ทายาทธุรกิจ ตำแหน่งนี้เป็นดั่งดาบสองคม คมหนึ่งคือแรงผลักดันจากบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งธุรกิจระดับตำนานและพร้อมจะส่งต่อความรู้ ทักษะ แถมประสบการณ์ตรงให้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่อีกคมหนึ่งมาพร้อมแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอก คนในครอบครัวหรือแม้กระทั่งตัวของทายาทเองต่างคาดหวังว่าคนเป็นทายาทจะต้องเก่งกาจและมีความสามารถไม่ต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า ส่วนคนภายนอกต่างก็จับจ้องว่าทายาทจะพาธุรกิจเติบโตเหมือนอย่างที่บรรพบุรุษเคยทำมาในอดีตหรือไม่

เจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ลูกสาวคนเดียวของตำนานดีไซเนอร์ไทยอย่าง คุณลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ เติบโตมาพร้อมกับแรงผลักดันและแรงกดดันที่ว่า เธอจึงเลือกนำความรู้ด้านการออกแบบและตัดเย็บที่ร่ำเรียนจากคุณแม่โดยตรง มาพัฒนาต่อเป็นธุรกิจของตัวเองภายใต้แบรนด์ ‘PICHITA’ ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้ ‘ห้องเสื้อและโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี’ ของคุณลำยงค์ โดยมีเสื้อผ้าตั้งแต่ Ready to Wear ไปจนถึงระดับ Haute Couture 

แต่กว่าจะมาเป็น PICHITA อย่างทุกวันนี้ คุณเจี๊ยบต้องกัดฟันต่อสู้กับหลากหลายอุปสรรค ไหนจะคู่แข่งหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นรายวัน ไหนจากแบรนด์จากต่างประเทศ ไหนจะเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช้อปปิ้ง จนเธอและธุรกิจต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด พร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป จน PICHITA อยู่ได้และอยู่ดีมาจนทุกวันนี้ และพร้อมจะเจริญรอยตามบรรพบุรุษด้วยการเปิดโรงเรียนหรือสถาบันสอนตัดเสื้อภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

ธุรกิจ : ห้องเสื้อและโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี 

ปีที่ก่อตั้งห้องเสื้อระพี : พ.ศ. 2492

ปีที่ก่อตั้งโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี : พ.ศ. 2493

ประเภท : ธุรกิจแฟชั่นและการออกแบบ และสถาบันสอนตัดเย็บเสื้อผ้า

ผู้ก่อตั้ง : ลำยงค์ และ อารีย์ บุณยรัตพันธุ์ 

ทายาทรุ่นสอง : พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ (Atelier PICHITA)

ทายาทรุ่นสาม : จีน-มหาสมุทร บุณยรักษ์, ขนมจ้าง-ฑาทิม รักษะจิตร, แป้งจี่-ธีมา รักษะจิตร

ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์ ตำนานแห่งวงการดีไซเนอร์ไทย

ทั้งที่คุณลำยงค์พูดภาษาของเขาไม่ได้แม้แต่คำเดียว เจ้าของห้องเสื้อระพีอันโด่งดังจากเมืองไทยกลับมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศสเพื่อพัฒนาฝีมือการตัดเย็บด้วยความมุ่งมั่นกล้าหาญ และการเดินทางครั้งนี้ก็ไม่เสียเปล่า เพราะเธอไปด้วยฝีมือที่โดดเด่นถึงขั้นว่าห้องเสื้อระดับโลกอย่าง Nina Ricci ต้องรีบคว้าตัวเธอไปฝึกงานด้วยทันที 

แต่สุดท้ายแล้วคุณลำยงค์ก็เดินทางกลับสู่บ้านเกิด และด้วยแรงผลักดันจาก คุณอารีย์ บุณยรัตพันธุ์ สามีผู้เป็นที่รักและมองเห็นหนทางอาชีพอันยาวไกลของภรรยา ทั้งสองจึงตัดสินใจก่อตั้ง ‘โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี’ ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ให้คุณลำยงค์ได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาแก่ดีไซเนอร์ไทยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ 

คุณเจี๊ยบจึงเติบโตมากับโรงเรียนสอนตัดเสื้อที่มีนักเรียนมากหน้าหลายตาเวียนกันมาเรียนรู้ศาสตร์การตัดเสื้อจากคุณแม่ของเธอ โดยเธอมักจะคุ้นชินกับการตัดเสื้อที่มีรายละเอียดชั้นครูและความยากขั้นเทพ เพราะนี่เป็นจุดแข็งอันโดดเด่นของคุณลำยงค์

“คุณแม่จะเก่งเรื่องการทําชุดไทยที่เราจะต้องใส่ประจําวันหรือใส่ไปงานพิธี คือผ้าไหมไทยเป็นผ้าที่ตัดเย็บยากและจับผิดง่าย เช่น ถ้าเย็บฝีเข็มลงไปไม่ตรงก็จะเห็นชัด เพราะผ้าไหมมันเหมือนสิ่งมีชีวิต พี่เห็นคุณแม่เย็บเสื้อ ทําผ้าไหม ทําชุดไทยให้หลาย ๆ ท่านมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเวทีประกวดนางงามระดับโลก โดยคุณแม่ก็เป็นคนเย็บชุดประกวดที่เป็นชุดอาบน้ําด้วยผ้าไหมไทย ซึ่งมันละเอียดและเป็นงานยาก”

หรือแม้แต่งานง่าย (กว่า) บางอย่าง เช่น การทำเสื้อลูกไม้ คุณลำยงค์ก็มองว่าถ้าเป็นผ้าลูกไม้ธรรมดาก็คงจะไม่ใช่ห้องเสื้อระพี เธอจึงเลือกใช้ผ้าไหมแก้วมาเขียนลายปักจนเป็นผ้าลูกไม้ 1 ชิ้น ซึ่งเสื้อ 1 ตัวก็ใช้เวลาทำหลายเดือน 

และด้วยความยาก ประกอบกับเวลาอันยาวนานที่จะต้องลงทุนกับเสื้อผ้าแต่ละชิ้น คุณเจี๊ยบในวัยเยาว์จึงไม่มีความคิดที่จะเจริญรอยตามคุณแม่แม้แต่น้อย

“เราเห็นตอนที่เราเด็ก ๆ แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นงานยากจังเลย ไม่อยากมีอาชีพนี้ เพราะกว่าจะขายเสื้อได้แต่ละชิ้นใช้เวลานาน แล้วยังต้องเลี้ยงลูกน้องอีก” คุณเจี๊ยบสารภาพตามตรง

แต่ตอนนี้เธอเพิ่งมาตกตะกอนได้ว่าสิ่งที่บอกว่าไม่ชอบนั้นกลับกลายเป็นสิ่งเลี้ยงชีวิตของเธออย่างน่าอัศจรรย์ “เพราะพี่เจริญรอยตามโดยไม่รู้ตัว” คุณเจี๊ยบสารภาพอีกครั้งในวันที่เธอกำลังจะมีอายุย่างเข้าสู่ 70 ปีบริบูรณ์

พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ผู้สานต่อวิชาตัดเย็บเสื้อผ้า

เส้นทางการเจริญรอยตามคุณแม่ของคุณเจี๊ยบเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเธอออกเรือนเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ด้วยความตั้งมั่นว่าอยากมีอาชีพเป็นของตัวเอง พอคุณแม่เล็งเห็นถึงความตั้งใจนี้ จึงยกใบอนุญาตดำเนินกิจการโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีให้เธอ แต่คุณเจี๊ยบกลับไม่อยากใช้เครดิตนั้น และอยากยืนด้วยลำแข้งตัวเอง พร้อมลดแรงกดดันรวมถึงความหวังจากคนรอบข้าง ภายใต้ชื่อเสียงของโรงเรียนสอนตัดเสื้อเก่าแก่

“เราอยากสู้ด้วยตัวเอง ก็เลยทําแบรนด์ขึ้นมา ชื่อว่า PICHITA โดยเปิดร้านแรกที่ซอยสุขุมวิท 26 และทํามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบัน Showroom ตั้งอยู่ซอยเจริญใจในซอยเอกมัย 12″

แม้จะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของดีไซเนอร์ไทยระดับตำนาน พร้อมประสบการณ์การเป็นนางแบบในปารีส เสริมด้วยวิชาความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้าที่ร่ำเรียนมาจากฝรั่งเศสนานหลายปี แต่เส้นทางของคุณเจี๊ยบกับธุรกิจของเธอนั้นกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาด

“ตอนเด็ก ๆ เราอยากทําเสื้อผ้าที่ใส่ง่าย ๆ เหมือนที่เด็กรุ่นใหม่ชอบทํา จะได้ขายง่าย ๆ” นั่นคือความคิดแรกของเธอ ซึ่งผิดถนัด เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่วงการดีไซเนอร์อย่างเต็มตัว ประกอบกับอายุและประสบการณ์ที่มากขึ้น เธอก็เล็งเห็นว่าเสื้อผ้าง่าย ๆ นั้นไม่ง่าย และไม่ใช่ทางของเธอเอาเสียเลย 

“ตอนแรกเรานึกว่าจะต้องเก่งเหมือนคุณแม่ เราจะเจริญรอยตามแบบนั้นแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่เรียนรู้ก็ไม่มีวันเก่ง เพราะคนเราไม่ได้เกิดมาเก่งทุกคน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องขยัน ต้องใส่ใจ และต้องจริงใจกับงานที่ทําแบบเข้ม ๆ เลย”

เธอจึงกลับมาตั้งต้นใหม่และถามตัวเองดัง ๆ ว่า “เราเป็นใคร เรามีอะไร ถ้าจะทําเสื้อที่มีขายทั่วไปแบบที่ทุกคนทํา ก็ไม่มีใครจําเราได้ เราควรจะมีเอกลักษณ์ เลยหาภาพลักษณ์ของตัวเองว่าชอบเสื้อผ้าแบบไหน” 

เมื่อคิดได้เช่นนั้น หลังเลิกงานทุกคืน คุณเจี๊ยบจึงหนีไปหาคุณแม่ เพื่อหาคำตอบว่าเอกลักษณ์ของเธอคืออะไรกันแน่ และก็ได้ค้นพบว่าตัวตนของ PICHITA คือทุกอย่างที่ตรงข้ามกับคำว่าง่าย 

“คนเราต้องมีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเรามองแล้วว่าการทำเสื้อผ้าเป็นอาชีพที่ไม่เลวทีเดียว แต่ต้องใฝ่หาความรู้ให้มากขึ้น พอทํางานเสร็จ 6 โมงเย็นจึงไปเยี่ยมคุณแม่ทุกเย็น ไปช่วยคุณแม่ทำชุดแต่ก็ไปหลอกให้คุณแม่สอน คุณแม่ก็จะสอนแพตเทิร์นต่าง ๆ เราก็ยืนเป็นนางแบบให้คุณแม่จับเดรป (คือการทำเสื้อผ้าบนหุ่น โดยการจับเส้นของผ้าให้เย็บเป็นชุดโดยไม่ต้องทำแพตเทิร์นบนกระดาษ) ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ก็อดทน เพราะจะได้รู้ว่าต้องวางผ้าแบบนี้ น้ำหนักผ้าจะทิ้งอะไรยังไง พอถึงเสื้อไทย คุณแม่ก็จะสอนวิธีให้ว่าเวลาจะเข้าแขนต้องทํายังไง วางผ้ายังไง ซึ่งพอรู้ว่าต้องทํายังไง เราก็ฝึกช่างได้โดยไม่ต้องนั่งเย็บเอง”

คุณลำยงค์ไม่เพียงถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าให้คุณเจี๊ยบเท่านั้น เพราะเมื่อถามถึงสิ่งที่คุณเจี๊ยบจำได้ขึ้นใจจากการคลุกคลีกับคุณแม่ในทุกเย็น คำตอบที่ได้กลับไม่ใช่เรื่องการตัดเย็บ แต่เป็นจรรยาบรรณในการทำงาน ซึ่งเธอยังถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ 

“คุณแม่สอนเสมอว่า ไม่ใช่สั่งงานแล้วทิ้ง พองานไม่สําเร็จไม่สวยเราก็ไปโทษคนอื่น เราเป็นคนคุมงานไม่ดีเอง เราผิด และตั้งแต่นั้นพี่ก็ไม่เคยโทษลูกน้องเลย ไม่ว่าจะทำอะไรหรือเกิดความผิดพลาดอะไรก็ตาม ให้มองที่ตัวเราก่อน ถ้าเกิดข้อผิดพลาดก็เก็บไว้เป็นบทเรียน ไม่ใช่โทษว่าเป็นเพราะคนอื่น”

ตำนานห้องเสื้อ PICHITA

ผลผลิตของหลายค่ำคืนอันยาวนานในการเรียนรู้วิชา แนวคิดการทำงาน และการค้นหาตัวเอง ทำให้ PICHITA มีเอกลักษณ์ชัดเจนที่ยากจะเลียนแบบ 

“เสื้อผ้าของเราไม่เหมือนคนอื่น จะทํายังไงก็ไม่เหมือน มันอธิบายไม่ได้ มีคาแรกเตอร์ชัดเจน เพราะเราพิถีพิถัน พอเห็นปั๊บ มันคือเสื้อผ้าสไตล์ของ PICHITA อาจดูไม่ได้หรูหรามาก แต่ก็ไม่ใช่เสื้อผ้าทั่วไป มีการคิดมาแล้ว ทั้งการให้สี การต่อผ้า การแมตช์ของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เวลาทํา เราทำด้วยใจรัก และเป็นเสื้อผ้าที่เราอยากใส่เอง ทุกอย่างเกิดมาจากข้างใน”

ด้วยใจรักนี้เอง ทำให้ลูกค้าของ PICHITA นั้นเกิดความชอบและติดตามแบรนด์ แม้จะมีเสื้อผ้าแบรนด์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบ

“ลูกค้าชอบแบรนด์ PICHITA เพราะเขามีความรู้สึกว่าเหมือนเราเลือกให้เขาโดยเฉพาะ แต่ใส่แล้วรู้สึกมั่นใจในตัวเอง กลุ่มลูกค้าของเราจึงเป็นกลุ่มคนที่อยากรู้สึกมีความมั่นใจเมื่อสวมใส่เสื้อผ้า เวลาลูกค้าเข้ามา พี่จะออกแบบโดยดูว่าอะไรเหมาะกับเขา หากมองจากระยะ 100 เมตร เสื้อผ้าของเราอาจไม่โดดเด่นสะดุดตา เพราะเราไม่ได้ใช้สีสันฉูดฉาด แต่เมื่อมามองใกล้ ๆ จะเห็นดีเทลบางอย่าง อาจเป็นลายปัก ผ้าที่พิมพ์เอง ผ้าไหม หรือแม้แต่ผ้ารีไซเคิล 

“การทำงานต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามวิถีทางของชีวิต เพราะฉะนั้น ยังไงธุรกิจของเราก็จะอยู่ได้ ยอดขายอาจไม่ได้หวือหวา ขายทีเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่ลูกค้าใช้ของของเราแล้วพอใจ แบรนด์ PICHITA มีคำตอบทุกอณูอยู่ในเสื้อผ้าทุกชุด เราจึงไม่ได้หวั่นเกรงกับการมีคู่แข่งต่าง ๆ”

และเพราะคำตอบอยู่ในทุกอณูของเสื้อผ้าทุกชิ้น ธุรกิจเสื้อผ้านี้จึงไม่หวั่นเกรงกับการแข่งขัน

“งานทุกอาชีพต้องมีคู่แข่งอยู่แล้ว ซึ่งบางคนอาจมองว่าเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่าง ๆ นั้นเป็นคู่แข่งกับเรา เพราะของเขาสวย นำเข้า ใส่แล้วดูดี ดูโก้ แต่จริง ๆ เราไม่ได้มองแบบนั้น แต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะแข่งกับเขาทําไม เราสร้างเอกลักษณ์มากกว่าว่าของเราเป็นแบบนี้ ถ้าคุณชอบ คุณก็ต้องมา เช่น เสื้อสูตที่เป็นลายทหาร

เราไม่ใช้การพิมพ์ลาย แต่เอาผ้าไหมไทยแท้ ๆ มา Patchwork คนมาดูใกล้ ๆ ก็จะเห็นดีเทลตรงนี้ หรือพวกเสื้อปักสวย ๆ ก็จะเป็นงานฝีมือที่มีตัวเดียว ใช้เวลาทำ 6 เดือน”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก้าวไกล คู่แข่งใหม่ ๆ ก็ก้าวกระโดดเข้ามารายวัน ไม่เว้นแม้แต่วงการดีไซเนอร์ไทย และคู่แข่งตัวฉกาจในวงการเสื้อผ้ายุคนี้ของ PICHITA คงจะหนีไม่พ้นการช้อปปิ้งเสื้อผ้าออนไลน์ที่มาพร้อมความสะดวกสบาย กดสั่งได้จากที่บ้าน แถมราคาดี ซื้อมาใส่ไว หากเสียหายหรือชำรุดก็เคลมได้ เปลี่ยนได้ หรือบางคนอาจทิ้งไปโดยไม่เสียดายด้วยซ้ำ 

ด้วยเหตุนี้แบรนด์ PICHITA จึงต้องมีหลายระดับ เริ่มจาก PICHITA Haute Couture ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สูงที่สุดสําหรับลูกค้าคนสำคัญและเจ้าสาว

รองลงมาคือ Atelier PICHITA เป็นเสื้อผ้าพิถีพิถันแต่ราคาไม่สูงเท่า จากนั้นเป็น PICHITA ซึ่งเป็นเสื้อผ้า Ready to Wear และ Resort Wear ผ้าที่พิมพ์ลายเอง

ทุกคนจับต้องได้ และเริ่มแยกมาเป็น Diffusion II par PICHITA ซึ่งทํายูนิฟอร์ม เช่น ที่ใช้ในโรงแรม ธนาคาร และสายการบิน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ใช่ว่าจะทำมาเพื่อแข่งขันกับการช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะคุณเจี๊ยบย้ำชัดว่า “เราก็ไม่แข่งเช่นกัน แต่เราจะเลือกใส่ดีเทลเข้าไป เช่น กางเกงเล ทำกางเกงเลที่เป็นผ้าพิมพ์ ผ้าย้อมเอง ผ้าไหมลินิน หรือปัก ทำมาเท่าไหร่ก็ขายหมด 

“PICHITA เป็นแฟชั่นที่ไปช้า ๆ ใส่ได้แน่ ๆ ไม่ได้ล้าหลัง เราปรับกลยุทธ์บ้างว่าของบางอย่างทําให้ราคาถูกลง เพื่อเข้าถึงกลุ่มตลาดที่กว้างขึ้น และพยายามทําสิ่งที่สอดคล้องกับโลกทุกวันนี้ เช่น ไม่ใช้ผ้าใยสังเคราะห์ ไม่ใช้ถุงพลาสติก เรากำลังเปลี่ยนสภาพธุรกิจให้ Sustainable อยู่กับเศรษฐกิจทุกวันนี้ให้ได้ค่ะ”

จากตำนานสู่อนาคต

ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ PICHITA ก็กำลังเตรียมตัวเปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้อหรือสถาบันแฟชั่น ภายใต้ชื่อ Pichita เพื่อให้ช่างตัดเย็บผู้มีทั้งฝีมือและวิชาได้ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้เด็กรุ่นใหม่ โดยใช้ประสบการณ์ตรง พร้อมสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ช่างที่มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ 

จากช่างเสื้อที่มีประสบการณ์มาเป็นอาจารย์-ครู “คิดจะทำโรงเรียนตั้งหลายปีมาแล้ว จนตอนนี้เลยคิดว่าต้องทําเสียที เพราะปีนี้ก็จะอายุ 70 แล้ว แม้ว่าเดี๋ยวนี้คนเรียนออนไลน์ได้หมด แต่การฝึกทักษะการตัดเย็บจริง ๆ ต้องมาลองทำเอง พี่คิดว่าโรงเรียนเป็นอะไรที่น่าจะดีสําหรับคนที่อยากมีรายได้เสริม ปักเสื้อใส่เองหรือแก้เสื้อตัวเองได้ อยู่บ้านทําสายสร้อยใส่เองได้ ทําให้ตัวเองดูดี”

ยิ่งใครคิดอยากจะสร้างอาชีพและมีรายได้หลักจากการเป็นดีไซเนอร์นั้น ยิ่งควรหาความรู้และฝึกทักษะอย่างเป็นทางการ โดยคุณเจี๊ยบ ในฐานะหนึ่งในผู้คร่ำหวอดในวงการนี้มาหลายสิบปีได้ให้คำแนะนำไว้อย่างดีว่า

“ถ้าคุณอยากเป็นดีไซเนอร์แล้วครอบครัวมีสตางค์ก็เป็นง่าย หากอยากเปิดร้าน ถ้ามีเงินลงทุนก็ทำได้ แต่คุณอยู่ได้นานเท่าไหร่ กี่เดือน กี่ปีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสมัยนี้เด็กเก่ง ๆ เยอะ บางคนไม่มีสตางค์ ไม่มีทุนทรัพย์ แต่เก่งก็มีมากมาย เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำอะไร คุณต้องเก่งจริง ๆ และต้องศึกษา เช่น ถ้าอยากเป็นดีไซเนอร์ ก็ควรรู้แพตเทิร์นสักนิดหนึ่ง จะได้รู้ว่าเมื่อเวลาเขียนแบบแล้วอะไรจะอยู่ตรงไหน วงการนี้มันต้องกัดฟัน พี่คิดว่าพี่กัดฟันมาเยอะมากเช่นกันกว่าจะอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้”

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล