13 กุมภาพันธ์ 2024
577

เราอยากชวนมาทำความรู้จัก Q Project โปรเจกต์กาแฟระดับโลก และในไทยก็มีเช่นกัน 

เป้าหมายการพัฒนาคนปลูกกาแฟให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้กาแฟของประเทศนั้น ๆ ไปสู้กันในตลาดโลกได้

โปรเจกต์นี้คือความร่วมมือระหว่างองค์กร CQI (Coffee Quality Institute) องค์กรกาแฟสากลที่ไม่แสวงหาผลกำไร กับประเทศที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟ

ประเทศแรกที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือเอธิโอเปียที่กลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพดีในตลาดโลก ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างลาวและพม่าก็เริ่มทำโครงการนี้กันแล้ว

Q Project Thailand ถือเป็นโครงการน้องใหม่ในวงการกาแฟพิเศษไทย มีเป้าหมายคือการปรับปรุงคุณภาพของกาแฟ อันเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อมูลค่าของกาแฟในตลาดเหมือนกันกับ Q Project ทั่วโลก 

แต่สิ่งที่ Q Project Thailand แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ คือเราสอนเกษตรกรต่อไปถึงกระบวนการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยว (Post Harvest Processing) ประเมินคุณภาพและการชิมทดสอบ (Quality Cupping Essentials) ไปจนถึงการเรียนเพื่อวิเคราะห์และประเมินคุณภาพกาแฟ (Grader Combo) 

ดังนั้น นอกจากคุณภาพกาแฟแล้ว โปรเจกต์นี้ยังช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ผลิตกาแฟให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ปัญหาใหญ่ ๆ ของวงการกาแฟของไทย คือเกษตรกรแทบไม่เคยได้ชิมกาแฟที่ตัวเองปลูก ไม่มีองค์ความรู้ในการชิม หลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดสอนก็มีค่าใช้จ่ายสูง และอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือเรื่องภาษาในหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษ

โปรเจกต์นี้แก้ปัญหาทั้งหมดด้วยการจัดการเนื้อหาเรื่องการชิมกาแฟโดยมีสถาบันกาแฟ CQI ที่มีมาตรฐานรับรอง ทำหลักสูตร Q Educational Program ขึ้น สอนโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ แปลเนื้อหาที่สอนเป็นภาษาไทย และไม่มีค่าใช้จ่าย 

ถ้าหากสอบผ่านตามกระบวนการก็จะได้รับการคัดเลือกให้ได้เข้าเรียนหลักสูตร เพื่อสอบเป็น Q Grader หรือผู้ประเมินกาแฟคุณภาพได้อีก 

จากกระบวนการที่ว่ามา ประเทศไทยเลยเป็น Q Project แรกในโลกที่ผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการที่เป็น Processer เต็มตัว 

ดังนั้น จากแค่เป็นคนปลูกกาแฟที่ดี ยังกลายเป็นนักแปรรูปที่มีคุณภาพ และเป็นนักชิมที่มีทักษะในการตรวจสอบคุณภาพกาแฟได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการอัปเกรดความสามารถของคนในวงการแบบก้าวกระโดด

แต่ผู้เข้าร่วมโปรเจกต์จะต้องมีคุณสมบัติ คือต้องเป็นเกษตรกรไทย อายุไม่เกิน 65 ปี มีพื้นที่ปลูกกาแฟอยู่ในประเทศไทย มีการแปรรูปกาแฟด้วยตัวเองมาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี 

อีกสาเหตุหนึ่งที่เน้นพัฒนาความสามารถของเกษตรกร เพราะพื้นที่ในการพัฒนากาแฟของประเทศไทยค่อนข้างเดินทางเข้าถึงได้ยาก ถ้าหากช่วยให้คนในพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพกาแฟได้ หรือเกษตรกรตรวจสอบคุณภาพกาแฟของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะพัฒนาความยั่งยืนของกาแฟพิเศษได้ 

การสอนเน้นสายพันธุ์กาแฟที่หลากหลาย ผู้ปลูกกาแฟทั้งสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า โดยเฉพาะกาแฟโรบัสต้าที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อแปรรูปใช้ในกาแฟสำเร็จรูปเป็นหลัก Q Project Thailand มีเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปี ทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้าต้องเกิดการพัฒนาให้มีคุณภาพดี ส่งต่อให้กับตลาดภายในประเทศ ตลาดโลก และตลาดออนไลน์ต่อไปได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Q Project Thailand ได้ที่ Facebook : Q Project Thailand

Writer

ลลิดา สิทธิพฤษทานนท์

ลลิดา สิทธิพฤษทานนท์

เจ้าของร้าน OMNiA Cafe & Roastery, SCA Instructor, Arabica and Robusta Q grader