควรเข้าถึงมาก ๆ และไม่ได้มีแค่หนังสือ เพราะโหมดการเรียนรู้ของมนุษย์มีเยอะมาก ห้องสมุดควรตอบโจทย์สิ่งที่คนสนใจเป็นส่วนใหญ่ นี่จึงเป็นเหตุที่สำคัญมากเลยนะที่จุ๊ยเชื่อว่าห้องสมุดที่ดีคือห้องสมุดที่ถามคนใช้งานก่อนว่าเขาจะเอาอะไรบ้าง”
อ่านเปลี่ยนโลกจึงเป็นห้องสมุดออนไลน์ที่ไม่ได้มีแค่หนังสือให้ยืม เธอได้สร้างคอมมูนิตี้อ่านเปลี่ยนโลกขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักอ่านได้มาพูดคุยและตั้งคำถามกันที่กลุ่มในเฟซบุ๊ก ชื่อว่า ‘อ่านเปลี่ยนโลก-common school’
“กลุ่มนี้เป็นเหมือนจุดนัดพบให้เขา เพราะเขาอาจชอบอะไรเหมือนกัน เรารู้สึกว่าคนอ่านหนังสือมีความอัดอั้นกันทุกคน”
เธอเล่าถึงกลุ่มนักอ่านที่น่ารัก เนื่องจากผู้ดูแลโครงการมีเพียงคนเดียวที่ทำทุกอย่าง ทั้งดูแลเว็บไซต์และจัดการการส่งหนังสือ จึงอาจมีบางครั้งที่ตอบล่าช้าหรือมีเรื่องติดขัดเล็กน้อยบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา “เวลามีปัญหาหรือคำถามจากทางบ้าน ก็ได้นักอ่านของดิฉันเองเนี่ยแหละค่ะ คือช่วยกันแล้วหนึ่ง บอกกันว่าคุณลองกดตรงนั้นตรงนี้ดูนะ”

อ่านแล้วเปลี่ยนโลก
เราถามครูจุ๊ยถึงภาพสังคมการอ่านของไทยในอุดมคติ แล้วเธอก็ตอบเรากลับมาด้วยคำสั้น ๆ ไม่กี่คำว่า
“ง่าย สะดวก เข้าถึง ไม่เป็นภาระ
“สังคมการอ่านที่ดีต้องไม่เป็นภาระ ทั้งทางค่าใช้จ่ายและทางจิตใจ หากอยากอ่านหนังสือสักเล่ม ไม่จำเป็นต้องอ่านเพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลาก็ได้ คุณอยากจะอ่านเพื่ออะไรก็ได้ หรืออยากอ่านเพื่อความบันเทิงก็ย่อมได้
“การจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดผลจริง หรือให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่คนเข้าถึงได้จริง ต้องเริ่มมาจากอะไรแบบนี้”
ครูจุ๊ยเล่าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกว่ามีตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ที่มายืมนิทานให้ลูก นักศึกษายืมไปทำธีสิส คนวัยทำงาน เกษตรกร รวมถึงอีกหลากหลายอาชีพและช่วงวัย ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
“เขาคืนหนังสือแล้วส่งจดหมายน้อยมาด้วย เขียนมาว่าขอบคุณมากที่มีห้องสมุดนี้ เพราะแถวบ้านเขาไม่มี เขาได้อาศัยห้องสมุดนี้แหละ เวลาเจอจดหมายแบบนี้เราก็จะเอามาอวดกันในทีม มันอบอุ่นมาก”
ถึงแม้ว่าห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกจะเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิคณะก้าวหน้า มีหน้าเว็บไซต์ให้โอนเงินบริจาคได้ตามสะดวก แต่นักอ่านบางคนถึงขนาดสอดเงินมาให้ในซองเพื่อขอบคุณ
จบบทสนทนา เรานึกอยากยืมหนังสือสักเล่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน และหวังให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งนักอ่านที่เปลี่ยนโลกได้โดยเร็ว

แนะนำหนังสือ 3 เล่ม โดย ครูจุ๊ย ในอ่านเปลี่ยนโลก
01
Sapiens: A Brief History of Humankind
ผู้เขียน : ยูวาล โนอาห์ ฮารารี่
ผู้แปล : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
สำนักพิมพ์ : ยิปซี

“เป็นเล่มที่เลือกมาตั้งแต่ตอนโปรโมตห้องสมุดแรก ๆ เลย มันทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของโลกใบนี้เยอะมาก”
02
เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต
ผู้เขียน : วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
สำนักพิมพ์ : bookscape

“เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านง่ายมาก เล่าว่าภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกมีกลไกลอย่างไร มีตลาดที่มีลักษณะแบบไหน แบ่งเป็นสี ทำให้มนุษย์แบบจุ๊ยที่ไม่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ขนาดนั้นเข้าใจง่าย”
03
ภาษาเจ้า ภาษานาย
ผู้เขียน : ดร.อาวุธ ธีระเอก
สำนักพิมพ์ : มติชน

“มันคือการเมืองเบื้องหลังการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าเราสงสัยว่าทำไมกระบวนการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทยทำให้เราสื่อสารไม่ได้สักที เล่มนี้อาจมีคำตอบอะไรบางอย่าง”