เคยมีหลายคนถามเราว่า รถไฟเนี่ยเคยติดไฟแดงไหม นี่เป็นอีกคำถามยอดฮิตเหมือนกันเวลาที่คนนั่งรถไฟแล้วเขารู้สึกว่ามันวิ่งไปเรื่อย ๆ พอถึงสถานีก็จอด น้อยมากที่จะหยุดระหว่างทาง แล้วนั่นก็เป็นที่มาของคำถามว่า “รถไฟหยุดรออะไร ติดไฟแดงหรอ”

ใช่ รถไฟติดไฟแดงเหมือนกับการขับรถเนี่ยแหละ

การจัดการจราจรรถไฟไม่ได้ต่างกับการจัดการจราจรทางถนนเลย มีช่วงที่ปล่อยรถวิ่งยาว ๆ หรือถ้าความหนาแน่นของการจราจรมีสูง รถไฟมาถี่ ๆ ตามหลังกันมาเป็นพรวน ก็ต้องมีการหยุดรถเพื่อไม่ให้ชนกัน เราเรียกสิ่งที่ควบคุมรถไฟไว้ให้เดินทางปลอดภัยว่า ‘ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม’ หรือภาษาอังกฤษยาวเหยียดว่า ‘Signaling and Telecommunication’

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย

ถ้าเท้าความย้อนไปสมัยรถไฟกำเนิดเกิดขึ้นมาในโลกนี้ การจัดการจราจรรถไฟในยุคนั้นใช้วิธีคาดเดาเวลา สมมติว่าจากสถานี A ไปสถานี B ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที หากรถไฟขบวนแรกออกตอน 10.00 น. ขบวนต่อไปออกได้ตอน 10.30 น. เพื่อให้เกิดระยะห่างของขบวนรถไฟในระยะปลอดภัย ไม่จิ้มไม่ตำกันแน่นอน แต่ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ ถ้าหากขบวนก่อนหน้าที่ออกไปเกิดเหตุพระเจ้าไม่รัก รถพัง รถชน หรือเคลื่อนที่ไม่ได้ ขบวนที่ตามหลังมาอาจจิ้มท้ายได้ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการสื่อสารใด ๆ เลย 

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ก็เลยพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหา สิ่งแรกที่บอกรถไฟให้หยุดแต่ไกลได้ นั่นคือการใช้ลูกบอลบอกสัญญาณให้ ไป หรือ หยุด โดยตั้งเสาสูง ๆ ไว้ข้างทางรถไฟและผูกลูกบอลเอาไว้คล้ายกับการผูกธง (บวกกับตะเกียงเอาไว้ให้ส่องแสงยามค่ำคืน) หากรถไฟวิ่งมาเห็นลูกบอลถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา หมายความว่าให้เดินทางต่อไปได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่เห็นลูกบอลให้หยุดรถโดยทันที สิ่งนี้แหละที่เรียกว่า ‘อาณัติสัญญาณ’ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไฟเขียวไฟแดงตอนนี้

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
ระบบอาณัติสัญญาณลูกบอล 
ภาพจาก Wikipedia : Ball Railroad Signal US.

วิวัฒนาการของสัญญาณเติบโตขึ้นมาตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จากเสาลูกบอลก็กลายเป็นสัญญาณประเภท Semaphore หรือสัญญาณใบธงที่ได้อิทธิพลมาจากการโบกธงให้สัญญาณของเรือ 

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
Semaphore Communication
ภาพ : Encyclopedia Britannica, Inc.

สัญญาณประเภทนี้เป็นเสาสูงเหมือนกับระบบลูกบอล แต่ต่างกันตรงด้านบนสุดของเสาเป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวขนานกับพื้นโลก เจ้าแผ่นบนยอดสุดนี้เราเรียกว่า ‘แขน’ มีกลไกพิเศษที่ยกขึ้นหรือลงให้ทำมุม 45 หรือ 90 องศากับพื้นโลกได้ ซึ่งลักษณะการยกนั้นบอกสถานะ ‘ห้าม’ ‘ระวัง’ หรือ ‘อนุญาต’ ทำให้มองเห็นจากระยะไกลได้ดีกว่าแบบลูกบอล 

และที่แขนสัญญาณยังมีกระจกสีแดง เหลือง หรือน้ำเงิน ทาบอยู่หน้าตะเกียง เพื่อให้ส่องแสงได้ในเวลากลางคืน เพราะความง่ายในการมองเห็นทำให้สัญญาณใบธงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกยิ่งกว่าระบบลูกบอล แม้แต่ประเทศไทยของเราก็มีสัญญาณใบธงแบบนี้เช่นกัน แต่ชื่อเรียกนั้นตั้งแบบไทยสไตล์ว่า ‘สัญญาณหางปลา’ 

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
สัญญาณ Semaphore Signal แบบเยอรมนี (บน) และแบบอังกฤษ (ล่าง)
ภาพ : Railway Signaling

ว่าด้วยหน้าตาของสัญญาณหางปลา มันเป็นเสาสูง แขนของสัญญาณมีปลายกลมหรือปลายแฉก อยู่ที่ว่าเป็นสัญญาณโหมดไหน บังคับหรือแค่เตือน ซึ่งลักษณะทางกายภาพนี่แหละเป็นที่มาของการบัญญัติชื่อว่าสัญญาณหางปลา ซึ่งไม่ใช่เพราะหน้าตาเหมือนครีบปลาหรือหางปลาชนิดไหนโดยเฉพาะ แต่อาจเพราะมีหน้าตาคล้ายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘หางปลา’ 

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
หางปลาที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า

สัญญาณหางปลาประเภทสัญญาณบังคับ ทาด้วยสีขาวสลับแดง ปลายของแขนสัญญาณเป็นรูปวงกลม ท่าทางของมันมีความหมายแค่ ‘ห้าม’ และ ‘อนุญาต’ สัญญาณแบบนี้เราพบเจอได้มากที่สุด ลักษณะทางกายภาพถอดแบบจากเยอรมนี 

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
สัญญาณหางปลาประเภทสัญญาณบังคับ

ส่วนสัญญาณอีกแบบแขนของสัญญาณเป็นปลายรูปแฉก ทาสีเหลืองสลับดำ เป็นสัญญาณแสดงท่า ‘ระวัง’ กับ ‘อนุญาต’ โดยสัญญาณแบบนี้ในภาษารถไฟเรียกว่า สัญญาณเตือน (Approaching Signal บางตำราเรียกว่า Distance Signal) หน้าที่ไม่ได้สั่งให้รถหยุด แต่บอกว่า เธอ ๆ ระวังนะ ข้างหน้ามีสัญญาณที่ทำให้เธอหยุดได้ อย่ามาเร็วมาแรง เตือนแล้วนะ! 

สัญญาณหางปลาประเภทเตือนของไทยนั้นแทบจะถอดแบบอังกฤษออกมาเลย เพียงแค่ของอังกฤษชี้ไปทางซ้าย แต่ของเราชี้ไปทางขวา ให้สอดคล้องกับสัญญาณแบบเยอรมนี

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย
สัญญาณเตือนแบบอังกฤษ (บน) และแบบไทย (ล่าง) สังเกตได้ว่ารูปร่างของแขนสัญญาณเหมือนกัน เพียงแค่ชี้ไปคนละฝั่ง

กลไกการทำงานใช้หลักการของการชักรอกด้วยสายลวด สถานีที่ใช้ระบบนี้มีพื้นที่สำหรับสับสัญญาณโดยเฉพาะ หน้าตาเหมือนคันโยกสับราง สายลวดที่ยึดโยงกับคันโยกนั้นลากไปตามทางรถไฟ มีตุ้มถ่วงน้ำหนักคอยช่วยลดแรงเอาไว้ กลไกสายลวดไปสุดตรงฟันเฟืองที่อยู่โคนเสาสัญญาณ เมื่อมีการสับคันโยกจากสถานีเกิดขึ้น สายลวดก็จะขยับไปตามกลไกและหมุนฟันเฟืองให้คานไปยกแขนสัญญาณขึ้นเป็นอันเสร็จพิธี ฉะนั้น สายลวดต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ห้ามหย่อน ห้ามขาด ไม่เช่นนั้นจะยกสัญญาณไม่ได้ หรือยกได้แต่ไม่สุดจนสัญญาณดูคลุมเครือ

สัญญาณหางปลา เสาสูงมีแขน เครื่องมือบอกสถานะและควบคุมให้รถไฟทุกขบวนเดินทางปลอดภัย

เวลากลางวันนั้นเราเห็นสัญญาณชัดเจนจากรูปร่างของมัน สมัยเราเด็ก ๆ เวลาไปเที่ยวบ้านยายและตั้งหน้าตั้งตารอดูรถไฟ เราจะสังเกตจากสัญญาณหางปลานี่แหละ ถ้ามันเริ่มกระดกขึ้น แสดงว่ารถไฟกำลังมา ก็จะรีบวิ่งไปที่หน้าบ้านเพื่อรอบโบกมือให้กับรถไฟ

ในเวลากลางวันเราเห็นได้ชัด แล้วเวลากลางคืนล่ะ

กลางคืนนั้นสัญญาณหางปลามีโคมตะเกียงช่วยส่องสว่าง ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกสีที่ติดไว้กับตัวแขนสัญญาณ มีสีพื้นฐานคือ สีแดง สีน้ำเงินอมเขียว และถ้าสัญญาณเตือนจะเป็นสีเหลืองแทนสีแดง 

เมื่อแขนของสัญญาณอยู่ในท่า ‘ห้าม’ กระจกแก้วสีแดงก็ทาบอยู่ด้านหน้าโคมให้เราเห็นเป็นสีแดง ในขณะที่ถ้าสัญญาณยกขึ้นบอกท่าอนุญาต กระจกแก้วสีน้ำเงินอมเขียวก็จะไปทาบหน้าโคม ไฟสีส้มของโคมไปโดนกระจกสีน้ำเงินจะเป็นแสงออกเขียวอมฟ้า แต่ถ้าใครนั่งรถไฟในปี 2023 นี้ ให้ลองสังเกตสัญญาณหางปลาดู โคมไฟที่เคยใช้หลอดไส้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นหลอด LED สีขาวเกือบหมดแล้ว นั่นเป็นเพราะเหตุผลด้านความทนทานและความชัดเจนให้การสังเกตสัญญาณของพนักงานขับรถมองได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง 

สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย

วิธีการอ่านสัญญาณไม่ได้ซับซ้อน เพราะมีท่าทางอยู่เพียงแค่ 2 ท่าเท่านั้น คือ ยก กับ ไม่ยก

เพราะสัญญาณหางปลามี 2 แบบ คือ สัญญาณไว้เตือนกับสัญญาณไว้บังคับ เราจะมาสอนอ่านสัญญาณทั้ง 2 แบบกัน พร้อมเป็นคนขับรถไฟกันหรือยัง

ถ้าเราเป็นคนขับรถไฟ เราจะเจอสัญญาณเตือนก่อนเป็นอันดับแรก อันนี้ไม่ซับซ้อนเพราะมันบอกแค่ 2 ท่าทางเท่านั้น 

ถ้าแขนของสัญญาณวางราบกับพื้น หมายถึง ระวัง = ไฟเหลือง ก็คือให้ผ่านสัญญาณต้นนี้ไปได้นะ เดี๋ยวไปรับการสั่งจากสัญญาณต้นหน้า (ซึ่งเป็นสัญญาณบังคับ) แต่ขอให้วิ่งผ่านสัญญาณไปอย่างระวัง เพราะเธอมีสิทธิ์จะเจอท่าห้ามได้

ถ้าแขนของสัญญาณยกขึ้น 45 องศา หมายถึง อนุญาต = ไฟเขียว ก็คือให้ผ่านไปเลย สัญญาณด้านหน้าก็เขียวเหมือนกัน เธอไม่ต้องกังวลอะไรทั้งนั้น

สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
สัญญาณเตือนแสดงท่าระวัง

เมื่อพ้นสัญญาณเตือนมาแล้ว เราจะเจอกับสัญญาณบังคับ อันนี้มีท่าทางอยู่ 2 ท่าเหมือนกัน วิธีอ่านแตกต่างกันนิดหน่อย

ถ้าแขนสัญญาณวางราบกับพื้น หมายถึง ห้าม = ไฟแดง ก็คือให้หยุด ฉันสั่งให้หยุด หยุดอยู่ตรงนั้นเลย อย่าจอดเลยมาเชียวนะ

ถ้าเมื่อไหร่ที่สัญญาณยกขึ้น 45 องศา หมายถึง อนุญาต = ไฟเขียว ก็ให้ผ่านไปได้เลย

สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
สัญญาณแสดงท่า ห้าม (ซ้าย) และ อนุญาต (ขวา)

แต่สัญญาณบังคับเนี่ย เราจะเจอแบบแปลก ๆ อีก 1 อัน คือถ้าเมื่อไหร่ที่สัญญาณตัวนี้ต้องทำงานร่วมกับจุดสับราง เขาจะต้องทำหน้าที่บอกให้คนขับรู้ว่าจุดสับรางข้างหน้าต้องวิ่งตรงไปหรือเปลี่ยนเลนวิ่ง ซึ่งหน้าตาของเขาเหมือนกับสัญญาณบังคับ (ขาว / แดง) ไม่มีผิด เพิ่มเติมเข้ามาคือมีแขนที่ 2 ตั้งฉากกับพื้นโลกอยู่ด้วย ซึ่งวิธีการอ่านเหมือนกับทุกสัญญาณ ต่างกันที่ถ้าเมื่อไหร่แขนที่ 2 ถูกยก 45 องศาด้วย หมายความว่ารถไฟที่เราขับอยู่จะต้องเปลี่ยนเลนวิ่งนั่นเอง โดยเวลากลางคืนจะเห็นดวงไฟเป็นสีเขียว 2 ดวง 

สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
ท่าสัญญาณหางปลาที่ใช้บอกสถานะของการสับราง โดยถ้าวิ่งทางตรงจะยกแขนเดียว (บน) และถ้าต้องสับรางเปลี่ยนเลนวิ่งจะยก 2 แขน (ล่าง)

สัญญาณหางปลาในประเทศไทยเราจะพบในเส้นทางที่ขบวนรถไม่หนาแน่น หรือเส้นทางที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ 

ถ้าสายเหนือ เจอได้ตั้งแต่สถานีบ้านเต็งหนาม จ.พิษณุโลก ไปจนถึงสถานีเชียงใหม่

สายอีสาน เจอได้ตั้งแต่สถานีบ้านพะเนา จ.นครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี สถานีสำราญ จ.ขอนแก่น ไปถึงสถานีนาทา จ.หนองคาย และสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ ตลอดทั้งเส้น

สายใต้ เริ่มตั้งแต่สถานีแสงแดด จ.ชุมพร ลงไป 

สายตะวันออก ตอนนี้ไม่มีใช้แล้ว เพราะเพิ่งเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟเขียวไฟแดงไปหมาด ๆ 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณหางปลาในไทยนั้นเริ่มลดบทบาทลง และมาแทนที่ด้วยระบบสัญญาณไฟสีควบกับระบบ European Train Control System ที่ควบคุมการเดินรถที่มีศักยภาพที่สูงกว่า มองสัญญาณได้ชัดเจนกว่า การซ่อมบำรุงน้อยกว่า ซึ่งทำให้การเดินรถไฟมีความถี่ได้มากขึ้นกว่าเดิม ในอีก 10 ปีข้างหน้า สัญญาณหางปลาก็อาจกลายเป็นแค่วัตถุหนึ่งในพิพิธภัณฑ์รถไฟ หรือมีเก็บเอาไว้ที่สถานีรถไฟบางแห่งเพื่อเป็นอนุสรณ์เหมือนกับรถจักรไอน้ำเท่านั้น

สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย

เกร็ดท้ายขบวน

  1. สถานีเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังใช้สัญญาณหางปลาอยู่ นั่นคือสถานีธนบุรี และแน่นอนว่าหากรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ธนบุรี (ศิริราช) สร้างเสร็จแล้ว สัญญาณหางปลาหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ก็จะหายไปเช่นเดียวกับในเส้นทางสายหลัก
  2. ในยุโรปยังมีการใช้สัญญาณหางปลาเช่นกัน ทั้งอังกฤษ เยอรมนี โปแลนด์ และอีกหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีหน้าตาของสัญญาณหางปลาที่แตกต่างกันไป
สืบประวัติ ‘สัญญาณหางปลา’ เครื่องมือบอกสถานะจราจรบนรางรถไฟ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟทุกขบวนสัญจรอย่างปลอดภัย
ภาพ : A bwegt BR612 passes a old semaphore signal in Wilchingen, Switzerland : trains (reddit.com)

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ