3 กุมภาพันธ์ 2024
884

ผมอิจฉาเด็กญี่ปุ่นนะ เวลามีความชอบอะไรสักอย่าง พวกเขามักจะมีสนามเด็กเล่นให้ได้ลงไม้ลงมือหรือได้ใช้ชีวิตอยู่ในสนามเด็กเล่นนั้น โดยไม่มีคำถามจากสังคมว่าทำไปเพื่ออะไร หรือสนใจไปเพราะอะไร

ปกติแล้วเวลาขึ้นรถไฟที่สถานีก็จะเห็นเหล่าเด็กน้อยยืนถือสมุดจดอะไรยุกยิกเวลารถไฟเข้าสถานี ไม่ก็ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นถ่ายรถไฟขบวนต่าง ๆ ที่ผ่านหน้าไปมา สถานีรถไฟเองก็เป็นสนามเด็กเล่นหนึ่ง พวกเขาจะได้มาเจอสิ่งที่ชอบอย่างใกล้ชิดที่สุด ของจริงที่สุด และมีชีวิตชีวาที่สุด แต่ถ้าลองมองดี ๆ ใครกันที่พาเด็กพวกนี้มา

เหมือนได้คำตอบ ข้าง ๆ กันมีผู้ปกครองที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ คอยยืนดูไม่ให้น้อง ๆ หนู ๆ ใกล้เส้นปลอดภัยมากเกินไป คอยดูว่าเขามีปฏิกิริยายังไง และในบางทีผู้ปกครองก็ทำแบบเดียวกับที่เด็กทำ ถ่ายรูปรถไฟ มองดูรถไฟ และหิ้วเด็กไปดูรถไฟด้วยกัน อนุมานได้จากภาพที่เห็นว่าพ่อก็ชอบ ลูกก็ชอบ

ดูเหมือนว่าสถานที่ที่มีจุดร่วมกันของเหล่าบรรดาคนชอบรถไฟทุกช่วงวัยน่าจะไม่ได้อยู่ที่สถานีรถไฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกที่หนึ่งที่เราจะเจอมนุษย์ต่างวัยซึ่งตื่นเต้นกับคุณรถไฟเต็มไปหมด นั่นคือพิพิธภัณฑ์รถไฟ

หลังจากผมมาอยู่ไซตามะได้ร่วมเดือน หากไม่ไปเยือนพิพิธภัณฑ์รถไฟไซตามะ (Railway Museum Saitama) คงเป็นตราบาปชีวิตแน่ ๆ แถมยังอยู่ห่างจากหอพักไปแค่ระยะเดิน 15 นาที ยิ่งอาจโดนเหล่าบรรดาคุณรถไฟค่อนขอดเอาว่าไหนแกบอกว่ารักฉันหนักหนาไง!

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟโอมิยะ (Omiya) ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เดินเท้าไปก็ได้หรือนั่งรถไฟสาย New Shuttle ไปลงที่สถานี Tetsudō-Hakubutsukan ก็ถึงพิพิธภัณฑ์เลย

สถานที่นี้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิวัฒนธรรมรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (East Japan Railway Culture Foundation) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรของบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (JR East) ในพิพิธภัณฑ์นี้จึงเน้นเรื่องราวไปที่รถไฟในความดูแลของ JR East และผสมรถไฟของบริษัทเพื่อนบ้านในเครือ JR แบบประปราย

ตาราง (ทาง) เดินรถไฟ

ถ้าบอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นก็คงจะใช่ ถ้าบอกว่าเหมือนสถานีรถไฟก็คงจะใช่อีก ตัวอาคารขนาบข้างไปด้วยทางรถไฟ มองไปตรงไหนก็เหมือนเห็นรถไฟในสายตาตลอดเวลา ด้านหน้าติดรถไฟสาย New Shuttle และ Tohoku Shinkansen ด้านหลังติดทางรถไฟ JR Takasaki Line และ Kawagoe Line ทางเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ปูด้วยกระเบื้องรูปสี่เหลี่ยมมีตัวเลขอยู่บนกระเบื้องนั้นชวนให้สงสัยว่ามันคืออะไร 

และก็ถึงบางอ้อในที่สุด เมื่อยิ่งเดินไปก็ยิ่งคาดเดาออก เพราะมันคือการเอาตารางรถไฟที่เป็นแผ่นกระดาษมาขยายใหญ่ให้อยู่บนทางเดิน เงยหน้าขึ้นไปก็พบกับ Train Diagram เป็นเส้นที่ตีลาก ๆ ลงมาตามช่วงเวลา เพื่อจัดการเดินรถไฟและกลายเป็นตารางรถไฟให้ผู้โดยสารได้หยิบอ่านเพื่อวางแผนการเดินทาง ต้องบอกก่อนนะว่าก่อนจะเข้าสถานีรถไฟ เราต้องมีตารางรถไฟถึงจะซื้อตั๋วได้

การซื้อตั๋วก็สุดแสนจะเหมือนกับการซื้อตั๋วรถไฟอย่างกับแกะ ด้วยเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่เรียงกันเป็นแถบ ต้องผ่านพนักงานตรวจตั๋วที่ยืนอยู่ในคอก การเดินเข้าพิพิธภัณฑ์จึงให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในรถไฟสมัยก่อน

ด้านในโอ่อ่าพอสมควร การจัดแสดงแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งอาคารค่อนข้างยาวมาก จึงต้องสังเกตจุดที่อยู่บนพื้น ซึ่งจะนำทางให้ไปในจุดต่าง ๆ ประกอบกับแผนที่พิพิธภัณฑ์ (มีภาษาไทยด้วยนะ) ซึ่งจุดที่อยู่ตรงทางเข้าคือจุดศูนย์กลาง ทางแยกจะไปทางซ้ายและทางขวา พื้นมีสัญลักษณ์ตัวเลขบอกไปเรื่อย ๆ ว่าเราเดินผ่านไปกี่เมตรแล้ว และจุดน่าสนใจต่าง ๆ อยู่ที่ระยะทางเท่าไหร่จากศูนย์กลาง

ฟิสิกส์ของเด็กน้อย

ส่วนแรกที่ผมเดินเข้าไปคือโซนเด็กเล็ก เมื่อผ่านประตูทางเข้าไปแล้วอยู่ทางด้านซ้ายมือ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นเด็กเล็ก เด็กอนุบาลได้เรียนรู้ฟิสิกส์ที่เข้าใจง่าย 

คำถามของเด็กน้อยคงเป็น “ทำไมรถไฟถึงต้องใช้รางเหล็ก” “ทำไมล้อรถไฟเป็นเหล็ก”

ถ้าเป็นเรา เราจะอธิบายกับน้อง ๆ เขายังไง อธิบายด้วยวิธีไหนดี แต่ที่นี่เนรมิตทางลาดชันขึ้นมา 1 ทาง มีกระบะให้น้องน้อยลงไปนั่ง 3 อัน มีเชือกผูกกับด้านบนสุด ให้น้องใช้แรงตัวเองดึงให้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของทางลาดชันนั้น

อันแรก ไม่มีล้อ เป็นตัวแทนของการลากของโดยไม่มีเครื่องทุ่นแรง

อันที่ 2 มีล้อกลม เป็นตัวแทนของรถลากหรือรถยนต์

อันที่ 3 มีล้อเหล็ก รางเหล็ก เป็นตัวแทนของรถไฟ

เด็ก ๆ จะได้ลองนั่งในกระบะนั้นแล้วลากตัวเองขึ้นไป พร้อมเรียนรู้จากการทดลองจริงว่าแบบไหนถึงเคลื่อนที่ง่ายกว่า จริง ๆ แล้วเจ้ากระบะนี้คนโตก็นั่งได้นะ ผมเลยไปลองกับเขาด้วย ปรากฏว่าอันแรกที่ไม่มีล้อนี่ยิ่งกว่าเวทเทรนนิ่ง ลากเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น ส่วนอันที่ 3 รางเหล็กนี่แค่ขยับเบา ๆ ก็ขึ้นฉิวเลย

นอกจากเรียนเรื่องการใช้ล้อทุ่นแรงแล้ว น้อง ๆ จะได้เข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของล้อรถไฟด้วยว่าต้องมีรูปหน้าตัดแบบไหนถึงประคองตัวเองบนรางได้ด้วยล้อรถไฟจำลองในรูปแบบต่าง ๆ เอาไปวางบนรางรถไฟแล้วให้ไหลไปตามทาง ถ้าหน้าตัดตัวไหนไม่เหมาะสมกับการประคองตัว เจ้าล้อรถไฟนั้นก็จะหลุดออกจากราง 

หรือแม้แต่การทำงานของสัญญาณไฟจราจรที่ดูแล้วเข้าใจง่ายมากด้วยการลงมือเล่นด้วยตัวเอง อย่าว่าแต่การเรียนรู้ของเด็กน้อยเลย ผู้ใหญ่อย่างเราที่อยากเรียนรู้เรื่องรถไฟยังสนุก และรู้สึกสนุกกับวิธีที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องอ่านจากคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์แบบเก่า

คุณปู่ คุณน้า คุณพี่ รถไฟ

ส่วนต่อไปน่าจะเป็นไฮไลต์ทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์นี้ นั่นคือโซนจัดแสดงรถไฟที่ทรงคุณค่า

เราอาจเคยชินว่าการตั้งรถไฟในพิพิธภัณฑ์คือการเอารถไฟมาตั้งโชว์เฉย ๆ มีคำบรรยายแล้วก็จบ แต่ไม่ใช่กับที่นี่ รถไฟทุกขบวนยังคงมีชีวิต ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าเขายังวิ่งได้นะ คำว่ามีชีวิตหมายถึงเขายังคงมีบรรยากาศเหมือนสมัยที่ยังทำหน้าที่ขนผู้คนอยู่บนราง ภายนอกของรถไฟที่ได้รับการดูแลจนสะสวยและเงางาม ข้างในคือการเปิดเผยภายในให้เข้าไปนั่ง ไปดู ไปลูบ ไปคลำ ได้ทุกพื้นที่ ตั้งแต่พื้นรถ ห้องขับ ยันเบาะกำมะหยี่ แถมยังมีกลิ่นเฉพาะตัวของขบวนนั้น ๆ อยู่ด้วย

เราจะได้เจอรถจักรไอน้ำหมายเลข 1 คันแรกของญี่ปุ่น ในปี 1868

รถจักรไอน้ำปล่องกระโถนของฮอกไกโด 

รถไฟพระที่นั่งของสมเด็จพระจักรพรรดิ

หัวรถจักรไฟฟ้าสุดคลาสสิก

ตู้โดยสารสำหรับรถไฟชานเมือง

หัวรถไฟความเร็วสูงสายโจเอ็ตสึที่มีคราดกวาดหิมะ

และอื่น ๆ อีกมากมาย

ถ้าให้เดินดูกันอย่างละเอียดต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งรถไฟที่ถือว่าเป็นพระเอกของฮอลล์นี้มีอยู่หลายขบวนมาก ถ้าวัดตามที่เราเข้าถึงได้อย่างละเอียดที่สุด คงเป็นตู้รถนั่งของด่วนพิเศษ (Limited Express) ซึ่งมีที่นั่งปรับเอนได้พร้อมรถเข็นขายอาหาร ไปจนถึงรถนอนบลูเทรนในยุคที่เป็นเตียง 2 ชั้น ซึ่งคุณหุ่นใส่ชุดเจ้าหน้าที่ทำให้เราเห็นว่า หากนั่งรถไฟในยุคนั้นแล้วจะได้รับบริการแบบไหน และผ้าปูที่นอนแต่ละผืนนั้นจะบรรจงปูอย่างไร

ถ้าพูดถึงรถจักรไอน้ำขบวนแรกของญี่ปุ่นนั้น ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ผ่านทั้งภัยธรรมชาติและสงครามจะยังรักษารถจักรประวัติศาสตร์ขบวนนี้เอาไว้ได้ 

รถจักรไอน้ำขบวนนี้มีขนาดเล็ก สาเหตุที่ได้หมายเลข 1 เป็นเพราะว่าเขาคือขบวนแรกที่ขนลงมาจากเรือ ในวงการรถไฟญี่ปุ่นนั้นจึงถือว่ารถจักรไอน้ำขบวนนี้คือสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานการเติบโตของรถไฟในประเทศญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน

นอกจากรถจักรไอน้ำแล้ว ยังมีรถไฟแห่งยุคที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ระบบรางไปตลอดกาลอย่างรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นนั่นเอง 

ย้อนไปเมื่อ 65 ปีก่อน รถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลกเปิดให้บริการที่ประเทศญี่ปุ่น จากโตเกียวไปชินโอซาก้า จากเทคโนโลยีที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาหลายสิบปีจากฟากฝั่งยุโรป ได้เกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่นด้วยความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าเร็วล้ำมากในสมัยนั้น ทำให้เกิดมิติใหม่ของโลกที่หลายประเทศเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟต้องเร่งให้ทันชินคันเซ็น ซึ่งเรียกว่าเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล 

โทไคโดชินคันเซ็น ซีรีส์ 0 ขบวนแรกในประวัติศาสตร์ก็ได้พักพิงกายอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน 

ไม่ใช่แค่เราได้เห็นเขาตัวจริงภายนอก แต่เรายังได้เห็นภายในที่เก้าอี้นั่งในยุคนั้นไม่ได้มีลูกเล่นมาก ปรับเอนได้เล็กน้อย เพราะถือว่าเดินทางแค่ราว ๆ 3 ชั่วโมงครึ่ง ในห้องโดยสารของคุณปู่ชินคันเซ็นยังมีเรื่องราวที่เล่าผ่านจอภาพตั้งแต่โมเดลตัวแรก รถต้นแบบ ไปจนถึงการออกแบบในส่วนโบกี้ที่ทำความเร็วได้มากกว่ารถไฟขบวนปกติหลายเท่า 

ห้องนี้จึงเป็นห้องที่เหล่าผู้เยี่ยมชมชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เพราะชินคันเซ็นคือที่สุดของรถไฟในชีวิตพวกเขาจริง ๆ

โชว์หมุนตัวบนวงเวียน

เวลา 10 โมงเช้าและบ่าย 3 โมง ณ ใจกลางของโถงจัดแสดงรถไฟ เป็นเวลาที่คนเกือบทั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟไซตามะรอคอย

ปกติเราจะเห็นรถจักรไอน้ำคันใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางบนวงเวียนกลับรถจักร ซึ่งวงเวียนนี้สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้เท่านั้น 

ในเวลาที่บอกไว้ คือการแสดง ‘หมุนรถจักร’ บนวงเวียนกลับรถ

ทำไมต้องมีการกลับรถจักร

รถจักรไอน้ำนั้นขับได้ 2 ทิศทาง คือการเดินหน้าและถอยหลังก็จริง แต่การขับถอยหลังในระยะทางไกล ๆ ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการมองทางหรือการขับขี่ดีเท่าการเดินหน้า ในปลายทางของรถไฟหลาย ๆ ที่จึงมีอุปกรณ์กลับทิศทางของรถจักรไอน้ำให้หันกลับไปอีกทาง เพื่อลากรถไฟขากลับโดยไม่ต้องถอยหลัง สิ่งนั้นเรียกว่า ‘วงเวียนกลับรถจักร’ หรือ Turntable ซึ่งหลังจากที่มีการใช้รถจักรดีเซลหรือรถจักรไฟฟ้าแบบ Double Cab ซึ่งขับได้ 2 ทิศทาง วงเวียนกลับรถจักรจึงหมดหน้าที่ไป 

ก่อนเวลาแสดงไม่นานมากนัก คนจากทั้งพิพิธภัณฑ์ที่รอคอยก็มารวมตัวกันรอบ ๆ วงเวียนกลับรถ ทั้งชั้นบนและชั้นล่างเพื่อรอดูโชว์พิเศษนี้ เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่จะเดินไปอยู่ตรงกลางรถจักรไอน้ำและเล่าเรื่องของรถจักรคันนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น คนขับรถไฟที่เป็นเจ้าหน้าที่แต่งตัวแบบคนขับ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นไปอยู่บนห้องขับ พร้อมทำท่าเป็นเหมือนคนขับรถจักรไอน้ำอย่างแนบเนียน เมื่อถึงเวลา เสียงหวีดของรถจักรดังก้อง วงเวียนค่อย ๆ หมุนให้รถจักรไอน้ำคันนั้นโชว์ตัวแบบ 360 องศา ท่ามกลางกล้องถ่ายรูปและกล้องมือถือนับร้อยที่ชูขึ้นมาบันทึกภาพและความทรงจำเอาไว้ 

ผ่านไป 10 กว่านาที โชว์ก็จบลง เหมือนดูไม่มีอะไรหวือหวา แต่สร้างความรู้สึกดี ๆ ได้ไม่น้อย เพราะคนที่ทันเห็นการหมุนรถจักรไอน้ำจริง ๆ ต้องไม่ชรามาก ๆ ก็ต้องเคยนั่งรถจักรไอน้ำท่องเที่ยวสาย SL Gunma Minakami

เมืองจำลองของน้องรถไฟ

ชั้น 2 ของมิวเซียมมีเมืองจำลอง (Diorama) ของรถไฟญี่ปุ่นในพื้นที่ JR East ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางชานเมืองในโตเกียว สถานีในโตเกียวขนาดใหญ่ สถานีรถไฟโมริโอกะ จุดแยกของชินคันเซ็น 2 สาย หรือแม้แต่ขบวนรถไฟที่มีชื่อเสียงของ JR East ล้วนแล้วแต่โดนสาดแสงด้วยไฟฉายย่อส่วนลงมาอยู่บนเมืองจำลองนี้ มองไปทางไหนก็ชี้บอกได้ว่านั่นคือขบวนอะไร ทั้งรถไฟวงกลมโด่งดังอย่าง Yamanote Line รถไฟสาย Keihin-Tōhoku รถไฟสาย Chūō Line 

รถ Limited Express ก็ไม่น้อยหน้า ทั้ง Saphir Odoriko รถท่องเที่ยวสุดหรูสีแชมเปญ Train Suite Shiki-Shima หรือรถนอนขบวนสุดท้ายของญี่ปุ่นอย่าง Sunrise Express ที่จองตั๋วยากยิ่งกว่าขบวนไหน รวมถึงชินคันเซ็น E5 และ E6 คู่หูเขียวแดงที่ลากกันไปด้วยกันจนถึงโมริโอกะแล้วก็แยกไปทางใครทางมัน

การแสดงโชว์ที่เมืองจำลองนี้แบ่งเป็นรอบ ๆ ทุกครั้งที่นั่งถูกจับจองจนเต็ม เรื่องเล่าเริ่มจากเช้าตรู่ของวันที่ทุกคนยังหลับใหล รถไฟชานเมืองขบวนแรกเริ่มให้บริการกับผู้คนที่ต้องไปทำงานแต่เช้า ก่อนที่ฟ้าจะเริ่มสาง เมืองต่าง ๆ เริ่มดับไฟ รถไฟเริ่มออกวิ่งครองเส้นทางมากขึ้น ทั้งรถชานเมือง รถ Limited Express รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น รถไฟนำเที่ยว ในแต่ละวันรถไฟวิ่งขวักไขว่ตลอดเวลาและดูเหมือนว่าจังหวะชีวิตของรถไฟจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ 

จนหัวค่ำ รถนอนออกเดินทาง ตกดึกรถไฟชานเมืองหยุดวิ่ง แต่คนรถไฟไม่หยุด รถไฟบำรุงทางออกทำงาน รถสินค้าออกวิ่ง และเป็นวัฏจักรแบบนี้ตลอดไปทุกวัน 24 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งที่เมืองจำลองนี้ทำโชว์ถือว่าทำได้ดีมาก ทั้งการใช้แสง สี และการเล่าเรื่อง ซึ่งทำให้เราที่ฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกทั้งหมดกลับรู้สึกอินและน้ำตาไหลตามทุกครั้งที่เห็นรถไฟขบวนโปรดออกวิ่ง

สวนสนุกความสุขกับชินคันเซ็น

มิวเซียมนี้ขนาบด้วยทางรถไฟ และชั้น 3 อยู่ในระดับเดียวกับทางวิ่งของชินคันเซ็นที่ออกมาจากสถานีโอมิยะ

หน้าต่างบานกว้างเผยให้เห็นทางรถไฟความเร็วสูงจำนวน 4 ทางอยู่ข้างหน้าในระดับสายตา ถ้ามองไปไกลอีก ในวันฟ้าเปิดจะเห็นภูเขาไฟฟูจิเด่นชัดเป็นฉากหลัง 

ริมกระจกถูกยึดครองโดยเด็ก ๆ ที่ยืนมุงดูตารางเวลาของรถไฟที่จะวิ่งผ่านหน้าต่างบานนั้น โดยมีบอกอย่างละเอียดยิบตั้งแต่เวลา รุ่นรถ ปลายทาง และบอกด้วยว่าจะมาจากฝั่งไหนของกระจกบานนั้น

ทุกครั้งที่ชินคันเซ็นวิ่งผ่าน เสียงกรี๊ด เสียงตะโกนด้วยความดีใจของเด็ก ๆ จะดังก้องไปทั่วโถง ความดีใจลิงโลดแสดงออกมาอย่างเปิดเผย แตกต่างจากความตื่นเต้นที่เห็นรถไฟของผมในวัยเด็กซึ่งไม่เคยแสดงออกมาในที่สาธารณะ เพราะเคยแสดงออกมาแล้วถูกสายตาและคำพูดบางอย่างที่เสียดแทงและขำขัน จนเราต้องข่มความรู้สึกไว้เพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาด

ไม่ว่ารถไฟจะผ่านไปกี่ขบวน เจ้าเด็กน้อยทั้งหลายก็ไม่หมดแรง แถมมีเพื่อนใหม่ที่คอยดู คอยถ่ายรูป คอยลุ้นว่ารถไฟจะโผล่มาเมื่อไหร่ ส่วนพ่อแม่ที่นั่งอยู่ข้างหลัง บ้างก็ดูลูก บ้างก็พักผ่อนสายตา ปล่อยให้ความสุขทำงานไปให้เต็มที่

อดีต ปัจจุบัน อนาคต

อาคารสุดท้ายด้านทิศใต้ เป็นอาคารที่เต็มไปด้วยผู้คนทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ เวลาเราจะดูต้องไล่จากชั้นบนสุดลงมา ด้านบนเป็นห้องแสดงประวัติศาสตร์รถไฟของญี่ปุ่นที่เล่าอย่างเรียบง่าย มีของใช้มากมายมาโชว์ให้เห็นในตู้บ้าง บนพื้นบ้าง รวมถึงยกชิ้นส่วนของสถานีรถไฟมาตั้งในพื้นที่นี้ เพื่อให้เรารู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของขบวนรถไฟประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่สถานีชิมบาชิ (Shimbashi) เปิดใช้บริการรถไฟไปโยโกฮาม่า (Yokohama) ไปจนถึงการเปิดสถานีโตเกียว การเดินรถไฟทางไกล และชินคันเซ็น

วิวัฒนาการของรถไฟญี่ปุ่นมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องพอ ๆ กับการพัฒนาของคน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายที่รู้ตัวอีกทีเราก็เดินทางผ่านอดีตมาถึงปัจจุบัน ไปจนถึงทางออกที่มองเห็นอนาคต คือเจ้ารถไฟชินคันเซ็นรุ่น E5 ที่เร็วที่สุด (แต่ก็ไม่ได้ใหม่ที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว) 

อย่างที่บอกไป รถไฟในมิวเซียมไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟที่ปลดระวาง แต่ยังเป็นสนามเด็กเล่นและห้องเรียนได้ด้วย ชินคันเซ็น E5 รุ่นที่ใช้อยู่กับรถชินคันเซ็นฮายาบุสะ (Hayabusa) ที่วิ่งตรงจากโตเกียวไปชินฮาโกดาเตะที่ฮอกไกโดด้วยความเร็ว 320 กม. / ชม. ก็มาทอดกายในมิวเซียมนี้ให้เราเห็น ถ่ายรูป และมองทะลุหน้าต่างเข้าไปดูห้องโดยสารที่แพงและสบายที่สุด ชื่อว่า GranClass

ปลุกความเป็นพนักงานรถไฟในตัวหนู ๆ

ทำไมตึกนี้ถึงเต็มไปด้วยผู้คน

ก็เพราะว่านี่คือสนามเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุด สมจริงที่สุด และสร้างฝันมากที่สุด

ในชั้น 3 มีห้องขนาดใหญ่ที่ให้เด็ก ๆ (และผู้ใหญ่อย่างผม) ได้ลองเป็นคนขับรถไฟจริง ๆ มีคลาสขับรถไฟให้เราจ่ายเงิน 500 เยน เพื่อเรียนขับรถไฟเบื้องต้น ผ่านระบบจำลองที่เสมือนจริงมาก แม้ว่าจะขับผ่านคอมพิวเตอร์ แต่คอนโซลสำหรับการขับนั้นแทบยกมาจากของจริง ทุกคนจะได้รับถุงมือขับรถไฟ (และนำกลับบ้านได้) และได้เรียนวิธีขับ การใช้อุปกรณ์ การดูสัญญาณ การชี้นิ้วและขานตอบ ก่อนที่บทเรียนจะนำเราไปขับรถไฟผ่านแบบจำลองด้วยวิวของจริง พร้อมเก็บคะแนนตอนท้ายด้วยว่าเราเบรกตรงจุดไหม ได้คะแนนเท่าไหร่ ครั้งต่อไปเราจะได้ฝึกปรือความสามารถเพื่อทำคะแนนให้ดีขึ้น

แอดวานซ์ขึ้นมาหน่อยก็ขับชินคันเซ็น ข้าง ๆ กันมีหัวชินคันเซ็นรุ่น E5 จำลองที่เราจะได้ขับแบบเหมือนจริงที่สุด พร้อมจอพาโนรามาที่รู้สึกว่า ฉันเป็นคนขับรถไฟชินคันเซ็นจริง ๆ หรือถ้าไม่อยากขับชินคันเซ็นก็มีรถไฟชานเมือง 3 สาย 3 รุ่น ที่เป็นการถอดหัวจริง ๆ เฉพาะส่วนห้องขับพร้อมอุปกรณ์มาให้ขับกันแบบเสมือนจริงโดยไม่เสียเงินสักเยน 

และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้คิวยาวยิ่งกว่ารถไฟ เหมือนว่าทุกคนจะสนใจในเรื่องเดียวกัน และมีความฝันในเรื่องเดียวกัน คือสักวันฉันต้องได้เป็นคนขับรถไฟ

สนามเด็กเล่นที่เรียกว่าเรือนเพาะชำเมล็ดพันธุ์รถไฟ

นี่เป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวด้วยซ้ำสำหรับที่นี่ มันไม่ใช่มิวเซียมที่ผมเคยรู้จักจากที่ไหน ๆ ที่มีแค่การเล่าเรื่องดาด ๆ จัดแสงสวย ๆ มีของมาวาง มีป้ายบอกว่านี่คืออะไร พิพิธภัณฑ์รถไฟไซตามะ คือสนามเด็กเล่น คือพื้นที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความฝัน เป็นที่ที่สร้างคน สร้างรถไฟ และทำให้รถไฟของญี่ปุ่นเติบโตจนใคร ๆ ก็ตามไม่ทัน 

จากตรงนี้ ผมว่าพวกคุณน่าจะเห็นแล้วว่าการทำให้รถไฟในประเทศเราเติบโตต่อไปไม่ได้มาจากนโยบายต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดมาจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูกให้ต้นไม้โตด้วยดินและน้ำที่มีคุณภาพ ให้ผลิดอกออกผลและขยายพันธุ์ต่อไป ต่อให้เรามีนโยบายภาครัฐที่โอ้ว้าวขนาดไหน แต่ถ้ารากของเราคือ ‘คน’ ยังไม่แข็งแรง เติบโต เห็นภาพเดียวกัน และสร้างพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เราก็คงทำได้เพียงมีความสุขกับการนั่งรถไฟของประเทศอื่นมากกว่าประเทศตัวเอง

ผมว่าผมได้คำตอบแล้วว่าทำไมที่สถานีรถไฟถึงเต็มไปด้วยเด็กและผู้ปกครองที่มาดูรถไฟด้วยกัน เพราะการเพาะเมล็ดพันธุ์ในวันนั้น ได้ผลิดอกออกผลจนมาเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ และเมื่อเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่หัวใจเต็มไปด้วยความฝันเติบโตเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ขึ้น ต้นไม้เหล่านั้นก็เตรียมผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่มีฝันมากกว่าเดิมออกมา สนามเด็กเล่นแห่งนี้จะทำหน้าที่ผลิตเมล็ดแห่งความฝันมาเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

ขอให้ฝันของทุกคนเป็นจริง

รวมถึงผมด้วย

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโตเกียว ถ้าอยากมาทำให้ฝันของคุณผลิบาน เพียงแค่นั่งรถไฟมาสถานี Omiya แล้วต่อสาย New Shuttle มาที่สถานี Tetsudō-Hakubutsukan คุณจะได้พบกับสนามเด็กเล่นแห่งความฝันแล้ว
  2. การเรียนขับรถไฟด้วย Simulator ต้องจองล่วงหน้า และแน่นอนว่าจองยากสุดชีวิต คุณยอมแพ้ไหมล่ะ
  3. ถ้าน้องน้อยอยากขับรถไฟแบบของจริงจำลอง มีรถไฟเล็กให้ขับในสวนด้วย
  4. ใครอยากกินข้าวแบบได้บรรยากาศรถไฟ ที่นี่มีข้าวกล่องรถไฟขาย เอาขึ้นไปนั่งกินบนรถไฟที่จัดให้เป็นที่กินข้าวได้เลย บรรยากาศเหมือนสุด ๆ แค่วิ่งไม่ได้
  5. ชั้นดาดฟ้าของทั้ง 2 ตึกก็เป็น Observation Deck ที่เอาไว้ดูรถไฟและถ่ายรูปรถไฟด้วยนะ
  6. ที่ผมเล่ามายังไม่ถึงครึ่งเลย ถ้าอยากมาเก็บอีกครึ่งที่ผมไม่ได้เล่า คุณต้องมาเองสักครั้งในชีวิต

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ