การที่ประเทศจีนแบนการนำเข้าปลาทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และบทความที่ว่าด้วย Wild Boar Paradox กับการค้นหาคำตอบว่าทำไมถึงเจอสารกัมตรังสีระดับสูงอยู่ในหมูป่าในป่าที่เยอรมนี ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้โบหันมาสนใจกับคำว่า ‘กัมมันตภาพรังสี’ และการปนเปื้อนหรือมีอยู่ของธาตุกัมมันตรังสีในอาหารและน้ำดื่ม

นั่นไง โบเชื่อเสมอว่าอาหารพาเราไปเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง และในที่สุดอาหารก็พาเรามาเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ 

ธาตุกัมมันตรังสี คือธาตุที่มีคุณสมบัติในการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกจากตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลาจนกว่าจะหมดอายุ จากการเสื่อมสลายตัวเองของนิวเคลียสของอะตอมที่ไม่เสถียร

ส่วนสารกัมมันตรังสีที่ปล่อยออกเป็นมาอยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อย่างอนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา รังสีแกมมา ซึ่งในบางกรณีอาจมีพลังงานความร้อนและพลังงานแสงตามมาด้วย 

บางทีธาตุหรือสารบางชนิดก็ปล่อยรังสีที่มีพลังงานสูงพอที่จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอม หรือเรียกว่า รังสีไอออไนซ์ (Ionizing Radiation) ซึ่งเป็นรังสีน่าเป็นห่วง เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของสิ่งมีชีวิตอย่างเราได้ รังสีเหล่านี้มีพลังสูงพอจะทำให้พันธะเคมีแตกออก แล้วเกิดการกลายพันธุ์ของ DNA และเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง   

แล้วธาตุอะไรบ้างที่มีความสามารถในการปล่อยรังสี 

เมื่ออ่านบทความเพื่อทำการค้นหาข้อมูลแล้ว หลายบทความแบ่งธาตุที่มีความสามารถในการปล่อยกัมมันตภาพรังสีนี้ไว้อย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นธาตุที่มีในธรรมชาติอยู่แล้ว กับธาตุที่แน่นอนว่ามนุษย์สังเคราะห์ขึ้น (Artificial / Synthesis Radioactive Elememt) ธาตุที่ปล่อยกัมมันตภาพรังสีได้แล้ว เรายังได้รับกัมมันตภาพรังสีจากรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นรังสีจากนอกโลกที่ทำปฏิกิริยากับธาตุบนโลก แต่ละธาตุมีความสามารถในการปล่อยรังสีไม่เท่ากันทั้งระยะเวลาและความแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์จากการสัมผัสหรือปนเปื้อนจึงมีระดับแตกต่างกัน ตามพื้นดิน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติด้านอาหารของเราดูดซับรังสีเหล่านี้ได้ รังสียังอยู่ในอากาศที่เราหายใจ และตรวจพบเจอในร่างกายของเราได้ด้วย 

ธาตุอย่างโพแทสเซียม (Potassium-40) พบได้ในอาหารที่โพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ผักใบเขียว ถั่วดิน ก็ปล่อยกัมมันตภาพตรังสีได้ และส่วนใหญ่มาพร้อมกับเรเดียมด้วย น้ำดื่มสาธารณะในบางประเทศก็ตรวจพบสารกัมมันตรังสี อย่างในสหรัฐอเมริกาหรือชายหาดทรายสีดำที่ปล่อยรังสีมากกว่าปกติ 300 – 400 เท่าในประเทศบราซิล จีน และอินเดีย ยังมีนักท่องเที่ยวเอาตัวไปหมกในทรายที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ซึ่งรังสีนี้ปล่อยจากแร่โมนาไซต์ที่มีธาตุทอเรียม ยูเรเนียม และเรเดียม

เมื่อเราพูดถึงเรื่องกัมมันตภาพรังสีและทรัพยกรอาหาร หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารดูกังวลว่าสารกัมมันตรังสีจะออกมาจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่จะปนเปื้อนแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ อย่างหายนะทางนิวเคลียร์ที่เกาะ Three Mile สหัฐอเมริกา (ปี 1979) โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Chernobyl ยูเครน (ปี 1986) และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ญี่ปุ่น (ปี 2011) โดยการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเป็นผลต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว 

ที่ผ่านมามีการศึกษาและบันทึกผลต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณสูงจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา-นางาซากิ และผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ยูเรเนียม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการได้รับรังสีในปริมาณสูงเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ มะเร็งเต้านม และมะเร็งในกระเพาะอาหาร ผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งความเข้มข้นของรังสี ระยะเวลาในการสัมผัสกับรังสี และระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดรังสีกับตัวผู้รับรังสี 

บทความเรื่อง Wild Boar Paradox เฉลยว่าทำไมถึงเจอ Caesium-135-137 ในเนื้อหมูป่าของแคว้นบาวาเรีย ซึ่งในบางพื้นที่ตรวจพบในระดับสูงมาก ๆ คนจึงไม่นิยมล่าหมูป่าเป็นอาหาร ทำให้ประชากรหมูล้นเกิน 

เหตุผลหลักคืออาหารที่หมูป่าเหล่านี้กิน เช่น เห็ดทรัฟเฟิลที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลตั้งแต่ปี 1986 ประกอบกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงระยะเวลาใกล้กัน ทำให้เกิดการสะสมอยู่ในดินและน้ำ บางตัวอย่างของหมูป่าจึงมีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรากินอาหารที่ปนเปื้อน Caesium-135-137 

สารบางส่วนจะขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ ในขณะที่บางส่วนตกค้างแล้วกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย มีความเป็นไปได้ที่จะสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม และแสดงอาการทางระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท มีโอกาสก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิในปี 2011 อาจมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีมากกว่าปริมาณที่อยู่ในน้ำ ซึ่งได้รับการบำบัดเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล เพราะอยู่ในช่วงชุลมุน มีการรั่วของท่อร่วมด้วย จึงไม่ได้วัดค่าอย่างแท้จริง แต่มีการทำสำรวจหลังเหตุการณ์เริ่มสงบ ส่งผลให้พื้นที่อันตรายขยายรัศมีจาก 20 เป็น 30 กิโลเมตรภายในเวลาไม่นาน กลายเป็นผลกระทบฉับพลันที่เกิดกับแหล่งผลิตอาหารอย่างแน่นอน 

และมีรายงานผลกระทบระยะยาวออกมาเรื่อย ๆ 12 ปีผ่านไป น้ำที่นำมาหล่อเย็นและปนเปื้อนได้รับการบำบัดเพื่อลดปริมาณสารกัมมันตรังสีในน้ำแล้ว แต่มีสารตัวหนึ่งที่กำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ และยังคงมีอยู่ในปริมาณมหาศาล นั่นคือ Tritium และ Carbon-14 

Carbon-14 ใช้กันในวงกว้างเพื่อคำนวณหาอายุในโบราณวัตถุ แต่ทริเทียมเป็นสารที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น แม้ว่าในหลายบทความจะบอกว่าเกิดได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปล่อยรังสีบีตาซึ่งเป็นรังสีกำลังเบา ทะลุผ่านผิวหนังไม่ได้ แม้ว่าระดับของทริเทียมที่โรงงานไฟฟ้าปล่อยออกมาจะอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับเกณฑ์กลางขององค์การอนามัยโลก แต่ก็ปนเปื้อนเข้ามาในระบบอาหารได้ ผ่านการสะสมในเนื้อเยื่อของพืชผักและสัตว์น้ำ แล้วสะสมอยู่ในคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน 

การที่เรากินอาหารที่มีทริเทียมสะสมอยู่นั้นเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะมันอยู่ในอาหารได้นานว่าอยู่ในน้ำ (Tritium Water) เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อน มันจะสลายตัวในร่างกายและทำลายเซลล์ได้ แต่ร่างกายมนุษย์มีกลไกซ่อมแซมเซลล์เหล่านี้ได้เอง ถ้าได้รับในปริมาณที่ร่างกายจัดการได้ 

ความน่ากลัวอาจไม่ได้อยู่ที่สารทริเทียม แต่เป็นเรื่องจำนวนของโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บนโลกนี้ต่างหาก บนโลกนี้มีโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช้แก๊ส ถ่านหิน หรือน้ำ แต่ผลิตด้วยอะตอมของธาตุยูเรเนียมเป็นหลักถึง 436 โรงใน 32 ประเทศ สหรัฐอเมริกามีมากถึง 93 โรง ฝรั่งเศสอีก 56 โรง จีน 55 โรง รัสเซีย 33 โรง และกระจายอยู่หลายประเทศในทุกทวีป แต่ละโรงงานต้องปล่อยน้ำบำบัดเช่นเดียวกับที่ฟุกุชิมะไดอิจิ ในระดับของทริเทียมที่สูงกว่ามาก 

รังสีแกมมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายหรือกระดูก และทำให้ผิวหนังแห้งได้ โดยผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีกับมนุษย์นั้น นอกจากปริมาณการได้รับมากหรือน้อย อวัยวะส่วนต่าง ๆ และสุขภาพของผู้ที่ได้รับยังเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้แต่ละคนได้รับปริมาณรังสีไม่เท่ากัน โดยอวัยวะที่อ่อนไหวมากที่สุดคือ ระบบสืบพันธุ์และระบบสร้างเม็ดเลือดของร่างกาย โดยอาการของผู้ได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีนั้นเริ่มจากมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง เบื่ออาหาร ยีนในพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงผิวหนังพุพอง และเสียชีวิตในที่สุดสำหรับ Caesium-137 ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้น เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ธาตุลำดับที่ 55 มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส แต่มักจับตัวกับคลอไรด์เป็นผงผลึก ส่วนมากนิยมนำมาใช้ทางอุตสาหกรรม เช่น วัดความหนาของวัสดุ วัดการไหลของของเหลว เครื่องวัดความชื้น ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน

ในเรื่องของอันตราย เมื่อได้รับเข้าไปในร่างกาย ซีเซียมกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่กล้ามเนื้อและกระดูก บางส่วนอยู่ในตับและไขกระดูก และจะเริ่มแสดงอาการทางระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี