นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางมายังกรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี (DPRK) จะต้องโดนจับแยกออกจากคนท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง เราต้องนอนในโรงแรมที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเกาะแยกออกมาจากตัวเมือง ทานอาหารในร้านที่รัฐบาลจัดไว้ให้นักท่องเที่ยว จะไปไหนอะไรก็ต้องเป็นไปตามสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด จะซื้อของก็ต้องซื้อเฉพาะในร้านของรัฐบาลเท่านั้น แม้แต่ไปแวะดื่มกินกันที่บาร์ เราก็จะยังต้องอยู่ในห้องที่เป็นสัดส่วนแยกออกมาจากคนท้องถิ่น เรื่องที่คิดว่าจะออกไปเดินเล่นเรื่อยเปื่อยตามถนนและสนทนาจ๊ะจ๋ากับชาวเมืองนั้นเป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด
ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้พบกับชาวเกาหลีเหนือตัวจริงเสียงจริงนั้นจึงมีน้อยมากๆ
ก่อนที่ผมจะเดินทางมาที่นี่ สื่อหลายสำนักได้ร่วมกันสร้างภาพชาวเกาหลีเหนือว่าเป็นเสือยิ้มยาก เก็บเนื้อเก็บตัวจนถึงขั้นลึกลับ และด้วยสภาพการปกครองในระบอบสังคมนิยมแบบเบ็ดเสร็จอย่างที่เป็นอยู่นั้น ยิ่งทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังตัว จะทำอะไรก็ต้องได้รับคำสั่งหรือคำอนุญาตแล้วเท่านั้น จะทำตามอำเภอใจไม่ได้เด็ดขาด
ดังนั้น สำหรับเราพวกเราเขาจึงดูห่างเหินและไม่เป็นมิตรกับใครสักเท่าไหร่
มิสโซลและมิสเตอร์ลีคือไกด์ท้องถิ่นที่รัฐบาลส่งมาตามประกบ เอ๊ย ดูแลพวกผมทุกฝีก้าวเพื่อกำกับว่าผมจะต้องไปที่ไหน ไปทำอะไร ใช้เวลาได้นานเท่าไหร่ และที่สำคัญก็คือว่าผมควรทำตัวอย่างไร ถ่ายรูปอะไรได้หรือไม่ได้ จนผมแอบเรียกทั้งคู่ว่า ‘คุณแม่’ และ ‘คุณพ่อ’ อยู่ในใจ
ขณะที่ผมท่องเที่ยวอยู่ในเปียงยางนั้นผมทำได้เพียงแค่แอบมองพี่ๆ น้องๆ ชาวเกาหลีเหนืออยู่ไกลๆ เช่น เวลาที่พวกเขาเดินไปมาบนถนน เวลาที่พวกเขาเข้าแถวรอขึ้นรถเมล์หรือรอซื้ออาหาร ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ผมได้รู้จักพวกเขาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
มีอยู่วันหนึ่งที่คุณพ่อและคุณแม่จูงมือพาลูกทัวร์อย่างพวกผมไปนั่งรถไฟใต้ดินเล่นในกรุงเปียงยาง แม้ว่าเราจะได้นั่งร่วมขบวนกันกับชาวเกาหลีเหนือ แต่เราก็ยังต้องนั่งรวมกลุ่มกับนักท่องเที่ยวด้วยกันอยู่ดี และยังคงทำได้แต่เพียงแอบมองเขาอยู่ไกลๆ เช่นเดิม
‘Mangyogdae Prize International Marathon’ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘เปียงยางมาราธอน’ ครั้งนี้จึงเป็นทางออกทางเดียวที่ผมพอจะมีโอกาสวิ่งหนีทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้สำเร็จ เพราะทั้งคู่จะทำได้แค่รอผมอยู่ที่สนามกีฬาคิม อิล ซุง สเตเดียมอันเป็นจุดปล่อยตัวและเส้นชัยเท่านั้น ฮ่าๆๆๆ
ส่วนช่วงเวลาระหว่างการวิ่งนั้นผมสามารถใช้สองขาทะยานไปตามท้องถนนสายต่างๆ ของกรุงเปียงยางโดยปราศจากเงาของทั้งคู่ และผมก็แอบฝันว่าผมจะได้ทักทายหยอกล้อกับพี่น้องชาวเกาหลีเหนือนับพันคนที่มายืนตามเส้นทางเพื่อให้กำลังใจนักวิ่งอย่างผม… และนั่นน่าจะเป็นเพียงโอกาสเดียวที่ผมได้เข้าใกล้พวกเขาแบบถึงเนื้อถึงตัว เพื่อที่จะได้พิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นอย่างที่ใครต่อใครกล่าวหาไว้หรือไม่ และถ้าผมโชคดีพอ ผมก็หวังว่าผมจะได้ตีมือไฮไฟว์กับพวกเขาให้ครบทุกคน
ใช่ครับ… ผมหมายความว่า ‘ครบทุกคน’ เช่นนั้นจริง ๆ
ดังนั้น มาราธอนที่เปียงยางครั้งนี้ผมจึงเลือกวิ่งในระยะ 10 กิโลเมตรหรือมินิมาราธอน เพราะเวลา Cut-off นั้นกำหนดไว้ที่ 2 ชั่วโมง และเวลา 120 นาทีสำหรับผมนั้นถือว่ามากเพียงพอที่จะสามารถทำตามความฝันได้
ก่อนถึงวันวิ่งผมไม่สนใจเรื่องฝึกวิ่ง Tempo หรือ Interval เพื่อที่จะเร่งเข้าเส้นชัยอย่างหล่อๆ ด้วยสถิติใหม่หรือ New PB เลย สิ่งที่ผมสนใจมีเพียงสิ่งเดียวคือการหัดพูดภาษาเกาหลีด้วยคำหรือวลีที่ผมจะต้องใช้มากที่สุด และคำคำนั้นที่คุณแม่สอนก็คือคำว่า ‘อันยองฮาชิมนิกะ’ ซึ่งแปลว่า สวัสดี (แบบสุภาพ)
ผมจะต้องออกเสียงแผ่วๆ ตรงคำว่า ‘อันยอง’ แต่ต้องออกเสียงหนักและลงคอลึกๆ ตรงคำว่า ‘ฮาชิมนิกะ’ นั่นจึงจะเป็นสำเนียงแบบชาวเกาหลีเหนือที่ถูกต้อง และจะให้ดีกว่านั้น ผมควรจะค้อมหัวลงเล็กน้อยเพื่อแสดงความสุภาพเมื่อกล่าวทักทายกับพี่ๆ น้องๆ ชาวเปียงยาง
ก่อนถึงวันวิ่งมาราธอน ผมเดินทางจากกรุงเปียงยางเพื่อไปเที่ยวเมืองแกซอง ผมพยายามทำการทดลองบางอย่าง นั่นคือการโบกมือกับพี่ๆ น้องๆ ชาวเกาหลีเหนือไปตลอดทาง ผมโบกมือให้แทบทุกคน ไม่ว่าคนที่อยู่บนรถประจำทาง คนที่อยู่บนรถโดยสารระหว่างเมือง คนที่เดินถนน คนที่กำลังยืนรอข้ามทางม้าลาย… ผมโบกมือให้แทบทุกคน
ผมพบว่าปฏิกิริยาแรกๆ ของพี่ๆ น้องๆ ชาวเกาหลีเหนือส่วนมากก็คือตกใจและงงครับ ต่อจากนั้นคือการทำหน้าไม่ถูกแบบ ‘ฉันควรทำยังไงกับเขาคนนี้ดีนะ?’ แต่ที่ผมแอบสบายใจก็คือพวกเขายิ้มตอบผมด้วยอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ และมีอีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ที่โบกมือตอบกลับมา
เท่านั้นก็เพียงพอที่ผมคิดว่าผมจะมีโอกาสตีมือไฮไฟว์กับชาวเกาหลีเหนือแน่ๆ อย่างน้อยก็ 5 เปอร์เซ็นต์ที่ยิ้มตอบผมมาในวันนั้น
เมื่อถึงวันสำคัญ ท่ามกลางอุณหภูมิเย็นเฉียบราว 4 – 6 องศาเซลเซียส สนามกีฬาคิม อิล ซุง แน่นขนัดไปด้วยผู้คนนับแสนที่มาเชียร์นักวิ่งมาราธอนทุกระยะกว่า 1,700 คน จากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
ผมเดินทางเข้าสนามท่ามกลางเสียงเชียร์กึกก้องจนผมขนลุกซู่และสำคัญตนประหนึ่งว่าเป็นนักกีฬาโอลิมปิก และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีการทุกอย่าง เสียงปืนก็ดังขึ้นเพื่อปล่อยตัวนักวิ่งมาราธอนหลากระยะ พร้อมๆ กับที่ผมทะยานออกไปด้านหน้าจากสนามกีฬาสู่ท้องถนนของกรุงเปียงยาง
เมื่อเอ่ยคำว่ากรุงเปียงยางนั้น ไม่ทราบว่าแต่ละคนจินตนาการถึงเมืองนี้ไว้อย่างไรกันบ้างครับ จะตกใจไหมถ้าผมจะบอกว่ากรุงเปียงยางนั้น ‘หวาน’ มากๆ
อาคารสี่เหลี่ยมที่ตั้งเรียงรายอยู่เป็นบล็อกๆ นั้นเป็นทั้งอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยของชาวเมืองที่ดูทะมึนแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศสังคมนิยม แต่สีที่ฉาบอาคารเหล่านี้นั้นกลับเป็นสีพาสเทลหวานๆ อย่างเหลืองอ่อน โอลด์โรส เขียวอ่อน ฟ้าอ่อน ฯลฯ อันสารพัดจะอ่อนโยนและอ่อนหวาน อาจมีตัดด้วยอาคารสีอิฐ และน้ำตาลซีเปีย หรือเขียวเข้ม พอให้แก้หวานกันได้บ้าง
นอกจากรสหวานแล้ว บางครั้งกรุงเปียงยางยังแอบเพิ่มรสจี๊ดให้เราได้ซี้ดซ้าดกับอาคารทรงแปลก ไม่ว่าจะเป็นอาคารทรงสามเหลี่ยมที่สูงตระหง่านราวกับพีระมิด หรืออาคารที่โค้งมนไล่เลี้ยวเป็นเกลียวคลื่น หรืออาคารที่ดูเหมือนรูบิกซึ่งหมุนค้างไว้ให้เหลี่ยมกับเหลี่ยมมันเกยกัน และมีอีกมากมายที่สไตล์มันแสนจะอาว็องต์-การ์ดเสียจนทำให้ต้องร้องว่า “เฮ้ย เจ๋งว่ะ”
ท้องถนนที่นี่สะอาดชนิดกริบ นั่นคือไม่มีแม้แต่เศษกระดาษสักชิ้นหล่นบนพื้น ไม่มีกองขยะให้เห็นสักกอง มันสะอาดกว่าเมืองไหนๆ ในโลกที่ผมเคยไปเยือน และผมก็เชื่อว่าเมืองกริบอย่างสิงคโปร์คงจะแอบมีอายกันบ้างเมื่อมาเห็นเมืองเนี้ยบอย่างเปียงยาง มันเนี้ยบเสียจนจนบางครั้งผมก็ลังเลว่าผมกำลังวิ่งอยู่ที่ไหน
สิ่งที่ยืนยันว่าผมยังอยู่ในเกาหลีเหนือคือรูป ‘ท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่’ และ ‘ท่านผู้นำอันเป็นที่รัก’ ซึ่งส่งสายตาทักทายผมมาจากทุกมุมเมืองแม้ว่าท่านจะวายชนม์ไปนานแล้ว
ผมปล่อยให้เหล่านักวิ่งขาแรงแข่งกันวิ่งลิ่วนำไปด้านหน้า ส่วนผมกับเอก น้องที่มาด้วยกัน ร่วมกันปฏิบัติการวิ่งช้าๆ และเริ่มสอดส่ายสายตาหาพี่น้องชาวเปียงยางเพื่อวิ่งเข้าไปกล่าวคำพูดที่ฝึกกันมานาน
ที่หน้าสนามคิม อิล ซุง นั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรักษาการณ์อยู่มาก พี่ๆ น้องๆ กองเชียร์ต้องยืนอยู่ข้างหลังแถวหน่วยรักษาความปลอดภัย และเมื่อผมเริ่มปฏิบัติการอันยองฮาชิมนิกะกับพวกเขา ผมก็พบว่าพวกเขาแอบเกร็งอยู่พอสมควร แม้ว่าจะยังไม่ได้ไฮไฟว์กัน แต่ผมก็สะสมรอยยิ้มกลับมาได้ไม่น้อย
ผมวิ่งต่อมาถึง Arch of Triumph หรือประตูชัยแห่งกรุงเปียงยาง เราแวะถ่ายภาพกันอยู่หลายแอค ก่อนวิ่งต่อไปบนถนนแกซองที่ทอดยาวออกไปบนเมืองสวยอลังการแห่งนี้
โอ้โห… คราวนี้ผมเห็นพี่ๆ น้องๆ ชาวเกาหลีเหนือมายืนเรียงรายริมถนนแกซองเป็นแถวยาว ที่สำคัญคือ ไม่มีทหารหรือตำรวจมาคอยกั้น ผมถลาเข้าไปหาพวกเขา พร้อมตะโกน “อันยองฮาชิมนิกะ” ด้วยเสียงลึกลงลำคอและค้อมศีรษะแบบที่ฝึกมา และยกมือกางเตรียมไฮไฟว์
ได้ผล… ได้ผล… พี่ๆ น้องๆ กว่า 10 คนที่ยืนเป็นกลุ่มแรกกางมือออกมารอผมเข้าไปไฮไฟว์ และแล้วก็แปะ แปะ แปะ แปะ และแปะ ผมกวาดหมดทั้งแถบ พร้อมกับเอกที่วิ่งตามมา
“สำเร็จแล้ว… ฮ่าๆๆๆๆ แต่นี่เราพูดภาษาเขาถูกต้องใช่ไหมเอก” ผมทั้งดีใจและแอบไม่แน่ใจไปพร้อมกัน
ไม่พอครับไม่พอ ข้างหน้ายังมีอีกนับร้อยคนยืนรออยู่ และเราทั้งคู่ก็ลุย ลุย และลุย พร้อมกับถลาเข้าหาพร้อมกับประโยคเดิมและท่าเดิมๆ และเราก็แปะ แปะ แปะ แปะ และแปะ ไฮไฟว์กวาดมาอีกทั้งแถบ
ฝรั่งกลุ่มใหญ่กับชาวฮ่องกงที่วิ่งอยู่แถวนั้นหัวเราะสนุกไปด้วยกัน และรีบมารวมกลุ่มกับเราเพื่อให้ผมสอนภาษาเกาหลีหลักสูตรเร่งรัด
“อย่าลืมลงเสียงหนักในคอนะครับ มันจะได้ถูกต้อง และค้อมศีรษะด้วย” ผมสำทับ
ข้างหน้ามาอีกเป็นหลักร้อยยืนเรียงรายรออยู่แล้ว และพวกเราก็วิ่งเข้าไปทำตามที่ฝึกกันมา และเราก็ไฮไฟว์หมดทั้งแถว พร้อมเสียงหัวเราะของชาวเมือง คุณย่า คุณยาย คุณปู่ คุณตา อายุมากๆ ก็มายืนไฮไฟว์กับพวกเราด้วยนะครับ ท่าทางท่านดูเขินๆ แต่ก็แปะมือได้แรงทีเดียว ผมซาบซึ้งใจมากๆ
เมื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนเพ็พฮาและฮยกซินที่กว้างขวางราวถนน 8 เลน ผมก็เห็นแถวพี่น้องชาวเกาหลีเหนือรออยู่ ตอนนี้ผมเริ่มคอแห้งแล้วครับ เพราะตะโกนมากว่า 3 กิโลเมตรแล้ว แต่แรงฮึดมันมาเต็มๆ แน่นอนว่าผมกับเอกก็วิ่งเข้าไปปฏิบัติการอันยองฮาชิมนิกะอีกครั้ง และผมก็ไล่ไฮไฟว์ได้ครบแถวอีกรอบ
“อันยองฮาชิมนิกะ” คราวนี้มีเสียงตะโกนดังลงมาจากบนอพาร์ตเมนต์ข้างทาง พอผมเงยหน้าขึ้นไปผมก็เห็นครอบครัวเกาหลีครอบครัวหนึ่งยืนโบกมือรัวๆ บนหน้าต่าง โอ้โห… นี่ทักทายพวกผมลงมาจากห้องพักเลยหรือนี่ เป็นเกียรติแก่พวกผมมากๆ เลยครับ ผมรีบยืนโค้งกลับและตะโกนตอบด้วยคำพูดเดียวกันพร้อมกับโบกมือหย็อยๆ
เมื่อใกล้ถึงจุดกลับตัวที่ถนนรักวอน ผมกับเอกวิ่งไปแวะเข้าห้องน้ำ และแล้ว…
“$#%^+><~มิดะ…!?!” ทหารเกาหลีในเครื่องแบบดูขึงขังคนหนึ่งกล่าวอะไรบางอย่างด้วยเสียงเครียดๆ กับผม
“เขาพูดอะไรเนี่ย” ผมเปรยแบบไม่รู้จะทำยังไง
“ผมว่าเขาคงบอกให้พวกเราตั้งใจวิ่งกันหน่อยมั้งพี่ นี่เราเล่นมาตลอดทาง เดี๋ยวเราจะจบไม่ทัน” เอกช่วยสันนิษฐาน
“ได้เอก… อย่างนั้นเราวิ่งเร็วขึ้น แต่ยังต้องอันยองกับไฮไฟว์ต่อนะ” ผมยืนยัน
จากจุดกลับตัวเราได้เพื่อนนักวิ่งชาวฮ่องกงกลุ่มใหญ่สามถึงสี่คนมาร่วมปฏิบัติการ พี่ๆ น้องๆ ชาวเปียงยางน่ารักมากๆ เมื่อเราอันยองกับเขา เขาก็อันยองตอบเราด้วยความเต็มใจ บางคนไม่ได้หยุดยืนเรียงแถวแต่เดินไปมาตามถนนเช่นปกติ แต่เขาก็มีแก่ใจหันมาอันยองและโบกมือตอบกลับกับพวกเราด้วย
ระยะสุดท้ายผมเลือกบันทึกเป็นคลิปวิดีโอ หากได้ชมคลิปคลิปนี้ก็จะได้ยินเสียงผมตะโกนอันยองฮาชิมนิกะไปหอบไป และได้ยินเสียงพวกเขาตอบกลับมาเช่นกัน
ระยะสุดท้ายเมื่อผมกับเอกวิ่งกลับเข้ามาในสนามกีฬาคิม อิล ซุง กองเชียร์นับแสนยังคงนั่งอยู่และดูบอลลีกคู่สำคัญของเกาหลีเหนือไปด้วย ผมวิ่งไปเรื่อยๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศระยะ 400 เมตรสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย คงไม่มีมาราธอนไหนในโลกแล้วที่จะมีกองเชียร์อภิมหากาพย์สุดอลังการ ….นอกจากเปียงยางมาราธอนนี้เท่านั้น
เมื่อเหลือระยะ 200 เมตรสุดท้าย คนนำเชียร์บนสแตนด์หันมาหลิ่วตาเรียกผมกับเอกให้เข้าไปหน้าสแตนด์พร้อมกับทำมือเป็นสัญญาณว่า พวกนายนำเชียร์ไปเลย สแตนด์นี้เป็นของนาย
ผมกับเอกยกทั้งสองมือขึ้นกางออกสุดแขนก่อนนำมันตบเข้ามาเป็นจังหวะจากช้าๆ ช้าๆ และค่อยๆ เร่งจังหวะเร็วขึ้น เร็วขึ้น จากนั้นทั้งสแตนด์ก็เริ่มตบมือตาม
ช้า… ช้า… ช้า… เร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้นอีก จนกลายเป็นรัวๆ
เอาใหม่… ช้า.. ช้า… ช้า… เร็วขึ้น เร็วขึ้น เร็วขึ้นอีก จนกลายเป็นรัวๆ
และเมื่อการปรบมือจบลง ผมตะโกนคำว่า “อันยองฮาชิมนิกะ” พร้อมกับโค้งพี่ๆ น้องๆ บนสแตนด์ และมีเสียงตะโกนตอบกลับมาดังกึกก้อง
ผมกับเอกก็ไม่ทราบว่าเขาเชียร์บอลหรือตะโกนตอบเรานะครับ แต่เราฟินกันสุดๆ ไปเรียบร้อยแล้ว และเราก็ถลาเข้าเส้นชัยไปในเวลา 1 ชั่วโมง 22 นาที ซึ่งเป็นการวิ่ง 10 กิโลเมตรที่ช้าที่สุดในชีวิตผม
สำหรับผม สถิติที่ผมภูมิใจที่สุดคือผมพูดคำว่าอันยองฮาชิมนิกะไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง แต่ผมมั่นใจมากว่าผมพูดเกือบครบทุกคนตลอดระยะทาง 10 กิโลเมตร จากเดิมที่ผมกะจะไฮไฟว์กับคนจำนวนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่มาคอยยืนเชียร์นักวิ่ง แต่ผมเชื่อว่าผมได้ไฮไฟว์ไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์และโบกไม้โบกมือกับคนบนตึก คนเดินถนนที่ผ่านไปผ่านมา ที่สำคัญคือ ผมได้รับมิตรภาพตอบกลับจากพวกเขาอย่างที่ผมไม่เคยคาดคิด
เปียงยางมาราธอนไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน กิจกรรมนี้ทำให้ผมลืมภาพของชาวเกาหลีเหนือที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ไปโดยสิ้นเชิง พวกเขาคือคนที่น่ารัก อบอุ่น และเป็นมิตร ไม่ต่างจากพวกเราเลย
มาราธอนครั้งหน้า คุณตั้งเป้าหมายไว้ที่อะไร? เวลาใหม่? ระยะทางใหม่? หรือ New PB?
ผมเสนอว่าลองตั้งเป้าไฮไฟว์กับกองเชียร์ให้มากที่สุดดูไหมครับ?
และสุดท้าย… ผมหวังว่ามิตรภาพที่พวกเขามอบให้ผมและนักวิ่งกว่า 50 สัญชาติจากทั่วโลกอย่างจริงใจในวันนี้จะเป็นมิตรภาพที่เขามอบให้กับ ‘พี่น้องจากแดนใต้’ ด้วยเช่นกัน
เพื่อที่วันหนึ่งคาบสมุทรเกาหลีจะมีเพียงเกาหลีเดียวไม่มีเหนือและใต้อีกต่อไป
ขอขอบคุณ: วีศิษฏ์ ธรรมธีโรวัฒน์
ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’
ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ