โครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เชิญผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพมาสัมผัสเรื่องราวของวังหน้า และสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองออกมาเพื่อเล่าเรื่องวังหน้าในมุมที่แต่ละคนสนใจ

แค่ได้ฟังว่างานนี้คุณใหม่เชิญนักพฤกษศาสตร์มาร่วมด้วยก็น่าสนใจแล้ว แล้วก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่าคุณใหม่เชิญมาดูต้นไม้…ในจิตรกรรมฝาผนัง

รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือนักพฤกษศาสตร์ที่คุณใหม่เชิญมาดูพรรณไม้ต่างๆ ในจิตรกรรมฝาผนังของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้วเทียบกับของจริง ก่อนระบุว่าจิตรกรเขาวาดต้นอะไร ทำไมต้องเป็นต้นไม้ชนิดนี้ในภาพนี้ ถ้าเห็นดอกไม้แบบนี้แปลว่าอะไร

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ฟังแล้วสนุกเหลือหลาย นอกจากนักพฤกษศาสตร์ คุณใหม่ยังเชิญคนเก่งจากสารพัดวงการ ทั้งศิลปิน ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ มาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์วังหน้าในสถานที่ที่เคยเป็นวังหน้าจริงๆ แล้วสร้างชิ้นงาน จัดแสดงในโครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

อาจารย์กิติเชษฐ์เล่ากระบวนการทำงานให้ฟังว่า

“กระบวนการทำงานไม่ยาก มาเดินดูจิตรกรรมฝาผนัง ถ่ายรูป แล้วเอากลับไปเทียบกับต้นไม้จริง ไปดูใน Herbarium หรือพิพิธภัณฑ์พืช (สถานที่เก็บสะสมและรักษาตัวอย่างพืช อาจมีทั้งต้นหรือเพียงบางส่วนของพืช-ผู้เขียน) เอามาเทียบกับรูปที่เราเคยถ่ายเก็บไว้ และพยายามสันนิษฐานว่าในภาพจิตรกรรมนั้นคือต้นไม้อะไร ระบุชื่อให้ได้ งานทางชีววิทยาต้องอาศัยหลักฐาน การประเมิน การคาดเดาแบบมีข้อมูล งานผมครั้งนี้ก็คือการเอารูปมาเทียบกันนั่นเอง”

ความจริงไม่น่าง่าย เพราะพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2338 หรือ 224 ปีที่แล้ว ข้อจำกัดของภาพเขียนคือไม่ทนทานเท่ารูปปั้น แม้ในรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังด้วย แต่ก็ยังคงชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา คนธรรมดาอย่างเราไปยืนดูเกือบชิดฝาผนังยังไม่รู้เลยว่าเป็นภาพต้นไม้ เพราะเลือนรางเต็มที บางภาพพอดูออกว่าเป็นต้นไม้ แต่จะให้ระบุชื่อด้วยนั้นไม่มีทาง

แต่เมื่อนักพฤกษศาสตร์มายืนดูและสังเกตอย่างละเอียด ย่อมเห็นอะไรที่เราไม่เห็น

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

รู้จักจิตรกรรม ก่อนเดินเข้าไปดูต้นไม้ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยพระราชทานอภัยโทษแก่ชายผู้หนึ่งที่ฆ่าคนตาย และต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

ชายผู้นั้นคือ คงแป๊ะ จิตรกรเอกยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือ ฝีมือชาวสยาม อาจารย์เอนก นาวิกมูล สันนิษฐานไว้ว่า รัชกาลที่ 3 ทรงเสียดายฝีมือช่าง คงจะทรงเห็นว่าหากปล่อยให้คงแป๊ะตายไปในคุกก็ทำได้ ไม่มีใครเดือดร้อนอะไร แต่การรักษาชีวิตคนมีฝีมือไว้ให้มาสร้างงานนั้นดูจะมีประโยชน์กว่ามหาศาล ศิลปินคือฟันเฟืองสำคัญในการสร้างมรดกทางวัฒนธรรม

แค่นี้คงพอบอกได้ว่า ในสมัยนั้นจิตรกรรมฝาผนังและช่างเขียนรูปเก่งๆ มีความสำคัญเพียงใด

จิตรกรรมฝาผนังของไทยถือได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญทางวัฒนธรรม ในสมัยที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป หรือมีแต่ยังไม่แพร่หลาย ก็ได้จิตรกรรมฝาผนังนี่เองเป็นสิ่งบันทึกสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในแง่ของภาพต้นไม้ที่จิตรกรบันทึกไว้ อาจารย์กิติเชษฐ์กล่าวว่า “คนไทยเราอาจไม่มีหอสมุดดีๆ แบบฝรั่ง แต่บรรพบุรุษเขามีวิธีรักษาข้อมูลไว้ให้เราศึกษา คนอื่นมองอาจเห็นเป็นต้นไม้ธรรมดา แต่สำหรับผม มันคือบันทึกทางสัณฐานวิทยาและอนุกรมวิธานพืช ภาพจิตรกรรมฝาผนังถือเป็น Botanical Illustration คนเขียนภาพไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์ แต่เขาบันทึกสิ่งที่เห็น ต้นไม้ในภาพจิตรกรรมส่วนมากมีต้นจริงทั้งนั้น สะท้อนประเทศเรา สะท้อนพื้นที่ตรงนั้นในช่วงเวลาที่จิตรกรวาด”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

อาจารย์กิติเชษฐ์เลือกศึกษาจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จัดสร้างโดยสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงเป็น ‘น้องชายพ่อแม่เดียวกัน’ กับรัชกาลที่ 1 และทรงดำรงตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ในรัชสมัยนั้น

สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ทรงอัญเชิญมาจากทางเหนือ จึงไม่แปลกที่จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งเต็มไปด้วยภาพเหล่าเทวดาที่มานมัสการเจดีย์จุฬามณีแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีภาพพุทธประวัติที่ระบุรายละเอียดหลายตอน หลายภาพมีต้นไม้และดอกไม้ให้เห็น

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ระบุในหนังสือ จิตรกรรมไทย สมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม เกี่ยวกับเรื่องต้นไม้บางชนิดในพระที่นั่งองค์นี้ เช่น ภาพตอนพญามารทูลเตือนว่าถึงเวลาที่พระพุทธองค์ต้องเสด็จสู่มหาปรินิพพาน มีภาพตอนกษัตริย์ลิจฉวีโปรดให้ข้าราชบริพารจัดเตรียมภัตตาหารถวายพระพุทธองค์ ใต้ลงมาเป็นฝูงโคกำลังดื่มน้ำในสระบัว

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

อาจารย์สันติระบุว่า ช่างผู้เขียนฉากนี้สังเกตความงดงามของธรรมชาติ เพราะเขียนให้ภาพโคเหล่านั้นสะท้อนบนผิวน้ำสระบัว ต้นไม้ในฉากนี้คาดว่าคงถูกซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะปรากฏส่วนที่มีสีเข้มทึบ ตัดกับส่วนสีอ่อนจาง ที่น่าจะเป็นของเดิมในสมัยรัชกาลที่ 1

เชื่อไหมว่า ภาพ ‘ต้นไม้เคลื่อนได้’ ก็มีตั้งแต่สองร้อยกว่าปีก่อนแล้ว อาจารย์สันติอธิบายรายละเอียดภาพตอนพุทธบิดาสุทโธทนะทรงกระทำพระราชพิธีแรกนาขวัญไว้ว่า เป็นการแสดงบุญญาบารมีของพระกุมารสิทธัตถะ เพราะเงาของร่มไม้ในฉากทอดปกคลุมบริเวณที่พระองค์ประทับ ไม่ว่าตะวันจะเคลื่อนไปตามเวลาเช้าหรือบ่าย

เมื่อต้นไม้ในจิตรกรรมฝาผนังฉายภาพอดีต

อาจารย์กิติเชษฐ์อธิบายว่า ต้นไม้ในภาพจิตรกรรมอาจเป็นต้นไม้ที่มีหรือไม่มีอยู่จริงในพื้นที่ประเทศเราก็ได้

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพลายรดน้ำในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต้นไม้ใหญ่น่าจะเป็นซากุระ แต่ส่วนกลางถึงล่างของภาพเป็นต้นไม้แบบป่าดิบชื้น เพราะมีไม้อิงอาศัย ไม่แน่ใจว่ามีมาแต่เดิมหรือเติมตอนซ่อม บนต้นซากุระมีกล้วยไม้แบบภาพวาดไทย มีนกปรอด ไม้พุ่มด้านล่างเป็นยี่สุ่นหรือกุหลาบมอญ มุมล่างขวาจิตรกรวาดต้นเต่าเกียด เป็นไม้ที่พบในซีกโลกเหนือถึงภาคกลางของไทยแถวรอบกรุงเทพฯ เป็นไม้ในทุ่งระบบนิเวศแบบที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งปัจจุบันแทบจะสูญไปจากที่ราบภาคกลางแล้ว

ต้นไม้หลายอย่างในภาพจิตรกรรมที่เห็นก็เป็นชนิดที่อาจารย์เคยเห็นมันเติบโตอยู่จริงๆ เมื่อยังเด็กนั่นเอง

“พอผมเข้าไปในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ไม่ได้เห็นแค่จิตรกรรมฝาผนัง แต่เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนเรื่องเล่า สะท้อนช่วงชีวิตที่จิตรกรเขียน ผมเห็นภาพต้นไม้ต่างๆ ก็กลายเป็นว่า ภาพความทรงจำที่เห็นตอนเด็กๆ ฉายกลับมา” อาจารย์เล่า

“ผมเป็นคนแถวบางกอกน้อย อยู่ที่บางขุนนนท์ อยู่ใกล้วัดสุวรรณาราม ตอนเกิดรอบๆ บ้านมีแต่ป่า คนสมัยนี้อาจจะนึกไม่ออก เป็นป่าริมน้ำ ตอนเด็กๆ เวลาไปเยี่ยมญาติๆ พ่อพายเรือไป ผมประทับใจมาก เห็นต้นไม้ต่างๆ อย่างต้นตีนเป็ด มะกอกน้ำ ตามวัดสมัยก่อนก็จะมีต้นไม้เก่าแก่อย่างต้นยางนา ลำต้นสีขาว แต่จะมีโพรงดำๆ เพราะคนเอาไฟไปลนเพื่อให้ได้ชันมาใช้ คนสมัยก่อนอยู่ริมน้ำก็จะต้องมีการปรับปรุงเรือนทุกปีด้วยการยาชัน ซึ่งได้มาจากยางนี่แหละ”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพต้นมะพร้าว (Cocos nucifera L.) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพต้นยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb. ex G. Don) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพทุเรียน (Durio zibethinus L.) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ภาพ : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์

ในภาพจิตรกรรมมีแม้กระทั่งต้นทุเรียน ที่ถือเป็นของดีของเด็ดในท้องถิ่นยุคนั้น

“เห็นภาพต้นทุเรียนก็นึกได้ว่าตอนเด็กๆ แถวนี้มีต้นทุเรียนเต็มไปหมด คือทุเรียนเป็นของมีชื่อเสียงของบางขุนนนท์บ้านผม ทุเรียนเมืองนนท์ยังไม่อร่อยเท่าทุเรียนบางขุนนนท์เลย ผมจะบอกให้” อาจารย์ยิ้ม

“ตอนเด็กๆ ไม่เคยกินทุเรียนที่อื่นเลย ญาติๆ จะเอาทุเรียนมาให้กิน แล้วมีหลายสายพันธุ์มาก พอเห็นต้นทุเรียนในจิตรกรรมฝาผนังก็รู้สึกคุ้นเคย นี่มันบ้านเรานี่ ยังแอบคิดเลยว่าจิตรกรเป็นญาติเราหรือเปล่านี่ ไม่ใช่ของไกลตัวเลย”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

เรื่องทุเรียนบางขุนนนท์นี่ผู้เขียนขอยกมือยืนยันว่าจริง เพราะไปเจอหลักฐานในหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ คัมภีร์ไบเบิลของผู้สนใจการครัวชาววังอย่างโบราณ ท่านแนะนำแหล่งปลูกผลไม้ดีไว้ เช่น เงาะต้องของตำบลบางยี่ขัน ลางสาดต้องวัดทองคลองสาร (คลองสาน) ทุเรียนต้องบางบน (คือบางขุนนนท์ในปัจจุบัน)

“รูปจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งมีการวาดปลาเสือพ่นน้ำ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่นะครับแต่อาจหาดูยากหน่อย ผมฝึกว่ายน้ำในคลอง พ่อเอาลูกมะพร้าวมาผูกกับตัวแล้วผลักผมลงไปในน้ำเลย เรียกว่าว่ายน้ำเป็นเพราะลูกมะพร้าว ในภาพจิตรกรรมมีทั้งคลองและต้นไม้ที่เราคุ้นเคย ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนภาพยนตร์สารคดี ฉายให้เห็นภาพชีวิตตัวเอง เราเห็นแล้วก็ยังดีใจว่าเราเกิดทัน ขนาดเวลาในภาพกับเวลาเราเกิดห่างกันตั้งร้อยกว่าปี แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีจริงๆ เด็กรุ่นนี้จะไม่ได้เห็น” อาจารย์กล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง

“ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่า เรียนพฤกษศาสตร์นี่เธอจะได้ตาทิพย์ หูทิพย์ เพราะคนอื่นที่ไม่ได้เรียนเดินเข้าป่าเห็นต้นไม้สวย ถ่ายรูป แค่นี้ แต่พวกเธอจะได้ยินและได้เห็นอะไรบางอย่าง ต้นไม้เขาไม่มีเสียง แต่เขาบอกนะว่าตรงนี้น้ำเยอะ น้ำน้อย แม้แต่ในจิตรกรรม ที่ที่น้ำเยอะเขาก็วาดภาพต้นไม้อย่างหนึ่ง พอเราเจอต้นสะแกปั๊บ เรารู้เลยว่าตรงนั้นเป็นที่น้ำท่วมถึง”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ต้นไม้พิเศษ สำหรับภาพพิเศษ

ต้นไม้บางชนิดไม่มีทางงอกงามในประเทศเรา แต่ทำไมจิตรกรเขียนไว้ในภาพ

อาจารย์กิติเชษฐ์เฉลยว่า เพราะภาพนั้น ‘พิเศษ’

“เวลามีคนสำคัญในภาพต้นไม้จะเปลี่ยน เท่ากับเป็นเครื่องหมายบอกว่าภาพนี้ไม่ใช่ธรรมดานะ” อาจารย์อธิบาย “ต้นไม้บางอย่างมันไม่มีจริงๆ ในบ้านเรา อย่างเช่นต้นท้อ คล้ายๆ ซากุระ ก็อาจจะเห็นในภาพที่พิเศษหน่อย เช่น มีเทวดา หรือมีพระพุทธเจ้า ต้นไม้ของบ้านเราเป็นเขตร้อน มันไม่ผลัดใบอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเห็นต้นไม้ที่มีแต่ดอก ยิ่งดอกเล็กๆ เนี่ย พวกต้นท้อ Cherry Blossom ยิ่งไม่ใช่ต้นไม้ท้องถิ่นแน่นอน แต่จิตรกรเขาอาจเคยเห็น เคยไปทางเหนือ เคยขึ้นบนภูเขา แล้วอาจประทับใจ นำมาวาดในภาพของคนสำคัญ”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพดอกบ๊วย (Prunus mume Siebold & Zucc.) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ภาพ : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์

‘โอ! ไอซี’ คำอุทานนี้น่าจะเหมาะที่สุด ‘อย่างนี้นี่เอง’ ถ้าเดินดูเฉยๆ จะเข้าใจไหมเนี่ย

อาจารย์ยกตัวอย่างต่อไปว่า “พีโอนี (Peony) คนไทยเรียกดอกโบตั๋น เป็นต้นไม้ที่มีเฉพาะในเขตหนาว ไม่มีทางมาขึ้นร่วมกับกับต้นยาง ต้นทุเรียน แต่จิตรกรใส่ไว้ในภาพเพราะต้องการบอกว่า ต้องดูนะ คนที่อยู่ในภาพนี่พิเศษ หนังสือไตรภูมิเวลาพูดถึงสวรรค์ก็จะมีต้นสนสามใบ กุหลาบพันปี พอเป็นนรกก็จะวาดเป็นป่าชายเลน”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพดอกโบตั๋น หรือ เหมาต่าน ในภาษาจีน (peonies) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ภาพ : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพดอกโบตั๋น หรือ เหมาต่าน ในภาษาจีน (peonies) ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ภาพ : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์

การใช้สัญลักษณ์ทางธรรมชาติวิทยา (Botanical symbolism) มีในแนวคิดแบบตะวันตกเช่นกัน ในเทพปกรณัมกรีกมีตอนที่มนุษย์ถูกลงโทษ (หรือได้รางวัล) โดยสาปให้เป็นต้นไม้ เช่น ชายหนุ่มผู้หลงใหลเงาสะท้อนของตนเองถูกสาปให้เป็นดอกนาร์ซิสซัส (Narcissus) ภาพเขียนเกี่ยวกับเทพและเทพีมักมีต้นไม้ที่สัมพันธ์กับแต่ละองค์ เช่น ภาพแบคคุส (Bacchus) เทพแห่งเหล้าไวน์ จะมีเถาองุ่น ภาพเซเรส (Ceres) เทพีแห่งการกสิกรรม จะมีต้นข้าวโพดและข้าวสาลีอยู่ด้วย

อีกตัวอย่างคือ ดอกลิลลีสีขาวบริสุทธิ์เป็นตัวแทนพระแม่มารี มักปรากฏในภาพ The Annunciation ทั้งหลาย (คือภาพตอนที่เทวดามาแจ้งข่าวดีแก่พระแม่มารีว่านางจะได้เป็นมารดาของพระเยซู) ต้นมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความหวัง การเริ่มต้นใหม่ และสันติภาพ มักปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องราวระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าของชาวฮีบรู

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพดอกไม้ในจินตนาการที่ไม่ปรากฏให้เห็นบนโลกมนุษย์ในภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ภาพ : ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์

“ตอนที่ถูกชวนมาทำงานนี้ก็รู้สึกสนุกดี ตัวเองเป็นคนแถวนี้ รู้สึกตื้นตัน ว่านี่คือชีวิตของเรา นี่คือภาพที่เราเคยเห็น มันทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ เป็นธรรมชาติรอบตัวนี่แหละที่ผลักดันให้เราเรียนพฤกษศาสตร์ ขนาดจิตรกรยังได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเลย ถ้าเป็นเราวาด ก็จะวาดแบบนี้แหละ วาดสิ่งที่เราเห็น” อาจารย์ดูสนุกอย่างที่บอกจริงๆ เพราะอธิบายด้วยความกระตือรือร้น ให้คนไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ใบหญ้า ได้เข้าใจความสำคัญของภาพต้นไม้ในงานจิตรกรรม

ผลงานครั้งนี้ของอาจารย์กิติเชษฐ์จะถูกบันทึกไว้ในรูปแบบไปรษณียบัตรแจกให้ผู้เข้าชมนิทรรศการ ทำให้เรามองจิตรกรรมฝาผนังในมุมมองใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องราวพุทธประวัติและชาดกตอนต่างๆ

คำถามสุดท้ายจาก The Cloud ขอถามนักพฤกษศาสตร์ว่า เราศึกษาประวัติศาสตร์ไปทำไม

“ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของเราอยู่แล้ว ไม่อยากจะไปรณรงค์ว่า มาสนใจประวัติศาสตร์กันเถอะ คนที่เป็นวิญญูชนจะต้องสนใจประวัติศาสตร์ ต้องสนใจว่าเรามาจากไหน เราเป็นผลผลิตจากใคร มีตำแหน่งตรงไหนในสังคม

“ในระบบนิเวศ ฝรั่งเขาเรียกธรรมชาติวิทยาว่า Natural History คือก็มีนัยอยู่แล้วว่าเป็น ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลถึงตัวเรา เราเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ ไม่ต้องถามว่าควรสนใจหรือไม่สนใจ แต่ถ้าเราศึกษาจะเห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราใช้บริการของเขาอยู่ ประวัติศาสตร์คือชีวิตเรา เราควรเข้าใจมัน ทั้งของตัวเราเองและของคนอื่น เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รู้ว่าเรามีหน้าที่และบทบาทอะไรในระบบนิเวศครับ”

จิตรกรรมฝาผนัง, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

เอกสารประกอบการเขียน

หนังสือ

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (บรรณาธิการ). ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2557

สันติ เล็กสุขุม. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2548

เอนก นาวิกมูล. ฝีมือชาวสยาม. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำสำนักพิมพ์, 2554

Hagen, Rose-Marie & Hagen, Rainer. What Paintings Say: 100 Masterpieces in Detail. China : Taschen, 2016

 

เว็บไซต์

www.metmuseum.org/toah/hd/bota/hd_bota.htm
symboldictionary.net/?p=1333

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล