ช่วง 2 – 3 ปีนี้ดิฉันได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องปรัชญาธุรกิจและความสำคัญของการมีเป้าหมาย (Purpose) ค่อนข้างบ่อยมาก
เวลาประชุมเพื่อเตรียมคลาส ส่วนใหญ่ทีมงานจะอธิบายเหตุผลที่สนใจเรื่อง Purpose เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมมีไฟในการทำงาน ต้องการให้พนักงานปรับตัวจากภาวะการแข่งขันในตลาด ต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ธุรกิจถูกมองเป็นเรื่องของการเติบโตและสร้างกำไร จนหลายคนเข้าใจผิดว่านั่นคือเป้าหมายในการทำธุรกิจ
บทความนี้ชวนทุกท่านกลับมาทบทวน ‘ความหมายของการทำธุรกิจ’ และ ‘เป้าหมายในการเติบโต’ ของร้านช็อกโกแล็ตเล็ก ๆ ร้านหนึ่งที่ตอนนี้มี 40 สาขาทั่วญี่ปุ่น มีพนักงานกว่า 600 คน และมีแต่คนมาขอเปิดร้านแฟรนไชส์กับพวกเขา
อดีตมนุษย์เงินเดือนที่ออกมาทำร้านขนมปัง
ฮิโรสุกุ นัตสึเมะ เคยเป็นที่ปรึกษาด้านการวางผังเมืองมาก่อน ตอนที่เขาช่วยออกแบบบริเวณไร้สิ่งกีดขวางเพื่อให้ผู้คนเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกที่สุด เขาพบว่ามีหลายจุดที่ทำไม่ได้จริงตามแผน
เจ้านายบอกเขาว่า “ยังไงก็ทำไปเถอะ เราทำตามอุดมคติไม่ได้หรอก ฉันเองก็ไม่รู้จะทำยังไง”
นัตสึเมะรู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้อยู่ลึก ๆ แต่ในฐานะมนุษย์เงินเดือนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เขาทำอะไรไม่ได้เลย

วันหนึ่งเขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่ง มาซาโอะ โอคุระ ผู้ก่อตั้งบริษัทขนส่งแมวดำชื่อดังเป็นผู้เขียน หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างคาเฟ่เบเกอรีที่จ้างผู้พิการเป็นพนักงาน ซึ่งเป็นความตั้งใจช่วยเหลือสังคมของบริษัทแมวดำ
นัตสึเมะรู้สึกประทับใจมาก วันหยุดเขาไปที่ร้านเบเกอรีนี้ และพบว่าผู้พิการเหล่านี้ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 3,000 – 4,000 เยนเท่านั้น (กรณีเด็กจบใหม่จะได้ประมาณ 200,000 เยน)
เมื่อสอบถามผู้ดูแลร้านว่าเหตุใดค่าแรงพนักงานถึงถูกเช่นนี้ ผู้ดูแลศูนย์เล่าว่าสิ่งที่ผู้พิการทำได้มีจำกัด เลยจ่ายค่าแรงได้เพียงเท่านี้ นี่เป็นระบบสวัสดิการรัฐ พวกเราเองก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน
นัตสึเมะทบทวนประโยคที่ได้ยิน …
ไม่รู้จะทำยังไง
เขาจำได้ว่าเจ้านายที่บริษัทที่ปรึกษาก็พูดกับเขาแบบนี้
นัตสึเมะตั้งใจจะเปลี่ยนจากคำว่า “ไม่รู้จะทำยังไง” เป็น “จะทำยังไง” เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ขององค์กรและของสังคมให้ได้
ในเดือนมีนาคม ปี 2003 นัตสึเมะตัดสินใจลาออกจากบริษัทมาเปิดร้านขนมปังเล็ก ๆ และจ้างผู้พิการ 3 คน
นัตสึเมะพยายามทำขนมปังหลาย ๆ แบบเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เช่น ขนมปังยากิโซบะ เมลอนปัง ขนมปังรูปหัวใจ ขนมปังแถว แต่ยิ่งพยายามทำเพื่อลูกค้ามากเท่าไร เขาก็ยิ่งปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น เพราะพนักงานของเขาพลิกแพลงทักษะหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำขนมอย่างรวดเร็วเลยไม่ได้ พวกเขาชินกับงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ
เหตุผลที่ยังทำธุรกิจต่อ
ร้านขนมปังประสบปัญหาขาดทุนโดยตลอด นัตสึเมะพยายามกู้เงิน พยายามหาทางต่าง ๆ เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี แต่เขาก็ไม่ยอมล้มเลิก
“เราลำบากเรื่องการเงินจริง ๆ ครับ แต่ทุกครั้งเวลาที่เห็นว่าผู้พิการทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ ผมรู้สึกประทับใจและตั้งใจจะประคองธุรกิจนี้ให้ไปต่อ” นัตสึเมะกล่าว
พนักงานหญิงท่านหนึ่งรับผิดชอบหน้าที่แคชเชียร์ เธอมักมีอาการแพนิกต่อหน้าลูกค้า ทำให้กดราคาสินค้าไม่ได้ สับสน วันหนึ่งเธอตัดสินใจซื้อปากกาและสมุดโน้ตมา เธอเขียนรายการสินค้าและราคาทั้งหมดแล้วพยายามท่องจำ
นัตสึเมะเริ่มเห็นว่า หากปรับเปลี่ยนหรือพลิกแพลงวิธีทำงานสักเล็กน้อย ผู้พิการเองก็ทำงานได้เช่นกัน ผู้พิการบางคนอบขนมปังไหม้แล้วไหม้อีก แต่พอฝึกทำบ่อย ๆ ก็อบขนมปังให้ออกมาสวยงามได้ในที่สุด
งานในร้านขนมปังนี้ช่วยขัดเกลาให้พนักงานค่อย ๆ เก่งขึ้น เริ่มทำสิ่งที่ทำไม่ได้จนทำได้ ช่วยเหลือตนเอง หาเงินเลี้ยงชีพได้
ในด้านผลประกอบการที่ติดลบมาโดยตลอดนั้น นัตสึเมะพยายามปรับรูปแบบธุรกิจ เช่น ดัดแปลงรถตู้ให้เป็นร้านขนมปังเคลื่อนที่ ไปติดต่อโรงแรมเพื่อให้ซื้อขนมปังอบสดใหม่ ๆ ไปเป็นอาหารเช้าในโรงแรม
กิจการร้านขนมปังก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนนัตสึเมะมีพนักงานที่เป็นผู้พิการถึง 55 คน
เมื่อเจอธุรกิจที่ใช่
จุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทอีกประการ คือการที่นัตสึเมะได้พบกับเชฟที่ทำช็อกโกแล็ตชื่อดังอย่าง คาสึโอะ โนกุจิ
โนกุจิแนะนำนัตสึเมะให้เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจากขนมปังมาเป็นช็อกโกแล็ต เนื่องจากช็อกโกแล็ตมีวิธีทำที่ไม่ซับซ้อนแบบขนมปัง หากชั่งตวงวัดส่วนผสมถูกต้อง ใช้วัตถุดิบที่ดี ใคร ๆ ก็ทำให้อร่อยได้ นัตสึเมะจึงเริ่มหันมาทำช็อกโกแล็ตจำหน่ายแทนขนมปัง

ในปี 2014 นัตสึเมะเปิดร้านช็อกโกแล็ตร้านใหม่ โดยตั้งชื่อว่า ‘Quon Chocolate’ (อ่านว่า ควอน : 久遠チョコレート)
คำว่า ควอน ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ชั่วนิรันดร์ มาจากความตั้งใจที่ให้ร้านนี้เป็นสถานที่ผู้คนหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ แม่ลูกเล็ก LGBTQ+ ทำงานตลอดไปได้
นัตสึเมะเลือกใช้โกโก้ออร์แกนิกอย่างดีที่มีกระบวนการซื้อขายในราคายุติธรรม ทำช็อกโกแล็ตหลากหลายรส ผสมผลไม้แห้งบ้าง ถั่วบ้าง ใบชาเขียวยอดอ่อนอย่างดีบ้าง


รสยอดนิยม เช่น รสชาเขียว (ช็อกโกแล็ตชาเขียวผสมถั่วดำ) รส Noir (ช็อกโกแล็ตโคลอมเบียผสมถั่ว คาราเมล และเปลือกส้ม) รส Apple Tea (ช็อกโกแล็ตรสเอิร์ลเกรย์ผสมน้ำผึ้งแอปเปิลและแอปเปิลแห้ง) รส Rich Berry (ช็อกโกแล็ตเบอร์รีผสมสตรอว์เบอร์รีอบแห้ง)
ช็อกโกแล็ตชิ้นเล็ก ๆ แต่ละชิ้นจะห่อในซองพลาสติกขุ่น ทำให้ลูกค้าสนุกกับการเลือกหยิบรสต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจได้เลย

ภาพ : tokyo-np.co.jp

ภาพ : e-mono.jr-central.co.jp
ข้อดีของการเปลี่ยนมาทำช็อกโกแล็ต คือช็อกโกแล็ตมีกระบวนการผลิตง่ายกว่า ไม่ต้องคอยปรับปริมาณส่วนผสมหลากหลายแบบขนมปัง ไม่ต้องระวังหรือคอยกะอุณหภูมิการอบมากเท่าขนมปัง
ที่สำคัญ ช็อกโกแล็ตเป็นสินค้าที่เก็บได้ หากจำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายในการกำจัดทิ้งและค่าเสียโอกาสมากเท่าขนมปัง
นัตสึเมะมีความเชื่อว่าเขาไม่ใช้เรื่องการจ้างผู้พิการมาเป็นจุดขายของแบรนด์ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตั้งใจจะปกปิดความจริงนี้ เขาอยากให้ลูกค้ามาซื้อ Quon Chocolate เพราะอร่อย ชื่นชอบรสชาติ เลยอยากซื้อฝากคนที่รัก นั่นทำให้เขาทุ่มเทกับการหาวัตถุดิบชั้นดีมาทำให้ช็อกโกแล็ตอร่อยจริง ๆ
การต่อสู้กับเสียงวิพากษ์ของคนในสังคม
ปัจจุบัน Quon Chocolate มีทั้งหมด 40 สาขา 52 แหล่งผลิต มีพนักงาน 600 คน โดยมีผู้พิการจำนวนกว่า 350 คน มีพนักงานอีก 100 กว่าคนที่เป็นผู้หญิงที่มีลูกเล็ก วัยรุ่นที่กลัวการเข้าสังคม หรือ LGBTQ+
ด้วยรสชาติอร่อย บรรจุภัณฑ์น่ารัก และความเชื่อในการทำธุรกิจที่ดี Quon Chocolate เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีคนที่ประทับใจกับวิธีคิดของนัตสึเมะและขอทำแฟรนไชส์ มี NPO หลายแห่งที่ดูแลผู้พิการและขอช่วยเปิดสาขาเพื่อให้ผู้พิการในจังหวัดได้มีรายได้ มีบริษัทเอกชนหลายแห่งขอสนับสนุน
แต่นัตสึเมะก็ยังเจอกับความท้าทายต่าง ๆ อยู่ดี
ยกตัวอย่างตอนที่บริษัทต้องการเช่าอาคารแห่งหนึ่ง ตอนแรกเจ้าของตึกก็ดูต้อนรับเป็นอย่างดี แต่เมื่อจะตกลงเซ็นสัญญาเช่า เจ้าของตึกกลับอิดออด ปฏิเสธไม่ให้เช่า เนื่องจากพนักงานเป็นผู้พิการ
นัตสึเมะเองก็รู้สึกว่าแม้เวลาผ่านมา 10 ปี แต่ก็มีคนในสังคมที่ยังมีอคติต่อผู้พิการ
บางคนก็บอกว่าที่ร้าน Quon Chocolate เติบโตได้ดี เป็นเพราะจ้างผู้พิการที่อาการไม่หนักมาก เสียงเหล่านี้ทำให้นัตสึเมะและผู้บริหาร Quon Chocolate ริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ต่อไป
ปี 2021 มีการเปิดสถานที่ที่ผู้พิการระดับหนักทำงานได้ โดยตั้งชื่อว่า Powder Lab
พนักงานที่ทำงานที่นี่มีหน้าที่บดหรือหั่นส่วนผสมต่าง ๆ ที่จะใส่ในช็อกโกแล็ต เช่น ใบชาเขียวหรือผลไม้แห้ง มีพนักงานประจำการอยู่ 19 คน


ภาพ : note.aktio.co.jp
ที่ Powder Lab มีธรรมเนียมน่ารัก ๆ อย่างหนึ่ง คือในวันเงินเดือนออกครั้งแรก บริษัทจะเชิญครอบครัวของพนักงานมาด้วย เพื่อมาร่วมแสดงความยินดีที่พนักงานคนนั้นหารายได้ด้วยตนเองได้แล้ว และเป็นโอกาสให้พนักงานได้กล่าวความรู้สึกขอบคุณแก่สมาชิกครอบครัว
Quon Chocolate พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ทีละนิด ๆ เพื่อลดอคติของสังคม และทำให้ผู้คนที่หลากหลายทำงานได้ หาเลี้ยงตนเองได้ และใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกภูมิใจในตนเอง

ตอนท้ายบทความ ดิฉันขอแปล Blog ของคุณนัตสึเมะที่เขียนไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2021 เกี่ยวกับเหตุผลที่แบรนด์ Quon และบริษัทควรดำรงอยู่ต่อไป เผื่อเป็นคำตอบของคำถามในตอนต้นบทความว่า
ทำธุรกิจไปเพื่ออะไร …
เติบโตไปเพื่ออะไร …
นี่เป็นปีที่ 8 ของ Quon Chocolate แล้ว
วันนี้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมกลับมานั่งทบทวนอีกครั้งว่าแบรนด์นี้ดำรงอยู่ไปทำไม บริษัทนี้มีอยู่เพื่ออะไร
เป็นเรื่องราวของ A คุง กับระยะเวลา 4 ปีพอดีที่เขาเป็นพนักงานที่นี่
A คุง ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ตั้งแต่เขายังเล็ก แต่คุณแม่ก็ปิดบังเรื่องความผิดปกนี้กับเขาตลอด 20 ปี
หลังจบชั้นมัธยมต้น A คุงเข้าเรียนโรงเรียนที่ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาส่วนใหญ่เรียนต่อกัน เขาไปโรงเรียนทุกวัน ส่วนตอนเย็นก็มาทำงานพิเศษที่ร้าน Quon Chocolate
นั่นเป็นเพราะคุณแม่ไม่เคยบอกเขาว่าเขามีความผิดปกติอะไร และต้องการให้เขาเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบที่เด็กวัยเดียวกันมีประสบการณ์
ผมเข้าใจดีว่าคุณแม่ต้องเจ็บปวดแค่ไหนตอนที่รู้ว่าลูกเกิดมาผิดปกติ อีกทั้งยังต้องเก็บเรื่องนี้เป็นความลับจากเจ้าตัว
ทำไมคุณแม่ถึงบอกสิ่งที่ควรบอกลูกอย่างง่ายดายไม่ได้ล่ะ
นั่นเป็นเพราะเธอยังกังวลกับสังคมในปัจจุบันนี้
เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยกับอนาคตของสังคมนี้
A คุง ชอบการทำขนมมาก และขอสมัครมาทำงานพาร์ตไทม์ที่นี่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ช่วงกลางวันเขาไปเรียนที่โรงเรียน ส่วนตอนเย็นก็มาทำงานพิเศษที่ร้าน หลังจากนั้น A คุงก็เรียนต่อที่โรงเรียนสอนทำขนมเฉพาะทาง
หลังเรียนจบเขามาสมัครเป็นพนักงานประจำที่นี่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว และวันนี้ วันที่ 1 มิถุนายน เขาเข้ามาเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทเรา
เมื่อคุณแม่ทราบผลว่า A คุงเข้าทำงานบริษัทเราได้ คุณแม่ก็ตัดสินใจบอกเรื่องที่เขามีอาการบกพร่องทางสติปัญญา ตัว A คุงเอง เมื่อทราบเรื่องก็ร้องไห้
แต่คุณแม่ก็บอกกับเจ้าตัวว่า “แม่เชื่อว่าลูกจะผ่านไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน”
ผมคิดว่าสิ่งที่คุณแม่กังวลมาตลอด 20 ปีนั้นคงค่อย ๆ คลายลงหลังจากที่ได้เห็น A คุงเข้ามาทำงานที่บริษัทเราอย่างกระตือรือร้นทุก ๆ วัน
จากความกังวลค่อย ๆ เป็นความมั่นใจว่าบอกลูกได้ ไม่เป็นไร
ทำไมบริษัทเราถึงควรดำรงอยู่ต่อไปหรือ
นั่นก็เพราะเราอยากเป็นมือที่คอยโอบหลังใครสักคนที่กำลังกังวลอยู่ แล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ” เราอยากพิสูจน์ว่า ความพิการไม่ใช่สิ่งที่ต้องคอยร้องไห้ เสียใจ
ผมคิดว่านั่นคือสาเหตุที่บริษัทเราควรอยู่ต่อไป
เราจะเป็นบริษัทที่โอบรับคนอย่าง A คุงหรือคุณแม่ของ A คุงในแบบที่พวกเขาเป็น เป็นกำลังใจให้พวกเขาค่อย ๆ เดินก้าวต่อไปในวันข้างหน้าได้ทีละก้าว ๆ อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
ผมเองและพนักงานในบริษัททุกคนรู้สึกภูมิใจที่เราได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา
แน่นอนว่ามีความท้าทายหรือโจทย์ที่เรายังแก้ไม่ได้เต็มไปหมดในทุก ๆ วัน แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำบริษัทนี้
บริษัทของพวกเราเกิดมาเพื่ออะไร
เป็นวันที่ผมได้ทบทวนเหตุผลและตั้งใจจะสร้างสถานที่แห่งนี้เพื่อใครสักคนกับทุกคนในวันพรุ่งนี้ต่อไปครับ

ข้อมูลอ้างอิง
- blog.livedoor.jp/labarca3120/archives/52151612.html