จะเป็นยังไงถ้าจิตรกรรมฝาผนังไทยเคลื่อนไหวได้?
เราขอเสนอ รามาวตาร แอนิเมชันที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของจิตรกรรมฝาผนังและสร้างความแปลกใหม่ให้วงการแอนิเมชันด้วยการใช้ภาพจริงจากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระแก้ว แทนการใช้หุ่นปั้นในโปรแกรมแบบแอนิเมชันที่เราคุ้นเคย ทั้งยังเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกของโลกที่เสนอเรื่อง รามเกียรติ์ จากจิตรกรรมฝาผนัง
อ่านไม่ผิด! ภาพจากจิตรกรรมฝาผนัง คุณคงสงสัยไม่แพ้เราว่าจะทำยังไง และจะออกมาเป็นยังไง
ตามไปคุยกับ อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์ ว่ากว่าจะเป็น รามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิตสุดสนุกนั้นเป็นอย่างไร

จากการชมแอนิเมชันมาแล้ว 1 รอบ ขอกระซิบว่า อย่าเพิ่งกลัวว่าดูแล้วจะงงตาแตกตามไก่ ไม่ต้องมีความรู้เรื่อง รามเกียรติ์ ว่าใครลูกใคร และไม่ต้องยืนอึ้งหน้าฝาผนังยาวเป็นพืดว่าจะชมยังไง เพราะ รามาวตาร ดูง่ายและภาพดีงามเหมือนได้เดินรอบวัดพระแก้วด้วยตัวเอง
ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญลงทะเบียนเพื่อรับชม
01
ก่อนจะเป็น ‘รามาวตาร’
นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว อธิปัตย์มีโอกาสร่วมทำ DVD Interactive จิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงวัดพระเเก้วประกอบคำอธิบายแและบทร้อยกรอง เขาเห็นว่าจิตรกรรมแสนเก๋ที่ตนได้สัมผัส ไม่ได้ไทยประเพณีจ๋า แต่มีความร่วมสมัยซ่อนอยู่ ทั้งยังเป็นเรื่องที่มีคุณค่าแต่ไม่ค่อยมีใครเห็นค่าเพราะดูล้าสมัย เขาจึงปิ๊งไอเดียต่อยอดงานครั้งนั้นเป็นแอนิเมชันจากจิตรกรรมฝาผนังขนาดสั้น ตอน ธรรมะแห่งราชา เมื่อ พ.ศ. 2554 เพื่อนำเสนอเรื่องราวของพระราม ราชาผู้ทรงธรรม จากนั้น เรื่องราวของ รามาวตาร จึงถือกำเนิดขึ้น
ทีมงาน รามาวตาร พยายามระดมทุนสนับสนุนภาพยนตร์ตอน รามาวตาร อีกหลายปีจนกระทั่งใน พ.ศ. 2561 ไทยเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพอาเซียน และโขนไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ความฝันของทีมงานและผู้ที่เคยชมแอนิเมชันจิตรกรรมฝาผนังตอน ธรรมะแห่งราชา จึงเป็นจริง
02
จักรวาลรามเกียรติ์
นอกจากจักรวาล Marvel ที่ทุกคนรู้จักดี จักรวาลรามเกียรติ์เป็นอีกหนึ่งจักรวาลที่ทีมผู้สร้างอยากนำเสนอให้ทุกคนรู้จัก
จักรวาล Marvel บู๊ล้างผลาญขนาดไหน จักรวาลรามเกียรติ์ก็บู๊พ่นไฟไม่แพ้กัน รามาวตาร เล่าเรื่องกระชับฉับไว แต่ไม่ทิ้งใจความสำคัญที่จะสื่อ ฝ่ายพระรามคงเป็นเหล่าฮีโร่แบบที่ Iron Man เป็น และแน่นอน ทศกัณฐ์ต้องเป็นเหล่าร้ายที่มาล้างโลก (ขอจัดให้เป็นธานอสใน The Avengers)


เริ่มกันที่ปฐมบทของไตรภาค รามาวตาร ที่เล่าตั้งแต่ตอนที่พระนารายณ์สาปให้นนทุกไปเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์มี 10 เศียร 20 มือ และพระองค์จะไปจุติเป็นพระราม ที่แม้เป็นกษัตริย์แต่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเดินดิน เพื่อพิสูจน์ว่าถึงนนทุกใจมารจะมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าก็ยังต้องแพ้พ่ายไป จนถึงตอนที่พระรามสั่งให้เหล่าพลลิงเอาหินไปสร้างเป็นถนนข้ามมหาสมุทรเพื่อบุกไปยังลงกา
จุดที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้ชมคือ ทุกครั้งที่ตัวละครใหม่ปรากฏ จะมีข้อความสีขาวบอกชื่อและตำแหน่งของตัวละครนั้นๆ ทำให้คนที่มีความรู้เรื่อง รามเกียรติ์ เป็นศูนย์ก็เข้าใจและสนุกกับเรื่องได้

“จักรวาลรามเกียรติ์จะมัดใจคนดูยังไง เพราะ รามเกียรติ์ นั้นดูเก่าเกินที่เด็กน้อยวัยใสและผู้ใหญ่วัยมันสมัยนี้จะเข้าถึง” เราถาม
“ธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ทุกชนชั้น ถ้ามีรัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดอะไร แก่นยังตรงกับปัจจุบันที่คนทั่วไปสัมผัสได้ไม่ยาก” นนทรีย์เฉลยสิ่งที่เขาสัมผัสได้จากการอ่านบทภาพยนตร์ แท้จริงแก่นของ รามาวตาร กับเรื่องราวในจักรวาล Marvel นั้นเหมือนกัน เพียงนำเสนอต่างรูปแบบและเทคนิคเท่านั้น
03
เปลี่ยนวรรณคดีเป็นบทภาพยนตร์
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้จิตรกรรมฝาผนัง 44 ห้องภาพ และวรรณคดีไทยขนาดยาว 40 จาก 117 เล่มสมุดไทยกลายเป็นภาพยนตร์ 1 ชั่วโมง
ทีมเขียนบทเป็นอีกทีมที่ต้องแก้งานแล้วแก้งานอีก เพื่อให้ร้อยกรองหลายบรรทัดกลายเป็นคำพูดเพียง 2 ประโยคด้วยภาษาปัจจุบัน กวีบอกกับเราว่า เรื่องนี้เหมือนนำโขน 10 ตอนที่ปะติดปะต่อยากมาเสนอผู้ชมให้เข้าใจง่ายในตอนเดียว
ฟังแล้ววิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม แต่ความยากยังไม่หมดเท่านั้น ทีมงานต้องตีความและใส่เหตุผลทุกฉากทุกตอนเพื่อให้คนดูเข้าใจแนวคิดที่แฝงอยู่เบื้องหลังการกระทำของตัวละคร ขจัดความสงสัยของผู้ชมว่าเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ทำไมต้องรบกัน

“ทำไมต้องจองถนนและรบกับทศกัณฐ์ ให้หนุมานพานางสีดาเหาะไปก็ได้ แต่เพราะพระรามเป็นมนุษย์ มันคือการนำธรรมะไปปราบอธรรมด้วยวิถีของมนุษย์ สิ่งนี้น่าจะทำให้มันคลาสสิกจนส่งต่อมายาวนาน” อธิปัตย์บอกเราและเล่าต่อว่า นอกจากต้องตัดทอนรายละเอียดยิบย่อย ทีมงานยังต้องสร้างให้ รามาวตาร มีความเป็นภาพยนตร์มากที่สุด และนนทรีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมือ คือผู้ที่เข้ามาทำให้จิตรกรรมฝาผนังและวรรณคดีที่ใครๆ ก็มองว่าแสนเชยกลายเป็นภาพยนตร์สุดมันได้
“เราใส่ทั้งความเป็นหนังและความสนุกลงไปให้คนได้เห็น บางครั้งต้องบอกทีมงานว่า นี่มันลิเกแล้ว ไม่ใช่หนัง มันต้องมีอารมณ์ความรู้สึก ทำสิ่งนี้ไปแล้วผลที่ได้คืออะไร” หลายครั้งที่ทีมงานถกเถียงกันว่าจะใส่บทร้องเอื้อนหรือจะใช้บทพูด แต่นนทรีย์ก็พยายามเลือกอย่างหลังและใช้ดนตรีประกอบแบบหนังแทน


หลังจากเราดูไปแล้ว 1 รอบ ขอบอกว่าภาพดี เสียงปัง และบทเลิศ รามาวตาร มีความเป็นภาพยนตร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ การกระทำของตัวละครมีเหตุผลและเดินเรื่องดี มีจุดเริ่ม จุดไคลแม็กซ์ และแม้จะเล่าไม่ถึงตอนท้ายเพราะเป็นเพียงภาคแรก แต่ก็ลงจบตอนจองถนนได้อย่างสวยงาม ปูเรื่องให้เรารอชมตอนต่อไปแทบไม่ไหว
04
จากฝาผนังสู่จอภาพยนตร์
ทีมงานใช้เวลาในการเก็บภาพ 44 ห้องภาพจาก 178 ห้องภาพ นานเกือบ 2 เดือน แบ่งเก็บภาพ 2 ส่วน ส่วนแรกคือถ่ายเต็มห้องภาพ แต่ละ 1 ห้องภาพต้องถ่ายทั้งหมด 120 ครั้ง เพื่อได้ภาพใหญ่เท่าขนาดฝาผนังจริง อีกแบบคือถ่ายโคลสอัพสารพัดส่วนของตัวละคร แทบไม่อยากคิดว่าภาพทั้งหมดที่ต้องเก็บมีกี่ล้านภาพ!

เพราะผนังวัดมีอายุตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ย่อมผุพังตามกาลเวลาและอุดมด้วยความชื้น บางภาพที่ต้องการก็ไม่เหลือให้เก็บ


“ภาพพระรามปราบนนทุกก็เลาะออกไปแล้ว ดีที่ 12 ปีก่อนเราเก็บภาพนี้ไว้แต่ไม่ได้คมมาก เพราะตอนนั้นไม่ได้ถ่าย 120 ภาพแบบนี้ ครั้งนี้เราเตรียมตัวมากขึ้น มีไฟ LED ที่ไม่ทำลายภาพ มีมุมกล้องที่ดี” อธิปัตย์เล่าถึงความลำบากแต่สนุกครั้งนั้นให้เราฟังด้วยเสียงหัวเราะ
เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ เป็นอีกคำขวัญที่เราอยากมอบให้ทีมงาน
กระบวนการสร้างตัวละคร 1 ตัว ในแอนิเมชันเรื่องอื่นมักสร้างหุ่น 1 ตัว แล้วใส่ข้อต่อลงไปเพื่อเปลี่ยนขยับเป็นท่าทางอะไรก็ได้ตามชอบ


แต่ตัวละคร 1 ตัวในเรื่องนี้มีร่างอวตารอีกเป็นสิบๆ ร่าง ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย หากเหล่าผู้สร้างแอนิเมชันรุ่นเยาว์จาก 6 สตูดิโอ มีภาพพระรามในชุดฤษีเดินไว้ในคลัง แต่อยากได้ภาพพระรามในชุดกษัตริย์กำลังนั่ง ก็ต้องไปหาภาพนั้นๆ จากจิตรกรรม ไม่สามารถนำพระรามในชุดฤษีที่กำลังเดินมาใช้แทนได้ และเมื่อได้มาก็ต้องนำมาตัดออกเป็นสารพัดส่วน ทั้งขา แขน คิ้ว ตา ฯลฯ แล้วนำมาประกอบให้ขยับ จากนั้นยังต้องปรับภาพมุมสูงของจิตรกรรมให้มีมุมมองระดับสายตาคนเพื่อให้ผู้ชมเสมือนนั่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จนอินไปกับเรื่อง
ไม่พอ! แอนิเมชันส่วนใหญ่ที่เราดูมักเป็นสามมิติ เช่น Toy Story หรือเป็นสองมิติอย่าง Mulan เวอร์ชันการ์ตูน แต่ รามาวตาร ใช้เทคนิค 2.5 มิติ คือสร้างตัวละครแบนราบแบบสองมิติไปใส่ในฉากหลังที่มีความตื้นลึกแบบสามมิติ
แล้วทำไมไม่ทำเป็นสามมิติเหมือนแอนิเมชันอื่น?
อธิปัตย์บอกเราพร้อมสายตามุ่งมั่นที่จะคงความเป็นจิตรกรรมให้มากที่สุดว่า “ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ แต่เราเลือกโดยตรงที่จะทำแบบนี้ อยากให้เป็นภาพจิตรกรรมที่เคลื่อนไหวได้ สร้างโลกจิตรกรรมให้คนเข้าไปอยู่” เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจวัฒนธรรมและสิ่งรอบตัวได้อย่างลุ่มลึกและสนุกกว่าเดิม
05
ปลุกโขน
ถึงเวลาสนุกแล้วสิ! เพราะตัวละครบนฝาผนังทำท่าอย่างโขน การปลุกชีพจิตรกรรมจึงต้องมีท่าทางอย่างโขนด้วย รามาวตาร จึงจับคนทำภาพยนตร์ คนทำแอนิเมชัน มารู้จักโขนอย่างลึกซึ้งถึงแก่นด้วยการจัดอบรมให้ทุกคนเรียนรู้และลองทำท่าโขนแบบที่ไม่เคยทำที่ไหน
ทุกขั้นตอนการสร้าง รามาวตาร จึงมีครูรุ่นใหญ่ผู้มากประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา “อาจารย์จะทำให้ดูว่าต้องขยับต่างกันยังไง ท่านบอกว่า อย่าไปเกาลงนะ เกาลงนั่นหมา ต้องเกาขึ้นถึงเป็นลิง (หัวเราะ) เด็กๆ ก็จะสนุก พอเขาเข้าใจก็นำไปพัฒนางาน


“เราจะทำยังไงให้เขาใส่วิญญาณ ให้เชื่อว่าตัวละครมีชีวิต แต่ยังสื่อความหมายและอารมณ์ตามเรื่อง ทัพลิงเดินขบวนปรากฏหลายครั้ง เด็กๆ ก็คิดกันว่าครั้งแรกลิงจะไม่ค่อยเป็นกองทัพเท่าไร พอมาอยู่กับพระรามแล้วจะเป็นระเบียบมากขึ้น สุดท้ายจะกลายเป็นทัพพระรามที่ดุดันและมีพลังเพื่อบุกไปลงกา เด็กเขาพัฒนา เจ๋งมากนะ” อธิปัตย์เล่าอย่างภูมิใจ
“การอบรมนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่ได้รู้ที่มาจริงๆ เขาจะสนุกมาก เข้าใจแล้วก็เริ่มสร้างสรรค์ กำแพงต่างๆ จะหายไปหมดเลย” ดลยาเสริม
06
‘รามาวตาร’ จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต
กว่า 10 ปีที่รวบรวมทุนและพัฒนาเทคนิคการสร้าง และ 1 ปีที่ทุ่มเท เราถามว่า เหนื่อยขนาดนี้ทำไมยังมุ่งมั่นทำอยู่
“อุปสรรคเกิดขึ้นทุกวัน แต่ทุกคนพร้อมจะแก้ไขเพราะมองเห็นผลเลิศกับเรื่องนี้ ไม่มีใครพูดเรื่องเงิน พูดแต่เวลา ถ้าแก้ตรงนี้จะทันมั้ย” นนทรีย์เล่าความในใจแทนทีมงานทุกคนที่ร่วมเดินทาง
“ศิลปะคือเครื่องส่งต่อแรงบันดาลใจ ศิลปินตีความเรื่องราวเป็นภาพที่วิจิตรงดงาม เป็นโอกาสดีถ้าเราทำให้อยู่ในรูปแบบที่คนรุ่นใหม่เสพได้ง่าย สนุกตื่นเต้นกับหนังที่เราเล่า” อธิปัตย์ปิดท้ายอย่างสวยงามตามความตั้งใจที่จะส่งภาพยนตร์ชุดนี้ไปให้ถึงภาคสุดท้าย

การเดินชมจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วอย่างเข้าใจและซาบซึ้งคงเป็นเรื่องยาก ทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลและความเข้าใจจิตรกรรมฝาผนัง รามาวตาร จึงเสมือนเป็นไกด์นำทางคนสำคัญที่จะพาทุกคนท่องฝาผนังและอยากกลับไปเดินที่วัดพระแก้วอีกครั้ง
สำหรับเรา รามาวตาร เป็นแอนิเมชันสุดเจ๋งเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นวรรณคดีและจิตรกรรมที่มีคุณค่า แต่ถือเป็นอีกก้าวใหม่ของทั้งวงการแอนิเมชันไทยและศิลปะไทยโบราณ เป็นการเก็บจิตรกรรมไทยบนผนังที่ไม่คงทนให้อยู่ยืนยงส่งต่อได้ในรูปแบบไฟล์ ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนและส่งทอดความรู้ระหว่างคนต่างศาสตร์ และจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ นำเสนอความเป็นไทยแบบไม่จำเจด้วยการเปลี่ยนวรรณคดีบนหน้ากระดาษและจิตรกรรมที่ถูกตรึงบนฝาผนังกว่า 250 ปี ให้มีชีวิตโลดเเล่นอยู่บนจอภาพยนตร์
เราเชื่อว่าพวกเขามีชีวิต
ยังไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ ขอท้าให้คุณไปพิสูจน์ในโรงภาพยนตร์เอง
หากประชาชน หรือบริษัทใดต้องการสนับสนุนภาพยนตร์
สามารถติดต่อเพื่อจัดรอบชมได้ที่ รามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต
สำหรับผู้สนใจชมภาพยนตร์ สามารถลงทะเบียนในโครงการ “ชมแสน” เพื่อรอแจ้งรอบชมจากทางทีมงาน