เมื่อผลักประตูเข้าไปในห้อง เราก็ได้พบกับหญิงสาวผู้มีสีหน้าเรียบเฉยในชุดดำ กำลังนั่งนิ่งให้ช่างแต่งหน้าเมกโอเวอร์ ข้าง ๆ มีชุดสีสันฉูดฉาดตรงข้ามกับชุดที่เธอใส่แขวนอยู่

เธอคือ Pyra หรือ พีรลดา สุขวัฒก์

หลายปีก่อน ช่วงที่การเมืองวุ่นวายพอ ๆ กับสถานการณ์โควิด-19 เธอใช้เวลาระหว่างกักตัวทำคลิปร้องเพลงเกี่ยวกับความอยุติธรรมในบ้านเมืองลง TikTok จนกลายเป็นที่รู้จักของเหล่าคนรุ่นใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ต และความลับที่ว่าเธอคือเด็กหญิงวัย 9 ขวบที่เป็นเสียงต้นฉบับเพลง ค่าน้ำนม ก็แพร่งพรายไปทั่ว

แต่นอกเหนือจากการเป็น TikToker อาชีพหลักของเธอคือการเป็นศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ ทำเพลงวิพากษ์สังคมไม่เป็นธรรมที่ให้นิยามเองว่า ‘Dystopian Pop’ และเคยไปเหยียบเวทีดังอย่าง Burning Man ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว

ปี 2022 Pyra ตัดสินใจย้ายไปทำเพลงที่อังกฤษเพื่อเปิดโอกาสทางอาชีพให้ตัวเอง หลังจากนั้นเธอก็ได้รางวัลการันตีความสามารถอย่าง Best Solo Act From Asia จาก BandLab NME Awards สื่อชื่อดังของอังกฤษ และได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร Forbes ให้เป็น 1 ใน 30 คนดังอายุต่ำกว่า 30 ที่มีอิทธิพลต่อวงการ

และครั้งนี้ เธอจะมาพูดคุยกับเราในวาระที่อัลบัมแรกที่เธอตั้งใจปั้นอย่าง ‘PYRADISE’ ออกสู่สาธารณะ

ให้เรียกว่าอะไรดีคะ มีชื่อเล่นรึเปล่า – เราทักทายเจ้าของเสียงร้องเพลง ค่าน้ำนม

“เรียกว่าไพร่าค่ะ” เธอตอบสั้น ๆ ไม่ยิ้ม

ก่อนเดินทางมาที่งานเปิดตัวอัลบัมที่ Soho House Bangkok เราใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับไพร่า แล้วเตรียมชุดคำถามที่คิดว่าจะทำให้ทุกคนรู้จักเธอมาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่รู้ทำไม ยิ่งถามก็ยิ่งเหมือนเปิด Surprise Box ที่เดาไม่ออกแม้แต่นิดว่าข้างในคือของประเภทไหนในกาแล็กซี

เธอในวัย 31 ทำให้เราแปลกใจตั้งแต่คำตอบแรกจนถึงคำตอบสุดท้าย และกลับบ้านไปนั่งคิดถึงชีวิตตัวเอง ทั้ง ๆ ที่บทสนทนาตลอดชั่วโมงล้วนเกี่ยวกับชีวิตของไพร่าและเพลงโลกหม่นของเธอ

โชคชะตาพามาเจอคนน่าสนใจเข้าแล้ว

Expectation VS Reality

เราเรียกคุณว่าศิลปินดังระดับโลกได้รึยัง

ต้องดังเท่าไหร่ถึงจะระดับโลกคะ อันนี้คือคำถามมากกว่า ไม้บรรทัดของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เป้าหมายส่วนตัวเราคือการที่นักดนตรีที่เราชอบมาฟังเพลงเราแล้วเราไม่อาย

หลายคนในไทยชอบถามว่า ทำไมไม่ทำเพลงขาย ๆ ล่ะ แต่สำหรับเรา ประเด็นมันคือเราอยากอยู่ในมาตรฐานของโลก ไม่ใช่มาตรฐานของไทย ถึงแม้ให้เราทำเพลงขายมาก ๆ ออกมาในไทยก็คงไม่ได้แบบเติมเต็มตัวเองได้ขนาดนั้น

ถ้ามีคนเพิ่งมารู้จักคุณจากบทสัมภาษณ์นี้ อยากแนะนำว่า Pyra คือใคร

ภาษาอังกฤษเรามักจะใช้คำว่า Recording Artivist ก็คือคำว่า Activist บวกกับ Artist รวมกัน เป็นเหมือน Activism ในรูปแบบของอาร์ตค่ะ

หลายปีก่อนคุณเพิ่งเริ่มทำเพลงได้ไม่นาน และยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อะไรทำให้คุณได้รับเชิญไปขึ้นเวที Burning Man ที่สหรัฐอเมริกา

ส่งอีเมลไปค่ะ (ตอบนิ่ง ๆ)

ความจริงมันก็หลายเฟสติวัลที่มีสล็อตให้ศิลปิน Pitch ไปเอง Burning Man ก็เหมือนกัน เราก็ Pitch ไปหลายสเตจ แล้วเราก็ได้เล่น 4 เพลงค่ะ น่าจะด้วยแนวเพลงที่เข้ากับบรรยากาศงานเขา

เหมือนทุกคนรู้สึกว่า โอ้ ว้าว ได้เล่น Burning Man แต่ความจริงเราแค่ส่งอีเมลไป คุณไม่ได้ส่งเอง มันอาจไม่ใช่ความพยายามในรูปแบบปกติของนักดนตรีเท่าไหร่ค่ะ เราเป็นเนิร์ดมั้ง ก็เลยพยายามส่งอีเมลไปหาคนนู้น คนนี้ คนนั้น เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง ซึ่งก็กลายเป็น Portfolio

หลังจากที่ย้ายไปอังกฤษด้วย Global Talent Visa คุณได้อะไร และเสียอะไรจากการตัดสินใจครั้งนี้บ้าง

เราเป็นคนที่ถ้าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ต้องไปลองทุกอย่างด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดมันจริงรึเปล่า หลายคนที่เคยอยู่อังกฤษก็บอกว่าที่นี่ดีกว่าตั้งเยอะ เราก็ฟังแต่ไม่เชื่อ (หัวเราะเบา ๆ) พอไปก็ได้ข้อสรุปเหมือนที่เขาเล่ากันมานะคะ ทุกคนชอบเห็นว่า The Grass is Always Greener และประเทศโลกที่ 1 ดีกว่าประเทศเรา ซึ่งบวกลบคูณหารแล้วคะแนนก็ออกมาเท่า ๆ กันนะคะ

สิ่งที่ได้คือศิลปินโปรดของเราชื่อ Bonobo มาดูโชว์เราแล้วกลับไปแบบประทับใจด้วย รู้สึกฟินมากเลย เหมือนมาอยู่จุดสูงสุดของอาชีพแล้ว

ส่วนสิ่งที่เสียคือเงินค่ะ ใช้เงินเยอะเกินไป ที่นั่นทุกอย่างแพงกว่าที่ไทย 4 เท่า แต่ไม่มีความสะดวกเลย ไพร่าเคยโดนขโมยของที่ส่งไปรษณีย์ด้วย ระบบบางอย่างที่เอเชียวางได้ดีกว่ามาก แล้วเขาก็ฉลาดในการคอร์รัปชันกัน เหมือนมีระบบในการโกงมานานแล้ว

การเอาตัวรอดในวงการดนตรีที่อังกฤษยากแค่ไหน

ยากค่อนข้างมากค่ะ คนไทยชอบมีไอดอลเป็นแบบนักดนตรีอังกฤษ ไพร่าก็เหมือนกัน แต่พอไปรู้จักศิลปินในวงการ เราสรุปเลยว่า จะเป็นศิลปินที่นั่นได้คือคุณต้องบ้านรวย

อย่าง Björk โตมาในประเทศ ในบ้านที่เป็นนักดนตรีอยู่แล้วคอยส่งเสริม เขาทำงานโดยไม่มีรายได้เข้ามาได้ ส่วน Marina Abramović ซึ่งเป็น Performing Artist นามสกุลนี้เขาเป็นมหาเศรษฐีในรัสเซีย

คนที่ทำอาร์ตออกมาได้เจ๋งที่สุด เป็นตัวเองได้ที่สุด คือคนที่ไม่ต้องคิดถึงการจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่บ้าน และบิลล์ทั้งหมด

ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้ศิลปินหญิงชาวไทยอย่าง Pyra ออกอัลบัมในอังกฤษสำเร็จ

ความจริงเราปล่อยเพลงจากที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ค่ะ ถ้า Tilly Birds บินไปอังกฤษแล้วปล่อยซิงเกิลมันก็เหมือนกันเลย

แต่ตอนนี้ค่อนข้างเซ็งกับวงการดนตรีเหมือนกันนะคะ พอรู้ว่าผลงานดี ๆ จากศิลปินที่เราเห็นเกิดมาเพราะ Nepotism (การเอื้อผลประโยชน์ให้ญาติมิตร) Cronyism (การเอื้อผลประโยชน์ให้เพื่อนพ้อง) เหมือนความหวังที่เราเคยมีตอนเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องจริง ทุกอย่างค่อนข้างน่าหดหู่ด้วยซ้ำ จะเรียกว่าผิดหวังก็ได้ค่ะ

เราคิดประมาณเดือนหนึ่ง แล้วตัดสินใจว่าย้ายออกจากอังกฤษดีกว่า ไพร่าเพิ่งกลับมาตอนตุลาคมนี้ค่ะ

ตอนนี้กลับมาแล้วเหรอ

ใช่ค่ะ ไม่รู้ว่าที่ต่อไปที่จะไปเป็นที่ไหนเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับ ณ ตอนนี้อีก 1 ปีก็คงจะอยู่นี่แหละ

“เกลียดโลก”

คุณบอกว่าคุณทำเพลงแนว Dystopian Pop เนื้อหาในอัลบัมแรกนี้พูดถึงอะไรบ้าง

อัลบัม PYRADISE เราอยากให้มองมันเป็น PYRADISE Island น่ะ เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังญี่ปุ่น Battle Royale ไพร่าจำลองโลกนี้ให้เป็นเกาะที่โดนมาร์เก็ตติงบอกว่าเป็นเกาะแห่งสวรรค์ แต่พอเข้าไป มันคือเกาะนรกที่ทุกคนต้องเหยียบย่ำกันขึ้นไปเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งจริง ๆ แล้วการเอาชนะนั้นไม่มีอยู่จริงค่ะ เพราะมีทรราชที่ควบคุมเกาะนี้อยู่ เราเป็นผู้เล่นที่ Play a Losing Game อย่างเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรจากโลกแห่งความจริงเลย

จริง ๆ ก็มาจากเหตุการณ์ประเทศไทยนี่แหละค่ะ พออยู่แล้วก็รู้สึกว่าในช่วงชีวิตของไพร่าอาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เด็ก ๆ อยากเห็น แล้วมันก็ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างของรัฐบาลอย่างเดียวนะ มันอยู่ในโครงสร้างครอบครัว ในโครงสร้างของบริษัทที่เราทำงานด้วย และอยู่ในทุกระดับของสังคม

ส่วนใหญ่เวลาแต่งเพลง คุณอยากให้คนได้อะไรจากการฟังเพลง

อยากให้คนเปิดประตูเข้าสู่ประเด็นที่เขาอาจจะพยายามลืม ๆ มันไป

อย่างการเมือง บางทีมันซับซ้อนมาก คนก็เลยแบบ เออ เราไม่อินการเมืองนะ เหมือนกลายเป็น Silent Majority ไป เราก็อยากจะเปิดประตู่สู่ประเด็นที่ยากขึ้น แต่ทำด้วยสื่อที่เบากว่า

สำหรับคุณ ดนตรีคือการหยิบยกประเด็นมาพูดเหรอ

มันคือการแสดงออกของความทุกข์และความเศร้าของตัวเอง เหมือนเราตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนเช้า แต่จะเอาไอ้ความเศร้าและความทุกข์รันทดของเราไปลงที่ไหน ศิลปินก็เลือกที่จะเอาไปลงในดนตรีหรือในแคนวาส เพื่อที่ตัวตนจริง ๆ ของเขาจะได้บริสุทธิ์ เหมือนเอาสีดำไปทิ้งไว้ข้างนอก ตัวเองจะได้เป็นสีขาวน่ะ

เป็นแบบนั้นจริง ๆ นะคะ ทั้ง ๆ ที่เวลาออกงานเราดูบ้ามาก Extrovert จัดมาก ใส่ชุดสี ๆ แต่ตัวจริงก็ลุคนี้ โลกมันบีบบังคับให้เราอยู่ในกรอบ ไพร่าก็เลยเป็นคนแต่งตัวมิดชิด เสื้อกระโปรงสีดำ ไม่อยากให้ใครทักอะไรบนถนน แต่พออยู่ในการทำงานศิลปะ เหมือนเป็นสนามเด็กเล่นให้เราเป็นคนที่เป็นไม่ได้ในชีวิตปกติ

นักลงเสียงชื่อดังอย่าง Krit Tone พี่ชายของคุณ ได้ฟังอัลบัมนี้แล้วว่ายังไงบ้าง

เขาฟังทั้งหมดแล้วค่ะ ชอบบางเพลง

เขาชอบเพลงร็อก ๆ เป็นการร้องเพลงมากกว่าค่ะ พี่ดูไม่ชอบเพลงแรปเท่าไหร่ บอกว่าเราน่าจะร้องเพลงช้า

ย้อนเวลากลับไปตอนที่ทำเพลงวิพากษ์สังคมใน TikTok ตอนนั้นคุณต้องการขับเคลื่อนเรื่องอะไร

แค่มีแฟน ๆ แท็กมาว่าช่วงนี้มีเทรนด์นี้ พี่ทำบ้างสิ ไม่ได้คิดจะทำเองเลยนะคะ แต่เราคิดไม่ออกว่าต้องทำคอนเทนต์อะไรต่อ ก็เลยทำแบบเล่น ๆ ไปค่ะ เพื่อน ๆ ที่รู้จักเรา จะรู้สึกว่าเราจะเป็นคนสุดท้ายที่เล่น TikTok แต่ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด จัดงานโปรโมตไม่ได้เลย ก็เลยคิดว่า เอาวะ ไอ้แพลตฟอร์มที่ทุกคนบอกว่าไวรัล ๆ เนี่ยมันใช้ยังไงวะ เอามาลองซิ

ชีวิตไพร่าอะ ความสำเร็จทั้งหมดที่คนเห็นเกิดขึ้นจากความเกลียดโลกของเราค่ะ ความจริงไพร่าก็เกลียด TikTok มาก ทำไมกูต้องมาเล่นอะไรอย่างนี้ด้วยวะ แต่จนตรอกก็เลยต้องเล่น เราเลยคิดว่าทำมันเป็นงานแล้วกัน ไหน ๆ ก็กักตัวแล้ว

…เพิ่งรู้เลยนะเนี่ย นึกว่าชอบเล่น TikTok มาตลอด

ไม่ชอบเลยค่ะ ไม่อยากเป็น Content Creator

ตอนนี้ไม่ได้อัปคลิป ไม่รู้ว่าเลิกขาดหรือเลิกไม่ขาด แต่งานวันนี้ก็จะทำคอนเทนต์ออกมาอีก 40 ตัวนะคะ เหมือนอยากเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้เล่นในเกาะนรกนี้ ถ้าคุณอยากก้าวขึ้นไปสู่สเตจต่อไปคุณก็ต้อง Play the Game ซึ่งเกมตอนนี้ก็คือโซเชียลมีเดีย ที่อังกฤษยิ่งหนักกว่าที่นี่อีกค่ะ ค่ายเขาไม่เซ็นสัญญาคนที่ไม่ดังใน TikTok แล้วค่ะ มันขนาดนั้นเลย

ที่ผ่านมาไม่เคยเสียใจกับการตัดสินใจเล่น TikTok นะ เพราะผลออกมาดีมาก แต่ถ้าทำต่อก็อาจจะมีผลเสียกับสุขภาพจิตและตัวตนที่เราอยากเป็นจริง ๆ

ความจริงเราชอบมีชีวิตส่วนตัวเงียบ ๆ ค่ะ ตอนที่ดังใน TikTok ก็มี Social Anxiety (อาการกังวลต่อการเข้าสังคม) เรารู้ว่าคนเขารู้จักเรา แต่เขาไม่เข้ามาทัก ทำให้เราระแวงและต้องวางตัวให้ถูกต้องตามมาตรฐานสังคมตลอดเวลา

คุณได้เป็น 1 ใน 30 คนของ Forbes ด้วยเหตุผลว่าเป็นศิลปินที่ปรารถนาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม รางวัลนี้มีความหมายกับคุณยังไงบ้าง

รางวัลเป็นแค่ Portfolio ให้เราเปิดประตูได้เพิ่มขึ้นดีกว่า การติดโผ Forbes ดีกับชีวิตมากนะคะ เขาจัด Forbes Summit 4 ครั้งต่อปี พอเราเข้าไปเป็นพาร์ตหนึ่งของคอมมูนิตี้นั้น ได้เข้าร่วมงาน ได้เจอคนที่น่าสนใจที่ติดโผ หลาย ๆ คนก็กลายเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนที่บินมาไทยวันนี้เพื่อดูโชว์เราก็เป็นเพื่อนจากงานนั้น

ความจริงเราถูกเชิญให้ไปเล่นที่งาน Forbes สิงคโปร์เหมือนกัน แต่เขาบอกว่างานเราไม่มีงบนะ ซึ่งไพร่าเป็นคนที่ไม่แคร์เลยว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าคุณให้ค่าตอบแทนศิลปินไม่ดีพอ เราไม่เล่น ก็เลยบอกเขาไปอย่างหนักแน่น เพราะเขาควรจะรู้ตัวเอง

ค่าใช้จ่ายมันเยอะด้วยแหละค่ะ เราทำโชว์ที่เหมาะกับงานไม่ได้ถ้าต้องจ่ายเอง ยิ่งต้องไปต่างประเทศด้วย

การที่มีคนยอมรับสำคัญกับใจเราไหม

ตอนแรกคิดว่าสำคัญนะ เป็นสิ่งที่อยากได้เลย เราเคยเข้าใจว่านี่แหละจะทำให้กูมีความสุขแน่นอน แต่พอวันที่ติดโผ Forbes ที่อยากติดมานานแล้ว เราวิ่งไปบอกเพื่อนร่วมแฟลตที่อังกฤษว่า I’ve got on Forbes 30 Under 30! แล้วเพื่อนหันมาถามว่า Oh, what is that? ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่สำคัญกับเรา มันไม่ได้สำคัญกับคนในโลกนี้เลย

เราเลือกดนตรีแล้วอยู่ตัวคนเดียวที่ลอนดอน จนวันที่เราประสบความสำเร็จ เราไม่มีใครจะแชร์ด้วย วันนั้นก็เลยความคิดเปลี่ยน เลิกโฟกัสการได้สถานะทางสังคมไปเลย

การันตีความคุ้มค่า

คุณเคยบอกว่าตัวเองใช้ชีวิตด้วยแนวคิด Try Everything at least Once อะไรคือสิ่งที่คุณอยากจะแนะนำให้คนอื่นลองทำ และอะไรคือสิ่งที่คุณไม่คิดจะทำเป็นครั้งที่ 2

สิ่งที่อยากให้ทุกคนลอง คือลองย้ายไปอยู่ประเทศอื่นดู ย้ายไปให้รู้จะได้เลิกบ่นประเทศตัวเองค่ะ เพราะไม่ลองมันไม่รู้จริง ๆ เราได้แค่เล่าแหละ แต่ไม่มีใครเชื่อหรอก ทุกประเทศก็มีข้อดีและข้อเสียเหมือนกัน

ส่วนอะไรที่เราทำแล้วจะไม่ทำอีก (นิ่งคิด) อาจจะเป็นยาเสพติดมั้งคะ เป็นคนชอบลอง แล้วข้อสรุปก็เหมือนที่สื่อพูด Drugs are Bad for You ยามันไปขโมยความสุขของวันถัดไป พอวันนั้นมาถึงจริง ๆ ก็จะดิ่งมาก ๆ เราเลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นสูตรโกงในชีวิตได้ขนาดนั้น

ความจริงไม่แนะนำให้คนใช้หลักคิดเดียวกับเรานะคะ เพราะไพร่าเป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้ เราลองแล้วก็ไม่มีความคิดจะกลับไปหามัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต่างจากเพื่อน ๆ ที่โตมาด้วยกัน ตอนนี้ไพร่าไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน เหมือนว่าเราทำจนจบไปนานแล้ว คิดว่าใช้ชีวิตคุ้มอยู่เหมือนกันนะคะ

สาแก่ใจรึยัง มีอะไรที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำอีกไหม

อยากโดดบันจีจัมป์ เพราะกลัวมาก กลัวความสูงที่สุดในชีวิตแล้ว เคยไปโดดร่มแล้วรู้สึกว่าน่ากลัวไม่พอ เพราะมองไม่เห็นพื้น แล้วก็มีลมตีหน้า บันจีจัมป์น่าจะเป็นเลเวลสุดท้ายของการพิชิตความกลัวของตัวเองแล้ว

ทำไมถึงอยากพาตัวเองไปเจอสภาวะแบบนั้น

ในทางจิตวิทยา สมองของคนที่มี Trauma ตอนเด็กจะถูกปิดส่วนที่เขาเรียกว่า Fight or Flight ซึ่งจะทำให้เราไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ในชีวิตจริง อย่างไพร่าโดนด่าก็ไม่ค่อยสะทกสะท้าน เพราะพาร์ตความรู้สึกมีกำแพงขึ้นมาเยอะมาก น่าจะเหมือนกันกับเคสคนที่ชอบเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ต้องเอาตัวเองไปใกล้ความตาย พวกเราถึงจะรู้สึกถึงความกลัว และรู้สึกว่าเรามีชีวิตอยู่

เจออะไรมา

ตอนเด็ก ๆ ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่หย่ากัน ตอนไฮสกูลโดนเพื่อนคนเดียวที่สนิทกันตั้งแต่เด็กทิ้ง เสร็จแล้วก็โดนแฟนทิ้ง มันเป็น Trauma ที่เกิดซ้ำ ๆ มาจนโต ทุกวันนี้ก็สร้างกลไกป้องกันตัวเองโดยการไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่

ได้ปรึกษาจิตแพทย์ไหม

ปรึกษาค่ะ เดี๋ยวจิตแพทย์จะมางานวันนี้ด้วยค่ะ ไพร่าอยากเปิด Psychotherapy Clinic น่าจะได้เห็นภายในสิ้นปีนี้ ที่อังกฤษการมีนักบำบัดส่วนตัวไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยค่ะ

ถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงวัยรุ่นที่กลางวันเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ กลางคืนเรียน Music Production ได้ อยากจะแนะนำอะไรตัวเองในวันนั้น

รู้สึกว่าตัวเองน่าจะกล้าทำตามความฝันตั้งแต่ตอนนั้นน่ะค่ะ เราเริ่มทำดนตรีค่อนข้างช้า เพราะกลัวหาเงินไม่ได้ เราเลือกที่จะไปทำงานประจำ ช่วย พี่โดม-ปกรณ์ ลัม จัด Music Festival ก่อนจะกล้าออกมาเป็นศิลปินอิสระ ถึงเวลานั้นก็ 25 แล้ว

ถ้าได้ยินเพลง ค่าน้ำนม ที่ร้องตอนเป็นเด็กอีกทีในวันนี้ คุณจะรู้สึกยังไง

คงตลกดีค่ะ ตอนนี้ที่ทุกคนรู้แล้วว่าเป็นเสียงเราก็รู้สึกฮา คนน่าจะรู้ทั้งประเทศแล้วค่ะ แต่ตอนที่ทุกคนยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงเรา อาจจะแอบอายนิดหนึ่ง เวลาที่นั่งอยู่กับใครแล้วมันเล่นขึ้นมาก็คงบอกเขาเป็นโจ๊ก แต่บางคนก็ไม่เชื่อ เอาไปเสิร์ชใน YouTube หน่อยซิ อะไรอย่างนี้

ความสุขส่วนตัวของ Pyra ในปัจจุบันคืออะไร

ตั้งแต่กลับไทยมา เรามีไลน์กลุ่มชื่อ 10110 เป็นรหัสไปรษณีย์ที่บ้านและเพื่อนทุกคนในแก๊งที่นัดกันมาเล่นกีฬา เราเล่นเทนนิส พิกเคิลบอล วอลเลย์บอล ว่ายน้ำ เล่นทุกอย่าง เพื่อนในกลุ่มนี้หลายคนก็เป็นศิลปิน และรู้สึกเหมือนกันว่าดนตรีเป็นทุกอย่างของเราไม่ได้ เพราะเราจะรู้สึกเหมือนโลกแตกเวลาที่ผิดหวังจากวงการดนตรี ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ทุกวัน

ไพร่าเป็นคนเพื่อนเยอะ มีเพื่อนสนิทเกิน 10 คน คนอื่นเขามี 2 – 3 คนก็จบแล้ว แต่เราสนิทกับเขาไปทั่ว การให้เวลากับเพื่อน ๆ ดูแลเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขค่ะ ไม่ใช่รางวัลที่ได้

จากนี้ไปจะมีงานอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง

ในอนาคตอันใกล้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้จะมีผลงานเพลงออกมาในอีกชื่อ ไม่ใช่ Pyra เราจะทำเพลงอีกแนวกับเพื่อนไฮสกูล เป็นดูโอ้กัน อย่างที่เราบอกไปว่าทุกอย่างที่เราทำออกมาได้ดีมันคือการประชดโลกของเรา รอบนี้ก็เป็นโปรเจกต์ที่อัลกอริทึมต้องการ ทำเพลงที่สนองนี้ดคน ณ ปัจจุบัน ชอบฟังซาวนด์โทนนี้ใช่มั้ย เอาไป

เราจะไม่เป็นตัวเองเลยค่ะ จะเป็นขั้วตรงข้ามของโปรเจกต์ Pyra เราอยากทำให้สุดโต่งทั้ง 2 ฝั่ง ในขณะที่โปรเจกต์ Pyra มีสโคปชัดว่าฉันต้องเป็น Activist พูดเรื่องความเท่าเทียมให้โลกนี้ อีกโปรเจกต์พูดเรื่องส่วนตัวได้ เขียนเพลงอกหักได้

เราทำเพื่อความอยู่รอดด้วย แต่นอกจากนั้น มันเกิดขึ้นจากการไปอยู่อังกฤษ ทำโปรเจกต์เดี่ยวนาน ๆ แล้วรู้สึกเหงา คิดถึงการเล่นดนตรีแบบไม่ต้องปวดหัว เราอยากทำดนตรีที่บริสุทธิ์ และทำให้กลับมาเป็นงานอดิเรกอีกครั้ง ซึ่งความจริงทุกอย่างในเพลงก็มาจากประสบการณ์จริงหมดเลยเหมือนกัน

อะไรทำให้คุณยังคงทำเพลงจนถึงทุกวันนี้

ดนตรีเลือกเรา เราไม่ได้เลือกมัน ถึงเราอยากจะหยุดมันก็จะเรียกเราออกมาอยู่ดี เหมือนกับการที่คนเรียกผีออกมาได้ แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่ปลุกเสกเราขึ้นมา เราแค่ต้องทำตามหน้าที่ที่ถูกมอบให้ค่ะ

Welcome to paradise

Welcome to paradise

เมื่อข้างนอกเริ่มมืด เสียงเพลงประจำชาติเสียดสีทรราชของเกาะสวรรค์ PYRADISE ก็ดังขึ้น ท่ามกลางผู้คนเนืองแน่นทั่วบริเวณของ Soho House Bangkok

ไพร่าบอกกับเราว่า เธอมองตัวเองเป็นฝุ่นที่ไม่สลักสำคัญในจักรวาล เธอไม่เห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ และไม่ได้นับถือศาสนาอะไรทั้งสิ้น แต่เธออยู่บนโลกนี้ได้ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง นั่นคือการช่วยเหลือคนอื่นในแบบที่เธอทำได้

“ปกติได้ลองทำนู่นทำนี่ที่อยากทำบ้างไหมคะ” หลังจากให้สัมภาษณ์มายาวนาน เธอถามเรากลับบ้าง

ไม่ค่อยเลยค่ะ – เราตอบ ก่อนคนตรงหน้าจะวิเคราะห์ว่าเรากลัวคำตัดสินของคนรึเปล่า

“เขาตัดสินอยู่แล้ว ทุกคนเลย แต่ถามว่าเขาให้ความสำคัญกับคำตัดสินนั้นรึเปล่า” เธอจ้องตา “ไพร่าเชื่อว่าไม่นะ”

ไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นจริงแค่ไหน แต่เรารู้ว่าถ้าเธอมัวแต่สนใจคนอื่น เราจะไม่ได้เห็นหญิงสาวบนเวทีบอกเล่าสิ่งที่เธอเชื่อเป็นทำนองอย่างวันนี้แน่นอน

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล