“ชอบรถไฟสายไหนมากที่สุด”
เป็นคำถามยอดนิยมที่โดนถามตลอด เมื่อคู่สนทนารู้ว่าเรานั่งรถไฟมาแล้วทั่วราชอาณาจักรไทย และคำตอบก็มักจะเหมือนเดิมว่าเราชอบทุกสาย ทุกสายไม่เหมือนกัน แต่สายที่ชอบที่สุด บอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า สายใต้ โดยเฉพาะเส้นทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลายด้ามขวาน ที่เริ่มนับจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผ่านปัตตานี ยะลา และไปสุดที่สถานีสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เต็มไปด้วยการเติมเต็มความสุขจนล้นออกจากปากได้หลากหลายมาก ทั้งของกิน ธรรมชาติ ผู้คน รวมถึงความเร็วรถไฟในระดับที่เรียกว่าซิ่ง น่าจะไม่ผิดเท่าไหร่
ความชอบของเราเริ่มจากเป็นสายที่ไปยากที่สุด เพราะไกลที่สุดจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางกว่าพันกิโลเมตร นั่งรถไฟที่ใช้คำว่าตูดด้าน ถ้าคุณเลือกนั่งชั้นสาม แต่คุณจะรู้สึกสบายสุด ๆ ถ้ามารถนอน นั่นหมายความว่าการจะได้ไปเยือนทางรถไฟสุดทางที่สุไหงโก-ลก เป็นเรื่องยากมาก ๆ สำหรับเด็กบ้ารถไฟในวัยเรียน ที่เงินในกระเป๋ายังไม่มากพอจะนั่งรถนอน
การเดินทางไปเส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่ – สุไหงโก-ลก เกิดขึ้นครั้งแรกก็ปาเข้าไปช่วงทำงานแล้ว ตอนนั้นเรากลัวนะจากข่าวที่เคยได้ยิน แต่ไหน ๆ แล้ว การลงไปครั้งนั้นต้องไปหาคำตอบกับตัวเองให้ได้ว่าน่ากลัวจริงหรือเปล่า
คำตอบที่เราได้กับตัวเองคือ ทางรถไฟสายนี้ก็เหมือนกับทางรถไฟทั่ว ๆ ไป มีสถานี มีเส้นทาง มีสะพาน มีเรื่องเล่า มีธรรมชาติ และที่สำคัญคือมี ‘คน’ ที่ทำให้รถไฟสายนี้มีชีวิตชีวาไม่เหมือนใคร ในความเป็นชุมชนที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานของคนพื้นถิ่นต่างศาสนา แต่การใช้ชีวิต อาหารการกิน และการเดินทางกลับเหมือนกันอย่างลงตัวและเชื้อเชิญให้เราไปทำความรู้จัก
เมื่อมีครั้งแรก ก็ต้องมีครั้งต่อ ๆ มา
ปกติแล้วเราจะนั่งรถเร็ว 171 กรุงเทพฯ – สุไหงโก-ลก ลงไปใต้สุดเสมอ เพราะเป็นรถที่ใช้เวลาเดินทางนานที่สุด (เขามีแต่เดินทางให้น้อยที่สุด ไอ้นี่แปลก) ออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงเที่ยงครึ่ง ถึงหาดใหญ่ในช่วงเช้ามืด จอดรออีกประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อรอฟ้าสาง ก่อนจะเดินทางต่อไปถึงปลายทาง
รถไฟขบวน 171 มีความยาว 10 กว่าตู้ เป็นรถนั่งชั้นสามไปแล้วค่อนขบวน มีรถนั่งชั้น 2 พัดลมปรับเอน และรถนอนชั้น 2 แอร์เย็นฉ่ำอยู่ท้ายขบวน ระยะทางที่มันเดินทางนั้นร่วมหนึ่งพันกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางที่เรียกได้ว่าใครนั่งชั้น 3 ก็คือเตรียมตัวเข้าคลาสกายภาพบำบัด หรือหาหมอนวดมาช่วยเหลือร่างกายโดยทันที
ขบวนรถไฟสายสุไหงโก-ลก เป็นหนึ่งในขบวนยอดนิยม มีผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยเลยที่เดินทางในทุก ๆ วัน และตั๋วเต็มเร็วเสียยิ่งกว่าใคร อาจเป็นเพราะรถไฟคือการเดินทางที่สะดวกที่สุดสำหรับระยะไกลขนาดนี้ และที่สำคัญ เส้นทางที่มันผ่านถือว่าเข้าเมืองแบบตรง ๆ ชนิดถนนเส้นหลักต้องอ้อมไปมา จึงทำให้คนใต้นิยมนั่งรถไฟมาก แม้ว่าสายการบินต้นทุนต่ำจะมาแย่งลูกค้าไปบางส่วน
กระนั้นแล้วความนิยมในการใช้รถไฟของพี่น้องชาวใต้ก็ยังคงเรียกได้ว่าอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะนอกจากตัวเลือกของชั้นโดยสารมีมากมายแล้ว การเอาสัมภาระติดตัวมานั้นก็พกน้ำหนักมาได้มากกว่าเครื่องบินหลายเท่าตัว แถมถ้ารู้สึกเมื่อยขบ ก็ลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสาย หรือแม้แต่อาบน้ำบนตู้รถไฟยังทำได้เลย
ไม่แปลกใจเลยถ้าตู้นอนจะเต็มเร็วขนาดนี้
สงขลา
จากสถานีกรุงเทพด้วยระยะทาง 945 กิโลเมตรมาถึง ‘สถานีชุมทางหาดใหญ่’ สถานีที่ได้ชื่อว่ามีคนขึ้นลงมากที่สุดในเส้นทางรถไฟสายใต้ สถานีที่ทำหน้าที่เป็นชุมทางสำคัญของทางรถไฟตอนล่างที่แยกออกเป็น 2 ส่วน สายหนึ่งไปเจอกับทางรถไฟของมาเลเซียที่ปาดังเบซาร์ เพื่อมุ่งหน้าไปบัตเตอร์เวอร์ธ (ปีนัง) กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์
อีกสายหนึ่งมุ่งหน้าผ่านปัตตานี ยะลา นราธิวาส เส้นทางที่เรากำลังจะเดินทางไป
รถไฟทุกขบวนที่มาถึงชุมทางหาดใหญ่นั้นจะต้องจอดนานหลายนาที สาเหตุนั้นคือการตรวจสภาพรถจักร ตรวจสภาพรถ ให้มีความพร้อมก่อนเดินรถเข้าไปในเขตที่เรียกกันว่า ‘พื้นที่สีแดง’ บางขบวนก็ตัดตู้ให้สั้นลง
ในขณะที่จอดอยู่นั้น แขกกลุ่มใหม่ก็เริ่มเดินขึ้นมาบนรถในทุก ๆ ตู้ ลักษณะของแขกกลุ่มใหม่คนที่ไม่คุ้นเห็นแล้วอาจจะตกใจได้ เขาคือเหล่าอาสาความมั่นคงในชุดเครื่องแบบคอยคุ้มกันความปลอดภัยในพื้นที่สีแดง ให้แก่ขบวนรถไฟทุกขบวนที่ต้องวิ่งในเส้นทางสายสุไหงโก-ลก
นอกจากกระบวนการหลังบ้านแล้ว การจอดที่หาดใหญ่นาน ๆ ก็เป็นช่วงเวลาอันดีที่เราจะได้สรรหาของกินเพื่อสะสมสำหรับการเดินทาง ข้าวเหนียวไก่ทอดสีส้มโรยหอมเจียว เนื้อเค็มสีน้ำตาลเข้ม คืออาหารประจำสถานีชุมทางหาดใหญ่ แต่ก็เตือนไว้ก่อนว่าอย่าเพิ่งซื้อเยอะ เพราะมีอีกหลายสถานีข้างหน้าที่ของกินอร่อย ๆ รอเราอยู่ การเลือกสรรเมนูต่าง ๆ แล้วลิ้มชิมรสไปกับการเดินทางความสนุกของการเดินทางด้วยรถไฟไทย ที่สำคัญ มันทำให้เราได้รู้จักอาหารท้องถิ่นมากขึ้น
การตรวจสอบขบวนรถทั้งหมดเรียบร้อย รถไฟก็ออกเดินทางต่อเมื่อสิ้นเสียงระฆัง
เมื่อออกจากหาดใหญ่ สภาพสองข้างทางมีความเป็นเมืองขยายใหญ่โต การตัดทางรถไฟมาถึงได้สร้างจำนวนประชากรให้หลั่งไหลมาอยู่ในเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้ ตึกรามบ้านช่องมากมายเกิดขึ้น ขยายอาณาเขตกว้างขวางจนรู้สึกได้เลยว่าหาดใหญ่เป็นเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่างได้ไม่ยาก ก่อนที่ภาพเมืองจะค่อย ๆ เลือนไปแล้วธรรมชาติเข้ามาแทนที่
แม้ว่ารถไฟจะออกจากหาดใหญ่มาแล้ว แต่คนในขบวนไม่ได้บางตาลงเลย ส่วนหนึ่งก็ขึ้นมาจากหาดใหญ่เพื่อเดินทางไปปัตตานี ยะลา นราธิวาส ด้วย นั่นเป็นเพราะการเดินทางด้วยถนนนั้นมีเส้นทางที่อ้อมกว่า ไม่ได้ตัดเข้าเมืองตรง ๆ อย่างรถไฟ การเดินทางด้วยขบวนรถเร็ว ไม่ได้จอดทุกสถานี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ต้องการนั่งรถไฟท้องถิ่นแบบจอดทุกสถานี ยิ่งการซื้อตั๋วรถไฟตู้นอนในช่วงเวลากลางวันในราคาพิเศษแบบไม่คิดค่าเตียงในราคาประหยัด ทำให้ตู้นอนที่แต่ก่อนเมื่อมีคนลงแล้วก็ลงเลย กลับมีคนตีตั๋วขึ้นมาจนทำให้ที่นั่งไม่ว่างเปล่า
สถานีเทพา เป็นสถานีไม้เล็ก ๆ ตั้งอยู่ในทางโค้ง ด้านหลังสถานีเป็นบ้านเรือน ต้นไม้ใหญ่ และถังเติมน้ำรถจักรไอน้ำ อนุมานได้ว่าในอดีต สถานีเทพาเป็นหนึ่งในสถานีสำคัญของเส้นทางสายใต้ นอกจากด้านการเดินรถไฟแล้ว อาหารการกินของที่นี่เรียกได้ว่า เมื่อไหร่ที่รถไฟมาถึง เราต้องชะเง้อตัวคอยเรียกแม่ค้าที่หอบหิ้วกระเช้าเตรียมค้าขายที่ริมหน้าต่าง
เทพาอาจจะไม่คุ้นหูมากนักกับคนทั่วไป แต่ถ้าใครสักคนเคยอ่านหนังสือเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ ที่นี่คือฉากหลังของเรื่องราวอันสละสลวยสวยงามของเด็กหนุ่มสาวชาวใต้ จนกลายเป็นหนังไทยอมตะเรื่องหนึ่ง บรรยากาศในหนังมีหลายอย่างที่ยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารสถานี ต้นไม้รกครึ้ม ผู้คนที่ขายของบนชานชาลา สะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ ส่วนสิ่งที่หายไปแล้วแน่ ๆ คือการขึ้นไปนั่งบนหลังคารถไฟและหัวรถจักรไฮดรอลิกส์รุ่นเก่า ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้ก่อนนั่งรถไฟสายสามจังหวัดชายแดนน่าจะอินได้ไม่ยาก
สำหรับสถานีเทพา แกงเขียวหวานไก่ใส่ฟัก พร้อมไก่ทอดสีส้มรสเค็มราดบนข้าวสวยร้อน ๆ หอมกรุ่น คืออาหารห้ามพลาด ความคล่องแคล่วของแม่ค้าที่วิ่งหิ้วของมาเสนอขายตรงหน้าต่าง แข่งกับเวลาที่รถไฟจอดเพียงน้อยนิดแค่ 1 นาที เพียงแค่คุณเอ่ยปากไปว่าจะเอากี่กระทง เจ้าอาหารเช้าซิกเนเจอร์แห่งเทพาก็พร้อมเสิร์ฟเป็นชุด
รสชาติหวาน ๆ เผ็ด ๆ ของฟักนั้นเข้าเนื้อมาก กัดไปแล้วไม่จืดเลย ส่วนไก่ก็เค็มกำลังดี กินเพลิน ๆ พร้อมเลียนิ้วมือ ถือได้ว่าเป็นอาหารสวรรค์ของคนนั่งรถไฟสายนี้
เมื่อก่อนข้าวที่นี่ขายเป็นกระทงใบตองจริง ๆ แต่ช่วงหลัง ๆ สังเกตได้ว่ามาเป็น Traveling Kit ในถุงพลาสติก ป้าแม่ค้าบอกว่ามันง่ายกับการกิน ถ้าเป็นกระทงใบตอง จะร้อนมือเวลาจับ เมื่อราดแกงลงไปมันจะแฉะและกินลำบาก ป้าเลยอำนวยความสะดวกให้ด้วยการบรรจุข้าวใส่กระทง โปะไก่ไว้ แล้วจับแต่ละชุดลงถุงพร้อมช้อน พอขายก็ค่อยราดแกง ตอนกินก็พุ้ยเข้าปากได้โดยไม่ต้องเอามือน้อย ๆ ประคองกระทงใหญ่ กินหมดก็รวบทุกอย่าง (รวมถึงขยะอื่น ๆ) เข้าถุงแล้วเอาไปหย่อนในถุงขยะบนรถไฟต่อไป
ปัตตานี
สถานีปัตตานี เป็นอีกที่หนึ่งที่มีคนขึ้นลงหนาตา จริง ๆ แล้วสถานีนี้ไม่ได้ชื่อปัตตานีมาแต่อ้อนแต่ออก นามที่แท้จริงคือสถานีโคกโพธิ์ ด้วยเพราะสถานีนี้ตั้งอยู่ในอำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปราว ๆ 20 กิโลเมตร แต่เพราะว่าทั้งจังหวัดปัตตานีทางรถไฟผ่านที่นี่ที่เดียว และซ้ำยังเป็นสถานีประจำจังหวัดอีก สถานีโคกโพธิ์จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีปัตตานี แล้วมีวงเล็บห้อยท้ายว่า ‘โคกโพธิ์’ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และยังคงชื่อสถานีตามพื้นที่เอาไว้ให้รู้ว่าที่นี่คืออำเภอโคกโพธิ์
ออกจากปัตตานีแล้วเราจะผ่านสถานีนาประดู่ และตามมาด้วย สถานีวัดช้างให้ สถานีนี้เป็นที่ตั้งของ วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ตามตำนานเล่าว่า เจ้าเมืองไทรบุรีต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้อธิษฐานปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า ช้างได้หยุดตรงที่แห่งหนึ่งแล้วร้องออกมา 3 ครั้ง เจ้าเมืองจะใช้บริเวณนั้นสร้างเมืองแต่น้องสาวไม่ชอบ จึงได้สร้างเป็นวัดตรงที่นั้นแทน แล้วตั้งชื่อว่าวัดช้างให้
นอกจากตำนานวัดช้างให้แล้ว ที่นี่ยังเป็นที่สักการะบูชาหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ที่จะเห็นเหล่าบรรดาชาวพุทธหอบหิ้วของมาไหว้บูชาบ้าง มาแก้บนบ้าง ไม่ก็มาทำบุญบ้างมากับรถไฟแล้วลงที่สถานี เดิมทีที่นี่ไม่มีสถานี ใครจะมาวัดต้องไปลงที่สถานีป่าไร่ หรือสถานีนาประดู่เท่านั้น พอคนมามาก ๆ เข้า ก็เลยอำนวยความสะดวกโดยการสร้างสถานีซะเลย อยู่หน้าวัดชนิดเรียกว่าลงปุ๊บ เดินหน่อยก็ถึงปั๊บ
ระหว่างทางนั้นขบวนของเราสวนกับรถไฟท้องถิ่นมาประปราย จะว่าไปแล้วชีวิตคนในสายใต้ตอนล่างใช้รถไฟเดินทางกันเรียกได้ว่าเป็นประจำเลยดีกว่า มีรถท้องถิ่นเชื่อมระหว่างสุไหงโก-ลก ไปสุราษฎร์ธานี จากสุไหงโก-ลก ไปยะลา หรือแม้แต่ไปนครศรีธรรมราชหรือพัทลุง
ขบวนที่สวนมา เต็มไปด้วยผู้คนทุกที่นั่ง ตู้ขบวนก็สีไม่เหมือนกับรถไฟแถวกรุงเทพฯ ออกจะเป็นสีเขียว-ขาว ซึ่งเราจะเห็นรถสีนี้ได้แค่ทางสายใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ชุมพรลงมาเท่านั้น แถมที่ไม่เหมือนใคร คงเป็นเก้าอี้นั่งที่ทำจากไม้สักสีน้ำตาล เห็นแล้วชวนปวดก้นไม่ใช่น้อย และในทุก ๆ ขบวน จะมีตู้ขนสัมภาระ 1 ตู้ ที่คอยไว้ขนมอเตอร์ไซค์ กล่องพัสดุ ถุงกระสอบใบใหญ่ หรือแม้แต่สะตอและลองกอง
บางทีสีเขียวของตู้โดยสารรถท้องถิ่นสายใต้ อาจจะมีแรงบันดาลใจมาจากสะตอก็ได้มั้ง
ยะลา
เรามาถึงครึ่งทางของเส้นทางนี้แล้ว จังหวัดยะลาตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี มีสะพานรถไฟสีดำทะมึนทอดข้ามลำน้ำเข้ามาที่ตัวเมือง ยะลาถือว่าเป็นเมืองที่คึกคักมาก
สถานียะลา ค่อนข้างแปลก ดูเหมือนอาคารพาณิชย์มากกว่าสถานีรถไฟ ทางเข้าเป็นตึกแถวสูงและมีเพียงชานชาลาเท่านั้นเองมั้ง ที่ทำให้รู้ว่าที่นี่คือสถานีรถไฟ
เดิมทีนั้นสถานียะลาก็เป็นอาคารสถานีทั่วไปนี่แหละ การเอาพื้นที่สถานีมาพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้นเริ่มต้นมาราว ๆ 20 กว่าปีได้ เมื่อการรถไฟฯ ก็ต้องการหารายได้จากที่ดินของตัวเอง และสถานีรถไฟเองก็เป็นทำเลทองที่พัฒนาเป็นย่านการค้าได้ เพราะตั้งอยู่ในตัวเมืองมีชุมชนล้อมรอบ การสร้างอาคารพาณิชย์ควบรวมกับสถานีรถไฟจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในยุคนั้น นอกจากร้านค้าแล้วก็ยังมีสำนักงาน โรงแรม และอื่น ๆ อยู่ในตึกนั้นควบคู่กับสถานีรถไฟ จะเห็นได้ชัด ๆ ก็ที่สถานียะลา ชุมทางหาดใหญ่ อุตรดิตถ์
ที่ยะลา เราไม่อยากให้คุณพลาดไก่ฆอและ (ไก่กอและ) เป็นอาหารพื้นถิ่นรสชาติจัดจ้านด้วยเครื่องเทศคลุกกับกะทิสีออกแดง ๆ รสชาติติดหวาน บ้านเกิดเมนูนี้เขาว่าอยู่ที่ปัตตานี ก่อนจะกระจายมาเรื่อย ๆ ในภาษามลายูจะเรียกว่า Ayam Golek คำว่า Ayam แปลว่าไก่ ส่วน Golek แปลว่ากลิ้ง ก็คงหมายถึงเวลาปิ้งไก่ก็ต้องกลิ้ง ๆ ๆ ไปนั่นแหละ แม่ค้าที่นี่ขายกันคึกครื้น ไม่ต่างอะไรกันกับข้าวแกงกระทงที่สถานีเทพาเลย ถ้าเราช้าก็อาจอดกินได้ ซึ่งแน่นอนเราอด ช่างน่าเศร้า มาตั้งไกลไม่ได้กิน
ตั้งแต่ยะลาเป็นต้นไป คนบนรถหายไปเกือบครึ่ง มีที่ว่างมากพอให้สลับหน้าต่างซ้ายขวาดูวิวได้มากขึ้น ทัศนียภาพจะเริ่มเปลี่ยนไป ความเป็นป่ามีมากขึ้น มีภูเขาที่ยอดจับด้วยเมฆและหมอกกระจายตัวไปทั่ว อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าใสไร้ฝุ่น บ้านเรือนจับกลุ่มกันเป็นชุมชนที่มีทั้งผสมผสานไทยพุทธและไทยมุสลิม หรือแม้แต่เป็นหมู่บ้านที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่ล้วน ๆ
ทางรถไฟสายนี้ผ่านปัตตานีและยะลาในระยะแค่ไม่กี่กิโลเมตร เหมือนว่าทางรถไฟแค่ตัดผ่านบางส่วนของจังหวัดเท่านั้น สถานีที่ถัดจากยะลาเป็นต้นไปมีการล้อมรั้วเขตสถานีแน่นหนา มีรั้วลวดหนามรวมถึง เราสังเกตได้ว่าตรงสุดขอบรั้วนั้นมีประตูเปิดปิดได้ หมายความว่าเมื่อขบวนสุดท้ายของวันผ่านไป สถานีจะปิดประตูกั้นทางรถไฟเอาไว้ คงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของตัวอาคารสถานีและอุปกรณ์ของรถไฟทั้งหมด
รถไฟเคลื่อนตัวมาจนถึงชายแดนระหว่างยะลาและนราธิวาส เส้นแบ่งเขตจังหวัดเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำเส้นใหญ่ที่โอบล้อมด้วยป่า มีสะพานรถไฟขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นชุด วิ่งผ่านทีเสียงดังกึงกัง เพื่อนร่วมทางของเราบอกว่าสะพานกลุ่มนี้เป็นเหมือนจุดสังเกตที่บอกคนนั่งได้ว่ากำลังจะถึงสถานีรือเสาะ และเข้าเขตจังหวัดนราธิวาส จังหวัดสุดท้ายของเส้นทาง
นราธิวาส
สถานีรถไฟตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจะเริ่มมีชื่อแปลก ๆ ไม่คุ้นหู จากก่อนหน้านั้นเป็นชื่อที่เรารู้สึกคุ้นหู เช่น นาม่วง วัดควนมีด จะนะ เกาะสะบ้า เทพา นาประดู่ คลองทราย หลังจากยะลาก็เข้าสู่พื้นที่ของสถานีชื่อพื้นถิ่น ที่ต้องตั้งใจอ่านและสนุกสนานไปกับการตามหาความหมายว่า สถานีนั้นชื่อแปลว่าอะไร
สถานีรือเสาะ เป็นอีกหนึ่งสถานีสำคัญของเส้นทาง อำเภอนี้คนนิยมเดินทางด้วยรถไฟมาก ทำให้คนในขบวนเริ่มดูโล่งตาขึ้นอีก ชื่อของรือเสาะเป็นภาษามลายู แปลว่า ‘ต้นสักน้ำ’ พันธุ์ไม้ชนิดนี้พบได้ทางภาคใต้ ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายบุรี ลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อนต้นใหญ่ ซึ่งเป็นไม้สักคนละแบบกับของภาคเหนือ คนท้องที่จะเรียกรือเสาะอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ยะบะ’ แปลว่าการแสดงความคารวะโดยการจับมือกันด้วยไมตรีจิต
ขบวนรถไฟของเราก็ยังคงเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ ผ่านสถานีชื่อแปลกหูอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านสะโลว์บูกิ๊ตยือแร (บูกิ๊ตแปลว่าภูเขา) สถานีลาโละ (ชื่อต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์) สถานีมะรือโบ (ต้นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นสูงใหญ่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน) ที่หยุดรถกะแด๊ะ (อันนี้สะดุดตามากว่าต้องมีคนอ่านผิดแน่ ๆ) จนมาจอดที่สถานีตันหยงมัส
ตันหยงมัส คนจะคุ้นเคยชื่อนี้จากพันธุ์ลองกองสุดอร่อย ตันหยงมัสคือชื่อสถานีรถไฟที่เป็นสถานีประจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ในอำเภอระแงะ ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสไปประมาณ 20 กม.
ตันหยงมัสมีความหมายที่สวยงาม
ตันหยง หมายถึง ต้นพิกุล หรือแหลม (แผ่นดินที่งอกออกไป)
มัส หมายถึง ทอง (มาศ)
ตันหยงมัส คือต้นพิกุลทอง ซึ่งก็มีอีกความหมายหนึ่งเช่นกัน ก็คือ แหลมทอง
เหลือระยะอีกไม่มากรถไฟขบวนนี้ก็ถึงปลายทางสุไหงโก-ลก หลังจากออกเดินทางมาร่วม 20 ชั่วโมง ช่วงสุดท้ายของการเดินทาง จำนวนผู้โดยสารเริ่มบางตาลงหลังจากลงชุดใหญ่ไปแล้วที่ตันหยงมัส พี่ ๆ อาสาฯ ยังคงทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบนรถไฟตลอดเวลา พี่อาสาฯ ที่ประจำตู้เราเป็นผู้หญิงดูทะมัดทะแมงในชุดพราง ใบหน้าแต่งด้วยเครื่องสำอางสะสวย พี่สาวอาสาฯ เล่าให้ฟังว่าเป็นอาสาฯ มา 20 ปีแล้ว
“ก็ยังอยากทำงานแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ เพราะถ้าไม่ทำงานตรงนี้ก็ต้องไปค้าขาย เขาก็มีเพื่อนอาสาฯ ด้วยกันเยอะนะ หายไปก็หลายคนอยู่ บางคนไม่ได้ร่ำลากันด้วยซ้ำ”
เราถามพี่เขาว่ากลัวไหม พี่สาวตอบแทบจะทันควัน “ไม่กลัว พี่ไม่มีอะไรต้องกลัวแล้ว ชีวิตเรามันก็แค่นี้แหละ พี่มีความสุขกับที่พี่ทำ เขาก็ดูแลเราดี”
“เนี่ย เดี๋ยวออกสุไหงปาดีไปก็ถึงสุไหงโก-ลก แล้ว มากี่วันล่ะน้อง จะไปไหนมาไหนก็หูตาไวหน่อยนะ จริง ๆ มันก็ไม่น่ากลัวหรอก ถ้าคนต่างถิ่นที่ไม่คุ้นก็ต้องช่างสังเกตหน่อย คนโก-ลก ใจดี ลองไปกินก๋วยเตี๋ยวหลังสถานีนะ อร่อยดี” พี่อาสาฯ พูดไหลไปเรื่อยชนิดที่ว่าคนพูดเก่งอย่างเรายังพูดตามไม่ทัน เราแลกเปลี่ยนอะไรกันเยอะมาก เผลอแป๊บเดียวรถไฟก็ถึงสถานีสุไหงโก-ลก ปลายทางของรถไฟขบวนนี้ในช่วงเวลาเกือบเที่ยง
สุไหงโก-ลก
สถานีสุไหงโก-ลก เป็นสถานีสุดท้ายในเส้นทางสายใต้ และเป็นสถานีที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่สุด ด้วยระยะทางกว่า 1,159 กิโลเมตร
สุไหง แปลว่า แม่น้ำ
โก-ลก แปลว่า คดเคี้ยว
สุไหงโก-ลก จึงหมายถึงแม่น้ำที่คดเคี้ยว ซึ่งนั่นก็คือแม่น้ำที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับรัฐกลันตันของมาเลเซีย ในอดีตนั้นมีทางรถไฟเดินทางต่อไปรัฐกลันตัน ตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย และสุดสายอยู่ที่สิงคโปร์
เดิมทีที่นี่เป็นสถานีชายแดนเหมือนกับปาดังเบซาร์ที่ฟากสงขลา ตัวอาคารสถานีตั้งอยู่ตรงกลางมีทางรถไฟล้อมรอบไว้ ถ้าว่ากันตรง ๆ มันคือสถานีที่เป็นชานชาลาเกาะ (Island Platform) ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้เหลืออยู่เพียงแค่สถานีสุไหงโก-ลก กับสถานีชุมทางบ้านภาชี ที่อยุธยาเท่านั้น ตัวอาคารมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่แปลกตาทีเดียว จะว่าไทยก็ไม่ไทย จะว่าโมเดิร์นก็ไม่ใช่ น่าจะเป็นรูปแบบผสมผสาน ที่ปลายสุดของชานชาลาฝั่งมาเลเซียมีอาคารหลังคาโดมทรงกลม ส่วนด้านฝั่งประเทศไทยเป็นอาคารหลังคาทรงไทย
จากอาคารสถานีมีสะพานลอยข้ามย่านออกไปทางฝั่งอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งปัจจุบันสะพานไม่ได้ใช้แล้ว ใครจะเดินเข้าอำเภอก็ใช้ทางข้ามบนทางรถไฟได้เลย
ในอดีตสถานีแห่งนี้คึกคักมาก นอกจากเป็นสถานีเชื่อมต่อออกสถานีไปรันตูปันยังที่ฝั่งมาเลเซียแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งขนสินค้าจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาที่ไทยอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รวมถึงคนมาเลเซียและคนไทยที่เดินทางข้ามไปมาผ่านพรมแดนแห่งนี้ด้วย
แม้ว่าในตอนนี้การเดินรถไฟข้ามไปมาระหว่างไทย-มาเลเซียของสุไหงโก-ลก จะปิดตัวลงไป และไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเชื่อมกันอีกเมื่อไหร่ แต่ทางการก็ได้ปรับปรุงสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโก-ลก เผื่อว่าสักวัน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศจะทำให้เส้นทางสายนี้ได้กลับมาเชื่อมต่อผ่านเส้นทางรถไฟได้อีกครั้งเหมือนในอดีต
กลับหาดใหญ่
เราไม่ได้วางแผนที่จะค้างคืนที่นี่ เราเลือกนั่งรถไฟกลับไปหาดใหญ่ พี่ ๆ อาสาฯ ที่มากับขบวนรถเร็ว 171 ก็ต้องเดินทางกลับกับขบวน 172 เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยต่อ
บรรยากาศการเดินทางกลับไปหาดใหญ่นั้นมันก็เหมือนขามา อากาศช่วงบ่ายค่อนข้างร้อนอบอ้าวทีเดียว ท้องฟ้าใส ๆ ก็เริ่มมีเมฆจับหนาขึ้น บางก้อนดำทะมึน เป็นสัญญาณว่าอีกไม่นานฝนคงเทลงมาแน่นอน แล้วก็จริง อากาศภาคใต้ค่อนข้างเดาใจยาก เดี๋ยวแดด เดี๋ยวครึ้ม เดี๋ยวฝน
เหล่าบรรดาผู้โดยสารเปลี่ยนจากคนลงเมื่อถึงปลายทางในช่วงเช้า กลายเป็นคนที่เริ่มต้นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แทน ผู้โดยสารเริ่มขึ้นมาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ไล่มาตั้งแต่เจาะไอร้อง ตันหยงมัส มะรือโบ รือเสาะ ไล่มาเรื่อย ๆ จากที่นั่งว่าง ๆ เริ่มเต็มจนแน่นตาที่ยะลาและปัตตานี
แดดบ่ายเริ่มคล้อยลง ป่าเขตร้อนที่เขียวชอุ่มเปลี่ยนเป็นทุ่งกว้าง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเมืองขึ้นเรื่อย ๆ จนในช่วงบ่ายแก่ขบวนรถเร็ว 172 เข้าจอดที่สถานีหาดใหญ่
หลายคนลงจากขบวนรถ และอีกหลายคนขึ้นมาบนรถ กลุ่มอาสาฯ สิ้นสุดภารกิจใจวันนี้แล้ว ก่อนจากกัน พี่สาวอาสาฯ ที่นั่งคุยกันมาตลอดทางบอกว่า “มาเที่ยวใต้อีกนะน้อง ไว้มีโอกาส หวังว่าเราคงได้เจอกันอีกนะ”
“ผมขอบอกว่า โอกาสหน้าเราจะต้องเจอกันอีกนะพี่ รักษาตัวนะครับ”
ภายใต้หน้ากากอนามัยสีฟ้านั้น เราเห็นนัยน์ตาที่บ่งบอกได้ว่าเจ้าของใบหน้ายิ้มอยู่ และเป็นยิ้มที่กว้างน่าดูทีเดียว